Nostalgia Marketing คืออะไร? การตลาดชวนให้นึกถึงวันเก่าที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ

Nostalgia Marketing คืออะไร? การตลาดชวนให้นึกถึงวันเก่าที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ
Light
Dark
Cartoon Tanaporn
Cartoon Tanaporn

มนุษย์เป็ดเขียนคอนเทนต์ ชอบเขียนมากกว่าพูด เสพติดการมองพระจันทร์เป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลในช่วงเวลา Magic Hour ของทุกวัน

นักเขียน

Nostalgia Marketing คือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่นำความรู้สึกคิดถึงและโหยหาของลูกค้ามาเล่น โดยส่วนมากแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์นี้มักจะได้ผลตอบรับที่ดีกลับไป เพราะกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่มักจะเป็นกลุ่มคน Millennials ที่มีผลต่อ Nostalgia Marketing อย่างเต็มรูปแบบ 

แล้วทำไมถึงต้องเป็นคนกลุ่มนี้ด้วย? ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Nostalgia Marketing กันให้มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างแบรนด์ที่นำกลยุทธ์นี้มาใช้ ไปดูกันเลย!

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

Nostalgia Marketing คืออะไร?

Nostalgia Marketing คือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้ความคิดถึงและการโหยหาอดีตของลูกค้า เช่น ประสบการณ์, สิ่งของ สถานที่, ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงกับแบรนด์ หรือพูดง่าย ๆ ว่าแบรนด์จะนำสิ่งที่สิ่งที่ลูกค้าชอบ/รักอยู่แล้วกลับมาอีกครั้ง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถวิลหาจนอยากครอบครองสิ่งนั้น 

ซึ่งการตลาดแบบนี้มักจะมีผลกับคนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอะไรบางอย่าง เช่น คนที่เคยอยู่ในช่วงยุคอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล เป็นต้น

ภาพจาก pra

กลุ่มเป้าหมายของ Nostalgia Marketing

กลุ่มเป้าหมายหลัก ๆ ของ Nostalgia Marketing คือ กลุ่มคนรุ่น Millennials (24-37 ปี) หรือ Gen Y เพราะคนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคอนาล็อกและยุคดิจิทัล ซึ่งมักจะมีความทรงจำมากกว่าคนรุ่นใหม่ ๆ ที่อยู่แค่เพียงยุคดิจิทัลเพียงอย่างเดียว 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกลุ่มคน Baby Boomer (Gen X และ Gen Z) ที่ล้วนแล้วแต่ผ่านโลกและมีช่วงเวลาแห่งความสุขและความทรงจำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่หลาย ๆ แบรนด์มักจะนำความทรงจำในช่วงนั้นกลับมาสร้างความประทับใจให้กับพวกเขาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ตัวเองด้วย

ภาพจาก today

ทำไม Nostalgia Marketing ถึงได้รับความนิยมในปัจจุบัน?

  • ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้ารู้สึกถึง Sense of Comfort – ความคิดถึงสามารถทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจได้จากการทำให้พวกเขาหวนไปนึกถึงความทรงจำที่ดีในอดีต ความรู้สึกสบายใจที่กลุ่มเป้าหมายได้รับเมื่อเห็นแคมเปญ Nostalgia Marketing ที่สามารถเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้
  • เพิ่ม Engagement กับลูกค้า – Nostalgia Marketing เป็นเทคนิคหนึ่งที่นักการตลาดมักจะใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายและลูกค้ามากขึ้น ซึ่งการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ความรู้สึกกับพวกเขาสามารถนำไปสู่ประโยชน์อื่น ๆ ของธุรกิจได้มากมาย เช่น สร้างความไว้วางใจ, สร้างยอดขาย, เพิ่มฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เป็นต้น
  • เพิ่มยอดขายและสร้างมูลค่าให้กับสินค้า – การที่แบรนด์นำความทรงจำหรือประสบการณ์ในอดีตของกลุ่มเป้าหมายมาเชื่อมโยงกับแบรนด์สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ได้ เช่น Pepsi ที่นำ Pepsi Crystal ที่เคยเลิกผลิตไปแล้ว กลับมาผลิตใหม่ ลูกค้าคนไหนที่เคยชอบและรู้สึกโหยหารสชาตินี้ก็จะกลับมาซื้ออีกครั้ง
  • สร้าง Brand Loyalty – Nostalgia Marketing อาจจะมาในรูปแบบการทำของสะสมก็ได้ เช่น KitKat ที่ซื้อขนมแล้วแถมกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าเมื่อแบรนด์ไหนที่ทำกลยุทธ์นี้ออกมาจะได้ผลตอบรับที่ดีสำหรับคนที่ชอบสะสม ซึ่งพวกเขาก็มักจะเป็น Brand Loyalty ในระยะยาวอีกด้วย 
ภาพจาก punpro

ธุรกิจแบบไหนที่สามารถทำ Nostalgia Marketing ได้

สำหรับธุรกิจที่เหมาะกับการทำ Nostalgia Marketing ส่วนใหญ่มักจะเป็นธุรกิจแบบ B2C ที่สามารถทำการตลาดและผลิตสินค้าที่ส่งถึงผู้บริโภคได้โดยตรงเลย และควรเป็นแบรนด์ที่มีระยะเวลาในการประกอบธุรกิจมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว เช่น 10 ปีขึ้นไป

เนื่องจากแบรนด์มักจะมีประวัติความเป็นมาหรือเรื่องราวเป็นของตัวเอง รวมถึงมีฐานผู้บริโภคอยู่แล้ว ทำให้การทำ Nostalgia Marketing นั้นจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ และดึงความทรงจำดี ๆ ของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์กลับมาหาพวกเขา พร้อมทั้ง Nostalgia Marketing ก็จะช่วยให้แบรนด์เพิ่ม Customer Loyalty ช่วยรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาวต่อไปเรื่อย ๆ ได้

วิธีการสร้างให้ Nostalgia Marketing มีประสิทธิภาพต่อแบรนด์

เข้าใจกลุ่มลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนอื่นเลยแบรนด์ต้องทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ก่อน ทั้งเพศ, อายุ, ลักษณะนิสัย, ความต้องการ, ที่อยู่อาศัย ฯลฯ เพราะถ้าหากว่ากลุ่มเป้าหมายแบรนด์ไม่อิน ไม่มีอารมณ์ หรือความทรงจำร่วม ก็อาจทำให้แคมเปญนั้นไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ใจหวังก็ได้

ภาพจาก theconversation

ระบุเหตุการณ์ที่จะนำมาใช้

เมื่อรู้จักกลุ่มเป้าหมายแล้ว ก็มากำหนดเหตุการณ์ที่จะนำมาช่วยกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกในเชิงบวกที่จะนำมาใช้ในแคมเปญ Nostalgia Marketing ของคุณ

ตัวอย่างเช่น หากกลุ่มเป้าหมายอยู่ในช่วงอายุ 20 ปีต้น ๆ แบรนด์อาจจะลองนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 หรือ 15 ปีที่แล้ว (ในช่วงเวลาที่เขายังเป็นเด็ก) มาสร้างแคมเปญดู เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาคิดถึงวัยเด็กของตัวเอง เป็นต้น

ภาพจาก salehere

ใช้โซเชียลมีเดียในการโปรโมต

การนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในการโปรโมต Nostalgia Marketing ของแบรนด์จะช่วยทำให้ Brand Awareness สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะผู้คนมักจะชอบแชร์อารมณ์ ความรู้สึก และความทรงจำในเชิงบวกที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ 

ซึ่งแบรนด์อาจจะมีการใช้ลูกเล่น เช่น สร้าง Hashtag เฉพาะแคมเปญนั้น ๆ หรือ #throwback ก็ทำให้เกิดการแชร์ บอกต่อ และบางแคมเปญก็กลายเป็นไวรัลได้ในที่สุด รวมถึงการผลิตสินค้าออกมาในจำนวนจำกัดก็จะช่วยเพิ่มยอดขายและ กระตุ้นให้ลูกค้าอยากมาซื้อจนสามารถปิดการขายได้รวดเร็วอีกด้วย

ภาพจาก spiralytics

ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Nostalgia Marketing

Coca-Cola

Coca-Cola นำขวดโค้กมาเชื่อมโยงกับซานตาคลอสที่เป็นสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ใครหลาย ๆ คนจะได้กลับไปเฉลิมฉลองกับครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในวันคริสต์มาส โดยยอดขายของ Coca-Cola ในช่วงคริสต์มาสปี 2021 ก็เพิ่มขึ้นถึง 36% เลยทีเดียว

ภาพจาก martech

Burger King

Burger King เป็นบริษัทที่เพิ่ง Rebrand ไปเมื่อปี 2021 (ถือว่าเป็นการ Rebrand ในรอบ 20 ปี) ด้วยการออกแบบโลโก้ใหม่สไตล์วินเทจที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโลโก้ของ Burger King เองในช่วงปี 1969-1999 โดยให้สไตล์และความรู้สึกหวนคิดถึง ซึ่ง Burger King ตั้งใจที่จะพาทุกคนไปสู่ช่วงเวลาแห่งความสุขในยุคนั้น และถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของ Burger King เองด้วย

ภาพจาก medium

Pizza Hut

ในปี 2021 Pizza Hut ใช้ Nostalgia Marketing ด้วยการจับมือกับ PAC-MAN เกมสุดฮิตในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน ซึ่ง Pizza Hut ได้ใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาผนวกเป็นประสบการณ์การเล่นเกม PAC-MAN แบบใหม่ให้ลูกค้า โดยติด QR Code ไว้ที่กล่อง Pizza แล้วเมื่อสแกนแล้วจะสามารถเล่น PAC-MAN ได้ทันที และ Pizza Hut ได้ออกมาเผยว่ายอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 8% เลยทีเดียว (Q4/2021)

ภาพจาก pizzahut

สรุปทั้งหมด

สิ่งที่ผู้บริโภคได้สัมผัสจากการทำ Nostalgia Marketing ของแบรนด์ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่ช่วยสร้างความประทับใจไม่รู้จบให้กับลูกค้าได้ หากแบรนด์สามารถนำความทรงจำดี ๆ และความรู้สึกเชิงบวกในอดีตที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์มาแปรเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ให้กับพวกเขาได้อย่างลงตัว

ดังนั้นการทำ Nostalgia Marketing จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และลูกค้าในระยะยาว ไปพร้อม ๆ กับช่วยเพิ่ม Customer Loyalty ให้ลูกค้ารักในแบรนด์ยิ่งขึ้นได้นั่นเอง

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe