เชื่อว่าบนสมาร์ทโฟนของหลาย ๆ คนตอนนี้จะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งแอปพลิเคชันสำหรับแต่งรูปติดเครื่องเอาไว้อย่างแน่นอน โดยจุดประสงค์หลักในการใช้แอปแต่งรูปก็คงหนีไม่พ้นความต้องการที่จะทำให้ตัวเองดูดีขึ้นได้แบบทันใจ จบบนสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ซึ่งหนึ่งในแอปพลิเคชันแต่งรูปขวัญใจใครหลายคนในปัจจุบันก็คือ Meitu
Meitu ขึ้นชื่อว่าเป็นแอปแต่งรูปที่ได้รับความนิยมทั้งในด้านของการเซลฟี่และแต่งรูปสร้างสรรค์ผ่านฟิลเตอร์ หรือเมคอัพที่ใช้งานง่าย ทำให้มีผู้ใช้ชื่นชอบในการใช้งานเป็นจำนวนมาก จนในปัจจุบัน Meitu มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยอดผู้ใช้งานกว่า 260 ล้านคนต่อเดือนเลยทีเดียว
บทความนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Meitu แอปพลิเคชันแต่งรูปที่ช่วยทำให้ทุกคนที่ใช้งานรู้สึกดูดีขึ้น ครบ จบ ในแอปเดียวให้มากขึ้น พร้อมทั้งดูกลยุทธ์การเติบโตที่เขาใช้สร้างบริษัทนี้กัน
Meitu คืออะไร? ทำไมถึงมีผู้ใช้งานมากกว่า 260 ล้านคนต่อเดือน
“Make beauty accessible through technology”
Meitu คือ แอปพลิเคชันแต่งรูปฟรีที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถตัดต่อรูปภาพ ตัดต่อวิดีโอ หรือแต่งภาพให้ดูดียิ่งขึ้น โดยมีจุดแข็งอยู่ที่การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้เพื่อประมวลผลรูปภาพ และวิดีโอ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความเสมือนจริง แอปพลิเคชันนี้ได้ตั้งเป้าหมายไปที่ผู้หญิงเป็นหลัก บริษัทจึงมีความตั้งใจที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีให้กับผู้ใช้งาน ด้วยฟีเจอร์ต่าง ๆ บนแอปพลิเคชันที่มีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งไปกว่านั้น ภายในแอปยังมีฟีเจอร์ Auto Retouch ให้ใช้งานฟรี ซึ่งแตกต่างจากโปรแกรม Adobe Photoshop ที่จำเป็นต้องศึกษาก่อนการใช้งาน เพราะมีความซับซ้อนในเรื่องของชุดเครื่องมือคำสั่ง
ข้อดีของ Meitu คือ การใช้งานที่ง่าย และสะดวกกว่าการเปิดโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ อย่าง Adobe Photoshop ที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานในการแต่งรูป จะไม่สามารถเข้าใจคำว่า Liquify Filter ที่เป็นเครื่องมือสำหรับปรับภาพเฉพาะส่วน ฉะนั้น Meitu จึงช่วยแก้ปัญหาของผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด
ที่มาของคำว่า Meitu ในภาษาจีนนั้นมีความหมายว่า “ภาพที่สวยงาม” เป็นสิ่งที่บริษัทต้องการจะสื่อกับผู้ใช้งานบนแอปพลิเคชั่นว่า ทุกคนที่ใช้งานจะมีภาพที่ออกมาสวยนั่นเอง
จุดเริ่มต้นความสำเร็จของ Meitu ที่ทำให้การแต่งรูปเป็นเรื่องง่าย
Meitu ถูกก่อตั้งโดย Xinhong Wu ในปี 2008 ที่มีต้นกำเนิดจากเซี่ยเหมิน ประเทศจีน ผู้ก่อตั้งคนนี้ยังดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Meitu อีกด้วย และอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทำให้ Meitu ประสบความสำเร็จนั่นก็คือ Wensheng Cai ซึ่งเป็นนักลงทุนอิสระ หรือ Angel Investor ที่ช่วยสนับสนุน Startup ในระยะเริ่มต้น ส่วนมากจะใช้เงินทุนของตัวเองในการสนับสนุน
อีกทั้ง Wensheng Cai ยังเป็นนักลงทุนให้กับบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมากมาย อย่างเช่น 4399 Network และ Baofeng Group
ความคิดริเริ่มของผู้ก่อตั้ง Meitu เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหา Pain Points ที่เขาพบ จากการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องการที่จะมีรูปร่างหน้าตาที่น่าพึงพอใจ และประหยัดการซื้อเครื่องสำอางไปในตัว
ดังนั้น เขาจึงแก้ปัญหาของผู้ใช้งานโดยการปล่อยผลิตภัณฑ์แรกออกมา นั่นคือ Meitu’s PC Version ที่ปัจจุบันทำงานได้เทียบเท่าตัวแอปพลิเคชัน ที่ช่วยในการปรับหน้าให้ดูเรียวลง ผิวเนียน แต่งหน้า หรือการใช้ฟิลเตอร์ต่าง ๆ และมีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านคนนับตั้งแต่การเปิดตัว
ในปี 2011 Meitu ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเป็นทางการ ซึ่งช่วงเวลาเดียวกันได้มีการเปิดตัวโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ อย่าง Weibo และ WeChat ที่มีกระแสการแชร์ภาพเซลฟี่บนโซเชียลมีเดียกันอย่างล้นหลาม
หลังจากปี 2013 Meitu ได้ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดด้วยการปล่อยผลิตภัณฑ์อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น BeautyCam และ MakeupPlus ที่เน้นในเรื่องการแต่งรูปภาพเป็นหลัก อีกทั้งยังมี Meitueve และ Meitu Genius ที่ช่วยวิเคราะห์สภาพผิวหน้า และจำลองการแต่งหน้าในรูปแบบต่าง ๆ
มากไปกว่านั้น บริษัทได้พัฒนาประสบการณ์การถ่ายเซลฟี่ที่ปรับใช้เทคโนโลยี AI และระบบ Google Cloud เพื่อจะได้ทำความเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้น โดยการเก็บข้อมูล และประมวลผล จนสามารถพัฒนากลายเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการใช้งาน อีกทั้งยัง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำงาน (Operational Costs) ของ Meitu ได้มากถึง 44%
จนในปัจจุบันแอป Meitu ประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลมากมาย อย่างเช่น “2021 China Mobile Internet Top 50 App by User Base” และ “The Most Influencer Award on Royal Flush 2021” ด้วยความตั้งใจที่ต้องการทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงความสวยความงาม ได้โดยการใช้เทคโนโลยีในการแต่งรูป
ตัวเลขการเติบโตของ Meitu ที่มีมูลค่าบริษัทมากถึง 5 พันล้านเหรียญ
ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานบนแอปพลิเคชัน Meitu มากถึง 456 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้รวมถึงผู้ที่ใช้บนแอปเป็นประจำ หรือ Active Users อีกด้วย มากกว่านั้นยังมีการดาวน์โหลดแอป Meitu บนสมาร์ทโฟนไปมากกว่า 2.34 พันล้านครั้งทั่วโลก
แอปแต่งรูปตัวนี้ไม่ใช้แค่ได้รับความนิยมภายในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก อย่างเช่น อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, ไนจีเรีย, แคนาดา และไทย ซึ่งมากกว่า 63% ของผู้ใช้งานอยู่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ กับอีก 38% อยู่ในประเทศอื่น ๆ
สำหรับ Meitu แล้ว ยอดผู้ใช้งานต่อเดือน (Monthly Active Users) เป็นตัวกำหนด หรือบ่งชี้ความสำเร็จของธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งเราเรียกกันว่า North Star Metric
ในวงการ Startup ของตลาดแอปแต่งรูปส่วนใหญ่ จะไม่ได้ยึดติดความสำเร็จจากยอดดาวน์โหลดบนสมาร์ทโฟน เพราะมีจำนวนผู้ใช้งานหลายคนโหลดแล้วไม่ได้ใช้งานจริง
ในปี 2018 ยอดผู้ใช้งานแอปแต่งรูป Meitu มีจำนวน 59.59 ล้านคนต่อเดือน และได้เพิ่มขึ้นไปถึง 261 ล้านคนต่อเดือนในปี 2021 จากที่ตั้งเป้าไว้ 200 ล้านคน ซึ่งอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งาน Meitu ต่อเดือนอยู่ที่ 262% เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน โดยการมอบคุณค่า และแก้ปัญหา Pain Points ที่ต้องการทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีรูปลักษณ์ที่ดี ผ่านการใช้แอปแต่งรูปที่ง่าย และสะดวกสบายยิ่งขึ้น
หลังจาก Meitu ได้เปิดตัวมาได้ประมาณ 14 ปี ก็สามารถชนะคู่แข่งหลักอย่าง Baidu, IMI และ 500px ที่อยู่ในตลาดแอปแต่งรูปไปได้
ในปี 2016 Meitu มีรายได้รวมอยู่ที่ 239 ล้านหยวน (ประมาณ 1,261 ล้านบาท) และมีรายรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเรื่องในปี 2018 จำนวนทั้งหมด 620.9 ล้านหยวน (ประมาณ 3.2 พันล้านบาท) ในทางกลับกัน Meitu ได้ประสบปัญหากับการที่รายรับลดน้อยลงในปี 2019 ถึง 37.8% หรือขาดทุนอยู่ที่ 190 ล้านหยวน (ประมาณ 896 ล้านบาท)
เนื่องจากมีจำนวนคู่แข่งที่ได้ผลิตแอปแต่งรูปที่คล้ายกันออกมาในเรื่องของฟีเจอร์ และผลกระทบอย่างหนักจากข่าวทางลบ ที่มีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยพัฒนา User Experience บนแอปแต่งรูป สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ >> ที่นี่
จากการที่ Meitu ได้ปรับใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ และอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ให้แก่ผู้ใช้งาน ทำให้รายได้ขึ้นมาอยู่ที่ 1.19 พันล้านหยวน (หรือประมาณ 6.2 พันล้านบาท) ในปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 22.1%
สัดส่วนรายได้ของ Meitu สามารถแบ่งออกเป็น 57% จากโฆษณาออนไลน์, 17% จากการสมัครแพ็คเกจแบบพรีเมี่ยม รวมไปถึงการซื้อภายในแอป และอีก 20% เป็นรายได้จากส่วนอื่น ๆ
กลยุทธ์ความสำเร็จของ Meitu แอปยอดนิยมครองใจนักแต่งรูป
1. กลยุทธ์ตอบโจทย์ Pain Point ผู้ใช้งาน
ตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งบริษัท Xinhong Wu ต้องการที่จะตอบโจทย์ Pain Points จากปัญหาที่ผู้ใช้งานพบ จากความต้องการที่อยากให้ตัวเองมีรูปลักษณ์ที่ดูดี โดยไม่ต้องศัลยกรรม และเสียเงินในการซื้อเครื่องสำอาง ดังนั้น Meitu เลยคิดค้นฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเป้าหมายหลักที่เป็นผู้หญิงนั่นเอง
และอีกหนึ่งความต้องการของผู้ใช้งานแอปแต่งรูปก็คือ การใช้งานง่าย ซึ่งบางครั้งพวกเขาต้องการฟีเจอร์ หรือฟิลเตอร์ที่สามารถถ่ายรูปเสร็จ แล้วลงได้ทันที เพื่อนเน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว
Meitu ได้ดึงฟีเจอร์ หรือเครื่องมือที่มีความซับซ้อนในการแต่งรูปบนโปรแกรมให้ใช้สะดวกสบายมากขึ้นด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง เนื่องจากโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์แต่งรูปเหล่านั้น จำเป็นต้องมีความชำนาญในระดับหนึ่ง เพื่อทำให้ภาพออกมาสวยงามตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ทั้งยังมีลูกเล่นทีโดดเด่นทั้งฟังก์ชัน รวมถึงเมนูลัดสำหรับแก้ไขรูปภาพ โดยมีฟิลเตอร์ Beauty ที่ทำให้ดูดีขึ้นโดยมีเทคโนโลยี AI มาช่วยสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่โดดเด่น นั่นก็คือ การลบคน หรือวัตถุที่ไม่ต้องการบนรูปภาพของเรา โดยเข้าไปที่ยางลบ และทำการลากลงวัตถุที่ต้องการลบในเวลาอันสั้น
นอกจากฟีเจอร์หลักที่ Meitu ได้มอบให้ผู้ใช้งานในเรื่องของการแต่งรูปบนแอป ให้มีรูปลักษณ์ดูดีขึ้นแล้ว บริษัทยังมีฟังก์ชั่นอื่น ๆ อย่างเช่น การตัดต่อรูปภาพ, รูปภาพตัดปะ, ตัดต่อวิดีโอ และ Meitu Highlight ที่เป็นเครื่องมือให้ตกแต่งเป็นรูปการ์ตูนอีกด้วย
ในอนาคต Meitu จะมีการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ โดยประโมตคอนเซ็ปต์ Social Interactions เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงกันได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น มี Private Album ที่สามารถเก็บรูปภาพไว้บนระบบ Cloud ได้ และสามารถส่งต่อให้เพื่อน แชร์ คอมเมนต์ หรืออัปโหลดรูปภาพเวลาไหนก็ได้ ซึ่งทำงานคล้าย Social Media Platforms
2. โมเดลธุรกิจสร้างรายได้แบบ Subscription และ In-App Purchase
หลาย ๆ ธุรกิจหันมาปรับใช้โมเดลธุรกิจในรูปแบบ Subscription ที่จะคิดค่าบริการทั้งรายเดือน และรายปี การทำโมเดลธุรกิจแบบนี้ ยังบ่งบอกถึงการกลับมาใช้ซ้ำของกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์รายได้ และพฤติกรรมของผู้ใช้งานในอนาคต รวมไปถึงลดอัตราที่จะเลิกใช้บริการ ฉะนั้น Meitu ได้เห็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น จึงปรับใช้โมเดลธุรกิจนี้บนแอปแต่งรูปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ พร้อมมอบคุณค้าให้กับผู้ใช้งานแอปแต่งรูป
ในปี 2020 ที่ผ่านมา Meitu ได้กล่าวว่า เป็นปีแรกที่สร้างกำไรได้ทุกไตรมาสนับตั้งแต่วันเปิดตัว และช่องทางการสร้างรายได้หลักของ Meitu นั้น ส่วนหนึ่งมาจากโมเดลธุรกิจ Membership Subscription และ In-App Purchase (รายได้ส่วนใหญ่มากจากสมาร์ทโฟน)
เนื่องจากผู้ใช้งานไม่ต้องการให้มีโฆษณาอยู่บนแอป Meitu ขณะที่พวกเขากำลังแต่งรูป รวมไปถึงความต้องการพรีเมี่ยมฟิลเตอร์ หรือสติกเกอร์ที่มีการอัปเดตทุก ๆ ช่วงเทศกาล ซึ่งส่วนน้ีก็เป็นอีกหนึ่ง Pain Point ผู้ใช้งานได้พบในหลาย ๆ แอปพลิเคชันในเรื่องของโฆษณาขัดจังหวะ หรือฟีเจอร์ที่มากพอกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย อย่างเช่น YouTube, Tinder และ Spotify
สำหรับค่าสมาชิก Subscription ในประเทศจีนนั้นจะตกอยู่ที่ประมาณ 12 หยวนต่อเดือน (ประมาณ 57 บาท) และสามารถจ่ายแบบรายปีที่ราคา 98 หยวน (ประมาณ 466 บาท) จนตอนนี้มีจำนวนผู้ใช้งานที่จ่ายเงินเพื่อพรีเมี่ยมฟีเจอร์มากกว่า 1.7 ล้านคนทั้งในประเทศจีน และต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทยนั้น จะมีค่าบริการที่สูงกว่า และตัวเลือกระยะเวลาที่หลากหลายกว่า สำหรับ 1 เดือน, 3 เดือน หรือ 1 ปี จากราคาเริ่มต้นที่ 169 บาท จนถึง 699 บาท (58.25 บาทต่อเดือน) และสามารถทดลองใช้ฟรี 7 วัน พร้อมบริการพรีเมี่ยมพีเจอร์ กับฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น ยกเลิกโฆษณากวนใจ และฟิลเตอร์ที่เพิ่มขึ้นมา มากกว่า 1000 ตัว สามารถศึกษาข้อมูลการสมัครสมาชิกได้ >> ที่นี่
3. การร่วมมือกับแบรนด์ดังด้วยกลยุทธ์ Cooperation
กลยุทธ์แบบร่วมมือ (Cooperation) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับธุรกิจที่มีเป้าหมายเดียวกัน มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันในส่วนของทรัพยากร และศักยภาพของบุคลากร ส่งผลให้เกิดข้อได้เปรียบในตลาดนั้น ๆ ซึ่ง Meitu ได้จับมือกับแบรนด์ดังมากมาย ในรูปแบบ Marketing Cooperation เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายหลัก นั่นก็คือ การเพิ่มจำนวน Monthly Active User
โดย Marketing Cooperation เป็นการร่วมมือในทางการตลาดระหว่าง Meitu กับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อโปรโมตชื่อเสียง หรือการรับรู้ของแบรนด์นั้น ๆ โดยเน้นไปที่ผู้หญิงเป็นเป้าหมายหลัก
ยกตัวอย่างแบรนด์ La Mer ที่ต้องการจะเปิดตัวคุชชั่นตัวใหม่ในประเทศจีน อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการดึงดูดลูกค้าผู้หญิง เพื่อโปรโมตในคอนเซ็ปต์ “Luxury Maintenace for Flawless Skin”
Meitu ได้ร่วมมือกับ La Mer โดยการใช้แอปแต่งรูปเป็นสื่อกลางเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ใช้งานในธีม 12-hour Sustained Beauty และสร้างเอฟเฟกต์ Augmented Reality (AR) สำหรับจำลองการใช้ผลิตภัณฑ์ในแต่ละช่วง (ตอนเช้า, ช่วงออกแดด และช่วงกลางคืน) จนมีผู้ใช้งาน AR มากกว่า 35 ล้านครั้ง และมีอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์มากถึง 121.7%
นอกจากจำนวนการดาวน์โหลดที่เพิ่มสูงขึ้นจากแคมเปญเหล่านี้แล้ว Meitu ยังสามารถเพิ่มจำนวน Active Users บนแอปแต่งรูปที่ลูกค้าจาก La Mer ได้ทดลองใช้แอปแต่งรูปได้อีกด้วย
สรุปทั้งหมด
Meitu ถือเป็นอีกแอปพลิเคชันแต่งรูปอันดับต้น ๆ ที่ได้รับผลตอบรับที่ดี และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในเชิงของจำนวนตัวเลขผู้ใช้งานต่อเดือน และการร่วมมือกับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มชื่อเสียงและการรับรู้ของธุรกิจ
จากการที่ Meitu ได้ตอบโจทย์ และพัฒนาแอปพลิเคชันแต่งรูปให้มีฟีเจอร์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ เนื่องจากต้องการความรวดเร็วในการแต่งรูปภาพ และมีรูปลักษณ์ที่ดูดี บริษัทจึงได้มอบคุณค่าเหล่านั้นให้กับผู็ใช้งาน ปัจจุบัน Meitu สามารถทำรายได้มากถึง 6.2 พันล้านบาท และยอดผู้ใช้งานต่อเดือนอยู่ที่ 261 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของบริษัท