เรียกได้ว่ายังคงได้รับความนิยม และยังพัฒนาฟีเจอร์ในแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องสำหรับ Zoom เครื่องมือสื่อสารรูปแบบ Video Conference ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากรูปแบบของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของ Remote Working จากสถานการณ์โควิด-19
ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ Zoom เริ่มถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นนั้น ก็มีกระแสตอบรับที่ดีและไม่ดีบ้างในเรื่องของประสบการณ์การใช้งาน แต่สุดท้าย Zoom ก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขานำปัญหาจากประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีของผู้ใช้มาปรับปรุงพัฒนาเป็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ อยู่ตลอด
โดยในเดือนธันวาคมนี้ Zoom ก็ได้ทำการอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ ๆ หลายรายการ ที่พัฒนาจากปัญหาของผู้ใช้งานจริง ๆ ที่จะเข้ามาทำให้การใช้งาน Zoom ในปี 2022 ที่จะถึงนี้ ทำได้อย่างราบรื่นและได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่จะมีอะไรบ้าง เชิญติดตามต่อได้ในบทความ
Zoom เพิ่มฟีเจอร์ให้ผู้ร่วมประชุมควบคุม Slide ได้, ระบบตอบคำถามและอื่น ๆ อีกเพียบ!
ล่าสุด Zoom ได้ทำการประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ เข้ามาในแพลตฟอร์ม ที่ต้องบอกว่าสำหรับใครที่ใช้งาน Zoom เป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารด้วยการ Video Conference กับทีมหรือลูกค้าอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว จะรู้สึกได้เลยว่า ฟีเจอร์ที่ Zoom เพิ่มเข้ามาในครั้งนี้นั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาจากการใช้งานจริง บนแพลตฟอร์มของ Zoom เอง
ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดของฟีเจอร์ใหม่ที่ Zoom เพิ่มเข้ามาในครั้งนี้ มีด้วยกันดังนี้
Enhanced Slide Control : อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมการประชุมควบคุมสไลด์ได้
หมดปัญหาที่คุณจะต้องคอยบอกให้คนที่แชร์งานในการประชุมครั้งนั้นกด เลื่อนสไลด์ต่อไป เพราะฟีเจอร์อย่าง Enhanced slide control จะช่วยให้ผู้ที่แชร์สไลด์งานสามารถเลือกผู้ร่วมประชุม ให้สามารถควบคุมสไลด์งานที่กำลัง Present อยู่ได้เลย ในกรณีที่ผู้แชร์สไลด์งาน ไม่ได้เป็นผู้นำเสนอ ช่วยทำให้ประสบการณ์การนำเสนองานผ่านแพลตฟอร์มของ Zoom มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Polling Enhancements : ระบบการตอบคำถามระหว่างการประชุม
สำหรับการประชุมหรือการเรียนออนไลน์ ฟีเจอร์นี้ถือว่าตอบโจทย์สุด ๆ เพราะฟีเจอร์ Polling Enhancements จะอนุญาตให้ Host ของการประชุมสามารถสร้างคำถามเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันตอบ ระหว่างมีการประชุม โดยทาง Zoom ได้ทำการเพิ่มตัวเลือกใหม่ ในการตั้งคำถาม เช่น เอาแค่คำตอบเดียวของผู้ที่ตอบได้เร็วที่สุด, กำหนดคำตอบที่ต้องตรงกัน, การเรียงลำดับคำตอบ, การให้กรอกข้อมูลลงในช่องว่าง เพื่อเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้อื่น ๆ ระหว่างในการประชุม หมดปัญหาถามคำถามแล้วผู้เข้าร่วมประชุมแย่งกันตอบ หรือ Dead Air ระหว่างการประชุม
Additional Watermark Settings : กำหนดและปรับแต่งขนาดลายน้ำในการประชุม
อย่างที่ทราบกันว่าในการใช้งาน Zoom อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เป็นจุดเด่นคือในระหว่างการนำเสนองานบนแพลตฟอร์มนั้น คุณสามารถใส่ Watermark หรือลายน้ำโลโก้ของแบรนด์, บริษัทคุณได้ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำเสนองาน ป้องกันการถูก Copy การนำเสนอไปใช้จากผู้ไม่หวังดี
ซึ่งแม้จะเป็นฟีเจอร์ที่ดีต่อการใช้งานแต่ Zoom ก็ได้รับฟีดแบคจากผู้ใช้งานมาว่า ลายน้ำบางครั้งมันใหญ่ไป (Auto-Size) ทำให้บดบังเนื้อหาในสไลด์ Present งาน ซึ่ง Zoom ก็รับทราบถึงปัญหานี้และสร้างเป็นฟีเจอร์ Additional Watermark Settings ขึ้นมาซึ่งจะช่วยให้คุณ สามารถกำหนดขนาดลายน้ำ หรือตำแหน่งการจัดวางลายน้ำในการประชุมได้ เพื่อไม่ให้บดบังคอนเทนต์ในการนำเสนองาน ซึ่งจะต้องเข้าไปตั้งค่าผ่านเว็บก่อนเริ่มการประชุม
Attendance Status : โชว์สถานะการเข้าร่วมประชุม
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ Zoom สร้างขึ้นมาจากปัญหาของผู้ใช้งานจริง ที่หากคุณเป็น Host ของการประชุมหรือเป็นคน Lead การประชุมครั้งนั้น น่าจะต้องเจอปัญหาที่ต้องเช็กว่าสมาชิกคนอื่น ๆ กดเข้ามาใน Meeting ครั้งนี้ครบแล้วหรือยัง ยิ่งถ้ามีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเยอะ ก็ต้องเสียเวลาในการตรวจเช็กหรือถามว่า ทุกคนมาครบกันแล้วหรือยัง?
ซึ่งฟีเจอร์ Attendance Status จะช่วยให้ผู้จัดการประชุมสามารถสร้างนัดการประชุมเชื่อมกับ Google Calendar และ Outlook เพื่อดูว่าผู้เข้าร่วมคนไหนที่ตอบรับหรือปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วมการประชุม และเมื่อการประชุมเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังเช็กได้ด้วยว่าพวกเขากดเข้าร่วมการประชุม มาแล้วหรือยัง โดยฟีเจอร์นี้ได้ปล่อยให้ทดลองใช้งานในเวอร์ชัน Beta ก่อนเท่านั้น (กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา)
แถมให้ด้วย! Zoom กับการเพิ่มระบบอัปเดตอัตโนมัติทั้ง Windows และ MacOS
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องปกติสำหรับซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ (หรือซอฟต์แวร์อื่น ๆ มีมานานแล้ว) แต่สำหรับผู้ใช้งาน Zoom นี่คือข่าวดีที่สุดมากกว่าการอัปเดตฟีเจอร์ด้านบนก็ว่าได้ เพราะ Zoom ได้ให้ของแถมคือการเพิ่มระบบอัปเดตอัตโนมัติ สำหรับการใช้งานทั้ง Windows และ MacOS
ต้องอธิบายก่อนว่า ปกติแล้ว Zoom จะไม่มีฟีเจอร์การอัปเดตอัตโนมัติ หากมีการอัปเดตเวอร์ชันใหม่ ผู้ใช้งานก็ต้องมากดอัปเดตซอฟต์แวร์ทุกครั้ง ซึ่งมันค่อนข้างขัดกับพฤติกรรมการใช้งานในช่วงเร่งด่วน เช่นต้องรีบกดเข้าประชุมด่วน หรือมีงานที่ติดค้างอยู่ ทำให้ไม่ได้ไปกดอัปเดตซอฟต์แวร์
ซึ่งจุดนี้คือปัญหาใหญ่ของผู้ใช้งาน Zoom เพราะทำให้ผู้ใช้งานบางคนไม่ได้รับประสบการณ์การใช้งานด้วยฟีเจอร์ใหม่ ๆ เสี่ยงต่อการถูกแฮคข้อมูลหรือเกิด Bug เล็กน้อย ๆ ในการใช้งาน จนเกิดเป็นฟีดแบคใหญ่ส่งไปหา Zoom ที่ทำให้พวกเขารู้สึกได้ว่าจะต้องรีบแก้ไข โดยการเพิ่มระบบการอัปเดตอัตโนมัติมาให้ด้วย เพื่อทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด (สำหรับการอัปเดตให้เข้าไปที่ Zoom แล้วกด Settings > General และเลือก “Automatically keep my Zoom up to date.” เพื่อเปิดการอัปเดตอัตโนมัติ)
สรุปทั้งหมด
การเพิ่มฟีเจอร์การใช้งานของ Zoom ส่งท้ายปีครั้งนี้นับว่าเป็นการอัปเดตที่ทุกฟีเจอร์ เกิดขึ้นจากปัญหาของการใช้งานบนแพลตฟอร์ม จากผู้ใช้จริง ๆ ซึ่งบางปัญหาก็ดูจะเป็นเพียงแค่ปัญหาเล็กน้อยระหว่างการประชุมด้วยซ้ำ เช่น ฟีเจอร์ควบคุมการแชร์สไลด์ แต่ Zoom ก็ใส่ใจและเพิ่มฟีเจอร์ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งถือเป็นบทเรียนของใครที่กำลังสร้างพัฒนาธุรกิจประเภท ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ต้องเรียนรู้ถึงบทเรียนสำคัญของ การเพิ่มฟีเจอร์เข้ามาในแพลตฟอร์มนั้น ไม่ใช่เพียงเพิ่มเพราะต้องการเพิ่มให้ได้มากที่สุด จนทำให้ Core Value ของแพลตฟอร์มหายไป
แต่ต้องเป็นการเพิ่มฟีเจอร์ที่พัฒนามาจากปัญหาจากการใช้งานของผู้ใช้จริง ๆ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จและได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง