เริ่มทำ SEM แบบ Paid Search อย่างไรให้ธุรกิจได้ลูกค้าใหม่อย่างมีคุณภาพ

เริ่มทำ SEM แบบ Paid Search อย่างไรให้ธุรกิจได้ลูกค้าใหม่อย่างมีคุณภาพ
Light
Dark
Pea Tanachote
Pea Tanachote

อดีตนักร้อง ที่ผันตัวมาเขียนคอนเทนต์ ชอบดูฟุตบอลและ Blackpink เป็นชีวิตจิตใจ นักเขียนคอนเทนต์ที่ใคร ๆ ก็ต้องการตัว (โดยเฉพาะตำรวจ)

นักเขียน

“อยากให้เว็บไซต์ติดหน้าหนึ่ง Google” น่าจะเป็นสิ่งที่เจ้าของเว็บไซต์ หรือนักการตลาดต่างต้องการมากที่สุด เพราะการที่เว็บไซต์ของเรานั้นทำอันดับได้ดี จนแสดงผลอยู่ในหน้าแรกของการค้นหาย่อมมีโอกาสสูงไม่น้อยที่กลุ่มเป้าหมายหรือว่าที่ลูกค้าจะเข้ามาพบเว็บไซต์ของคุณได้ง่ายขึ้น

ปกติการจะให้เว็บไซต์ไปถึงจุดนั้นได้ ถ้าจะใช้วิธีแบบธรรมดาก็ต้องเกิดจากการทำ SEO (Search Engine Optimization) หรือก็คือการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ถูกจริตและความต้องการของ Google มากที่สุด โดยอาจจะเป็นการใช้ Keyword , Meta Tags หรือทำให้เว็บไซต์มี Responsive Design

แต่ปัญหาก็คือ สำหรับบางเว็บไซต์ที่ลองทำ SEO มาแทบจะทุกอย่างแล้ว แต่ก็ยังได้อันดับที่ไม่น่าพอใจ     (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง) เพราะมีคู่แข่งที่เยอะแยะไปหมด 

ถ้านักการตลาดท่านใดกำลังประสบปัญหาเช่นนี้อยู่ มาถึงตรงนี้ผมว่าคงต้องถึงเวลาที่คุณต้องลองใช้สิ่งที่เรียกว่า Paid Search หรือการซื้อโฆษณาในหน้า Search Engine ให้เว็บไซต์ของคุณติดหน้าแรกของ Google ได้ทันที 

ซึ่ง Paid Search ถือเป็นวิธีที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณได้เป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมายและสร้างโอกาสที่จะได้ลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น

โดยในบทความนี้เราจะขอพาคุณไปรู้จักกับการทำ Paid Search เพื่อให้ธุรกิจได้ลูกค้าใหม่อย่างมีคุณภาพ ผ่านการทำความรู้จัก SEM ตั้งแต่เบื้องต้น เครื่องมือที่ใช้งาน และวิธีที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จด้านการตลาดผ่านการใช้ Paid Search

หากพร้อมแล้วไปติดตามกันได้เลยครับ

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

รู้จักรูปแบบของการทำ SEM อีกหนึ่งวิธีทำให้เว็บไซต์ติดหน้าแรกใน Google

SEM (Search Engine Marketing) ถ้าแปลความหมายจริงๆ มันก็คือการทำการตลาดผ่าน Search Engine เช่น Google โดยลักษณะก็คือการทำให้เว็บไซต์ของเราขึ้นไปติดอยู่ในหน้าแรกของการค้นหาของ Keyword นั้นๆ ที่คุณตั้งเอาไว้

ให้ว่าที่ลูกค้าสามารถค้นหาเว็บไซต์ของคุณเจอได้ง่ายขึ้นและยังสร้างโอกาสการเปลี่ยนว่าที่ลูกค้าให้กลายเป็น “ลูกค้า” ในอนาคตได้ หากพวกเขากดเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณและเริ่มสร้าง Conversion ในนั้น

โดยเวลาที่เราเสิร์จข้อมูลใน Google เราจะพบเจอกับหน้าแสดงผล 2 รูปแบบได้แก่

  • 1. Organic Search (แบบไม่เสียเงิน)
  • 2. Paid Search (แบบเสียเงินซื้อ)

ซึ่งทั้ง 2 แบบจะแสดงผลอยู่ในหน้า SERP หรือหน้าการค้นหาของ Google ด้วยกันทั้งคู่ครับแต่ถ้าเป็นแบบ Paid Search คุณสังเกตได้ว่าจะมีสัญลักษณ์ที่เขียนว่า Ad อยู่หน้า URL ของเว็บไซต์ตามตัวอย่าง

ภาพจาก ModernMarketing Partners

ในรูปตัวอย่าง จะเป็นหน้า SERP ของ Google ซึ่งในกรอบสีแดงนั่นคือ Paid Search หรือเว็บไซต์ที่ติดหน้าแรกของ Google ได้ผ่านการซื้อโฆษณา ส่วนในกรอบสีฟ้าก็คือ Organic Search หรือเว็บไซต์ที่ติดอันดับแบบไม่เสียเงินซื้อโฆษณา มาแบบ SEO ล้วนๆ

โดยคุณจะสังเกตุได้เลยครับว่า Paid Search นั้นจะได้อยู่ในตำแหน่งบนสุดและด้านข้างของหน้าค้นหาเลย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ดีกว่าแบบ Organic เสียอีก เลยเป็นเหตุผลให้การทำ SEM แบบ Paid Search เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักการตลาดเว็บไซต์ในยุคปัจจุบันนั่นเอง

การเริ่มต้นใช้งานและกลไกการทำงานของ Paid Search มีลักษณะอย่างไร ?

หลังจากหัวข้อที่แล้วคุณได้เห็นไปแล้วว่าการทำ SEM มีแบบไหนกันบ้าง กรณีที่คุณคิดว่า “อยากใช้แบบ Paid Search ไปเลย ลองทำ SEO มาหมดแล้วก็ไม่ติดหน้าแรกซะที” หัวข้อนี้จะมาบอกคุณเองครับว่าคุณจะเริ่มต้นทำมันได้อย่างไร

อย่างแรกเลยคือคุณต้องเปิดบัญชีของ Google Ads ขึ้นมาก่อนครับและเริ่มสร้าง Campaign โดยสำหรับการทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับของ Google ในแบบ Paid นั้นเราจะเลือกไปที่ Campaign Type ในตัวเลือก Search ครับ

(ในตัวเลือกอื่นๆ ก็จะแสดงผลใน Google เช่นกันแต่ในกรณีที่คุณต้องการให้เว็บไซต์ติดอันดับ ให้สนใจเฉพาะ Search ครับ)

และจากนั้นคุณก็แค่เข้าไป ใส่ลิงก์ของเว็บไซต์ และรายละเอียดต่างๆ ที่ Google Ads ต้องการเพียงเท่านี้ก็พร้อมที่จะเริ่มต้นการทำโฆษณากับ Google แล้วครับ

แต่หลายคนที่เป็นมือใหม่ทางด้านการตลาด เมื่อ Setting ค่าต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วอาจจะสงสัยว่าแล้วเราต้องจ่ายเงินเท่าไร ถึงจะได้ติดอันดับต้นๆ ของหน้าการค้นหาได้บ้าง หรือทาง Google จะมีวิธีการเก็บเงินอย่างไร ?

คำตอบก็คือ Google จะมีวิธีการเก็บเงินที่เรียกว่า PPC (Pay Per Clicks) หรือก็คือคุณจะจ่ายเงินเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคลิกที่มีลูกค้ากดเข้าไปนั่นเอง ซึ่งขั้นตอนเริ่มแรกคุณต้องทำการประมูล Keyword ที่คุณต้องการซะก่อน 

เพื่อที่จะทำให้โฆษณาของคุณเริ่มไปปรากฏอยู่เมื่อมีการค้นหาใน Google ซึ่งตำแหน่งของโฆษณานั้นจะถูกกำหนด โดยสิ่งที่เรียกกว่า CPC (Cost Per Click) หรือก็คือค่าประมูลโฆษณา ที่จะเป็นราคาที่เรากำหนดไว้ว่าหากมีคนคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์ เราต้องจ่ายคลิกละกี่บาท

แต่ต้องบอกก่อนเลยนะครับว่าในการประมูล Keyword นั้นถ้า Keyword ของคุณเป็นคำที่มียอดการค้นหาเยอะก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อคลิกหรือ CPC สูงขึ้น (เช่นคำกว้างๆ อย่าง รับทำเว็บไซต์ เช่ารถ หาคอนโด ฯลฯ) เพราะมีคู่แข่งเยอะ 

ทางแก้ก็คือลองใช้ Keyword ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น (การใช้ Longtail Keyword) เช่น รับทำเว็บไซต์ราคาถูก หาคอนโดติดรถไฟฟ้า หรือไม่ก็ลองสำรวจใน Google Keyword Planner ดูก่อนเพื่อหา Keyword ใกล้เคียงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณสำหรับการโฆษณาครับ

ภาพจาก featuringtae

การทำ SEM (Search Engine Marketing) แบบ Paid Search เหมาะกับธุรกิจที่กำลังมองหาสิ่งใดอยู่ ?

การทำ SEM แบบ Paid Search ถึงแม้คุณอาจจะต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการโฆษณา (ที่คาดเดาไม่ได้ว่าเท่าไหร่) แต่ประโยชน์ที่คุณจะได้รับกลับมาก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเลยครับ 

โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังต้องการสิ่งต่างๆ เหล่านี้ การทำ SEM แบบ Paid Search อาจจะเป็นคำตอบที่คุณมองหาอยู่ครับ

  • ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักคุณมากขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าการที่คุณต้องการให้เว็บไซต์ของคุณไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกค้นหาได้ง่ายขึ้น วัตถุประสงค์อย่างแรกก็คือต้องการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Awareness) หรือก็คือให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ว่า คุณคือใคร คุณทำอะไร นั่นเอง

ด้วยตำแหน่งที่เป็นอันดับแรกๆ เมื่อมีลูกค้าค้นหาจาก Google ถ้าเว็บไซต์ของคุณมีการเขียน Title Tag และ Description ที่ครบถ้วนและดึงดูด ผมบอกเลยว่ากลุ่มเป้าหมาย จะต้องกดเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณแน่นอน

  • ต้องการโปรโมทสินค้า/บริการ หรือโปรโมชั่นใหม่ๆ

ในกรณีที่ธุรกิจของคุณเกิดมีสินค้า/บริการ หรือโปรโมชั่นใหม่ๆ ที่คุณต้องการโปรโมทนอกเหนือจากช่องทาง Social Media Ads แล้ว การใช้ SEM แบบ Paid ก็สามารถช่วยคุณได้ครับ 

เพราะคุณสามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้เลย เพียงแค่ซื้อพื้นที่โฆษณา โดยคุณไม่จำเป็นต้องรอคอยการไต่อันดับเหมือนการทำ SEO ซึ่งเหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว

จากตัวอย่างธุรกิจเครื่องออกกำลังกายต่างเลือกใช้ Paid Search เพื่อทำการโปรโมทโปรโมชั่นลดราคาลู่วิ่ง ซึ่งแน่นอนว่าการเขียน Description และ Title Tags ที่ดึงดูดนั้นจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ชี้วัดจำนวน Reach และ Conversion ได้เช่นกันครับ

  • ต้องการเป็น Top of Mind ของธุรกิจนั้นๆ

ด้วยตำแหน่งที่ดึงดูดบนหน้า SERP ซึ่งต้องยอมรับว่ามีโอกาสที่จะสร้าง Brand Awareness ให้กับธุรกิจคุณได้ไม่น้อย เพราะถ้าคุณมีการ Biding จนได้ขึ้นเป็นอันดับ 1 เว็บไซต์ของคุณก็จะเป็นเว็บไซต์แรกที่กลุ่มเป้าหมายเจอเมื่อเกิดการค้นหา

และถ้าคุณสามารถยึดพื้นที่อันดับต้นๆ ของหน้าการค้นหาไปได้เรื่อยๆ ก็มีโอกาสไม่น้อยที่จะค่อยๆ กลายเป็น Top of Mind ของกลุ่มเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้าและการให้บริการของตัวคุณเองด้วยนะครับ

  • ต้องการยอดขาย , ว่าที่ลูกค้าจากช่องทางออนไลน์เพิ่ม

และสำหรับธุรกิจที่ต้องการยอดขายจากช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การทำ Paid Search อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีครับ

เพราะถ้าเว็บไซต์ของคุณมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่ดึงดูด อยู่ในตำแหน่งของหน้า SERP ที่ดี โอกาสที่ลูกค้าจะคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์คุณและเริ่มทำการซื้อสินค้าก็ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 

หรือบางทีก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง “ซื้อ” เสมอไป เพราะถ้าเป้าหมายของธุรกิจคุณ ต้องการเพียง Leads หรือรายชื่อของว่าที่ลูกค้าการทำ Paid Search ก็จะทำให้คุณขยายฐานกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และทำให้ได้ว่าที่ลูกค้าที่มีคุณภาพกลับคืนมาได้เช่นเดียวกันครับ

3 เทคนิคเริ่มต้นทำ SEM (Search Engine Marketing) แบบ Paid Search เพื่อให้ธุรกิจได้ลูกค้าใหม่อย่างมีคุณภาพ

ในหัวข้อนี้เราจะพาคุณไปเรียนรู้ 3 เทคนิคเริ่มต้นทำ SEM (Search Engine Marketing) แบบ Paid Search เพื่อให้ธุรกิจได้ลูกค้าใหม่อย่างมีคุณภาพ จะมีเรื่องอะไรบ้างที่คุณต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น ลองมาติดตามกันเลยครับ

เทคนิคที่ 1 : Keyword Research is Matter

ขั้นตอนแรกสุดของการทำ SEM แบบ Paid Search ให้มีชัยตั้งแต่เริ่มต้นนั่นก็คือการทำ Keyword Research สำหรับการค้นหา ที่ถือเป็นหัวใจของการทำ SEM ทั้ง 2 แบบ (Organic - Paid)

อันดับแรกคุณต้องรู้ก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณกำลังมองหาอะไร เพื่อคุณจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาตกผลึกเพื่อหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่สุด ที่จะสามารถมาคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่สนใจในสินค้า/บริการของคุณจริงๆ และพาพวกเขาเข้ามายังเว็บไซต์ได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจของคุณสามารถเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็น “ลูกค้า” ได้อย่างมีคุณภาพ

โดยเฉพาะการทำ Paid Search การที่คุณทำ Keyword Research มาก่อนจะทำให้คุณหา Keyword ที่มีการแข่งขันไม่เยอะ ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการ Biding ไปได้พอสมควรทีเดียวครับ

Tips : อย่างที่ผมกล่าวไปเมื่อข้างต้น คุณอาจลองเริ่มหา Keyword ที่ใช่สำหรับธุรกิจของคุณผ่าน Google Keyword Planner แต่ถ้าคุณต้องการ Research ให้เยอะกว่านี้จริงๆ ก็มีเครื่องมือจากบริษัทเดียวกันอย่าง Google Trends ที่จะสามารถบอก Trends Keyword ยอดนิยมในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงทำการเปรียบเทียบแนวโน้มของ Keyword (ในกรณีที่คุณมี Keyword ในใจ 2 แบบ)

ภาพจาก Ahrefs

หรืออยากลองใช้ตัวช่วยจากบริษัทอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกันครับ โดยอีกตัวที่ผมอยากแนะนำก็คือ Keyword Generator ด้วยจุดเด่นที่ใช้งานง่าย และตัวเว็บไซต์ยังสามารถแนะนำ Keyword Idea ที่เกี่ยวข้องและ Question Keyword ที่เหมาะกับธุรกิจคุณได้อีกด้วย

เทคนิคที่ 2 : ใช้งาน Google Ads ให้เป็น

ด้วยความที่การทำ Paid Search สำหรับ Google ต้องเริ่มทำแคมเปญผ่าน Google Ads เพราะฉะนั้นหากคุณต้องการเริ่มทำ Paid Search ให้ธุรกิจได้ลูกค้าใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ จงอย่าลืมให้ความสำคัญกับ Google Ads เด็ดขาด ทั้งในการเรียนรู้การจัดโครงสร้างแคมเปญ และการ Monitoring ต่างๆ

โดยเฉพาะเรื่องของ Bidding Strategy หรือกลยุทธ์การประมูลราคาสำหรับ Google Ads  ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำหรับการทำ Paid Search (หลายองค์กรมีพนักงานตำแหน่งนี้โดยเฉพาะ) 

ซึ่งเทคนิคที่เราจะแนะนำก็คือการ Bid ราคาให้เป็น บางธุรกิจที่มีงบประมาณในการทำโฆษณาแบบเต็มที่ พวกเขาสามารถ Bid ราคาได้สูงตั้งแต่เริ่มต้น (ซึ่งก็เป็นเรื่องดี) 

แต่ถ้าในกรณีที่ธุรกิจของคุณยังไม่ได้มีงบประมาณในการโฆษณามากขนาดนั้น แนะนำให้ลองเริ่ม Biding จากราคาที่ต่ำก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มราคาไปทีละนิด จนเว็บไซต์ของคุณอยู่ในอันดับที่น่าพอใจ เพื่อประหยัดงบประมาณ 

กลับกันถ้าตั้งราคาต่ำเกินไป แต่เว็บไซต์ดันมียอดคลิกที่สูง ก็อาจจะทำให้แคมเปญโฆษณาของคุณมีระยะเวลาแสดงผลไม่นาน เพราะ Budget หมดเกลี้ยงซะแล้ว พลาดโอกาสในการได้ลูกค้าคุณภาพไปอย่างน่าเสียดาย

ภาพจาก searchenginejournal

เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรตั้งราคา Biding ให้เหมาะสม กำหนดงบประมาณให้พอดีกับแคมเปญเพียงเท่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองเงินมากมายกับการทำโฆษณาแล้วครับ

เทคนิคที่ 3 : ปรับแต่ง Site Structure และเลือก Keyword ให้เหมาะสม

หลังจากที่คุณกำหนด Keyword และทำการ Set Up Google Ads จนพร้อมทำการโฆษณาแล้วสิ่งสุดท้ายที่คุณจะต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ ก็คือการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ถูกจริตของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

ควรเริ่มตั้งแต่ Sitemap หรือ Structure ของเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย ไม่วุ่นวาย เข้าไปเข้ามาซึ่งในส่วนตรงนี้คุณอาจจะต้องลองปรึกษากับทีม Developer หรือ Website Agency เพื่อหาทางแก้ไขให้เว็บไซต์คุณมีโครงสร้างที่น่าใช้งาน 

ซึ่งประโยชน์ที่จะตามมาก็คือเมื่อคุณได้ลองปรับ Site Structure ที่ดีแล้ว คุณก็สามารถเลือก Keyword ที่เหมาะสมกับเว็บไซต์ในหน้านั้นๆ ได้ เพิ่มโอกาสในการรับรู้ของกลุ่มลูกค้าได้อีก


ภาพจาก wiseseo

และสุดท้าย !!! อย่าลืมให้ความสำคัญกับเรื่อง User Experience ของเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็น Page Speed (ความเร็วในการโหลดของเว็บไซต์) หรือ Responsive Design (การออกแบบเว็บไซต์ให้แสดงผลทุกอุปกรณ์)

เพราะทั้ง 2 อย่างถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายกลายมาเป็นลูกค้าคุณภาพ กับธุรกิจของคุณ โดยสำหรับนักการตลาดท่านใดที่ต้องการศึกษาเรื่องการปรับแต่ง Website ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีนั้น คุณสามารถเข้าไปอ่านบทความทั้ง 2 เรื่องของเราได้เลยครับ

สรุปทั้งหมด

ในฐานะที่คุณเป็นนักการตลาดออนไลน์ยุคใหม่ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องรู้จักการทำงานของโฆษณาออนไลน์ได้ทุกประเภท ซึ่งการทำ SEM แบบ Paid Search ก็ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตามการทำ Paid Search ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของการ “ซื้อโฆษณา” เท่านั้นแต่คุณต้องอาศัยความรู้ในการเลือกใช้ Keyword ให้ตรงกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการค้นหา ถึงจะทำให้การทำ Paid Search สำหรับ Google ของคุณประสบความสำเร็จ และให้คุณได้ลูกค้าใหม่ๆ อย่างมีคุณภาพกลับคืนมาสู่ธุรกิจครับ

Source : g2learninghub , zimmer , searchenginejournal , wordstream 


ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เราช่วยธุรกิจของคุณให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม

ติดตามข้อมูลการตลาด
Growth Hacking ได้เลยทีนี่
มากกว่า 2,000 บริษัทติดตาม The Growth Master ตอนนี้
ไปที่หน้า Subscribe