สำหรับคนที่กำลังมองหางาน, คนที่เป็น HR หรือ Job Seeker ที่กำลังค้นหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะมาทำงานในบริษัท หรือคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจหรือสายอาชีพต่าง ๆ อาจจะรู้จักและคุ้นเคยกับ LinkedIn เป็นอย่างดี
เพราะ LinkedIn เปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมของมืออาชีพในสายงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี, ด้านการตลาด หรือด้านอื่น ๆ ที่ไม่ว่าใครจะตำแหน่งเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถเข้ามาติดต่อ พูดคุย แสดงความคิดเห็น หรือสร้าง Connection กันได้ง่าย ๆ บนแพลตฟอร์ม
และถึงแม้ว่า LinkedIn จะถูกก่อตั้งมาเกือบ 20 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2003) แต่ก็ยังคงมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จนในปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 774 ล้านคนทั่วโลก และปี 2021 สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในวันนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปเจาะลึกกลยุทธ์การเติบโตของ LinkedIn ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเครือข่ายสังคมทางด้านอาชีพและธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่มีอายุมากที่สุดที่ยังคงมีผู้ใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
LinkedIn คืออะไร?
LinkedIn คือ แพลตฟอร์ม Professional Social Network เว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่เน้นทางด้านธุรกิจและอาชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้าง Professional Profile ในด้านการงานอาชีพ และการสร้าง Connection กับบุคคลในแวดวงอุตสาหกรรมงานเดียวกับเรา (หรือข้ามสายงานก็ได้)
โดยการใช้งานของ LinkedIn จะคล้าย ๆ กับที่เราเล่นโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อย่าง Facebook ที่มีการกดไลก์ กดแชร์ แสดงความคิดเห็น หรือโพสต์ข้อความต่าง ๆ ลงไปได้ แต่ก็จะเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับด้านอาชีพ, ธุรกิจ หรือสร้าง Connection เป็นส่วนใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้น LinkedIn ยังเปรียบเสมือนเป็นฐานข้อมูลให้ผู้ที่กำลังหางานและนายจ้าง, Job Seeker หรือ HR ของบริษัทต่าง ๆ รวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าไปสร้างโปรไฟล์ข้อมูลส่วนตัวเองขึ้นมาบน LinkedIn ที่ประกอบไปด้วย ข้อมูลด้านการศึกษา, ประสบการณ์การทำงาน, ทักษะความสามารถของตัวเอง และอื่น ๆ ซึ่งโปรไฟล์นี้เราจะเปรียบเสมือนเป็น Resume ประจำตัวของผู้ใช้คนนั้น ๆ เลย
ซึ่งถ้าหากใครที่ต้องการหางานหรือสมัครงานในบริษัทต่างประเทศหรือบริษัทข้ามชาติ LinkedIn ก็ตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ใช้งานสามารถส่ง Resume ไปได้ทันทีหากสนใจ รวมถึงสามารถสร้าง Connection กับคนที่อยู่ในบริษัทนั้นอย่างง่ายดาย
และทางฝั่งของนายจ้าง, Job Seeker หรือ HR ของบริษัทที่กำลังมองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ ก็สามารถเข้ามาสำรวจโปรไฟล์ของแต่ละคนได้ และถ้าหากผู้ใช้คนนั้นตรงกับคนที่ต้องการหาอยู่ ก็สามารถส่งข้อความไปเสนองานหรือพูดคุยกันได้โดยตรงเลย
สำหรับอีกหนึ่งความพิเศษของ LinkedIn คือ สามารถให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ในเครือข่าย เข้ามาเขียนรับรองทักษะความสามารถของผู้ใช้คนอื่น ๆ เพื่อบ่งบอกว่าคนนี้มีความสามารถด้านนี้จริง ซึ่งการรับรองนี้ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อและความน่าดึงดูดให้ฝั่งผู้จ้างงานมาสนใจผู้ใช้คนนั้นได้มากขึ้นอีกด้วย
(แอบกระซิบ The Growth Master ก็มีช่องทางใน LinkedIn ด้วยเหมือนกัน สามารถติดตามได้ >> ที่นี่)
ประวัติความเป็นมาของ LinkedIn กว่าจะเป็นเครือข่ายอาชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้องผ่านอะไรมาบ้าง?
LinkedIn ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2002 โดย Reid Hoffman (อดีต CEO ของ LinkedIn ส่วน CEO ปัจจุบัน คือ Jeff Weiner) และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2003 หรือ 9 เดือนก่อนที่ Facebook จะเปิดตัวในปี 2004 ดังนั้น LinkedIn จึงถือว่าเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เก่าที่สุดที่ยังมีการใช้งานมาถึงปัจจุบัน
ด้วยความที่ LinkedIn ไม่ใช่โซเชียลมีเดียแบบธรรมดาทั่วไป เพราะเน้นเจาะกลุ่มคนทำงานมากกว่า จึงไม่ได้เป็นโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้งานแพร่หลายเท่ากับโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อย่าง Facebook, Twitter, Instagram หรือ TikTok ที่โดดเด่นในเรื่องของการสร้างความบันเทิงเป็นหลัก (ดังจะเห็นได้จากกราฟด้านล่างนี้)
Problem-solving is necessary to overcome difficulties, but what business leaders often ignore is the more important aspect of the business: developing people. – Jeff Weiner
โดยจุดเริ่มต้นการเปิดตัว LinkedIn ถูกก่อตั้งขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่อยากเปลี่ยนวิธีคิดของคนที่จัดการเกี่ยวกับด้านอาชีพต่าง ๆ ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็น HR หรือผู้ประกอบการที่กำลังตามหาคนเข้าทำงานในองค์กร ได้พบเจอคนที่กำลังตามหาและมีคุณสมบัติครบถ้วนตรงตามต้องการ
แต่ตัวเลขของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มในช่วงแรกค่อย ๆ เติบโตไปอย่างช้า ๆ เพราะผู้คนยังไม่ค่อยเข้าใจคุณค่าของแพลตฟอร์มสักเท่าไร โดยสิ้นปี 2004 LinkedIn มีสมาชิกทั้งหมด 150,000 คน นั่นก็นับว่าเป็นการเติบโตที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางอินเทอร์เน็ตในยุคนั้น (ไม่ใช่ตัวเลขที่เติบโตหวือหวาแต่อย่างใด)
LinkedIn ก็ไม่หยุดยั้งการเติบโตแค่นั้น ยังได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามา เพื่อดึงดูดและขยายฐานผู้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ แต่ถึงแม้ว่าทีมจะมีความตั้งใจทำงานมากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนมาลงทุนได้ทั้งหมด
เพราะก่อนหน้านั้น LinkedIn ได้มีการไป Pitching หาเงินทุนกับ 26 VCs (Venture Capitals) แต่กลับมีเพียง 2 VCs เท่านั้นที่ตอบรับ นั่นคือ Sequoia (ที่ลงทุนให้กับ Yahoo!, PayPal, Google ในช่วงแรก) กับ Nokia Ventures โดยที่ใน Series A ได้รับเงินลงทุนเป็นจำนวนเงิน 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 155 ล้านบาท)
หลังจากที่มี VCs เข้ามาลงทุน ทำให้ LinkedIn ก็ต้องพิสูจน์ความสามารถในการทำกำไรอย่างรวดเร็ว บริษัทจึงเข้าสู่โหมดการทำธุรกิจอย่างจริงจังในปี 2005 ด้วยการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ และโมเดล Subscription (เช่น LinkedIn Premium) ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคน อีกทั้งยังสามารถขยายตลาดเข้าไปยังยุโรป (สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และสเปน) และเปิดสำนักงานระหว่างประเทศที่สหราชอาณาจักรครั้งแรกได้อีกด้วย
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา LinkedIn กลายเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานบนโทรศัพท์ ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น จนตัวเลขผู้ใช้งานของ LinkedIn มีจำนวนมากพอที่จะไปเตะตา Microsoft
นั่นจึงทำให้ Microsoft ได้เข้าซื้อกิจการ LinkedIn ไปเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2016 ด้วยมูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 196 ดอลลาร์ต่อหุ้นในธุรกรรมเงินสด) และมี Jeff Weiner นั่งตำแหน่ง CEO ของ LinkedIn โดยหลังจากที่ Microsoft ประกาศซื้อ LinkedIn หุ้นของ LinkedIn กระโดดพุ่งไปกว่า 49% เลยทีเดียว
สำหรับเหตุผลที่ Microsoft เข้าซื้อกิจการ LinkedIn นั้นเป็นเพราะว่าจะนำ LinkedIn มาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มซอฟต์แวร์การจัดการขององค์กรร่วมกับ Microsoft Office 365 และ Microsoft Dynamics นั่นเอง
ตัวเลขการเติบโตของ LinkedIn ที่สร้างรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านดอลลาร์
หลังจากที่ Microsoft ได้เข้าซื้อ LinkedIn เมื่อปี 2016 ก็ได้มีการปรับปรุงเว็บไซต์และเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ มากมาย เช่น ปล่อย Mobile App เวอร์ชันใหม่ออกมา ทำให้หน้าฟีดของ LinkedIn สามารถเสนอข่าวสารเกี่ยวกับ Business Insights ได้เป็นอย่างดีและรวดเร็วขึ้น ผลที่ตามมา คือ สมาชิกบนแพลตฟอร์มมี Engagement เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อีกทั้งยังได้เข้าซื้อ Lynda.com แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพื่อนำมาสร้างเป็นแพลตฟอร์ม LinkedIn Learning ให้สมาชิกใน LinkedIn มาเรียนรู้ทักษะและสร้างสกิลใหม่ ๆ เพื่อนำไปอัปเกรดโปรไฟล์ให้ตัวเองเพิ่มโอกาสในด้านอาชีพการงานที่เพิ่มมากขึ้น
รวมถึงยังมีการเปิดตัว Recruiting Tool หรือโซลูชันการสรรหาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของ LinkedIn ในเวอร์ชันใหม่แก่ลูกค้าองค์กรอีกด้วย ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ตัวเลขการเป็นสมาชิก, ยอด Engagement และผลลัพธ์ทางการเงินของ LinkedIn เพิ่มขึ้น เช่น
- มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 433 ล้านคนทั่วโลก เติบโตที่เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบปีต่อปี (YOY)
- มีสมาชิกที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มมากกว่า 105 ล้านคนต่อเดือน ถือว่ามีการเติบโต 9% (YOY)
- การใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ จากเดิมที่ 49% กลายเป็น 60% (YOY)
- ยอด Page Views ของสมาชิก มีมากกว่า 45 พันล้านครั้ง ถือเป็นการเติบโต 34% (YOY)
- มีตำแหน่งงานมากกว่า 7 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเติบโตขึ้น 101% (YOY)
ซึ่งจากรายงานของ LinkedIn ปัจจุบัน LinkedIn มีสมาชิกทะลุ 774 ล้านคนไปแล้ว และมีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 55 ล้านแห่งทั่วโลก ซึ่งในบรรดาผู้ใช้งานเหล่านี้ มีคนที่มีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มทุกวันมากถึง 40% เป็นการตอกย้ำว่ามีผู้ใช้งานที่มี Interaction กับแพลตฟอร์มมากกว่า 1 พันล้านครั้งทุกเดือน
และล่าสุดไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 Microsoft ประกาศว่า LinkedIn มีรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก (คิดเป็นเพิ่มขึ้น 27%) ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่การันตีการเติบโตของ LinkedIn อย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้อาจเรียกได้ว่า LinkedIn ได้รับจากผลกระทบในเชิงบวกในช่วง Covid-19 ระบาด ทำให้การค้นหาและสมัครงานเกิดขึ้นในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น และ LinkedIn ก็เป็นช่องทางที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสำหรับทั้งผู้ค้นหางาน และผู้ที่ค้นหาคนมาทำงานในบริษัทได้เป็นอย่างดี
กลยุทธ์การเติบโตของ LinkedIn แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมทางด้านอาชีพและธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกใช้
1. โฟกัสที่จุดแข็งมากกว่าแก้ไขจุดอ่อน
LinkedIn ยอมรับว่าแพลตฟอร์มมีจุดอ่อนมากมายในตอนแรก แต่ทีมงานของ LinkedIn เขาตระหนักดีว่า พวกเขาสามารถมุ่งเน้นและโฟกัสไปที่จุดแข็งของบริษัทเพื่อทำให้เติบโตได้อีก
ตัวอย่างเช่น บริษัทได้ติดตามดูว่า Lead ที่เข้ามาสมัครสมาชิกบนแพลตฟอร์มของพวกเขามาจากที่ใดบ้าง โดยที่ใช้การวัดผลจากการสมัครผ่านอีเมลและการสมัครจากหน้าแรกของเว็บไซต์ ซึ่งพวกเขาพบว่า 40% ของการสมัคร ผู้ใช้งานมักทำสำเร็จผ่านหน้าแรกของเว็บไซต์ ในขณะที่สมัครผ่านอีเมลคิดเป็น 4% ของการสมัครเท่านั้น
ถ้าเกิดเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไรกับผลลัพธ์แบบนี้ หรืออยากจะแก้ไขที่จุดใด? บางคนก็อาจตอบว่าจะไปคิดกลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อทำให้ยอดการสมัครผ่านอีเมลมากยิ่งขึ้น เพราะว่ายอดสมัครผ่านหน้าเว็บไซต์มีผลตอบรับที่ดีมากอยู่แล้ว
แต่สำหรับทีม LinkedIn เขาไม่ได้โฟกัสที่จุดอ่อนของพวกเขา (การสมัครผ่านอีเมล) แต่พวกเขากลับไปโฟกัสในการคิดกลยุทธ์ทางการตลาด ปรับปรุง UX ให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงออกแบบ UI หน้า Landing Page ใหม่ เพื่อขยายการเข้าถึงแบบออร์แกนิกไปยังผู้ใช้งานให้อยากมาลงทะเบียนสมัครใช้งานมากขึ้น
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับมานั้นก็ทำให้ LinkedIn มีจำนวนผู้สมัครเติบโตแบบทวีคูณเพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น นี่ถือว่าเป็นการตัดสินใจโฟกัสที่ถูกจุดมาก ๆ ของ LinkedIn เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าปัจจุบันนี้ มีผู้ใช้งานเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่มักจะสมัครผ่านอีเมล ถ้าเกิดเขาไปโฟกัสที่การสมัครแบบอีเมลโดยที่ไม่สนใจหน้า Landing Page เลย ผลลัพธ์ที่ออกก็อาจไม่เติบโตแบบทวีคูณเหมือนที่กล่าวไปก็ได้
2. จาก Social Platform สู่ Social Marketplace
LinkedIn เป็นธุรกิจที่จากที่เคยเป็นเพียงแค่ Job Portal หรือช่องทางหางานปกติทั่วไป ภายหลังก็ได้เปลี่ยนมาเป็น Professional Network ที่ผู้ใช้สามารถสร้างเครือข่ายด้านอาชีพกับผู้อื่นในสายงานเดียวกันได้
ซึ่งหลังจากที่ LinkedIn ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองแบบที่บอกไปดังกล่าวแล้ว ก็ได้ขยายบริการออกมาเป็น 3 หมวดหมู่ด้วยกัน ประกอบไปด้วย
- Talent Solutions – เครื่องมือเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้หางาน เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ LinkedIn ที่ทำให้องค์กรมีโอกาสในการค้นหาผู้สมัครที่เหมาะสม มีพรสวรรค์ที่น่าสนใจ และตรงกับความต้องการของบริษัทเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทสามารถตัดสินใจรับพนักงานได้รวดเร็วและมีข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นอีกด้วย
- Marketing Solutions – เป็นบริการโฆษณา (Ad Service) แบบ In-house ที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถทำการโฆษณา, ซื้อข้อความ, การแสดงผล, InMail* และ Sponsored Updates ได้ คล้ายกับการทำ Facebook Ads แต่บน LinkedIn มักจะอยู่ในรูปแบบของการเปิดรับสมัครงานเป็นส่วนใหญ่ *InMail คือ การส่งข้อความไปหาสมาชิก LinkedIn คนอื่น ที่คุณไม่รู้จักมาก่อนได้โดยตรง
- Sales Solutions – เป็นเครื่องมือตัวช่วยในการขาย โดย LinkedIn จะให้ใช้ข้อมูลสมาชิก 760 ล้านคน เพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูล Insight และสร้าง Lead ที่มีคุณภาพ และช่วยหาโอกาสในการขายให้มีมากขึ้น (ส่วนใหญ่ธุรกิจที่ใช้เครื่องมือนี้จะเป็นแบบ B2B)
โดยในปี 2021 ล่าสุด LinkedIn รายงานว่ามีรายรับเพิ่มขึ้น 928 ล้านดอลลาร์ (หรือ 46% จากปีก่อนหน้า) ซึ่ง Marketing Solutions เป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ LinkedIn มีการเติบโตมากขึ้นถึง 97% และเครื่องมือ Talent Solutions ก็สามารถช่วยให้ตลาดงานในธุรกิจต่าง ๆ บน LinkedIn ดีขึ้นอีกด้วย
3. LinkedIn Premium เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง
LinkedIn ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีโมเดลธุรกิจ Subscription ซึ่งจะเรียกว่า LinkedIn Premium โดยมีผู้ใช้งานกว่า 39% เต็มใจยอมจ่ายเงินในการใช้งาน LinkedIn Premium เพื่อที่จะเข้าถึงสิทธิพิเศษในแบบที่ผู้ใช้ธรรมดาทั่วไปไม่ได้รับ โดย LinkedIn Premium จะมีทั้งหมด 4 ราคาด้วยกัน คือ
- Premium Career ราคา $29.99 ต่อเดือน (ประมาณ 990 บาท)
- Premium Business ราคา $59.99 ต่อเดือน (ประมาณ 1,990 บาท)
- Sales Navigator Pro ราคา $79.99 ต่อเดือน (ประมาณ 2,645 บาท)
- Recruiter Lite (Hiring) ราคา $119.95 ต่อเดือน (ประมาณ 3,960 บาท)
และในแต่ละแพลนก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น
- แพลน Premium Career จะเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหางาน เพราะสามารถดูได้ว่ามีใครเข้ามาดูโปรไฟล์ของเราได้บ้าง เห็นจำนวนครั้งที่ปรากฏในการค้นหา และสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่โพสต์ (รวมถึงเงินเดือน) เป็นต้น
- แพลน Premium Business เหมาะสำหรับธุรกิจต่าง ๆ เพราะจะสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ และค้นหาผู้คนได้อย่างไม่จำกัด เพื่อมาทำงานให้กับบริษัทของตัวเอง
- แพลน Sales Navigator Pro เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างยอดขายและโอกาสในการขายบนแพลตฟอร์ม เพราะจะมีตัวกรองการค้นหาขั้นสูง และเข้าถึงเครื่องมือการขาย (Marketing Solutions) ต่าง ๆ ได้ เป็นต้น
- แพลน Recruiter Lite (Hiring) เหมาะสำหรับชาว HR, Job Seeker เพราะสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ในส่วนของ Talent Solutions ทั้งหมดได้ ซึ่งเป็นตัวช่วยชั้นดีในการช่วยค้นหา Candidate อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เราจะสังเกตได้ว่าไม่ว่าจะผู้ใช้งานที่เลือกใช้ LinkedIn Premium จะอยู่ในกลุ่มใดก็ตาม ทั้งผู้หางาน, ผู้รับสมัครงาน, ธุรกิจ, บริษัท, HR หรือแบรนด์ LinkedIn ก็มีแพลนให้เลือกเหมาะสำหรับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ดี ๆ ที่เข้าใจผู้ใช้งานว่าพวกเขาต้องการอะไรเพิ่มเติม แล้วก็สร้างโมเดล Subscription ที่มีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของผู้ใช้งาน ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ LinkedIn มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
4. ใช้ Growth Strategy เพื่อสร้างการเติบโต
ถ้าเกิดคุณลองติดตามเรื่องราวของแบรนด์ระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น PayPal, Hotmail, Pinterest, Airbnb เอง ก็มักจะนำหลักการ Growth มาใช้ ซึ่ง LinkedIn ก็เป็นหนึ่งในบริษัทนั้นเช่นกัน
มาเริ่มกันทีเรื่องแรก คือ “ทีม” สำหรับ LinkedIn ทุกคนคือ Growth Team ไม่ว่าจะเป็น CEO, Product Manager, Engineer, Marketer หรือ Product Support เอง ทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด เพราะถ้าหากขาดทีมใดทีมหนึ่งไป จะไม่สามารถทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่น ไม่มีทีม Marketer ทีม Engineer ก็ทำงานต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่สามารถ Launch ผลิตภัณฑ์ออกมาให้ User ใช้ได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
ต่อมาเรื่อง North Star Metric โดยที่ในละแต่ช่วงของการเติบโต LinkedIn ใช้ North Star Metric ที่ไม่เหมือนกัน เช่น ในช่วงขั้นของ Acquisition หรือการหาผู้ใช้งานใหม่ ทีมจะโฟกัสไปที่ Quality Signups (ผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนเข้ามาใช้งาน) แต่ในขั้นหลังจากนั้น LinkedIn ก็ได้เพิ่ม Metric ขึ้นมาใหม่อีกตัว นั่นคือ Engaged Quality Members (ผู้ใช้งานที่มีส่วนร่วมกับ LinkedIn อย่างสม่ำเสมอ)
ซึ่ง LinkedIn ทำถูกต้องแล้ว เพราะการทำธุรกิจจะไม่สามารถโฟกัสไปที่ Metric เดียวได้ตลอดไป ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามแต่ละช่วงการเติบโตของธุรกิจด้วยทั้งขั้น Acquisition, Activation, Connection, Retention แล้วค่อยเพิ่ม Metric ใหม่ ๆ จึงจะได้ผลลัพธ์การเติบโตออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในแต่ละช่วงการเติบโต
และอีกหนึ่งเรื่องคือ Good Product ต้องมาก่อน ส่วน Growth ค่อยตามมา (Product-led Growth) ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเกิดคุณมีการทำการตลาดที่ดีมาก ๆ มีกลยุทธ์เจ๋ง ๆ อยู่ในมือ แต่ผู้ใช้งานพบว่าผลิตภัณฑ์ของคุณนั้นมีช่องโหว่หลายอย่าง ระบบไม่เสถียร ประสบการณ์การใช้งานแย่
แล้วถ้าเกิดตอนนั้นมีคู่แข่งที่ทำธุรกิจในลักษณะเดียวกับคุณ แต่มีระบบที่ดีกว่า ประสบการณ์การใช้งานก็ยอดเยี่ยมสุด ๆ คุณก็จะเสียโอกาสเรียกความเชื่อมั่นกับผู้ใช้งานกลุ่มนั้นไป หรือบางครั้งผู้ใช้งานก็จะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งของคุณด้วย
เพราะฉะนั้นสำหรับ LinkedIn ก็ยึดมั่นคำนี้มาตลอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาให้ดีอย่างสม่ำเสมอ เมื่อไรที่เรามีผลิตภัณฑ์ที่ดีอยู่ในมือแล้ว รายได้ การเติบโต ก็จะเข้ามาหาธุรกิจของเราอย่างง่ายดาย
5. สร้างฟีเจอร์ที่ให้คุณค่าแก่ผู้ใช้งานจริง ๆ
LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างฟีเจอร์ที่มีประโยชน์แก่ผู้ใช้งานอย่างมากมาย เช่น ฟีเจอร์คอร์สเรียน หรือแบบทดสอบความสามารถเฉพาะทางของผู้ใช้งาน ซึ่งเมื่อใดที่ผู้ใช้งานสามารถทำแบบทดสอบผ่านแล้ว ก็จะได้รับ Badge หรือตรารับรองว่าคุณมีทักษะความสามารถในด้านนั้น ๆ
ซึ่งฟีเจอร์นี้ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และอัปเกรดโปรไฟล์ของผู้ใช้งานมากขึ้น ส่งผลให้นายจ้างที่กำลังตามหาคนทำงาน สามารถเจอคนที่ตรงคุณสมบัติได้ง่ายขึ้น เป็นการช่วยประหยัดเวลากว่าแพลตฟอร์มหางานอื่น ๆ
และอีกหนึ่งฟีเจอร์ สำหรับใครก็ตามที่มีการใช้งาน LinkedIn เป็นประจำ ก็อาจจะเคยเห็นฟีเจอร์ Stories (ที่คล้ายกับบน Instagram หรือ Facebook) ผ่าน ๆ ตามาบ้าง ในช่วงเดือนกันยายน 2020 จนถึง 2021 แล้วสงสัยไหมว่าอยู่ ๆ ทำไมฟีเจอร์ Stories นี้ถึงหายไปเฉย ๆ?!
โดยสาเหตุสั้น ๆ ถูกอธิบายโดย Liz Li ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ LinkedIn ว่า “ในตอนแรกเราวางแผนอยากปรับเปลี่ยนให้ LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น เลยตัดสินใจเพิ่มฟีเจอร์ Stories เข้าไปเพื่อหวังให้ผู้คนเกิดการแชร์วิดีโอสนุกสนาน สร้างปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นบนแพลตฟอร์ม”
แต่ในความเป็นจริง แทบไม่มีผู้ใช้งานฟีเจอร์ Stories บน LinkedIn เลย ซึ่ง Liz Li เสริมว่า “อาจเป็นเพราะผู้ใช้งานจำภาพของ LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มที่จริงจังเกี่ยวกับธุรกิจมากกว่าความบันเทิงไปแล้ว เลยต้องการแชร์แต่ภาพลักษณ์ที่สร้างความน่าเชื่อถือได้ เหมือนกับหน้าโปรไฟล์มากกว่า ดังนั้นการมี Stories แบบดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม”
ทั้งหมดเลยเป็นเหตุที่ทำให้ LinkedIn ต้องยุติการให้บริการ Stories ในแพลตฟอร์มลงไปภายในเวลาแค่ปีเดียว และเป็นบทเรียนสำหรับ LinkedIn ว่าบางทีการเพิ่มฟีเจอร์ลงไปในผลิตภัณฑ์ให้ได้เยอะ ๆ หรือสร้างฟีเจอร์ที่กำลังฮิตลงไป
แต่ฟีเจอร์นั้นกลับไม่ได้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของเราก็อาจจะไม่เวิร์ก เพราะไม่แสดงถึง ‘คุณค่าที่แท้จริง’ ของผลิตภัณฑ์ ทำให้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อธุรกิจเลย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพของ LinkedIn
สรุปทั้งหมด
LinkedIn ถือว่าเป็นโซเชียลมีเดียด้านสายอาชีพที่มีความประสบความสำเร็จและเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก และก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างเสมอ จนกระทั่งสามารถกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ใช้งานเชื่อใจและสามารถรวบรวมเครือข่าย Community เกี่ยวกับสายงานอาชีพต่าง ๆ ได้อย่างมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็เคยสัมผัสการใช้งาน LinkedIn กันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งหางาน, เปิดรับสมัครงาน หรือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการทำการตลาดเช่นกัน สำหรับบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนก็คงได้สัมผัสว่าประสบการณ์ใช้งานของ LinkedIn มันดีและสามารถตอบโจทย์การใช้งานของเราได้ดีแค่ไหน เราก็ต้องมาติดตามดูว่า Professional Network Platform นี้จะไปได้ไกลขนาดไหนกัน