เรียกว่าไม่มีใครยอมใครกันจริงๆ สำหรับการแข่งขันในตลาดแพลตฟอร์ม Video Conference หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้ว Google Meet ก็ได้ออกมาอัปเดตฟีเจอร์ Noise Cancellation หรือฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนรอบข้าง พร้อมกับการขยายบริการใช้ฟรีไปยาวๆ จนถึงปีหน้า
ล่าสุดแพลตฟอร์มที่ถือว่าเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ Google Meet อย่าง Zoom แพลตฟอร์มด้าน Video Conference ที่มาแรงมากๆ ในปีนี้จากวิกฤต Covid-19 ก็ได้ออกมาตอบโต้แข่งขันกับ Google Meet อย่างดุเดือดแล้ว
ด้วยการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่มากถึง 7 รายการภายในช่วงสัปดาห์เดียว ครอบคลุมทั้งในด้านการประชุม การสัมมนาออนไลน์ ที่ถือเป็นหัวใจหลักของ Zoom , การสร้างรายได้ให้กับผู้ใช้งานและที่สำคัญมีการอัปเดตฟีเจอร์เพิ่มความปลอดภัยอีกขั้น หลังจากที่ Zoom มีข้อบกพร่องในด้านความปลอดภัยจนตกเป็นข่าวมาแล้ว
ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดของการอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ของ Zoom ในครั้งนี้ จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างและจะเข้ามาสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน ไปติดตามต่อได้ในบทความนี้เลยครับ
Zoom จัดเต็ม! ปล่อยฟีเจอร์ใหม่รวดเดียวกว่า 7 รายการ หวังทะยานต่อเนื่อง
อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่าเกมส์การแข่งขันในตลาด Video Conference ตอนนี้กำลังเปิดหน้าแลกกันแบบหมัดต่อหมัด โดยล่าสุด Zoom ได้ทำการปล่อยฟีเจอร์ถึง 7 รายการ ภายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแต่ละฟีเจอร์มีรายละเอียดดังนี้ครับ
Immersive Scenes
เนื่องด้วยสถานการณ์ Covid-19 ในต่างประเทศยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น การทำงานหรือการเรียนแบบ Video Conference ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตต่อไป
ทาง Zoom เข้าใจถึงสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้ออกฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Immersive Scene ออกมาเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ที่ประชุมร่วมกันโดย Immersive Scence จะเป็นฟีเจอร์ที่ทำให้พื้นหลังของการประชุมถูกเปลี่ยนไปตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ห้องเรียน (และอนาคตจะเพิ่มห้องประชุม , ห้องพิพากษาด้วย)
ภาพจาก Zoom
โดยฟีเจอร์ Immersive Scence แม้จะเป็นเพียงการเพิ่มฟีเจอร์จุดเล็กๆ แต่ก็ถือเป็นการสร้างความสมจริงให้กับการทำงานหรือการศึกษาได้อีกขั้นหนึ่งที่ Zoom ได้ทำการพัฒนามาจาก Feedback ของผู้ใช้งานจริงนั่นเอง
New Meeting Reactions & Animations
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ประชุม อย่างฟีเจอร์ New Meeting Reactions & Animations ที่จะให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมทุกคนสามารถส่ง Emoji , Sticker ให้กับผู้ประชุมคนอื่นๆ ได้นั่นเอง
โดย Emoji เหล่านั้นจะมาพร้อมกับภาพเคลื่อนไหวและเสียงสมจริงด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าคุณฟังการนำเสนองานจากคนในทีมแล้วคุณชื่นชอบจนอยากจะปรบมือให้ ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดไมค์ แล้วปรบมือจริงๆ แล้วครับ เพียงแค่ส่ง Emoji ที่เป็นรูปปรบมือไปให้ ก็จะมีทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหวมาพร้อมกันเลย
Waiting Room
เพิ่มระบบความปลอดภัยอีกขั้นด้วยฟีเจอร์ Waiting Room หรือการอนุมัติผู้เข้าร่วมประชุม โดยผู้ที่เป็น Host จะสามารถเลือก Admit (ยอมรับ) หรือ Remove (ปฏิเสธ) ผู้ที่กดเข้ามาขอร่วมประชุมด้วยได้ เพื่อป้องกันด้านความปลอดภัยของการประชุม ให้การประชุมนั้นมีเฉพาะผู้ที่มีส่วนร่วมจริงๆ
อีกทั้งยังเป็นการทำให้การประชุมไม่ขาดตอนจากผู้ที่กดเข้ามาร่วมประชุมบ่อยๆ (กรณีเป็นการประชุมใหญ่)
ภาพจาก Zoom
Breakout Rooms & Debrief Room (For Zoom Seminar)
นอกจากการประชุมแล้ว การจัดสัมมนาออนไลน์ผ่าน Zoom ก็กำลังเป็นที่นิยมจากผู้ใช้งานทั่วโลก ซึ่งล่าสุด Zoom ก็ได้ทำการเพิ่มลูกเล่นสำหรับการจัดสัมมนาออนไลน์ด้วยฟีเจอร์ 2 ตัวอย่าง Breakout Rooms & Debrief Room
โดย Breakout Room เป็นการสร้างห้องย่อยๆ สำหรับการจัดสัมมนา ในกรณีที่มีกิจกรรมกลุ่มให้ทำ ก็สามารถสร้างห้องกลุ่มและประชุมงานกันได้เลย โดยไม่หลุดจากการสัมมนาใหญ่
ส่วน Debrief Room หรือห้องซักถามเป็นห้องที่เอาไว้ใช้สำหรับการสอบถามข้อมูลของผู้ร่วมสัมมนากับวิทยากรแบบเป็นส่วนตัว สามารถแชร์หน้าจอหรือไฟล์งานเพื่อสอบถามหรือสอนได้โดยตรง แบบไม่ต้องมาจัดการประชุมแยกทีหลัง
Zapps Mode
อีกหนึ่งการคิดค้นฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจของ Zoom ในครั้งนี้นั่นก็คือฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Zapps ที่เป็นฟีเจอร์รวบรวม Third-Party Application ให้ใช้งานได้เลยระหว่างการประชุม ไม่ต้องสลับหน้าจอ ไม่ต้องเปิดแท็บใหม่
ภาพจาก venturebeat
ล่าสุด Zoom ได้ทำการปล่อยรายชื่อ Application ทั้ง 37 ตัวที่สามารถใช้งานใน Zapps Mode ของ Zoom ตัวอย่างเช่น Asana, Box, Dropbox, Slack, Coursera, Kahoot!, Kaltura, Exer, Slido, Surveymonkey, Pitch, Smartsheet, HubSpot, Gong, Trello, Miro และอื่นๆ อีกมากมาย
นั่นช่วยทำให้คุณลดความยุ่งยาก สามารถแชร์ไฟล์งานจากแอปพลิเคชั่นเหล่านั้นในการประชุมได้ทันที รวมถึงการทำงานบน Application เหล่านั้นโดยไม่ต้องออกจากการประชุม โดยฟีเจอร์ Zapps จะเปิดให้ใช้บริการในช่วงปลายปีนี้ โดยจะให้บริการแก่ผู้ใช้งานทั้งแบบ Free Plan และ Paid Plan
On Zoom Marketplace
แม้จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ Video Conference แต่ Zoom ก็ยังเสริมเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับผู้ใช้งานด้วยการเปิดตัว On Zoom ฟีเจอร์ใหม่ของ Zoom ที่มาในลักษณะของ Online Marketplace ให้ผู้ใช้งานสามารถสร้าง Content สอนทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเอง หรือการจัด Online Events ต่างๆ
ภาพจาก OnZoom
โดยใน On Zoom ฝั่งผู้ใช้งานสามารถระบุ Category ของ Events ที่สนใจได้เช่น ศิลปะ , การออกกำลังกาย , การเงิน และหมวดหมู่อื่นๆ ที่มีอยู่ในเว็บไซต์ซึ่งมีทั้งแบบ Free และแบบเสียเงิน (Paid Events)
ซึ่งถ้าเป็นแบบ Paid Events ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องของการชำระเงินเลยครับ เพราะ On Zoom รองรับการชำระเงินทั้ง Credits Card และ PayPal แบบสากลใช้ได้ทั่วโลกแน่นอน สำหรับใครที่สนใจอยากลองใช้บริการ On Zoom ข่าวดีคือไม่ต้องรอแล้วครับ เพราะ Zoom อนุญาตให้ User ใช้บริการได้แล้ววันนี้ (แต่ต้องสมัครสมาชิกก่อนครับ)
End To End Encryption (E2EE)
หลังจากที่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Zoom โดนกระแสโจมตีจากแหล่งข่าวและผู้ใช้งานอย่างหนัก ในเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัย หลังจากที่มีผู้ใช้งานบางส่วนบอกว่า Zoom ทำให้ข้อมูลสำคัญในการประชุมรั่วไหล มีแฮกเกอร์เจาะเข้าระบบมาง่าย ทำให้ Zoom ต้องเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยขึ้นอีกขั้น
ล่าสุดทาง Eric Yuan CEO ของ Zoom ได้ออกมาประกาศว่าพวกเขาจะเริ่มทำการทดลองใช้ระบบ End To End Encryption เต็มรูปแบบกับ Zoom ภายในสัปดาห์หน้านี้
- End To End Encryption (E2EE) คือระบบรักษาความปลอดภัย แบบเข้ารหัสตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง นอกจากคู่สนทนาหรือผู้เข้าร่วมการประชุม จะไม่มีใครที่สามารถแฮ็กจากที่อื่นเข้ามาได้ (แม้แต่ทาง Zoom เอง) โดย E2EE ถือเป็นระบบความปลอดภัยที่แพลตฟอร์ม Line , WhatsApp ใช้งานอีกด้วย
ภาพจาก Zoom
โดยระบบของ E2EE ที่ Zoom นำมาใช้จะใช้การเข้ารหัสแบบ AES 256-bit GCM ก่อนในช่วงแรก ซึ่งสำหรับใครที่จะใช้งานฟีเจอร์ E2EE ก่อนใช้งานได้ก็ต้องทำการยืนยันตัวตนของคุณ (Verify Security Code) กับทาง Zoom ก่อนเพื่อป้องกันการนำไปใช้งานในทางผิดกฎหมาย
ซึ่งถ้าผู้ใช้งานท่านใด ต้องการใช้งานฟีเจอร์ E2EE นี้ก็สามารถแค่กดปุ่มเปิดใช้งานในแถบเมนูเพียงเท่านั้น (แต่อาจจะไม่สามารถใช้งานร่วมกับฟีเจอร์อื่นๆ ได้) โดยฟีเจอร์ E2EE ของ Zoom จะเริ่มเปิดให้ใช้งานในเวอร์ชั่นทดลอง (เฟสที่1) ภายในสัปดาห์หน้าพร้อมกับมีระบบให้ User ใส่ Feedback เพื่อการนำไปพัฒนาในเฟสต่อไปด้วย
ภาพจาก zoom
สรุปทั้งหมด
จริงๆ แล้ว Zoom ยังมีการอัปเดตฟีเจอร์อีกหลายตัวที่ปล่อยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่บางฟีเจอร์จะใช้ไม่ได้ในประเทศไทย (เช่นฟีเจอร์โทรหาตำรวจในแพลตฟอร์ม) ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการตอบโต้และพัฒนาตัวเองให้แข่งขันกับคู่แข่งทั้ง Google Meet , Microsoft Teams ได้อย่างสูสี
โดยฟีเจอร์ทั้งหมดที่ยกมาในบทความนี้ จะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบทั้งหมดภายในช่วงปลายปีนี้ (หรือต้นปีหน้า) ต้องมาจับตาดูต่อไปครับว่าแต่ละฟีเจอร์ที่ Zoom คิดค้นมาจะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการสื่อสารแบบ Video Conference ได้มากแค่ไหน