7 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าต้องการให้ธุรกิจ E-Commerce ของคุณประสบความสำเร็จในปี 2021

7 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าต้องการให้ธุรกิจ E-Commerce ของคุณประสบความสำเร็จในปี 2021
Light
Dark
Cartoon Tanaporn
Cartoon Tanaporn

มนุษย์เป็ดเขียนคอนเทนต์ ชอบเขียนมากกว่าพูด เสพติดการมองพระจันทร์เป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลในช่วงเวลา Magic Hour ของทุกวัน

นักเขียน

หลายคนที่ทำธุรกิจ E-Commerce จะเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยอุปสรรคร้อยพันในการวางแผนและดำเนินการ แม้ว่าปัจจุบัน E-Commerce จะกลายเป็นเส้นทางชีวิตสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจไปแล้ว หากวางแผนไม่ดีจนทำให้การตลาด E-Commerce เต็มไปด้วยความผิดพลาด ธุรกิจก็สามารถล้มเหลวไปได้เหมือนกัน

และยิ่งด้วยปัจจุบันมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยมากมาย ก็ยิ่งทำให้มีการแข่งขันรูปแบบการตลาด E-Commerce ค่อนข้างสูง จึงทำให้เราต้องมีการจัดการและวางแผนที่ดี เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าโจมตีของธุรกิจเจ้าอื่น ๆ

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

คุณรู้จักธุรกิจ E-Commerce ดีพอหรือยัง?

Electronic Commerce หรือที่เรามักเรียกสั้น ๆ ว่า E-Commerce คือ การซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการโดยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการซื้อ-ขายของ เพราะสามารถรู้ข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ข้อมูล รายละเอียด ราคา รูปภาพ ประเภทสินค้า ช่องทางการติดต่อรวมกันอยู่ในช่องทางเดียว 

ซึ่งข้อดีของการทำธุรกิจ E-Commerce มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น ต้นทุนต่ำกว่า เพราะไม่ต้องเสียเงินเปิดหน้าร้านค้าจริง ๆ ก็สามารถขายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ลูกค้าสามารถเข้ามาดูสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถเข้าถึงลูกค้าในหลายภูมิภาค ไม่จำเป็นต้องขายให้เฉพาะคนในท้องถิ่นบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้น

และในปัจจุบันนี้เรียกได้ว่าไม่ว่าเราจะใช้งานแพลตฟอร์มใด ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือแม้แต่ใช้งาน Search Engine เอง เราก็มักจะเห็นว่ามีธุรกิจ E-Commerce แทรกซึมอยู่เต็มไปหมด แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจที่ทำแล้วจะสามารถประสบความสำเร็จและดึงดูดลูกค้าได้ทั้งหมด

ภาพจาก airportels


ประเภทของ E-Commerce มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน

1. Business to Business (B2B) 

คือ E-Commerce ที่เป็นธุรกรรมการขายสินค้าสินค้าหรือบริการเกิดขึ้นระหว่างหน่วยธุรกิจกับหน่วยธุรกิจ หมายความว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหน่วยธุรกิจด้วยกันทั้งคู่ ปริมาณในการซื้อขายของก็จะเยอะกว่าประเภทอื่น ๆ เช่น ขายส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค (makro) บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ (microsoft, adobe) เป็นต้น

2. Business to Customer (B2C) 

คือ หน่วยธุรกิจขายสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภครายย่อย แต่ขายสินค้าในปริมาณน้อยกว่า B2B เช่น ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด (KFC, Pizza Company), บริการจองตั๋วเครื่องบิน (airasia)

3. Customer to Customer (C2C)

คือ การที่ผู้บริโภคขายของให้กับผู้บริโภคด้วยกันเองผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น การขายของมือสอง (thaisecondhand) การประมูลและขายสินค้าต่อ (eBay)

7 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าต้องการให้ธุรกิจ E-Commerce ของคุณประสบความสำเร็จในปี 2021

วันนี้ The Growth Master จะพาไปดู 7 วิธีทางการตลาดที่ควรเลี่ยง ถ้าต้องการให้ธุรกิจ E-Commerce ของคุณประสบความสำเร็จต้อนรับปี 2021 พร้อมวิธีการแก้ไข ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านต่อกันได้เลย

1. ขาดความรู้พื้นฐานและเป้าหมายทางธุรกิจ

ความผิดพลาดข้อแรกเลยที่นักการตลาดมักพลาดในการทำธุรกิจ E-Commerce นั่นคือ ไม่รู้จุดประสงค์ในการทำธุรกิจจริง ๆ อาจทำให้ไปโฟกัสแต่เรื่องยอดขาย ซึ่งทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว หรือถ้าขายไม่ดีก็อาจทำให้ล้มเลิกไปก่อน

การขาดการให้ความรู้แก่พนักงานทุกระดับ ทำให้สามารถธุรกิจล้มเหลวในการประสานงานระหว่างแผนกต่าง ๆ ได้ ดังนั้นควรมีระเบียบแบบแผน และเป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการและนักการตลาดออนไลน์ก็มักจะจมอยู่กับงานและกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไป จนบางทีทำให้ลืมที่จะตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเองว่า :

ธุรกิจของเราจะให้ประโยชน์แก่ลูกค้ายังไงบ้าง?

  • กลุ่มลูกค้าหลักคือใคร?
  • ธุรกิจของเราจะให้ประโยชน์แก่ลูกค้ายังไงบ้าง?
  • เรากำลังจะขายอะไร?
  • เป้าหมายระยะยาวคืออะไร?

เราควรตอบคำถามง่าย ๆ เหล่านี้ให้ได้ก่อน จึงจะสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างมีแบบแผนต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม แผนธุรกิจของเราอาจจะถูกปรับเปลี่ยนล้มเลิกได้เสมอ เมื่อสถานการณ์บางอย่างเปลี่ยนไป 

จึงมีโมเดลธุรกิจแบบ Business Model Canvas ที่เป็นแผนธุรกิจแบบสั้น ๆ เพื่อให้ธุรกิจได้ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น โมเดลนี้เราจะทำโดยวาดเป็นแผนภาพออกมาเพื่อให้คนในทีมสามารถช่วยกันระดมความคิดได้ว่าแผนของเราขาดอะไร ควรปรับเปลี่ยนตรงไหน เมื่อวาดเป็นแผนภาพออกมาจะทำให้เห็นภาพชัดและมองไปในทิศทางเดียวกันได้ 

ซึ่งโมเดลนี้จะทำออกมาผ่าน 9 องค์ประกอบที่สำคัญกับธุรกิจของเรา นั่นคือ

  • Value Propositions คุณค่าของธุรกิจ : รู้จุดแข็งของธุรกิจที่กำลังทำอยู่
  • Customer Segment กลุ่มลูกค้า : รู้จักว่าพวกเขาเป็นคนแบบไหน
  • Channels ช่องทางการเข้าถึง : ดูช่องทางให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าของเรา เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย
  • Customer Relationships การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า : คอยอำนวยความสะดวก ตอบคำถามให้ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราเป็นมิตรกับพวกเขา
  • Key Activities สิ่งที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ : ดูว่ามีสิ่งใดที่เราต้องทำบ้างเพื่อให้เห็นภาพเป็นธุรกิจมากขึ้น
  • Key Partners พาร์ทเนอร์หลัก : กลุ่มคนที่คอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา และให้สิทธิพิเศษในการทำธุรกิจ เช่น ซื้อของในราคาถูก ราคามิตรภาพ
  • Key Resource ทรัพยากรที่จำเป็น : ดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง เพื่อเห็นขีดจำกัดในการทำธุรกิจ 
  • Revenue Streams รายได้ : ดูว่ารายได้หลักของเรามาจากไหน 
  • Cost Structure ค่าใช้จ่ายของธุรกิจ : ดูว่าค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจคืออะไร และค่าใช้จ่ายไหนที่ไม่จำเป็นก็ควรตัดออกไป
ภาพจาก digitalbusinessconsult


ดังนั้น โมเดลธุรกิจแบบ Business Model Canvas จะช่วยให้เราได้มีเป้าหมาย รวบรวมข้อมูลสำคัญ เพื่อนำมาวิเคราะห์ วางแผน และเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตได้

จากการมีโมเดลแบบนี้มาเป็นแบบแผนในการทำธุรกิจ จึงทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่าโมเดลธุรกิจของเราจะเป็นแบบใด กลุ่มเป้าหมายคือใคร ต้องวางกลยุทธ์อย่างไรจึงจะขายได้ แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะรู้นั่นคือ ประเภทร้านค้า E-Commerce จะแบ่งเป็น 3 ประเภทด้วยกัน

  1. General Store เป็นร้านค้าที่ขายสินค้าทั่วไปหลายประเภท ของจิปาถะต่าง ๆ เหมือนกับว่าเป็นร้านโชห่วยออนไลน์ หรือร้านที่ขายสินค้าหลากหลายประเภท 
  2. Specialty Store เป็นร้านค้าที่โฟกัสการขายสินค้าเฉพาะอย่างไปเลย เพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เช่น ร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ร้านค้าที่ขายสินค้าเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ร้านขายเครื่องสำอาง
  3. Product Store เป็นร้านค้าที่ขายสินค้าที่เป็น Innovation นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เพิ่งออกมาและมีเพียงไม่กี่อย่าง หรือว่าอาจเป็นสินค้าอย่างเดียวกันแต่มีหลายสีก็ได้

ซึ่งเมื่อเรารู้แล้วว่าจะทำธุรกิจร้านค้าประเภทใด บวกกับเรามีเป้าหมายและโมเดลในการทำธุรกิจแล้ว ก็จะทำให้เราสามารถเดินไปตามทางที่ถูกต้อง และทำให้ถึงเส้นชัยได้เร็วกว่าการที่ทำธุรกิจแบบทำไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีเป้าหมาย

2. Design Failures ลูกค้าหนีเพราะออกแบบไม่ดี

แม้แต่การมีแผนธุรกิจที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถเอาชนะการออกแบบเว็บไซต์แย่ ๆ ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งานดีไซน์ก็ถือเป็นหัวใจหลักอย่างนึงในการทำการตลาดเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่าแทบจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ที่ดึงดูดให้เรามีลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเว็บไซต์ eCommerce ที่ดีต้องดูดี มีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ มีการนำทางที่ดี มีตัวเลือกการค้นหาที่หาง่าย ปลอดภัย และตอบสนองต่อแต่ละอุปกรณ์ได้ดี หน้าเว็บเพจโหลดรวดเร็วไม่มีสะดุด 

1) ออกแบบให้เว็บไซต์โหลดเร็ว (Page Speed Optimization)

การปรับแต่งเว็บไซต์ให้โหลดได้เร็วขึ้น (Page Speed Optimization) เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ลองนึกภาพดูนะคะว่า ถ้าเราไปซื้อของบนเว็บไซต์หนึ่งแต่เว็บไซต์โหลดช้าเป็นเต่า เราก็ไม่อยากซื้อของบนเว็บไซต์นั้นแล้ว แต่เปลี่ยนไปซื้อบนเว็บอื่นที่ตอบสนองเร็วกว่านี้ไม่ดีกว่าเหรอ

แม้ว่าการมีภาพเคลื่อนไหวและภาพสามมิติจะทำให้เว็บไซต์ของเราดูว้าว ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น แต่ก็มักทำให้เว็บไซต์ของเราโหลดนานขึ้น แม้ว่า User Interface จะมีความสำคัญที่สุดต่อภาพลักษณ์ของเรา แต่แนะนำให้ใช้วิธีการออกแบบเว็บไซต์แบบ Flat design แบน ๆ เรียบง่ายสบายตาดีกว่า

ภาพจาก shopify


การออกแบบเว็บไซต์แบบแบน ๆ เรียบ ๆ (Flat design) จะใช้องค์ประกอบรูปแบบที่เรียบง่ายเพื่อให้มีลักษณะ Interface 2 มิติ นอกจากมีรูปลักษณ์ที่คลาสสิกแล้ว ยังมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นอีกด้วย เพราะโหลดหน้าเว็บได้อย่างรวดเร็ว มีการใช้สี การไล่ระดับสี และใช้แสงเงาตกกระทบ เป็นแนวทางการออกแบบที่นิยมใช้ในการออกแบบเว็บไซต์ 

ภาพจาก makewebbetter


นอกจากนั้นการย่อรูปหรือบีบอัดรูป (Image optimizer) ก็มีส่วนทำให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้นเหมือนกัน เพราะการขายของบนเว็บเรามักต้องใส่รูปภาพจำนวนมากอยู่แล้วเพื่อนำเสนอสินค้าของเราได้ลูกค้าดูรายละเอียด แต่ยิ่งมีรูปภาพมากเว็บก็ยิ่งโหลดช้า ดังนั้นเราจึงควรย่อขนาดรูปลง เพื่อทำให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้นนั่นเอง

ซึ่งเครื่องมือที่เราแนะนำ คือ เว็บไซต์บีบอัดขนาดไฟล์ เช่น ImageCompressor, TinyPng 

ภาพจาก ImageCompressor


2) ออกแบบให้ใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ (Responsive Design)

ถ้าเขาจะซื้อของ ยืนเฉย ๆ อยู่ตรงไหนเขาก็ซื้อ !

ลูกค้าไม่ได้ซื้อของเฉพาะที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น (ส่วนใหญ่อาจกดซื้อของจากสมาร์ทโฟน) และลูกค้าส่วนใหญ่ก็มักจะหาเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกในการซื้อของให้กับพวกเขา ถ้าเว็บไซต์ไม่รองรับการแสดงผลบนอุปกรณ์ที่พวกเขากำลังใช้ ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะย้ายไปซื้อร้านอื่นได้อย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้นเราจึงควรออกแบบให้เว็บไซต์ของเรารองรับกับทุกอุปกรณ์ของลูกค้า

ภาพจาก psdrepo


เช่น มีการใช้ Viewport Meta Tag คือส่วนที่เรามองเห็นได้บนหน้าเว็บ (Visible Area) ซึ่งจะมีขนาดแตกต่างกันบนอุปกรณ์ที่เราใช้ เช่น Desktop จะมีขนาดใหญ่และจะเล็กลงเมื่ออยู่บนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

และถ้าสังเกตจากพฤติกรรมของคนทั่วไปเวลาจะซื้อของออนไลน์ มักจะใช้เวลาซื้อของบนสมาร์ทโฟนกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ธุรกิจ E-Commerce ต้องมีการออกแบบร้านค้าให้ใช้งานง่ายที่สุดและตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด วันนี้ The Growth Master ได้มีทริคดี ๆ ในการออกแบบร้านค้าบนโทรศัพท์มาให้คุณกันด้วย

  • ออกแบบตัวนำทาง (Navigation) ให้ดี เราควรนำเมนูที่สำคัญที่สุดออกมาในที่ ๆ เห็นชัดที่สุด เพราะเมื่อลูกค้าเข้ามาใช้งาน ถ้าพวกเขาไม่รู้ว่าควรกดตรงไหนต่อ จะทำให้พวกเขาออกจากหน้าเว็บเราไปในที่สุด 
  • มีการใช้ฟอนต์และองค์ประกอบที่ขนาดเหมาะกับหน้าจอของอุปกรณ์ เราควรปรับตัวอักษรให้พอดี ถ้าขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป จะทำให้องค์ประกอบของเว็บเราดูไม่สวยงาม บิดเบี้ยว ไม่น่าใช้ หรืออาจจะทำให้ลูกค้ามองดูว่าเป็นการออกแบบที่ดูไม่มืออาชีพ
  • ออกแบบปุ่มให้กดง่าย เช่น มีขนาดปุ่มที่ใหญ่พอเหมาะกับหน้าจอ คำนวณให้ปุ่มมีขนาดพอดีกับนิ้วหัวแม่มือ มีการใช้สีให้โดดเด่นกว่าพื้นหลัง เลือกรูปร่างของปุ่ม (สี่เหลี่ยมมุมแหลม, สี่เหลี่ยมมุมมน, วงกลม) ให้ลูกค้ารู้สึกเป็นมิตรและเหมาะกับการออกแบบร้านค้าของเรา
  • เพิ่ม Keyboard Triggers ในแบบฟอร์ม ช่องที่ต้องป้อนข้อความ เช่น อีเมล ที่อยู่ และอื่น ๆ ควรทริกเกอร์แป้นพิมพ์ข้อความ ในขณะที่ช่องป้อนข้อมูลที่ต้องใช้ตัวเลข ควรทริกเกอร์แป้นพิมพ์ตัวเลข ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านค้าเป็นมิตรกับอุปกรณ์ที่ใช้งาน และเพิ่มประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้งานอีกด้วย
  • อะไรที่ไม่จำเป็นไม่ต้องใส่มา เช่น โฆษณา เพราะบนหน้าจอโทรศัพท์มีพื้นที่ที่จำกัด ถ้าใส่สิ่งที่ไม่จำเป็นเข้ามาเยอะ ๆ อาจจะทำให้ไปบดบังข้อมูลสินค้าของเรา จนทำให้ลูกค้ารู้สึกรำคาญได้
  • ทดสอบ Mobile Friendly Test กับ Google เราสามารถตรวจสอบได้ว่าหน้าเว็บของเราเหมาะกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ไหม เพียงเรานำลิงก์เว็บไซต์ของเราไปใส่ในเว็บ Mobile Friendly Test by Google ถ้าเกิดว่าเว็บไซต์เหมาะกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ เราจะเห็นข้อความยืนยันเป็นสีเขียว แต่หากไม่เหมาะสม เว็บทดสอบจะแสดงสาเหตุที่เว็บไซต์ของเราไม่ผ่านการทดสอบและชี้ให้เราดูแหล่งข้อมูลเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา

การออกแบบ Responsive Design ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำในยุคนี้ เพื่อทำให้คนที่มาเข้าชมเว็บไซต์ของเราไม่ติดปัญหาใด ๆ อีกทั้งยังส่งผลไปถึงชื่อเสียงของร้านค้าและจำนวน Conversion ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และลูกค้าก็จะมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมจากเราเช่นกัน

3) การวาง CTA และ Pop-ups ถูกตำแหน่งช่วยเพิ่มยอดขายได้

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนเลยสำหรับหน้าจอสมาร์ทโฟนคือจะมีขนาดเล็กกว่าหน้า Desktop แต่เราก็ต้องแสดงทุกอย่างพร้อมกันโดยไม่ทำให้ผู้เข้าชมต้องวุ่นวายดังนั้นอย่าลืมทำให้เว็บไซต์ของเราเป็นมิตรกับนิ้วมือด้วย

การใช้ปุ่ม Call to Action (CTA) และ Pop-ups จะทำให้เกิดความมหัศจรรย์ในการใช้งาน หากเราวางอย่างถูกต้อง เนื่องจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนไม่มีตำแหน่งที่คงที่ในการถือและใช้อุปกรณ์ ดังนั้น เว็บไซต์ uxmatters.com จึงสร้างกฎทั่วไป “Thumb Rule” สำหรับการวางตำแหน่งปุ่ม CTA ไว้ดังนี้ :

สำหรับการใช้งานมือเดียว

  • นิ้วหัวแม่มือขวาจะอยู่บนหน้าจอ - 67%
  • นิ้วหัวแม่มือซ้ายจะอยู่บนหน้าจอ - 33%
ภาพจาก theepochtimes


สำหรับการประคองด้วยสองมือ

  • นิ้วหัวแม่มือจะอยู่บนหน้าจอ - 72%
  • นิ้วมืออื่น ๆ จะอยู่บนหน้าจอ - 28%
ภาพจาก theepochtimes


สำหรับการใช้งานสองมือ เมื่อถือโทรศัพท์ 

  • ใช้โหมดแนวตั้ง - 90%
  • ใช้โหมดแนวนอน - 10%
ภาพจาก theepochtimes


เพราะฉะนั้นเราควรออกแบบวางปุ่ม CTA ในตำแหน่งที่ผู้ใช้กดได้สะดวกมากที่สุด เช่น ในตำแหน่งที่นิ้วหัวแม่มือขวาเอื้อมถึง เพื่อให้เป็นมิตรกับลูกค้าของเรามากที่สุดนั่นเอง

3. กระบวนการชำระเงินที่ซับซ้อนเกินไป

เวลาเราไปซื้อของถ้าเจอการจ่ายเงินที่ยุ่งยาก เราก็ไม่อยากจ่ายเหมือนกัน

ถ้าระบบการชำระเงินซับซ้อนเกินไปหรือใช้เวลานานในการกรอกข้อมูลต่าง ๆ มีแนวโน้มว่าสินค้าที่กำลังจะถูกขายกลายเป็นโดนทิ้งอย่างไม่ใยดีเลยก็มี 

ตามแนวโน้มของจิตวิทยาพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว พวกเขารู้สึกว่าการชำระเงินเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเสียทั้งเวลาและพลังงาน ในเมื่อพวกเขาสามารถชำระเงินด้วยคลิกเดียวที่ร้านค้าอื่น ทำไมพวกเขาจะต้องมาเสียเวลากรอกข้อมูลกับร้านเรา

ดังนั้น เพื่อเอาชนะสิ่งนี้เราสามารถตัดขั้นตอนการลงทะเบียนของเราให้สั้นลงได้ ด้วยการเข้าสู่ระบบโซเชียลเพียงคลิกเดียวและหลีกเลี่ยงการใช้หน้าต่างการชำระเงินหลายหน้าต่าง รวม Gateway การชำระเงินก็ยังเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการลดขั้นตอนการชำระเงินที่ซับซ้อนของเราให้ง่ายขึ้น เช่น PayPal ที่นิยมใช้กันทั่วโลก หรือระบบ Airplay และ Omise ที่จ่ายเงินได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคารใด ๆ 

ภาพจาก omise


4. มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ / บริการ น้อยหรือไม่มีเลย

การขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ เราควรที่จะมีความเข้าใจเป็นอย่างดี บางครั้งคนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจออนไลน์อาจจะทำธุรกิจที่เหมือนกับสินค้าที่มีอยู่แล้วในตลาด และพยายามที่จะมอบข้อเสนอที่ดีกว่าให้กับลูกค้า ซึ่งกลยุทธ์นี้อาจใช้ได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวอาจไม่เกิดผลอะไร

ถ้าอยากทำธุรกิจให้อยู่ยาว ๆ ต้องพิจารณาประเด็นหลักในความต้องการของลูกค้าและวิธีเสนอขาย

1) ขายสินค้าที่ไม่เหมาะสม

ถ้าธุรกิจไม่เติบโตเหมือนใจเราหวัง ให้เรามาดูว่าสินค้าหรือบริการที่ขายเหมาะสมและตรงกับกลุ่มเป้าหมายเราหรือไม่ อาจมีหลายสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจล้มเหลว เราควรพิจารณาสินค้าของเราใหม่ ถ้าหากว่าธุรกิจของเราตรงกับสัญญาณอันตรายเหล่านี้ :

  • ผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดในอนาคตอันใกล้
  • สินค้าหรือบริการ มีคะแนนที่ไม่ดี
  • บริษัทไม่ปรับตัวตามกระแสของตลาด
  • เสียลูกค้าให้กับคู่แข่งอยู่บ่อยครั้ง

และเคสที่เราเจอกันบ่อยเลยคือ เห็นสินค้าไหนขายดีก็เลือกที่จะไปขายตาม ๆ กัน การที่ธุรกิจเกิดใหม่มาขายสินค้าตามคู่แข่งที่ขายดีอยู่แล้ว แต่เราอย่าลืมว่าคู่แข่งอาจจะตีตลาดไปหมดแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นเราควรที่จะทำสินค้าของเราให้แตกต่างจากร้านอื่น ขายให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรา หรือพัฒนาจากความได้เปรียบของเรา เช่น เรารอบรู้เรื่องสินค้าประเภทนี้ดีกว่าคนอื่น สามารถหาวัตถุดิบได้ในราคาถูกกว่า จึงจะสามารถดึงดูดลูกค้าได้ดีกว่าเดิม

2) กำหนดราคาสินค้าแบบผิด ๆ

ถือเป็นอีกหนึ่งข้อผิดพลาดทางการตลาด E-Commerce ที่สำคัญ ที่นักการตลาดทำโดยไม่รู้ตัวนั่นคือ กำหนดราคาสินค้าแบบผิด ๆ จนทำให้ไม่ได้ผลกำไรจากการทำธุรกิจ 

การกำหนดราคาสินค้าก็ถือว่าเป็นกระบวนการที่มีประโยชน์ เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้ว่าพวกเขาโอเคกับราคาที่เราตั้งไว้หรือไม่ ถ้าเราตั้งราคาไว้สูงจนเกินไปอาจทำให้ลูกค้าไปเปรียบเทียบราคากับร้านอื่น ถ้าเจอร้านที่ถูกกว่าเขาก็เปลี่ยนไปซื้อร้านคู่แข่ง 

ภาพจาก sumo


แต่ถ้าเราตั้งราคาไว้ถูกเกินไปลูกค้าก็จะไม่แน่ใจในคุณภาพสินค้าจนทำให้พวกเขาไม่กล้าซื้อ เพราะฉะนั้นเราควรตั้งราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพสินค้าและตามกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายของเรา

ซึ่งการกำหนดราคามีหลายกลยุทธ์ด้วยกัน เช่น 

  • ตั้งราคาสินค้าตอนต้นถูก ๆ แล้วบวกกำไรตอนเก็บค่าส่ง
  • ตั้งราคาสินค้ารวมกับค่าส่งให้เท่ากับร้านค้าคู่แข่งที่ยังไม่ได้รวมค่าจัดส่ง
  • ตั้งราคาสินค้าให้แพงไปเลย แต่มีบริการหลังการขายตามมา แต่วิธีนี้ต้องมั่นใจว่าร้านค้าของเรามีรีวิวที่ดีและแบรนด์แข็งแกร่งมากพอ

3) รูปถ่ายและแคปชันคำอธิบายสินค้าไม่ดี

การขายของแบบออนไลน์ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถตรวจสอบสินค้าของจริงได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการนำเสนอสินค้าด้วยภาพและข้อความที่ชัดเจน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

ดังนั้น คุณภาพของภาพที่ไม่ดีหรือภาพที่ไม่ชัดเจน และคำอธิบายสินค้าที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ลูกค้าของคุณสับสนหรือเข้าใจผิดได้ เราต้องเขียนข้อมูลให้ชัดเจน และเขียนบอกให้ลูกค้ารับรู้ไปเลยโดยที่ไม่ต้องให้ลูกค้าทักมาถาม เพราะลูกค้าบางคนถึงแม้จะชอบสินค้าของเรา แต่ก็ไม่ชอบการที่ร้านค้าไม่บอกรายละเอียดของสินค้าเลย นั่นอาจทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจไปซื้อร้านคู่แข่งเราได้

ภาพจาก makewebbetter


5. ทำ Content และ SEO ไม่เป็น

คอนเทนต์และ SEO มักเดินไปพร้อมกันเสมอ 

SEO ที่ไม่ดีอาจทำให้คอนเทนต์ที่เราคิดว่ายอดเยี่ยมแล้ว เกิดความล้มเหลวไม่เป็นท่าได้ ในขณะที่คอนเทนต์ที่เขียนแบบปานกลางไม่ได้ดีมาก ก็สามารถถูกจัดอันดับได้ดีด้วยการทำ SEO ที่ดีเช่นกัน

หากเราคิดกำลังจะทำ SEO สำหรับเว็บไซต์ คอนเทนต์เป็นสิ่งที่สำคัญมากพอ ๆ กัน และการทำธุรกิจแบบ E-Commerce เราจะเน้นไปที่คีย์เวิร์ดที่เป็นชื่อผลิตภัณฑ์หรือหมวดหมู่สินค้าเป็นหลัก

ถ้าเราสามารถเขียนคีย์เวิร์ดได้ตรงใจว่าลูกค้าของเราจะค้นหาอะไร เช่น ลูกค้าอาจจะค้นหาว่า ‘หน้ากากอนามัยยี่ห้อ A รีวิว’ ถ้าเรามีคีย์เวิร์ด ‘หน้ากากอนามัยยี่ห้อ A’ อยู่ ก็จะทำให้เว็บไซต์ของเรามีโอกาสไปแสดงอยู่บนหน้า Search Engine ด้วยอันดับดี ๆ 

ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงเราได้ง่ายมากขึ้นในช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เรามีส่วนร่วม ให้ข้อมูล สนับสนุน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าของเราได้

ภาพจาก peterblachley


1) ให้ความสำคัญกับ Content Marketing

Content is king.

คอนเทนต์ คือ อีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการทำการตลาด E-Commerce ที่สามารถเปลี่ยนให้คนแปลกหน้ากลายมาเป็นกลุ่มคนที่สนใจผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา และในท้ายที่สุดกลายมาเป็นผู้บอกต่อสินค้าของเราได้ ดังนั้นเราจึงควรมีการกำหนดเป้าหมายและวางแผนกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ด้วย เพราะว่าถ้าคอนเทนต์ดีและสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ก็ยิ่งมีคนกดเข้ามาดูเว็บไซต์ของเราเยอะ ส่งผลทำให้ร้านค้าของเรามีการแสดงผลบนหน้า Search Engine ในอันดับที่ดีขึ้นอีกด้วย

นอกจากนั้น การทำ Content Marketing ในยุคนี้ถ้าเราแทรกในรูปแบบวิดีโอ เช่น แนะนำผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ วิธีการใช้งาน เชิญชวนให้มาลองใช้ จะค่อนข้างได้รับความนิยมและสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้ดีกว่าคอนเทนต์ที่เป็นรูปแบบตัวหนังสือ เพราะทำให้ลูกค้าดูง่าย เห็นภาพได้ชัดกว่า แถมยังสามารถสร้างความบันเทิงมากขึ้นอีกด้วย

Enyware นวัตกรรมเบาะนั่งอัจฉริยะที่ช่วยลดอาการ Office Syndrome จากบริษัท Astride Bionix

การสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพจะทำให้ลูกค้าของเรารู้สึกมั่นใจในตัวร้านค้าและผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้น ยิ่งพวกเขารู้สึกมั่นใจมากเท่าไร พวกเขาก็ยินดีที่จะซื้อสินค้าจากเรามากขึ้นเท่านั้น

6. การตลาดที่ไม่เหมาะสมและขาดการแบ่งกลุ่มที่ดี

สร้างเว็บไซต์และลงทุนเตรียมพื้นที่โฆษณาให้พร้อมสำหรับการขายแค่นั้นเพียงพอแล้วใช่ไหม

คำตอบคือไม่ใช่ 

มีสิ่งหนึ่งสำหรับการทำเว็บไซต์ E-Commerce ที่มักเข้าใจผิด นั่นคือถ้าทำ SEO ดี ๆ แล้วจะทำให้ลูกค้ามองเห็นเว็บไซต์ของเราในหน้าแรกได้ แต่อย่าลืมว่าการทำ SEO ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน กว่าที่หน้าเว็บไซต์จะติดอันดับขึ้นมาถึงหน้าแรกได้

ต่อมาสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยในการกระจายหน้าร้านค้าของเราไปยังลูกค้าให้เร็วขึ้นก็คือ การใช้แพลตฟอร์ม Third Party เช่น Shopee, Lazada เข้ามาช่วย เพราะถ้าเป็นธุรกิจที่เริ่มใหม่ ๆ เว็บไซต์หรือคอนเทนต์ของเราอาจจะไม่ค่อยมีคนเข้ามาดูมากนัก การใช้แพลตฟอร์มนี้ก็จะช่วยให้ลูกค้าหาเราเจอเร็วมากขึ้น และพวกเขาเห็นว่าสินค้าของเราดีตอบโจทย์พวกเขาแล้ว ก็จะสามารถตามไปยังช่องทางอื่น ๆ ได้

นอกจากนั้น ในด้านของแผนการตลาดของเราควรประกอบไปด้วย Owned media, Earned media และ Paid media และคอนเทนต์ที่มีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของเรา เช่น Email, Blog, การโพสต์ลงบน Social Media

แต่ก็ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่ชอบการได้รับ Email หรืออ่าน Blog ดังนั้นการโฆษณาบน Social Media ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่จะทำให้แคมเปญการตลาดที่เราวางไว้ประสบความสำเร็จ และตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเราได้มากที่สุด และการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามความต้องการ อายุ หรือเกณฑ์ข้อมูลประชากรอื่น ๆ จะช่วยให้เราวางแผนแคมเปญการตลาดได้ดีเหมือนกัน

7. ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

สินค้าที่ขายทางออนไลน์มักจะมีคำถามหลังการซื้อมากกว่าสินค้าที่ขายตามร้านค้าจริง ๆ 

และถ้าเราตอบคำถามลูกค้าไม่ได้ ไม่มีคำตอบให้พวกเขา หรือแม้กระทั่งเทไม่ตอบคำถามของลูกค้า พวกเขาก็จะหนีไปหาคู่แข่งของคุณทันที ไม่เพียงแค่นั้นตอนนี้เข้าสู่ยุคออนไลน์อย่างเต็มตัวแล้ว ถ้าพวกเขารีวิวหรือแสดงความคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับร้านค้าของเราออกไป แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อยอดขายของเราอย่างแน่นอน

เราจึงต้องมีสิ่งที่คอยบริการในส่วนนี้ให้กับลูกค้า เช่น ระบบ Chatbot ที่คอยบริการตอบคำถามที่ลูกค้าส่วนใหญ่สงสัย แนะนำข่าวสาร ส่วนลด โปรโมชันต่าง ๆ ปิดการขายจนกระทั่งนำลูกค้าไปสู่หน้าจ่ายเงิน เป็นต้น

ภาพจาก open-tec


เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะบริษัทเล็กหรือใหญ่ หากเราไม่จัดหาวิธีอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าอย่างเหมาะสม เราอาจจะต้องเผชิญกับความล้มเหลวไม่ช้าก็เร็วแน่นอน

สรุปทั้งหมด

หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแบบ E-Commerce อยู่ที่สินค้า ถ้าอยากทำให้ร้านเราเติบโตแบบพุ่งกระฉูดจริง ๆ สินค้าของเราต้องแตกต่างจากร้านอื่นและช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้จริง เมื่อลูกค้าไปหาสินค้าแบบนี้ที่ร้านอื่นไม่ได้ พวกเขาก็ต้องมาซื้อที่ร้านของเรา 

และแม้ว่าทุกธุรกิจจะมีความแตกต่างกันและไม่เหมือนใคร แต่ก็มีอุปสรรคบางอย่างมาขัดขวางทำให้ธุรกิจ E-Commerce ของเราล้มเหลว บางครั้งเราพลาดแค่ครั้งเดียวอาจทำให้ธุรกิจของเราจมน้ำหายไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นนักการตลาดอย่างเราจึงต้องหลีกเลี่ยงและแก้ไขความผิดพลาดเหล่านั้น เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจ E-Commerce ของเราประสบความสำเร็จสุดปัง ต้อนรับปี 2021 กันนะคะ

Source : makewebbetter, techsauce, tutsplus




ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe