Business

Collaboration Marketing คืออะไร? กลยุทธ์การร่วมมือกันระหว่าง 2 แบรนด์ที่จะมายกระดับธุรกิจยุคใหม่

Collaboration Marketing คืออะไร? กลยุทธ์การร่วมมือกันระหว่าง 2 แบรนด์ที่จะมายกระดับธุรกิจยุคใหม่
Light
Dark
Praewa Pavinee
Praewa Pavinee

พบเจอได้ตามร้านชาบูปิ้งย่างบุฟเฟ่ต์และฮอลล์คอนเสิร์ต ชอบกินเหลือใจสุดไรสุด และมีชีวิตอยู่เพื่อ appreciate ความหล่อของ V BTS

นักเขียน

Collaboration Marketing คือกลยุทธ์ทางการตลาดที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยหลายแบรนด์ทั่วโลก และยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการทำการตลาดที่เปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจในหลายมิติ จากการผนึกกำลังกันเพื่อผลิตสินค้าหรือแคมเปญใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด โดยมีเอกลักษณ์ของทั้ง 2 แบรนด์อยู่บนสินค้าและในแคมเปญนั้น ๆ

ในบทความนี้ The Growth Master จะพาไปรู้จักกับ Collaboration Marketing พร้อมชี้ให้เห็นว่าการตลาดรูปแบบนี้ จะเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างไรบ้าง ไปอ่านกันได้เลย!

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

Collaboration Marketing คืออะไร? 

Collaboration Marketing คือการที่แบรนด์จับมือร่วมกันผลิตสินค้าหรือแคมเปญเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน และเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ หรือเพื่อดึงความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเดิม โดยการนำข้อได้เปรียบ (Strengths) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละแบรนด์ออกมาให้ชัดเจน เพื่อส่งต่อคุณค่าของแบรนด์ลงในสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ที่ทำร่วมกันกับอีกแบรนด์

ทำไม Collaboration Marketing ถึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจยุคนี้

ในยุคที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง การจับมือร่วมกับอีกแบรนด์จะช่วยให้ธุรกิจหรือแบรนด์มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งมากขึ้น โดยมีข้อได้เปรียบหลัก ๆ อย่างเช่น 

ช่วยขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้ (Expanding Customer Base & Increasing Sales) 

การร่วมมือกันของ 2 แบรนด์เป็นการขยายตลาดผ่านการแชร์ฐานลูกค้าของแต่ละแบรนด์ร่วมกัน ดังนั้นจะเหมือนกับการที่แต่ละแบรนด์จะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มไปโดยอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มลูกค้าเป็น 2 เท่า

เพราะกลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าของอีกแบรนด์อยู่แล้วก็มีโอกาสที่จะหันมาให้ความสนใจอีกแบรนด์ที่ทำ Collaboration Marketing ด้วย โดยหากแบรนด์ออกสินค้าเองตามเดิมภายใต้ชื่อแบรนด์เดียว โอกาสในการจะขยายสินค้านั้นให้เข้ากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ โดยเริ่มจาก 0 นั้นเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก 

เป็นการลงทุนอย่างคุ้มค่า (Cost-Effective)

เพราะการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์นั้น นับว่าเป็นการแชร์ทรัพยากรซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านผู้เชี่ยวชาญ (Experts) เทคโนโลยีการผลิตต่าง ๆ หรืองบที่ใช้ทำการตลาด ที่ทั้ง 2 แบรนด์อาจมีความเชี่ยวชาญต่างกันออกไป ทั้งหมดนี้จะถูกกระจายและแบ่งปันกันระหว่าง 2 แบรนด์  ไม่ใช่แค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งต้องรับผิดชอบและลงทุนทุกอย่างเวลาโปรโมทและทำการตลาด

สร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ (Building Credibility) 

การรวมพลังกับแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือหรือมีชื่อเสียงที่ดีอยู่แล้ว จะเป็นการทำให้ทั้ง 2 แบรนด์ได้รับความน่าเชื่อถือคู่กัน หรือหากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมีภาพลักษณ์ชื่อเสียงที่ดีมากอยู่แล้ว ลูกค้าของแบรนด์นั้นก็จะยอมเปิดใจให้อีกแบรนด์ได้ง่ายขึ้น และมีความเชื่อและความคาดหวังว่าอีกแบรนด์จะมีคุณภาพที่ดีเหมือนกัน 

เพิ่มความแปลกใหม่สร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ (Enhancing Creativity) 

เนื่องจากสินค้าที่ออกสู่ตลาดจากการทำ Collaboration Marketing เป็นสิ่งใหม่และไม่เคยมีมาก่อน หรือ เป็น Limited Edition นี่จึงเป็นการเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค และเป็นการโชว์ศักยภาพความสร้างสรรค์ของแบรนด์ ที่ทั้งสร้างมูลค่าให้สินค้าและได้โชว์จุดแข็งของแต่ละแบรนด์ ทำให้แบรนด์ทั้ง 2 มีความโดดเด่น และมีภาพลักษณ์เหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกด้วย 

นอกจากนั้น สินค้าที่เป็น Limited Edition มักจะขายดีและเป็นที่ถูกใจในหมู่นักสะสม เพราะมีจำนวนจำกัด หาได้ยากและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในวันหน้าเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ 

เพิ่มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต (Boosting Business Potential) 

การทำ Collaboration Marketing นอกจากสิ่งที่ออกสู่ตลาดจะสร้างประโยชน์มากมายให้กับแบรนด์แล้ว แบรนด์ที่ร่วมมือกันเองก็จะได้เรียนรู้จากกันและกันอีกด้วย เช่น ได้รู้การทำงาน ได้เรียนรู้จากสิ่งที่อีกแบรนด์เชี่ยวชาญและชำนาญในการทำธุรกิจที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน โดยสามารถใช้สิ่งนี้ในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคตต่อไป

ทำ Collaboration Marketing อย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ

เลือกแบรนด์ที่จะเป็นพันธมิตรด้วยอย่างรอบคอบ 

การเลือกแบรนด์ที่จะทำ Collaboration Marketing ด้วยนั้น ต้องเลือกอย่างรอบคอบ เพราะเมื่อร่วมมือเป็นพันธมิตรกันแล้ว ก็เท่ากับว่าเราเองก็กำลังเอาธุรกิจและชื่อเสียงไปฝากไว้กับอีกแบรนด์ โดยอาจเลือกแบรนด์จากการดูว่าแบรนด์นั้น ต้องมีความ Active บน Social Media อย่างต่อเนื่อง แบรนด์มีชื่อเสียงที่ดีและไม่มีประวัติเสื่อมเสีย หรือหากแบรนด์เป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดนั้น ๆ ก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

กำหนดเป้าหมายที่ธุรกิจจะได้รับให้ชัดเจน 

ตั้งเป้าหมายทางธุรกิจโดยตกลงร่วมกันทั้ง 2 แบรนด์ให้ชัด เพื่อกำหนดว่าธุรกิจจะต้องได้อะไรคืนมาจากการทำ Collaboration Marketing ครั้งนี้ 

เช่น ต้องการลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไหร่ ต้องการรายได้เพิ่มขึ้นแค่ไหน หรือ ต้องการยอด Engagement บนช่องทางโซเชียลของแบรนด์เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เพราะเมื่อเป้าหมายทางธุรกิจถูกกำหนดอย่างชัดเจน การติดตามผล (Tracking) ความคืบหน้าและประเมินผลในตอนท้ายจะชี้ให้เห็นชัดว่าเป้าหมายทางธุรกิจนั้นทำได้สำเร็จหรือไม่ หรือต้องปรับกลยุทธ์เพิ่มเติมอย่างไรในอนาคต

Collaboration Marketing ตัวอย่างแบรนด์ที่ทำ

Nike x Apple

เป็นการออกผลิตภัณฑ์ Apple Watch ที่มีตัวสายรัดเป็นวัสดุ Sport Band และมีโลโก้ Nike เพื่อเอาใจคนรักสุขภาพ ชอบออกกำลังกาย ซึ่งอาจทำให้คนที่ใช้ Apple Watch ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วหันมาสนใจและเลือกผลิตภัณฑ์ของ Nike ในการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น หรือคนที่เป็นสาวก Nike ก็จะได้เปิดใจในการเลือก Apple Watch เข้ามาใช้ในการยกระดับประสบการณ์การออกกำลังกายเช่นกัน

ภาพจาก Apple

Hygiene x Mister Donut 

น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ทำเป็นกลิ่นขนมหวานของ Mister Donut โดยมีการทำโปรโมชั่นที่ให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ Hygiene สูตรนี้ฟรี พร้อมออกขนมโดนัทแบบ Limited Edition จาก Hygiene ให้ได้ชิมกัน จะเห็นได้ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้า และเปิดให้ลูกค้าได้ทดลองสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทั้ง 2 แบรนด์ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การมีฐานลูกค้าระยะยาวเพิ่มขึ้น

ภาพจาก Hygiene Thailand

MCM x Looney Tunes

แบรนด์แฟชั่นที่พิมพ์ลายตัวการ์ตูน Looney Tunes ที่มีทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า และเครื่องประดับ โดยใช้โอกาสจากการที่ตัวการ์ตูนมีอายุครบรอบ 80 ปี เพื่อขยายฐานไปที่ลูกค้าที่เป็นแฟนของ Looney Tunes ที่อาจกำลังมองหาสินค้าที่มีความพิเศษเพื่อฉลองวันครบรอบนี้ ให้เข้ามาซื้อสินค้าแบรนด์มากขึ้น และทำให้ลูกค้าที่ชื่นชอบแบรนด์ MCM อยู่แล้วได้รับรู้ถึงตัวการ์ตูน Looney Tunes อีกด้วย

ภาพจาก HK Times Square

Lay’s x KFC 

ขนมขบเคี้ยวที่ทำเป็นรสชาติของไก่ KFC โดยเป็นการนำความอร่อยที่ทั้ง 2 แบรนด์ขึ้นชื่ออยู่แล้วมาควบรวมกันเป็น 1 เดียว โดยยึดจากจุดยืนของแบรนด์ Lay’s ที่ว่า “เพราะชีวิตต้องมีรสชาติ” โดยการ Collab ครั้งนี้เป็นการเพิ่มรสชาติให้ชีวิตในแบบที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์กว่าเดิมให้ลูกค้า

ภาพจาก KFC

BMW x Louis Vuitton

คอลเลคชั่นกระเป๋าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก BMW i8 โดย Louis Vuitton ได้ออกกระเป๋าเดินทางมาทั้งหมด 4 แบบที่ทำจากวัสดุ Carbon Fibre ทั้งหมด และออกแบบให้เข้ากับตัวรถ BMW ที่ออกมาใหม่เพื่อยกระดับและตอกย้ำภาพลักษณ์ของความหรูหราและ Exclusive ของทั้ง 2 แบรนด์ให้ชัดเจนขึ้นอีก

ภาพจาก Louis Vuitton

สรุปทั้งหมด

การทำ Collaboration Marketing ถือเป็นกลยุทธ์ที่เสริมความก้าวหน้าให้กับธุรกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของภาพลักษณ์แบรนด์ ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ และผลตอบแทนในธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่ต้องการสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ และเพิ่ม Brand Awareness ให้มากขึ้นในปี 2023 และในอนาคต

สำหรับแบรนด์หรือธุรกิจใดที่สนใจปรึกษา The Growth Master ในการสร้าง Branding สร้างความโดดเด่น เป็นที่รู้จักจากกลุ่มเป้าหมายให้แบรนด์ของคุณ ผ่านเทคนิคการทำการตลาดด้วยศาสตร์ Growth Hacking การันตีความพึงพอใจให้กับลูกค้ามากกว่า 100 เจ้า สามารถติดต่อเราได้เลยที่ ลิงก์นี้

ที่มา: bu, awin, ca.indeed, digicom

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เราช่วยธุรกิจของคุณให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม

ติดตามข้อมูลการตลาด
Growth Hacking ได้เลยทีนี่
มากกว่า 2,000 บริษัทติดตาม The Growth Master ตอนนี้
ไปที่หน้า Subscribe