อยากเริ่มต้นแต่ไม่รู้จะตั้งเป้าหมายอะไร?
ในช่วงเริ่มต้นสิ่งที่ยากที่สุดและผมเชื่อว่าทุกคนเป็น ผมเองก็เป็น คือ เราจะตั้งเป้าอะไร? เพราะเราไม่เคยมีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก ๆ มาก่อน ความรู้สึกมันก็ออกจะโล่ง ๆ ไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อดี และเป้าหมายที่เราจะทำมันต้องยิ่งใหญ่แค่ไหนหรือเล็ก ๆ ก่อนดี
นี่คือช่วงที่เราต้องให้เวลากับตัวเองมากที่สุด คิดและทบทวนกับตัวเองว่า ในชีวิตของเรา เราต้องการไปที่จุดไหน?
มีบทสนทนาตอนหนึ่งจากหนังสือเรื่อง Alice in Wonderland ที่ผมชอบมากมันเป็นตอนที่อลิซหยุดเดินเพื่อถามทางจากเจ้าแมวเชสเชียร์
แมวเชสเชียร์: “เธออยากไปไหนหละ”
อลิซ: “ไม่รู้สิ..”
แมวเชสเชียร์: “ถ้างั้นเธอจะเดินไปทางไหนก็เหมือนกัน”
และจากหนังสือเรื่อง Train Your Brain For Success
การตั้งเป้าหมายคือ การบอกตัวเองว่ากำลังจะไปที่ไหน เพื่อให้ทุก ๆ วันของเราเหมือนการเดินทางที่มีความหมาย
ใครที่กำลังหมดไฟหรือ Passion นี่คือหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ครับ
7 เทคนิคสำหรับการตั้งเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ในปี 2024
1. ถ้ายังไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าอะไร ให้เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวก่อน
สิ่งแรกให้คุณเริ่มลิสต์ก่อนว่าที่ผ่านมา เรามีประสบการณ์กับสิ่งใดบ้างทั้งดีและไม่ดี โดยเขียนให้ได้มากที่สุด คุณอาจเลือกหัวข้อเหล่านี้มาลิสต์ได้ครับ
- สิ่งที่เราทำได้ดี/ไม่ดี (เคยได้รางวัลหรือคำชมจากเรื่องไหนบ้าง หรือเคยมีใครตำหนิเราในจุดไหนบ้าง)
- เราใช้เวลาส่วนมากไปกับอะไร?
- อะไรบ้างคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต
หลังจากลิสต์คำตอบของเราจากคำถามพวกนี้มาเยอะ ๆ แล้ว ให้คุณมาดูตัวเองต่อว่า จริง ๆ แล้วคุณเป็นคนประเภทไหน?
- คนที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในอดีต คือ คนที่ตัดสินใจจากสิ่งที่เราเคยทำแล้วชอบ เรามีประสบการณ์ที่ดีกับสิ่งนั้น ๆ เราจึงเลือกที่จะทำต่อ (ตั้งเป้าจากความสุข)
- คนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ คนที่ตัดสินใจว่าจะทำอะไร จากสิ่งที่เห็นแล้วว่า มันจะมีความสำคัญกับตัวเราเองในอนาคต หรือเป็นความใฝ่ฝันของเรา (ตั้งเป้าจากความสำคัญ)
ตัวผมเองเป็นคนประเภทหลัง คือ ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นน้ำหนักของสิ่งที่ผมใช้ในการตัดสินใจจึงมาจาก ‘อะไรบ้างที่เราให้ความสำคัญในชีวิต’ และ ‘อะไรคือความใฝ่ฝันที่เราต้องการไปให้ถึง’ ผมจึงเลือกเข้ามาสู่ในวงการของ Technology เริ่มจาก 0 คือไม่มีพื้นฐานใด ๆ ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา และทดลองทำทันที ไลฟ์สไตล์จึงเป็นการทำงานตลอดเวลา
ข้อควรระวัง: การเลือกเป้าหมายที่ต้องการไปนั้นจะส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปด้วย และถ้าเลือกแล้วให้มุ่งมั่นกับสิ่งนั้นจริง ๆ การเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ จะทำให้เราไปไม่ถึงไหนครับ
จากข้อนี้นั้นสิ่งที่คุณต้องทำการบ้านให้ดีที่สุด คือ การรู้จักตัวเอง และเริ่มต้นร่างจุดหมายการเดินของตัวเองได้แล้วครับ
สิ่งที่คุณต้องทำได้หลังจบข้อ 1
- รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และมีจุดหมายที่ไหน
- เขียนออกมาใส่กระดาษเป็นเป้าหมายอย่างน้อย 3-5 ข้อต่อช่วงเวลา โดยแบ่งออกเป็น ระยะสั้น (1 ปี) ระยะกลาง (3 ปี) ระยะยาว (10 ปี)
- อย่าลืมปรับให้เป็น SMART Goal
2. เป้าหมายของชีวิตนั้นมีความหลากหลาย
การกำหนดเป้าหมายส่วนตัวนั้น ถ้าเราไม่แบ่งเป็นหมวดหมู่ให้ดี เราจะพลาดสิ่งสำคัญในชีวิตหลาย ๆอย่างไป เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวังของการตั้งเป้าหมาย มันต้องครอบคลุมรอบด้าน เพื่อไม่ให้เวลาย้อนกลับมาคิดแล้วเราเสียใจภายหลัง โดยจะแบ่งออกเป็นหลัก ๆ ได้ดังนี้
2.1 การพัฒนาตัวเอง
คือการขยายขีดจำกัดความสามารถของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้เราเป็นคนที่เก่งกว่าเราคนเมื่อวาน ในส่วนนี้นั้นเราจะต้องเข้มงวดกับตัวเองให้มากที่สุด และต้องบอกว่าเราทำสิ่งนี้ไม่ใช่เพื่ออวดคนอื่น แต่เราทำเพื่ออนาคตของเราเองมากกว่า
ข้อควรระวัง: ถ้าเราทำเพื่ออวดคนอื่น คือ การทำอะไรนิดหน่อยแแล้วเอาไปโพสต์บนโซเชียลแบบเกินจริง เพื่อให้คนอื่นมองเราในแง่ดี ท้ายที่สุดแล้วถ้าเราทำมาก ๆ เข้า เราจะกลายเป็นคนหลอกตัวเองได้ครับ
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายในหมวดนี้
- เราจะอ่านหนังสือให้ได้อย่างน้อย 3 เล่มต่อเดือนตลอดปี 2024 โดยทุกเล่มจะต้องมีจำนวนหน้าไม่น้อยกว่า 200 หน้า และเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ
- เราจะนั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ 20 นาที มากกว่า 80% ของจำนวนวันทั้งหมดในปี 2024
2.2 ด้านการงาน
คือ เป้าหมายเพื่อความก้าวหน้าในด้านการงาน การเติบโตในด้านนี้นั้นหลัก ๆ แล้วมาจากการทำงานฉลาด+หนัก และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน สิ่งนี้จะช่วยให้ทุก ๆ วันของการทำงานมีความหมายมากขึ้นแน่นอน
โดยการเริ่มต้นนั้น สิ่งแรกที่คุณต้องตัดทิ้งออกจากความคิดก่อนเลยคือ “ก็ได้เงินเท่านี้ เราจะทำแค่นี้” ให้เปลี่ยนเป็น “เพราะเราทำได้แค่นี้ เงินเดือนเราจึงอยู่แค่นี้” และเริ่มมองว่า อะไรบ้างที่เราสามารถทำเพิ่มได้ เพื่อให้งานของเราออกมาดียิ่งขึ้น หรือถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ให้ทำ Side Project หรืองานเสริมหลังจากเลิกงานแล้ว
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายในหมวดนี้
- เราจะเริ่มต้นเรียนรู้การตลาดออนไลน์และช่วยแผนกการตลาดเขียนคอนเทนต์อย่างน้อย 2 บทความต่อเดือน เพื่อให้ยอดผู้ติดตามของบริษัทเพิ่มขึ้น 10%
- จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด 3 ตัว และขยายทีมเพิ่มอีก 20 คน เพื่อทำให้บริษัทมียอดขาย 100 ล้านบาท ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2024
2.3 ด้านความสัมพันธ์
สิ่งที่คนส่วนใหญ่เวลาเราให้ความสำคัญกับเป้าหมายทั้งต่อตัวเองและการงานมาก ๆ มักจะลืมไปคือเรื่องของความสำคัญของความสัมพันธ์รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, แฟน หรือเพื่อน ทำให้ชีวิตเราขาดสีสัน ความอบอุ่น และความสุขไป
เพราะความสุขส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เราจึงต้องบริหารสิ่งนี้ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายในหมวดนี้
- กินข้าวพร้อมหน้ากับครอบครัวอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และพาครอบครัวไปเที่ยวอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
- ไม่ทะเลาะกับใครเลยตลอดปี 2023 ด้วยการปรับนิสัยให้ใจเย็น มีสติและคิดก่อนพูด
2.4 ด้านสุขภาพ
หากไร้ซึ่งสุขภาพที่แข็งแรง ชีวิตของเรานั้นจะดีไม่ได้เลย ตอนเราสบายดีทุกอย่างมันก็ดีไปหมด แต่ถ้าเมื่อไรเราป่วยหนัก (ถ้าใครเคยคงเข้าใจดี) โลกทั้งใบนั้นหม่นหมองลงไปทันที ดังนั้นรักษาสุขภาพให้ดีตั้งแต่วันนี้ดีที่สุดครับ
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายในหมวดนี้
- ตรวจสุขภาพประจำปี โดยตรวจแผนที่ละเอียดที่สุด พร้อมทำประกันชีวิตและสุขภาพให้ครบทั้งหมด
- ควบคุมการกินอาหาร งดของมัน ทอด และหวาน มากกว่า 80% ของจำนวนการกินทั้งหมดต่อปี
2.5 ด้านการเงิน
คนจะร่ำรวยมาจากการวางแผนการเงินที่ดี เปรียบเหมือนคนหุ่นดีที่ต้องมีการวางแผนและออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องจนท้ายที่สุดมีหุ่นที่น่าดึงดูด การเงินก็เช่นเดียวกัน เราจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก ๆ เพื่อให้เรามีเงินได้อย่างที่ต้องการ
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายในหมวดนี้
- ออมเงิน 10% ของเงินเดือนทุกเดือน ออมทันทีที่เงินเดือนเข้าบัญชี
- นำเงิน 10% ต่อปีไปลงทุนเพื่อให้งอกเงยอย่างน้อย 7% ต่อปี
3. อย่าลืมให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคุณ
เมื่อไรที่เราให้ความสำคัญกับสิ่งไหน สิ่งนั้นจะเริ่มปรากฏชัดขึ้นมาในชีวิตของคุณ ตัวอย่างเช่น คุณอยากได้รถยี่ห้อหนึ่ง เพราะคิดว่ารถคันนี้สวยมากและไม่ค่อยมีใครขับ แต่เมื่อหลังจากที่คุณให้ความสำคัญกับรถรุ่นนี้ คุณจะเริ่มเห็นรถยี่ห้อนี้เต็มไปหมดตามท้องถนน
เช่นเดียวกับอารมณ์ความรู้สึกของเรา ถ้าเราคอยจับตาดูและให้ความสำคัญกับความรู้สึกดี ๆ จิตใจเราก็จะพยายามจับความรู้สึกนั้น ๆให้เกิดขึ้นมากที่สุด
ท้าให้คุณลอง
ลองจดบันทึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของคุณในวันต่าง ๆ ดู โดยให้สรุปว่าวันนั้น อารมณ์ความรู้สึกส่วนใหญ่ที่คุณจำได้ คืออะไร และวาดหน้าตาความรู้สึกนั้นลงบนปฏิทินของคุณ
เพราะเมื่อใดที่คุณรู้สึกแย่หรือเสียใจ คุณจะรู้ได้เลยว่า วันพรุ่งนี้ยังสามารถเริ่มใหม่ให้ความสุขได้ เพราะมันเป็นเพียงแค่ 1 วันที่ผ่านไป
การนำความรู้สึกในแต่ละวันมารวมกับการตั้งเป้าหมายนั้น จะช่วยให้คุณมีกำลังใจในการทำเป้าหมายนั้นเกิดขึ้นให้ได้
4. แบ่งเป้าหมายให้เป็นชิ้นเล็ก
เป้าหมายนั้นเปรียบเหมือนเค้กที่เราต้องแบ่งให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้กินง่าย
เป้าหมายที่ดีนั้นต้องใหญ่มากพอให้เกิดแรงจูงใจและต้องทำได้จริง แต่บางครั้งเวลามันใหญ่มาก ๆ แค่เรานึกถึงก็เหนื่อยแล้ว มันทำให้เราหมดแรงและเลือกที่จะผลัดมันออกไปก่อน ซึ่งการผัดวันประกันพรุ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย
สิ่งที่เราควรทำคือการหั่นเป้าหมายที่ใหญ่นั้นให้เล็กลง เล็กพอที่จะทำให้เรารู้สึกว่าทำได้ไม่ยากนัก โดยการหั่นนั้นแบ่งออกเป็น 2 แกนด้วยกัน
4.1 เริ่มจากหั่นงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก
สมมติว่าในปีนี้เราต้องการพัฒนาตัวเองให้อ่านหนังสือให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 3 เล่ม เราก็เลือกหั่นออกเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ทำได้ทุกวัน เช่น อ่านหนังสือช่วงเช้าตอนเข้าห้องน้ำ 30 หน้า มันจะช่วยให้เรารู้สึกว่า ไม่ยากเกินไป
4.2 หั่นแบ่งเป็นช่วงเวลา
การตั้งเป้าหมายสำหรับตัวเองนั้น เราจะแบ่งออกเป็น ดังนี้
ระยะยาว 10 ปี ในการวางระดับนี้นั้นจะเป็นภาพไกล วางแบบหลวม ๆ เช่น ต้องการเป็นนักธุรกิจระดับพันล้านบาท ที่มีธุรกิจอยู่ในเอเชีย อเมริกา และยุโรป
ระยะกลาง 5 ปี จะเป็นอะไรที่จับต้องได้ขึ้นมาหน่อย เช่น ต้องการสร้างฐานลูกค้าให้มีจำนวน 30 ล้านคน ภายใน 5 ปี และมียอดคำสั่งซื้อต่อคนไม่ต่ำกว่าคนละ 1,000 บาท
ระยะสั้น 1 ปี จะเป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ทันที และสามารถหั่นออกเป็นขั้นย่อยได้ต่อ
- เป้าหมายไตรมาส (ใน 3 เดือน)
- เป้าหมายรายเดือน
- เป้าหมายรายอาทิตย์ และสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในแต่ละวัน
ยิ่งหั่นออกมาชัดเจนมากเท่าไร เราก็จะยิ่งทำสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม
แนะนำว่า คุณจำเป็นต้องมีสมุดจดบันทึกคู่กายไว้ 1 เล่ม
ในช่วงตอนเริ่มต้นของการจดของผมนั้น สิ่งที่ผมทำพลาดมากเลย ๆ คือ ผมจะมีสมุดติดตัว 1 เล่ม และจดบันทึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนั้นกับชีวิตตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เข้าปั๊มเติมน้ำมัน งีบหลับ หรือการทำอะไรเล็กๆน้อย ๆ จดแบบนั้นไปกว่า 3 เดือน
จนท้ายที่สุดมาคิดขึ้นมาได้ว่าจริง ๆ แล้ว เพียงแค่เราบอกตัวเองได้ว่าวันนั้นเราได้ทำผลลัพธ์กับเป้าหมายนั้นมากขึ้นกว่าเดิม แม้เพียง 1% หรือเปล่า
5. แชร์เป้าหมายกับเพื่อนร่วมทาง
การวางเป้าหมายและเดินทางไปอย่างโดดเดียวนั้น ทำให้คุณล้มเลิกระหว่างทางได้ง่ายมาก ๆ เพราะมีเพียงแค่คุณเท่านั้นที่รู้
ลองเพิ่มพยานเข้าไปในสิ่งที่คุณมุ่งมั่นกำลังทำอยู่สิ ให้เค้าได้เป็นเพื่อนร่วมทางในเป้าหมายของคุณ และคุณก็เป็นเพื่อนร่วมทางในเป้าหมายของเค้าเช่นเดียวกัน
การรวมกลุ่มนี้จะช่วยลดการเลิกทำตามเป้าหมายได้มากเลยทีเดียว และผมเองก็มีกลุ่มนี้ที่เริ่มต้นทำกับเพื่อนสนิทอีก 2 คน
โดยใช้วิธีการสร้างง่าย ๆ ด้วยการใช้ Facebook Group และเขียนเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จในปีนั้น ๆ โพสต์ไปในกลุ่ม และให้เพื่อนช่วยรีวิวว่าเป้าหมายที่เราตั้งนั้น ใหญ่ไปหรือเล็กไป สามารถทำได้จริงไหม หรือมีไอเดียอื่น ๆ เพิ่มเติม
หลังจากนั้นให้ย่อยเป้าหมายรายปี ให้กลายเป็นเป้าหมายรายอาทิตย์และโพสต์ในช่วงเริ่มต้นของอาทิตย์นั้น ๆ ว่าเราจะทำอะไรให้สำเร็จบ้าง และพิมพ์ว่าเรามีเป้าหมายไหนที่เราสำเร็จบ้างในอาทิตย์นั้น ๆ
มันไม่เกี่ยวว่าเราจะทำได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในแต่ละอาทิตย์ครบถ้วนไหม สิ่งสำคัญที่สุดคือการมุ่งมั่นทำตามเป้าหมายนั้นให้เกิดขึ้นในทุก ๆ อาทิตย์พร้อมไปกับเพื่อนของคุณ
6. วินัยคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
เป้าหมายนั้นเป็นเหมือนรถยนต์ ส่วนวินัยนั้นเปรียบดั่งพลังงาน ต่อให้รถยนต์เราสวยแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีพลังงานเข้าไปก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เป้าหมายก็อาจกลายเป็นแค่ความฝันที่ตั้งไว้ให้สวยหรูเท่านั้น
เทคนิคการสร้างวินัยให้เกิดขึ้น
- วินัยเป็นสิ่งตรงข้ามกับอารมณ์ เมื่อไรที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยของเราก็จะลดน้อยลงไปทันที ถ้าเราเข้าใจในเรื่องนี้ก็ต้องพยายามลดอารมณ์ให้มีบทบาทในการตัดสินใจของเราในการทำสิ่งนั้น ๆ ให้น้อยลง เช่น เราต้องการไปวิ่งทุกวัน วันละ 20 นาทื ถ้าเรารู้สึกว่าวันนี้เหนื่อยมากแล้ว ก็เป็นไปได้มากว่าเราจะไม่ได้ไปวิ่ง เราต้องเปลี่ยนให้สิ่งนั้น ๆ เป็นแค่สิ่งที่เราต้องทำ
- เมื่ออารมณ์บั่นทอนเรามาก วันนั้นเราโดนมาหนัก ไม่มีเรี่ยวแรงหรือจิตใจให้ทำ แต่เรามีเป้าหมายที่ต้องทำ ให้เราหั่นสิ่งนั้นให้เล็กลงแต่ไม่เลิกไปเลย เช่น เราต้องไปวิ่งทุกวันวันละ 20 นาที ก็อาจจะลดเหลือ 10 นาที
- นึกภาพเป้าหมายและตัวเราเองที่กำลังบรรลุเป้าหมายนั้นให้มากและบ่อยครั้งที่สุด สิ่งนี้จะทำให้เรามีแรงใจในการลุกขึ้นมา คุณอาจจะปริ้นท์ภาพมาติดในห้องถึงสภาพแวดล้อมตอนคุณสำเร็จแล้วเป็นอย่างไร และอย่าลืมติดภาพของตัวคุณที่กำลังทำสิ่งนั้นด้วย เพราะเป้าหมายจะบรรลุได้ คุณต้องมีความสุขในระหว่างทางด้วย
วินัยนั้นคือสิ่งที่พูดแล้วเหมือนง่าย แต่การทำให้เกิดขึ้นนั้นยากมาก ๆ ถ้าถามว่าข้อไหนที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด มันคือข้อนี้เลยครับ
7. ใช้เครื่องมือช่วยคุณด้วย
เป้าหมายของการใช้เครื่องมือช่วย คือ การจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวอย่างเป็นระบบ ทำให้เรารู้ได้จริงๆว่าส่ิงที่ทำลงไป และมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากอะไร
หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยได้ดีที่สุด คือ การจดบันทึกลงบนสมุด เพราะมันจะช่วยทั้งให้เรามีวินัยและเห็นภาพเป้าหมายของเราได้ตลอดเวลา
สมุดที่ดีจะต้องถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับการวางเป้าหมายใหญ่ให้หั่นย่อยออกมาได้