Microsoft เป็นองค์กรที่ขึ้นชื่อว่าสร้างความสุขให้พนักงานในที่ทำงานได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยอ้างอิงสถิติจากเว็บไซต์ Comparably ที่มีการจัดอันดับว่า “Microsoft เป็นบริษัทที่พนักงานที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ทั้งในปี 2020 (อันดับ 3) ปี 2021 (อันดับ 5) และในปี 2022 (อันดับ 4)” ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า Microsoft ให้ความสำคัญกับพนักงานจริง ๆ
เพราะการจัดอันดับนี้มาจากการที่พนักงานใน Microsoft ลงคะแนนเสียงเพื่อประเมินความสุขโดยรวมในที่ทำงานในระยะเวลา 1 ปี โดยเคล็ดลับส่วนหนึ่งมาจากการที่ Microsoft มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี รวมถึงมีการใส่ใจถึงสวัสดิการความเป็นอยู่ของพนักงานทุกคนเป็นอย่างทั่วถึง แต่จะมีอะไรบ้าง บทความนี้ก็ได้สรุปมาให้คุณแล้ว
ปลูกฝังให้พนักงานมี Growth Mindset
หัวใจสำคัญของการทำงานที่ Microsoft คือ การมี Growth Mindset เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ เพราะที่ Microsoft สนับสนุนให้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย เช่น มีการจัดงาน Hackathon ภายใน เพื่อให้พนักงานรวมทีมคนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กัน หรืออยากสร้างโปรเจกต์ใหม่ ๆ ออกมา เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจของบริษัท ถ้าหากว่าทีมไหนชนะ ก็จะได้รับเงินทุนไปพัฒนาโปรเจกต์นั้นต่อจนสำเร็จ
ส่วนอีกนโยบายหนึ่งคือ High-Risk Project หรือการที่บริษัทให้พนักงานสามารถลองทำโปรเจกต์ที่มีความเสี่ยงสูง ๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าโปรเจกต์นั้นจะสำเร็จหรือไม่ แถมยังให้รางวัลสำหรับการลงมือทำอีกด้วย เพราะ Microsoft ต้องการสนับสนุนให้พนักงานลองผิดลองถูกได้อย่างเต็มที่ แม้จะไม่สำเร็จ แต่บริษัทก็ได้ข้อมูลเชิงลึกที่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าได้อยู่ดี
สวัสดิการส่งเสริมความสุขให้พนักงาน
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้นในระหว่างที่ทำงานอยู่ในบริษัทนั้น ๆ ก็คือ สวัสดิการ ซึ่งนอกจากที่ Microsoft จะให้เงินเดือนและโบนัสพนักงานอย่างสมเหตุสมผลและยุติธรรมกับความสามารถของพวกเขาแล้ว บริษัทก็ยังมอบสวัสดิการดี ๆ มากมาย เช่น
- Perk+ – เงินสนับสนุนการเติบโตและการเรียนรู้ของพนักงาน 1,200 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้พนักงานสามารถนำไปเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น อัปสกิลด้านโค้ดดิ้ง, เรียนศิลปะป้องกันตัว หรือจะนำไปท่องเที่ยวเปิดโลกใหม่ก็ได้ รวมถึงถ้าใครมีหนี้ก็สามารถนำเงินจำนวนนี้ไปใช้หนี้ได้เช่นกัน
- ให้ส่วนลดพนักงาน – Microsoft มีการมอบส่วนลดให้กับพนักงาน ถ้าหากพวกเขาต้องการจะซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทในทุกรายการ
- ด้านสุขภาพ – มอบสวัสดิการทำฟันให้ไม่จำกัด, หากป่วยสามารถเรียกหมอหรือรถพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง (บริษัทจ่ายให้), ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งคลอดลูก ก็สามารถลาไปเลี้ยงดูบุตรได้ โดยยังได้รับเงินเดือนตามปกติทั้งหมด 20 สัปดาห์, ให้เงินสนับสนุนให้พนักงานเข้าฟิตเนส 800 ดอลลาร์ต่อปี
- มีห้องสมุดให้บริการฟรี – ที่ออฟฟิศของ Microsoft มีห้องสมุดให้บริการแก่พนักงานทุกคนได้ไปอ่านแบบฟรี ๆ ใครที่เป็นหนอนหนังสือ ชอบหาความรู้ หรืออยากอ่านหนังสือเป็นการผ่อนคลายจากการทำงานก็สามารถเข้าไปอ่านได้ทุกเมื่อ
- Community – Microsoft ส่งเสริมให้พนักงานสร้าง Community ของตัวเองผ่านกลุ่ม Employee Resource Groups (ERGs) หรือกลุ่มโซเชียลและเครือข่ายของบริษัท โดย Microsoft เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเชื่อมต่อกับพนักงานคนอื่น ๆ ได้ทั่วโลก แม้จะอยู่ต่างสาขากัน เพื่อเป็นการผลักดันให้พนักงานมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านความสัมพันธ์ของบริษัทในระยะยาว เป็นต้น
ปรับให้พนักงานสามารถทำงานแบบยืดหยุ่น
อย่างที่รู้กันว่าพนักงานแต่ละคนมีนิสัย ความต้องการ และเงื่อนไขส่วนตัวที่แตกต่างกันไป ซึ่ง Microsoft ก็เข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดีจึงมีการปรับการทำงานให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Working) มากขึ้น เช่น ถ้าหากบางคนอยาก Work From Home ก็ได้ หรือจะสลับเข้าออฟฟิศมาทำงานก็ได้เช่นกัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์และบรรยากาศในการทำงานที่ดีกับเพื่อนร่วมงานไว้ รวมถึง Microsoft มีสาขาเยอะในหลายประเทศ การ Remote Working จึงเข้ามาช่วยทำให้พนักงานทำงานกันได้มากขึ้นอีกด้วย
และ Microsoft ก็ไม่ส่งเสริมให้พนักงานทำงานติดกันเกินกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน เพราะจะทำให้ความสุขของพนักงานลดลง รวมถึงทำให้เกิดอาการ Burnout ตามมา ซึ่งไม่เป็นผลดีแน่ ถ้าพนักงานของเขารู้สึกแบบนั้น Microsoft จึงมักไม่จัดการประชุมที่มีขนาดใหญ่ 20-30 คน เพราะการประชุมแบบนี้มักจะมีคนพูดอยู่แค่ 2-3 คนเท่านั้น ทำให้พนักงานคนอื่น ๆ แทนที่จะเอาเวลาไปโฟกัสกับงานของตัวเอง กลับต้องมาเข้าประชุมโดยที่ไม่ได้อะไรกลับมา ดังนั้นจึงให้พนักงานแต่ละคนเข้าประชุมที่สำคัญ ๆ เท่านั้น
สร้าง Digital Workplace ปูทางสู่โลก Metaverse
Microsoft ได้จับมือกับ Meta เพื่อรวมบางฟีเจอร์ใน Workplace เข้ากับ Microsoft Teams สำหรับเตรียมความพร้อมสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันบน Metaverse ในอนาคต นอกจากนี้ Microsoft ก็ยังมีการรวม AR / VR จาก Microsoft Mesh เข้ากับ Microsoft Teams เพื่อพาองค์กรที่มุ่งสู่ Metaverse ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เพราะ Metaverse จะเข้ามารองรับการทำงานรูปแบบใหม่ในอนาคต ที่จะทำให้การทำงานแบบ Remote Working มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น แม้ว่าพนักงานจะไม่เข้าออฟฟิศ แต่ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกก็สามารถเข้ามานั่งประชุม มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ และสัมผัสประสบการณ์ได้อย่างไร้รอยต่อเหมือนอยู่ด้วยกันในโลกจริง Microsoft เล็งเห็นความสำคัญข้อนี้จึงได้มีการปูทางพัฒนา Digital Workplace และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เหล่านี้ขึ้นมา ถ้ามีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว แน่นอนว่าพนักงานของเขาก็จะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้มีการใช้งานเทคโนโลยีนี้อย่างแน่นอน
เปิดกว้างทางความหลากหลายและความแตกต่าง
Microsoft เป็นบริษัทที่เปิดกว้างในทุก ๆ เรื่อง ไม่ใช่เฉพาะแต่การรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความแตกต่างและความหลากหลายของเพศ, สัญชาติ, สีผิว, อายุ และอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะมาจากไหนหรือมีเพศไหนไม่สำคัญ เพราะสิ่งหนึ่งที่ Microsoft ให้ความสำคัญคือ ความสามารถของคน ๆ นั้นจะสามารถช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทได้หรือไม่
Mircrosoft มองว่าข้อดีของการที่มีพนักงานจากทั่วทุกมุมโลกมาทำงาน คือ พวกเขาจะทำให้องค์กรเห็นสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และคิดไม่ถึงได้เสมอ ซึ่งมันจะทำให้บริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์คนทั้งโลกออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองประสบการณ์และความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ความแตกต่างและความหลากหลายจึงเป็นสิ่งที่ Microsoft ไม่ได้นำมาเป็นตัวตัดสินในการรับพนักงานคนนั้น ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร
สรุปทั้งหมด
A Happier Company is a Healthier Company.
เราได้เห็นแล้วว่า Microsoft มีการส่งเสริมและสนับสนุนพนักงานในทุก ๆ ส่วน จึงทำให้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกที่สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้อยู่คู่กับทุกคนทั่วโลกมายาวนานเกือบ 50 ปี และมีมูลค่าบริษัทสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย ถ้าหากใครอยากทำให้องค์กรของตัวเองเป็นองค์กรที่มีสุขภาพดีและมีความสุข ก็อย่าลืมลองนำหลักการของ Microsoft ไปใช้กันได้นะคะ :)