ในปี 2021 นี้ เมื่อเอ่ยคำว่า TikTok ออกมาแล้ว เชื่อว่าพวกเราทุกคนส่วนใหญ่ไม่มีใครไม่รู้จัก TikTok แอปพลิเคชันความบันเทิงจากจีนที่เอาไว้สร้างวิดีโอความยาวประมาณ 15-60 วินาที ที่มีคอนเทนต์หลากหลายทั้ง ร้อง เล่น เต้น หรือลิปซิงค์เลียนแบบคำพูดของบุคคลที่กำลังตกเป็นกระแสอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ
และเนื่องจากเหตุการณ์ Covid-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2020 ส่งผลให้ทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน และมี TikTok นี่แหละที่เป็นเพื่อนที่สร้างความบันเทิงคลายเหงาได้ นั่นทำให้ แพลตฟอร์มนี้ได้รับผลกระทบเชิงบวกไปเต็ม ๆ จนขึ้นแท่นแอปที่ดังเป็นพลุแตกไปทั่วโลก และมีตัวเลขผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็น 1 ใน 5 เหตุผลที่ทำให้นักการตลาดส่วนใหญ่เริ่มหันมาให้ความสนใจแพลตฟอร์มสุดฮิตที่ชื่อ TikTok นี้เป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นช่องทางที่สามารถทำรายได้ให้กับธุรกิจอย่างดีเยี่ยมอีกหนึ่งช่องทาง
วันนี้ The Growth Master จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแอปพลิเคชัน TikTok นี้ให้มากขึ้น และดูสถิติตัวเลขการเติบโต รวมถึงกลยุทธ์ที่สะกดให้ผู้ใช้ติดใจจนไม่สามารถกดออกจากแพลตฟอร์มได้เลย
การเดินทางที่ใช้เวลาไม่นานของ TikTok จากสตาร์ทอัพสู่ยูนิคอร์นตัวใหญ่ยักษ์ภายใน 4 ปี
TikTok หรือในจีนประเทศบ้านเกิด รู้จักกันในชื่อ Douyin ก่อตั้งโดย Zhang Yiming ซึ่งเขาต้องการจะเปิดบริษัทซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง และในปี 2012 เขาจึงได้เปิดบริษัท ByteDance ขึ้นมาเพื่อสร้างแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ
โดยแรกเริ่ม เขาได้พัฒนาแอปพลิเคชันตัวแรกขึ้นมาชื่อว่า Toutiao (โถ่วเถียว) แพลตฟอร์มสำหรับการติดตามข่าวสารหรือบทความออนไลน์ โดยนำข่าวจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกมารวบรวมไว้ในที่เดียว และใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อแนะนำหัวข้อคอนเทนต์ที่ผู้ใช้อาจสนใจอีกด้วย (หลักการคล้าย ๆ กับระบบ AI ของ Spotify)
ต่อมา บริษัทก็เริ่มเห็นว่าผู้คนมักชอบดูวิดีโอสั้น ๆ ที่มีความยาวไม่มากนัก จึงได้พัฒนาต่อยอดแอปจนในปี 2016 ได้เกิดแอปใหม่ขึ้นมานั่นก็คือ แอปพลิเคชัน TikTok ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาสร้างหรือแชร์วิดีโอสั้น ๆ เพื่อสร้างความสนุกสนาน ความบันเทิง และคลายเครียดให้กับผู้อื่นได้
หรือถ้ากล่าวง่าย ๆ TikTok คือ แอปพลิเคชันที่ให้ผู้ใช้สร้างวิดีโอที่มีความยาว 15-60 วินาที โดยมีลูกเล่นเป็นเสียงเพลงประกอบ บวกกับฟิลเตอร์ต่าง ๆ ฟังดูแล้วเป็นไอเดียที่เรียบง่ายนะ แต่ TikTok กลับได้รับความนิยมอย่างมาก จนผู้ใช้งานทนกระแสไวรัลต่าง ๆ ไม่ไหวจนต้องหันมาลองใช้งาน และดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาดูคอนเทนต์เหล่านั้น หรือเพื่อร่วมทำชาเลนจ์ต่าง ๆ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนั้น ๆ
จากกระแสที่ใคร ๆ ก็อดใจไม่ไหว ทำให้ TikTok กลายเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก และสามารถครองใจเด็กวัยรุ่นช่วงอายุ 18-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักได้เป็นอย่างดี จนเติบโตพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่พูดแบบนี้ได้ก็เพราะว่าภายในเวลาเพียงไม่ถึงปี TikTok มีผู้ใช้งานครบ 100 ล้านคน แต่ยังไม่พอแค่นั้น ยังมียอดเข้าชมวิดีโอแตะวันละ 1,000 ล้านครั้งอีกด้วย
หลังจากที่บริษัทเห็นตัวเลขการใช้งานในบ้านตัวเองที่พุ่งยาวเหยียดเหมือนกำแพงเมืองจีนแล้ว เขาก็ไม่อยากให้ตัวเลขหยุดอยู่แค่นั้น จึงตัดสินใจปล่อยแอปพลิเคชัน TikTok ออกสู่ตลาดโลกในปี 2017 เพื่อหวังที่จะเห็นตัวเลขที่พุ่งสูงยิ่งกว่ายอดเขาเอเวอร์เรสในอนาคต
แต่แล้วความตั้งใจของ TikTok นั้นก็สำเร็จตามที่หวังไว้ เพราะในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2018 TikTok ได้ขึ้นแท่นแอปที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในโลก ด้วยยอดจำนวน 45 ล้านครั้ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าโซเชียลมีเดียเดิมที่ครองตลาดอยู่แล้วอย่าง YouTube, Instagram และ Facebook อีกด้วย
ต่อมา TikTok ก็ได้ติดอันดับเป็นแอปพลิเคชันฟรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดอันดับ 1 บน App Store จากหลายประเทศในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงประเทศไทยของเราเอง นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าจะเปิดตัวภายในปี 2016 แต่ก็ยังเป็น Top 10 แอปทั่วโลกที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดตลอดช่วงปี 2010-2019 อีกด้วย
พอเห็นตัวเลขสุดว้าวแบบนี้แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจที่ TikTok จะดึงดูดนักลงทุนเจ้าอื่น ๆ ให้มาลงทุนด้วย ในช่วงปลายปี 2018 Softbank บริษัทลงทุนชื่อดังของญี่ปุ่นได้ตกลงร่วมลงทุนกับ TikTok เป็นเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท
หากคิดจากมูลค่าหุ้นที่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นได้รับไป นั่นทำให้มูลค่ากิจการของ ByteDance มีมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งนั่นผลักดันให้ TikTok กลายเป็น “บริษัทสตาร์ทอัพ” ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกตอนนั้นไปในทันที
ส่องขยายดูตัวเลขผู้ใช้งานของ TikTok กันสักนิด
ปัจจุบัน TikTok มีให้บริการในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และใช้งานได้ถึง 39 ภาษา สถิติอย่างเป็นทางการล่าสุดที่ TikTok ปล่อยออกมาเองในปี 2018 แสดงให้เห็นว่ามียอด Monthly Active Users (MAUs) กว่า 500 ล้านคนทั่วโลก (หลังจากนั้น TikTok ก็ไม่ได้ปล่อยสถิติอย่างเป็นทางการออกมาอีกเลย)
แต่อย่างไรก็ตาม จากสถิติของ Hootsuite และ We Are Social แสดงให้เราเห็นว่า ในเดือนมกราคม 2020 TikTok มียอด Monthly Active Users อยู่ที่ 800 ล้านคน (มากกว่าประชากรในประเทศไทยเกือบ 12 เท่า !) และจัดอยู่อันดับ 6 ของแอปที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก ซึ่งรองจากโซเชียลมีเดียดัง ๆ ระดับโลกอย่าง Facebook, Youtube, Whatsapp, Fb Messenger, WeChat และ Instagram ตามลำดับ
ในด้านของยอดการดาวน์โหลด จากสถิติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในปี 2019 เป็นปีของ TikTok โดยแท้จริง จากข้อมูลของ AppTrace อันดับของ TikTok เพิ่มขึ้นจาก 269 เป็นอันดับ 4 จากยอดดาวน์โหลดแอปทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2019
นอกจากนั้น สถิติของ Sensor Tower เผยให้เห็นว่า TikTok ถูกดาวน์โหลดมากกว่า 738 ล้านครั้งทั่วโลกในปี 2019 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากยอดดาวน์โหลด 655 ล้านครั้งที่ถูกจารึกไว้ในปี 2018 และยอดดาวน์โหลด TikTok ทะลุ 1.5 พันล้านครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2019
และอย่างที่บอกไปว่า TikTok ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากเหตุการณ์ Covid-19 ไปเต็ม ๆ จากทั่วโลก ทำให้ TikTok โตขึ้นอีก 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2019
นอกจากนั้น จากรายงานของ Sensor Tower กล่าวว่าเมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 TikTok มียอดดาวน์โหลดรวมมากกว่า 2.6 พันล้านครั้งทั่วโลก (500 ล้านครั้งมาจากอินเดีย, 180 ล้านครั้งจากจีน และ 130 ล้านครั้งจากสหรัฐอเมริกา)
โดยในไตรมาสแรกของปี 2020 TikTok มียอดดาวน์โหลด 315 ล้านครั้ง ส่วนในเดือนมิถุนายนปี 2020 TikTok ถูกดาวน์โหลด 87 ล้านครั้งทั่วโลก (โดย 7.5 ล้านคนมาจากสหรัฐอเมริกา) และในเดือนสิงหาคม เพียงเดือนเดียวมียอดดาวน์โหลด 63 ล้านครั้ง (ประเทศที่มีจำนวนการติดตั้งสูงสุด ได้แก่ อินโดนีเซีย 11% และตามมาด้วยบราซิล 9%)
และเดือนตุลาคม 2020 มีการติดตั้งเกือบ 66 ล้านครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.5% จากเดือนตุลาคม 2019 และประเทศที่มีการติดตั้งสูงสุดก็ยังคงเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ 12% และตามมาด้วยบราซิล 10% ส่งผลให้ TikTok กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดทั้งใน iOS และ Android อีกด้วย
และในปี 2021 คาดว่า TikTok จะมียอดผู้ใช้งานทะลุกว่า 1 พันล้านคนเลยทีเดียว
เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดของ TikTok ที่ดังไปทั่วโลก
ถึงแม้ว่า 57% ของผู้ใช้งาน TikTok มาจากประเทศจีนเอง แต่ให้ลองเดากันเล่น ๆ ว่าตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ รองลงมาจากจีนคือประเทศอะไร?
หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่หลายคนก็อาจจะนึกไม่ถึงว่าคือประเทศอะไร ซึ่งคำตอบก็คือ “อินเดีย” นั่นเอง
เนื่องจากในปี 2019 อินเดียเป็นประเทศที่มียอดดาวน์โหลด TikTok สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก (นับเฉพาะการดาวน์โหลดบน App Store และ Play Store) โดยมีการดาวน์โหลด 323 ล้านครั้งคิดเป็น 44% ของจำนวนทั้งหมด
และจากตัวเลขที่สูงขนาดนี้ ในเดือนเมษายน 2019 รัฐบาลอินเดียจึงสั่งแบน TikTok เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลเกี่ยวข้องกับ “ปัญหาด้านศีลธรรม” เพราะเชื่อว่า TikTok จะทำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เรื่องเพศ คอนเทนต์ลามกอนาจารบน TikTok รวมไปถึงการมีปัญหา Cyberbullying อีกด้วย
แต่ TikTok เองก็ไม่ยอมแพ้ ไปเจรจายืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าคอนเทนต์บน TikTok นั้นมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดไม่มีเรื่องแบบนั้นแน่นอน จนทางอินเดียยอมใจอ่อน และเลิกแบน TikTok ในที่สุด จากเหตุการณ์นี้ก็ส่งผลให้ยอดผู้ใช้ใหม่ในอินเดียเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคน
ซึ่งสถิติยอดดาวน์โหลด TikTok จาก Priori (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2019) แสดงให้เห็นว่า อินเดียเป็นผู้นำที่ห่างประเทศอื่น ๆ อย่างมาก โดยมียอดดาวน์โหลด 190.6 ล้านครั้ง ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา 41 ล้านครั้ง, ตุรกี 23.2 ล้าน, รัสเซีย 19.9 ล้าน และปากีสถาน 19.5 ล้าน ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้ก็ทำให้ TikTok แฮปปี้ไม่น้อยเลยทีเดียวเมื่อเห็นผลลัพธ์
แต่ TikTok ก็ดีใจได้ไม่นาน ในเดือนมิถุนายน 2020 เกิดเหตุการณ์กรณีพิพาททางการเมืองที่ตึงเครียดระหว่างจีนและอินเดียเข้ามา และด้วยความที่รัฐบาลอินเดียสงสัยว่าแอปจากจีนแอบเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานแล้วส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์จีนหรือเปล่า
ถ้าเป็นแบบนั้นจริง สามารถนับว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติและมีความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัวของพลเมืองอินเดียเลยนะ นั่นทำให้อินเดียสั่งแบน 59 แอปพลิเคชันจากจีน ซึ่งมี TikTok เป็นหนึ่งในนั้นด้วย สุดท้ายแล้ว TikTok ก็ต้องยอมโบกมืออำลาตลาดใหญ่รายนี้ไป
หลังจากที่เสียฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่จากอินเดียไปแล้ว มรสุมของ TikTok ยังไม่จบแค่นั้น...
หลังจากที่อินเดียสั่งแบน TikTok ไปแล้ว ทำให้อเมริกาตกเป็นตลาดต่างประเทศที่มีอันดับผู้ใช้งานแอปพลิเคชันสูงสุด (39.6 ล้านคน) ไปครองแทน
อย่างไรก็ตาม วันดีคืนดีก็เกิดเหตุการณ์สุดงงขึ้นมา เมื่อ Donald Trump อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศสั่งแบน TikTok และบังคับให้ ByteDance ขายหุ้น TikTok ให้กับบริษัทในประเทศอเมริกา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : อนาคต TikTok จะตกอยู่ในมือของใคร เมื่อถูกคำสั่งแบนในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นผลจากเกมการเมืองระหว่างประเทศที่มีเหตุผลแนว ๆ เดียวกันกับอินเดียที่กลัวว่า TikTok แอปพลิเคชันของจีนจะนำข้อมูลผู้ใช้งานของสหรัฐฯ ไปให้รัฐบาลจีนล้วงลับได้
ทำให้ทาง TikTok อยู่เฉยไม่ได้จนออกมาโต้ตอบว่า “ข้อมูลผู้ใช้งานชาวอเมริกันบน TikTok ถูกเก็บรักษาอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้ถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายของประเทศจีน ทำให้รัฐบาลจีนไม่สามารถแทรกแซงข้อมูลผู้ใช้งานได้อย่างแน่นอน” นอกจากนั้นโฆษกของ TikTok ยังออกมาบอกเพิ่มเติมอีกว่า “รัฐบาลจีนไม่เคยมาขอข้อมูลผู้ใช้งานจาก TikTok เลยแม้แต่ครั้งเดียว และถึงแม้ว่าจะมาขอร้องก็ตาม เราก็ไม่มีวันให้เด็ดขาด”
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความหนักใจให้กับทาง TikTok เป็นอย่างมาก ถ้าไม่ขายหุ้นก็จะถูกแบนจากสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในตอนนั้น และนั่นจะทำให้เสียฐานผู้ใช้งานจำนวนมากไป
แต่สุดท้ายคำโต้ตอบจาก TikTok ไม่ได้ผลอยู่ดี เพราะ Donald Trump ก็ประกาศสั่งแบน TikTok ในวันที่ 20 กันยายน 2020 ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และไม่มีข่าวจากทาง TikTok ที่ประกาศขายหุ้นให้กับบริษัทใด ๆ เลยในสหรัฐฯ
กลยุทธ์การเติบโตแบบพุ่งทะยานจนกลายเป็น TikTok บริษัทสตาร์ทอัพที่รวยที่สุดในโลก
วันนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปดูกลยุทธ์การเติบโตที่ ByteDance ใช้ใน 4 ปีเศษที่ผ่านมากัน เพื่อผลักดันให้ TikTok ประสบความสำเร็จจนสามารถเจาะตลาดไปทั่วโลก และเรามาดูกันว่าจากแค่สตาร์ทอัพเล็ก ๆ ของจีน เขาใช้กลยุทธ์อะไรถึงได้กลายเป็นอีกหนึ่งยูนิคอร์นยักษ์ใหญ่ของโลกกันนะ?
1. กลยุทธ์ปลาใหญ่กินปลาเล็ก (Acquisition)
ในเดือนพฤศจิกายน 2017 ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ได้ทุ่มเงินมากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเข้าซื้อกิจการของ Musical.ly ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และมีสำนักงานต่างประเทศอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
Musical.ly ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอโซเชียลมีเดียคล้าย ๆ กันกับ TikTok ที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างวิดีโอลิปซิงค์หรือคลิปตลกสั้น ๆ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพคู่แข่งที่สำคัญของ TikTok ในประเทศจีน
จากการควบกิจการในครั้งนี้ ส่งผลให้ในเดือนสิงหาคม 2018 ข้อมูลบัญชีของผู้ใช้ของ Musical.ly จะถูกโอนย้ายมาที่บัญชีของ TikTok และสิ่งนี้ได้สร้างให้ TikTok กลายเป็น Comunity วิดีโอที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากนั้น ยังถูกมองว่าเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับแอปจีนในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ อีกด้วย เนื่องจาก Musical.ly มีฐานผู้ใช้งานที่เป็นชาวอเมริกันจำนวนมากอยู่แล้ว
2. ผลักดันคอนเทนต์การศึกษา (Educational Content)
TikTok ได้สร้างความหลากหลายทางคอนเทนต์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในทุกกลุ่มอายุ และประเภทความสนใจ และเนื่องจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของ TikTok อยู่ในกลุ่มที่กำลังศึกษาอยู่ คอนเทนต์อีกหนึ่งประเภทที่ TikTok กำลังผลักดันนั่นก็คือ ‘คอนเทนต์เพื่อการศึกษา’
ในปี 2020 TikTok ได้ประกาศผลักดันแพลตฟอร์มให้มีคอนเทนต์เกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยทุ่มงบจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโปรเจ็กต์ Creative Learning Fund เพื่อวางแผนและเปิดตัวแคมเปญ #LearnOnTikTok เป็นช่องทางเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับผู้ใช้งานในช่วงกักตัวจากเหตุการณ์ Covid-19 ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันหลายร้อยแห่ง, บรรดาเหล่า Content Creator และ Publisher มาแบ่งปันความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ
ตัวอย่างเช่น ให้ Sean Sagar นักแสดงชาว British มาแบ่งปันเคล็ดลับ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเป็นผู้จัดรายการโทรทัศน์และการออดิชั่นต่าง ๆ และยังมี Rachel Riley นักคณิตศาสตร์ที่มาช่วยแบ่งปันเคล็ดลับ เพื่อพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์ให้แก่ผู้ใช้งาน Tiktok อีกด้วย
จากแคมเปญนี้ Rich Waterworth ผู้จัดการทั่วไปของ TikTok ประจำยุโรปกล่าวว่า “แคมเปญนี้ทำให้เห็นว่า ผู้ใช้งาน TikTok ให้ความสนใจวิดีโอคอนเทนต์เพื่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะมีคนกดเข้าไปดู #LearnOnTikTok มากกว่า 22.6 พันล้านครั้งเลยทีเดียว”
นอกจากนั้น ในประเทศไทยของเราเองก็มีแคมเปญ #TikTokUni เพื่อเชิญเหล่า Content Creator และกูรูในสาขาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษา ดนตรี การแสดง ธุรกิจ การตลาด วิชาชีพ และสาขาอื่น ๆ อีกมากมาย มาให้ความรู้กับผู้ใช้งาน
และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา พี่ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ (@ploukgolf) ติวเตอร์ภาษาอังกฤษชื่อดังขวัญใจเด็ก ๆ ของเมืองไทย มา Live แปลเพลงฮิตบน TikTok อีกทั้งยังมี เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ (@kengtachaya) มาแชร์เทคนิคการขับเสภาและร้องเพลงไทย เพื่อเป็นการ Open House เปิดตัวแคมเปญนี้ นอกจากนั้น ก็มีกูรูและติวเตอร์ต่าง ๆ เข้าร่วมแคมเปญนี้เหมือนกัน เช่น ครูทอม คำไทย (@jakkrittomtom) และปากญี่ปุ่น (@paagjapan) เป็นต้น
ซึ่งผู้ใช้งานก็สามารถดูคอนเทนต์เหล่านี้ ผ่าน #TikTokUni หรือที่ Account ของเหล่า Content Creator ด้วยความบันเทิงไปพร้อม ๆ กับได้รับความรู้ที่มีประโยชน์แน่น ๆ อีกด้วย
3. ผันตัวมาเป็น Marketing Platform
ในเมื่อ TikTok มีตัวเลขผู้ใช้งาน Active User ทะลุ 1,000 ล้านคนไปแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ TikTok จะปล่อยให้ขุมทรัพย์ในการทำการตลาดร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ หลุดมือไปเฉย ๆ เพราะฉะนั้น TikTok จึงมีการพัฒนาโมเดลการสร้างรายได้ผ่านการขายโฆษณาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะตอบโจทย์แบรนด์และสร้างมิติใหม่ ๆ ให้กับการวงการ Digital Marketing ได้
จึงได้เปิดตัว TikTok for Business และนำทัพฟีเจอร์หลัก ๆ อย่าง TikTok Ads ที่จะสามารถเน้นไปยังความต้องการที่แตกต่างกันได้ เช่น
- Brand Takeover Ads (สร้าง Reach ได้ 100% การันตีจาก TikTok) คือ โฆษณาที่เมื่อเข้าแอปแล้วจะเห็นเป็นสิ่งแรก และยึดครองพื้นที่โฆษณาเต็มจอเป็นวิดีโอสั้น 3 วินาที หรือจะเป็นภาพ GIF ก็ได้ นอกจากนั้นยังมีปุ่ม Call to Action สามารถลิงก์ไปยังที่ต่าง ๆ ได้ เช่น ถ้ากำลังทำแคมเปญ Hashtag Challenge ภายใน TikTok ก็เชื่อมได้ หรือจะลิงก์เว็บไซต์ภายนอกก็ได้เช่นกัน
- Top View Ads (เน้นการเพิ่มยอด View) : โฆษณาเมื่อผู้ใช้งานเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมาจะเห็นเป็นคลิปแรกบน TikTok และภายใน 3 วินาทีแรกจะไม่มีปุ่มอะไรให้กดนอกจาก Skip แต่หลังจากนั้นจึงจะสามารถกดไลก์ แชร์ คอมเมนต์ หรือเลื่อนไปดูวิดีโออื่นได้ จากโฆษณานี้จะทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้นอีกด้วย
- In-Feed Ads (เน้นการเพิ่มยอด Traffic) : โฆษณาที่มีความยาวประมาณ 60 วินาที ที่จะขึ้นคั่นระหว่างที่กำลังดูเลื่อนดู Feed โดยหน้าตาจะมีความคล้ายกับวีดีโอสั้นปกติเลย แต่จะมีปุ่ม Call to Action เพิ่มเข้ามา เพื่อเรียกกลุ่มเป้าหมายให้มากดปุ่มไปยัง Internal Pages (เช่น Hashtag หรือ Challenge ต่าง ๆ) หรือ External Landing Page (เช่น หน้าเว็บไซต์ร้านค้า หรือแอปพลิเคชันของเรา)
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : TikTok เปิดตัว ‘TikTok For Business’ สนับสนุนแบรนด์ทำการตลาด
นอกจากนั้น เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า TikTok ไปจับมือกับ Shopify แพลตฟอร์ม E-Commerce ขนาดใหญ่ของโลก โดยให้แบรนด์ฝังลิงก์เว็บไซต์ปลายทางไว้บนคลิปวิดีโอเชื่อมต่อไปยังร้านค้าบน Shopify
นอกจากนั้น ยังสามารถกำหนด เพศ, ช่วงอายุ, พฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย และประเภทของวิดีโอที่จะทำการโฆษณาไปด้วย ส่งผลให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ได้มากขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายของแคมเปญจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของผู้ขาย และจำนวนเงินที่พวกเขาต้องการใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม Shopify ก็ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกพูดถึงน้อยมากในบ้านเรา และฟีเจอร์นี้เองก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะใช้ได้ในไทยอีกด้วย แต่นี่ก็เป็นสัญญาณว่า TikTok จะยกระดับตัวเอง ไม่ใช่แค่มอบความบันเทิงให้กับผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังมอบผลประโยชน์ในการทำธุรกิจต่าง ๆ ให้กับแบรนด์อีกด้วย
4. แพลตฟอร์มแห่งความไวรัล
ด้วยความที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มแห่ง User-Generated Content (UGC) (คือ การที่ผู้ใช้สามารถลงมือผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีการกล่าวถึงแบรนด์ที่ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมีความสนใจ โดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องเสียเงินจ้างผู้บริโภคกลุ่มนี้เลย) ที่ส่งเสริมให้ไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาได้ จนบางครั้งคอนเทนต์ไหนเกิดถูกใช้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ ก็กลายเป็นกระแสไวรัลขึ้นมา รวมไปถึงการ Challenge ต่าง ๆ ด้วย อย่างเช่น
“จำได้อยู่ช็อตนึง ตอนสัก 5-6 ขวบ หลังบ้านเป็นคนจีน อยู่แถวพรานนก มันเป็นทางลาดไม้ แล้วเราถือส้ม มันกลิ้ง..เราบอกว่าหยุด! เดินไปดู… มันหยุด… ส้มหยุด! หยุดโดยไม่มีอะไรกั้น มันหยุดเอง ตอนกำลังจะหล่นน้ำ พอเราบอกให้หยุด มันหยุด! อันนั้นเป็นความทรงจำตอนเด็ก”
ประโยคเด็ดดังจาก แม่ศิตางศุ์ บัวทอง ที่มีคนนำมาลิปซิงค์จนเกิดเป็นกระแสไวรัล ระหว่างช่วงกักตัวในปี 2020 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้งานบน TikTok รวมไปถึงเหล่าคนดังต่าง ๆ ก็ร่วมมาลิปซิงค์ประโยคนี้บนแพลตฟอร์ม TikTok เหมือนกัน
เจนค่ะ เจนค่ะ หนูชื่อเจนมากับนุ่นและก็มากับโบว์
อีกหนึ่งกระแสที่ระบาดเร็วยิ่งกว่าไวรัสก็คือ เพลง ‘ซุปเปอร์วาเลนไทน์’ เชื่อว่าระหว่างช่วงกักตัวปีที่แล้ว ไม่มีใครไม่รู้จักเพลงที่มีความหลอนหูระดับ 10 นี้แน่นอน (ลัน ลั้น ลา ลัน ลั้น ลา)
ซึ่งกระแสความไวรัลบน TikTok นี้ก็ส่งผลตอบรับที่ดีให้กับเจ้าของเพลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเพลงนี้ไม่ใช่เพลงใหม่แต่อย่างใด แต่ปล่อยมาเกือบ 10 ปีแล้ว และเพิ่งมาติดเทรนด์ไปทั่วทั้งโซเชียลอีกครั้งนึงในปีที่แล้ว
นอกจากนั้น มีบางแบรนด์หยิบกระแสนี้นำไปทำ Real-Time Marketing ซึ่งก็สามารถดึงดูดความสนใจและสร้างเสียงหัวเราะให้ลูกค้าอีกด้วย
จากกระแสไวรัลต่าง ๆ บน TikTok ก็ทำให้แพลตฟอร์มนี้กลายเป็นอีกหนึ่งทำเลทองของอุตสาหกรรมดนตรีและความบันเทิง เพราะถ้าเราดูจากกระแสของเพลง ‘ซุปเปอร์วาเลนไทน์’ เป็นตัวอย่าง ที่มีท่าเต้นประกอบและเนื้อร้องเพียงไม่กี่วินาทีของพวกเธอ แต่กลับทำให้ติดหูและติดตาคนทั่วไปขนาดนี้
ปี 2021 และในอนาคตต่อจากนี้ TikTok อาจกลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลต่อสื่อความบันเทิงเป็นอย่างมาก อย่างตอนนี้ที่จะเห็นว่านักร้องหรือค่ายเพลงต่าง ๆ เริ่มที่จะตัดเพลงของพวกเขาออกมาเป็นท่อนสั้น ๆ แล้วนำมาใส่บน TikTok เพื่อทำเป็น Challenge ร้อง-เต้น และง่ายต่อการติดหูของผู้คนอีกด้วย
เพราะด้วยธรรมชาติของ TikTok ที่เป็นวิดีโอขนาดสั้น (Short Content Video) จะทำให้เกิดกระแสไวรัลได้ง่าย เมื่อเกิดเป็นกระแสขึ้นมา จะส่งผลให้เพลงกับท่าเต้นที่อยู่ในคอนเทนต์นั้นก็จะได้รับความนิยมไปด้วยเช่นกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : 7 เรื่องที่คุณต้องรู้หากต้องการทำการตลาดผ่าน TikTok ในปี 2021
5. ความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม
TikTok เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอปบันเทิงขยะ เพราะด้วยความที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็น ‘เด็ก’ และคอนเทนต์ก็มีแค่ ร้อง เต้น หรือไวรัลแปลก ๆ เช่น ‘โรตีดิบ’ ซึ่งเป็นไวรัลบน TikTok ของไทยในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา
โดยมี Influencer บน TikTok คนหนึ่งออกมารีวิวโชว์กินโรตีดิบอย่างน่าเอร็ดอร่อย และสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนหมู่มาก จนทำให้ผู้ใช้งานตามไปกินเหมือนกับคนนั้น และบางคนทำตามไปแล้ว ถึงกับป่วยจนเข้าโรงพยาบาลเลยก็มี
ทำให้ทางการแพทย์ออกมาเตือนว่า การกินโรตีดิบเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาจทำให้เกิดแบคทีเรียจนนำไปสู่อาการท้องร่วงได้ ด้วยเหตุนี้ก็ยิ่งทำให้คนอื่นมองภาพลักษณ์ของแอป TikTok ไปในทางที่ไม่ดีขึ้นไปอีกด้วย
และจากการที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มแห่งความไวรัล และช่วงอายุของผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นเยาวชน บางคอนเทนต์ก็มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้านการกระทำ (เช่น กินโรตีสด) รวมไปถึงพฤติกรรมทางเพศด้วย ก็อาจทำให้เกิดการลอกเลียนแบบขึ้นได้
ดังนั้น ทาง TikTok เองก็จัดให้มีทีมงาน เพื่อตรวจสอบคอนเทนต์ที่ผู้ใช้แต่ละคนปล่อยออกมาว่ามีความรุนแรงด้านเนื้อหาหรือมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของคอนเทนต์ที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี สร้างความแตกแยก หรือบิดเบือนความจริงอีกด้วย
นอกจากนั้น ยังมีฟีเจอร์ Digital Wellbeing ที่ให้ผู้ปกครองสามารถควบคุมการใช้งานของบุตรหลานได้ หากไม่อยากให้พวกเขาอยู่บนแพลตฟอร์มนานเกินไป รวมทั้งบล็อกเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจากพวกเขาได้อีกด้วย สามารถตั้งค่าได้บน TikTok เลย (ดูวิธีการตั้งค่าได้ ที่นี่)
สรุปทั้งหมด
ถ้าดูจากตัวเลขต่าง ๆ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตรวดเร็วมาก เพียงระยะเวลาเปิดตัวแค่ 4 ปี ก็สามารถพาให้ ByteDance สามารถครองตำแหน่งเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงมากที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับนักการตลาดเอง พอเห็นตัวเลขผู้ใช้งานแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า TikTok นี่แหละที่จะเป็นขุมทรัพย์ในการทำการตลาดของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป ตอนนี้เราก็คงต้องทำความรู้จักและศึกษาข้อมูลของเจ้าแอปพลิเคชันนี้อย่างจริงจัง เพื่อโอกาสในการวางกลยุทธ์การตลาดในอนาคตต่อไปอีกด้วย
หลังจากนี้เราก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า ยูนิคอร์นตัวนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และจะมีกระแสหรือ Challenge อะไรใหม่ ๆ บน TikTok ที่ทำให้เราติดตามและสร้างความบันเทิงให้กับเราอีก นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก ๆ ของวงการการตลาดและเทคโนโลยีในอนาคต