“ใครมี Invite เหลือบ้าง ชวนเราหน่อยได้ไหม”
“โอ๊ยยย เศร้าจังใช้ Andriod อะ”
ในช่วงต้นปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา ในประเทศไทยอยู่ ๆ ก็มีแอปพลิเคชันหนึ่งที่เกิดดังเป็นกระแสพลุแตกเพียงชั่วข้ามคืน มีการตามล่า Invite กันเกิดขึ้นเพื่อเข้าไปใช้งานในหมู่ของคนที่ใช้อุปกรณ์บนระบบปฏิบัติการ iOS เชื่อว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ 7 เดือนผ่านไป ไม่มีใครที่ยังไม่รู้จักแอปพลิเคชัน Clubhouse อย่างแน่นอน
Clubhouse คือ แอปพลิเคชันที่เน้นสื่อสารกันด้วยเสียงเป็นหลัก ไม่มีการโพสต์รูปหรือข้อความเพื่อพูดคุยกันบนแพลตฟอร์ม และมีเพียงแค่คนที่ใช้อุปกรณ์ของ Apple เท่านั้นที่สามารถใช้งานได้ในช่วงแรกเริ่ม แต่ในปัจจุบันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 ผู้ใช้งานอุปกรณ์บนระบบ Android สามารถใช้งานได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในบทความนี้ The Growth Master เลยอยากพาทุกคนไปย้อนรอยดูกันว่าเจ้า Clubhouse มีกลยุทธ์อะไร ทำไมถึงทำให้คนสามารถเข้าไปใช้งานได้มากมายขนาดนั้น และสามารถคว้าสถานะยูนิคอร์นไปครองภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ไปติดตามกันต่อได้เลย
Clubhouse คืออะไร? แอปที่ได้สถานะยูนิคอร์นในเวลาไม่ถึง 1 ปี
แม้ว่าหลายคนอาจจะรู้จัก Clubhouse กันอยู่แล้ว แต่ก็ขอแนะนำสักนิดนึง..
Clubhouse คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใช้การสื่อสารผ่านเสียง ที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและได้รับสถานะยูนิคอร์นมาด้วยเวลาไม่ถึง 1 ปี โดยเราสามารถเลือกเข้าห้องต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่งเมื่อเข้าไปในแอปพลิเคชันแล้ว สามารถเลือกเข้าไปฟังการสนทนาในห้องต่าง ๆ ได้ตามความสนใจ
ไม่ว่าจะเป็นห้องที่พูดคุยกันเล่น ๆ เน้นผ่อนคลาย เช่น ดนตรี, ทอล์กโชว์, ปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต ไปจนถึงห้องที่ถกเถียงในประเด็นเรื่องต่าง ๆ กันอย่างจริงจัง เช่น การเมือง, การทำธุรกิจ, สังคม (แต่ต้องเข้าไปฟังสดเท่านั้นนะ ไม่มีการอัดเสียงเก็บไว้เหมือนพอดแคสต์)
สำหรับ Clubhouse ถูกก่อตั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2019 นำโดย Rohan Seth วิศวกรจาก Google (Tech Lead of Google’s User Location Platform) และ Paul Davison ผู้เป็น Co-Founder ของ Alpha Exploration Co. ที่อยู่เบื้องหลังแอป Clubhouse
ตอนแรกพวกเขาร่วมกันก่อตั้งแอปพลิเคชันที่ชื่อ Talkshow เป็นลักษณะแอปที่เอาไว้ฟังพอดแคสต์ แต่ภายหลังเกิดการ Rebranding ใหม่กลายเป็น Clubhouse และปล่อยให้คนที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้นที่ใช้ได้ ในเดือนมีนาคม 2020
"Was to build a social experience that felt more human – where instead of posting, you could gather with other people and talk."
ผู้ก่อตั้งทั้ง 2 คนบอกว่าต้องการที่สร้างอะไรที่ให้ความรู้สึกเหมือนมนุษย์มากกว่าแค่การโพสต์ เพราะการสื่อสารผ่านเสียง ทำให้เรารับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แทรกอยู่ในน้ำเสียงของผู้พูดนั้นได้ นั่นทำให้ Clubhouse เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานจนประสบความสำเร็จในด้านนี้เป็นอย่างดี จากช่วง Beta ที่มีผู้ใช้หลายรายบอกว่าเขาใช้เวลาบน Clubhouse มากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
วิธีการใช้งาน Clubhouse เบื้องต้น
ไม่ใช่ผู้ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Clubhouse มาแล้ว ทุกคนจะสามารถเข้ามาใช้งานแอปนี้ได้ เพราะจะต้องมาจากการเชิญ (Invite) จากผู้ใช้งาน Clubhouse เท่านั้น (ต้องมีเบอร์โทรศัพท์กันด้วย เนื่องจาก Invite จะถูกส่งผ่านทาง iMessage) ซึ่งในช่วงที่ Clubhouse กำลังบูมสุด ๆ ในประเทศไทยของเรา (เดือนกุมภาพันธ์ 2021) ถึงขนาดที่ว่ามีคนโพสต์ขาย Invite บนโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter เกิดขึ้น
เมื่อสามารถเข้ามาใน Clubhouse ได้แล้ว ก็จะพบว่ามีห้องแบ่งหัวข้อตามความสนใจมากมาย ซึ่งในแต่ละห้องจะมี Moderator หรือผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ฟัง (จำกัดแค่ 5,000 คน/ห้อง) อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Clubhouse จะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นแค่การนั่งฟังวิทยุออนไลน์หรือพอดแคสต์ทั่วไป
แต่ความพิเศษของ Clubhouse คือ ถ้าผู้ฟังคนใดที่อยากร่วมพูดคุย ถามคำถาม หรือแสดงความคิดเห็นกับ Moderator ก็สามารถกดยกมือ (Raise Hand) เพื่อขอเข้าร่วมวงพูดคุยได้เลย (แต่ Moderator ต้องกดอนุญาตก่อน จึงจะสามารถพูดคุยได้)
หลายครั้งหลายหนก็มีคนดัง เช่น ดารา, นักร้อง, นักการเมือง หรือผู้มีชื่อเสียงด้านอื่น ๆ เข้ามาร่วมพูดคุยด้วยบน Clubhouse ก็เป็นเหมือนความ Exclusive ที่ Clubhouse มอบให้กับผู้ใช้งาน สามารถพูดคุยอย่างใกล้ชิดร่วมกับพวกเขาเหล่านั้นได้
ตัวเลขการเติบโตแบบไม่คาดฝันของ Clubhouse
หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วว่าบุคคลที่ทำให้ Clubhouse เป็นที่รู้จักและมีผู้ใช้งานแห่มาใช้งานกันอย่างล้นหลามเพียงชั่วข้ามคืน หนึ่งในนั้นคือ Elon Musk ซึ่งเขาคนนี้นี่แหละที่เป็นบุคคลที่ทำให้ Clubhouse เกิดเป็นกระแสขึ้นมาได้เพียงแค่ Tweet เดียวของเขา (เหมือนกับที่ Tweet เดียวของเขาทำเอาตลาดคริปโตเคอเรนซี่และแอปพลิเคชัน Signal ต้องสั่นคลอนเลยทีเดียว)
อ่านบทความเพิ่มเติม
เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 Elon Musk ได้ Tweet ลงบน Twitter ส่วนตัวของเขาว่า เขาตกลงจะพูดคุยร่วมกับ Kanye West แรปเปอร์และโปรดิวเซอร์ชื่อดังชาวอเมริกัน บน Clubhouse นั่นทำให้ผู้คนสงสัยกันว่า Clubhouse คืออะไร จนกระทั่งต้องตามไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ และหา Invite เพื่อตามเข้าไปฟังคนดังระดับโลกทั้ง 2 คนนี้คุยกันให้ได้
จากยอดตัวเลขดาวน์โหลดของ Clubhouse ที่ค่อย ๆ ไต่มาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่มียอดดาวน์โหลด 5 แสนครั้ง, เดือนธันวาคม 1.5 ล้านครั้ง, เดือนมกราคม 3 ล้านครั้ง และเห็นได้อย่างชัดเจนเลยในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีเหล่าคนดังอย่าง Elon Musk, Kanye West และ Mark Zuckerburg ปรากฏตัวบนแพลตฟอร์ม Clubhouse
ทำให้ยอดดาวน์โหลดพุ่งสูงขึ้นมากถึง 9.8 ล้านครั้ง (มากกว่า 3 เท่าภายในเดือนเดียว และจาก 5 แสนครั้งพุ่งเป็น 9.8 ล้านครั้งใช้เวลาแค่ 3 เดือนเท่านั้น) และในเดือนมิถุนายน Clubhouse กลับมามียอดดาวน์โหลดเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง (7.8 ล้านครั้ง) หลังจากการเปิดตัวในระบบ Android
แม้ว่ายอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจะเป็นตัวเลขที่ดูเยอะมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ดาวน์โหลดมาจะสามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้ เนื่องจากผู้ที่ใช้งาน Clubhouse ได้จะต้องมาจากการ Invite เท่านั้น โดยเริ่มต้นจากผู้ใช้งาน 1 คน จะมีเพียง 2 Invites (ถ้าอยากได้เพิ่มก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะ ๆ บน Clubhouse) นั่นจึงทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานกลายเป็นการเติบโตแบบ Expotential ไปเรื่อย ๆ (จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 คน) เราจะเห็นได้ว่า...
- เดือนพฤศจิกายน 2020 มีผู้ใช้งานเพียง 2 แสนคน (จากยอดดาวน์โหลด 5 แสนครั้ง)
- เดือนธันวาคม 2020 มีผู้ใช้งาน 6 แสนคน (จากยอดดาวน์โหลด 1.5 ล้านครั้ง)
- เดือนมกราคม 2021 มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน (จากยอดดาวน์โหลด 3 ล้านครั้ง)
- เดือนกุมภาพันธ์ 2021 มีผู้ใช้งาน 6 ล้านคน (จากยอดดาวน์โหลด 9.8 ล้านครั้ง)
- เดือนมีนาคม 2021 มีผู้ใช้งานแตะ 10 ล้านคน (จากยอดดาวน์โหลด 2.6 ล้านครั้ง)
เวลาผ่านไปแล้ว 1 ปี 6 เดือน แต่ในด้านของตัวเลขจำนวนเงินระดมทุนของ Clubhouse ก็ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะเขาผ่านการระดมทุนมา 3 ครั้งด้วยกัน เริ่มต้นที่ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ใน Series A ด้วยจำนวนเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย Andreessen Horowitz (บริษัท VC จากสหรัฐอเมริกา)
สำหรับการระดมทุนในรอบ Series B เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2021 ด้วยจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย Andreessen Horowitz ซึ่งจากการระดมทุนในครั้งนี้ ส่งผลให้ Clubhouse มีมูลค่าแตะ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสถานะเป็นยูนิคอร์นไปโดยปริยาย (ด้วยเวลาไม่ถึง 1 ปีนับตั้งแต่เปิดให้ใช้งาน)
และล่าสุดในเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมา Clubhouse มีการระดมเงินทุนในขั้นของ Series C นำโดย Andrew Chen จากกองทุน Andreessen Horowitz และมี DST Global, Tiger Global และ Elad Gil ร่วมด้วย (สำหรับตัวเลขจำนวนเงินในครั้งนี้ไม่มีการเปิดเผย) แต่จากการรายงานของ Reuters บอกว่าเป็นจำนวนเงินที่ทำให้ Clubhouse มีมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วิเคราะห์การเติบโตของ Clubhouse: ทำอย่างไรถึงมีมูลค่า 4 พันล้านเหรียญ แม้ไม่มีโมเดลการสร้างรายได้?
เราไปดูกันว่าเพราะอะไรถึงทำให้ยังมีคนจำนวนมากที่ยังคงใช้งาน Clubhouse อยู่ แม้ว่ากระแสจะไม่ได้บูมเท่าเมื่อก่อนแล้ว
กลยุทธ์ Invite-only สิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น
แม้ว่าหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ช่วง Peak Time ของ Clubhouse ที่มียอดดาวน์โหลดและยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลาย แต่หลังจากนั้นมา ตัวเลขเหล่านั้นก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีเสียงกระซิบจากหลายคนบอกว่า ถ้าไม่อยากให้ยอดตกก็เปิดให้ผู้ใช้งานเข้าไปใช้ง่าย ๆ เลยไม่ดีกว่าเหรอ ไม่ต้องผ่านการเชิญแบบเดิมให้ยุ่งยาก
แต่ว่าปัจจุบัน Clubhouse ก็ยังคงยืนยันว่าจะใช้กลยุทธ์ Invite-only ต่อไป เพื่อคัดกรองคนที่เข้ามาไม่ให้พุ่งสูงเกินไป ค่อย ๆ ให้เวลากับแอปพลิเคชันได้เติบโตอย่างมั่นคง เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้มาก ๆ เสียก่อนในอนาคต
เนื่องจากในช่วงแรก Clubhouse ก็เป็นเหมือนกับสตาร์ทอัปทั่วไป เป็นทีมเล็ก ๆ ที่มีคนในทีมเพียง 9 คนเท่านั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าอยู่ดี ๆ แอปพลิเคชันที่พวกเขากำลังพัฒนาอยู่ จะมีคนแห่มาดาวน์โหลด เพื่อเข้ามาใช้งานกันมากมายล้นหลามขนาดนั้น แต่อิทธิพลของ Elon Musk ผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla และ SpaceX ก็ถือว่าเป็นข้อดีที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักและหันมาใช้งาน Clubhouse ได้แบบนี้
You trust them, they trust Clubhouse, ergo, you trust Clubhouse.
นอกจากนั้นการที่ใช้กลยุทธ์ Invite-only ยังเป็นการสร้างความไว้ใจให้กับผู้ใช้งานได้เห็นคุณค่าของแอปพลิเคชันอีกด้วย ลองคิดภาพดูว่าถ้า Clubhouse เกิดจากการสุ่มผู้ใช้จากอินเทอร์เน็ตแบบงง ๆ มันก็คงจะเป็นอะไรที่แปลก และไม่น่าไว้ใจ แต่ Clubhouse เป็นแอปที่เกิดจากการเชิญจากให้เพื่อนชวนเพื่อนเท่านั้น
เมื่อเพื่อนคือคนที่เราไว้ใจ และเพื่อนมาชวนเราต่อก็แสดงว่าพวกเขาก็ต้องผ่านการทดลองใช้งาน Clubhouse มาแล้ว และเห็นว่ามันดี จึงอยากบอกต่อและมาชวนให้เราใช้งานด้วย นั่นก็เป็นกลยุทธ์ที่ Clubhouse ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกไว้ใจและเห็นคุณค่าของแอปพลิเคชันมากขึ้นเหมือนกับที่คุณไว้ใจเพื่อนของคุณ
สร้างความ Exclusive เพื่อทำให้เกิดภาวะ Fear of Missing Out (FOMO)
Clubhouse ไม่เหมือนพอดแคสต์ทั่วไป ที่จะกลับมาฟังตอนไหนเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องฟังสดตอนนั้นทันที เพราะไม่มีฟีเจอร์ที่อัดเสียงเก็บไว้ เพื่อให้กลับมาฟังย้อนหลังได้ ซึ่งถ้าเกิดว่าในตอนนั้นมี Speaker ที่จับตัวยาก ไม่ค่อยไปเปิดอกพูดคุยที่ไหน หรือ Speaker ที่มีชื่อเสียงในด้านต่าง ๆ มาพูดคุยบน Clubhouse แน่นอนว่าก็ไม่มีใครอยากพลาดช่วงเวลานั้นเลย
สำหรับความ Exclusive เหล่านั้น ก็ทำให้คนจำนวนมากเกิดอาการ Fear of Missing Out (FOMO) หรือคนที่กลัวว่าจะตัวเองจะพลาดคอนเทนต์ดี ๆ จึงทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาอยู่บน Clubhouse นาน ๆ เพื่อไม่พลาดคอนเทนต์ดี ๆ ของเหล่า Speaker ที่ตนเองชื่นชอบ
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ในประเทศไทยที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย ปรากฏตัวขึ้นบน Clubhouse และใช้ชื่อ Account ว่า Tony Woodsome ได้มาพูดคุยร่วมกับ Speaker เกี่ยวกับการเมืองไทย จนมีผู้ใช้ที่สนใจเข้าไปฟังมากกว่า 5,000 คน (ซึ่งห้องเต็มไม่สามารถเข้าไปได้) จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ถึงขนาดต้องสร้างห้องบน Clubhouse ใหม่ เพื่อกระจายเสียงการสนทนาในครั้งนั้น (และแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงห้องเดียว)
Free Speech มีอิสระในการพูด แม้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
อีกหนึ่งข้อดีที่ทำให้หลายคนยังชอบใช้ Clubhouse อยู่ นั่นก็เพราะผู้ใช้งานทุกคน ไม่ว่าใครก็สามารถพูดสิ่งที่คิดได้อย่างอิสระ ไม่มีการตัดต่อ หรือปิดกั้นเหมือนสื่อหลัก จริง ๆ แล้ว การที่ทุกคนมีสิทธิ์ในการพูดอย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับอยู่แล้ว เราสามารถพูดคุยกันด้วยความรู้และหลักเหตุผลบนพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงยังมีโอกาสพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับคนดังได้ง่าย ๆ เพียงแค่ยกมือแล้วเปิดไมค์ (ซึ่งโอกาสดี ๆ แบบนี้หาได้ไม่ง่ายเลย)
สำหรับในประเทศไทยเอง หลายประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นกระแสก็ยังคงมีที่มาจาก Clubhouse เช่น เรื่องการเมือง หรือบางเรื่องที่ห้ามเอ่ยถึงกันในชีวิตจริงหรือตามโซเชียลมีเดียทั่วไป ซึ่งคอนเทนต์เหล่านั้นถ้าใครที่ไม่ได้ฟังสด ๆ จาก Clubhouse ในเวลานั้นก็อาจจะพลาดคอนเทนต์สุด Exclusive นั้นไปเลยก็ได้
ฟีเจอร์ Payments ผู้ใช้งานสามารถสนับสนุน Creator ได้เต็มที่
Clubhouse จัดได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันหนึ่งที่สะอาดมาก ซึ่งคำว่า “สะอาด” ในที่นี้เราจะหมายถึงแอปพลิเคชันที่ไม่มีการรันโฆษณา (ให้ร้านค้าต่าง ๆ เข้ามาขายของหรือยิง Retargeting Ads ตามหลอกหลอน) ไม่มีการโมเดลการหาเงินเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มเลย แต่กลับมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้อย่างไร?
จริง ๆ แล้ว เราคิดว่าในอนาคต Clubhouse เองก็อาจจะมีโมเดลการสร้างรายได้เกิดขึ้นบนแอปพลิเคชันอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าตอนนี้มันยังไม่เกิดขึ้นและยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะออกมาในรูปแบบใดบ้าง
100% of the payment will go to the creator.
แต่ในตอนนี้ทาง Clubhouse เองก็ได้ออกมาประกาศว่าเขามีฟีเจอร์ Payments ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานที่อยากสนับสนุน Creator สามารถส่งเงินไปให้พวกเขาได้โดยตรง (คล้าย ๆ กับการให้ทิปใน Twitch) แต่ Creator คนนั้นจะต้องเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้ก่อนเท่านั้น ซึ่งจำนวนเงินทั้งหมดจะถูกส่งจากผู้ใช้งานที่อยากสนับสนุนไปยัง Creator โดยตรง 100% เลย โดยที่ Clubhouse ไม่ได้แตะจำนวนเงินนี้เลยสักบาทเดียว (ซึ่งก็ยังถือว่าไม่ใช่โมเดลการหาเงินของ Clubhouse อยู่ดี)
คาดการณ์กลยุทธ์การสร้างรายได้ในอนาคตของ Clubhouse
มีหลายคน เช่น Pete Boyle ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ growthmodels.co ที่ได้วิเคราะห์โมเดลการหาเงินของ Clubhouse จะออกมาในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งประกอบไปด้วย:
- ระบบ Sponsorships – สำหรับคนที่มีผู้ฟังเข้ามาจำนวนมากบนแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจจะมีการสร้างเป็น Dashboard เพื่อ Management ระหว่าง Sponsor กับ Influencer ไว้โดยเฉพาะ
- ใช้ระบบสมาชิกแบบ Patreon/Only Fans – ถ้าผู้ใช้งานคนไหนที่อยากเข้าถึงคอนเทนต์สุด Exclusive ของ Influencer หรือ Creator ก็ต้องยอมจ่ายเงินก่อนเข้าไปฟัง
- ระบบการให้ทิป (Tip-system) – ถ้าผู้ใช้งานถูกใจกับคอนเทนต์ของ Creator หรืออยากสนับสนุนเป็นพิเศษ ก็จ่ายเงินให้กับพวกเขาได้ (คล้ายกับ Twitch หรือ YouTube live streaming) แต่อาจจะต้องเสียเปอร์เซ็นต์ให้กับ Clubhouse ด้วย (ซึ่งฟีเจอร์ Payments ที่มีอยู่ในปัจจุบัน Creator ไม่ต้องเสียเงินให้กับ Clubhouse)
- สร้างระบบ Checkout และ Payments – เพื่อที่ว่า Speaker สามารถสร้างยอดขายจากการขายคอร์สเรียนออนไลน์หรือหนังสือบน Clubhouse ได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการคาดการณ์กลยุทธ์การสร้างรายได้ (Monetisation Strategies) ของ Clubhouse ในอนาคตเท่านั้น ซึ่งต่อจากนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเขาอาจจะสร้างนวัตกรรมแปลกใหม่ในการสร้างรายได้ออกมาก็ได้
สรุปทั้งหมด
Clubhouse เป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่น่าจับตามองต่อไป เพราะด้วยสถานะยูนิคอร์นที่ได้รับมาทั้ง ๆ ที่ก่อตั้งมาไม่ถึง 1 ปี และมีมูลค่าสูงกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโมเดลการหารายได้ออกมาเลย
แม้ปัจจุบันจะมีผู้เล่นเจ้าใหญ่อย่าง Facebook ที่สร้าง Live Audio Rooms และ Twitter ที่สร้าง Spaces ออกมาคล้ายกับ Clubhouse ในส่วนของอัตราการเติบโตก็ยังคงไม่เร็วเท่า Clubhouse แต่พวกเขาก็ยังจัดว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่ดี
เพราะด้วยฐานผู้ใช้งานที่เยอะอยู่แล้ว และก็คอยพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ หรือความสามารถที่ Clubhouse ยังทำไม่ได้ เช่น การจุจำนวนคนที่ Twitter Spaces มีคนเข้าไปฟังได้ไม่จำกัด แต่ Clubhouse จุได้แค่ 5,000 คน ยิ่งพวกเขามีการแข่งขันกันมากเท่าไร คนที่ได้เปรียบที่สุดก็คือผู้ใช้งานอย่างเรานั่นเอง เพราะสามารถเลือกแพลตฟอร์มที่ตรงกับความต้องการได้ เกมการแข่งขันในครั้งนี้ยังไม่จบลง เราก็ต้องคอยดูต่อไปว่า Clubhouse เตรียมรับมือกับศึกหนักครั้งนี้ต่อไปอย่างไร