Price Is What You Pay, and Value Is What You Get
“ราคาคือสิ่งที่คุณจ่ายไป มูลค่าที่แท้จริงคือสิ่งที่คุณได้รับมา” คือคำกล่าวหนึ่งที่โด่งดังของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนมหาเศรษฐีชื่อดังระดับโลก มันแสดงให้เห็นว่า ‘ราคา’ ไม่จำเป็นต้องมีค่าเท่ากับ ‘มูลค่าที่แท้จริง’ ของสิ่งสิ่งนั้นเสมอไป มันก็เหมือนกับในทางการตลาด ที่การที่ลูกค้าซื้อของสองอย่างมาในราคาเท่ากัน ก็ย่อมไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรู้สึกถึงคุณค่าที่ได้รับในระดับที่เท่ากันนั่นเอง
การรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างราคาและมูลค่าที่แท้จริงของคนเรานี้ยังได้รับการสนับสนุนจากงานศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคหลายชิ้น ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยได้พบว่าคนเราจะให้ค่ากับของสิ่งหนึ่งมากขึ้นเมื่อเราได้เป็นเจ้าของมัน (Ownership Effect), แบรนด์สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ธรรมดาดูมีค่ามากขึ้นทันตาเห็นได้ (Placebo Effect), และการมีของแถมจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้านั้นมีมูลค่ามากขึ้น แม้จะนำไปเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันที่ให้ส่วนลดในมูลค่าเท่ากับของแถมก็ตาม
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งพฤติกรรมการรับรู้มูลค่าที่สำคัญของผู้บริโภค ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ของคุณ ทำให้พวกเขาหลงรักมัน กลับมาซื้อซ้ำ และแนะนำให้คนอื่นมาใช้ตาม โดยพฤติกรรมที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้มีชื่อเรียกว่า “IKEA Effect”
ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น
ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe
ทำความรู้จักกับ IKEA Effect
IKEA Effect คือคำที่ Michael Norton, Daniel Mochon, และ Dan Ariely คิดขึ้นในงานวิจัยของพวกเขาที่มีชื่อว่า The IKEA Effect: When Labor Leads to Love
ในปี 2011 ทั้งสามคนได้พบว่าลูกค้าจะให้ค่ากับผลิตภัณฑ์ที่พวกเขามีส่วนในการสร้างขึ้นมามากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างมาแบบสำเร็จรูป นั่นจึงเป็นที่มาของการที่พวกเขาตั้งชื่อพฤติกรรมดังกล่าวตามห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังสัญชาติสวีเดน ที่ขึ้นชื่อเรื่องการขายเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม ที่ลูกค้าจะมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกของ ขนของ ไปจนถึงประกอบของเองเลยนั่นเอง
ณ ปัจจุบัน IKEA เป็นผู้ขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และ Ingvar Kamprad ผู้ก่อตั้งก็ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในสิบบุคคลที่มั่งคั่งที่สุดของโลกจาก Forbes เมื่อปี 2015 อีกด้วย
แต่ IKEA ไม่ใช่เจ้าแรกที่ค้นพบพฤติกรรมนี้
ถึงแม้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะมีชื่อว่า IKEA Effect แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักการตลาดได้ค้นพบพฤติกรรมที่ว่านี้มาก่อนแล้วเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950
ในตอนนั้น General Mills หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันผู้อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของโลก ได้ออกผลิตภัณฑ์สุดแปลกใหม่ที่ถูกคิดมาเพื่อเอาใจกลุ่มคนชอบทำขนมโดยเฉพาะอย่างแป้งเค้กสำเร็จรูปออกมาสู่ตลาดเป็นครั้งแรก แต่ความพยายามครั้งแรกของพวกเขากลับพังลงไม่เป็นท่า
แป้งเค้กสำเร็จรูปนี้ถูกออกแบบมาให้ทำง่ายขนาดที่ว่าแค่เทแป้งสำเร็จรูป เติมน้ำ และนำไปอบ เราก็จะได้เค้กสุดอร่อยไว้กินกันแล้ว เรียกได้ว่าเพียงแค่มีแป้งเค้กนี้ ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถทำเค้กด้วยตัวเองได้ทั้งนั้น
เพราะมัน ‘ฟังดู‘ สะดวก ตอบโจทย์ และช่วยประหยัดเวลาลูกค้าขนาดนี้ ทางบริษัทจึงไม่เข้าใจเลยสักนิดว่าทำไมผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจึงไม่เป็นที่สนใจของตลาดเท่าที่ควร จนในที่สุด พวกเขาก็ไปขอให้ Ernest Dichter ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นบิดาแห่งการวิจัยแรงจูงใจของผู้บริโภค (Motivational Research) มาช่วยไขข้อสงสัยนี้
หลังจากใช้เวลาศึกษากลุ่มตัวอย่างอยู่ช่วงหนึ่ง Dichter ก็แนะนำให้ทางบริษัทเปลี่ยนส่วนผสมของแป้งเค้กสำเร็จรูปนั้น โดยให้เอาส่วนผสมของไข่ผงออก และให้การเติมไข่สดเป็นหน้าที่ของลูกค้าเอง มันอาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่เพียงแค่เพิ่มขั้นตอนเติมไข่สดนี้เข้าไป ยอดขายแป้งเค้กสำเร็จรูปของ General Mills ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ!
เพราะอะไรมันถึงเป็นเช่นนั้น? การจะตอบคำถามนี้เราต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อแป้งเค้กสำเร็จรูปนี้ใหม่ จริงอยู่ว่ามันง่าย สะดวก และประหยัดเวลา แต่นั่นคือข้อดีที่คนนอกมองโดยไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ชอบทำขนมจริงๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ทางบริษัทคิดว่าเป็นข้อดีนี่แหละที่เป็นข้อผิดพลาดสำคัญของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้
สาเหตุหลักที่ใครหลายๆ คนชอบทำขนมหรืออาหารนั้น ไม่ใช่เพราะพวกเขารักสิ่งเหล่านั้นเป็นชีวิตจิตใจ แต่เป็นเพราะพวกเขาชอบความรู้สึกหลังจากทำขนมหรืออาหารนั้นๆ สำเร็จต่างหาก แม้ขั้นตอนการทำจะไม่ง่าย แต่ความทุ่มเททั้งหมดนั้นก็ถูกเปลี่ยนเป็นความภูมิใจเมื่อพวกเขาทำสำเร็จ และพวกเขาจะรู้สึกภูมิใจยิ่งไปกว่านั้นอีกเมื่อมีคนชมในฝีมือ เพราะฉะนั้นสำหรับคนชอบทำขนมแล้ว ความยากและเวลาที่ใช้ในการทำจึงแทบไม่ใช่อุปสรรคเลย
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแป้งเค้กสำเร็จรูปที่ General Mills คิดค้นมาจึงไม่ตอบโจทย์พวกเขาเลย เพราะการทำทุกอย่างมาให้เสร็จสรรพในรูปของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปนั้น ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่านั่นเป็นเค้กที่เขาทำเอง เมื่อแทบไม่ต้องใช้ความทุ่มเทใดๆ ในการทำ จึงไม่เกิดความรู้สึกภูมิใจตามมา
และนี่ก็คือสิ่งที่ Dichter ค้นพบและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในที่สุด การที่ลูกค้าต้องใส่ไข่สดลงไปเพิ่มเองก่อนนำไปผสมน้ำและอบ นอกจากจะทำให้พวกเขารู้สึกถึงความสดใหม่ของวัตถุดิบแล้ว ยังทำให้เขารู้สึกว่านั่นเป็นเค้กที่เกิดจากฝีมือของพวกเขาเองอีกด้วย
และเรื่องราวของ Dichter ก็ถูกเล่าต่อกันในวงการการตลาดมาจากรุ่นสู่รุ่น ในฐานะผู้ค้นพบ Insight ทางจิตวิทยาที่สำคัญของผู้บริโภค ที่เรารู้จักกันในชื่อ IKEA Effect ในอีกเกือบ 70 ปีถัดมา
การทดลองอื่นๆ ที่สนับสนุนแนวคิด IKEA Effect
การทดลองพับโอริกามิ
ในการทดลองนี้ ทั้งสามนักวิจัยได้แบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม โดยอาสาสมัครกลุ่มแรกถูกขอให้พับกบหรือนกกระเรียน โดยที่มีกระดาษโอริกามิคุณภาพดีและคู่มือการพับให้ดังภาพ
กลุ่มอาสาสมัครจะใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ได้ในการพับโอริกามิของพวกเขา และเมื่อพับเสร็จแล้วพวกเขาจะสามารถเสนอราคาระหว่าง 0 – 100 เซนต์เพื่อซื้อโอริกามิที่พวกเขาทำกลับบ้านได้ ในขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่สองจะมีหน้าที่เพียงเสนอราคาให้งานโอริกามิที่ทำโดยอาสาสมัครกลุ่มแรกและโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพับโอริกามิ โดยผู้วิจัยเปรียบราคาที่ได้จากอาสาสมัครกลุ่มที่สองนี้เป็นราคาตลาดนั่นเอง
ผลปรากฏว่า อาสาสมัครกลุ่มที่สองที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพับโอริกามิให้ราคากับโอริกามิที่ถูกพับโดยอาสาสมัครกลุ่มแรกค่อนข้างต่ำ และให้ราคากับโอริกามิที่ถูกพับโดยผู้เชี่ยวชาญสูงกว่ามาก ในขณะที่อาสาสมัครกลุ่มแรกที่พับโอริกามิด้วยตัวเอง เสนอที่จะซื้องานของพวกเขากลับบ้านในราคาที่สูงเกือบเท่าราคาตลาดของโอริกามิที่ถูกพับโดยผู้เชี่ยวชาญเลยทีเดียว
การทดลองประกอบกล่อง IKEA
นี่คือการทดลองที่ทั้งสนับสนุนแนวคิด IKEA Effect และแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของมัน
ในการทดลองนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้ถูกขอให้ประกอบกล่องของ IKEA ให้เสร็จสมบูรณ์ ในขณะที่อีกกลุ่มได้ถูกบอกให้ประกอบกล่องดังกล่าวเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมที่ได้ประกอบกล่องจนเสร็จสมบูรณ์ รู้สึกว่ากล่องใบนั้นมีคุณค่ากับพวกเขามากกว่า และพร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อเพื่อเก็บมันไว้ โดยการรู้สึกถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับกลุ่มคนที่รักในการทำงานฝีมือเท่านั้นในขณะที่ผู้เข้าร่วมอีกกลุ่มที่ประกอบกล่องไม่เสร็จรู้สึกว่ามันเป็นการเสียเวลา ไม่รู้สึกถึงความภาคภูมิใจใดๆจากการประกอบนั้น และความอยากจะซื้อกล่องที่พวกเขาประกอบมาครึ่งทางก็ลดน้อยลงด้วยาก
จากการทดลองนี้ พวกเขาจึงมีข้อสรุปเกี่ยวกับข้อจำกัดของ IKEA Effect ว่า ถึงแม้ว่าคนเราจะให้ค่ากับผลิตภัณฑ์ที่เรามีส่วนในการสร้างขึ้นมามากกว่า แต่ขั้นตอนการสร้างนั้นต้องไม่ใช้เวลามากเกินไป ไม่ซับซ้อนเกินไป และต้องสามารถทำสำเร็จได้จริงด้วย
Marketing Takeaways : IKEA Effect กับการทำการตลาดของคุณ
1. ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์ของคุณ
คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าคุณไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในผลิตภัณฑ์ของ IKEA เลย เพราะตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกสินค้า จดลิสต์เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ไปเอาของในโกดัง ขนของกลับบ้าน ไปจนถึงประกอบทุกสิ่งที่คุณซื้อมาด้วยตัวเอง ทุกขั้นตอนถูกออกแบบมาไม่เพียงเพราะต้องการประหยัดต้นทุน เพื่อให้คุณได้ซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ดีในราคาที่ถูกกว่าที่อื่น แต่ยังเพื่อให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าที่น่าจดจำ และรู้สึกมีส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อไปอีกด้วย
2. ให้ลูกค้าสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเองได้
ถึงแม้ IKEA จะมีเฟอร์นิเจอร์หลากหลายแบบให้เลือกอยู่แล้ว แต่หากลูกค้ายังไม่ถูกใจ พวกเขาก็มีโปรแกรมออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไว้พร้อมบริการ
ไม่ว่าจะเป็นโซฟา ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ หรือเตียง ลูกค้าก็สามารถออกแบบได้ด้วยตัวเองง่ายๆ เพียงแค่เลือกส่วนประกอบ วัสดุ และสีที่อยากได้ โปรแกรมก็จะคำนวณราคาและเช็คของในสต๊อกให้เสร็จสรรพ เรียกได้ว่าสะดวก ครบจบในที่เดียว และยังเป็นสินค้าที่สุดพิเศษในความรู้สึกของลูกค้าอีกด้วย
โดยมีงานวิจัยบอกว่าการ Customize ผลิตภัณฑ์นี้ สามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความพิเศษและยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มถึง 2 เท่าเพื่อซื้อสินค้านั้นๆ ด้วยนะ
3. ฟังเสียงของลูกค้าเสมอ
ไม่ว่าจะเป็น Feedback, ความคิดเห็น, หรือไอเดียที่พวกเขามีต่อแบรนด์ การรับฟังลูกค้าย่อมทำให้พวกเขารู้สึกว่าความคิดเห็นของเขามีค่า ได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจ และทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้นในที่สุด นอกจากนี้มันยังทำให้คุณได้รู้จักธุรกิจของคุณมากขึ้นในมุมมองของลูกค้าด้วย
เหมือนอย่างที่ IKEA ทำในสหรัฐอเมริกา เมื่อพวกเขาประสบกับยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2008 – 2009 ในตอนนั้นพวกเขาไม่เพียงรับฟัง Feedback ของลูกค้า แต่ยังไปหาลูกค้าบางกลุ่มถึงที่บ้าน เพื่อดูว่าที่อยู่อาศัยและไลฟ์สไตล์ของพวกเขาเป็นอย่างไร และกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่บ้าง
ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจากการรับฟังเสียงของลูกค้าในครั้งนั้นก็คือ ‘การนำเสนอบริการที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า’ เพราะจากการไปพูดคุย ลูกค้าหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การต้องขนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ๆ กลับบ้านและไปประกอบเองเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยุ่งยาก พวกเขาจะรู้สึกโอเคก็ต่อเมื่อราคาของมันถูกมากเมื่อเทียบกับที่อื่น แต่ถ้าหากทางห้างมีบริการขนส่งและประกอบ พวกเขาก็สนใจที่จะใช้บริการ
และนั่นก็คือที่มาของบริการเหล่านี้ในปัจจุบัน และในครั้งนั้นมันก็เป็นที่ถูกใจชาวอเมริกันหลายคนจนทำให้ผลประกอบการของ IKEA ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งในปีถัดมา
4. มอบประสบการณ์ที่ท้าทายให้กับลูกค้า แต่ต้องอยู่ในขอบเขตความสามารถของพวกเขา
ก็เหมือนกับเฟอร์นิเจอร์ที่คุณซื้อจาก IKEA เกือบทุกชิ้นที่คุณต้องนำมาประกอบเอง และคุณก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันยุ่งยากอะไรขนาดนั้น เพราะในกล่องก็จะมีวิธีการประกอบบอกมาอย่างชัดเจนอยู่แล้ว และคุณก็รู้สึกภูมิใจไม่น้อยทุกครั้งที่คุณประกอบเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นเสร็จ นั่นเป็นเพราะขั้นตอนการประกอบถูกออกแบบมาให้ง่ายและแฝงความท้าทายไว้ในขณะเดียวกัน แต่ความท้าทายนั้นก็ยังอยู่ในขอบเขตที่คุณจะทำสำเร็จได้และรู้สึกภูมิใจไปกับมันนั่นเอง
5. อย่าลืมเว้นช่องว่างให้ความคิดสร้างสรรค์ของลูกค้า
งานวิจัยจาก Dahl and Moreau (2007) แสดงให้เห็นว่า ลูกค้าส่วนใหญ่รู้สึกพอใจกับการได้ใส่ความคิดครีเอทีฟเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเขาลงไปในงานประเภทงานฝีมือ เพราะมันทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้สร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเองจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่นำมันมาประกอบกันตามแบบ
และนั่นคือสิ่งที่คุณจะเห็นทุกครั้งที่ไปเดิน IKEA การได้เห็นห้องตัวอย่างหลายๆ ห้องจะทำให้คุณมีไอเดีย แต่คุณอาจจะไม่ได้ซื้อของเพื่อแต่งตามห้องใดห้องหนึ่งเป๊ะๆ แต่นำไอเดียจากหลายๆ ห้องที่คุณเห็นมารวมกันเป็นไอเดียของคุณเอง และนั่นคือความครีเอทีฟที่อาจจะดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนออกแบบห้องตัวอย่างที่ IKEA แต่แน่นอนว่ามันก็ทำให้คุณพอใจได้ไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะ
Business Takeaways : IKEA Effect กับธุรกิจของคุณ
ภาพจาก fastcompany.com
1. ให้ทุกเสียงในทีมของคุณมีความหมาย
เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของทุกคนในทีม มันก็เหมือนกับการที่เรารับฟังเสียงลูกค้า ที่การให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและเต็มที่กับการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ พวกเขาอาจจะมีไอเดียหรือมุมมองใหม่ๆ ที่คุณสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจมานำเสนออีกด้วย
2. อย่าลังเลที่จะถามความคิดเห็นและไอเดียใหม่ๆ จากพนักงานใหม่
แม้พนักงานใหม่อาจจะยังไม่รู้จักงานของบริษัทดีนัก แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในข้อดี เพราะมันจะทำให้พวกเขามองบริษัทด้วยสายตาของคนนอก และนั่นคือมุมมองเดียวกับที่ลูกค้าเห็นบริษัทของคุณ เพราะฉะนั้นการรับฟังความคิดเห็นและไอเดียของพนักงานใหม่ก็ไม่ต่างอะไรกับการรับฟังเสียงลูกค้าเลย
นอกจากนี้ การรับฟังยังทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับทีมได้เร็วขึ้น ทำให้พวกเขาเห็นค่าของงานมากขึ้น ซึ่งทัศนคติที่ดีต่องานนี้ก็ย่อมนำมาซึ่งผลงานที่ดีขึ้นนั่นเอง
3. ระดมทุนแบบ Crowdfunding ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี
การระดมทุนแบบ Crowdfunding จะเป็นการรวมกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญมากกับธุรกิจคุณไว้ด้วยกัน เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่หลงรักไอเดียผลิตภัณฑ์ของคุณตั้งแต่ก่อนที่มันจะถูกทำออกมาเป็นรูปเป็นร่างเสียอีก และการที่พวกเขามาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันไอเดียของคุณ ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ แล้วทำให้พวกเขาหลงรักมันมากขึ้นไปอีกก็เป็นได้!
สรุปทั้งหมด
IKEA Effect คือพฤติกรรมทางจิตวิทยาของผู้บริโภคที่ทรงพลังที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการของคุณได้ เพียงแค่คุณเปิดช่องว่างให้ลูกค้าได้เข้ามาร่วมสรรสร้างผลิตภัณฑ์กับคุณ โดยที่ขั้นตอนการทำนั้นต้องไม่ซับซ้อนเกินไป และอยู่ในขอบเขตความสามารถของพวกเขา เพื่อให้พวกเขาสามารถทำสำเร็จได้ รู้สึกภูมิใจไปกับมัน และรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นมีค่ากับพวกเขามากขึ้นในที่สุด รู้อย่างนี้แล้ว…อย่าลืมเอาไปลองปรับใช้กับธุรกิจของคุณดูนะ!