กลายเป็นข่าวใหญ่ของวงการเทคโนโลยีประจำสัปดาห์นี้เลยก็ว่าได้หลังจากที่เมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ (12 เมษายน) มีกระแสข่าวหลุดออกมาว่า Microsoft บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกกำลังจะเตรียมปิดดีลซื้อกิจการของ Nuance บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านระบบซอฟต์แวร์สั่งการด้วยเสียงที่อยู่เบื้องหลังฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการด้วยเสียงของหลายธุรกิจดัง
ซึ่งถึงแม้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจาก Microsoft ออกมาแต่สื่อต่างประเทศหลายสำนักก็กำลังประโคมข่าวเรื่องนี้กันอยู่ และเชื่อว่ามีโอกาสที่ Microsoft จะปิดดีลซื้อกิจการของ Nuance ได้อย่างแน่นอนในช่วงไม่เกินเดือนนี้
โดยตัวเลขของการซื้อการครั้งนี้คาดการณ์ว่า Microsoft จะต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินให้แก่ Nuance เป็นจำนวนกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขการซื้อกิจการที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในประวัติศาสตร์วงการธุรกิจเทคโนโลยี
แล้วสงสัยไหมว่าทำไม Microsoft ถึงต้องการซื้อกิจการธุรกิจอย่าง Nuance ที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านเสียงขนาดนี้ Microsoft มีแผนการที่จะพัฒนาอะไรอยู่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณ ไปติดตามกัน
Nuance คือใคร? รู้จักธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีด้านเสียง ผู้อยู่เบื้องหลังฟีเจอร์เด่นของหลายธุรกิจ
เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือแม้แต่เคยได้ยินชื่อของ Nuance ว่าธุรกิจนี้ทำอะไร มีโปรไฟล์เด่นดังอะไรบ้างถึงทำให้ Microsoft มุ่งเป้าหมายการซื้อกิจการมาที่พวกเขาได้ขนาดนี้ โดย Nuance (หรือชื่อเต็ม Nuance Communication) คือบริษัทที่ให้บริการด้านการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ “เสียง” เช่นระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Command) ระบบ AI จดจำเสียง (Speech Recognition) ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1992
ซึ่งบริษัท Nuance ก็ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของฟีเจอร์เด่นของหลายธุรกิจ เช่น Siri ระบบสั่งการด้วยเสียงสุดอัจฉริยะของ Apple ที่ถือเป็นเทคโนโลยีแห่งยุคก็ได้ Nuance นี่แหละที่คอยวางรากฐานและพัฒนาระบบ Siri ให้สามารถเข้าใจคำสั่งและจดจำเสียงของเจ้าของอุปกรณ์ตั้งแต่ช่วงที่ Siri ยังไม่ได้ปล่อยให้ใช้บริการ หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าไม่มี Nuance ในวันนั้นก็คงไม่มี Siri ให้เราได้ใช้กันในทุกวันนี้แน่นอน
นอกจากนั้น Nuance ก็ยังอยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีด้านเสียงอีกหลายธุรกิจเช่น Swype ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี Keyboard สำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งก็เป็น Nuance อีกนี่แหละที่พัฒนาระบบ Voice Keyboard (ใช้เสียงพิมพ์ข้อความ) ให้กับสมาร์ทโฟนทั้งหลาย, เจ้าแรกของการใช้ระบบเสียงปลดล็อคสมาร์ทโฟน (DragonID) รวมถึงงานวางระบบเทคโนโลยีให้กับธุรกิจสายงานอื่น ๆ เช่นธนาคาร Barclays ที่ใช้ระบบจดจำเสียงของลูกค้าเพื่อการยืนยันตัวตนเวลาทำธุรกรรมผ่าน Call Center (เทคโนโลยี Voiceprint)
แต่อาจเป็นเพราะการมีทรัพยากรที่บริษัทอื่นไม่มีและเป็นบริษัทที่มีบทบาทกับวงการเทคโนโลยีโลกมาโดยตลอด เลยเป็นเหตุผลให้ตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ Nuance เคยเกือบโดนซื้อกิจการมาแล้วหลายครั้งอยู่เหมือนกันไล่ตั้งแต่ Apple, Samsung ไปจนถึงบริษัทลงทุนรายอื่น ๆ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้มีใครคิดจะซื้อกิจการของ Nuance ได้สักทีจนกระทั่งถึงคิวของ Microsoft ในปีนี้
สร้างประวัติศาสตร์! เมื่อ Microsoft ยอมทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อกิจการของ Nuance ให้ได้
หลังจากที่เกือบจะถูกซื้อกิจการไปหลายหน ในที่สุด Nuance ก็กำลังจะถูกซื้อกิจการอีกครั้งและคราวนี้ดูท่าทีมีความเป็นไปได้สูงด้วย โดยผู้เข้ามาซื้อกิจการนั่นก็คือ Microsoft ที่ตอนนี้มีข่าวมาว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจากับทาง Nuance แล้วด้วย
โดยแหล่งข่าวจาก Bloomberg รายงานว่า Microsoft มีโอกาสสูงที่จะปิดดีลซื้อกิจการของ Nuance ได้ภายในเดือนนี้หรือเร็วสุดคือภายในสัปดาห์นี้ ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ได้ออกมาแถลงข่าวให้ข้อมูลอะไรเลย แต่สื่อต่างประเทศต่างเชื่อว่าตอนนี้ทั้ง 2 ธุรกิจกำลังหาข้อตกลงที่ดีที่สุดร่วมกัน
สำหรับจำนวนเงินของการซื้อกิจการครั้งนี้นั้นคาดการณ์ว่า Microsoft จะต้องจ่ายเงินให้กับ Nuance เป็นจำนวนกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์ (เงินไทยราว 5 แสนล้านบาท) ซึ่งถ้า Microsoft สามารถปิดดีลนี้ได้จริง ๆ จะถือเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของ Microsoft ด้วยเพราะจะทำให้มูลค่าการซื้อกิจการของดีลนี้แซง Skype ขึ้นไปอยู่ในอันดับ 2 ของการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดที่ Microsoft ทำได้ ซึ่งอันดับ 1 นั้นเป็นการซื้อกิจการของ LinkedIn ที่ Microsoft ปิดดีลไปด้วยจำนวนเงิน 26,200 ล้านดอลลาร์ (เงินไทยราว 8 แสนล้านบาท) ในปี 2017
ปีนี้เอาจริง! แล้วทำไม Microsoft ถึงสนใจซื้อกิจการของ Nuance ?
ส่วนสาเหตุที่ Microsoft ยอมทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อกิจการของ Nuance ในครั้งนี้คาดการณ์ว่าคงหนีไม่พ้นประเด็นหลักนั่นก็คือการเอาทรัพยากรด้านเทคโนโลยีของ Nuance มารวมอยู่ในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในอนาคตของ Microsoft เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า Nuance Communication นั้นถือเป็นบริษัทเนื้อหอมที่มีเทคโนโลยีด้านระบบการสั่งการด้วยเสียงอยู่ในมือ มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี AI ด้านเสียงอีกทั้งยังมีความพร้อมด้านประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่มาแล้วมากมาย
ปัจจัยเหล่านี้ Microsoft มองว่าเป็นทรัพยากรที่องค์กรของตนยังขาดความเชี่ยวชาญอยู่ทำให้ Microsoft ตัดสินใจเลือก Nuance เป็นเป้าหมายในการซื้อกิจการครั้งนี้ ก่อนที่จะถูกมือดีอีกหลายเจ้าซื้อไปในอนาคต
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ในปี 2021 นี้พวกเขาอยากจะเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และรัฐบาลมากขึ้น การได้เทคโนโลยีรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ด้านเสียงของ Nuance เข้ามาช่วยพวกเขาจะทำให้ Microsoft สามารถเพิ่มฟีเจอร์อัจฉริยะต่าง ๆ ลงไปในตัวผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วเช่น ฟีเจอร์ถอดรหัสข้อความเสียงเป็นตัวอักษรใน Microsoft Teams หรือการพัฒนาฟีเจอร์ Voice Search ที่มีความแม่นยำสูงใน Bing (Search Engine ของ Microsoft)
รวมถึงโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของ Microsoft เองซึ่งมีการคาดการณ์ว่า Microsoft กำลังพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ หลังจากที่สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้พวกเขามองเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีด้านเสียงมาใช้กับอุตสาหกรรมนี้ เช่นการพบแพทย์แบบออนไลน์ที่จะทำให้การพูดคุยระหว่างคนไข้กับแพทย์ถูกถอดวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นหรือด้าน Customer Service สำหรับโรงพยาบาลเป็นต้น
โดยโปรเจกต์ด้านเทคโนโลยีการแพทย์ที่กล่าวไปข้างต้นดูมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะในปี 2019 ทั้ง Microsoft และ Nuance เคยทำโปรเจกต์ Cloud HealthCare ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีสำหรับการพบแพทย์ Online ผ่านการใช้งาน ChatBot ร่วมกันมาแล้วซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีพอสมควร
ในเมื่อเคยทำงานร่วมกันมาขนาดนี้มันก็คงไม่แปลกเลยที่ Microsoft จะเห็นแววการเติบโตที่น่าสนใจของ Nuance จนทำให้เป็นที่มาของข่าวลือการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ แต่ถ้าใครที่ติดตามข่าวสารของ Microsoft เป็นประจำจะพบว่าเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Microsoft ก็ตกเป็นข่าวว่ากำลังจะเข้าซื้อกิจการของ Discord แอปพลิเคชันขวัญใจเกมเมอร์มาแล้วด้วย แต่ถึงตอนนี้ผ่านมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ข่าวการซื้อกิจการ Discord ก็ยังคงนิ่งอยู่
ซึ่งตราบใดที่ทาง Microsoft และทาง Nuance ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางหน้า Official Website ก็ยังไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าการซื้อกิจการครั้งนี้จะเป็นความจริง (เหมือนที่ปล่อยข่าวจะฮุบ Discord)
สรุปทั้งหมด
ถึงคราวนี้เชื่อได้เลยว่าในปีนี้ Microsoft คงต้องเดินเกมสร้างการเติบโตอย่างหนักให้สมกับเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลก ซึ่งข่าวลือทั้งการซื้อ Discord ที่ปล่อยออกมาเมื่อเดือนที่แล้วรวมถึงประเด็นร้อนอย่างข่าวการซื้อกิจการของ Nuance น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในปีนี้ Microsoft เอาจริงแค่ไหน
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ ที่กำลังเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเป็นอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เชื่อว่าโรคระบาดครั้งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เข้าสู่ยุคใหม่ในอนาคตอันใกล้
ซึ่งถ้าดีลระหว่าง Microsoft กับ Nuance เกิดขึ้นจริง ก็คงเป็นข่าวดีของวงการเทคโนโลยีการแพทย์และสาวก Microsoft ทุกคนที่จะได้เห็นเทคโนโลยีอัจฉริยะใหม่ ๆ เกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Microsoft แต่ดีลนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เราก็ยังต้องติดตามกันต่อไป ไม่เกินสิ้นเดือนนี้เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุปแน่นอน