สำหรับการทำ SEO ในปี 2021 ที่จะถึงนี้อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นซะแล้วครับ เพราะล่าสุด Google ได้ออกมาประกาศว่าพวกเขาจะเริ่มทำการใช้เครื่องมือใหม่ในการจัดอันดับการค้นหา ที่จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ Page Experience มากขึ้นกว่าเดิม โดยเครื่องมือนั้นมีชื่อว่า “Core Web Vitals”
หรืออธิบายให้เข้าใจตามง่ายที่สุด Core Web Vitals ที่ Google ได้คิดค้นมานี้ ก็เปรียบเหมือนกับเครื่องมือให้คะแนน UX ของแต่ละเว็บไซต์นั่นเอง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา Google ก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับ Users เสมอ
โดยเฉพาะในปี 2021 ที่กำลังจะมาถึงนี้ทำให้เห็นว่า Google เริ่มเอาจริงกับเรื่องนี้มากขึ้นถึงขั้นออกมาบอกว่า Core Web Vitals จะเข้ามาเป็นอีกปัจจัยในการจัดอันดับ Search Ranking ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม นี้เลย ทำให้นักการตลาดและนักพัฒนาเว็บไซต์ต้องเตรียมตัวเอาไว้ให้ดี
คงจะสงสัยกันแล้วใช่ไหมครับว่า Core Web Vitals ที่ว่าคืออะไร และจะส่งผลอะไรต่อการจัดอันดับเว็บไซต์บน Google ไปติดตามกันต่อได้เลยครับ
Core Web Vitals คืออะไร ?
Core Web Vitals คือ Metric ที่ Google ได้คิดค้นเพื่อใช้ในการจัดอันดับหน้าการค้นหาของเว็บไซต์ทั้งหมด ซึ่งจะเตรียมนำออกมาใช้งานในปี 2021 นี้หลังจากที่คิดค้นและพัฒนาระบบ Core Web Vital นี้เป็นเวลาเกือบ 1 ปี เพื่อให้นักการตลาดหรือนักพัฒนาเว็บไซต์ ได้ทำการปรับปรุงเว็บไซต์ของตัวเองให้มีคุณภาพมากขึ้น
อย่างที่ผมได้บอกไปในตอนต้นว่า Google ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องประสบการณ์การใช้งานเป็นอย่างมากในช่วงหลัง ถึงขั้นเอามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำ SEO (เช่นเรื่อง Responsive Design, ความเร็วในการโหลดเว็บไซต์ Page Speed) เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนสิ่งที่ฟ้องได้เลยว่าเว็บไซต์ไหนที่มี / ไม่มี คุณภาพ
3 องค์ประกอบของ Core Web Vitals ที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับเว็บไซต์ของ Google
โดยภายในของ Core Web Vitals จะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ทั้งหมด ดังนี้
1. Large Contentful Paint (LCP)
Large Contentful Paint (LCP) คือตัววัดค่าความเร็วในการโหลดชุดคอนเทนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหน้าเพจนั้น ซึ่งจะรวมองค์ประกอบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ
อธิบายแบบเข้าใจตามง่าย ๆ คือเวลาที่เราเปิดเว็บไซต์ขึ้นมา Elements ต่าง ๆ ที่อยู่ในเว็บไซต์จะไม่ถูกเปิดขึ้นพร้อมกัน แต่มันจะแบ่งการโหลดออกเป็นช่วง ๆ ซึ่งแต่ละช่วงของการโหลด จะมีส่วนที่เป็น LCP ต่างกัน เช่น Heading, รูปภาพ, วิดีโอ เป็นต้น (ตามตัวอย่างด้านล่าง)
โดยค่า LCP ที่ดีนั้น ทั้งหมดควรใช้เวลาโหลดไม่เกิน 2.5 วินาที นับตั้งแต่หน้าเว็บถูกเปิดขึ้น ถ้าเกินกว่า 4 วินาทีขึ้นไป ก็เท่ากับว่าคะแนน LCP ของเว็บไซต์คุณอยู่ในเกณฑ์แย่ซะแล้ว
สำหรับเว็บไซต์ใดที่มีค่า LCP อยู่ในเกณฑ์แย่ หรือคิดว่าเว็บไซต์ของตนเข้าข่ายโหลดช้าแบบนี้ ทางแก้ที่ทาง Google แนะนำมาก็คือให้ลองย่อไฟล์ให้มีขนาดเล็กลง เช่นไฟล์รูป, วิดีโอ โดยใช้เครื่องมือแนว Image Optimizer หรือหลีกเลี่ยงการเล่นวิดีโอในเว็บไซต์แบบ Autoplay (เข้าเว็บไซต์แล้ววิดีโอเปิดเอง)
คุณสามารถศึกษาเรื่องการใช้งาน Image Optimizer สำหรับการทำ SEO ได้ที่ บทความนี้
2. First Input Delay (FID)
First Input Delay (FID) คือระยะเวลาของการตอบสนอง (Interactive) ของคำสั่งต่าง ๆ ระหว่างผู้ใช้กับตัวเว็บไซต์ เช่น การกดปุ่มบนเว็บไซต์หน้านั้น ๆ แล้วตัวเว็บไซต์มีการตอบสนองคำสั่งให้ทันทีหรือเปล่า เป็นต้น
ซึ่งการที่เว็บไซต์จะมีค่า FID ที่อยู่ในเกณฑ์ดีนั้นต้องใช้เวลาในการโหลดไม่เกิน 100 Millisecond หรือ 0.1 วินาที
สำหรับเว็บไซต์ใดที่มีค่า FID อยู่ในเกณฑ์แย่หรือคิดว่าเว็บไซต์มีอาการไม่ตอบสนองต่อคำสั่งบ่อย ๆ ส่วนใหญ่มักเกิดมาจากการที่ JavaScript ประมวลผลหนักเกินไป จนทำให้เว็บไซต์ตอบสนองได้ช้าหรืออีกกรณีสำหรับ Wordpress การใช้งาน PlugIn ที่เยอะเกินไป ก็มีส่วนทำให้เว็บไซต์ตอบสนองได้ช้าลงเช่นกัน
3. Cumulative Layout Shift (CLS)
Cumulative Layout Shift (CLS) คือ คะแนนที่ชี้วัดความไม่เสถียรของการจัดวาง Layout ในเว็บไซต์ เช่นข้อความเบี้ยว ปุ่มเลื่อนอยู่ตลอด ซึ่งอาจจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ (แต่ Google ไม่ชอบ)
ตัวอย่างสถานการณ์เช่น คุณอ่านบทความในเว็บไซต์อยู่แล้ว Text ที่อ่านมันเหมือนถูกดันลงอยู่ตลอดจนเหลือที่ว่างเยอะ (ตามภาพด้านล่าง) หรือเวลาเราจะกดปุ่ม CTA แต่กำลังจะกด อยู่ ๆ ปุ่มนั้นก็ดันเลื่อนลงและทำให้เรากดไปโดนปุ่มอื่นที่ไม่ต้องการ เป็นต้น ซึ่งค่า CLS ที่ดีนั้นจะต้องมีค่าไม่เกิน 0.1 - 0.25
ส่วนเว็บไซต์ใดที่มีค่า CLS อยู่ในเกณฑ์สีแดง (เกิน0.25) ทาง Google ได้แนะนำทางแก้ไขด้วยการตรวจสอบเรื่องของการแทรกรูปภาพในส่วนของเนื้อหา หรือปรับเปลี่ยน รูปภาพ โฆษณาต่าง ๆ ไม่มีขนาดที่แน่นอน รวมถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของฟอนต์ในหน้าเว็บไซต์ (หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างเว็บไซต์ในบางกรณี)
อยากตรวจสอบค่า Core Web Vitals ให้เว็บไซต์ตัวเอง ต้องใช้เครื่องมืออะไร ?
หลังจากที่เราได้ทราบความหมายของ 3 องค์ประกอบใน Core Web Vitals กันไปแล้ว สำหรับนักการตลาดหรือนักพัฒนาเว็บไซต์ท่านใด ที่ต้องการตรวจสอบค่าทั้ง 3 เพื่อการปรับปรุงเว็บไซต์ในการทำ SEO ปี 2021 ที่กำลังจะมาถึง คุณสามารถใช้งานเครื่องมือของ Google อย่าง Page Speed Insight , Google Search Console ในการตรวจเช็กค่า Core Web Vitals ให้กับเว็บไซต์คุณได้เลย
หลังจากผมได้ไปลองสำรวจมา แนะนำว่าตัวที่ใช้งานง่ายที่สุดในบรรดาเครื่องมือเหล่านั้นก็คือตัว Page Speed Insight นี่แหละครับเพราะใส่แค่ URL ของเว็บไซต์ลงไป ระบบก็จะประมวลผลมาให้เองทั้งค่า Overall Score และ Core Web Vitals ทั้ง 3 ตัว
และยังบอกได้ว่าเว็บไซต์คุณควรปรับปรุงองค์ประกอบตรงไหน หน้าอะไร ถึงจะทำให้มี Overall Score ดีขึ้น
สรุปทั้งหมด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Google ได้เริ่มให้ความสำคัญกับ Core Web Vitals มากขึ้นเป็นพิเศษเพราะค่าทั้ง 3 เกี่ยวข้องกับประสบการณ์การใช้งานของ Users จึงเป็นเหตุให้ Google เริ่มใช้ค่า Core Web Vitals นี้ในการจัดอันดับ Google Ranking ในปี 2021 (เริ่มทันทีในเดือนพฤษภาคม)
ดังนั้นหากนักการตลาดหรือนักพัฒนาเว็บไซต์ท่านใดที่ต้องการให้เว็บไซต์ของตัวเองประสบความสำเร็จด้านการทำ SEO ในอนาคต เรื่องของ Core Web Vitals ก็ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจออนไลน์ของคุณเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง