“จำนวนผู้ใช้งาน Figma เป็นเครื่องมือหลัก (Primary Tool) จากเพียงแค่ 10% ในปี 2017 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 77% ในปี 2021 ที่ผ่านมา”
ในวงการการออกแบบ UX/UI ได้มีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อที่จะทำให้การทำงานลื่นไหลมากขึ้น และยังสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าการพัฒนาเว็บไซต์ในยุคก่อน ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทได้มีการเปิดตัวโปรแกรม UX/UI ที่ใช้งานง่าย ตั้งแต่การทำ Wireframe รวมไปถึงในเรื่องของ Developer Handoff ซึ่งหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในวงการ UX/UI Design นั่นก็คือ Figma
โดยในช่วงที่ผ่านมา Figma ถือว่าได้รับความนิยมมากในหมู่นักออกแบบ UX/UI ทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีการเติบโตมากขึ้น จนปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 4 ล้านคน
บทความนี้ The Growth Master จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Figma หนึ่งในโปรแกรม หรือเครื่องมือพัฒนาเว็บไซต์/แอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ พร้อมทั้งดูกลยุทธ์การเติบโตต่าง ๆ ที่พวกเขาใช้ จนกลายมาเป็นสตาร์ทอัปยูนิคอร์นเพียง 4 ปีเท่านั้น จะมีอะไรกันบ้าง มาดูกันเลย
Figma คืออะไร ? ทำไมถึงเป็นซอฟต์แวร์ที่นักออกแบบ UX/UI เลือกใช้
“The Best Way to Design is Together”
Figma คือ เครื่องมือออกแบบเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน โลโก้ และอื่น ๆ ทำให้นักออกแบบ UX/UI สะดวกมากขึ้น ผ่านการใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้งานบนได้ทุกระบบปฏิบัติการ และยังมี Community ที่ผู้ใช้สามารถแชร์ไฟล์งาน Prototype หรือ Plug-in ต่าง ๆ แล้วนำไปปรับใช้กับงานของตัวเองได้
มากกว่านั้น ผู้ใช้งานสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์มีการอัปเดตแบบ Real-time ทำให้ในทีมสามารถพูดคุย และปรับแก้งานได้ทันทีเมื่อมีปัญหาระหว่างการทำโปรเจกต์ หรือมีไอเดียเพิ่มเติม
อีกทั้ง Figma ยังเหมาะสำหรับมือใหม่เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่าย ขณะที่คนที่มีประสบการณ์กราฟิกดีไซน์สามารถทำงานได้แบบไร้รอยต่อ หากใครสนใจเรื่องการใช้งาน สามารถดูรีวิวการใช้ Figma ได้ >> ที่นี่
จุดเริ่มต้นของ Figma ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นสตาร์ทอัปยูนิคอร์น
Figma ถูกก่อตั้งขึ้นโดย Dylan Field และ Evan Wallace ในขณะที่เขากำลังเป็นนักศึกษาสาขาวิทยาศาตร์คอมพิวเตอร์ และคณะกราฟิกดีไซน์ ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ เมื่อช่วงเขาเรียนอยู่ปีสาม Dylan ได้ตัดสินใจไปฝึกงานในตำแหน่ง Product Design Intern ซึ่งทำให้เขาค้นพบปัญหาในการทำกราฟิกดีไซน์ จึงมีความคิดที่อยากจะปรับปรุงในส่วนนี้
จากปัญหาที่เขาได้พบช่วงฝึกงาน จึงได้ลาออกจากมหาวิทยาลัย Dylan ตัดสินใจคว้าทุน Thiel Fellowship จาก Peter Thiel ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง PayPal มาเริ่มสร้าง Figma ในปี 2012 ทั้งสองคนได้มีไอเดียการคิดค้นซอฟต์แวร์สำหรับกราฟิกดีไซน์เนอร์ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การทำให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยความอิสระ และไร้รูปแบบบนเบราว์เซอร์ของพวกเขา
นอกจากนั้น Dylan Field และ Evan Wallace ยังบอกอีกว่า Figma มีไอเดียคล้ายกับ Google Doc เพราะมีการทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ โดยเน้นในเรื่องของการทำงานร่วมกัน (Collaborative), ความโปร่งใส (Transparency) และการเข้าถึง (Access)
ในที่สุด Figma มีการเปิดให้ทดลองใช้งานเบต้า ในปี 2015 ก่อนที่จะเปิดตัวซอฟต์แวร์อย่างเป็นทางการในปี 2016 และผลตอบรับจากผู้ใช้งาน Figma บอกว่าสามารถตอบโจทย์ Pain Points ของนักออกแบบกราฟิกดีไซน์ ที่ต้องใช้เวลาในการทำงานร่วมกันเป็นทีม, ใช้เวลาในการ Export ไฟล์ค่อนข้างนาน และปัญหาเวลาคุยโปรเจกต์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี เพราะบางครั้งลูกค้าไม่สามารถเปิดไฟล์ได้ ด้วยจุดเด่นของ Figma ที่มีการอัปเดตงานแบบ Real-time ทำให้สามารถติดตามความคืบหน้าของโปรเจกต์นั้น ๆ ได้ทันทีทั้งผู้ใช้งาน และผู้ว่าจ้าง
รวมไปถึงช่วยให้นักพัฒนา (Developer) ใช้งานดีไซน์ต่อจากนักออกแบบกราฟิกดีไซน์ ผ่านการลดกระบวนการทำงานที่ไม่สร้างมูลค่า (Leaner) โดยเพียงแค่แชร์ลิงก์โปรเจกต์ให้กับนักพัฒนา ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องอัปเดตไฟล์ทั้งสิ้น
วิสัยทัศน์ของ Dylan Field ซีอีโอที่ทำให้ Figma เป็นที่นิยม
ถึงแม้ว่า Figma จะได้รับการตอบรับที่ดีในปัจจุบัน แต่ในอดีตมีคนวิจารณ์วิสัยทัศน์ของซีอีโอที่ต้องการ “ทำให้ดีไซน์เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ทุกคน” เพราะมีเรื่องของความน่าเชื่อถือเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหลาย ๆ ความคิดเห็นของนักออกแบบบอกว่า งานดีไซน์ค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้นการแชร์งานบน Community กับการนำไปปรับใช้ในหลาย ๆ รูปแบบ ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ยินดีกับส่วนนี้เท่าไหร่นัก
แต่ด้วยจุดเด่นของ Figma ที่สามารถทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ และมีฟีเจอร์หลากหลายให้เลือกใช้ เลยกลายเป็นที่ถูกใจของนักออกแบบหลาย ๆ คนในปัจจุบัน สำหรับนักออกแบบเอง การหาไอเดีย หรือดีไซน์ใหม่ ๆ บน Community ก็สามารถช่วยพวกเขาให้ทำงานได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้รวมไปถึง Developer Handoff ที่พวกเขาสามารถทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์แบบไร้รอยต่อ เนื่องจากนักออกแบบสามารถส่งลิ้งก์ให้ Developer โดยที่ไม่เสียโควต้า Editor หรือ ก็คือ Viewer ไม่เสียเงินนั่นเอง จนในที่สุด Dylan Field สามารถเปลี่ยนความคิดของทีม และนักออกแบบกราฟิกดีไซน์ ในเรื่องของการทำงานร่วมกัน (Collaboration) จากวิสัยทัศน์ “My ideas” กลายเป็น “Our ideas” แทน
และเมื่อมาเจอกับสถานการณ์ Covid-19 จึงทำให้นักออกแบบหันมาให้ความสำคัญกับ Figma มากขึ้น เนื่องจากสามารถเข้ามาอุดช่องว่าง และแก้ปัญหาในช่วงการทำงานระหว่าง Work From Home ได้เป็นอย่างดี
เพราะถ้าย้อนกลับไปคิดในเรื่องความสัมพันธ์ของทีม หรือที่ทำงาน ในระหว่าง Work From Home ส่วนนี้จะถูกเปลี่ยนจาก ความสัมพันธ์ทางกายภาพ (Physical Space) กลายเป็น ความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Space) ซึ่งตรงจุดนี้ผู้ใช้งาน Figma สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสื่อสารกันระหว่างทีมได้ดีมากขึ้น
และจากการที่พวกเขาได้ตอบโจทย์นักออกแบบ Figma ตอนนี้ ปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ อย่างเช่น Index Ventures, Greylock Partners, Kleiner Perkins และอื่น ๆ สามารถแซงคู่แข่งในตลาด อย่าง Adobe XD หรือ Sketch และกลายมาเป็นสตาร์ทอัปยูนิคอร์น (Unicorn) ในปี 2020 ซึ่งใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น!
ปัจจุบัน Figma มีความนิยมมากขึ้น มีการใช้งานที่ง่าย และมีฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้เลือกใช้ หลายบริษัทจึงเปลี่ยนมาใช้งานเครื่องมือออกแบบตัวนี้แทน ตัวอย่างบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Microsoft, Dropbox, Zoom, Uber และ Airbnb
ตัวเลขการเติบโตของ Figma ที่มีมูลค่าบริษัทมากถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ
ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บน Figma มากกว่า 4 ล้านคน ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นอย่างเป็นทางการในปี 2016 และเติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการจัดอันดับให้ Figma เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับนักออกแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Digital Whiteboarding, UI Design, UX Design, Prototyping, Handoff, Design System และด้านอื่น ๆ
ตัวอย่างผลสำรวจจาก Design Tools Survey ในปี 2021 ในด้านของการออกแบบ User Interface (UI) ที่มีจำนวนเพียงแค่ 10% ในปี 2017 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 77% ในปี 2021 ที่ผ่านมา แซงคู่แข่งหลักอย่าง Sketch ที่เคยมีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 71% ในปี 2017 แต่จำนวนกลับลดลงเหลือ 29% ในปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่จำนวนผู้ใช้ Figma เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในเวลาอันสั้น เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาของผู้ใช้งาน และกลยุทธ์ที่ปรับใช้ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถดูรีวิว หรือความคิดเห็นจากผู้ใช้งานจริงได้ >> ที่นี่
รายรับ (Revenue)
หลังจากที่เปิดตัวมาได้ประมาณ 6 ปี Figma ก็สามารถแซงคู่แข่งในตลาดออกแบบเว็บไซต์ กราฟิกดีไซน์ไปได้ในเวลาอันสั้น
โดยในปี 2016 Figma มีรายรับอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 570 ล้านบาท) และมีรายรับในปีถัดมาอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 737 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น 25.64% เนื่องจากเป็นช่วงแรกที่บริษัทได้ทำการเปิดตัวให้ใช้อย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมีคู่แข่งหลักอย่าง Sketch และ Adobe XD ที่ปล่อยให้บริการการออกแบบ UX/UI คล้าย ๆ กัน
หลังจากปี 2020 ช่วงไตรมาสที่ 2 บริษัทได้มีรายรับสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 35.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.17 หมื่นล้านบาท) ขึ้นไปอยู่ที่ 51.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.71 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมีอัตราการเติบโตของรายรับ 46%
ในปี 2021 ท้ายที่สุด Figma มีรายรับล่าสุดอยู่ที่ 81.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.72 หมื่นล้านบาท) ซึ่งอัตราการเติบโตของรายรับจากปีแรกที่เปิดตัว ขึ้นมาสูงถึง 130% ทั้งนี้รายได้ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากผลกระทบของ Covid-19 พร้อมจุดเด่นของ Figma ที่ทำให้คนในทีมสามารถสื่อสาร และทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีมีการตอบรับ รวมไปถึงจำนวนผู้ใช้งาน (Active Users) ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
จำนวนผู้ใช้งาน (Active Users)
ในมุมมองของนักธุรกิจ จำนวนผู้ใช้งานสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับรายรับที่เพิ่มขึ้น นี่จึงหมายความว่า การเข้างานใช้เว็บไซต์ ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่ดีในเรื่อง User Experience รวมถึงความพึงพอใจในการใช้งาน
ตั้งแต่การเปิดให้บริการทดลองเบต้าในปี 2015 Figma สามารถดึงดูดผู้ใช้งานมากกว่า 4 ล้านคน จำนวนผู้ใช้งานเหล่านั้น ก็รวมไปถึงบริษัทชั่นนำ ตัวอย่างเช่น Twitter, Dropbox, Slack และ Volvo
มากกว่า 83% ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดอยู่นอกสหรัฐอเมริกา และเกือบ 14% มีการทำงานใช้ Figma ทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ ซึ่งขึ้นมาจากเดิม 8% ในปี 2020
เงินทุน (Fundraising)
ในการทำธุรกิจสตาร์ทอัป เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางครั้งการมีไอเดียที่ดี แต่ไม่มีเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจอาจจะทำให้ไอเดียที่คิดไว้ ไม่เกิดขึ้นจริง
จากที่เคยกล่าวไว้ว่า Figma สามารถกลายเป็นสตาร์ทอัปยูนิคอร์น (Unicorn) ในปี 2020 ใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น! ที่ตอนนี้มีมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และกลายเป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุนจากหลาย ๆ บริษัท
Figma ได้มีการเริ่มเปิดระดมทุนช่วงระยะเริ่มต้น (Seed Round) ในปี 2013 จำนวนทั้งสิ้น 3.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 130 ล้านบาท) โดยมีนักลงทุนหลัก เช่น Index Ventures และ Terrence Rohan เป็นต้น
หลังจากที่มีจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นทำให้มีนักลงทุนหันมาให้ความสนใจ จนทำให้ Figma อยู่ในช่วงการระดมทุน Series E ซึ่งมีจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.69 หมื่นล้านบาท) โดยมี Durable Capital Partners ผู้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในรอบนี้
ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share)
สำหรับ Figma แล้ว ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) เป็นค่าที่บ่งบอกรากฐานการเติบโตของธุรกิจ หรือที่เราเรียกกันว่า North Star Metric ซึ่งเน้นในเรื่องการที่ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำ และบอกต่อผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้เรา ส่งผลให้ธุรกิจมีการเติบโตในระยะยาว
Figma ให้ความสำคัญกับ ส่วนแบ่งทางการตลาด เพราะว่าตัวเลขเหล่านี้สามารถบอกสัดส่วนยอดขายของธุรกิจหนึ่ง เมื่อเทียบกับมูลค่ายอดขายสินค้าของทุกธุรกิจรวมกันในตลาดนั้น ๆ อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดว่าสินค้า หรือบริการของธุรกิจหนึ่งได้สัดส่วนมากน้อยขนาดไหนเปรียบเทียบกับกำลังซื้อทั้งหมด
สำหรับส่วนแบ่งในตลาดการออกแบบ UX/UI นั้น Figma มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 66% มากกว่า Adobe XD มีส่วนแบ่ง 5.65% และเป็นคู่แข่งหลักในปี 2020 เนื่องจาก Figma ได้ตอบโจทย์การทำงานร่วมกันบนเว็บเบราว์เซอร์ และสนับสนุนการทำงานให้สะดวก รวดเร็วมากกว่าเดิม
ในทางกลับกัน ส่วนของของตลาด Collaborative Design and Prototyping บริษัท Figma มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 10.72% ซึ่ง Adobe Photoshop, Indesign และ Premiere Pro ถือครองตลาดไปมากกว่า 57% ด้วยเหตุผลที่ Adobe ได้มีการเปิดตัวนานกว่า และฐานผู้ใช้งานจำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา พร้อมกับการเปิดตัวธุรกิจใหม่ ๆ ที่แบ่งออกเป็นประเภท ไม่ว่าจะเป็น Creative Cloud, Document Cloud หรือ Experience Cloud
ส่องกลยุทธ์การเติบโตของ Figma ที่ทำให้มีผู้ใช้งานมากกว่า 4 ล้านคน!
นับตั้งแต่การเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2016 Figma ได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจุดเด่นในการทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ และช่วยนักออกแบบ ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มลงมือออกแบบ จนถึงขั้นตอนการทดสอบเว็บไซต์ หลาย ๆ บริษัทได้เปลี่ยนเครื่องมือออกแบบอื่น ๆ กลายมาเป็น Figma แทน
จากหลาย ๆ มุมมองบริษัทที่หันมาเลือก Figma พวกเขาได้บอกว่า การทำเว็บโปรเจกต์ขนาดใหญ่ มันค่อนข้างสำคัญมาก ในเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ของคนในทีม แต่ก็ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่บริษัทใหญ่ เช่น Microsoft, Dropbox, Zoom, Uber and Airbnb เปลี่ยนมาเลือกใช้ Figma เป็น Primary Tool หรือเครื่องมือหลักในการออกแบบ
แล้วทำไมพวกเขาถึงเปลี่ยนมาเลือกใช้ Figma กันล่ะ? วันนี้ The Growth Master จะพาไปส่องกลยุทธ์เหล่านั้นกัน
1. ตอบโจทย์ปัญหา (Pain Points) ของนักออกแบบ
กราฟิกดีไซน์เนอร์มักมีคำถาม และข้อสงสัยว่า “ทำยังไงถึงจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” Figma เลยมีโซลูชันขึ้นเพื่อแก้ไขจากปัญหาที่ลูกค้าอาจจะไม่ชอบ หรือรู้สึกว่ามันคือปัญหา (Pain Points)
สำหรับการทำธุรกิจระยะยาวแล้ว การที่เรารู้และเข้าใจปัญหาของผู้ใช้งาน เรายังสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด และออกแบบทางออกให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น Dylan Field เอง ก็ให้ความสำคัญกับปัญหาของผู้ใช้งานไม่มากก็น้อย เขาจึงแก้ปัญหาเหล่านั้น ผ่านโซลูชันบน Figma ด้วยวิธีต่าง ๆ
- ความรวดเร็วในการทำงาน (Speed): Figma มีระบบที่ค่อนข้างสนับสนุนในการทำงานตั้งแต่การระดมความคิดก่อนออกแบบ ผู้ใช้สามารถสร้าง Layouts และปรับดีไซน์ได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาสามารถโยกย้ายตำแหน่งสิ่งต่าง ๆ บนเว็บเบราว์เซอร์ได้อย่างอิสระ รวมไปถึงมีระบบ Auto Layout ที่ช่วยเปลี่ยนตำแหน่งขแง Element ในระนาบเดียวกันอีกด้วย
- ประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีม (Collaboration): การอัปเดตโปรเจกต์ หรือดีไซน์มักจะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา เนื่องจากจำเป็นที่ต้องใช้เวลาในการอัปเดตไฟล์ขึ้นไปบนระบบ จึงสำคัญมากที่คนในทีมจะสื่อสารไปในทางเดียวกันผ่าน Figma
- มีการอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ (New Features): ช่วงเริ่มต้นฟีเจอร์หรือออปชั่นต่าง ๆ ของ Figma ยังเทียบไม่ได้กับ Sketch ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการ Add Effect รวมถึงการแสง สี เงา และการวาด Vector อีกทั้ง Figma ยังเป็น Web-based ที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องทำการอัปเดตงาน หรืออัปเดตฟีเจอร์ และ Basic Tool ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องด้วยตัวเอง ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นข้อดีที่ทำให้ Figma เป็นที่ถูกใจผู้ใช้งานส่วนใหญ่มากกว่าคู่แข่งหลักอย่าง Sketch และ Adobe XD
- การใช้งานต่อของนักพัฒนาเว็บไซต์ (Developer Handoff): เมื่อนักออกแบบได้สร้างสรรค์งานดีไซน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถส่งต่อให้ Developer ได้ทันที โดยการส่งลิงก์ รวมไปถึง Inspect Code ที่ช่วยดูว่าควรปรับตรงไหนให้ดีขึ้น เพื่อที่จะลดปัญหาตอน Runtime เพื่อนำไปต่อยอดสร้างเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน มากไปกว่านั้น Figma ยังมีจุดเด่นในการแสดง Prototype ทั้งบน Desktop และบนมือถือ เพื่อที่จะได้เห็นภาพการใช้งานโดยรวมของเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันได้อย่างชัดเจน
จากปัญหาที่ซีอีโอของ Figma ได้พบจากผู้ใช้งานการออกแบบกราฟิกดีไซน์ ทำให้เขาพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง มากกว่านั้นยังช่วย Developer ให้ทำงานอย่างราบรื่น และรวดเร็วผ่านฟีเจอร์ต่าง ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานพึงพอใจ และกลับมาใช้งานอย่างซ้ำ นั่นเอง
2. ต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ “FigJam” จากผลิตภัณฑ์เดิม
จากที่ Figma มีไอเดียที่ต้องการพื้นที่ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเป็นในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ต้องทำงานที่บ้าน บริษัทจึงตัดสินใจขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มขั้นตอนในการทำงานไว้บนไวท์บอร์ด
นอกเหนือจากเว็บเบราว์เซอร์ที่นักออกแบบ UX/UI สามารถทำงานร่วมกันได้แล้ว Figma ได้เพิ่มอีกหนึ่ง Product ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน จากเหตุผลที่ว่านักออกแบบมักจะใช้พื้นที่บน Figma ส่วนใหญ่ไปกับการเขียนไอเดียบนหน้างานของพวกเขา และต้องการพื้นที่ในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ Figma จึงได้ตัดสินใจพัฒนาอีกหนึ่งตัวขึ้นขึ้นมา นั่นก็คือ FigJam
FigJam คือ กระดานไวท์บอร์ดสำหรับระดมความคิด (Brainstorm) ภายในทีม ก่อนที่จะนำไอเดียเหล่านั้นไปออกแบบเป็นชิ้นงาน การใช้งาน FigJam นั้น ไม่ได้มีความซับซ้อนเหมือน Figma ผู้ใช้สามารถเขียนไอเดียไปบนโพสต์อิท อีกทั้งยังวาดภาพ และวางแผนงานรูปแบบ Diagram ในการทำงานได้อีกด้วย
แม้ว่า FigJam จะไม่ได้มีฟังก์ชั่นที่แตกต่างจากไวท์บอร์ดออนไลน์อื่น ๆ ที่สามารถสร้าง Sitemaps และ Wireframes ได้ ร่วมไปถึงการวางแผนงานต่าง ๆ แต่ FigJam ก็สามารถช่วยให้ผู้ใช้งานทำงานสะดวกสบาย และเข้าใจการใช้งานบนระบบอย่างรวดเร็ว ทั้งการเชื่อมข้อมูล หรือแผนงานเข้าด้วยกัน อีกทั้งการส่งต่อเอกสารโปรเจกต์จาก Figma ไปบนบอร์ดของ FigJam ทำได้ง่ายดายเช่นกัน
3. กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง (Differentiation Strategy)
ตั้งแต่ก่อนเริ่มก่อตั้งบริษัท Dylan Field ได้มีความคิดที่จะต่อยอดสิ่งที่เขาเจอในช่วงการฝึกงานเป็น Product Design Intern ทำให้เขาค้นพบปัญหาในการทำกราฟิกดีไซน์ จึงมีคิดไอเดียที่จะปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยการทำ Figma ที่ตอบโจทย์ปัญหาการทำงานร่วมกันกับทีม
กลยุทธ์ความสร้างความแตกต่าง (Differentiation Strategy) นั้น เป็นกลยุทธ์ที่เป็นการนำเสนอสินค้า หรือบริการที่เน้นให้ลูกค้าเห็นคุณค่า และความแตกต่างที่ผู้ประกอบการอื่นในตลาดเดียวกันไม่สามารถมอบให้ได้ จนเกิดการใช้ซ้ำ (Retention) และบอกต่อ (Referral)
ถึงแม้ว่าบางบริษัทจะมีการเปิดตัวการออกแบบเว็บไซต์บนเว็บเบราว์เซอร์เพื่อที่คนในทีมสามารถทำงานได้แย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Figma จึงได้พัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบรับ และแก้ไขปัญหาของผู้ใช้งาน เพราะเป็นสิ่งที่หนึ่งในกลยุทธ์ที่ Figma ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้น ในการทำทุกคนสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้หลาย ๆ บริษัทหันมาเลือกใช้ Figma เป็นเครื่องมือหลัก (Primary Tool) จนเพิ่มขึ้นมาได้มากถึง 67% ภายใน 4 ปี
ตัวอย่างเช่น Figma เป็นบริษัทแรกที่มีความโดดเด่นในการออกแบบเว็บไซต์ กราฟิกดีไซน์ บนเว็บเบราว์เซอร์ รวมไปถึง Developer Handoff ที่ช่วยนักพัฒนาทำงานได้แบบไร้รอยต่อ เพราะไม่จำเป็นอัปเดตลิงก์ไฟล์งาน ซึ่งตรงนี้จะเป็นคุณสมบัติพิเศษ (Extra Benefit) ที่บริษัทมอบให้ผู้ใช้งาน และเป็นข้อคล้ายคลึงจากคุณสมบัติประเภททั่วไป (Standard Benefit) ที่ Sketch และ Adobe XD สามารถมอบให้ผู้ใช้ได้เหมือน ๆ กัน ในการออกแแบบ UX/UI
และอีกจุดเด่นหนึ่งของ Figma นั่นก็คือ สังคมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ (Community) ที่ผู้ใช้สามารถแชร์ไฟล์งาน Prototype หรือดีไซน์ แล้วนำไปปรับใช้กับงานของตัวเองได้ ถึงแม้ว่ามีการคนวิจารณ์วิสัยทัศน์ของซีอีโอ ที่ต้องการให้ดีไซน์เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ทุกคน แต่ด้วยความแตกต่าง และสนับสนุนให้ทุกคนทำงานอย่างราบรื่น ส่งผลให้ Figma มีความแตกต่าง และเติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น
4. โมเดลธุรกิจแบบ Freemium และ Subscription
Figma ได้ปรับใช้โมเดลธุรกิจ 2 แบบด้วยกัน นั่นก็คือ Freemium และ Subscription ซึ่งเราจะได้เห็นการผสมผสานระหว่างสองโมเดลธุรกิจในหลาย ๆ บริษัท ตัวอย่างเช่น Adobe, Spotify และ Dropbox
โมเดล Freemium คือ การให้ลูกค้าทดลองใช้บริการขั้นพื้นฐานในช่วงเริ่มแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้งานอยากจ่ายเงินเพื่อการใช้งานที่มากขึ้น อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจคือ สร้างรายได้จากระบบ Subscription ที่เป็นแบบการคิดเงินค่าสมาชิก หรือค่าบริการ ซึ่งแบบธุรกิจนี้มีประโยชน์ในการสร้างความสัมพัมธ์ระหว่าง Figma และผู้ใช้งาน หมายความว่า ถ้าผู้ใช้งานเห็นคุณค่า (Value) ที่บริษัทได้มอบให้ พวกเขาก็จะจ่ายเงินให้บริษัทอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ในตอนนี้ Figma ได้มีแพ็กเกจให้เลือกทั้งหมด 4 แบบ นั่นก็คือ Starter, Professional, Organization และ Enterprise ราคาจะคิดเป็นต่อคน/ปี เริ่มต้นที่ 12 เหรียญสหรัฐ ไปจนถึง 75 เหรียญสหรัฐ แต่ละแพ็กเกจจะยังมีการเข้าถึงฟังก์ชั่นของ Design และ Prototyping เหมือนกันหมด จะมีความแตกต่างตรงที่มี Adds-on เพิ่มเติมสำหรับบริษัทใหญ่ที่มีพนักงานเป็นจำนวนมาก และต้องการระบบที่ช่วยทำงานได้ง่ายขึ้น ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับแพ็กเกจสามารถเข้าไปดูได้ >> ที่นี่
โดยปกติแล้ว Figma ได้ปล่อยให้มีการใช้งานฟรีบนเว็บเบราว์เซอร์ โดยมีข้อจำกัดอยู่ที่ 3 โปรเจกต์ และมีผู้ใช้งานที่สามารถแก้ไขงาน (Editor) ได้สูงสุด 2 คน หมายความว่า ถ้าคนไหนต้องการทดลองใช้งานการออกแบบบน Figma ก็สามารถทดลองใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สรุปทั้งหมด
จาก Pain Point เล็ก ๆ ของผู้ใช้งาน กลายมาเป็นไอเดียสำคัญในการสร้าง Figma ของซีอีโอ รวมไปถึงตัวอย่างกลยุทธ์การเติบโตของ Figma ที่เรากล่าวมาข้างต้น ทำให้ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา Figma ได้เติบโตแซงคู่แข่งมากมาย และกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือออกแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้จริง ๆ ทั้งการทำงานออกแบบสะดวกสบายมากขึ้น รวมไปถึงการส่งต่องานให้ Developer ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแบบไร้รอยต่อ
เป็นเหตุผลให้ผู้ใช้ของ Figma เจอกับคุณค่าของผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ Figma สามารถเติบโตเป็นยูนิคอร์น และมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 10.72% ในส่วนของ Collaborative Design and Prototyping และส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของ UX/UI สูงถึง 66% ในปี 2020