ต้องบอกว่าโลกยุคดิจิทัลทุกวันนี้นั้นเปรียบเหมือนการโต้คลื่น ไม่ว่าจะเป็นนักการตลาด หรือแบรนด์น้อยใหญ่ต่างก็ต้องปรับตัวให้ทันตามคลื่นแต่ละลูกที่เข้ามาใกล้ตัวเราขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งคลื่นลูกใหญ่ที่กำลังเข้ามาและทำให้เราต้องมาอัพเดทกันในวันนี้ก็คือ “Voice Search” หรือการค้นหาด้วยคำสั่งเสียงที่เป็นเทรนด์ที่เริ่มได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อด้านต่างๆ ของแบรนด์ เช่น การรับรู้ (awareness) หรือ ความน่าเชื่อถือ (trust)
แต่คำถามคือ มันเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการเสิร์ชอย่างไร ? และนักการตลาดหรือแบรนด์อย่างเราควรต้องรับมืออย่างไร ? เราลองไปดูกันครับ
วิธีการเสิร์ชที่เปลี่ยนไปของลูกค้า
จริงอยู่ที่เมื่อก่อนเวลาเราต้องการค้นหาข้อมูลอะไร เราคงเลือกเสิร์ชด้วยการพิมพ์ข้อความที่เป็นตัวหนังสือ หรือใช้รูปภาพ แต่ปัจจุบันวิธีการค้นหาข้อมูลของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วยตัวเลขของจำนวนคนที่เสิร์ชผ่านคำสั่งเสียงที่มากขึ้นจนสามารถแซงการเสิร์ชผ่านการพิมพ์ตัวหนังสือได้เลย
และถ้าลองวิเคราะห์ดูแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโดยปกติแล้วมนุษย์เราพูดกันเฉลี่ย 150 คำต่อนาที ต่างจากการพิมพ์ที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 40 คำต่อนาทีเท่านั้น นอกจากนี้ในด้านของการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ การใช้เสียงยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์แบบ Hands-Free และ Eyes-Free อีกด้วย
เพื่อเป็นการยืนยัน เราลองไปดูสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Voice Search กัน
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Voice Search
- ภายในปี 2020 มีการคาดการณ์ว่า 50 % ของการค้นหาจะเป็นการค้นหาด้วยคำสั่งเสียง – อ้างอิงจาก
- ผู้คนชาวสหรัฐอเมริกากว่า 40 ล้านคนบอกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของ Smart Speaker ที่เป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของตลาด Voice Search
- ในปี 2016 Googleบอกว่าคำค้นหาจากแพลตฟอร์มโมบายมาจากการใช้คำสั่งเสียงมากถึง 20%
จะเห็นว่าเทรนด์ของ Voice Search นั้นดูจะมาแรงและ Impact มากๆ
ทีนี้เราลองมาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เราควรพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้ลูกค้าสามารถพบและเข้าถึงแบรนด์เราได้มากขึ้น จากการค้นหาด้วยคำสั่งเสียง
4 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงเราได้มากขึ้นในยุคของ “Voice Search”
1. ภาษาที่เป็นธรรมชาติ
คอนเทนต์ประเภทเสียงนั้นถูกมองว่าเป็นคอนเทนต์ที่จะมีลักษณะแตกต่างไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และส่วนใหญ่จะเป็นภาษาที่ไม่เป็นทางการมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคอนเทนต์ประเภทตัวหนังสือ เป็นเพราะเสียงนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารได้จากหลากหลายองค์ประกอบ เช่น อารมณ์ โทนของเสียง หรือรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ
นอกจากนี้ในมุมของการเสิร์ช การใช้คำสั้งเสียงนั้นจะรวดเร็วกว่า สะดวกกว่า และแม่นยำกว่าแบบข้อความ แต่สิ่งที่เราควรต้องรู้คือ ผู้คนที่เสิร์ชโดยใช้คำสั่งเสียงมักจะใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติมากกว่าการพิมพ์
ยกตัวอย่าง : หากคุณต้องการรู้ว่าร้านอาหารที่คุณจะไปกินนั้นให้บริการถึงกี่โมง
เสิร์ชผ่านการพิมพ์ข้อความ : ร้านอาหาร XXX เวลาปิดให้บริการ
เสิร์ชผ่านเสียง Assistant (เช่น Siri หรือ Google Assistant) : ร้านอาหาร XXX ปิดกี่โมง ?
ดังนั้นคอนเทนต์ที่พวกเขาจะเจอและสามารถเข้าถึงได้ จะต้องเป็นคอนเทนต์ที่ใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติและเป็นกลุ่มคำที่พวกเขาใช้กันในการสั่งผ่านคำเสียงนั่นเอง
2. คีย์เวิร์ดที่เป็น Long tail Keyword
ประโยคที่ผู้คนใช้เสียงในการค้นหามักจะมีความยาวมากกว่าการค้นหาด้วยตัวหนังสือ และประโยคส่วนใหญ่ที่ใช้เสียงค้นหาก็มักจะเป็นรูปแบบคำถามมากกว่า เช่น
- รองเท้าสำหรับผู้ใช้ยี่ห้อไหนเหมาะสำหรับการไปเดินป่าและลุยน้ำ ?
- อยู่ลาดพร้าว เรียนภาษาอังกฤษที่ไหนดี ถ้าอยากเพิ่มสกิลแกรมม่า ?
- ซื้อโทรศัพท์ IPhone X ที่ไหนถูกที่สุด ?
สิ่งที่แบรนด์หรือนักการตลาดควรทำก็คือเปลี่ยน Focus Keyword จากเดิมที่เป็นรูปแบบ Short-tail ให้เป็นรูปแบบ Long-tail
เช่น ถ้าลูกค้ากำลังค้นหารองเท้าสำหรับการไปเดินป่าที่อาจจะต้องลุยน้ำด้วย จากเดิมที่ตั้ง Focus Keyword เป็นเพียงคำว่า “รองเท้าเดินป่า” เราควรเปลี่ยนเป็น “รองเท้าเดินป่า ผู้ชาย กันน้ำ”
เพราะเมื่อนักการตลาดหรือแบรนด์เลือกใช้คีย์เวิร์ดแบบ Long tail แบบในตัวอย่าง คีย์เวิร์ดเหล่านั้นจะมีโอกาสไปตรงกับคำที่ลูกค้าใช้ค้นหาด้วยคำสั่งเสียงมากขึ้น นอกจากนี้หากคุณสามารถวิเคราะห์รูปประโยคที่ใกล้เคียงกับที่ลูกค้าจะใช้ได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถนำคีย์เวิร์ดหรือคำเหล่านั้นไปใส่ในคอนเทนต์ส่วนที่สำคัญๆ เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้คนจะเจอธุรกิจของเรา
3. Featured snippets
Featured Snippets คือ กล่องคำตอบที่อยู่บนหน้าแรก และอยู่ด้านบนสุดของผลลัพธ์ในหน้า SERPs (search engine result pages) หรืออยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า Position 0 นั่นเอง โดยข้อความในกล่องคำตอบนั้น Google จะนำมาจากคอนเทนต์บางส่วนของเว็บไซต์เรานั่นเอง
ตัวอย่างของ Featured Snippets
ซึ่งที่มันสำคัญต่อเรื่องนี้ก็เพราะคำตอบที่เป็น Featured Snippets ของแต่ละคียืฌวิร์ดนั้นจะลิงก์กับระบบ Voice Search ของ Assistants ต่างๆ โดยตรงเช่น หากเราถาม Siri ว่า ‘Quantum Supremacy คืออะไร ?’ มันก็จะเอาคำตอบจากกล่อง Featured Snippets มาตอบคำถามเราแบบทันที
via GIPHY
โดยแนวทางหลักๆ ในการทำให้คอนเทนต์ของเราไปอยู่บนกล่อง Featured Snippets คือ การทำให้คอนเทนต์ของเรานั้นสามารถตอบคำถามของสิ่งที่ลูกค้ากำลังหาคำตอบให้ได้มากที่สุด รวมถึงการทำให้เว็บไซต์ของเรามี Ranking ที่ดีขึ้น (เราจะมาพูดถึงเทคนิคการ Optimize กล่อง Featured Snippets กันอย่างละเอียดอีกที ติดตามรอได้เลยครับ)
4. คอนเทนต์ที่ตรงกับ Micro Moment
นักการตลาดหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Micro Moment ที่คือคำนิยามที่ Google ได้คิดค้นขึ้นมา ซึ่งถ้าให้อธิบายง่ายๆ มันคือโมเมนต์ที่ผู้ใช้การค้นหาจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป เช่น
- บางคนอาจจะต้องการข้อมูลทันทีเพื่อตัดสินใจซื้อ (want – to – buy moment)
- บางคนอาจจะต้องการเพียงหาข้อมูลเฉยๆ (want – to – know moment)
- บางคนอาจจะต้องการหาข้อมูลเพื่อไปที่ไหนสักที่ (want- to – go moment)
มันเป็นสิ่งที่ Google ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมันจะสามารถวิเคราะห์ได้ถึงจุดประสงค์ของสิ่งที่ผู้ใช้กำลังค้นหาจริงๆ โดยเฉพาะกับ Voice Search ที่ Google จะให้ความสำคัญกับหลักการนี้มาก เพราะอย่างที่รู้กันว่าการพูด 1 คำนั้นอาจจะแปรผันไปได้เป็น 100 ความหมาย
ซึ่งหลังจากที่ Google ได้วิเคราะห์ตามหลักการนี้แล้ว Google ก็จะเลือกเว็บไซต์ที่มาแสดงผลลัพธ์ได้ตรงความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด แปลว่าเราควรที่จะปรับคอนเทนต์ในเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่ลูกค้ากำลังใช้คำสั่งเสียงเพื่อค้นหามากที่สุด
โดยแนวทางในการพัฒนาส่วนนี้คือการให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับแต่ละขั้นตอน (Stage) ของ Funnel นั่นเอง
สรุปทั้งหมด
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราคงเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า Voice Search นั้นจะมีอิทธิพลต่อธุรกิจแค่ไหนในอนาคตที่จะถึงนี้ และดูเหมือนว่าแนวทางในการ Optimize เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าถึงเว็บไซต์ของเราได้มากขึ้น ก็อาจจะมีบางอย่างที่เปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม Voice Search นั้นถือเป็นตลาดใหม่สำหรับโลกดิจิทัล ยังมีข้อมูลหรือเทคนิคหลายอย่างที่เราต้องติดตามกันต่อไปครับ
Stay Tuned !