เมื่อการทำงานในยุคปัจจุบันเราพูดได้เต็มปากว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ มันคงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นการแข่งขันอันดุเดือดของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แต่ละเจ้า การซื้อกิจการ และตัวเลขการเติบโตที่จะเป็นสิ่งที่ชี้วัดว่าตอนนี้สถานการณ์ของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร
โดยล่าสุด Google Cloud หรือชื่อเต็มคือ Google Cloud Platform (GCP) อีกหนึ่งแพลตฟอร์มผู้ให้บริการด้านคลาวด์คอมพิวเตอร์ลักษณะ Web Server ในเครือของ Google ก็ได้ออกมาเปิดเผยรายงานตัวเลขการเติบโตตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา
จากรายงานดังกล่าวพบสิ่งที่น่าสนใจตรงที่ แม้ตัวเลขรายได้ตลอดทั้งปีของ Google Cloud จะสูงถึงหลัก 13,000 ล้านดอลลาร์ แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าในปี 2020 Google Cloud ก็ยังขาดทุนอยู่ถึง 5,600 ล้านดอลลาร์เช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกใจเพราะปกติ Google ไม่เคยเปิดเผยตัวเลขการเติบโตของธุรกิจในฝั่ง Cloud มาก่อน (จะรวมอยู่ใน Google ทั้งหมด)
ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เหล่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่หน้าแตกกันเป็นแถว เพราะคาดการณ์ว่าแพลตฟอร์มระดับ Google Cloud น่าจะทำตัวเลขได้ดีกว่านี้ แล้วสาเหตุอะไรกันแน่ที่ทำให้ Google Cloud ยังไม่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างเต็มที่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณ
Google Cloud Platform คืออะไร ?
Google Cloud Platform คือแพลตฟอร์มที่ให้บริการระบบคลาวด์คอมพิวเตอร์ (Cloud Computer) ในลักษณะของ Web Server Service ที่อยู่ภายใต้การพัฒนาของ Google กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2008 ปัจจุบันมีบริการที่หลากหลายกว่า 30+ รายการ แต่ที่ถือเป็นบริการหลักของ GCP คือเรื่องของระบบ Cloud ในการจัดเก็บและฝากไฟล์ผ่าน Web Browser ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของธุรกิจในที่กำลังมองหาเทคโนโลยีด้าน Cloud & Network มาใช้ในองค์กร (Google Workspace ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ Google Cloud เช่นกัน)
ถึงแม้ Service ของ Google Cloud จะมีมากกว่า 30+ รายการแต่ทั้งหมดทั้งมวลก็จะครอบคลุมอยู่ใน 5 Main Service (การบริการหลัก) ของแพลตฟอร์ม ได้แก่
- Compute Serverless Service : เป็นบริการการเช่า Server เว็บไซต์ของธุรกิจ จุดเด่นคือคุณไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ หรือจ้างทีมเพื่อมาดูแล Server เลย โดยทางบริการนี้ของ Google Cloud จะเป็นบริการแบบ Serverless ด้วย ทำให้ไม่ต้องวุ่นวายกับเขียนโค้ดเพื่อสร้างเว็บ
- Storage & Database Service เป็นบริการในด้านการจัดเก็บไฟล์และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Warehourse) เหมาะสำหรับองค์กรหรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่เน้นการทำงานด้าน Data เป็นสำคัญ
- Cloud AI Service : บริการในด้านการสร้างเทคโนโลยี AI เพื่อการทำงานในองค์กร เพราะปัจจุบัน AI เริ่มกลายเป็นสิ่งที่หลายองค์กรกำลังต้องการ ซึ่งบริการประเภทนี้ต้องติดต่อ Sales Team ของ Google Cloud โดยตรง
- Networking Service : คือบริการที่จะเชื่อม Compute Service และ Storage Service ไว้ด้วยกัน ลักษณะการบริการจะเป็นการสร้างเครือข่ายระบบ Cloud สำหรับองค์กรเท่านั้น เป็นอีกหนึ่งบริการที่ได้รับความนิยมจากหลายองค์กรทั่วโลก เพราะช่วยประหยัดเวลาในการวางระบบเอง
- Big Data Solution Service : บริการนี้ก็ตรงตัวเลยครับ เพราะจะให้บริการในด้านการจัดเก็บข้อมูลและการวางระบบแบบ Big Data เท่านั้น (หากใครอยากศึกษาเรื่อง Big Data เพิ่มขึ้น กดเข้า ลิงก์นี้ เพื่อดูรายละเอียดคอร์สฟรีจาก Coursera ได้เลยครับ)
นอกจากนั้น Google Cloud Platform ยังมีบริการในด้านอื่น ๆ อยู่อีกเยอะเลยครับ แต่เอาที่จำแนกได้แบบใหญ่ ๆ ก็จะอยู่ที่ 5 ข้อที่ได้กล่าวไปนั่นเอง หรือถ้าใครอยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริการทั้งหมดของ Google Cloud Platform ก็กดไปที่ ลิงก์นี้ ได้เลย
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Google Cloud สามารถสร้างการเติบโตระดับหมื่นล้านดอลลาร์ได้คืออะไร ?
ล่าสุดทาง Alphabet ที่เป็นบริษัทแม่ของ Google ได้ปล่อยรายงานแถลงผลประกอบการในปี 2020 ออกมา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ในรายงานผลประกอบการฉบับนี้ทาง Alphabet ได้แยกตัวเลขรายได้ของ Google Cloud ออกมาเดี่ยว ๆ เลยจากที่ในหลายปีก่อนทาง Alphabet จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขของ Google Cloud แต่จะรวมไปอยู่ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของ Google
โดยในไตรมาสล่าสุดของปี 2020 ฝั่ง Google Cloud มีรายได้ทั้งหมด 3.8 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว (2019) ที่มีรายได้อยู่ที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์ และเมื่อดูตัวเลขเปรียบเทียบกันจริง ๆ จะพบว่าเมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วในไตรมาสที่ 4 ของทั้งปี 2019 และ 2020 มีตัวเลขการขาดทุนไล่เลี่ยกันอยู่ที่ราว 1 พันล้านดอลลาร์
และจากตัวเลขด้านบนคุณจะเห็นได้อีกว่าทาง Alphabet เองก็ให้ตัวเลขรายได้ย้อนหลังของ Google Cloud มาถึง 3 ปีเต็ม ในช่วงปี 2018 - 2020 เพื่อให้เปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนไปเลยว่าทั้ง 3 ปี Google Cloud มีการเติบโตเป็นอย่างไรบ้าง
โดยในปี 2018 Google Cloud มีรายได้ทั้งหมด 5,838 ล้านดอลลาร์, ปี 2019 มีรายได้ทั้งหมด 8,918 ล้านดอลลาร์ และ ล่าสุดในปี 2020 มีรายได้ทั้งหมด 13,059 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือได้ว่า Google Cloud มีการพัฒนาในเรื่องของรายได้ที่เติบโตขึ้นอยู่ทุก ๆ ปี
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าเมื่อช่วงปี 2019 Google Cloud ได้มีการเปลี่ยนตัว CEO คนใหม่จาก Diane Green เป็น Thomas Kurian อดีตผู้บริหารระดับสูงของ Oracle หลังจากที่ทาง Diane Green ไม่สามารถพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ได้
เพราะในช่วงเวลานั้น Google Cloud ถือว่าฟอร์มตกเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องรายได้ จำนวนคนใช้บริการ รวมถึงการบริหารงานที่ไม่มีความก้าวหน้า จึงทำให้ Google ที่ดูแล Google Cloud ตัดสินใจเปลี่ยน CEO แบบสายฟ้าแลบมาเป็น Thomas Kurian ผู้ที่เคยพา Oracle เติบโตในช่วง 2 ทศวรรษหลัง และก็เป็นเขาผู้นี้เองที่อยู่เบื้องหลังในทุกการพัฒนาแพลตฟอร์มของ Google Cloud ในช่วง 2 ปีหลังเช่นกัน
คงไม่แปลกที่ดูจากตัวเลขรายได้ประกอบก็จะพบว่าในปี 2019 และ 2020 ซึ่งถือเป็นปีที่ Thomas Kurian เข้ามาดูแล Google Cloud แบบเต็มระบบก็สามารถสร้างการเติบโตให้กับแพลตฟอร์มได้ดีมากเลยทีเดียว
ย้อนดูตัวเลขขาดทุนของ Google Cloud ในช่วง 3 ปีหลัง พร้อมเปรียบเทียบกับคู่แข่งตัวฉกาจ
เรื่องนี้อาจจะหอมหวานเกินไปถ้าเราจะดูแต่รายได้หรือการเติบโตของ Google Cloud ใช่ไหมครับ คราวนี้ก็ต้องมาดูว่าในปีที่ผ่านมา Google Cloud “ขาดทุน” ไปมากน้อยเพียงใด
ในปี 2020 ที่ผ่านมา Google Cloud ก็ยังขาดทุนอยู่นะครับโดยตัวเลขอยู่ที่ 5,607 ล้านดอลลาร์ หรือจะย้อนหลังไปอีก 2 ปีก็ยังขาดทุนอยู่เหมือนเดิมโดยตัวเลขในปี 2018 ขาดทุนอยู่ที่ 4,348 ล้านดอลลาร์ และในปี 2019 ขาดทุนอยู่ที่ 4,645 ล้านดอลลาร์
จะสังเกตได้เลยว่าตัวเลขขาดทุนของ Google Cloud เพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า Google Cloud เป็นแพลตฟอร์มที่มีการพัฒนา เพิ่มฟีเจอร์ เพิ่มเทคโนโลยีทั้งเล็กและใหญ่อยู่บ่อยมาก (ชนิดเกือบทุกเดือน) ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของ Thomas Kurian อยู่แล้ว ดังนั้นทุกการพัฒนาก็คือการทดลอง ที่ Google Cloud อาจจะต้องยอมลงทุนเยอะไปก่อนในช่วงแรก เพื่อการสร้างแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ทุกการใช้งานยุคดิจิทัลในอนาคตอันใกล้
ซึ่งจากการเปิดเผยตัวเลขรายได้ของ Google Cloud เป็นครั้งแรกนี้เองทำให้เราสามารถไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งเบอร์ 1 ในตลาดเดียวกันอย่าง AWS หรือ Amazon Web Service ที่ถือว่าเป็นเจ้าตลาดด้านนี้อยู่แล้วจะพบว่า Google Cloud ก็ยังคงตามหลัง Amazon Web Service อยู่ไกลโพ้นเลย
เพราะจากตัวเลข Amazon Web Service มีรายได้ตลอดทั้งปี 2020 อยู่ที่ 45,370 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นกำไรล้วน ๆ (Operating Income) กว่า 13,531 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนถึง 47% เรียกว่ารายได้ที่ Amazon Web Service ทำได้นั้นทิ้งห่าง Google Cloud ไปถึง 3 เท่าเลยทีเดียว และนอกจากนั้นกำไรกว่าครึ่งที่ Amazon ทำได้ในปี 2020 ก็มาจากตัว Amazon Web Service นี่แหละ
สรุปทั้งหมด
แม้ว่าจากตัวเลขในปี 2020 Google Cloud ถือว่ามีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ มากแต่ก็ยังขาดทุนอยู่ ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าอาจจะอยู่ในช่วงเรียนรู้และพัฒนาแพลตฟอร์มภายใต้การทำงานของ CEO คนใหม่อย่าง Thomas Kurian แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาต้องเจองานหนักไม่น้อยที่ต้องแข่งขันกับธุรกิจที่กำลังมาแรงอย่าง Amazon Web Service รวมไปถึงม้ามืดที่ประมาทไม่ได้อย่าง Mircosoft Azure
คราวนี้เราต้องมาดูกันแล้วว่าในปี 2021 ซึ่งถือเป็นขวบปีที่ 3 ของ CEO คนนี้จะสร้างการเติบโตให้แก่ Google Cloud Platform ได้แค่ไหนและจะมีเซอร์ไพรซ์อะไรให้กับผู้ใช้บริการอย่างเราทุกคน เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ