ในช่วงที่คุณต้องทำงานแบบ Remote Working คุณเคยเจอปัญหาการระดมไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือวางกลยุทธ์ต่าง ๆ มาบ้างหรือไม่? เราเชื่อว่าหลายคนคงเจอปัญหาที่ว่าระดมไอเดียไม่สะดวกเหมือนตอนที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันที่ออฟฟิศ หรือมีไอเดียเจ๋ง ๆ แต่ไม่สามารถอธิบายความคิดของเราออกมาเป็นภาพให้คนอื่นเข้าใจได้
Miro จึงเกิดมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์ม Visual Collaboration ที่ทำให้ปัญหาข้างต้นหมดไป และในช่วง Remote Working ที่ผ่านมา Miro ก็เป็นที่นิยมมากขึ้นจนกลายเป็นซอฟต์แวร์ที่มีการเติบโตแบบสุดขีด โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 30 ล้านคนทั่วโลก และล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Miro ก็เพิ่งมีการระดมทุนในรอบ Series C ทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
ในบทความนี้ The Growth Master จึงจะพาทุกคนไปดูกันว่า Miro แพลตฟอร์มไวท์บอร์ดออนไลน์ใช้กลยุทธ์อะไรถึงทำให้บริษัทเติบโตได้ขนาดนี้ ไปติดตามกันได้เลย
Miro คืออะไร? รู้จักซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้การระดมไอเดียเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม
Miro คือ ซอฟต์แวร์กระดานไวท์บอร์ดออนไลน์ที่ช่วยให้การระดมไอเดียระหว่างคุณกับทีมเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน จะทำงานแบบ Remote Working ก็ทำได้อย่างง่ายดาย ไม่ประสิทธิภาพไม่มีตก และสามารถทำให้ทีมเห็นภาพไอเดียของเราเป็นภาพเดียวกันได้เหมือนตอนที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาที่ออฟฟิศ
เพราะด้วยความที่ Miro มีการทำงานเป็นแบบกระดานไวท์บอร์ดแบบ Infinite Canvas ที่ไม่จำกัดพื้นที่ ทำให้การระดมไอเดียไม่มีสะดุด ไร้ขอบเขต แถมมีลูกเล่นหลากหลาย เช่น มีเทมเพลตให้เลือกใช้มากมาย, สามารถนำ Post-it มาแปะ, วาดรูป, คอมเมนต์งาน, ปรับแก้ไอเดีย ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมานั้น เราสามารถทำงานได้พร้อมกันกับทีมได้แบบเรียลไทม์แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นี่จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนหลงรัก Miro มาก ๆ
สำหรับใครที่อยากดูรีวิวการใช้งาน Miro เพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ Miro – Online Whiteboard ที่จะช่วยให้บริษัทของคุณครีเอทีฟได้อีก
ประวัติความเป็นมาของ Miro ที่ผ่านการรีแบรนด์หนึ่งครั้งจากเดิมที่มีชื่อว่า RealtimeBoard
Miro ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 โดย Andrey Khusid ชายหนุ่มชาวเนเธอแลนด์ ซึ่งเขามีเป้าหมายที่จะสร้างเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานของทีมที่ต้องทำงานอยู่ไกลกันเกิดความร่วมมือที่ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ราวกับว่าพวกเขานั่งทำงานอยู่ในห้องเดียวกัน
โดยแรกเริ่ม Andrey Khusid มานั่งคิด ๆ ดูว่าจะทำอะไรดี ซึ่งเขาก็ได้เห็นว่าการ Disrupt เทคโนโลยีจะเป็นทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดในโลกที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เขาจึงคิดที่จะลบล้างการทำงานแบบเดิม ๆ ทิ้งไป และเปลี่ยนโลกการทำงานให้ง่ายและมีความสะดวกยิ่งขึ้น
และเขาก็ได้ค้นพบว่าในหลาย ๆ บริษัทมักจะใช้กระดานไวท์บอร์ดที่เป็นเสมือนสถานที่จุดเริ่มต้นที่ผู้คนในทีมมักจะมานั่งรวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันความคิด แสดงความคิดเห็น รวมถึงแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือกลยุทธ์ทางการตลาดต่าง ๆ
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเลือกที่จะเข้าไป Disrupt กระดานไวท์บอร์ดทั่วไปให้เปลี่ยนกลายมาเป็นไวท์บอร์ดออนไลน์แทน เขาจึงได้สร้างเครื่องมือที่มีชื่อว่า RealtimeBoard ออกมาในที่สุด โดยเขาได้ใช้ความรู้เดิมจากที่เขาเคยเป็นอดีต Graphic Designer และคนที่ดูแลเอเจนซี่โฆษณามากว่า 7 ปีในการพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นมา
การทำงานของ RealtimeBoard จะมีลักษณะเป็นกระดานไวท์บอร์ดเสมือนจริงแต่ไร้ขอบเขต ทำให้ทีมสามารถระดมกันไอเดียกันได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่ต้องกลัวว่าเมื่อขีด ๆ เขียน ๆ แสดงไอเดียไปแล้วพื้นที่ของกระดานจะหมด และที่สำคัญ คนในทีมไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกลก็สามารถทำงานแบบออนไลน์ร่วมกันได้แบบเรียลไทม์อีกด้วย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป Andrey Khusid มองว่าชื่อ RealtimeBoard ฟังดูเป็นคำที่เป็นไปในเชิงเทคนิคมากเกินไป และไม่ค่อยสอดคล้องกับผู้ใช้งานในวงกว้างสักเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่ได้มีความสนใจในเทคโนโลยี เขาจึงตัดสินใจทำการรีแบรนด์ใหม่โดยมีเป้าหมายว่าอยากได้ชื่อที่น่าจดจำ ออกเสียงง่าย สะกดง่าย ช่วยบ่งบอกตัวตนของแบรนด์ รวมถึงเล่าเรื่องซอฟต์แวร์นี้ได้ในหนึ่งคำ และสุดท้ายชื่อที่ตอบโจทย์ความต้องการของเขาที่สุด คือ Miro นั่นเอง
“Everything I do is designed to try and make Miro a spherical company” - Miro's Andrey Khusid
Miro มีที่มาจากชื่อของศิลปินชาวสเปนที่มีชื่อเสียงในการวาดภาพที่มีรูปทรงแตกต่างกัน พร้อมด้วยสีสันสดใสเด่นชัดมากมาย (คล้ายกันกับที่เราเห็นภาพและสีสันของ Miro ในปัจจุบัน) และเมื่อผู้ใช้งานเห็นว่าภาพลักษณ์ของ Miro มีความเกี่ยวข้องและเป็นมิตรกับพวกเขาเพียงใด ก็จะยิ่งดึงดูดให้พวกเขามาใช้งาน Miro ได้มากยิ่งขึ้น และสามารถแสดงสกิลทางด้านศิลปะออกมาบนไวท์บอร์ดได้อย่างเต็มที่และไร้ข้อจำกัด เขาจึงตัดสินใจทำการประกาศรีแบรนด์ใหม่ จาก RealtimeBoard เป็น Miro เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา
หลังจากที่ทำการรีแบรนด์แล้ว Miro ก็ค้นพบว่าไวท์บอร์ดออนไลน์นี้ สามารถดึงดูดให้คนมาใช้งานเพิ่มขึ้นได้จริง อีกทั้งยังช่วยปลดล็อกศักยภาพ สกิล และทักษะต่าง ๆ สำหรับการทำงานของทีมได้เป็นอย่างดี และเรียกได้ว่า Miro ได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบพื้นฐานเดิม ๆ ของผู้คนไปทันที จากที่เคยระดมไอเดียที่ไวท์บอร์ดของจริงที่มีพื้นที่จำกัด ก็ย้ายมาทำงานและช่วยกันระดมไอเดียบน Miro แทน
ปัจจุบันมีผู้คนกว่า 30 ล้านคนทั่วโลกได้ร่วมกันถ่ายทอดความคิดเห็น และไอเดียต่าง ๆ ข้ามพรมแดน ขอบเขตเวลา ภาษา ลูกค้า ทีม และโปรเจกต์ต่าง ๆ ผ่านการใช้ภาพที่เป็นสากลกันมากยิ่งขึ้น และบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 100 ก็ถือว่าเป็นลูกค้าของ Miro เกือบทั้งหมดแล้วด้วย
ตัวเลขการเติบโตของ Miro บริษัทที่ขยายการเติบโตมากกว่า 500% ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี
หากพูดถึงตัวเลขการเติบโตของ Miro ก็ถือว่ามีความไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะตั้งแต่ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน Miro มีการระดมทุนไปทั้งหมด 4 ครั้งด้วยกัน ในรอบ Seed, รอบ Series A, รอบ Series B และล่าสุดในรอบ Series C
สำหรับการระดมทุนครั้งแรกของ Miro ในรอบ Seed มีการระดมทุนเป็นจำนวนเงิน 1.3 ล้านดอลลาร์ นำโดย AltaIR Capital เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2017 ส่วนในรอบ Series A บริษัทก็ระดมทุนได้มากถึง 25 ล้านดอลลาร์ นำโดย Accel เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2018
ต่อมาในเดือนเมษายน ปี 2020 Miro ก็ได้ปิดการระดมทุนในรอบ Series B ด้วยมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ นำโดย ICONIQ Capital ทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงถึง 725 ล้านดอลลาร์ (ซึ่ง ICONIQ Capital เคยลงทุนในบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Zoom, Airbnb, Uber และอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน)
และครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 ที่ผ่านมา Miro ได้ประกาศการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ด้วยมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ จาก ICONIQ Capital ในรอบ Series C นั่นทำให้บริษัทมีเงินทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 476 ล้านดอลลาร์ และบริษัทถูกประเมินมูลค่าสูงถึง 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนั้น อย่างที่เราเคยบอกไปในตอนต้นว่า Miro เป็นบริษัทที่มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการสร้างเครื่องมือที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตการทำงานแบบเดิม ๆ ของผู้คน จากที่เคยพูดคุยกันหน้าไวท์บอร์ดจริง ๆ ก็เปลี่ยนให้มาทำงานบนไวท์บอร์ดออนไลน์ที่ไม่ว่าทีมจะกระจายกันอยู่ที่ส่วนในของโลกก็สามารถเข้ามานั่งทำงานด้วยกันได้แบบเรียลไทม์
และในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้ผู้คนที่ทำงานในองค์กรทั่วโลกนิยมหันมาใช้งาน Tool อย่าง Miro เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการระดมไอเดียระหว่างทีมในช่วงที่ต้องทำงานแบบ Remote Working ความตั้งใจของ Miro ก็กลายเป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เพราะเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ที่ผ่านมา Andrey Khusid (CEO ของ Miro) ได้ประกาศว่า Miro มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคนไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 (ช่วงเวลาหลังจากการระดมทุนในรอบ Series B) จากตัวเลขนี้ก็แสดงให้เห็นทันทีว่า Miro ได้เติบโตขึ้นแบบสุดขีดถึง 300% เลยทีเดียว
และเรียกได้ว่า Miro สามารถขยายฐานผู้ใช้งานได้มากถึง 500% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี (จาก 5 ล้านคน เป็น 30 ล้านคน) และ Miro ก็สามารถขยายฐานลูกค้าแบบชำระเงินจาก 20,000 คน เป็น 130,000 คนได้อีกด้วย ถือว่าเติบโตขึ้นถึง 550% (ปัจจุบันนี้ Miro มีผู้ใช้งาน 30 ล้านคน)
กลยุทธ์ที่ Miro ใช้จนสามารถสร้างการเติบโตมากถึง 3 เท่าในทุก ๆ ปี
กลยุทธ์การเติบโตหลักที่ Miro นำมาใช้สร้างการเติบโต มีชื่อเรียกว่า Product-Led Growth ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจใช้ผลิตภัณฑ์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการดึงดูดลูกค้าใหม่ รักษาลูกค้าเดิม ขยายธุรกิจให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงใช้สร้างรายได้จากผู้ใช้งานอีกด้วย เราไปดูกันว่า Miro จะใช้กลยุทธ์ Product-Led Growth โดยมุ่งเน้นไปที่อะไรบ้างถึงสามารถสร้างการเติบโตได้มากถึง 3 เท่าในทุก ๆ ปี
1. User Experience ต้องเป็นที่หนึ่ง
สำหรับ Miro แล้ว เป้าหมายในการทำให้กระดานไวท์บอร์ดออนไลน์เข้ามาเปลี่ยนการทำงานแบบเดิม ๆ ของผู้คนก็ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำธุรกิจของพวกเขา เพราะฉะนั้นทีมงานจึงมุ่งเน้นในการสร้าง User Experience ให้ผู้ใช้ได้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน มีความยืดหยุ่น และที่สำคัญ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของทุกทีมในบริษัทได้ดีที่สุด
Miro บอกว่าบ่อยครั้งหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์มักจะมีการแนะนำการใช้งานไปทีละขั้นตอนแบบ Step by Step ซึ่งนั่นก็เป็นผลดีสำหรับผู้ใช้งานใหม่ที่ไม่เคยใช้งานผลิตภัณฑ์มาก่อน แต่สำหรับผู้ใช้งานส่วนหนึ่งก็ไม่ต้องการประสบการณ์แบบนั้น พวกเขามักจะเลือกกดข้ามและเข้าไปลองใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นด้วยตัวเองโดยตรงเลย
Miro ก็เข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดี จึงเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น แต่กลับสร้างเป็น Guide นำทางเล็ก ๆ และคำอธิบายเกี่ยวกับเครื่องมือนั้น ๆ แทน เมื่อผู้ใช้งานต้องการความช่วยเหลือจึงค่อยกดขึ้นมาศึกษาเพิ่มเติม (เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการบังคับให้ผู้ใช้งานต้องมาเรียนรู้ทีละขั้นตอนโดยที่พวกเขาไม่ต้องการ)
นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ Miro คือ พวกเขาพยายามสร้างผลิตภัณฑ์นี้ให้ออกมาใช้งานง่ายที่สุด โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องอ่านคำอธิบายก็สามารถใช้งานเองได้อย่างราบรื่น เขาจึงสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยการลอกเลียนแบบการใช้งานจากไวท์บอร์ดจริงที่ผู้คนมักจะใช้การขีดเขียนความคิดเห็น หรือแปะ Post-it ไอเดียของตัวเองลงไปในระหว่างการประชุม
สำหรับการลอกเลียนแบบนี้ก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพียงแต่แค่โยกย้ายจากออฟไลน์มาสู่ระบบออนไลน์แทน และจากที่ผู้ใช้งานเคยถูกจำกัดอยู่แค่ไวท์บอร์ดอันเล็ก ๆ ที่บางครั้งก็เขียนไม่พอ Miro จึงได้เปลี่ยนให้ไวท์บอร์ดออนไลน์นี้กลายเป็น Infinite Canvas ที่มีพื้นที่ไม่สิ้นสุดแทน ทำให้ไม่ว่าทีมจะมีไอเดียเยอะขนาดไหน ประสบการณ์การใช้งานไม่สะดุด และพื้นที่ก็จะไม่หมดลงแน่นอน
ดังนั้นประสบการณ์ของผู้ใช้งานจึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญมากที่สุดในกลยุทธ์ Product-Led Growth เพราะถ้าหากผลิตภัณฑ์มีการใช้งานยาก ซับซ้อน สร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี ผู้ใช้งานก็อาจจะรู้สึกอยากเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่คล้ายกันทันที ทำให้ Miro เสียโอกาสอะไรหลาย ๆ อย่างในการเติบโต มิหนำซ้ำพวกเขาก็อาจจะไปบอกต่อคนอื่น ๆ ด้วยว่าผลิตภัณฑ์ไม่ดี จนทำให้ชื่อเสียงไปในทางลบอีกด้วย
2. ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะกับทุกทีม
จากความตั้งใจของ Miro ที่จะเข้ามาเปลี่ยนการทำงานรูปแบบเดิมเหมือนที่เราเกริ่นไปข้างต้น Miro จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของเขาสามารถใช้ได้กับทุกทีม และ Miro เห็นว่าผู้ใช้งานแต่ละทีมมีความแตกต่างกัน ทางทีมจึงตั้งใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้งานได้ง่าย และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ใช้งานอย่างทั่วถึงที่สุด
ด้วยการเพิ่มลูกเล่นใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้ไวท์บอร์ดนี้เป็นมากกว่าไวท์บอร์ดเดิม ๆ เช่น ให้ Designer สามารถวาง Wireframe ของผลิตภัณฑ์เบื้องต้นได้ (ทั้งแบบ Browser, Phone, Tablet), ให้ทีม Marketer สามารถวางแผนแคมเปญการตลาดได้ พร้อมทั้งมีเทมเพลตให้ทุกทีมเลือกใช้มากมายมากกว่า 200 เทมเพลต ไม่ว่าจะเป็น Mind Map, Kanban Framework, Flowchart, Customer Touchpoint เป็นต้น
สำหรับใครที่อยากดูรีวิวการใช้งาน Miro เบื้องต้น สามารถดูได้ที่ > Miro – Online Whiteboard ที่จะช่วยให้บริษัทของคุณครีเอทีฟได้อีก
สำหรับรูปภาพด้านล่างนี้เป็นภาพตัวอย่างของเสียงจากผู้ใช้งานที่ให้คะแนน NPS 10 คะแนน พร้อมให้ความเห็นว่า Miro เป็นผลิตภัณฑ์ที่มี UX ดีที่สุดที่เขาเคยใช้มา ถ้าหากใครที่อยากสัมผัสถึงประสบการณ์ที่เรียบง่าย ไร้รอยต่อ และราบรื่นสุด ๆ เขาก็แนะนำ Miro ให้ทุกคนมาใช้งานอีกด้วย
และผลลัพธ์จากการที่ Miro ออกแบบมาให้ผู้ใช้งานทุกทีมสามารถใช้งานด้วยกันได้ ก็ทำให้ Miro กลายเป็นขวัญใจของผู้คนจนได้รับคะแนน CSAT มากถึง 92% และ NPS มากถึง 64 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย (44 คะแนน)
NPS (Net Promoter Score) คือ คะแนนความพึงพอใจจากลูกค้า รวมถึงโอกาสที่ลูกค้าจะแนะนำผลิตภัณฑ์นี้ต่อให้คนอื่น
CSAT (Customer Satisfaction Score) คือ คะแนนที่จะวัดความพึงพอใจว่า ลูกค้ามีความพึงพอใจต่อสินค้าหรือบริการที่ได้รับในระดับใด
3. โมเดล Freemium ให้ลูกค้าสัมผัสคุณค่าก่อน เงินตามมาทีหลัง
หนึ่งในกุญแจสำคัญของกลยุทธ์ Product-Led Growth ที่ Miro ยึดนำมาใช้เสมอ คือ การทำให้ผู้ใช้งานสัมผัสได้ถึงคุณค่าของกระดานไวท์บอร์ดออนไลน์อย่างรวดเร็วที่สุดก่อนที่จะจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ Miro จึงเลือกใช้โมเดลแบบ Freemium ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้งานเบื้องต้นได้ฟรี แต่ถ้าหากอยากได้ความสามารถของซอฟต์แวร์นั้นเพิ่มเติม ก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเพื่ออัปเกรดการใช้งาน
ที่ Miro ตั้งใจเลือกใช้โมเดล Freemium นี้ก็เพราะว่าโมเดลนี้จะเป็นตัวช่วยที่ให้ผู้ใช้งานมีเวลาตัดสินใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าควรจะจ่ายเงินเพื่อมาใช้งาน Miro หรือไม่ เพราะ Miro ต้องการให้ผู้ใช้งานสัมผัสถึงคุณค่าและประสบการณ์ที่พวกเขาจะได้รับจริงจากผลิตภัณฑ์ก่อน ถ้าหากผู้ใช้งานสัมผัสได้ถึงคุณค่าที่ Miro ตั้งใจที่จะมอบให้แล้ว พวกเขาก็จะยอมจ่ายเงินเพื่ออัปเกรดการใช้งานเองโดยอัตโนมัติ (หากใครที่อยากดูราคาแพ็กเกจของ Miro เพิ่มเติม สามารถดูได้ ที่นี่)
นอกจากนั้น ด้วยความที่ Miro เป็นซอฟต์แวร์กระดานไวท์บอร์ดออนไลน์ที่สนับสนุนให้คนในทีมมาระดมไอเดียร่วมกันได้ Miro จึงช่วยให้ผู้ใช้งานไปบอกต่อและชวนให้เพื่อนคนอื่น ๆ ในทีม (หรือทีมอื่นในบริษัท) มาทดลองใช้งานแบบไม่จำกัดจำนวนคนได้อีกด้วย ถ้าหากเพื่อนกลุ่มที่ชวนมารู้สึกถูกใจและได้รับคุณค่าที่แท้จริงของ Miro พวกเขาก็จะทำแบบเดียวกัน จนทำให้ Miro เกิดเป็นลูปการเติบโตที่ไม่สิ้นสุด ตามฉบับของ Growth Loop อีกด้วย
สำหรับการใช้งานในแพ็กเกจ Free ของ Miro สามารถชวนให้เพื่อนมาใช้งานได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่จะสามารถใช้งานได้เพียง 3 บอร์ดเท่านั้น หากอยากได้บอร์ดเพิ่มก็ต้องอัปเกรดเป็นแพ็กเกจที่มีราคาสูงกว่านี้
4. ให้ความสำคัญและมุ่งเป้าไปที่ North Star Metric
North Star Metric คือ ตัวชี้วัดในเชิงผลลัพธ์ (Output) ที่บริษัทใช้เพื่อมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจทั้งหมด เป็นค่าที่สะท้อนว่าธุรกิจของคุณสามารถส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังเป็นค่าที่ทำให้คนในบริษัททำงานโดยมีจุดมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกัน
Miro ตั้ง North Star Metric ของธุรกิจ คือ จำนวน Collaborative Board (Number of Collaborative Boards) เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า Miro มีโมเดลธุรกิจเป็นแบบ Freemium ซึ่งผู้ใช้งานจะสามารถเริ่มต้นใช้งานฟรีได้เพียง 3 บอร์ดเท่านั้น แต่ถ้าหากต้องการบอร์ดเพิ่ม พวกเขาก็ต้องยอมจ่ายเงินเพื่ออัปเกรดเป็นแพ็กเกจอื่นที่สูงขึ้น
นั่นเท่ากับว่าถ้าหาก Miro มีจำนวน Collaborative Board เพิ่มขึ้น ก็หมายความว่าผู้ใช้งานเห็นคุณค่าที่แท้จริงของ Miro แล้ว ซึ่ง Miro ก็ได้การพิสูจน์ว่าธุรกิจมีการเติบโตขึ้นจริงไม่ว่าจะเป็นในหมู่องค์กรเล็กหรือใหญ่ เพราะปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 30 ล้านคน และบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 100 เกือบทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นลูกค้าของ Miro หมดแล้ว
ทั้งหมดนี้ก็คงต้องย้อนไปที่เป้าหมายแรกของ Miro ที่ตั้งใจจะเข้ามาเปลี่ยนการทำงานแบบเดิมขององค์กรให้เป็นแบบใหม่ รวมถึงยังเป็นผลที่ Miro ได้ตั้งเป้า North Star Metric ไว้อย่างชัดเจน ทำให้ทีมเข้าใจภาพเดียวกันและมุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้ใช้งานรักในผลิตภัณฑ์ และได้รับประสบการณ์ที่ดีโดยแท้จริง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
สรุปทั้งหมด
จากกลยุทธ์ที่กล่าวไปข้างต้นคือตัวอย่างที่ทำให้การใช้งาน Miro มีการเติบโตขึ้นตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง Miro เลือกใช้หลักการ Product-Led Growth ในการขับเคลื่อนการเติบโต
เพราะเขาคิดว่าแนวคิดแบบเดิม ๆ มักจะพยายามสร้างการเติบโตโดยที่เริ่มต้นจากการตลาดและการขายเป็นหลัก จนบางครั้งไม่ได้สนใจการผลิตภัณฑ์เท่าที่ควร แต่สำหรับ Miro บอกว่าผลิตภัณฑ์ควรจะต้องมาเป็นที่หนึ่ง เพราะถ้าผลิตภัณฑ์ไม่ดี ไม่เข้าใจผู้ใช้งาน ไม่สามารถตอบโจทย์พวกเขาได้ ก็ไม่มีผู้ใช้คนไหนที่อยากจะใช้ผลิตภัณฑ์ของเขา
และทั้งหมดนี้คือตัวอย่างจากกลยุทธ์ Product-Led Growth ที่ Miro เลือกใช้สร้างการเติบโต จากนี้ต่อไปเราก็ต้องติดตามดูกันว่า Miro จะสร้างสรรค์ฟีเจอร์ใหม่ ๆ อะไรออกมาให้ผู้ใช้งานอย่างเราได้ใช้อีกในอนาคต