Inbound marketing 101 : การตลาดสร้างแรงดึงดูด ที่จะทำให้ลูกค้าอยากเข้าหาคุณ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินโฆษณา

Inbound marketing 101 : การตลาดสร้างแรงดึงดูด ที่จะทำให้ลูกค้าอยากเข้าหาคุณ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินโฆษณา
Light
Dark
The Growth Master Team
The Growth Master Team

The Growth Master Team ผู้รักในการเรียนรู้ หลงใหลในเทคโนโลยี และแฮปปี้กับการเติบโต

นักเขียน

Inbound Marketing คืออะไร ?

Inbound marketing พูดง่ายๆก็คือการตลาดที่ใช้วิธีการดึงดูดลูกค้าเข้ามาแทนการผลักข้อมูลออกไป ซึ่งจุดที่น่าสนใจมันอยู่ตรงนี้ครับ คือโดยปกติทั่วไป การตลาดที่เราเห็นๆกันจะเป็นการส่งข้อมูลข่าวสารของสินค้าผ่านโฆษณาหรือแบนเนอร์ทั่วๆไปหรือที่เรียกกันว่าการตลาดแบบ Outbound ที่ปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า

ในขณะที่การตลาดแบบ Inbound คือการเลือกที่จะแชร์คอนเทนต์ที่น่าสนใจแล้วให้ลูกค้าเข้ามาหาเราเอง แทนที่เราจะคอยส่งการโฆษณาให้ลูกค้ารู้สึกรำคาญเราอย่างเดียว

ซึ่งการตลาดแบบ Inbound นี่แหละครับคือวิธีการที่จะทำให้บริษัทสามารถเป็นที่รู้จักได้ง่ายกว่า และกวาดลูกค้าเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ฉลาดแนวทางหนึ่งเลยครับ

“ I believe so strongly in the value of inbound marketing, and it’s importance to businesses and the future of the PR industry” —  Paul Roetzer

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

Inbound Marketing การตลาดที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึก “รัก” มากกว่าที่จะรู้สึก “ไม่ชอบ”

มีใครเคยสังเกตมั้ยครับว่าโซเชียลมีเดียที่เราใช้กันพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว ผมกำลังจะบอกว่าวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดของโซเชียลมีเดียนี่แหละครับที่เป็นตัวการหลักที่ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้นเรื่อยๆจนแทบจะรอบด้าน จึงบอกได้ว่าพวกเรากำลังอยู่ในยุคที่ “เต็มไปด้วยข้อมูลแต่ขาดแคลนความสนใจจากลูกค้า”

เครดิตรูปภาพ : www.marketo.com

โดยตามหลักฐานจาก IBM (International Business Machines) แล้วข้อมูลเหล่านี้ทุกวันนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากถึง 90 % เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน นั่นแปลว่าลูกค้านั้นมีอำนาจมากขึ้นในการเลือกซื้อ กำหนดราคา และหารีวิวเพื่อเปรียบเทียบ เพียงแค่ขยับนิ้วมือของพวกเขา

ดังนั้นการตลาดยุคเก่าแบบ Outbound เช่นการโฆษณาบนโทรทัศน์ บนวิทยุ หรือ บนหน้าหนังสือต่างๆนั้น เหมือนจะทำได้แค่ดึงความสนใจจากลูกค้าเพียงแค่ชั่วขณะเท่านั้น แถมในบางครั้งยังสร้างความรำคาญใจให้กับลูกค้าอีกด้วย ผมจึงคิดว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับสินค้าบางประเภท

แตกต่างจากการตลาดแบบ Inbound ที่เหมือนเป็นการมอบคำตอบที่ลูกค้ากำลังค้นหาได้อย่างตรงจุด และยังทำให้ลูกค้ารู้สึก “รัก” แทนที่จะรู้สึก “ไม่ชอบ” จากการไปยัดเยียดโฆษณาโดยที่พวกเขาไม่ได้ต้องการอีกด้วย

เครดิตรูปภาพ : magnetolabs

และนี่ก็คือรูปที่จะตอกย้ำให้ทุกคนเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่าทำไมเราถึงควรเลือกทำการตลาดแบบ inbound ครับ จากรูปทุกคนจะเห็นได้ว่าการทำการตลาดแบบดึงดูดนี้มีการใช้เงินลงทุนในการหาลูกค้าที่ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่สูงและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างบริษัทที่ทำ Inbound Marketing

เมื่อพูดถึงคำว่า Inbound Marketing บริษัทที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Hubspot นั่นเองครับ เพราะมันคือบริษัทซอฟต์แวร์ที่ให้บริการด้าน Inbound Marketing และ Sales ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 โดย Brian Halligan และ Dharmesh Shah ซึ่งก็คือพวกเขาเองที่เป็นคนคิดค้นคำว่า Inbound Marketing ขึ้นมา

เครดิตรูปภาพ : fitsmallbusiness.com

และนอกจากที่พวกเขาจะเป็นคนคิดค้นคำว่า Inbound Marketing แล้ว พวกเขายังโชว์ให้เห็นถึงต้นตำรับวิธีการทำการตลาดแบบนี้อีกด้วย ซึ่งเป้าหมายของ Hubspot ก็คือเมื่อใดก็ตามที่มีใครมีปัญหาเกี่ยวกับการตลาด พวกเขาอยากจะทำให้คนเหล่านั้นมาเจอบริษัทของพวกเขาเป็นที่แรกๆ

Hubspot จึงให้ความสำคัญกับ Search Engine อย่าง “Google” เพราะคนเหล่านี้มักจะใช้ Google ในการค้นหาคำตอบ เมื่อพวกเขามีปัญหาทางการตลาด

Hubspot จึงใช้การมอบ “คุณค่า” ด้วยการแชร์ความรู้ที่มีคุณภาพผ่านบล็อกพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็ส่งผลทำให้เว็บไซต์ของพวกเขาอยู่อันดับแรกๆของการค้นหา

โดยเมื่อพวกเขาได้ดึงดูดคนให้เข้ามาได้แล้ว พวกเขาก็ไม่คิดจะปล่อยให้คนที่เข้ามาที่เว็บไซต์ผ่านมาแล้วผ่านไปเฉยๆแน่นอนครับ

พวกเขาพยายามที่จะ Convert (การเปลี่ยนจากผู้เข้าชมให้กลายเป็นว่าที่ลูกค้า) คนที่เข้ามาด้วยการขอข้อมูลเล็กๆน้อยๆ เช่น ชื่อ อีเมลหรือเบอร์โทร โดยแลกกับข้อตอบแทนบางอย่าง เช่น E-book หรือ Template เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับคนที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของพวกเขา

เครดิตรูปภาพ : magnetolabs

หลังจาก Convert มาได้แล้ว บริษัทก็จะส่งอีเมลสื่อสารกับคนเหล่านั้นเรื่อยๆ คอยตรวจสอบพฤติกรรมในการใช้งานเว็บไซต์ แล้วก็นำข้อมูลที่ได้จากคนกลุ่มนั้นมาเป็นตัวชี้วัดว่าพวกเขามีโอกาสเป็นลูกค้าของบริษัทได้มากแค่ไหน

ด้วยวิธีการทำ Inbound Marketing ที่เฉียบขาดของพวก Hubspot ส่งผลให้พวกเขามีลูกค้ากว่า 41,000 ราย และสร้างรายได้ต่อปีได้มากถึง 375.6 ล้านเหรียญในปี 2017 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่รวดเร็วมากเลยทีเดียวครับ

และในประเทศไทยเองก็มีผู้เชี่ยวชาญด้าน Inbound Marketing อย่าง Magnetolabs ที่ดูแลการทำการตลาดในทุกขั้นตอนตั้งแต่วางกลยุทธ์ไปจนถึงการวัดผล

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อพวกเขาต้องการเพิ่ม Leads ให้กับเว็บไซต์ของพวกเขาเอง เป้าหมายที่ต้องการบรรลุ (Conversion Goal) ก็คือการที่ลูกค้าติดต่อเข้ามาผ่านการกรอกอีเมล หรือโทรศัพท์เข้ามาตามเบอร์ที่ให้ไว้บนเว็บไซต์

รูปภาพจากบทความ : กรณีศึกษา: สร้างเว็บไซต์ให้ได้ผลลัพธ์ดีกว่าเว็บอื่น “100 เท่า”

สิ่งที่พวกเขาทำก็คือการติดฟอร์มไว้ในทุกหน้า (ยกเว้นในหน้าบล็อก) พร้อมทั้งเขียนคำอธิบายให้เหมาะกับหน้าแต่ละหน้าโดยเฉพาะ

รูปภาพจากบทความ : กรณีศึกษา: สร้างเว็บไซต์ให้ได้ผลลัพธ์ดีกว่าเว็บอื่น “100 เท่า”

ซึ่งนั่นก็ทำให้ในเดือนมีนาคม 2018 มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ของ Magnetolabs อยู่ที่ 7,099 คน ซึ่งทั้งหมดนี้สร้าง Leads กลับมาให้พวกเขาได้เป็นจำนวน 22 Leads (เปรียบเทียบกันแล้ว Conversion Rate จะอยู่ที่ 0.31%)

อ่านมาจนถึงตรงนี้ ทุกคนคงเริ่มมองออกแล้วใช่มั้ยครับว่าเพราะอะไรเราถึงควรรวบรวมกลยุทธ์ต่างๆของการตลาดแบบดึงดูดและนำความรู้เหล่านั้นมาใช้

มาดูกันครับว่าวิธีการที่ว่านั้นมันมีหลักการทำงานยังไงบ้าง

หัวใจของการทำ Inbound Marketing

1. Attract (ดึงดูดความสนใจจากคนแปลกหน้า)

แน่นอนอยู่แล้วครับว่านักการตลาดทุกคนไม่ได้ต้องการแค่ให้ใครก็ได้เข้ามาในเว็บไซต์ แต่พวกเขาต้องการเปลี่ยนสถานะจากคนแปลกหน้าทั่วไป (stranger) ให้กลายมาเป็นผู้เข้าชม (visitor) แล้วต้องทำยังไงล่ะถึงจะได้ผู้ใช้เหล่านั้นมา ?

  • Blog – คอยมอบคุณค่าด้วยการสร้างคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ หรือคอนเทนต์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขา ผ่านทางบล็อก ซึ่งมันจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าบล็อกของเรานั้นเป็นเหมือนผู้ช่วยที่ดีนั่นเอง และแน่นอนมันจะช่วยเพิ่ม Traffic (การเข้ามาเยี่ยมชม) ให้กับเว็บไซต์ของคุณ
  • SEO/Keywords – ตรวจสอบให้มั่นใจว่าเว็บไซต์ของคุณเป็น Search Engine Optimized เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขานั้นจะหาเว็บไซต์ของคุณเจอ และทำการค้นหาคีย์เวิร์ดหรือคำที่คุณคิดว่าลูกค้าของคุณใช้ค้นหาบ่อยที่สุด ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้เหล่านั้นนั่นเอง
  • Social – คุณเคยได้ยินคำว่า “จงตกปลาในที่ที่ปลาอยู่เยอะ” มั้ยครับ ซึ่ง ปลา ในที่นี้ของเราก็หมายถึงคนแปลกหน้าทั่วไป และเป็นที่รู้กันดีครับว่าสมัยนี้คนเรามักใช้เวลากับ Social media เป็นชั่วโมงๆ ดังนั้นเราจึงควรใช้มันเป็นเครื่องมือในการดึงดูดคนเหล่านั้นให้กลายมาเป็นผู้เข้าชมของเรา

2. Convert (การเปลี่ยนจากผู้เข้าชมให้กลายเป็นว่าที่ลูกค้า)

หลังจากที่บริษัทสามารถดึงดูดลูกค้าเข้ามาได้แล้ว สิ่งต่อไปที่นักการตลาดอย่างเราต้องทำก็คือเปลี่ยนแปลงผู้เข้าชม (visitor) ให้กลายเป็น ว่าที่ลูกค้า (Leads) ของเรา ขั้นตอนนี้เปรียบเหมือนการที่แขกของเรายินดีที่จะเข้ามาในบ้านของเราแล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องแน่ใจว่าเราต้อนรับเขาได้ดี และมีอะไรให้เขาทาน

  • CTAs – เมื่อเปรียบผู้เข้าชมเป็นแขกแล้ว CTA หรือ Call to action ก็เป็นเหมือนอาหารที่ใช้ต้อนรับพวกเขา ถ้าคุณมี CTA ไว้ในบล็อกหรือเว็บไซต์ของคุณ มันจะนำพาผู้ใช้เหล่านั้นไปสู่ขั้นตอนถัดไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งควรเป็นแบบ Inline หรือ รูปภาพ เพื่อความง่ายและเพิ่มความน่าสนใจให้เกิดการคลิ๊ก และจำไว้นะครับ ยิ่งหน้าตาของอาหารดูน่าทานมากเท่าไหร่ แขกของเราจะอยากลิ้มลองมากเท่านั้น !
  • Landing Pages – เมื่อแขกของเราได้เริ่มทานอาหารแล้ว สิ่งต่อไปที่เราควรคำนึงคือ รสชาติอาหารจานนั้นอร่อยมั้ย? landing pages คือหน้าถัดไปที่ว่าที่ลูกค้าของคุณจะเห็นหลังจากคลิ๊ก CTA ซึ่งสิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้คือหน้านี้ต้องสามารถให้ในสิ่งที่พวกเขาคาดหวังว่าจะได้ เช่น ข้อเสนอดีๆ หรือสิ่งที่จะช่วยพวกเขาแก้ปัญหา
  • Forms – และอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูล เพราะมันเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยน คนแปลกหน้า (Visitor) ให้กลายเป็น ว่าที่ลูกค้า (Leads) โดยอย่างแรกเลยคือคุณต้องแน่ใจว่าคำถามในฟอร์มของคุณเหมาะสมกับข้อเสนอที่คุณจะมอบให้พวกเขาตัวอย่างเช่น ถ้าในฟอร์มคุณเป็นคำถามที่ต้องการข้อมูลเบื้องลึก แต่ข้อเสนอของคุณคือ TOFU (Top of Funnel) อย่าง eBook พวกเขาก็อาจจะเกิดความลังเลและเลือกที่จะไม่กรอกฟอร์มในที่สุด ดังนั้นเราควรทำให้ฟอร์มและข้อเสนอเหมาะสม เพื่อเก็บข้อมูลบางอย่าง โดยอย่างน้อยที่สุดคือ ชื่อและอีเมล

3. Close (การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับว่าที่ลูกค้า)

ถ้าเราคิดว่าเราสามารถดึงดูดผู้คนและเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นว่าที่ลูกค้า (Leads) เรียบร้อยแล้วนั้น เป้าหมายต่อไปของเราก็คือเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นลูกค้าจริงๆของเราให้ได้ ขั้นตอนนี้เหมือนการทำให้คนที่ “เริ่มสนใจ” เปลี่ยนมาเป็น “ชอบ” ในตัวเรา เพราะเราต้องพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนเหล่านั้น

โดยสิ่งสำคัญๆในขั้นตอนนี้ที่พวกเราต้องมีก็คือ  Leads nurturing (การหล่อเลี้ยงและบริหารความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย) นั่นเอง

  • Email – Email marketing ยังคงเป็นอีกวิธีที่ได้ผลระยะยาวมากที่สุด โดยหลังจากที่พวกเขาเริ่มเปลี่ยนจากสนใจมาเป็นชอบแล้ว คุณอาจจะส่งมอบคุณค่าผ่านเทนต์ดีๆ หรือบัตรเชิญเข้างาน Webinar ให้พวกเขาจำไว้ว่ายิ่งคุณสามารถทำให้พวกเขารู้สึกว่าข้อมูลที่เราส่งไปใน Inbox ของพวกเขามีคุณค่ามากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะกลายมาเป็นลูกค้ามากเท่านั้น
  • Workflows – คือความต่อเนื่องนั่นเอง เป็นการหมั่นดูแลและติดต่อกับพวกเขาอยู่เรื่อยๆ ด้วยคอนเทนต์หรืออีเมล และแน่นอนว่าเมื่อธุรกิจมีการเติบโต จำนวนลูกค้าของเราอาจจะเป็นหลักพันหรือหลักแสน เราคงไม่สามารถตอบคำถามหรือช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง เราจึงจำเป็นต้องตั้งค่าระบบอัตโนมัติ ไว้ติดต่อและมอบคุณค่าให้กับพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ
  • CRM (customer relationship management system) – การใช้เครื่องมือ CRM ของคุณในการเก็บเกี่ยวข้อมูลของ Leads ให้ได้มากที่สุด เพื่อความเข้าใจในพฤติกรรมของพวกเขามากขึ้น เพราะถ้าเราเข้าใจว่าที่ลูกค้า (Leads) ของเรา นอกจากคุณจะสามารถประเมินพวกเขาได้แล้ว คุณยังสามารถนำมาปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาดของคุณเพื่อเพิ่มยอดขายได้อีกด้วย

4. Delight (สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า)

ถ้ามาถึงขั้นตอนนี้แล้ว ยินดีด้วยครับ เพราะนั่นแสดงว่าพวกเขาได้กลายมาเป็นลูกค้าของคุณแล้ว แต่งานของคุณก็ยังไม่ได้หมดเท่านี้ครับ

เพราะสิ่งสุดท้ายคือการทำให้พวกเขากลายมาเป็นพรีเซนเตอร์หรือ PR ของคุณให้ได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้เผยแพร่สินค้าหรือบริการของเราไปให้คนอื่นๆได้รับรู้ นอกจากนี้คือการทำให้พวกเขาเห็นถึงคุณค่าของคุณอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสกลับมาหาเราอีกในอานาคต โดยสามารถทำได้ด้วยขั้นตอนเหล่านี้

  • Survey – ทำแบบสอบถามหลังการขาย โดยเป็นคำถามถึงสินค้าหรือบริการของเรา อย่างเช่น รู้สึกอย่างไรกับบริการของเรา,ชอบตรงไหนเป็นพิเศษมั้ย และมีอะไรที่ควรปรับปรุง เพราะแน่นอนครับเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่ถาม คุณจะไม่มีทางรู้ถึงข้อมูลเหล่านี้เลย
  • Smart Content – ลูกค้ามักอยากจะรู้สึกพิเศษกว่าคนทั่วไป และอยากจะได้รับการดูแลที่แตกต่างออกไป ถ้าเราส่งข้อมูลหรืออีเมลแบบเดียวกับที่เราส่งให้คนอื่นทั่วไปให้กับลูกค้าของเรา นั่นก็จะไม่ทำให้พวกเขารู้สึกพิเศษ ดังนั้นเราจึงควรจะส่งข้อความที่ให้ความรู้สึกเหมือนข้อความส่วนตัวนั่นเอง
  • Social Monitoring – คุณเคยมีลูกค้าที่แชร์คอนเทนต์ของคุณผ่านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องมั้ย? หรือลูกค้าที่แท็กเพื่อนของพวกเขาในช่องคอมเมนต์ใต้โพสต์ของคุณ

ผมคิดว่าเป็นสัญญาญที่ดีนะครับ เพราะนั่นถือเป็นการบอกต่อที่ดีมากๆ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือคอยโต้ตอบกับพวกเขาตลอด เช่นการแสดงความขอบคุณ

และแน่นอนว่าถ้าเราทำได้สำเร็จ พวกเขาก็จะวนกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากบริษัทของพวกเราอีก และเมื่อถึงจุดที่พวกเขารู้สึกพึงพอใจมากๆ พวกเขาจะบอกต่อให้กับเพื่อนๆ รวมไปถึงแนะนำให้คนทั้งโลกรู้ว่าบริษัทเรามันเจ๋งแค่ไหนนั่นเองครับ

แล้วการตลาดแบบ Inbound Marketing และ Outbound Marketing แตกต่างกันอย่างไร ?

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การตลาดแบบ inbound และ outbound มันต่างกันยังไง ผมอยากให้ทุกคนลองสังเกตภาพนี้ดูครับ มันคือขั้นตอนการทำงานของการตลาด 2 แบบ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่วิธีคิด วิธีการ ไปจนถึงผลลัพธ์ที่ออกมา เรามาดูกันครับว่าทั้งคู่มีการทำงานที่แตกต่างกันยังไง

Inbound marketing

  • ใช้คอนเทนต์ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามา
  • ทำคอนเทนต์ในรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ
  • ใช้การสื่อสารแบบ 2 ทาง
  • การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสื่อคอนเทนต์
  • ทำสื่อผ่านบล็อกหรือโซเชียลมีเดีย เป็นต้น เพื่อสร้างความน่าสนใจ

Outbound marketing

  • ใช้สื่อเพื่อส่งข้อมูลไปยังลูกค้าโดยไม่สนว่าพวกเขาจะต้องการหรือไม่
  • ทำคอนเทนต์ในรูปแบบที่บริษัทต้องการ
  • ใช้การสื่อสารทางเดียว (ลูกค้าไม่สามารถตอบกลับได้)
  • การโฆษณาเข้ามาแทรกแซงสื่อคอนเทนต์
  • ทำสื่อผ่านโฆษณาโทรทัศน์ แมกกาซีน หรือป้ายบิลบอร์ด เป็นต้น

จริงๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดรูปแบบไหน สิ่งที่สำคัญที่ทุกคนควรจะโฟกัสเป็นอันดับแรกก็คือการตั้งเป้าหมายครับ ถ้าจะให้ผมพูดว่าแบบไหนดีกว่า ผมก็คงตอบไม่ได้

เพราะทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และเป้าหมายของแต่ละบริษัทด้วยครับ เพราะไม่ว่าจะเป็น inbound marketing หรือ outbound marketing ต่างก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีแตกต่างกันไปทั้งนั้นครับ

สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า

ทุกวันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากๆ จะเห็นได้จากธุรกิจที่ไม่ว่าจะเป็น Startup หรือ SME ต่างก็มีการพัฒนาเพื่อที่จะตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกันทั้งนั้น

หรือพูดอีกแบบก็คือ ทุกๆองค์กรต่างก็พยายามที่จะหากลยุทธ์หรือเทคนิคใหม่ๆเพื่อที่จะปรับตัวให้ทันยุคทันสมัยนั่นเอง

เพราะท้ายที่สุดแล้วองค์กรที่จะเติบโตและเอาชนะคู่แข่งได้เร็วที่สุดก็คือองค์กรที่ไม่ยึดติดและพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆเสมอครับ


ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe