แค่วันแรกของเดือนมีนาคมก็เริ่มด้วยข่าวการแข่งขันของตลาด Social Media กันเลยหลังจากที่ Twitter ได้ปล่อยเวอร์ชันทดลองของฟีเจอร์ตัวใหม่ล่าสุด “Spaces” ฟีเจอร์สำหรับการสนทนาด้วยเสียงที่มีความคล้ายกับแอปพลิเคชันที่กำลังมาแรงอย่าง Clubhouse
โดย Clubhouse นั้นในช่วงเดือนที่แล้ว คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธถึงความนิยมของแอปพลิเคชันนี้แม้จะใช้งานได้แค่บนระบบปฏิบัติการ iOS แต่ด้วยจุดเด่นของการใช้งานที่ทำให้เราสามารถเลือกเข้าห้องสนใจ แล้วพูดคุย, ฟังเนื้อหานั้น ๆ จากผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง ซึ่งถือเป็นรูปแบบการใช้งานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนแอปพลิเคชันไหน ทำให้ Clubhouse ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว
ไม่เพียงแค่ความนิยมในด้านการใช้งานเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงมูลค่าของธุรกิจของ Clubhouse ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ยูนิคอร์นน้องใหม่” โดยใช้เวลาเพียงแค่ 8 เดือนเท่านั้นในการทำให้มูลค่าของธุรกิจทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์ (ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์)
และด้วยความร้อนแรงนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แอปพลิเคชัน Social Media อื่น ๆ ถึงกับอยู่ไม่นิ่งต้องหาทางมาสกัดความร้อนแรงของ Clubhouse เริ่มด้วย Twitter กับการปล่อยฟีเจอร์ Spaces ต้อนรับเดือนมีนาคมนี้เลย
แต่ฟีเจอร์ Spaces ของ Twitter จะมีรายละเอียดและการใช้งานที่แตกต่างจาก Clubhouse หรือไม่แล้วฟีเจอร์ Spaces จะเข้ามาสร้างการแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหน บทความนี้มีคำตอบให้คุณ
Spaces คืออะไร? รู้จักฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดของ Twitter
Spaces คือฟีเจอร์ใหม่ของ Twitter โดยลักษณะการใช้งานจะเป็นการสนทนาด้วยเสียงแต่เพียงอย่างเดียว (Live Audio) ซึ่งต้องบอกว่ามีความคล้ายคลึงกับแอปพลิเคชัน Clubhouse พอสมควร กล่าวคือผู้ที่จะเริ่มต้นใช้งานฟีเจอร์นี้จะต้องมีการสร้างห้องสำหรับการสนทนาก่อน โดนผู้ใช้งานสามารถเลือกตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้ว่าจะตั้งค่าห้องนี้เป็นสาธารณะ (ใครกดเข้ามาฟังก็ได้) หรือแบบ “ส่วนตัว”ที่ต้องส่งคำเชิญให้ผู้เข้าร่วมการสนทนาก่อน ถึงจะได้รับสิทธิ์ในการพูดคุยในห้อง
โดยเมื่อมีการสร้างห้องสนทนาแบบสาธารณะ ก็จะมีสัญลักษณ์แสดงบริเวณด้านบนสุดของแอปพลิเคชัน Twitter หรือตรงส่วนแสดงผลของฟีเจอร์ Fleet (Story ของ Twitter) เพื่อทำให้คนอื่นหรือผู้ติดตามรู้ว่าคุณกำลังมีการสนทนาบน Spaces อยู่ สามารถกดเข้ามาร่วมพูดคุย, ฟังได้ทันที
ต้องบอกว่าสำหรับฟีเจอร์ Spaces นั้นทาง Twitter ได้เริ่มทำการคิดค้นและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นช่วงแรกที่ Clubhouse กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา Twitter ก็ได้เดินหน้าพัฒนาฟีเจอร์นี้อย่างเต็มกำลัง
เริ่มต้นด้วยการเข้าซื้อกิจการของ Breaker แอปพลิเคชันสัญชาติญี่ปุ่นสำหรับฟัง Podcast โดยเฉพาะ ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนชอบฟัง Podcast ต่างประเทศ อีกทั้งดีลการซื้อกิจการครั้งนี้ของ Twitter เป็นการซื้อขาดทำให้แอป Breaker ต้องปิดตัวลงทันทีและทีมงานทั้งหมดของ Breaker กลายเป็นหนึ่งในทีมงานของ Twitter ไปโดยปริยาย (ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของดีลนี้)
โดยดีลนี้ถือเป็นการซื้อกิจการติด ๆ กันในรอบ 2 เดือนของ Twitter หลังจากที่เดือนธันวาคม 2020 Twitter ทุ่มซื้อกิจการ Squad แอปวิดีโอคอลชื่อดังไปหมาด ๆ
ซึ่งทาง Twitter ก็ได้ออกมาเปิดเผยแบบไม่มีกั๊กว่าสาเหตุที่พวกเขาซื้อ Breaker ไปก็เพราะต้องการนำกำลังและทรัพยากรของ Breaker ไปพัฒนาฟีเจอร์ Spaces ที่พวกเขากำลังจะปล่อยออกมาสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการได้ Breaker เข้ามาเป็นอีกหนึ่งขุมกำลังถือว่าสร้างความได้เปรียบให้แก่ Twitter ไม่น้อย
เนื่องจากในฟีเจอร์ Spaces ของ Twitter นี้จะอนุญาตให้ผู้ที่สร้างห้องสามารถบันทึกข้อความเสียงที่คุยกันเก็บเอาไว้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าสามารถดาวน์โหลดแล้วนำไปเผยแพร่ต่อในช่องทางอื่น เพื่อให้ผู้ที่พลาดการรับฟังแบบสด เข้ามาฟังย้อนหลังได้ โดยเสียงที่คุยกันในห้องสนทนาหากไม่ดาวน์โหลดเก็บไว้ก็จะมีอายุอยู่ในแพลตฟอร์ม 30 วัน
ซึ่งถือว่า Spaces นำเอารูปแบบการใช้งานที่เป็นจุดอ่อนของ Clubhouse เอามาพัฒนาในแพลตฟอร์มตัวเองได้อย่างแนบเนียน และนอกจากนั้นผู้ฟังคนอื่น ๆ ในห้องยังสามารถส่ง Emoji เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความรู้สึกที่มีต่อบทสนทนานั้น ๆ ได้อีกด้วย (เพราะ Clubhouse ฟังย้อนหลังไม่ได้ จบแล้วจบเลย+ส่งข้อความ, Emoji ไม่ได้)
ทำไม Twitter ถึงต้องพัฒนา Spaces เพื่อมาแข่งขันกับ Clubhouse ในตลาด Live Audio
ในการพัฒนาฟีเจอร์ Spaces ของ Twitter ในครั้งนี้ก็สร้างความแปลกใจให้กับผู้ที่ติดตามข่าวไม่น้อยครับ จริงอยู่ที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Clubhouse ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วโลก ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทปัจจุบันของ Clubhouse มีมูลค่ามากกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์เข้าไปแล้วโดยใช้ระยะเวลาแค่ 8 เดือนเท่านั้น
ทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าตลาดของ Live Audio ในช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่มีการเข้ามาของ Clubhouse ตลาดนี้มีแววที่จะเติบโตได้มากกว่านี้แน่นอนในอนาคต มันก็คงไม่แปลกที่ Social Media เจ้าอื่น ๆ อยากที่จะสร้างฟีเจอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Live Audio เกิดขึ้นมา
แต่เพราะสาเหตุอะไรกันที่ Twitter ถึงออกโรงคิดค้นและพัฒนาฟีเจอร์ด้าน Live Audio ขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับ Clubhouse เป็นเจ้าแรก
ซึ่งเรื่องนี้เองทาง Twitter ก็ได้ออกมาอธิบายไว้แล้วถึงคอนเซปต์และจุดประสงค์ของการสร้างฟีเจอร์ Spaces ว่า “พวกเขาได้รวบรวมเอาการใช้ของ Live Audio ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง มารวมกับแพลตฟอร์มของ Twitter
ผู้ใช้งานสามารถกดเข้าไปฟังการสนทนาของคนที่เราติดตามได้ เมื่อพวกเขาได้สร้างห้องสำหรับการสนทนาเกิดขึ้น ส่วนสาเหตุที่ Twitter ต้องสร้างฟีเจอร์นี้ขึ้นมานั้นก็เพราะว่าการสื่อสารแบบเดิมของ Twitter (หรือการ Tweet ข้อความ) ผู้ใช้งานต้องสื่อสารข้อความโดยจำกัดจำนวนเพียงแค่ 280 ตัวอักษรบางทีมันก็อาจจะไม่พอกับการสื่อสารที่คุณต้องการ
ดังนั้นเราเลยคิดค้นและพัฒนา Spaces ให้กลายเป็นฟีเจอร์การสนทนารูปแบบใหม่ที่ทำให้ผู้สนทนาทุกคน รวมถึงผู้ฟังมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดียิ่งขึ้น”
ซึ่งอย่างที่ผมได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้วว่า Spaces จะมีการนำเอาจุดการใช้งานที่ “Clubhouse ไม่มี” มาใส่ไว้ในระบบการใช้งานของตัวเองตั้งแต่เรื่องการบันทึกเสียง, การส่ง Emoji ก็ยังอนุญาตให้มีผู้ร่วมพูด (Speaker) พร้อมกันได้ถึง 10 คน/ห้อง และไม่จำกัดจำนวนผู้ฟัง ซึ่งเรื่องนี้เองก็เป็นจุดที่ Clubhouse ยังไม่สามารถทำได้ (ตอนนี้ Clubhouse จำกัดผู้ฟังแค่ 8,000 คนต่อ/ห้อง)
โดยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาฟีเจอร์ Spaces ของ Twitter ก็ได้เริ่มออกเวอร์ชันทดลอง (Beta) ให้ผู้ใช้งานในระบบปฏิบัติการ iOS ได้ทดลองใช้งานกันแล้วในกลุ่มประเทศตัวอย่าง ได้แก่อินเดีย บราซิล และญี่ปุ่นได้ทดลองใช้งานกันแล้ว ซึ่งการทดลองของเวอร์ชัน iOS ช่วงแรกก็ยังไม่มีข้อผิดพลาดอะไร
แต่ล่าสุดเวอร์ชัน iOS ยังปล่อยให้ทดลองกันไม่ถึงสัปดาห์ Twitter ก็ใจร้อนสุด ๆ ปล่อย Spaces เวอร์ชัน Android ออกมาให้ทดลองใช้กันต่อเลย โดยทาง Twitter หวังว่าจะใช้ฟีเจอร์ Spaces นี้สร้างประสบการณ์แรกของ Live Audio บน Android หลังจากที่ Clubhouse ยังไม่สามารถให้บริการในระบบปฏิบัติการ Android ได้
ซึ่งจริง ๆ แล้วฟีเจอร์ Spaces ในเวอร์ชัน Android ทาง Twitter ก็ได้เริ่มพัฒนาฟีเจอร์นี้ในเวอร์ชันทดลองแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนมกรา พร้อมกับเวอร์ชัน iOS แต่ก็ปล่อยออกมาให้ผู้ใช้งานในประเทศกลุ่มทดลองได้ใช้งานกันก็ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง
สรุปทั้งหมด
ถึงตรงนี้เราต้องมาดูกันต่อแล้วครับว่าในการปล่อยเวอร์ชันทดลองของฟีเจอร์ Spaces นั้นทาง Twitter จะเจอปัญหาในการใช้งานใด ๆ เพิ่มเติมหรือเปล่า ซึ่งถ้าเจอปัญหาก็ต้องยืดระยะเวลาในการปล่อยฟีเจอร์ Spaces แบบเต็ม ๆ ออกไปก่อน แต่ก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าในขณะที่กำลังแก้ปัญหานั้นจะมีคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ อาศัยจังหวะชุลมุนแซงหน้าไปหรือเปล่า
โดยเฉพาะ Facebook ที่ทาง CEO อย่าง Mark Zuckgerberg ออกมายืนยันแล้วว่าในตอนนี้ Facebook กำลังพัฒนาฟีเจอร์ใหม่สำหรับการ Live Audio เพื่อมาแข่งขันกับ Clubhouse ด้วยอีกหนึ่งเจ้า ทำให้งานนี้ Twitter ช้าไม่ได้เด็ดขาดหากต้องการแย่งส่วนแบ่งตลาด Live Audio จาก Clubhouse
อย่างไรก็ตามสำหรับฟีเจอร์ Spaces ของ Twitter นั้นยังไม่มีคำยืนยันออกมาแน่ชัดว่าจะปล่อยเวอร์ชันทดลอง (หรือเวอร์ชันเต็ม) มาให้ผู้ใช้งานในไทยได้ใช้งานกันเมื่อไร เรื่องนี้เราคงต้องติดตามต่อกันไปยาว ๆ