เราอยู่ในยุคเตรียมตัวมุ่งสู่ Metaverse ที่ทุกคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวเทคโนโลยี เรียลลิตี้ กันมาบ้างแล้ว..ในที่สุดเทคโนโลยี VR / AR ก็ได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็น Mixed Reality (MR) นับวันก็ยิ่งเข้ามามอบความ ‘แปลกใหม่’ ผ่านสื่อต่าง ๆ ให้เราเห็นขึ้นทุกที
ซึ่ง ‘มิติใหม่’ ที่เรากำลังจะรู้จักไปพร้อม ๆ กัน จะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคน ‘ควบคุม’ สิ่งต่าง ๆ และเติมเต็มช่องโหว่ใน ‘โลกไร้ขีดจำกัด’ ได้มากขึ้น (ถ้ายังนึกไม่ออก เราขอแนะนำให้คุณไม่พลาดตัวอย่างสุดตื่นเต้นจากภาพยนตร์ Ready Player One) และหากคุณต้องการนำไปต่อยอด ปรับใช้สำหรับธุรกิจ วันนี้ The Growth Master มาสรุปให้คุณแล้วในบทความนี้
เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) คืออะไร?
Virtual Reality (VR) คือ การจำลอง ‘สภาพแวดล้อม’ ให้เหมือนหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ผ่านการรับรู้ เช่น การเห็น ได้ยิน สัมผัส (ในอนาคตจะรวมไปถึงการได้กลิ่นด้วย) ผ่านอุปกรณ์ตัวช่วย VR Headset ยี่ห้อต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อและทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงผลกราฟิกแบบมีมิติ ระยะใกล้ไกล ให้เราสามารถเห็นทุกอย่างได้รอบด้าน ด้วยเทคโนโลยี 360 องศา
ซึ่งเทคโนโลยี VR ก็ถูกนำมาใช้เพื่อ ‘สร้างประสบการณ์เสมือนจริง’ โดยเริ่มต้นที่ เน้นให้ความบันเทิงผ่านเกมเพลย์ต่าง ๆ จนปัจจุบันกลายเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสนับสนุนด้านธุรกิจ เช่น ธุรกิจยานยนต์, ซอฟต์แวร์ ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ อย่างการจำลองสถานที่จริง เป็นต้น
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียเองก็นำเทคโนโลยี VR เข้าร่วมสร้างสีสันในเชิง Social VR แล้ว อย่าง Facebook (Meta) ที่ Mark Zuckerberg ตั้งใจเสนอความเป็นผู้นำด้าน Metaverse ด้วยการพัฒนา Horizon Workroom แอปประชุม เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานด้วยโลกเสมือนจริง แบบ Free-to-Play เมื่อเข้าใช้ผ่านอุปกรณ์ Oculus Quest 2 (VR) นั่นเอง
(เราสรุปรายละเอียดจาก Mark Zuckerberg ถึงแผนการมุ่งสู่ Metaverse ไว้ให้แล้วที่ บทความนี้)
Augmented Reality (AR) คือ การซ้อนข้อมูลเข้าไปในโลกความจริง ด้วยรูปแบบ 3 มิติ ผ่านวิดีโอหรือช่องทางการโต้ตอบต่าง ๆ บนความเป็นจริงเช่นอาศัยการแสดงผลด้วย ‘แอปพลิเคชัน’ บนสมาร์ทโฟน เมื่อเวลาเปิดกล้องฉายไปยังที่ใดที่หนึ่งก็จะมี Pop-up 3 มิติแสดงขึ้นมาทันที
โดยเทคโนโลยี AR ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาแบรนด์ ให้มีความทันสมัย สะดวกขึ้นแล้ว อย่าง IKEA เองก็นำเทรนด์ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ที่ทำให้ลูกค้า ลองตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน (ด้วยรูปแบบ 3 มิติ) บนแอปพลิเคชันด้วยตัวเองได้เลย ก่อนตัดสินใจไปถึงหน้าร้าน เป็นต้น
ความน่าตื่นเต้นก็คือในอนาคตอันใกล้ อุปกรณ์ AR Glass (realityOS) จาก Apple ที่กำลังมาถึง จะสามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้เหมือน ‘แว่นตาปกติ’ แบบไม่ต้องอาศัยสมาร์ทโฟนหรือแอปพลิเคชันเลย คาดว่าน่าจะเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงเทคโนโลยี AR ด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น (ราคาเบาขึ้น) นั่นเอง
ความแตกต่างระหว่าง Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR)
แล้วความแตกต่างระหว่าง VR และ AR คืออะไร? ทุกคนอาจสับสน เลยขออธิบายง่าย ๆ ว่า เทคโนโลยี VR จะเป็นการพาเราย้ายไปยังโลกอีกใบหนึ่ง ผ่านสายตาและอารมณ์สัมผัสต่าง ๆ ของเราด้วยการใช้อุปกรณ์แว่น VR Headset ส่วนเทคโนโลยี AR จะเป็นการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแว่น AR เพื่อซ้อนทับโลกความเป็นจริงด้วยภาพ 3 มิติที่ใช้เข้าร่วมแสดงผล
ทั้งสองเทคโนโลยี จะมีจุดต่างกันที่ VR จะทำให้เราสามารถเชื่อมต่อ ทำกิจกรรมหรือพบเจอใครก็ได้บนโลกออนไลน์ ‘โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริง’ อย่าง Dating Apps ที่จะช่วยให้การนัดเดตนั้น ลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายจากเหล่ามิจฉาชีพได้
ในขณะที่ AR จะเป็นการส่องแอปพลิเคชันเพื่อรับข้อมูลความบันเทิงตรงหน้า ผ่านสิ่งของ หรือ สถานที่ที่เราอยู่และ ‘เดินทางไปบนโลกความเป็นจริง’ เช่น แอปเกม Pokemon GO ที่ใช้เทคโนโลยี AR แสดงผลการจับโปเกมอนที่ไทยเราเองก็ฮิตกันมาก ๆ ในช่วงปี 2016 นั่นเอง
เรียกว่าผ่านช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งเทคโนโลยี VR และ AR ก็อาจเกิดข้อดีข้อเสียตาม ๆ กัน ด้วยเทคโนโลยี Metaverse ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้เกิดเทคโนโลยีตามหลังอย่าง Mixed Reality และจะเป็นอย่างไร เราจะอธิบายในข้อถัดไปกัน
ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น
ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe
VR / AR พัฒนาสู่เทคโนโลยี Mixed Reality (MR) ได้อย่างไร?
Mixed Reality (MR) คือ การสร้างโลกคู่ขนานผสมเข้ากับโลกความเป็นจริง ด้วยการใช้ข้อดีจากเทคโนโลยี VR และ AR เข้าพัฒนาร่วมกัน ด้วยการทำให้ยังคงมองเห็นและสัมผัสโลกความเป็นจริงควบคู่ไปกับเทคโนโลยี HoloLens (แว่นโปร่งใส) เรียกว่ามอบความสะดวกเหนือไปอีกขั้น
ซึ่งเทคโนโลยี MR นั้นเกิดหลังจากมีการเข้าใช้งานจริงของแว่น VR Headset และพบว่าด้วยพื้นที่ที่จำกัดแบบ Indoor ที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก ไม่สามารถมองเห็นโลกความเป็นจริงได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้งาน
ทำให้เทคโนโลยี MR ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าว โดยทำให้สามารถใช้งานได้ทั้ง Indoor และ Outdoor ผ่านแว่น HoloLens ที่จะมองทุกอย่างสะดวกขึ้น อิสระขึ้นได้โดยไม่ต้องถืออุปกรณ์มากมายแล้วนั่นเอง
โดยเทคโนโลยีแบบเรียลลิตี้ ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็น VR, AR หรือ MR ต่างเป็นส่วนประกอบสำคัญในโลก Metaverse และเราจะพาไปดูว่าอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานร่วมกับองค์กรหรือธุรกิจ มีความน่าสนใจยังไงบ้าง? ในหัวข้อถัดไป
เทคโนโลยี VR / AR / MR ร่วมสนับสนุนโลก Metaverse อย่างไร?
การรวมตัวกันของเทคโนโลยีแบบไร้รอยต่อ สร้างความเป็น ‘ผู้นำด้านเทคโนโลยี’ ให้กับองค์กรหรือธุรกิจระดับโลกมาแล้วมากมาย เราจะยก Meta, Microsoft, Sony ที่ผลักดันอุปกรณ์สำหรับยุค Metaverse โดยเฉพาะ ขึ้นมาเล่าดังนี้
Meta (Facebook) ผู้ใช้ Meta Quest VR สร้างโลกเสมือนจริง
นอกจากพัฒนาโลกการทำงานเสมือนจริงแบบที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว Meta ก็ยังเดินหน้าสร้างความเป็นไปได้ใน Metaverse ผ่านแว่น VR (Oculus Quest 2) แว่นที่พาผู้ใส่ไปโลกเสมือนจริงเต็มขั้น ด้วยการ ดูหนัง เล่นเกมด้วยเสียง การควบคุม และภาพที่เหมือนจริง จับต้องได้กว่าการแสดงผลบน PC
โดยที่ไม่ต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ๆ กระชับขั้นตอนการ Setup สายต่าง ๆ พร้อมชิป SnapDragon XR2 ที่ถูกผลิตเพื่อแว่น VR โดยเฉพาะ โดยตัวแว่นจะใช้งานได้ผ่านการล็อคอิน ‘แอคเคาท์ Facebook’ เท่านั้น
ซึ่งความพิเศษคือใน Oculus รุ่นที่สองนี้ Meta พัฒนามาแก้ไขข้อด้อยของ VR สำหรับใครที่กังวลว่าจะเกิดอันตรายระหว่างเล่น รุ่นนี้จะมีระบบ Guardian ที่กำหนดเส้น ป้องกันเราออกจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ได้เช่นกัน เรียกว่าใครมีงบซื้อได้ในระดับแว่น VR ก็ปลอดภัยหายห่วง
และหากอยากทราบว่าเทคโนโลยี MR ที่จับต้องได้เป็นอย่างไร ผ่านธุรกิจแบบไหน? มาดูกัน
Microsoft ผู้ผลิต HoloLens2 (โฮโลแกรม 3 มิติ)
ขณะที่เทคโนโลยีแว่นอัจฉริยะแบรนด์อื่น ๆ มีฟังก์ชันแสดงผลได้แบบ 2 มิติ แต่ Microsoft เหนือกว่าด้วยการพัฒนา HoloLens รุ่น 2 ให้ออกมาเป็นอุปกรณ์ MR แสดงผลได้ล้ำสมัยด้วยเทคโนโลยี Hologram 3 มิติ ที่ ‘ธุรกิจหรือองค์กรใหญ่ ๆ นำไปใช้กับลูกค้าของพวกเขาได้’
โดยเทคโนโลยี Azure Cloud จาก HoloLens2 ที่ถูกพัฒนาเพื่อกลุ่มผู้ใช้งาน ‘ระดับองค์กร’ โดยเฉพาะ แน่นอนว่าระบบที่ตรวจจับสภาพแวดล้อมและวัตถุได้ ‘แม่นยำถึงสองเท่า’ จะช่วยให้การจำลองโลก Metaverse เป็นไปได้กับ ‘ธุรกิจที่ต้องการความแม่นยำสูง’ เช่น ธุรกิจยานยนต์ เป็นต้น
Ford เป็นหนึ่งในธุรกิจยานยนต์ระดับโลก ที่เลือกใช้ HoloLens2 จาก Microsoft เข้าสร้างความตื่นตาตื่นใจในงานเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เรียกว่าสร้างความประทับใจจากการเปิดให้ ‘สวมใส่แว่นจำลอง’ สู่โลก Metaverse เพื่อให้ควบคุมรถยนต์ เสมือนได้ขับจริง ปรับฟังก์ชันภายในรถได้จริง นี่เป็นกลยุทธ์ที่มอบประสบการณ์เทคโนโลยีให้กับผู้ใช้งานโดยตรง แบบข้ามขีดจำกัดของผลิตภัณฑ์ ระดับ Luxury ไปอย่างลงตัว
Sony ผู้ผลิต Playstation VR / VR2
Sony เป็นอีกหนึ่งเจ้าพ่อวงการเกม ที่ใช้เทคโนโลยี VR เข้าร่วมผลิตแว่นสวมใส่ Playstation VR เพื่อพัฒนาเกม 3D VR mode ในค่ายให้ร่วมสร้างประสบการณ์ในโลก Metaverse ไปพร้อม ๆ กันผ่าน ทิวทัศน์ในเกมแบบ 360 องศา
ความพิเศษก็คือ ผู้เล่นสามารถเข้าสู่โหมด Metaverse ต่อจาก Save file เดิมได้เลย อีกทั้งยังสามารถ ‘สลับเล่นไปมา’ ระหว่างโหมด Normal และ Metaverse ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ยุ่งยาก ซึ่ง Sony เองก็มั่นใจว่าฟังก์ชันนี้จะเป็นจุดเด่น ที่สร้างความอิสระให้กับผู้ใช้อย่างแน่นอน
โดยภายในปี 2022 นี้ ก็มีข่าวอีกว่า Sony กำลังเตรียมตัวเปิด VR รุ่น 2 ตามมา โดยเผยว่าในทุก ๆ โมเดลอุปกรณ์ VR ที่พวกเขาผลิตจะมีการออกแบบที่ได้รับ ‘แรงบันดาลใจ’ มาจากตัวเครื่อง PlayStation 5 ที่เป็นเอกลักษณ์จาก Sony เช่นกัน
เรียกว่าองค์กรทั้งสามข้างต้น ต่างแสดงตัวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ที่ร่วมพัฒนาอุปกรณ์ หรือเครื่องมือในโลก Metaverse ‘ให้เห็นภาพการใช้งานจริงมากขึ้น เป็นไปได้มากขึ้น’ ในทุก ๆ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากผู้บริโภคทั่วโลกนั่นเอง
สรุป 5 ไอเดียเทคโนโลยี VR / AR สำหรับธุรกิจ
Metaverse ที่เติบโตขึ้นส่งผลในวงกว้าง ต่อการทำงาน, การศึกษา และชีวิตประจำวัน ประกอบกับเทคโนโลยี VR / AR ที่สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เราได้เห็นในทุก ๆ ปี ซึ่งหากคุณเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มองหาโอกาสการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ในปี 2022 เราสรุปมาให้คุณแล้ว 5 ไอเดีย ดังนี้
1. สร้าง Customer Loyalty ด้วยเทคโนโลยี VR / AR
จุดท้าทายในฐานะแบรนด์ ก็คือ เส้นทางในการสร้าง Relationship ที่จะต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ ทัชใจจริง ๆ ซึ่งในหลายๆ แบรนด์ก็กำลังปรับตัว นำเทคโนโลยี VR / AR เข้าใช้เพื่อให้ลูกค้ารับรู้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ สร้าง Use Case ที่น่าเชื่อถือ เช่น การได้ทดลองใส่เสื้อผ้าผ่านกล้อง, การได้เห็นอัปเดตสินค้าใหม่ หรือ สินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ ซึ่งได้รับการตอบรับดีที่สุดในธุรกิจ ช็อปปิ้งออนไลน์
จากประสบการณ์ความแปลกใหม่ของตัวอุปกรณ์ VR นี้เอง ที่ใช้ถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์, ให้ความรู้ มอบแรงบันดาลใจ จึงส่งให้แบรนด์และตัวสินค้าเป็นที่ ‘น่าจดจำ’ มากกว่าคู่แข่ง และมีโอกาสสร้างการมีส่วนร่วมได้มากกว่า (เพราะใคร ๆ ก็อยากทดลองสิ่งใหม่ด้วยกันทั้งนั้น)
และจะยิ่งมีประสิทธิภาพ หากคุณไม่ลืมที่จะใช้เทคโนโลยี VR ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ / สินค้าบริการของคุณ แบบที่ธุรกิจชั้นนำนิยมใช้กัน ด้วยกลยุทธ์แบบ Growth ๆ ฉบับ PLG ได้ที่ บทความนี้
2. สื่อสารธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี VR / AR Conferences
เป็นที่รู้กันว่าเทคโนโลยี VR ช่วยให้เกิดการสื่อสารได้ ‘ทุกที่’ ดังนั้นในโลกของการทำงานที่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ ทำให้อุปกรณ์ VR เข้ามาช่วยปรับปรุง Workflow ให้ล้ำไปอีกขั้นด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้กับทีม
โดยทำให้เกิดเรียนรู้แบบล้ำสมัย อย่างการได้ฝึก ‘พรีเซนต์งานเสมือนจริง’ รวมไปจนถึง พบปะ สร้างความสัมพันธ์ รับคำปรึกษากับทีม เป็นต้น
ในปัจจุบันมีการใช้ VR สำหรับการประชุมมากขึ้นแล้วในปี 2022 อย่าง Spatial แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ ที่สามารถสวมใส่แว่น VR เข้าร่วมวางแผนในทีม อีกทั้งยังมีระบบเปิดใช้ 3D avatarsจำลองผู้ร่วมทีมอื่น ๆ ด้วย เรียกว่าแปลกใหม่สมกับความเป็น Metaverse จริง ๆ (เราอดนึกไม่ได้ว่า หากถึงคิวประเทศไทยแล้ว จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร)
3. สร้างธุรกิจซอฟต์แวร์ ‘มอบความบันเทิง’ ด้วยเทคโนโลยี VR / AR
หากคิดจะลุยธุรกิจสายพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านความบันเทิงนั้น ก็ถือว่ามีความน่าสนใจอยู่มาก เพราะพบสถิติการลงทุนในวงการ VR / AR Application และ VR Gaming ที่เติบโตขึ้นสูงถึง 8 เท่าจากปี 2021
ซึ่งความเจ๋งของเทคโนโลยี VR / AR นั้น มีส่วนที่ทำให้ Developer หรือ นักพัฒนาเกม,แอปพลิเคชัน ได้ใช้จนเกิดความชำนาญ เกิดไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาในด้าน ‘การออกแบบ’ ให้มีความสมจริงขึ้นได้ (ด้วยการจำลองโมเดลเสมือนจริง 3 มิติ)
โดยรวมแล้วถือว่า เทคโนโลยี VR / AR นั้น ช่วยส่งเสริมให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน หรือเกมต่าง ๆ ได้เท่าทันยุคดิจิทัลมากขึ้น คุ้นชินกับความเป็น Metaverse มากขึ้นนั่นเอง
แน่นอนว่า ทางฝั่งแบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจเอง ก็ต้องยินดีจ่ายค่าโฆษณาเพื่อสนับสนุน TikTok อยู่แล้ว ดังนั้นภาพรวมของกระบวนการนี้จึงเกิดเป็น Paid Loop หรือ Purchase Loop ทันที
4. สร้างธุรกิจ ‘อสังหาฯ’ ให้เติบโตด้วยเทคโนโลยี VR / AR
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใช้ทั้งเทคโนโลยี VR และ AR เป็นตัวกระตุ้นความต้องการที่จะ ‘ครอบครอง’ ทรัพย์สินของลูกค้า ด้วยการแสดง Mockup ที่ทำให้เห็นดีไซน์ เห็นการออกแบบ เปิดหลาย ๆ มุมของอสังหาฯ เพื่อสื่อถึง ‘มูลค่า’ หรือกำไรที่ควรจะได้รับ
ซึ่งเทคโนโลยี VR จะทำให้ลูกค้าจะรู้สึกเหมือน ‘เป็นศูนย์กลาง’ สามารถเดินชมอสังหาฯ ชมการตกแต่งภายในได้ด้วยตัวเอง ผ่านการจำลอง 3D Virtual Objects แบบ 360 องศา โดยไม่จำเป็นต้องไปสถานที่จริง ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้การตัดสินใจของลูกค้าชัดเจนขึ้น ง่ายขึ้น
นอกจากนี้เทคโนโลยี AR ก็ยังเข้ามาสมทบความสะดวกให้ลูกค้า ด้วยการใช้กล้องสมาร์ทโฟนแสกน เพื่อค้นหาบ้านพัก, คอนโด, อพาร์ตเมนต์ ที่ว่างสำหรับเช่าหรือซื้อในโลเคชันใกล้เคียงได้ ซึ่งคาดว่าอนาคต เทคโนโลยี VR / AR ในวงการอสังหาฯ จะเติบโตขึ้นอีกแน่นอน (เพราะปัจจุบันก็มีการประมูล ซื้อขายที่ดินเสมือนจริงที่เรียกว่า Virtual Land แล้วนั่นเอง)
5. สนับสนุนธุรกิจผ่าน Festival Economy ด้วยเทคโนโลยี VR
ตั้งแต่ 5G เข้ามามีบทบาท เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็เข้าถึงคนทั่วไปง่ายขึ้น (ผ่านสมาร์ทโฟน) ซึ่งเทคโนโลยี VR นั้นถูกนำมาสร้างสีสันและเข้าสนับสนุน Festival Economy ในไทยเราแล้วเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น ‘เทศกาลสักการะ 8 เทพ’ ที่เอาใจสายมูด้วยเทคโนโลยี VR ที่ฉายทั้งภาพ เสียง บทสวดไปจนถึงเครื่องสักการะต่าง ๆ เรียกว่าเปิดประสบการณ์ความศรัทธาบนโลกออนไลน์ สร้างความแปลกใหม่ ไปสู่การสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว, ร้านอาหาร บริเวณราชประสงค์ที่ถือเป็น ‘ศูนย์กลางเศรษฐกิจ’ ของไทย
อีกทั้งไทยเราก็มีการจัด Virtual Showcase เปิดแสดงผลิตภัณฑ์ของธุรกิจแล้ว อย่าง AIS ธุรกิจเครือค่าย 5G รายใหญ่ก็เป็นเจ้าแรก ที่ใช้เทคโนโลยี VR เพื่อเปิดโลกเสมือนจริงให้ลูกค้าและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าชมคอนเทนต์ สร้าง Customer Experience ไปอย่างสวยงาม
สุดท้ายหากมองถึงด้านการลงทุน เพื่อให้สามารถประกอบการตัดสินใจว่าเทคโนโลยี VR / AR นั้น มีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน ก็พบ สถิติจากทั่วโลกในปี 2022 จะมีอัตราการเติบโต ลงทุนสูงสุดในประเภท VR gaming, VR video ด้วยมูลค่าสูงถึง 17.6 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2024 เลยทีเดียว
สรุปทั้งหมด
คาดว่านี่จะเป็นก้าวถัดไปและเป็นโอกาส สำหรับนักธุรกิจและคุณ ที่กำลังมองหาไอเดียจากเทคโนโลยี Metaverse ซึ่งเราหวังว่า การกลั่นกรอง ‘คุณค่าในด้าน Use Case’ (การนำไปใช้จริง) ของเทคโนโลยี VR / AR และ MR ในบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวกับผู้ติดตามของเรา
ซึ่งเราก็ต้องลุ้นไปพร้อม ๆ กันว่าในอนาคต จะมีการผลิตอุปกรณ์ VR AR ใหม่ ๆ ที่มีขนาดเล็กลง ราคาจับต้องได้ออกมาสำหรับธุรกิจมากขึ้นหรือไม่ ติดตามกันไว้ เรามาอัปเดตคุณให้แน่นอน :-)