Aha Moment คืออะไร ? ทำความรู้จัก “Aha Moment” กุญแจสำคัญในการเติบโตของธุรกิจ

Aha Moment คืออะไร ? ทำความรู้จัก “Aha Moment” กุญแจสำคัญในการเติบโตของธุรกิจ
Light
Dark
Pea Tanachote
Pea Tanachote

อดีตนักร้อง ที่ผันตัวมาเขียนคอนเทนต์ ชอบดูฟุตบอลและ Blackpink เป็นชีวิตจิตใจ นักเขียนคอนเทนต์ที่ใคร ๆ ก็ต้องการตัว (โดยเฉพาะตำรวจ)

นักเขียน

หากพูดถึงเรื่องการมอบคุณค่าให้กับผู้ใช้งาน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำการตลาดในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะศาสตร์จำพวก Growth Marketing หรือ Growth Hacking ที่จะให้ความสำคัญกับการมอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ใช้งานเป็นหลัก

แต่การที่คุณจะรู้ถึงคุณค่าของธุรกิจตัวเองได้ คุณจะต้องหากุญแจสำคัญที่เรียกว่า "Aha Moment" ให้ได้เสียก่อน

ซึ่งคำว่า Aha Moment ไม่ใช่ตัวย่อหรืออะไรเลยนะครับ แต่เป็นการทำให้ผู้ใช้งานของคุณเกิดความรู้สึกว้าว และเห็นคุณค่าที่แท้จริงในตัวผลิตภัณฑ์ จนพวกเขาต้องร้องออกมาว่า อาฮ่า! 

ซึ่งแน่นอนครับว่าเมื่อพวกเขารู้สึกประทับใจเช่นนั้นแล้ว การที่พวกเขาจะกลับมาใช้บริการของคุณซ้ำอีกรอบ (Retention) หรือการพร้อมใจที่จะบอกต่อ (Referral) ผลิตภัณฑ์/บริการของคุณไปสู่ผู้อื่น ก็เป็นเรื่องง่ายดาย

ในบทความนี้ The Growth Master เลยขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Aha Moment กุญแจสำคัญในการเติบโตของธุรกิจ ตั้งแต่ความหมาย ความสำคัญ และวิธีการเริ่มค้นหา Aha Moment ให้กับธุรกิจ หากพร้อมแล้ว มาเริ่มหาจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจคุณกันได้เลย

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

Aha moment คืออะไร? 

หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างและพอรู้แล้วว่ามันคืออะไร แต่ผมเชื่อว่าก็ยังมีอีกไม่น้อยที่ยังสงสัยอยู่ว่ามันคืออะไรกันแน่ มันสำคัญยังไง และเหตุผลอะไรที่บริษัทของเราควรจะมีสิ่งนี้?

จริงๆ แล้วในเชิงวิทยาศาสตร์ Aha Moment นั้นเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมองมีความถี่อยู่ในช่วงอัลฟ่า ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือช่วงเวลาที่คนเราคิดหาทางออกในเรื่องๆ นึงได้ หรือที่เรียกกันว่าการ “ปิ๊งไอเดีย” นั่นเองครับ

ส่วนในมุมของการตลาดเองก็มีส่วนที่อ้างอิงแนวคิดมาจากวิทยาศาสตร์นี่แหละครับ เลยทำให้ Aha Moment ณ ที่นี้ หมายถึงจุดจุดนึง (Moment) ในประสบการณ์ของผู้ใช้ที่พวกเขาจะเห็นคุณค่าที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการจนเกิดความรู้สึก “ว้าว!” หรือ “อาฮ่า!” นั่นเอง 

ภาพจาก inc42

ยกตัวอย่างเช่น Grab (GrabFood) จากแต่ก่อนสมัยที่ยังไม่มีบริการนี้ การที่คุณอยากกินอาหารร้านดังๆ สักเจ้า คุณก็ต้องไปขับรถไปนั่งกินที่ร้าน หรือไปที่ร้านเพื่อสั่งกลับมากินที่บ้าน ใช่มั้ยครับ แน่นอนว่าคุณต้องเจอกับอุปสรรคเล็กน้อย ที่คอยกวนใจคุณเสมอ เช่น ต้องรอคิวนาน , คนเยอะ , ร้านอาหารไกลมีค่าเดินทาง

แต่เมื่อมีบริการ GrabFood กำเนิดมา คุณก็แค่หยิบโทรศัพท์มากดสั่งอาหาร แล้วก็รอให้คนขับของ Grab นำอาหารจากร้านที่คุณต้องการมาส่งให้ที่บ้านคุณ ซึ่งราคาของอาหารก็เรียกว่าเกือบจะเท่ากันกับการที่คุณไปนั่งกินที่ร้านเลยทีเดียว 

แถมทาง Grab ก็ยังมีการพัฒนาบริการให้มีความสะดวกสบายและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคปัจจุบันมากขึ้น (เช่นจ่ายเงินออนไลน์ , ตั้งเวลาการสั่งอัตโนมัติ , โค้ดส่วนลดมากมาย) ซึ่งความสะดวกสบายนี่แหละครับคือ Aha Moment ที่ Grab พยายามจะมอบให้ผู้ใช้บริการ

จนทำให้ผู้ใช้งานเริ่มเห็นคุณค่าของบริการ GrabFood ซึ่งผมมั่นใจว่าใครที่เคยได้ลองใช้บริการ GrabFood สักครั้งหนึ่ง ต้องติดใจในความสะดวกสบายนี้ และเกิดการใช้บริการในครั้งต่อๆ ไปจนกลายเป็นลูกค้าประจำของบริการนี้ไปในที่สุด

ภาพจาก johorfoodie

กลับมาต่อที่ Aha Moment ผมจะขอยกตัวอย่างด้วยการใช้รูปที่จะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่า Aha moment เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อผู้ใช้ส่วนใหญ่ ซึ่งจะแบ่งผู้ใช้งาน (ลูกค้า) ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

ภาพจาก wjames

  • กลุ่มผู้ใช้ที่เข้ามาและใช้งานเป็นประจำ (Retained)      
  • กลุ่มผู้ใช้ที่เข้ามา(ใช้)แต่ไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ (Took action)

โดยจะเห็นได้ว่า Aha Moment นั้นจะอยู่กึ่งกลางระหว่างผู้ใช้ทั้งสองกลุ่มนี้นั่นเอง

ทำไมองค์กรหรือธุรกิจของเราถึงควรมี Aha Moment ?

คำตอบคือ เพราะมันเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตครับ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่ๆอย่าง Slack (แอพแชทสำหรับองค์กร), Facebook หรือ Dropbox ก็ต่างมุ่นเน้นในการหา Aha Moment ให้กับสินค้าหรือบริการของตัวเองกันทั้งนั้น

ผมขอยกตัวอย่าง Facebook ที่เมื่อทีมพัฒนาของพวกเขาได้ค้นพบสิ่งที่เป็น Aha Moment (ในด้านการติดต่อสื่อสาร) มันก็ทำให้พวกเขาพัฒนาการเติบโตได้อย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด  

นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ใช้ติดใจและเกิดการเข้าใช้งานอย่างต่อเนื่องซึ่งสังเกตได้จากการที่พวกเขามี Retention Rate ที่สูงขึ้นมากนั่นเองครับ

โดยนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทีมพัฒนาของหลายๆ องค์กรคิดว่าพวกเขาควรโฟกัสและทุ่มเทกับการค้นหา Aha Moment ให้กับสินค้าหรือบริการของพวกเขา ดังนั้นเราก็ควรเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่จะต้องหา Aha Moment ของเราให้เจอ

แต่การค้นหาสิ่งที่เรียกว่า Aha Moment ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย The Growth Master เราเข้าใจคุณดีครับ เลยขออาสาพาคุณไปหาวิธีการเริ่มต้นค้นหา Aha Moment

วิธีการเริ่มต้นค้นหา Aha Moment ให้กับธุรกิจของคุณ เริ่มต้นอย่างไร?

เมื่อผู้ใช้ได้เริ่มเข้ามาใช้สินค้าหรือบริการของเรา พวกเขามักจะหาคุณค่าที่จะได้จากบริการหรือสินค้าเหล่านั้นในช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึก “คลิ๊ก” หรือเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกได้ประโยชน์จากมันอย่างแท้จริง นั่นแหละครับคือช่วง Aha moment ที่พูดถึง พวกเขาจะรับรู้ถึงมันโดยที่อาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ภาพจาก apple.com

อย่างกรณีของ “iPhone” สมาร์ทโฟนชื่อดังจาก Apple ที่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวงการสมาร์ทโฟนและล้มตำนานวงการมือถือหลายรายได้อย่างเฉียบขาด ส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นเพราะ iPhone สามารถมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้ใช้งานได้นั่นเอง 

นั่นก็คือ “การทลายกำแพง” ข้อจำกัดรูปแบบมือถือแบบเดิมๆ ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆนั่นเอง (เช่น หน้าจอไร้ปุ่มเจ้าแรกในตลาด, ระบบปฏิบัติการแบบ iOS และ AppStore)

และด้วยสิ่งนี้เองทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความล้ำสมัย และนั่นแหละครับ คือ Aha Moment ของ iPhone สมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันและทาง Apple เองก็ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อหา Aha Moment ของตนเองต่อไปเรื่อยๆ (2020)

พอเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยครับว่า Aha moment จะพาธุรกิจของคุณไปสู่ความสำเร็จได้ยังไง ผมเชื่อว่าทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้คงอยากจะเจอมันแล้ว งั้นเรามาเริ่มต้นการค้นหากันทีละขั้นตอนเลยดีกว่าครับ

1.“Retention” คืออะไร หน้าตามันเป็นยังไง ?

ภาพจาก Apptimize.com

จากที่ได้เกริ่นไปตอนต้นว่าอัตราการกลับมาใช้ซ้ำหรือ Retention Rate มีความเชื่อมโยงกับ Aha Moment ยังไง ดังนั้นก่อนอื่นเลย เราจึงจำเป็นจะต้องเจาะลึกไปที่ Retention กันก่อน

เราจะรู้ว่าลูกค้ายังคงใช้สินค้าเราอยู่หรือไม่ (Retention) ในเชิงคุณภาพสามารถวัดได้ด้วยวิธีง่ายๆอย่างการสอบถามจากลูกค้าโดยตรงว่าชอบสินค้าของเราไหม แต่อย่างในกรณีแอปพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ในการที่จะลงทุนทำการตลาดแต่ละครั้งก็ต้องคำนึงถึงงบประมาณและที่สำคัญคือต้องสามารถวัดผลได้ด้วย

ดังนั้นวิธีง่ายๆอย่างเดินเข้าไปสอบถามทีละคน อาจจะดูเสียเวลาและยุ่งยากเกินไป เราต้องวิเคราะห์ออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจนเพื่อวัดความคุ้มค่าของงบประมาณที่เราสูญเสียไป ด้วยวิธีที่เรียกว่า Cohort Analysis หรือการวิเคราะห์ตามกลุ่มประชากรนั่นเอง

อะไรคือ Cohort Analysis?

Cohort Analysis เป็นเทคนิคที่อิงมาวงการแพทย์ที่วิเคราะห์การใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยที่แตกต่างกัน เพื่อวิเคราะห์ปริมาณยาและประเภทยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นๆ แต่ในกรณีของแอปพลิเคชัน กับการวิเคราะห์ Retention มันง่ายกว่านั้นครับ 

โดยตัวแปรที่ใช้ คือช่วงเวลาที่ผู้ใช้มีการสมัคร (Sign up) และเปอร์เซ็นต์ที่ผู้ใช้ยังคงใช้งานอยู่ (Still Active) คุณจะเห็นมันออกมาเป็นตารางแบบนี้เลย

ภาพจาก Intercom

(ในช่องสีเหลืองนั้นหมายความว่า 24% ของผู้ใช้ที่สมัครในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ยังคงใช้งานอยู่หลังจากผ่านไป 3 เดือน)

จากตารางด้านบนเราจะเห็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ที่ยังคงใช้งานอยู่ในช่วงระยะเวลา 5 เดือนหลังจากมีการสมัคร และด้วยข้อมูลนี้เองมันจะช่วยให้เรารู้ว่ามีผู้ใช้กี่เปอร์เซ็นต์ที่ยังคงใช้งานอยู่ หรือเลิกใช้งานหลังจากมีการสมัคร โดยเราสามารถติดตามผลได้ในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย

  • เราจะขอเรียกผู้ใช้หลังจากดาวน์โหลดและยังคงใช้งานอยู่ว่าผู้ใช้ที่ติดใจ ว่า “Power User” ครับ

และการที่จะทำให้เห็นภาพง่ายยิ่งขึ้นนั้น เราก็ควรนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำเป็นกราฟเส้นตรง โดยเราจะเห็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ผู้ใช้ของเราติดใจกับมัน และผมขอยกตัวอย่างในกรณีที่หลายคนอยากรู้ นั่นก็คือ

“แอปพลิเคชั่นของเรามี Power User เพิ่มขึ้นหรือไม่หลังผ่านไป 1 เดือน?”

ภาพจาก intercom

จากรูปด้านบนเราจะสังเกตได้ว่า Retention rate นั้น เพิ่มขึ้นถึง 32.4 % เมื่อผ่านไป 1 เดือนนับจากเดือนที่ผู้ใช้เริ่มสมัคร

เดี๋ยวก่อน ! แล้วถ้าธุรกิจไม่ใช่ แอปพลิเคชัน จะมีสิทธิ์ใช้ทฤษฎีนี้ได้ไหม?

จริงๆ แล้ว เกือบทุกธุรกิจนำมาปรับใช้ได้หมด เพราะการเติบโตของธุรกิจนั้นมาจากลูกค้าประจำที่กลับมาซื้อซ้ำ แนะนำบอกเพื่อนต่อ และช่วยให้ข้อมูลเราในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยวิธีนี้จะทำให้คุณมีวิธีคิดการวัดผลที่ถูกต้องและรู้ว่าจุดไหนคือสิ่งที่ลูกค้าคุณให้ความสำคัญ เพียงแต่ว่าธุรกิจอื่นๆ นั้นจะวัดผลได้ยากกว่า จึงต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้

  • ในกรณีที่คุณอยากลองนำ Cohort Analysis มาใช้งานกับการวัดค่า Retention Rate ขององค์กรคุณสามารถใช้งานเครื่องมือที่ทั้งง่ายและฟรีอย่าง Google Analytics ได้ครับ (ซึ่งฟีเจอร์ก็นับว่าใช้ได้เลยทีเดียวเมื่อเทียบกับราคา)

2. เริ่มสร้างสมมติฐาน (Hypothesis)

หลังจากที่เราได้ข้อมูล Retention มาแล้ว ต่อมาเราก็ควรจะเริ่มหาว่าอะไรคือตัวการที่ส่งผลต่อ Retention rate โดยเราจะใช้วิธีที่ง่ายที่สุดกันครับ

ด้วยการที่ Aha Moment นั้นมักจะอยู่ที่จุดเกือบสูงสุดของ Funnel (Activation) ดังนั้นเราก็ควรเริ่มจากว่าอะไรคือการกระทำ (Actions) แรกๆ ที่พวกเขาทำหลังจากเปิดแอปฯ หรือเริ่มต้นเข้ามายังธุรกิจของเรา

ยกตัวอย่างแบบเข้าใจตามได้ง่าย  ตัวอย่างเป็น แอปพลิเคชั่นที่ให้บริการสตรีมมิ่งเพลง (เช่น Spotify) การกระทำที่ว่านั้นคงจะเป็น หน้าการสมัครสมาชิก หน้าเล่นเพลง เสิร์ชหาชื่อศิลปิน หรือ My Playlist นั่นเอง

ภาพจาก customer.io

และลองมองจากผู้ใช้ทั้งสองกลุ่มนี้ 1) ผู้ใช้ที่ติดใจ (Power user) และ 2) ผู้ใช้ที่ดาวน์โหลดแอปฯ และหลังจากนั้นไม่นานก็เลิกใช้ (Churned user) เราจะสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนว่าสองกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการใช้งานที่แตกต่างกัน 

โดยถ้าเราทำการหาว่าส่วนไหนของแอปฯเราที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้กลุ่มแรกได้ เราจะได้ข้อมูลเชิงลึกบางอย่างกลับมาอย่างแน่นอน

อย่างกรณีที่ผมยกตัวอย่างไปคือแอปพลิเคชั่นสตรีมมิ่งเพลง ที่ผู้ใช้กลุ่มแรกส่วนใหญ่มักจะ

– มีเพลงโปรดหลายเพลง ใช้งานเป็นประจำทุกวัน

– สร้างเพลย์ลิสต์ของตัวเอง เพื่อเก็บเพลงโปรดเหล่านั้น

– คลิกที่หน้า “ศิลปินที่โดดเด่น” หลายหน้า เพื่อหาเพลงใหม่ๆ อยู่เสมอ

แต่ในขณะเดียวกันผู้ใช้กลุ่มที่สองมักจะไม่มีการกระทำเหล่านี้เลย ดังนั้นสามารถตั้งสมมติฐานได้จากการกระทำเหล่านี้ เช่น การที่ผู้ใช้ได้สร้างเพลย์ลิสต์ของตัวเอง ถ้าการกระทำนี้ส่งผลทำให้ Retention Rate ของแอปฯ เราสูงขึ้น และ นั่นอาจหมายความว่าการกระทำนี้เป็น Aha Moment ของแอปพลิเคชั่นเรานั่นเอง

เจาะลึกกับประสบการณ์ของผู้ใช้หรือ UX (User Experience)

การเจาะลึกพฤติกรรมที่ผมพูดถึงมันก็คือการสำรวจผู้ใช้นี่แหละครับ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการนัดกลุ่มเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบตัวของเรา มาที่ร้านกาแฟและทำการสำรวจพวกเขาด้วยแบบสอบถามและให้พวกเขาทดลองใช้แอปพลิเคชั่น ของคุณ

  • ตรงนี้ผมขอแนะนำ Software ที่จะมาเป็นตัวช่วยในการสำรวจ นั่นก็คือ UserTesting ที่ผู้ใช้จะสามารถทำแบบสำรวจ หรือรายงานปัญหานั้นด้วยการอัดวิดีโอ และส่งแจ้งรายงานให้กับคุณได้อย่างง่ายดาย

แต่คุณต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่แค่การส่งมือถือให้พวกเขาลองใช้แอปฯ แล้วก็จบ คุณต้องมีความมั่นใจด้วยว่าพวกเขาจะได้ลองใช้ทุกฟีเจอร์ของสินค้านั้นจริงๆ เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา 

ภาพจาก medium

และจะทำให้เราสามารถเจาะลึกในทุกๆ ส่วนของ UX ได้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการหา Aha Moment

และถ้าหากคุณเจาะลึกได้สำเร็จ แน่นอนว่าเราจะมองออกว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ Power User ถูกใจสินค้าและกลายมาเป็นลูกค้าชั้นดีได้ในที่สุด หลังจากนั้นคุณจะสามารถสร้างสมมติฐานและนำข้อมูลเหล่านั้นไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อเพิ่มจำนวน Power User ของเรา!

ถ้าคุณผ่านมาถึงขั้นตอนนี้ได้ ผมขอแสดงความยินดีด้วยครับ เพราะนั่นแปลว่าคุณกำลังจะเจอ Aha Moment ของคุณแล้วล่ะครับ

3.ทดสอบสมมติฐาน

เมื่อคุณได้สมมติฐานเหล่านั้นมาแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำในขั้นตอนถัดไป ก็คือการนำเอาพวกมันมาทดสอบ เพื่อพิสูจน์ว่ามันจะทำให้เกิด Aha Moment และดึงผู้ใช้มาเพิ่มได้จริงหรือไม่

และวิธีที่เบสิคสุดๆ ก็คือการระบุชื่อให้กับกลุ่มผู้ใช้นั้นๆ เช่น กลุ่ม A และกลุ่ม B หลังจากนั้นก็ทำการทดสอบกับผู้ใช้ทั้งสองกลุ่ม 

ห้ามลืมว่าอีกอย่างที่คุณต้องมี ก็คือหน่วยการวัดผลที่ชัดเจน (ณ ที่นี้ส่วนใหญ่จะใช้เป็น Retention Rate) และในที่สุดคุณจะได้เห็นว่าสมมติฐานทั้งหลายเหล่านี้เปลี่ยนแปลงหน่วยวัดผลของคุณได้ยังไง

อย่างกรณีของ Facebook ที่เมื่อทีมพัฒนาของพวกเขาได้ทดสอบและพบว่าการที่ “ผู้ใช้มีการเพิ่มเพื่อน 7 คนในช่วงเวลา 10 วันแรกนับจากวันที่เริ่มต้นใช้งาน” เป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าผู้ใช้ได้เข้าไปอยู่ในช่วง Aha Moment และกลายมาเป็น Power User เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถนับพฤติกรรมในส่วนนี้ได้ว่าเป็นจุดที่ทำให้เกิด Retention Rate มากที่สุดนั่นเอง

ภาพจาก fluiddrivemedia

และที่สำคัญการค้นพบ Aha moment ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ North Star Metric ของ Facebook พุ่งทะยานไปมากกว่า 2.6 พันล้าน User ในปี 2020 นี้ 

  • North Star Metric คือค่าหรือหน่วยวัดผลที่สามารถนิยามการเติบโตของบริษัทได้ทั้งหมด เป็นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโต หากใครต้องการศึกษาเรื่อง North Star Metric คุณสามารถเข้าอ่านต่อได้ที่นี่

ขนาดยักษ์ใหญ่แห่งวงการโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และเป็นผู้นำในวงการเทคโนโลยี ยังเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการสร้าง Aha Moment นี้ เพราะมันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการเติบโตของพวกเขา ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่องค์กรอื่นๆมุ่งมั่นที่จะหา Aha Moment ให้กับตัวเองเพื่อที่จะให้การพัฒนาเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว

สรุปทั้งหมด

ผมหวังว่าทุกคนจะสามารถมองเห็นภาพได้ชัดขึ้นจากบทความนี้ แล้วนะครับว่า Aha Moment ก็ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตของธุรกิจและต่างเป็นสิ่งที่หลากหลายองค์กรให้ความสำคัญ

ผมเชื่อว่าหลังจากที่คุณอ่านบทความนี้จบ ตัวคุณเองก็สามารถเริ่มลงมือสร้าง Aha Moment ให้กับองค์กรหรือธุรกิจของคุณได้ จากขั้นตอนที่เรานำเสนอไปในบทความนี้เพียงไม่กี่ขั้นตอน

ปี 2020 นี้ก็คงถึงเวลาของคุณแล้วล่ะครับ ที่จะเริ่มการพัฒนาการเติบโตขององค์กรคุณให้สูงยิ่งขึ้นไป และเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัว เพราะสุดท้ายแล้วองค์กรที่เจอ Aha Moment ได้เร็วที่สุด จะเป็นองค์กรที่เข้าใจลูกค้าได้มากที่สุด และทำให้คุณสามารถวางแผนการตลาดได้อย่างตรงจุด จนสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

Source : Apptimize, Customer.io, Statista, Smartleadercoaching, Appcues,



ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe