สำหรับคนที่ทำงานสายกราฟิก หรือไม่ว่าใครก็ตามที่หลงรักการดูรูปภาพ ต้องการหาแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะหรืองานกราฟิกต่าง ๆ เชื่อว่าแพลตฟอร์มที่พวกเขาต้องเคยกดเข้าไปดูและค้นหาสิ่งนั้นอย่างแน่นอน ก็คือ Pinterest
Pinterest เป็นบริการแชร์รูปภาพและโซเชียลมีเดียสัญชาติอเมริกัน ที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถบันทึกและค้นหาข้อมูลโดยเฉพาะ 'แรงบันดาลใจ' และ 'ไอเดีย' บนอินเทอร์เน็ต โดยใช้รูปภาพและภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอ ในรูปแบบของพินบอร์ด
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นโดย Ben Silbermann, Paul Sciarra และ Evan Sharp และข้อมูลในเดือนสิงหาคม 2020 บอกว่าแพลตฟอร์มนี้มีจำนวน Monthly Active Users มากกว่า 400 ล้านคนเรียบร้อยแล้ว
วันนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปดูเรื่องราวความเป็นมาว่ากว่าจะกลายมาเป็นแหล่งหาไอเดียและแรงบันดาลใจให้กับคนทุกสายอาชีพ พวกเขาต้องผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง แล้วทำอย่างไรถึงเติบโตได้ขนาดนี้ ไปอ่านกันต่อเลย
Pinterest แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นจากความหลงใหลในวัยเด็ก
Pinterest ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 โดย Ben Silbermann (CEO), Paul Sciarra และ Evan Sharp โดยมีเส้นทางเริ่มมาจาก Ben Silbermann ที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา
Ben Silbermann เด็กหนุ่มจากรัฐไอโอวา ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นหมอ และพี่น้องทุกคนก็เดินตามรอยพวกเขาไปเป็นหมอหมด แต่ Silbermann กลับมีความคิดที่แตกต่างออกไป เขาไม่ได้อยากเป็นหมอเลยสักนิด
Silbermann มีงานอดิเรกตั้งแต่วัยเด็ก นั่นคือ การสะสมแมลงและแสตมป์ รวมไปถึงชื่นชอบและหลงใหล Bill Gates, Walt Disney และ Steve Jobs เป็นอย่างมาก ซึ่งพวกเขานับว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ Silbermann อยากประสบความสำเร็จตามไปด้วย
ถึงแม้ว่าเขาจะเรียนวิชาทางด้านสายแพทย์มาจนถึงปีที่ 3 แล้ว แต่ยิ่งเรียนเขาก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่ใช่ เขาจึงตัดสินใจลาออก และไปศึกษาต่อสาขารัฐศาสตร์ ที่ Yale University และมีอาชีพแรกหลังจากเรียนจบคือ Consultant ที่บริษัทด้านไอทีแห่งหนึ่ง
แต่งานแรกทำให้เขาผิดหวังอย่างมาก เพราะมันไม่สนุกเลย ทุกวันชีวิตของเขาหมดไปกับการใช้โปรแกรม Spreadsheet เพื่อเรียงข้อมูลและตัวเลขลงไป เมื่อรู้ว่าตัวเองอยู่ผิดที่ซะแล้ว เขาจึงหวนไปนึกถึงความฝันในวัยเด็กที่อยากเป็นเหมือนกับ Steve Jobs ไอดอลของเขา จึงได้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ Silicon Valley รัฐ California สถานที่ที่ผู้คนวุ่นวายกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืน
หลังจากที่ย้ายมา ในที่สุด Silbermann ก็ได้เข้าทำงานที่ Google เป็นพนักงานฝ่ายสนับสนุนลูกค้า ซึ่งถ้าเราอ่านถึงตรงนี้ เราก็รู้สึกว่า ‘โอ้โห ได้ทำงานที่ Google บริษัทที่ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วยเลยนะ ยังไงมันก็ต้องดี น่าตื่นเต้น และน่าสนุกกว่าเดิมอยู่แล้ว’
แต่กลับกลายเป็นว่างานที่เขาทำใน Google มันก็ไม่ได้ต่างจากงานแรกสักเท่าไร เพราะต้องวิเคราะห์ข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญเขาต้องใช้ Spreadsheet ทำงานอีกแล้ว
และภาพในหัวของเขาก่อนที่เข้ามาทำงานที่ Google คือ เขาสามารถนำเสนอไอเดีย ออกแบบ และสร้างสรรค์แอปพลิเคชันใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ แต่มันไม่ใช่เลย… เขาไม่มีสิทธิ์นั้นด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘เขาไม่ได้จบวิศวกรคอมพิวเตอร์มา’
เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความผิดหวังให้ Silbermann เป็นอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจลาออกจาก Google ในปี 2008 เพื่อสร้าง Product ที่ตัวเองตั้งใจจะทำขึ้นมา
แต่มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ก่อนจะประสบความสำเร็จมันก็ต้องมีความล้มเหลวมาเป็นแรงผลักดัน...
หลังจากที่ลาออกจาก Google สหรัฐอเมริกาได้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ Subprime ขึ้นพอดี แต่ Silbermann ก็ไม่สนใจ และเริ่มทำสิ่งที่ตัวเองต้องการต่อไปโดยเริ่มชวน Paul Sciarra เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยมาร่วมก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Cold Brew Labs และสร้างแอปพลิเคชันที่ชื่อ Tote ขึ้นมา
ซึ่ง Tote เป็นแอปพลิเคชันสำหรับนำเสนอแคตตาล็อกสินค้าแฟชั่นสำหรับผู้หญิง แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก Tote ล้มเหลวไม่เป็นท่า พวกเขาไม่สามารถหาเงินทุนได้เลย เพราะสมัยนั้นผู้คนยังไม่นิยมซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ต ประกอบกับ App Store ยังไม่รองรับธุรกรรมทางการเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้ Tote ต้องปลิวหายไป
แต่คิดเหรอว่าทั้งสองคนจะยอมแพ้ง่าย ๆ ให้กับความล้มเหลวแค่นี้
หนึ่งปีต่อมา หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ Silbermann เริ่มนึกถึงงานอดิเรกในวัยเด็กที่เขาชอบที่เป็น ‘การสะสมผีเสื้อและแสตมป์’ จึงได้นำไอเดียนี้มาผสมกับ Tote จนกลายมาเป็นไอเดียใหม่และเกิดเป็น Pinterest อย่างเต็มตัว
ผู้ก่อตั้งทั้ง 2 คน ได้นำเรื่องราวความเชื่อมโยงระหว่าง ‘Pin’ การปักหมุด และ ‘Interest’ สิ่งที่เราสนใจมาประกอบกันเป็นเว็บไซต์ ซึ่งต่อมากลายมาเป็นแอปพลิเคชันด้วยในภายหลัง
ช่วงที่ Ben Silbermann ไปเยี่ยม Paul Sciarra ที่นิวยอร์คก็ได้พบกับ Evan Sharp ผู้ซึ่งเคยร่วมงานกับ Facebook ทั้งสามคุยกันเรื่อง Pinterest แต่ Evan เป็นคนเดียวที่เข้าใจในแพลตฟอร์มเป็นอย่างดี และสนใจใน Pinterest ทั้งคู่จึงช่วยกันทำงานจน Evan ได้กลายมาเป็น Co-Founder อีกคนของ Pinterest
ในที่สุด Ben Silbermann, Paul Sciarra และ Evan Sharp ก็ได้กลายมาเป็นผู้ก่อตั้ง Pinterest 1.0 ร่วมกัน
Pinterest ถูกออกแบบมาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการอัปโหลดรูปพร้อมข้อความในรูปแบบเป็นกล่อง ๆ โดยมีฟังก์ชัน Pin เป็นการปักหมุดในไอเดีย และพวกเขาก็ช่วยกันออกแบบตาราง (Grid) แสดงรูปภาพของ Pinterest ซึ่งมีมากกว่า 50 แบบไม่ซ้ำกัน และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ
จนกระทั่ง Pinterest เปิดตัวขึ้นในเดือนมกราคมปี 2010 Silbermann ตื่นเต้นมากและได้ส่งลิงก์ไปบอกต่อเพื่อน ๆ ของเขาหลายคน แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจเลยว่า Pinterest คืออะไร อีก 4 เดือนต่อมาก็มียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นเพียง 200 คนเท่านั้น และ Silbermann เองก็ขอเงินทุนเพิ่มด้วยแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะทีมของเขาไม่มีใครสักคนเลยที่จบวิศวกรคอมพิวเตอร์
นั่นทำให้เขามีแวบนึงที่คิดว่าจะกลับไปทำงานที่ Google ดีไหม แต่เขาก็ไม่ทำ เพราะไม่อยากทำให้เพื่อน ๆ ที่ร่วมฝ่าฟันอุปสรรคทุกข์สุขมาด้วยกันต้องผิดหวัง
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2010 ผู้หญิงที่ชื่อว่า Victoria (ต่อมาเธอกลายเป็นผู้จัดการฝ่าย Community ของ Pinterest ) ช่วยโปรโมทแพลตฟอร์มโดยใช้ชื่อว่า ‘Pin It Forward’ ซึ่งมันคือจดหมายลูกโซ่ เชิญชวนให้เหล่าบล็อกเกอร์มาแลกเปลี่ยน Pinboard กันในหัวข้อ ‘บ้านในความคิดของพวกเขาคืออะไร’
จากเหตุการณ์นี้ปลุกกระแสให้ Pinterest มีคนมาใช้งาน มาแลกเปลี่ยนไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ จนมีผู้ใช้งานมากขึ้นและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต หลายคนก็เริ่มที่จะเข้าใจคอนเซ็ปต์ที่แท้จริงของ Pinterest
สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อสารออกมาในรูปแบบของรูปภาพ 1 รูป พร้อมข้อความประกอบเป็นกล่อง ๆ รวมไปถึงการเชื่อมต่อลิงก์ไปยังผู้นำเสนอไอเดียโดยตรง และกลยุทธ์การตลาดของ Pinterest ในช่วงแรก คือ Silbermann ติดต่อ Content Creator ดัง ๆ หลายคน และนำเสนอว่า Pinterest กับเรื่องราวของคุณเป็นของคู่กัน
นั่นจึงทำให้คอนเทนต์ใน Pinterest เริ่มมีความหลากหลาย และเต็มไปด้วยสิ่งใหม่ ๆ ทำให้ทั้งผู้ใช้งาน และผู้นำเสนอไอเดียเชื่อมโยงเข้าถึงกัน และสามารถนำไปเป็นแรงบันดาลใจเพื่อต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นี่คือเรื่องราวของ Pinterest ที่เริ่มได้รับความนิยมจนเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จนปัจจุบันมีจำนวนยอด Monly Active Users ทะลุ 440 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว และ Pinterest ก็ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้น IPO ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เกือบ 9 ปีหลังจากเปิดตัว และเริ่มซื้อขายในวันที่ 18 เมษายน 2019
Pinterest เว็บไซต์ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์!
หลังจากเปิดตัวได้ 1 ปี Pinterest ติดอันดับ 1 ใน 10 เว็บไซต์โซเซียลที่ใหญ่ที่สุดในปี 2011 (แม้จะมีการคัดค้านการจัดหมวดหมู่นี้ก็ตาม) และทำลายสถิติเว็บไซต์ที่ถือว่ามีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยมียอด Monthly Active Users 10 ล้านคนต่อเดือน อีกทั้งการเปิดตัวแอปใน iPhone เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Pinterest มีการเติบโตของผู้ใช้งานอย่างรวดเร็ว
ในเดือนมีนาคม 2012 Pinterest ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น 50 เว็บไซต์ที่ดีที่สุดแห่งปีของ Time ซึ่งมีอันดับตามหลัง Facebook และ Twitter เฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา (ในช่วงก่อน Snapchat และ Instagram จะดังอีกด้วย)
นอกจากนั้น มีการเปิดตัวแอป Pinterest บน Android ทำให้จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นจาก 49 ล้านคน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 เป็น 70 ล้านคนในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน และเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 เท่า เป็น 150 ล้านคนภายในเดือนตุลาคม 2016 และอีกเกือบ 2 ปีต่อมา ในเดือนมีนาคม 2018 มีผู้ใช้งาน Pinterest อยู่ที่ 291 ล้านคน
จำนวน Monthly Active Users
สำหรับยอด Monthly Active Users เราจะเห็นได้ว่า Pinterest มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมาที่มีจำนวน 128 ล้านคนต่อเดือน จนกระทั่งมีจำนวนแตะ 300 ล้านคนครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 และข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 Pinterest มีผู้ใช้งานทะลุ 442 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (เท่ากับจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียรวมกัน)
รายได้ของ Pinterest
ในช่วงปี 2018 Pinterest สร้างรายได้ 755.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 60% ในปี 2017 และในปี 2019 Pinterest ก็ทำสถิติใหม่สร้างรายได้พุ่งทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเป็นครั้งแรกอีกด้วย ที่มาของแหล่งรายได้หลักก็คงหนีไม่พ้น ‘Promoted Pins’ (โฆษณาบน Pinterest)
ซึ่งมีบางคนแอบกล่าวไว้ว่า ‘Promoted Pins’ นี่แหละ เป็นตัวต้นแบบในการทำโฆษณาบน Instagram หรือบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ดังเช่นที่เราเห็นกันอย่างในทุกวันนี้
และเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2019 Pinterest ได้เข้าสู่ตลาดหุ้น New York ซึ่งราคาเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ของ Pinterest อยู่ที่ 19 ดอลลาร์ต่อหุ้น และบริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.4 พันล้านดอลลาร์ จึงทำให้บริษัทมีการประเมินมูลค่าอยู่ที่ 12.7 พันล้านดอลลาร์ในตอนนั้น
กลยุทธ์ทางการเติบโตของ Pinterest ที่แพลตฟอร์มอื่นก็ทำไม่ได้
วันนี้ The Growth Master จะพาไปดูว่าแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยไอเดียและแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่าง Pinterest จะมีกลยุทธ์อะไรที่ทำให้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ไปดูกันเลย
1. Pinterest for Business
การตลาดของ Pinterest กลายเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ขึ้นมาอีกช่องทางหนึ่ง โดย Pinterest ได้เปิดตัว ‘Pinterest for Business’ ขึ้นมาให้กับบริษัทหรือแบรนด์ที่ต้องการใช้ Pinterest เพื่อวัตถุประสงค์ด้านธุรกิจ
ซึ่งรายได้ของ Pinterest ครั้งแรกเกิดขึ้นมาในปี 2013 เมื่อให้ผู้คนมาลงโฆษณาใน 'Promoted Pins' แม้ว่า Pinterest จะไม่ได้เสนอ Pins เหล่านี้ให้กับกลุ่มผู้ชมที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็สามารถทำให้อัตรา Conversion สูงขึ้นได้
การทำการตลาดโดยใช้ 'Promoted Pins' บน Pinterest จะเวิร์กหรือไม่เวิร์กก็ขึ้นอยู่กับการจัดการอย่างถูกต้องของคุณเอง เช่น การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของคุณ เป็นขั้นตอนแรกในการทำให้แคมเปญโฆษณานั้น ๆ ประสบความสำเร็จ (หรือเรียกได้ว่าการทำการตลาดแทบทุกอย่างเลยที่ใช้หลักการนี้)
โดย Pinterest มีฐานผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิงมีฐานะร่ำรวยเป็นส่วนใหญ่ (มากถึง 80%) เพราะฉะนั้นการโฆษณาบน Pinterest จึงไม่สามารถใช้ได้กับทุกแบรนด์ (เช่น แบรนด์ที่เกี่ยวกับผู้ชาย) อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นแบรนด์เกี่ยวกับแฟชั่นสำหรับผู้หญิง, ของตกแต่งบ้าน, ความสวยความงาม หรือการทำอาหารต่าง ๆ ก็จะได้เปรียบหากทำการตลาดบน Pinterest
นอกจากนั้น เหล่า Pinner (คำเรียกผู้ใช้งาน Pinterest) ก็มีความ Loyalty ต่อแพลตฟอร์มนี้มาก และใช้เป็นแหล่งแรงบันดาลใจในชีวิตอย่างแท้จริง โดย 93% ของ Pinner กล่าวว่า พวกเขาใช้เว็บไซต์นี้เพื่อวางแผนการในการซื้อของและค้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในขณะที่ 50% ของผู้ใช้ ติดต่อไปยัง ‘Promoted Pin’ โดยตรง เพื่อซื้อสินค้าจากโฆษณานั้น ๆ
2. Pinterest Partnership
71% ของผู้ใช้ Pinterest ทั่วโลกเป็นเพศหญิง – Statista
เมื่อเราเจาะไปที่สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว Pinterest สามารถเข้าถึงผู้หญิงได้ถึง 83% ในช่วงอายุ 25-54 ปี และ 80% ของคนกลุ่มนี้ก็มักจะตัดสินใจซื้อของบนแพลตฟอร์ม Pinterest อีกด้วย
- 85% ของผู้หญิงใน Pinterest ใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อวางแผนการใช้ชีวิต เมื่อเทียบกับ 44% ใน Instagram และ 53% ใน Facebook
- 43% วางแผนที่จะมีบ้านในอุดมคติ ภายใน 5 ปีข้างหน้า
- 58% บอกว่าช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้ดี
ซึ่ง Pinterest นี่แหละ นับว่ามีอิทธิพลอย่างมากสำหรับการซื้อของของพวกเขา ถ้าเราลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากที่สุด เช่น การตกแต่งบ้าน บน Pinterest เรามักจะเห็นรูปที่สวยงาม ที่เราถือว่าเหมาะกับการเป็น Reference ในการแต่งบ้านมากที่ช่วยมากระตุ้นให้เราอยากมีของแบบเดียวกับรูปภาพนั้น
เมื่อคนที่อยากซื้อของจำพวกนี้มาเห็นรูปภาพแล้ว ในการซื้อของประเภทนี้ พวกเขา 'มักใช้อารมณ์ในการซื้อของมากกว่าเหตุผล' อยู่แล้ว ยิ่งมีรูปภาพสวย ๆ งาม ๆ มาล่อลวงใจ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่พวกเขาจะไม่ตัดสินใจซื้อของชิ้นนั้น
และ Pinterest ก็อำนวยความสะดวกให้พวกเขาแบบสุด ๆ โดยไม่ทำให้คนกลุ่มนี้เสียเวลาค้นหาร้านค้าที่มีสินค้าแบบเดียวกันกับในรูปที่ไหนไกล Pinterest มีปุ่ม 'Buy it' แปะไว้ให้แล้ว ซึ่งผู้ใช้งานคนไหนที่สนใจก็สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้เลย และไม่ต้องลิงก์ออกไปยังเว็บไซต์ร้านค้าแยกอีกด้วย
ซึ่งร้านค้าที่อยู่ใน BigCommerce, Shopify หรือ Salesforce Commerce Cloud ทาง Pinterest เองก็ไปเป็น Partnership ด้วยเรียบร้อยแล้ว สามารถขายของได้บน Pinterest เลย (แต่ก็ไม่แน่ใจว่า Pinterest เรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจาก Partnership เหล่านี้หรือไม่)
3. Pinterest Algorithm
Timeline
Pinterest จะแตกต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั่วไป ถ้าเปรียบเทียบกันกับ Facebook หรือ Instagram เมื่อเราโพสต์อะไรลงไปแล้ว ไม่กี่วันหลังจากนั้นโพสต์ก็จะหายไปจากหน้าไทม์ไลน์ของคนอื่น หรือแทบจะไม่มีใครเห็นโพสต์นั้นเลย ยิ่ง Twitter คงไม่ต้องพูดถึงเลย เจ้านี้มาไวไปไวมาก กะพริบตาทีนึงทวีตก็หายไปแล้ว
แต่ว่า Pin (โพสต์ของ Pinterest) มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน ทำให้คอนเทนต์บน Pinterest มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ เมื่อ Pinner บันทึกภาพลงบน Template ของพวกเขาเอง ทำให้เมื่อคนอื่นพิมพ์คีย์เวิร์ดค้นหารูปภาพอะไรไป จะทำให้ยังคงเจอโพสต์เหล่านั้นอยู่
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ Pinterest สามารถดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้งานได้เรื่อย ๆ และเจ้าของรูปภาพนั้น ๆ สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้รายอื่นออกไปที่เว็บไซต์ของตัวเองได้เหมือนกันผ่านลิงก์ที่แปะไว้
Guided Search
อย่างที่บอกไปว่า Pinterest เป็นแพลตฟอร์มที่มีฐานผู้ใช้งานเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะค้นหาอะไรไป ก็มักจะได้คำตอบเกี่ยวกับผู้หญิงขึ้นมาก่อน
เพราะฉะนั้น Pinterest เลยปรับปรุงให้มีปุ่ม Guided Search เพื่อจำกัดให้คำค้นหาให้แคบลงกว่าเดิม เพื่อที่ว่าให้ผู้ใช้ค้นหาสิ่งที่กำลังตามหาได้ง่ายขึ้น
อย่างเช่น ผู้ชายที่กำลังตามหา 'นาฬิกาข้อมือ' เรือนใหม่ ถ้าพิมพ์คำว่า 'Watch' ลงไปใน Pinterest ก็จะขึ้นเป็นนาฬิกาข้อมือของผู้หญิงมาให้ แต่ Guided Search ก็จะช่วยให้คุณผู้ชายเหล่านั้นตามหานาฬิกาได้เร็วขึ้น เพราะมีคำว่า 'For men' ขึ้นมาให้เรา (เหมือนในภาพตัวอย่างด้านล่าง)
แต่อย่างไรก็ตาม Guided Search ก็มีประโยชน์ในเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น ถ้าเราพิมพ์คำว่า 'Pancake' ลงไป แพลตฟอร์มก็จะช่วยเราไกด์สิ่งที่เรากำลังตามหาและตรงกับใจเรามาให้ด้วยก็ได้ อย่างในที่นี้ก็จะมี Recipe (สูตรการทำ), Banana (กล้วย), Pumpjin (ฟักทอง), Recipe easy (สูตรการทำฉบับง่าย), … เป็นต้น
สามารถดูวิดีโอแนะนำ Guided Search ได้ ที่นี่
The Growth Master พาไปดู Pinterest Tech Stack
รู้หรือไม่? Pinterest ใช้ Business Tech Stack อะไรบ้าง?
นอกจาก Pinterest จะมีกลยุทธ์ทางธุรกิจต่าง ๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นเบื้องหน้า ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปและมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แล้ว Pinterest ใช้ตัวช่วย Business Tech Stack อะไรบ้างที่ทำให้องค์กรและทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นแหล่งแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยมให้กับผู้คนทั่วโลกขนาดนี้กันนะ The Growth Master ก็จะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยนี้กันเลย
Slack - ตัวช่วยด้านการสื่อสารขององค์กรที่ทำให้ทุกคน ทุกแผนกสามารถเข้าถึงกันได้ง่าย ๆ อีกทั้งยังสามารถใช้ฟีเจอร์ที่ Slack ได้รวบรวมมมา เช่น การคอล การส่งข้อความ หรือการแชร์ไฟล์งานต่าง ๆ ได้อีกด้วย
Jira - ซอฟต์แวร์ Project Management ที่นิยมใช้สำหรับองค์กรที่มีการทำงานแบบ Agile ที่ช่วยในด้านของ Project Management และ Bug Tracking ผ่านการ Plan, Track, Release และ Report รายงานข้อมูลเชิงลึกของงานออกมาแบบ Real-Time
G-Suite - เป็น Product จาก Google ซึ่งเป็นการแชร์ข้อมูลแบบ Cloud สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจ ทำให้ไม่ว่าอยู่ที่ไหน คนในองค์กรก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา บนทุกอุปกรณ์ เมื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แถมที่สำคัญยังมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Gmail, Google Drive, Google Calendar, Google Meet เป็นต้น
Asana - เครื่องมือช่วยในการจัดการกับโปรเจ็กต์ และ Task งานต่าง ๆ วางแผน ติดตามงานได้ง่ายที่สุด โดยสามารถใช้งานร่วมกับทีมงานได้ และสร้าง Timeline กำหนดเป้าหมายและระยะเวลาในรูปแบบของ Board, Calendar หรือ Listview ก็ได้ ทำให้ทีมงานติดตามความคืบหน้าของงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น
Zendesk - ซอฟต์แวร์ Help Desk เป็นระบบที่ช่วยในด้าน Customer Support, Customer Service หรือ CRM สำหรับธุรกิจออนไลน์ทุกประเภท โดยทำงานบนระบบ Cloud ที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรและเพิ่มความพึงพอใจให้กับฝั่งลูกค้าหรือเจ้าหน้าที่ Support ของคุณเองอีกด้วย
OneLogin - ซอฟต์แวร์การลงชื่อเข้าระบบเพียงครั้งเดียว (Single Sign-On: SSO) โดยใช้ข้อมูลที่อยู่บน Cloud เช่น ให้ Login ด้วย Username และ Password ครั้งเดียว ก็สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังช่วยบริหารจัดการข้อมูลพิสูจน์ตัวตนที่ใช้ได้อย่างรวดเร็ว และความเป็นหนึ่งเดียวกันมาสู่องค์กรยุคใหม่อีกด้วย
AnyPerk - แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถส่งมอบสิทธิพิเศษ รางวัล และส่วนลดให้กับพนักงานได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของพนักงานอีกด้วย
Hiver (ชื่อเก่า GrexIt) - ซอฟต์แวร์ที่อำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันทางอีเมลโดยให้ผู้ใช้แชร์ป้ายกำกับอีเมล (Email Labels) และทำงานร่วมกันในด้านการขาย, การซัพพอร์ต, การจ้างงาน, การจัดการโครงการ (Project Management) และการดำเนินงาน บนกล่องจดหมายได้เลย
สรุปทั้งหมด
Pinterest ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เกิดมาจากความหลงใหลอันล้ำค่าในวัยเด็กของตัว CEO เอง บวกกับความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคจนสามารถสร้างสิ่งที่อยากทำออกมาได้สำเร็จ และกลายเป็นบ่อเกิดของการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ และแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้คนอื่น ๆ อีกด้วย
แต่อย่างไร ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวลือออกมาว่า Microsoft สนใจซื้อกิจการ Pinterest ด้วยจำนวนเงินกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ Pinterest ก็ยังไม่ได้ออกมาพูดอะไร นี่ก็นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่สร้างพลังและกำลังใจให้กับผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้บริษัทไปในตัวด้วย แต่เราก็ต้องมาจับตาดูต่อไปว่า Pinterest จะทำยังไงกับดีลของ Microsoft อีกในอนาคต