Technology

UX/UI คืออะไร? ทำไมธุรกิจถึงควรให้ความสำคัญ? พร้อมอัปเดตเทรนด์ UX/UI ที่น่าสนใจในปี 2023

UX/UI คืออะไร? ทำไมธุรกิจถึงควรให้ความสำคัญ? พร้อมอัปเดตเทรนด์ UX/UI ที่น่าสนใจในปี 2023
Light
Dark
Cartoon Tanaporn
Cartoon Tanaporn

มนุษย์เป็ดเขียนคอนเทนต์ ชอบเขียนมากกว่าพูด เสพติดการมองพระจันทร์เป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลในช่วงเวลา Magic Hour ของทุกวัน

นักเขียน

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจเปลี่ยนมาทำการตลาดโดยใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทำให้การมีเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่สวยงามใช้งานได้ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะสิ่งที่จะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวตัดสินว่าธุรกิจจะเดินทางไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ คือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน

UX (User Experience) และ UI (User Interface) จึงเป็นการออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันใช้งานได้ง่าย ไม่สับสนเส้นทาง สัมผัสได้ถึงประสบการณ์ที่ดีแบบไม่สะดุดตลอดการใช้งาน นั่นจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ในบทความนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปรู้จักกับ UX/UI Design ว่าคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร พร้อมกับดูเทรนด์ UX/UI ที่กำลังมาแรงในปี 2023 ที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญ และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำธุรกิจของคุณได้

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

UX/UI คืออะไร? แตกต่างกันอย่างไร?

UX (User Experience) คือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน เป็นสิ่งที่ไม่มีภาพชัดเจน มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เป็นสิ่งที่ผู้ใช้สามารถสัมผัสได้ทางความรู้สึก โดยส่วนมาก UX จะเน้นออกแบบให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกในแบบที่ผลิตภัณฑ์อยากให้เกิด ตัวอย่างเช่น 

  • Netflix อยากให้ผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่บนแอปพลิเคชันนาน ๆ จึงสร้างระบบแนะนำหนัง/ซีรีส์ที่ผู้ใช้งานสนใจ (หลังจากที่ได้เรียนรู้จากพฤติกรรมของผู้ใช้) ดังนั้นเมื่อผู้ใช้เห็นว่า Netflix แนะนำซีรีส์ที่มีนักแสดงที่พวกเขาชอบ หรือสไตล์หนังที่โดนใจใช่เลย ก็จะทำให้พวกเขากดดูซีรีส์เรื่องนั้น และใช้เวลาอยู่บนแอปพลิเคชันนั้นได้นานขึ้น
ภาพจาก dribbble
  • เว็บไซต์ E-Commerce อยากให้ผู้ใช้กดซื้อสินค้าได้ทันที มีการจ่ายเงินง่าย จึงออกแบบระบบจ่ายเงินที่กดคลิกเพียงปุ่มเดียว สามารถตัดเงินได้ทันที โดยที่ไม่ต้องกรอกข้อมูลอะไรเยอะแยะ เพราะถ้าผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี รู้สึกลำบากในการจ่ายเงิน โอกาสที่เขาจะไม่ซื้อสินค้าก็จะมีสูง

ดังนั้น เมื่อผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดี ใช้งานแล้วทุกอย่างลื่นไหล ทุกอย่างเป็นใจให้พวกเขาเกิดอารมณ์ร่วม กระตุ้นพวกเขาให้เกิด Action ในแบบที่ผลิตภัณฑ์อยากให้เกิด นั่นเป็นผลที่ทำให้ผู้ใช้ติดกับการใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนั้น ๆ ในที่สุด

ส่วน UI (User Interface) คือ ส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานกับระบบ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นหน้าตาและความสวยงามทั้งหมดของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถมองเห็นได้ เช่น สี, รูปแบบตัวอักษร, ขนาดตัวอักษร, การวาง Layout, การจัดวางปุ่ม CTA, Visual Design, การนำทางทั้งหมด เป็นต้น ซึ่ง UI จะเน้นทำให้เว็บไซต์และแอปพลิเคชันเป็นมิตร และผู้ใช้งานได้รับความสะดวกสบายที่สุดในการใช้งาน ตัวอย่างเช่น 

  • Google – จะสังเกตได้ว่าไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี Google ก็ยังคงเป็น Search Engine ที่ไม่มีการตกแต่งอะไรเลยบนหน้าเว็บไซต์ เน้นความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน โดยตัดส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้นหาออกทั้งหมด มีเพียงแค่โลโก้ Google, แถบค้นหา (แบบโค้งมน ไม่เป็นแถบสี่เหลี่ยมแข็ง ๆ) และปุ่มเพียงไม่กี่ปุ่มเท่านั้น (ปุ่มค้นหา, ปุ่มคีย์บอร์ด, ปุ่มไมโครโฟน ค้นหาด้วยเสียง) นั่นเอื้อให้ผู้ใช้ใช้งานได้สะดวก ซึ่งบางครั้งก็มีการเพิ่มกิมมิคลูกเล่นที่โลโก้ (เช่น แสดงถึงวันหรือโอกาสสำคัญ) เพิ่มความเป็นมิตรและสร้าง Interaction ระหว่างเว็บไซต์กับผู้ใช้งานมากขึ้นไปอีก
  • เว็บไซต์ทั่วไปที่มีการอัปโหลดรูปภาพ – อาจจะออกแบบให้ UI บ่งบอกถึงสถานะการทำงานกับผู้ใช้ เช่น การแบ่ง Stage ก่อนอัปโหลด กำลังอัปโหลด และหลังอัปโหลดรูปภาพ ให้แสดงผลออกมาต่างกัน เพื่อที่ผู้ใช้จะได้รู้ว่าระบบกำลังทำงานอยู่หรือไม่ หรือหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้ใช้จะได้ทราบทันที เช่น imagecompressor, hipdf, compressjpeg เป็นต้น
ภาพจาก betteruxui

สำหรับ UX/UI เป็นสิ่งที่ทำให้การตกแต่งและองค์ประกอบทุกอย่างมันอยู่ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจังหวะที่ผู้ใช้ต้องการจริง ๆ ซึ่งพวกเขาไม่จำเป็นต้องจดจำเลยว่าอะไรอยู่ตรงไหน แต่แค่มองพวกเขาก็รู้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันสามารถนำทางไปได้ โดยที่เราไม่ต้อง Tutorial การนำทางอะไรเลย นี่แหละคือ การออกแบบ UX/UI ที่ดี

ภาพจาก dailytech


ทำไมธุรกิจถึงควรให้ความสำคัญกับ UX/UI ในปี 2023

หลังจากที่คุณได้รู้จัก UX/UI มาแล้วข้างต้น คุณอาจจะเข้าใจมากขึ้นว่า UX/UI แตกต่างกันอย่างไรแล้วแต่ทำไมธุรกิจถึงควรให้ความสำคัญกับ UX/UI ในปี 2023 ด้วย? 

อย่างที่รู้กันว่าตอนนี้ส่วนใหญ่ธุรกิจล้วนแล้วแต่พากันเข้าสู่ระบบออนไลน์ทั้งหมด นอกจากความสวยงามของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันแล้ว UX/UI นี่แหละที่จะเป็นส่วนสำคัญมากอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด เพราะมีธุรกิจหลายเจ้าในตลาดที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ขายสินค้าเหมือนกัน แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับผู้ใช้งาน คือ ประสบการณ์และความเป็นมิตรที่มอบให้กับผู้ใช้งาน

ภาพจาก deadline

ขอยกตัวอย่าง Netflix กับ Disney+ Hotstar ธุรกิจให้บริการสตรีมมิ่งภาพยนตร์/ซีรีส์ระดับโลก ซึ่งทั้งคู่มีรูปแบบธุรกิจที่คล้ายกัน และยังใช้โมเดล Subscription เหมือนกัน แต่จุดเด่นของทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้ต่างกันที่ ‘คอนเทนต์’ 

โดยคอนเทนต์บน Netflix อาจให้ความรู้สึกที่หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็น Original Content ของ Netflix ภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี การ์ตูน แอนิเมชัน ทั้งไทยและเทศ หลากหลายสัญชาติ ส่วน Disney+ Hotstar จะเน้นถึงการ์ตูน แอนิเมชัน บรรยากาศในวัยเด็ก รวมถึงคอนเทนต์ของ Marvel อีกด้วย

เราก็ได้เห็นความแตกต่างของทั้ง 2 เจ้าไปแล้ว แต่มีคำถามหนึ่งที่เราอยากถามผู้ที่เคยใช้งาน 2 แพลตฟอร์ม ทั้ง Netflix และ Disney+ Hotstar มาแล้ว คือ ถ้าไม่นับเรื่องคอนเทนต์แล้ว คุณเลือกที่จะเสียเงินดูแพลตฟอร์มใด เพราะอะไร?

ภาพ UI (User Interface) ของ Netflix

สำหรับ Netflix เปิดตัวในบ้านเรามาตั้งแต่ปี 2016 และ Disney+ Hotstar เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนมีประสบการณ์ใช้งาน Netflix มาก่อนหน้านั้นแล้ว และเมื่อพวกเขาสมัครมาใช้งาน Disney+ Hotstar เพื่อรับชมคอนเทนต์ที่เขาสนใจ มีหลายเสียงบอกมาว่า Netflix ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรและรู้ใจผู้ใช้งานมากกว่า Disney+ Hotstar เสียอีก ตัวอย่างเช่น 

  • ด้าน UX/UI – แม้ว่าแพลตฟอร์มของทั้งสองจะมีหน้าตาที่คล้ายคลึงกัน แต่ผู้ใช้งานรู้สึกว่าหน้าตาของ Disney+ Hotstar ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ สมาร์ทโฟน หรือในทีวีเอง กลับใช้งานยากกว่า ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า Disney+ Hotstar ยังไม่สามารถปรับขนาดหน้าจอให้เหมาะกับการรับชมได้, การปรับเพิ่มลดความสว่างของหน้าจอยังเป็น Dark Mode ไม่ได้ เป็นต้น
  • ปุ่มกดข้ามช่วงต้น – เชื่อว่ามีผู้ใช้งานหลายคนที่ดูภาพยนตร์/ซีรีส์มักจะกดข้ามช่วงต้นที่เป็นเพลง Intro แนะนำตัวละครของภาพยนตร์/ซีรีส์นั้น ๆ ซึ่ง Netflix เข้าใจในจุดนี้ดี จึงสร้างปุ่มข้ามช่วงต้นมาให้ ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกดเลื่อนไปยังตอนที่ภาพยนตร์/ซีรีส์เริ่มเล่นเอง นี่นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ Disney+ Hotstar ยังไม่สามารถทำให้ผู้ใช้งานได้ 
  • ตัวเลือกกดเร่ง-ลดความเร็วเนื้อหา – ถึงแม้หลายคนที่เป็นคอภาพยนตร์/ซีรีส์ แต่ก็มีบางช่วงที่รู้สึกว่าดำเนินเรื่องช้าแล้วอยากให้ผ่านไปเร็ว ๆ Netflix ก็เข้าใจและได้สร้างตัวเลือกเร่งความเร็วของเนื้อหามาให้ ซึ่งมีทั้ง 0.5x, 0.75x, 1x, 1.25x และ 1.5x ผู้ใช้สามารถเลือกได้ตามต้องการ

จากเหตุผลข้างต้นนี้ ทำให้มีผู้ใช้งานบางส่วนที่รู้สึกผิดหวังกับแพลตฟอร์มของ Disney+ Hotstar เป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาต่างตั้งหน้าคอยที่จะได้รับชมคอนเทนต์ที่พวกเขาสนใจมาตลอด และตามหาไม่ได้ใน Netflix 

แต่กลับมาพบว่าประสบการณ์การใช้งานของแพลตฟอร์มนี้ ยังไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับพวกเขาได้อย่างเต็มที่ (ทั้งนี้อาจมีผู้ใช้อีกหลายเสียงที่คิดตรงกันข้ามกัน และคิดว่า Disney+ Hotstar ให้ประสบการณ์ที่ดีที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาแล้ว) 

ภาพ UI (User Interface) ของ Disney+ Hotstar

อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้อาจพูดได้ว่า Disney+ Hotstar ยังเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมือใหม่ เมื่อเทียบกับ Netflix เราคงอาจต้องรอดูต่อไปว่าในอนาคต UX/UI ของ Disney+ Hotstar จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน จะสามารถลบ Pain Point ต่าง ๆ ที่เข้ามา Disrupt ประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้หมดไปได้หรือไม่ 

เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นอกจากคุณค่าของตัวธุรกิจเองแล้ว UX/UI ยังเป็นส่วนสำคัญมากที่ธุรกิจควรต้องคำนึงถึง และควรทำออกมาได้ดี เพราะถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณเอง จะมีสิ่งที่ลูกค้าตามหามากเพียงใด แต่ถ้าพวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากธุรกิจของคุณแล้ว ไม่นานคุณก็อาจจะเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งก็เป็นได้ 

นี่ก็เป็นเพียงเรื่องราวตัวอย่างของธุรกิจระดับโลกที่เราอยากหยิบยกมาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง เพราะเราอยากให้คุณตระหนักเห็นถึงความสำคัญของ UX/UI มากขึ้น ซึ่งในปี 2023 และต่อจากนี้ โลกของธุรกิจออนไลน์จะต้องมีความดุเดือดเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หากคุณเลือกที่จะมองข้ามประสบการณ์ของผู้ใช้ไป พวกเขาก็อาจเลือกที่จะมองข้ามธุรกิจของคุณไปด้วยเช่นกัน

ภาพจาก moqups

ดังนั้นแล้ว สำหรับ UX/UI ธุรกิจควรเริ่มออกแบบให้ดีตั้งแต่แรกเริ่มร่าง Wireframe (โครงร่างเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน) ออกแบบให้เห็นหน้าตาภาพรวมของเว็บไซต์/แอปพลิเคชันว่า จะวางองค์ประกอบตรงไหน จะออกมาเป็นยังไง ผู้ใช้เข้ามาแล้วอยากให้โฟกัสที่ตรงไหน กดแล้วจะพาไปที่หน้าไหนบ้าง หลังจากที่มีโครง Wireframe แล้วก็จะเป็นหน้าที่ของฝั่ง UI Designer ที่ต้องออกแบบให้สวยงาม (เครื่องมือที่แนะนำในการใช้ออกแบบ UX/UI Design >> Sketch, Figma, Adobe XD)

เพราะหาก UX/UI ของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันแย่ ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี อย่างที่เราบอกไปถึงแม้ว่าคุณจะมีของดีอยู่บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอย่างไร พวกเขาก็เลือกที่จะจากคุณไปอยู่ดี (โอกาสในการสร้าง Conversion ให้กับธุรกิจก็หายไปด้วย)

เทรนด์ UX/UI น่าสนใจที่ธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้ในปี 2023

หลังจากที่ทุกคนได้รู้จัก UX/UI ไปแล้วว่าคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร The Growth Master ก็ได้รวบรวมเทรนด์ UX/UI ที่น่าสนใจในปี 2023 มาให้คุณแล้ว ซึ่งบางเทรนด์อาจจะได้รับความนิยมมานานและเราอาจเห็นได้บ่อยครั้งแล้ว แต่เราก็ยังคงคิดว่าเทรนด์เหล่านั้นธุรกิจก็ยังควรให้ความสำคัญอยู่ จะมีอะไรบ้างไปติดตามกันเลย

1. Advanced Personalization

การออกแบบ UX/UI แบบ Personalized เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากในหลายแบรนด์ เพราะเป็นการสร้างหรือแนะนำคอนเทนต์ที่ตรงกับตัวผู้ใช้งานแต่ละคน จากการที่ AI เรียนรู้ข้อมูลที่พวกเขาเต็มใจและยินยอมให้แบรนด์มา เช่น วันเกิด, อาชีพ, สถานะ รวมถึงพฤติกรรมและความชอบของพวกเขาด้วย เช่น ประวัติการกดเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์, ประวัติการซื้อ เป็นต้น

โดยจุดประสงค์หลักของการสร้างคอนเทนต์แบบ Personalized จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าคอนเทนต์หรือสินค้าเหล่านั้นเกิดขึ้นมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ ยิ่งถ้าหากแบรนด์สามารถนำเสนอคอนเทนต์ได้ตรงกับตัวตนของผู้ใช้งานมากเท่าไร โอกาสที่พวกเขาจะเกิด Conversion ให้กับแบรนด์ก็ยิ่งมีมากเท่านั้น

ภาพจาก shakuro

อย่างไรก็ตาม การออกแบบ UX/UI ให้เป็นแบบ Personalized ในปัจจุบันเป็นมากยิ่งกว่าเทรนด์ไปแล้ว กล่าวคือ กลายเป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ควรต้องทำ เพื่อทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ซึ่งแบรนด์ระดับโลกอย่าง Google และ Apple ก็กำลังพัฒนา AI ผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับ Ecosystem ของเขาเอง ซึ่งขณะนี้อุปกรณ์เหล่านั้นก็สามารถเริ่มเข้าใจได้แล้วว่า คนที่กำลังโต้ตอบกับพวกเขาด้วยเสียง ใบหน้า หรือลายนิ้วมือ ก็คือเจ้าของอุปกรณ์นั้น

ซึ่ง AI เหล่านั้น มีบทบาทสำคัญใน UX โดยที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำ ถ้านึกภาพไม่ออกว่า การที่ UX/UI แบบ Personalized มันเป็นยังไง ให้ลองนึกถึงการแนะนำเพลงบน Youtube หรือ Spotify ที่แอปพลิเคชันแนะนำแต่เพลงหรือคอนเทนต์ที่เราชอบ หรือการแนะนำคอนเทนต์ซีรีส์/ภาพยนตร์ของ Netflix ที่ตรงกับแนวที่เราชอบ หรือว่าแนะนำคอนเทนต์ที่มีนักแสดงคนเดียวกันกับเรื่องที่เราเพิ่งดูจบไปมาให้เป็นอันดับแรก ๆ 

2. VUI (Voice User Interface)

เทรนด์ UX/UI อีกรูปแบบหนึ่งที่เริ่มต้นเป็นกระแสขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์การระบาดใหญ่ ซึ่งเรากำลังพูดถึงรูปแบบวิธีการต่าง ๆ ที่ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับอุปกรณ์ โดยไม่ต้องสัมผัสอุปกรณ์ เช่น VUI (Voice User Interface)

VUI (Voice User Interface) คือ การสั่งการอุปกรณ์โดยใช้เสียง ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องแตะต้องตัวอุปกรณ์เลย ซึ่งสำหรับเทรนด์นี้เราอาจเห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่ดัง ๆ ระดับโลกอย่าง Apple, Google หรือ Amazon ก็ได้ค่อย ๆ มีการพัฒนาระบบ VUI ใน Siri, Google Assistant และ Alexa มาแล้ว แต่ว่าเทรนด์ VUI นี้ค่อย ๆ เป็นกระแสมากขึ้นกับแอปพลิเคชันอื่น ๆ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์โรคระบาดขึ้น

Schedule a meeting – VOICE by Denislav Jeliazkov / ภาพจาก shakuro 

อย่างใน Microsoft เอง ในปี 2020 ก็ได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ “Play My Emails” ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ Voice Control ในการจัดการอีเมลต่าง ๆ เช่น ให้ Cortana (Microsoft’s AI Assistant) ช่วยอ่านอีเมลให้ฟัง, ช่วยปฏิเสธหรือยอมรับการประชุม, การตั้งเวลานัดประชุมแบบวันต่อวัน เป็นต้น

ภาพจาก theverge

สำหรับ VUI การสั่งการด้วยเสียงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่คุณควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากสถิติของ Oberlo บอกว่า ปัจจุบันผู้ใช้งานกว่า 71% มักจะใช้ Voice Search แทนการพิมพ์ นั่นนับว่าเป็นเรื่องที่คุณควรให้ความสำคัญมาก ๆ กับการทำ VUI ในปัจจุบัน

การเพิ่ม VUI เข้ามาในการดีไซน์ภาพลักษณ์ของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงให้กับผู้ใช้งานทั่วไป, ผู้ที่ไม่สามารถใช้มือได้ในขณะนั้นเพื่อพิมพ์ได้ หรือแม้แต่ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นและตาบอด อย่างเช่น การใช้ Chatbot ด้วยเสียง เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมสามารถสื่อสารด้วยเสียงได้ว่าพวกเขาต้องการสอบถามเรื่องอะไร โดยที่ไม่ต้องพิมพ์เลย

นอกจากนั้น VUI ยังมีข้อได้เปรียบที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนมาใช้เสียงแทน นั่นก็เท่ากับว่าเมื่อนำเสียงมาใช้ในการทำงาน ก็จะช่วยลบข้อจำกัดในการสร้าง Graphical User Interface ที่บางครั้งเราต้องมีการออกแบบหน้าเว็บหรือแอปพลิเคชันให้สวยงาม รวมถึงออกแบบเส้นทางบนหน้าเว็บไซต์เป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้ใช้ใช้งานง่ายที่สุด ไม่หลงทางกับการใช้งานในระหว่างทาง แต่เมื่อใช้เสียงทำงานแทน ระบบจะจัดการเส้นทางทั้งหมดให้เองโดยอัตโนมัติ เป็นการช่วยยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้ของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของคุณได้อีกหนึ่งทาง

3. 3D และ Immersive Experiences

การออกแบบด้วย 3D ไม่ใช่เทรนด์ใหม่เอี่ยมแต่อย่างใด แต่เป็นเทรนด์การออกแบบที่เรียกว่าสามารถดึงดูดผู้ใช้มาหลายปีแล้ว ทั้งบนเว็บไซต์และบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ แต่ในปี 2023 คาดว่าความสนใจของนักออกแบบทั้งองค์ประกอบที่เป็น 3D และ UI แบบ 3D ทั้งหมดจะมีกระแสความนิยมเพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก

ภาพจาก design4users

ก่อนหน้านี้ การใช้องค์ประกอบแบบ 3D บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอาจจะไม่มีความหลากหลายในการใช้งานจริง เนื่องจากไฟล์มีขนาดค่อนข้างใหญ่และซับซ้อน เมื่อเทียบกับการใช้ภาพหรือองค์ประกอบแบบ 2D ธรรมดา ทำให้เว็บไซต์หรือแอปโหลดช้า คนส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยนิยมนำมาใช้งานมากนัก

แต่ปัจจุบันยิ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนของ Frontend Framework และ Libraries จึงสามารถช่วยลดการโหลดหน้าเว็บได้มากขึ้น ทำให้บทบาทของ 3D เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถแสดงรายละเอียดได้มากขึ้น จนกลายเป็นส่วนสำคัญของหลายเว็บไซต์ได้ในการดึงดูดให้ผู้คนอยู่บนเว็บไซต์นานขึ้น 

และตอนนี้หลายแบรนด์ก็เริ่มนำ 3D มาใช้บนเว็บไซต์มากขึ้น เช่น Adidas ในการแสดงสินค้า ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถเห็นรูปแบบรายละเอียดของสินค้าได้ดียิ่งขึ้น ก่อนตัดสินใจกดซื้อ หรือจะเป็นในรูปแบบของการเข้าเยี่ยมชมบ้านก่อนซื้อจริง ผ่านระบบ 3D Virtual Tour ซึ่งทำให้คนเห็นส่วนต่าง ๆ ของบ้านเหมือนเข้าไปดูของจริง (ในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19)

ในวงการสุขภาพ อย่างแอปพลิเคชัน WIRTUAL แพลตฟอร์มที่จะเปลี่ยนเหงื่อของคุณให้กลายเป็นคริปโตเคอเรนซี่ หรือที่เราเรียกว่า Exercise to Earn ก็ได้มีการนำตัว Avatar 3D มาใช้ภายในแอปพลิเคชันเช่นกัน

May be a cartoon of 1 person and text that says 'W EMILY STICKER IS AVAILABLE OLY_ON ONLY TELEGRAM MAL IRTUAL VIRTUAL'
ภาพจาก wirtual

สำหรับการออกแบบ UX/UI แบบ 3D จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ความเสมือนจริงให้กับผู้ใช้งานไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งช่วยเพิ่มยอดผู้ใช้งานให้อยู่บนเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ คือ ยิ่งถ้ากราฟิกมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมากเท่าไร หรือสเปคอุปกรณ์ของผู้ใช้งานต่ำเกินไปที่จะรองรับกราฟิก 3D ได้ทั้งหมด ก็อาจทำให้ผู้ใช้งานพบกับความล่าช้า หรือบางครั้งหน้าเว็บนั้นอาจจะค้างไปเลยก็ได้

ดังนั้น ถ้าหากใครจะใช้งาน 3D คุณต้องมั่นใจว่าเว็บไซต์ได้รับการปรับให้เหมาะสมเพียงพอที่จะแสดงองค์ประกอบ 3D จำนวนมากนี้แล้ว มิฉะนั้นแล้ว จากที่ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นก็อาจกลายเป็นประสบการณ์ที่แย่ไปเลยก็ได้

4. Motion และ Animation

เชื่อว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่จะต้องชอบการที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันมี Animation อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็น Motion ที่สามารถทำให้เรากับเว็บไซต์หรือแอปโต้ตอบกันได้ ซึ่งการเพิ่ม UX/UI แบบ Motion เข้าไปจะช่วยเพิ่มความโดดเด่น ความน่าสนใจ และสามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี

ในปี 2023 เทคโนโลยีนี้จะเติบโตขึ้นไปอีก หากคุณมีเว็บไซต์ที่ยังคงเป็นแบบภาพนิ่งธรรมดาอยู่ อาจจะลองเพิ่มกิมมิกลูกเล่นใส่ Animation หรือ Motion เข้าไป เช่น ปุ่มหรือช่วงการเปลี่ยนภาพ ก็จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณดูสดใส ดูมีชีวิต และน่าสนใจขึ้น อีกทั้งช่วยบอกเรื่องราวของแบรนด์ได้ดีกว่าภาพนิ่งหรือข้อความธรรมดา

ภาพจาก shakuro

ตัวอย่างเว็บไซต์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ Figma ซึ่งเป็น UX/UI Design Tool ที่มีการทำงานแบบ Web-based (ทุกอย่างรันอยู่บนเว็บเป็นหลัก) การที่ Figma ใช้ Motion บนเว็บไซต์ก็สามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี และแสดงให้ผู้ใช้งานเห็นถึงการทำงานของตัวซอฟต์แวร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 


ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณลองเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ Figjam กระดานไวท์บอร์ดสำหรับ Brainstorm ภายในทีม (ผลิตภัณฑ์น้องใหม่จาก Figma) คุณจะสามารถเข้าไปขีดเขียนบนเว็บไซต์ได้แบบ Real-time เลย ซึ่งสำหรับเราคิดว่าเป็นเว็บไซต์ที่น่ารักมาก ๆ เพราะสามารถสร้างความ Interactive กับเราได้ด้วย


ลองเปลี่ยนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของคุณด้วยการใช้ Animation หรือ Motion ง่าย ๆ เช่น 

  • เปลี่ยนสีสำหรับสถานะต่าง ๆ บนตัวแอปพลิเคชัน เช่น ก่อนอัปโหลดไฟล์, ระหว่างการอัปโหลดไฟล์, หลังการอัปโหลดไฟล์
  • แสดงภาพการโหลดเว็บไซต์ (โหลดสำเร็จหรือไม่สำเร็จ)
  • Animation แนะนำสินค้าหรือฟีเจอร์ต่าง ๆ
  • เพิ่มลูกเล่นให้กับปุ่ม เช่น ปุ่มสีดำ พอเอาเมาส์ไปวางแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือกดแล้วมีเสียงคลิก เป็นต้น 
  • การสร้าง Banner ด้วย Animation จะสามารถดึงดูดความสนใจให้กับผู้ใช้งานได้ตั้งแต่แรกเห็นได้ เมื่อ Banner สวยงามมีลูกเล่นก็มีส่วนช่วยในการดึงดูดส่วนอื่น ๆ ตามมา

เพียงเท่านี้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของคุณก็จะดูมีชีวิตชีวาดึงดูดผู้คนได้เป็นอย่างดีแล้ว

5. Super Tech Landing Page

Super Tech Landing Page เป็นเทรนด์ UX/UI ที่น่าสนใจอย่างมากอีกเทรนด์หนึ่ง เพราะทำให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ต้องร้องว้าวตั้งแต่ครั้งแรกที่พบเห็น อีกทั้งอยากอยู่บนเว็บไซต์เพื่อค้นหาอะไรบางอย่างบนแพลตฟอร์มไปเรื่อย ๆ (ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้สึกเบื่อกับ Super Tech Landing Page)

ซึ่ง Super Tech Landing Page เป็นรูปแบบ Landing Page ที่มักจะแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยของธุรกิจ ดังนั้นธุรกิจที่ใช้ Super Tech Landing Page มักจะเป็น Tech Company เป็นส่วนใหญ่

การสร้าง UX/UI ใน Landing Page รูปแบบนี้เป็นงานที่ค่อนข้างใหญ่และซับซ้อน เพราะมีการใช้ Animation, 3D, Layout เข้ามาผสานการทำงานด้วยกัน ใช้การออกแบบแสง สี ที่ดูวิบวับตระการตา เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งเรามักจะเห็นในธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย อย่างเช่น Landing Page ของ MacbookPro จาก Apple

อย่างไรก็ตาม Super Tech Landing Page เป็นเว็บไซต์ที่ค่อนข้างหนักมาก มีการใช้ Asset เยอะ เต็มไปด้วยเอฟเฟกต์ที่ดูล้ำสมัยต่าง ๆ ดังนั้นอย่างที่เราเคยบอกไปก่อนหน้านี้ว่า ควรต้องใช้ให้พอดีไม่มากเกินความจำเป็น เพราะท้ายที่สุดถ้าเกิดว่าอุปกรณ์ฝั่งผู้ใช้งานไม่พร้อมรับกับเงื่อนไขเหล่านี้ได้ ก็กลายเป็นว่าพวกเขาได้รับประสบการณ์ไม่ดีไปในที่สุด 

6. Physicality and Realistic Textures

เทรนด์นี้ค่อนข้างเป็นเทรนด์ที่พยายามจะตีตัวออกห่างจากเทรนด์ Flat Design ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปี 2012 พอสมควร ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยกันว่า Flat Design มักจะมาควบคู่กับการดีไซน์แบบ Minimalist เน้นความเรียบง่าย แต่ปัจจุบันดีไซเนอร์บางคนไม่ได้ต้องการแค่ความเรียบง่าย อย่างการใช้เพียงกราฟิกสี ๆ ธรรมดาในการเล่าเรื่องเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการอะไรที่ดูสดใหม่กว่านี้

เว็บไซต์แบบ Flat Design / ภาพจาก justinmind

นั่นจึงทำให้เทรนด์ ​​Physicality and Realistic Textures เกิดขึ้นมา โดยเป็นการดีไซน์ที่แสดงให้เห็นถึงเนื้อสัมผัสที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ มากกว่าแค่การดีไซน์กราฟิกรูปภาพวัตถุแบน ๆ บวกกับการใส่สีไม่กี่สีลงไปเท่านั้น จึงให้ความรู้สึกที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ และไม่เห็นเท็กซ์เจอร์ที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์

เราอยากให้คุณลองดูตัวอย่างภาพหน้าปกหนังสือด้านล่างนี้ ซึ่งดีไซน์โดย Eiko Ojala กราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบชาวเอสโตเนีย

ภาพจาก ploom 

จากรูปนี้ จริงอยู่ที่เรายังคงเห็นถึงความเรียบง่ายของหน้าปกหนังสือ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็สัมผัสได้ถึงรอยฉีกขาด และความอ่อนของ Element รูปตึกที่ห้อยลงมาจากหน้าปกหนังสือ ซึ่งมันให้ความรู้สึกสมจริงมากกว่าความรู้สึกแบบนามธรรม ทำให้เราเข้าใจถึงเนื้อสัมผัสพื้นผิวจริง ๆ ของหน้าปกหนังสือ ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้เป็นการสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อกับผลิตภัณฑ์มากขึ้นอีกด้วย

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เรามักจะเห็นตามเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อย่างเช่น การที่แบรนด์นำภาพถ่ายที่แสดงถึงเนื้อสัมผัสและสีที่ชัดเจนของเครื่องสำอางแต่ละชนิดมาไว้บนเว็บไซต์ ซึ่งการที่แบรนด์ออกแบบ UX/UI โดยใช้รูปภาพหรือองค์ประกอบในลักษณะนี้ จะช่วยทำให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์สัมผัสถึงความเป็นจริงของตัวผลิตภัณฑ์ เห็นถึงความแตกต่างของสีและเนื้อสัมผัสของครีมอย่างแท้จริง ส่งผลช่วยให้พวกเขาตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ภาพจาก elemis

7. ID Authentication

คุณเคยสับสนหรือหลงลืม Password ของแอปพลิเคชันต่าง ๆ กันบ้างไหม ถ้าเคย เราคิดว่าไม่แปลกเลย เพราะ Password ของแต่ละแอปพลิเคชันในปัจจุบันเรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว 

ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน ในการสมัครใช้งานอะไรสักอย่าง เพียงแค่ใช้ตัวอักษรหรือตัวเลขเพียงแค่ 6 ตัวอักษรก็เพียงพอแล้ว แต่ในปัจจุบันจะต้องประกอบไปด้วยตัวอักษรตัวใหญ่ ตัวเล็ก ตัวเลข แค่นั้นยังไม่พอ บางแอปพลิเคชันยังให้ใส่อักษรพิเศษเพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งตัว สร้างความปวดหัวไม่น้อยให้กับผู้ใช้งานในการจดจำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบนี้ทำเพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้งานให้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีเทรนด์การออกแบบ UX/UI ที่เรียกว่า ID Authentication ขึ้นมา กล่าวคือ เป็นการเพิ่มหน้าเข้าสู่ระบบโดยใช้ระบบสแกนหน้า (Face ID) หรือสแกนนิ้ว ซึ่งเหมาะสำหรับ Mobile Application มากกว่าเว็บไซต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานไม่ต้องคอยกรอก Password ที่ค่อนข้างยาวและซับซ้อนตลอดเวลาทุกครั้งที่เข้าใช้งาน 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์นี้ไม่ใช่เทรนด์ใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นเทรนด์ที่หากธุรกิจไหนมีแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง การเพิ่มหน้า UI นี้เข้าไป อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้กับผู้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าที่เคย

ภาพจาก taffinc

สรุปทั้งหมด

หากลองเปรียบเทียบให้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเป็นบ้านหลังหนึ่ง UX จะเป็นเหมือนแปลนบ้าน สำหรับการจัด Layout ห้องต่าง ๆ ส่วน UI จะเปรียบเสมือนเป็นการตกแต่งภายในบ้าน จัดอย่างไรให้บ้านมีความสวยงาม เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยหรือแขกเข้ามาที่บ้านแล้วรู้สึกดีที่สุด

เช่นเดียวกันกับการทำธุรกิจออนไลน์ UX/UI เป็นสิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญ เพราะหากคุณไม่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานแล้วพวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี ไม่ได้รับคำตอบที่ต้องการ พวกเขาก็เลือกที่จะเดินจากธุรกิจคุณไปเองโดยอัตโนมัติ โดยที่ยังไม่ได้สร้าง Conversion ให้กับธุรกิจของคุณเลย

และสำหรับเทรนด์ UX/UI ที่เรายกมาข้างต้น เราอยากให้คุณลองนำไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณดู เพื่อที่จะสามารถดึงดูดผู้ใช้งาน และรวมถึงทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ยอดเยี่มได้ แต่เทรนด์เหล่านี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และบางเทรนด์อาจจะไม่ได้สดใหม่ เป็นเทรนด์ที่มีมาสักพักแล้ว แต่เราคิดว่าก็ยังคงเป็นเทรนด์ที่สำคัญอยู่และควรนำไปปรับใช้ในปี 2023 นี้ด้วย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อยนะคะ :-)

Source: youtube, shakuro, taffinc



ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เราช่วยธุรกิจของคุณให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม

ติดตามข้อมูลการตลาด
Growth Hacking ได้เลยทีนี่
มากกว่า 2,000 บริษัทติดตาม The Growth Master ตอนนี้
ไปที่หน้า Subscribe