Metaverse พัฒนาพร้อมก้าวกระโดดขึ้นทุก ๆ ปี หากคุณกำลังสับสนว่า Metaverse จะเข้ามามีความสำคัญและใกล้ตัวเรามากน้อยแค่ไหน? ต้องบอกเลยว่า Metaverse จะเข้ามาสร้างประสบการณ์ที่ ‘แตกต่างไปจากเดิม’ เช่นการสร้างสังคมใหม่ เข้าร่วม Challenges แบ่งปันไอเดีย, ครอบครองสินค้า ไปจนถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างอิสระ
ในขณะเดียวกันหากเลือกมองถึงโอกาสทางธุรกิจ คุณอาจจะไม่รู้ว่า การให้บริการ โฆษณาต่าง ๆ นั้น เป็น ‘ปัจจัยขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดบนโลก Metaverse’ เพราะสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ที่เข้าร่วมโลกเสมือนจริงไปแล้ว ด้วยมูลค่าที่สูงถึง ‘หนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ’ ต่อปี
เรียกว่าเป็นโลกใบใหม่ที่ใครหลาย ๆ คนต้องทำความรู้จัก เพื่อออกจากขีดจำกัดบางอย่างในโลกความเป็นจริง และเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคใน ‘เศรษฐกิจยุคใหม่’ ตั้งแต่ปี 2022 นี้ไปได้ ดังนั้น วันนี้ The Growth Master จะมาสรุปให้คุณเข้าใจ Metaverse ในบทความนี้
Metaverse คืออะไร?
Metaverse คือ เทคโนโลยีที่สร้างโลกเสมือนจริงขึ้น (เปรียบเป็นโลกอีกใบ) ที่ผสานเข้ากับความเป็นจริง ทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดในแบบที่ไม่ใช่แค่การสื่อสารกันระหว่างหน้าจอ แต่เป็นการสื่อสารระหว่างคน (Avatar) ที่ให้ความรู้สึกสมจริง แบบเรียลไทม์
ซึ่งการบรรจบกันระหว่างโลกจริงและโลก Metaverse ที่ไร้พรมแดนนั้น ส่งผลให้ ‘เกิดโอกาสทางธุรกิจและวิถีชีวิตใหม่ ๆ’ เข้าถึงกิจกรรมที่สมจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคลับ คอมมูนิตี้, การซื้อขาย Merchandise หรือการจับจองพื้นที่โฆษณาบนโลกเสมือนจริง ด้วยการใช้งานอุปกรณ์ VR / AR ที่เราได้พาคุณไปเจาะลึก ทำความรู้จักแล้วที่ บทความนี้
โดยฟีเจอร์ของ Metaverse ในปัจจุบันถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่บนระบบ Web 3.0 ซึ่งผู้ใช้งานจะมีสิทธิควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองได้ (ต่างจาก 2.0) และถึงแม้จะมีโลกเสมือนจริงมาได้สักระยะแล้ว แต่ก็กลับมาสร้างอิมแพคอีกครั้ง หลังจาก Meta ได้เปิดตัวเข้าสนับสนุนโลก Metaverse อย่างเต็มกำลังนั่นเอง
ความน่าสนใจคือแล้วอะไรเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เทคโนโลยี Metaverse ค่อย ๆ แทรกซึมในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้ ในแบบที่เรียกว่าเกือบจะเป็น ‘เศรษฐกิจใหม่บนโลกเสมือนจริง’ สำเร็จ? เราจะไปไขคำตอบกันผ่านเลเวล 7 ขั้นสู่เส้นทางธุรกิจบน Metaverse ในข้อถัดไป
เข้าใจเส้นทางธุรกิจบน Metaverse ผ่านเลเวล 7 ขั้น
ขั้นที่ 1 Experience ประสบการณ์เหนือโลกจริง
Metaverse จะไม่ได้เป็นแค่เวอร์ชัน 3 มิติเท่านั้น แต่จะเป็นการจำลองที่ดีที่สุด ‘ทางกายภาพ’ ของผู้คน เช่น การเข้าร่วมชาเลนจ์ต่าง ๆ เพราะด้วยข้อจำกัดในด้านสถานที่ รวมถึงการใช้ธนบัตรจริง (ที่ถูกตัดออกไปบนโลก Metaverse) จะส่งผลให้ประสบการณ์ที่จะได้รับ ‘เพลิดเพลิน มากกว่าที่เคยเป็น’ แน่นอนว่าโอกาสทางธุรกิจนั้นเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจระดับโลกอย่าง Epic Games สร้าง ‘Live Events ’ ขึ้นบน Metaverse เพื่อให้ผู้คนสามารถโต้ตอบ เข้าถึงกิจกรรมที่สมจริงได้ โดยไม่ต้องซื้อตั๋วรับชมให้วุ่นวาย (ซึ่งเราพูดถึงการสร้างประสบการณ์ ผ่านอีเวนต์ Fortnite X Ariana Grande จากค่าย Epic Games ไว้แล้วที่ บทความนี้)
ขั้นที่ 2 Discovery แสดงตัวตนให้เป็นที่รู้จักบนโลกเสมือนจริง
การแสดงกิจกรรมที่ทำได้แบบเรียลไทม์บน Metaverse จะเป็นการแสดงถึงตัวตนหรือความเป็น Branding ได้อย่างแนบเนียน หากนึกภาพไม่ออก เรายกตัวอย่าง Steam, Xbox (ธุรกิจให้บริการเกม) ที่ให้นักเล่นเกมเห็นว่าเพื่อนกำลังทำอะไร หรือ Spotify แพลตฟอร์มสตรีมเพลงที่ให้ดูได้ว่าเพื่อนกำลังฟังอะไร ณ ตอนนั้น ๆ ซึ่งปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้ พบได้บน Metaverse เช่นกัน
อย่าง Galaxy Metaverse ถือเป็นคอมมูนิตี้บนโลก Metaverse เป็นแหล่งที่เปิดให้ใช้มือถือเสมือนจริง, สวมใส่แฟชั่น, ดูหนัง ฟังเพลง ด้วยผู้คนจำนวนมากที่เข้าใช้ จึงเปิดโอกาสให้ธุรกิจ (เช่น ค่ายยักษ์ใหญ่ Samsung) เข้าสร้างกิจกรรมทางการตลาดด้วยการจัดอีเวนต์ สู่การโฆษณาสินค้าหรือบริการให้เป็นที่รู้จัก
ซึ่งการสร้างชื่อเสียงผ่านคอมมูนิตี้นี้เอง ที่ส่งให้ธุรกิจบน Metaverse ได้รับ ‘ผู้ใช้งานใหม่ ๆ’ ในเวลาอันสั้น บวกกับยุคของ Influencer ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เป็นไวรัลได้เร็วขึ้นนั่นเอง
ขั้นที่ 3 Creator Economy เศรษฐกิจของเหล่าครีเอเตอร์ / นักธุรกิจ
เศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ คือ กลุ่มผู้สร้างที่อาจจะมาจากผู้ใช้งานทั่วไป โดยที่พวกเขาไม่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเรียนรู้วิธีเขียนโปรแกรมในระดับ Advance ก็สามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ในยุค Metaverse
เหมาะสำหรับนักพัฒนาและครีเอเตอร์หน้าใหม่ ที่กำลังมองหาช่องทาง ‘สร้างรายได้’ เพราะด้วยรูปแบบการใช้งานที่ง่ายขึ้นบนเครื่องมือ Web 3.0 ที่ทำให้สามารถอัปโหลดผลงาน แบ่งปันไอเดียใหม่ ๆ สู่โลก Metaverse ได้ ไม่ว่าจะเป็น Avatar, สินค้าดิจิทัล, สถานที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน (ซึ่งถูกเรียกว่า NFTs)
อย่างธุรกิจรายใหญ่ ก็มีการผลิตผลงาน NFT ออกมาสร้างรายได้ไปแล้ว เช่น ธุรกิจรองเท้าผ้าใบ แบรนด์ RTFKT (ที่ปัจจุบัน Nike ซื้อกิจการแล้ว) ก็สามารถเปิดประมูลเป็นรองเท้าคู่จริงที่มีดีไซน์ถอดแบบมาจากดีไซน์บนโลกเสมือน (NFT) เป๊ะ ๆ ด้วยมูลค่าที่สูงถึงหนึ่งหมื่นดอลลาร์เลยทีเดียว
มาถึงตรงนี้หากคุณสงสัยว่าจะจำลองสินค้า NFTs ออกมาในโลกจริง หรือกลับไปบน Metaverse ด้วยวิธีไหน? คำตอบจะอยู่ในขั้นถัดไป
ขั้นที่ 4 Spatial Computing จำลองลักษณะทางกายภาพ / สิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นดิจิทัล
ขั้นนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีประมวลผลและจดจำลักษณะท่าทาง เสียง บนโลกจริงของผู้ที่สวมใส่อุปกรณ์ VR / AR หรือ HoloLens ‘ผสานเข้ากับโลกเสมือนจริง’ เพื่อแสดงผลออกมาเป็นรูปแบบ 3 มิติบนโลก Metaverse เช่น การสร้างท่าทางให้ NPC ในเกมด้วยต้นแบบจากคน
เท่านั้นไม่พอ ยังสามารถสลับ ‘แปลงวัตถุบนโลกจริง’ ให้กลายเป็นวัตถุดิจิทัล (Digital Twin) เสมือนเป็นการย้ายวัตถุไปไว้ในโลกดิจิทัลได้แบบเรียลไทม์ (บนระบบ Cloud) อีกด้วย
นี่เป็นโอกาสให้ธุรกิจสามารถเปิดให้ทดลองผลิตภัณฑ์ (ที่มีต้นทุนสูง) ในโลกจริงผ่านโลก Metaverse ได้ ซึ่งเหมาะมากสำหรับธุรกิจสาย B2B เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ ที่ต้องการลดต้นทุนการสั่งชิ้นส่วนที่ละจำนวนมาก ๆ เมื่อต้องการเสนอให้คู่ค้าทดลอง เป็นต้น
ขั้นที่ 5 Decentralization ระบบกระจายอำนาจ ไร้ซึ่งตัวกลาง
การกระจายอำนาจอย่างทั่วถึงนั้นเกิดขึ้นได้จริงบนโลก Metaverse ผ่านการใช้ DeFi (Decentralized Finance) ซึ่ง DeFi เป็นระบบที่ตัดตัวกลางออกไป ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาโอน, แลกเปลี่ยน, กู้ยืมเงิน (สกุลดิจิทัล) แบบไม่ต้องผ่านธนาคาร ไม่ต้องรออนุมัติ และค่าธรรมเนียมที่ถูกขึ้นนั่นเอง
คาดว่าในอนาคต คนจะไว้ใจโลก Blockchain กันมากขึ้น เพราะเป็นระบบที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลที่บันทึกไว้บนเครือข่าย Blockchain ได้นั่นเอง
ซึ่งสกุลเงินที่ใช้บน Metaverse นั้น จะถูกเรียกว่า Tokens หากนักธุรกิจที่ต้องการลงทุน ก็จำเป็นจะต้องศึกษา Whitepaper (จุดประสงค์โดยรวมของการผลิต Tokens นั้น ๆ ) รวมถึงศึกษาตลาดย้อนหลังในภาพรวมด้วย เพราะแน่นอนว่าในแต่ละ Tokens นั้น มีความผันผวนสูงมาก ๆ
ขั้นที่ 6 Human Interface หัวใจสำคัญเชื่อมเรา เข้าสู่ Metaverse
ขั้นนี้เป็นหัวใจสำคัญ ที่เชื่อมผู้คนเข้าสู่ Metaverse ได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ออกแบบตามพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเป็นไปได้แล้วบนอุปกรณ์ VR / AR รวมถึงถุงมืออัจฉริยะ ที่ร่วมกันทำงานเพื่อแสดงผลภาพ 3 มิติ มอบความบันเทิงและโต้ตอบความต้องการได้ครบครัน
ซึ่งหากมองใกล้ตัวเข้ามาอีก ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนในมือของพวกเรา ที่แค่ยกกล้องขึ้นมาแสกนก็สามารถจำลองสิ่งต่าง ๆ ได้พริบตา ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลสิ่งนั้นบนโลก Metaverse หรือการเข้าทดสอบผลิตภัณฑ์ผ่านเทคโนโลยี VR / AR ได้แล้วเช่นกัน
คาดว่าอนาคตจะมีพัฒนาการที่ทำให้เชื่อมต่อกับมนุษย์ได้เหนือไปอีกขั้นแน่นอน เพราะล่าสุดบริษัทเทคโนโลยีก็กำลังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี ‘ควบคุม AI ด้วยสมองมนุษย์ (BCI)’ แล้ว เช่น Snapchat ที่เข้าสนับสนุน NextMind ผู้พัฒนา BCI สำหรับแว่น AR โดยเฉพาะ ซึ่งเราเล่าไว้แล้วที่ บทความนี้
ขั้นที่ 7 Infrastructure เตรียมตัวเข้าสู่โลก Metaverse
ขั้นสุดท้ายนี้ จะมีเทคโนโลยี 5G เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อุปกรณ์ VR / AR สามารถเชื่อมถึง Metaverse ได้ ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเป็นจุดเด่นด้าน ‘ความเร็ว’ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับ-ส่งสัญญาณระหว่างตัวอุปกรณ์และโลกเสมือนจริง (ปัจจุบันมีการใช้งานที่เข้าถึงผู้คนทั่วไป มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว)
โดยความรวดเร็วของระบบนี้เอง ที่ทำให้การเสนอคอนเทนต์จากทุกแหล่งคอมมูนิตี้ และแบรนด์ต่าง ๆ พากันเข้าจับจอง, แลกเปลี่ยน Virtual Land (พื้นที่บนโลก Metaverse) เพื่อสร้างกิจกรรมทางการตลาด สู่การ ‘โฆษณาสินค้าหรือบริการ’ ให้เป็นที่รู้จักได้
ซึ่ง The Sandbox ถือเป็นธุรกิจที่รวบรวมระบบนิเวศไว้บนโลก Metaverse ได้มากที่สุด แน่นอนว่าเราได้ไขกรณีศึกษาไว้อย่างละเอียดให้คุณแล้วที่ บทความนี้
สรุป 3 เหตุผล ทำไม Metaverse ถึงสำคัญกับธุรกิจ
หากไม่อยากตกกระแส สิ่งที่คุณอาจต้องฉุกคิดก็คือ ตอนนี้คู่แข่งทางธุรกิจของคุณ เริ่มสร้างตัวตนบนโลก Metaverse แล้วหรือยัง? เพราะปัจจุบันโลกเสมือนจริง ถือเป็นหนึ่งใน Mega Trend ที่หลายธุรกิจทั่วโลกต่างพากันจับจองพื้นที่สร้างตัวตนบนโลก Metaverse ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรับจัดอีเวนต์ ท่องเที่ยว ค้าปลีก ตบท้ายด้วยธุรกิจเกมออนไลน์ (ที่ได้รับความนิยมสุด ๆ)
โดยจากข้อมูลวิเคราะห์ของ Accenture (บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและบริหารเทคโนโลยีมูลค่า) ก็เผยว่าเจ้าของธุรกิจกว่า 71% ต่างมั่นใจว่า Metaverse จะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ ซึ่งมีปัจจัยหลัก ๆ ด้วยกันดังนี้
1. ไร้ข้อจำกัดด้าน ‘สถานที่’
แน่นอนว่าธุรกิจบน Metaverse ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านหลาย ๆ ที่เพื่อตอบรับลูกค้า ซึ่งความได้เปรียบคือ สามารถตัดข้อจำกัดในการเดินทางของลูกค้าได้เลย เพราะไม่ว่ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจจะอยู่ที่ไหน ก็เข้าถึงลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สตาร์ทอัปหน้าใหม่ใช้เป็นพื้นที่ในการเติบโตได้นั่นเอง
2. ระบบซื้อขาย Smart Contract ที่ไม่มีตัวกลางควบคุม
เรียกว่าหมดปัญหาในเรื่องค่าเงินที่ต่างกัน เพราะระบบ Smart Contract ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถใช้สกุลเงินเดียวกันได้ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือโอกาสทางธุรกิจที่จะสร้างกำไรได้มากขึ้น อีกทั้งระบบแบบ Smart Contract ยังมีสัญญาหรือเงื่อนไขเป็นรูปแบบที่ตกลงกันเพียงผู้ซื้อขาย จึงไม่สามารถผิดสัญญาได้ (ป้องกันปัญหาการฉ้อโกงได้ดี)
3. มอบความบันเทิงให้ลูกค้าได้ด้วย Game Marketing
ความบันเทิงรูปแบบเกมได้รับความนิยมที่สุดบนโลก Metaverse ยกตัวอย่าง Wendy Burger ที่ร่วมมือกับ Fornite (ค่าย Epic Games) จัดแคมเปญ Food War จำลองการต่อสู้ระหว่างทีมพิซซ่า / ทีมเบอร์เกอร์ บนโลกเสมือนจริง
ความสนุกอยู่ที่ Wendy (Avatar) ตัวแทนจากร้าน Wendy’s Burger ที่เป้าหมายควรไล่ทุบทีมตรงข้าม แต่กลับไล่ทุบตู้แช่เนื้อ เพื่อแสดงจุดยืนของแบรนด์ (ที่เน้นจำหน่ายแต่อาหารสดและไม่สนับสนุนอาหารแช่แข็ง)
ด้วยความสนุกในช่วงการแข่งขัน Wendy กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ มีผู้เล่นเข้าร่วมมือช่วยน้องเวนดี้ไล่ทุบตู้แช่แข็ง ด้วยสถิติผู้รับชม 1.5 ล้านนาทีบน Twitch และมีการเมนชั่นถึง Wendy บนโซเชียลเพิ่มขึ้นถึง 119%
นี่เป็นตัวอย่างในการใช้ Game Marketing บนโลก Metaverse ที่เพิ่ม ‘ช่องทางในการโปรโมต’ ให้ธุรกิจ ซึ่งเมื่อ Metaverse พัฒนามากขึ้นไปเรื่อย ๆ เชื่อว่าจะต้องมีแคมเปญเจ๋ง ๆ ผ่านการเล่นเกมแบบนี้ออกมาให้เห็นกันอีกแน่นอน
สรุปทั้งหมด
หากคุณยังไม่แน่ใจว่า Metaverse เป็นโลกใบใหม่ที่เหมาะที่จะลงทุนมากน้อยแค่ไหน? เราก็ต้องอ้างอิงถึงแนวโน้มที่ถูกวิเคราะห์จาก Gartner (บริษัทวิจัยเทคโนโลยี) ที่ได้ออกมาเผยว่า ภายในปี 2026 นี้ บริษัททั่วโลกกว่า 30% จะให้บริการสินค้าบนโลก Metaverse กันอย่างคึกคักแน่นอน
โดยไม่ว่าสุดท้ายจำนวนผู้ที่เข้าใช้โลก Metaverse จริง ๆ ในระยะยาวจะเป็นแค่กลุ่มคนที่ชอบเทคโนโลยี ที่เข้ามาเพื่อซื้อขายสินทรัพย์ทางดิจิทัล หรือจะขยายเป็นวงกว้างไปอีก ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้คนให้ คุณค่า กับ ‘โลกเสมือนจริง’ มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งการทำความเข้าใจโลก Metaverse ผ่านบทความนี้ จะทำให้คุณได้เตรียมพร้อมและมีโอกาสเข้าสู่การ ‘ข้ามกฎของเวลาในโลกจริง’ ไปใช้เวลาอีกโลก เพื่อสร้างรายได้ สร้างคอมมูนิตี้ใหม่ ๆ ได้อย่างไม่รู้จบนั่นเอง :-)