สำหรับใครก็ตามที่เป็นสายรักความสวยความงามจะต้องรู้จักแบรนด์ Glossier อย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะเติบโตจากการเป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่ใช้ส่วนผสมแบบออร์แกนิกและไม่มีการทดลองกับสัตว์ (Cruelty-Free) แล้ว ยังสนับสนุนแนวคิด “You’re the beauty editor” ไม่ว่าใครที่ใช้เครื่องสำอางแบรนด์ก็สามารถเป็น Beauty Editor ได้ด้วยผ่านการบอกเล่าประสบการณ์หลังใช้งานลงบนโซเชียลมีเดีย
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า Glossier เป็นสตาร์ทอัปด้านความสวยงามที่เน้นขายสินค้าเครื่องสำอางทางช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และมีหน้าร้านเพียง 4 สาขาในโลกเท่านั้น แต่กลับสร้างยอดขายถล่มทลาย จนมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ และได้รับสถานะยูนิคอร์นเรียบร้อยแล้ว
ในบทความนี้ The Growth Master เลยจะมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสำเร็จของแบรนด์ Glossier ให้คุณฟัง พร้อมทั้งพาคุณไปไขความลับว่าทำไมแบรนด์นี้ถึงเป็นสตาร์ทอัปด้านความสวยงามที่มีมูลค่ามากถึง 1.8 ล้านดอลลาร์กัน ไปติดตามกันต่อได้เลย
เส้นทางความสำเร็จของ Glossier เริ่มต้นจากความชอบสู่ธุรกิจมูลค่าพันล้านดอลลาร์
Glossier มีจุดเริ่มต้นมาจากปี 2010 มี Blogger สาวคนหนึ่งที่มีชื่อว่า Emily Weiss ผู้หลงใหลในการเขียนบทความเกี่ยวกับเคล็ดลับความงาม รีวิว เทรนด์เครื่องสำอาง และให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการแต่งหน้าในรูปแบบต่าง ๆ ลงใน Blog ที่มีชื่อว่า Into the Gloss ในขณะที่ทำงานเป็นผู้ช่วยด้านแฟชันให้กับนิตยสาร Vogue
แต่การเขียน Blog ของเธอนั้นไม่เหมือนกับการรีวิวทั่วไป เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบสไตล์ของเธอเอง ที่เน้นการเล่าเรื่องราวเป็นหลัก รวมถึงสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับความงามที่สาว ๆ หลายคนตามหา จึงทำให้ผู้คนให้ความสนใจติดตามเป็นจำนวนมาก และติดตามเฝ้ารอว่าในแต่ละครั้ง Emily Weiss จะมาแนะนำอะไรดี ๆ ให้อีก จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นในตัวผู้เขียน
จากสิ่งที่เธอทำก็ถือว่าเป็นการสร้างฐานแฟนคลับของ Emily Weiss ได้เป็นอย่างดี จนมีแฟนคลับมากถึง 1 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลานั้น จนมีสินค้าอะไรก็ตามที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในเว็บไซต์ก็จะขายดีเป็นเทน้ำเทน้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากที่เขียน Blog รีวิวเครื่องสำอางมามากมาย เธอก็ฉุกคิดได้ว่าไม่มีเครื่องสำอางแบรนด์ไหนที่จะสามารถตอบโจทย์ หรือรับฟังผู้หญิงได้อย่างครอบคลุมเลย
ในจังหวะนี้ เธอจึงเริ่มนำข้อมูลที่ได้ศึกษามากว่า 4 ปี มาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ความงามและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวภายใต้แบรนด์ชื่อ Glossier ในปี 2014 ซึ่งถ้าหากเอาตัวเลขผู้ติดตามและผู้เข้าชมเว็บไซต์ รวมถึงรายได้จากสปอนเซอร์ไปพูดคุยกับนักลงทุน ก็มั่นใจได้เลยว่าจะได้รับการตอบรับร่วมลงทุนอย่างแน่นอน
ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง เพราะมี Venture Capital ที่มีชื่อว่า Kirsten Green ตอบรับการให้เงินทุนกับเธอจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเริ่มทำธุรกิจนี้ขึ้นมา ในช่วงแรก Emily Weiss ตั้งใจว่าจะวางขายผลิตภัณฑ์เพียง 4 ชนิดเท่านั้น รวมถึงเธอได้ลองเปิดตัวลิปสติกครั้งแรก ผลปรากฏว่ามีลูกค้ามาซื้อจนสินค้าหมดลงอย่างรวดเร็ว
เท่านั้นยังไม่พอ คนที่พลาดซื้อไม่ทันในล็อตแรกก็ได้กดเข้าร่วมแสดงความต้องการรอซื้อสินค้าชิ้นนี้หรือ Waitlist มากถึง 10,000 คนเลยทีเดียว นี่ก็แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของการใช้สื่อออนไลน์ของ Emily Weiss ที่มีการปูทางและวางแผนมาอย่างดี
นอกจากนั้น Emily Weiss ก็ตั้งใจทำให้แบรนด์ Glossier เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมแบบออร์แกนิก เพื่อให้อ่อนโยน ไม่ทำร้ายผิวของผู้คน และไม่มีการทดลองกับสัตว์ (Cruelty-Free) เพราะมันเป็นวิธีที่ทำร้ายสัตว์ ทำให้สัตว์ต้องเจ็บปวด ก่อนที่จะได้ผลิตภัณฑ์ออกมาขายให้กับคนทั่วไปได้ใช้งานกันอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่แบรนด์ Glossier ไม่สนับสนุนเป็นอย่างมาก
และ Glossier ก็มุ่งเน้นเจาะตลาดไปที่กลุ่ม Millennial (หรือ Gen Y กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1984-1996) และเน้นทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram รวมถึงเว็บไซต์เป็นหลัก ทำให้ทุกวันนี้เราจะเห็นว่า Glossier มีหน้าร้านน้อยมากเพียง 4 แห่งบนโลกเท่านั้น (LA, London, Seattle และ Miami) ต่างจากร้านแบรนด์เครื่องสำอางทั่วไป
Emily Weiss ได้เผยเหตุผลในบทสัมภาษณ์ของ CNN ในปี 2017 ไว้ว่า “เธอตระหนักดีว่าโซเชียลมีเดียสามารถเป็นช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง และสามารถสร้างสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้” และยังย้ำว่า “ปัจจุบันผู้หญิงสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง พวกเธอสามารถหาข้อมูลสินค้าที่พวกเธอต้องการจากเพื่อนของพวกเธอหรือผู้หญิงคนอื่น ๆ จากทั่วโลก”
สิ่งที่ Emily Weiss คิดก็เป็นแบบนั้นจริง เพราะในช่วงเวลาที่เธอทำธุรกิจ Blog รีวิวของเธอก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ Glossier ขึ้นแท่นเป็นผลิตภัณฑ์ความงามและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่ได้รับการระดมทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ได้รับสถานะสตาร์ทอัปยูนิคอร์นทันที และยังเป็นสตาร์ทอัปด้านความสวยงามอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วยในปัจจุบัน
ยูนิคอร์น = สตาร์ทอัปที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป
ตัวเลขการเติบโต Glossier สตาร์ทอัปความงามที่มีการระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Glossier มีมูลค่าบริษัททะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ คือ การระดมทุน โดย Glossier มีการระดมทุนมาแล้ว 5 ครั้ง ด้วยกัน ดังนี้
- ปี 2014 Series A จำนวน 8.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย Thrive Capital
- ปี 2016 Series B จำนวน 24 ล้านดอลลาร์ นำโดย Early Stage Venture
- ปี 2018 Series C จำนวน 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย Late Stage Venture
- ปี 2019 Series D จำนวน 100 ล้านดอลลาร์ นำโดย Late Stage Venture
- และครั้งล่าสุดปี 2021 ที่ผ่านมาใน Series E จำนวน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย Lone Pine Capital เพื่อที่จะนำเงินทุนก้อนนี้ขยายสาขาไปสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ถ้าหากย้อนมาดูการเติบโตทางด้านรายได้ต่อปีของ Glossier ตั้งแต่ปี 2014-2018 จะเห็นได้ว่าแบรนด์สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก ตั้งแต่หลักล้านดอลลาร์ต้น ๆ จนสามารถแตะ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกในปี 2018
โดยในช่วงแรก ๆ Glossier เป็นแบรนด์ที่ถือว่าเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche) มาก ๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเขาไม่ได้วางขายตามห้างร้านทั่วไปเหมือนกับเครื่องสำอางแบรนด์อื่น ๆ แต่จะวางขายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น
เนื่องจาก Emily Weiss ต้องการที่จะดูแลลูกค้าให้ทั่วถึง ติดตาม Feedback ความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์จากพวกเขาเสมอ โดยเฉพาะลูกค้าที่มาจากคนที่ติดตามอ่าน Blog ของเธอ ดังนั้นการที่แบรนด์สามารถสร้างรายได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
และในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 กลางเดือนพฤษภาคม ปี 2020 ที่ผ่านมายอดขายของ Glossier เติบโตขึ้นมากถึง 143% เพราะด้วยความที่ผู้คนไม่สามารถออกไปช้อปนอกบ้านได้ รวมถึงก่อนหน้านี้ Glossier ก็ได้ปูทางตัวเองมาแล้วว่าเป็นแบรนด์ที่ขายทางช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทำให้แบรนด์ไม่ต้องปรับตัวมาก และสามารถดึงยอดขายจากแบรนด์อื่น ๆ มาได้ส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Covid-19 จะทำให้ Glossier เติบโตขึ้นได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ด้วยความที่ผู้คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้เหมือนเคย ก็ทำให้พวกเขาอยู่แต่บ้าน เครื่องสำอางจึงไม่จำเป็นสำหรับพวกเขาในขณะนั้น ยอดขายของ Glossier จึงค่อย ๆ ลดลง ซึ่งผลกระทบนี้นี่ก็ไม่ได้เป็นเฉพาะ Glossier เท่านั้น แต่ยังกระทบถึงแบรนด์เครื่องสำอางแบรนด์ใหญ่ ๆ ทั่วโลกอีกด้วย
และหากย้ายมาดูตัวเลขในฝั่งยอด Traffic และ Engagement 3 เดือนล่าสุดในปี 2022 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเว็บไซต์ glossier.com มียอดการเข้าชมในเดือนกุมภาพันธ์กว่า 1.6 ล้านครั้ง เดือนมีนาคม 1.7 ล้านครั้ง และเดือนเมษายน 1.8 ล้านครั้ง จะเห็นได้ว่าแม้เว็บไซต์ Glossier จะเปิดตัวมาเกือบ 12 ปีแล้ว แต่ยอดผู้เข้าชมก็ยังคงได้ความนิยมอย่างต่อเนื่อง (และเพิ่มขึ้นอย่างคงที่) อีกด้วย
กลยุทธ์การเติบโตของ Glossier ที่คว้าสถานะยูนิคอร์นภายใน 5 ปี
สำหรับ Glossier เป็นแบรนด์ที่มีฐานลูกค้ามาจากที่คนส่วนใหญ่ติดตามอ่าน Blog ของ Emily Weiss เธอจึงเลือกนำความได้เปรียบตรงจุดนี้มาสร้างเป็นกลยุทธ์มากมายที่เน้นด้านทางช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งมีดังต่อไปนี้
เน้นเจาะตลาดลูกค้าออนไลน์มากกว่าออฟไลน์
อย่างที่บอกไปว่า Glossier เป็นแบรนด์ที่เริ่มต้นมาจากการเขียน Blog ของ Emily Weiss ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปี เธอก็ได้ทำการเก็บข้อมูล สำรวจตลาด ถามความคิดเห็นหรือความต้องการของผู้หญิงเกี่ยวกับเครื่องสำอาง รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ จนสุดท้ายก็เกิดเป็นแบรนด์ Glossier ขึ้นมา
ในตอนนั้นเธอก็สังเกตเห็นได้ว่าปัจจุบันเวลาผู้หญิงหรือคนทั่วไปจะซื้อสินค้าสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว ผู้บริโภคก็มักจะใช้ช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นทั้งโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อหาข้อมูล หรืออ่านรีวิวสินค้านั้น ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
Emily Weiss จึงตัดสินใจเลือกที่จะทำการตลาดของ Glossier โดยเน้นไปที่การเจาะลูกค้าในโลกออนไลน์มากกว่าออฟไลน์เป็นหลัก เพราะนอกจากเธอจะใช้ประโยชน์จากคอมมูนิตี้ของแบรนด์เองแล้ว (จากการเขียน Blog) ยังเป็นช่องทางที่ทำให้แบรนด์สามารถสื่อสารสิ่งที่แบรนด์ต้องการกับผู้บริโภคได้โดยตรง และสามารถสร้างสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้ง่ายอีกด้วย
การสร้าง Branding ให้มีเอกลักษณ์น่าจดจำ
Glossier มีความเชื่อใน Branding เป็นอย่างมาก เช่น การทำให้ Glossier เป็นแบรนด์ที่มีเรื่องราว ภาพจำที่ติดตากลุ่มกลุ่มเป้าหมาย โดยช่วงแรกจะเน้นไปที่ผู้หญิงเป็นหลัก ด้วยการใช้สีชมพู, ขาว ในแทบจะทุก ๆ ผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการทำ Packaging ให้มี Mood and Tone ที่เป็นเอกลักษณ์ น่าจดจำที่ใครเห็นก็รู้ว่าเป็นแบรนด์ Glossier ทันที และด้วยเสน่ห์ที่แบรนด์ให้ความสำคัญกับการสร้าง Branding แบบนี้ ก็หนีไม่พ้นที่จะกระตุ้นให้ใครหลาย ๆ คนอยากถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ของ Glossier อวดเพื่อนลงโซเชียลมีเดียอีกด้วย
เรียกได้ว่า Glossier เป็นแบรนด์ที่เตรียมตัวมาพร้อมดีทุกอย่างที่จะทำให้แบรนด์เติบโตอยู่บนช่องทางออนไลน์ ทั้งโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
เปลี่ยนจากลูกค้าให้เป็น Micro Influencers
Glossier มีการสนับสนุนให้ลูกค้าสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาด้วยตัวเอง หรือที่เราเรียกว่า User-Generated Content (UGC) เพื่อเปลี่ยนให้แฟน ๆ ของแบรนด์เหล่านี้กลายเป็น Micro Influencer ที่ทำให้ใคร ๆ ก็อยากซื้อสินค้าตาม
โดย Glossier มักจะชอบ Repost รูปที่ลูกค้าถ่ายคู่กับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ แล้วแท็กผ่านบัญชี Instagram ของแบรนด์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีการใช้สินค้าชิ้นนั้นจริง ๆ ไม่ได้มาจากแบรนด์ที่เป็นคนสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา
ถ้าหากลูกค้าของแบรนด์คนไหนที่สร้างคอนเทนต์ออกมาได้ที่ดีสุด Glossier ก็จะเชิญให้มาเป็น Brand Ambassador บน Instagram และให้ทำ Affiliate Link ร่วมกับแบรนด์ ซึ่งพวกเขาก็ได้จะรับเปอร์เซ็นต์จากการที่มีคนเข้ามากดซื้อสินค้าผ่านยังลิงก์ที่ตัวเขาลงใน Instagram อีกด้วย
Affiliate Link = ลิงก์ที่มีรหัสการขายเฉพาะ ถ้าหากมีผู้ใช้งานคนอื่น ๆ กดซื้อสินค้าผ่านลิงก์นั้น Brand Ambassador ก็จะได้รับเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า
และนี่ก็เป็นเหตุผลเล็ก ๆ ว่าทำไม Glossier ถึงมี Packaging ที่มีเอกลักษณ์มินิมอล และมีการใช้โทนสีชมพู ขาว เป็นส่วนใหญ่ เพราะนอกจากเพื่อความสวยงามน่าใช้และเหมาะกับสาว ๆ แล้วยังกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกอยากถ่ายรูปสินค้าลงบนโซเชียลมีเดียอีกด้วย เมื่อเพื่อนหรือคนอื่นเห็นก็รู้สึกว่ามันน่ารัก และอยากซื้อตาม (เล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า)
นอกจากนั้น Glossier ยังเป็นที่รู้จักในนามไฮไลท์ “Top 5 Instagram Stories” อีกด้วย โดยที่ในแต่ละสัปดาห์ แบรนด์จะทำการค้นหาโพสต์ UGC ที่ดีที่สุด 5 โพสต์ที่ถูกแท็กหรือโพสต์ซ้ำใน Stories มากที่สุด และแบรนด์จะจัดเก็บ Stories นั้นไว้เป็นไฮไลต์บนหน้าโปรไฟล์แบรนด์ เพื่อให้ผู้คนสามารถกลับมาดูได้ในภายหลัง (ปัจจุบัน Glossier มีผู้ติดตามใน Instagram กว่า 2.6 ล้านคน)
แคมเปญนี้ก็เป็นการกระตุ้นความรู้สึกของคนใน Community ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมโดยใช้ความเป็นคอนเทนต์ Instagrammable Glossier ของพวกเขา ซึ่งนี่ไม่จำกัดเฉพาะผู้ใช้ Glossier ที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถเข้าร่วมได้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
- สร้างแบรนด์ให้ดังด้วยพลังของการบอกต่อ
- Influencer Marketing คืออะไร? รวมสิ่งที่คุณต้องรู้สำหรับการทำ Influencer Marketing ในปี 2021
- ผลสำรวจชี้ User-Generated Content ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้ดีที่สุด
กลยุทธ์แบบปากต่อปากสร้างยอดขายกว่า 70%
ต่อเนื่องจากข้อที่ผ่านมาที่ Glossier ได้สร้างให้ลูกค้ากลายเป็น Micro Influencer จนทำให้เกิดกลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปาก (Word-of-Mouth) ขึ้นมา ซึ่งเป็นผลดีสำหรับแบรนด์ Glossier เป็นอย่างมาก
เพราะ 70% ของยอดขายและการเข้าชมเว็บไซต์ก็มาจากกลยุทธ์นี้ และอีกกว่า 8% ก็มาจาก Brand Ambassador บน Instagram ซึ่ง Glossier ก็ทำให้เราเห็นว่าความผูกพันระหว่างแบรนด์กับคำบอกต่อของลูกค้าไปสู่เพื่อนนั้นมีความสำคัญอย่างมาก
โดย Emily Weiss ก็ได้ออกมาเผยว่า ลูกค้าใหม่ของแบรนด์เกือบ 80% มาจากการแนะนำโดยเพื่อน และคนที่มาซื้อ Glossier ต่อเรื่อย ๆ ก็มาจากการเป็น Loyal Customer ที่ถูกใจผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นั่นเอง
Two-Way Conversation ติดตาม Feedback จากลูกค้า
Glossier มีการปรับปรุงสินค้าของตัวเองอยู่เสมอจากการทำ Two-Way Conversation จากการสอบถาม Feedback สมาชิกใน Community ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ดีแล้วหรือยัง มีตรงไหนที่อยากให้ปรับแก้ไข หรืออยากให้เพิ่มเติมอะไรหรือไม่
เพราะ Emily Weiss เคยเล่าให้ฟังว่าในสมัยที่เธอฝึกงานเป็นผู้ช่วยที่ Vogue แบรนด์เครื่องสำอางบางแบรนด์มักจะบอกให้ผู้หญิงมาซื้อผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพียงเพราะผลิตภัณฑ์นั้นกำลังเป็นเทรนด์อยู่ในขณะนั้น แต่ไม่ได้ผลิตสินค้ามาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มสาว ๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาที่ตัวเองมี
เธอจึงไม่อยากเป็นแบบแบรนด์เหล่านั้น แต่อยากเป็นแบรนด์ที่ช่วยให้ลูกค้าทุก ๆ คนสามารถมีผิวที่ดีขึ้น และได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีจริง ๆ เธอจึงตั้งใจเก็บ Feedback จากทุกคนที่ได้ใช้งานผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง และปรับปรุงให้ดีขึ้นเสมอ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่สุด
สรุปทั้งหมด
ถึงแม้ว่า Glossier จะมีการเติบโตมาจากช่องทางออนไลน์ อย่างโซเชียลมีเดียและ Community เป็นหลัก และมีการวางกลยุทธ์ที่ให้ความใส่ใจแม้กระทั่งการออกแบบ Packaging ให้มีเอกลักษณ์ ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเปลี่ยนลูกค้าให้กลายมาเป็น Micro Influencer เพื่อบอกต่อเชิญชวนให้คนอื่น ๆ มาใช้งาน
แต่จริง ๆ แล้วหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจของ Glossier ก็คือ การสร้าง ‘ผลิตภัณฑ์’ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เพราะถ้าหากว่าแบรนด์จะมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีเพียงใด แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ไม่ดี ก็ไม่สามารถดึงดูดให้คนมาใช้งานผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ได้ต่อไปเรื่อย ๆ และแบรนด์ก็จะไม่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ Glossier ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ธุรกิจยุคใหม่สามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการสร้างการเติบโตได้อีกด้วย