หากพูดถึงคำว่า ‘Entrepreneur’ แล้ว หลายคนก็จะรู้สึกว่าบทความนี้ไกลตัว เพราะคิดว่ามันเหมาะสำหรับผู้ประกอบการเท่านั้นหรือเปล่า แต่เดี๋ยวก่อนไม่ใช่แบบนั้นเลย ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการก็มีแนวคิดแบบนี้ได้เหมือนกันค่ะ
เพราะแนวคิดแบบผู้ประกอบการนี้จะทำให้เราพัฒนาตัวเองให้กล้าเผชิญกับความท้าทาย พร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเข้ามา รู้จักเป็นผู้บุกเบิกในการเริ่มต้นหรือนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นนวัตกรรมหรือ Innovation จากการคิดแบบนี้จะทำให้เราสามารถนำไปปรับใช้หรือต่อยอดธุรกิจของเราเพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้นอีกก็ได้ และปัจจุบันในหลายบริษัทใหญ่ ๆ ก็ผลักดันให้คนในทีมมีแนวคิดแบบนี้แล้วด้วย
ทำไมการมี Entrepreneurial Mindset จึงสำคัญ?
ความคิดของผู้ประกอบการ คือ สิ่งที่เราต้องการเพื่อขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้า ความคิดนี้อาจมืดมัวลง เมื่อเรายึดมั่นในการเป็นผู้ประกอบการในทุก ๆ วัน แต่ด้วยความพยายามในการรวบรวมความคิดนี้ เราจะวางตัวเองเพื่อตอบสนองความท้าทายในชีวิตประจำวันและพัฒนาความรู้ทักษะการเติบโตของเราขึ้น
แล้วทำอย่างไรถึงจะมีแนวคิดแบบผู้ประกอบการล่ะ? วันนี้ The Growth Master จะพาไปดู 5 เทคนิคที่จะทำให้เราพัฒนาแนวคิดให้ได้แบบผู้ประกอบการ หากพร้อมแล้วเราไปดูกันเลย!
1. มีความแน่วแน่ในเป้าหมายของตัวเอง
“I think and think for months and years. Ninety-nine times, the conclusion is false. The hundredth time I am right.” – Albert Einstein
คุณสมบัติที่ดีของผู้ประกอบการอย่างหนึ่งก็คือ ‘ต้องมีความแน่วแน่อยู่เสมอ’ การที่เราจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมาสักชิ้นนึง จึงต้องมีความแน่วแน่กับสิ่งที่เราคิดว่าจะทำออกมาให้สำเร็จ มีการทบทวนไตร่ตรองความคิดนั้นในหัวซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้เกิดภาพและขั้นตอนในการลงมือทำที่ชัดเจนที่สุด
แต่ว่าเราอาจจะพบเจออุปสรรคที่เข้ามาขัดขวางความคิดของเราในแต่ละวันก็ได้ ปัญหาเหล่านั้นอาจมาจากคำพูดของบุคคลรอบข้าง สภาพแวดล้อมรอบตัว การเสพสื่อโซเชียลมีเดียมากเกินไป จนทำให้เกิดความสับสนและไขว่เขวว่าเราจะสร้างสิ่งนั้นออกมาได้ไหม ควรจะไปต่อหรือหยุดกับความตั้งใจนั้นดี
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราควรแบ่งเวลาทุกวันเพื่อมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของเรา เราอาจจะกำหนดเวลาที่แน่นอนในแต่ละวันเลยก็ได้เพื่อทำแบบนั้น เช่น อย่างน้อยวันละ 10 นาที มานั่งวางแผนต่อยอด และโฟกัสไปที่ความคิดนั้น และทำงานหนักขึ้นเล็กน้อยในวันถัด ๆ ไป
หรือเราอาจจะจดพัฒนาการของตัวเองเอาไว้ในสมุด Planner ก็ได้หากต้องการ พอทำแบบนี้ทุกวัน เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นนิสัยไปเองอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องฝืนตัวเองมาทำเลย
สุดท้ายแล้ว กุญแจสำคัญของกฎข้อนี้ก็คือ เมื่อเราเห็นช่องทางที่เป็นไปได้แล้ว เราต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองว่าจะทำสิ่งนั้นออกมาให้สำเร็จ สามารถถ่ายทอดความคิดนั้นออกมาให้คนอื่นเข้าใจ จนกระทั่งสร้างผลงานออกมาเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด
TIPS : แนะนำตัวช่วยในการวางเป้าหมายให้ตัวเอง ผ่านการใช้สมุดแพลนเนอร์ คอยจดบันทึกเรื่องที่ต้อง และเรื่องที่ต้องโฟกัสทุกวัน อย่าง The Growth Planner สมุดแพลนเนอร์จาก The Growth Master ที่จะช่วยทำให้คุณตั้งเป้าหมายในชีวิตคุณสามารถทำได้ทุกวัน เห็นผลทุกเดือน วิเคราะห์ได้ทั้งปี ให้การวางเป้าหมายของคุณทำได้สนุกและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ในราคา 990 บาท กดที่รูปด้านล่างเพื่อดูรายละเอียดได้เลย
2. พาตัวเองไปสู่สถานการณ์ที่ท้าทาย
การเป็นผู้ประกอบการก็มักผูกพันอยู่กับการลองผิดลองถูก ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามาในแต่ละวันอยู่แล้ว แต่เมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องกลัวที่จะทำผิดพลาด หากต้องการที่จะปลูกฝังความคิดและเติบโตให้ได้แบบผู้ประกอบการแล้ว เราต้องยอมรับความท้าทายใหม่ ๆ อยู่เสมอ ต้องออกไปหาความท้าทายเหล่านั้นแล้วพุ่งชนมันซะ
ถ้าพูดถึงในแง่ของการศึกษาไทยที่มักตรงกันข้ามกับแนวคิดนี้ ซึ่งไม่อยากให้เรากลายเป็นคนล้มเหลวเพราะเป็นการทำให้เราดูอ่อนแอ เป็นเรื่องที่น่าอาย และดูไม่ดี แต่ในมุมกลับกันถ้าดูตัวอย่างจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่าง Steve Jobs หรือ Bill Gates พวกเขาต่างก็ลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน และพาตัวเองไปสู่สถานการณ์ที่ท้าทาย กว่าที่จะประสบความสำเร็จเหมือนทุกวันนี้
จากประวัติของ Steve Jobs เขาคือผู้ที่เปลี่ยนวงการโทรศัพท์มือถือเลยก็ว่าได้ เพราะเขากล้าลงมือทำนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งสิ่งที่เขาทำนับว่าท้าทายมาก ๆ ในยุคนั้น เพราะหลายบริษัทมักผลิตแต่โทรศัพท์ที่เต็มไปด้วยปุ่มกด เช่น Nokia, Blackberry แต่เขากลับเลือกที่จะออก iPhone และ iPad ที่เรียกได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนไร้ปุ่มกด แต่เปลี่ยนไปใช้ระบบสัมผัสแทน
จากที่บริษัทผลิตมือถือหลายเจ้าคิดว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาดีและเจ๋งอยู่แล้ว ก็ต้องสั่นคลอน จนทำให้บางบริษัทต้องปิดตัวลงไปในที่สุด เพราะไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบันได้ และถือว่า iPhone ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการลองทำของ Steve Jobs ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนถึงทุกวันนี้
ส่วน Bill Gates เจ้าพ่อแห่งบริษัทซอฟต์แวร์ Microsoft ชื่อดังของโลก ครั้งหนึ่งเขาได้อ่านนิตยสารฉบับหนึ่งแล้วเห็นว่าคอมพิวเตอร์จะถูกผลิตออกมานับล้าน ๆ เครื่องและกำลังจะเข้าถึงทุกครัวเรือน ในขณะที่คนอื่นเลือกพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ แต่ Bill Gates กลับเห็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์ขาดไม่ได้เลยก็คือ ซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบปฏิบัติการที่จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานตามคำสั่งของผู้ใช้ได้
เขาจึงได้ลองเขียนโปรแกรมแบบจำลองขึ้นมาตัวหนึ่ง แล้วผลปรากฎว่ามันทำงานได้ดี เขาจึงตัดสินใจเปิดบริษัท Microsoft และเติบโตจนเรียกได้ว่าครองตลาดซอฟต์แวร์ แต่กลับถูกศาลสหรัฐฟ้องในฐานะที่ Microsoft กำลังผูกขาดในวงการนี้ ทำให้การเติบโตของ Microsoft ต้องหยุดชะงักลง แต่นั่นก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะเมื่อเอ่ยชื่อ Microsoft ออกมาก็ไม่มีใครที่ไม่รู้จักและเขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันหลายปี เรียกได้ว่าเขาเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
“I am not judged by the number of times I fail, but by the number of times I succeed: and the number of times I succeed is in direct proportion to the number of times I fail and keep trying.” – Tom Hopkins
ยิ่งเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายมากเท่าไร เราก็จะยิ่งค้นพบว่าเราไม่เพียงแต่ต้องเตรียมทักษะความรู้ในการรับมือกับความท้าทายเหล่านั้นเท่านั้น แต่เรายังมีความมั่นใจอีกว่าเราสามารถประสบความสำเร็จได้อีกด้วย ดังนั้นจงพยายามทำให้ตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายทุก ๆ วันและอย่ากลัวที่จะทำผิดพลาด
หลังจากอ่านข้อนี้จบ อยากให้ลองนึกดูว่าที่ผ่านมามีกี่เรื่องที่เราทำล้มเหลว แต่เราก็ยังพยายามทำสิ่งนั้นต่อไปอยู่ในตอนนี้ ถ้าลองนึกดูแล้วเรามีประสบการณ์ล้มเหลวน้อย ก็เท่ากับว่าเราอาจจะท้าทายตัวเองน้อยเกินไปก็ได้
บางครั้งความท้าทายไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่นั่นกลับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราประสบความสำเร็จได้
ซึ่งอาจจะมองได้ว่าการที่เราล้มเหลวหรือกล้าที่จะลองผิดลองถูกน้อย ถ้ามองในมุมกลับ มันทำให้เราประสบความสำเร็จช้ากว่าที่ควรจะเป็นก็ได้ เพราะฉะนั้นการพาตัวเองไปสู่สถานการณ์ที่ท้าทายนี่แหละเป็นโอกาสทองของเราเลย ไม่ลองก็ไม่รู้หรอก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
Growth Zone คืออะไร? รู้จัก “พื้นที่แห่งการเติบโต” เส้นชัยอันสวยงาม เมื่อคุณกล้าออกจาก Comfort Zone
5 เคล็ดลับเพิ่มความสนุก ที่จะทำให้การพัฒนา Growth Mindset ของคุณไม่น่าเบื่อ
สร้าง Mindset ก้าวแรกในการเติบโตให้ธุรกิจ ผ่านการระดมไอเดียฉบับทีม Google
3. หมั่นเติมความรู้ให้ตัวเองเพื่อมองโลกอย่างรอบด้าน
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากการเป็นน้ำครึ่งแก้วในแก้วใบเล็ก ๆ เพื่อที่จะหาความรู้มาเติมเต็มแก้วใบนั้น และเปลี่ยนเป็นแก้วที่ใบใหญ่กว่าเดิมอยู่เสมอ เสมือนว่าพวกเขาไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ แต่ผลักดันให้ตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน
การหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ จะช่วยทำให้เรามองโลกได้อย่างรอบด้านมากขึ้น เพราะสิ่งเดิม ๆ ที่เราเคยคิดว่าดีและทำอยู่ทุกวันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสุดก็ได้ ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ เปลี่ยนแนวหนังสือที่เคยอ่าน เราอาจจะมีมุมมองที่แปลกใหม่ขึ้นก็ได้
อย่างเช่น อ่านหนังสือเกี่ยวกับการบริหารที่มีตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่เราสนใจ อาจทำให้เราได้เรียนรู้ เปิดโลก และผลักดันตัวเราเองให้มีแนวคิดแบบเดียวกับผู้ประกอบการคนนั้น ๆ ได้
หรือไม่ถ้าปกติแล้วเราอ่านหนังสือเกี่ยวกับการบริหารอยู่แล้ว ลองเปลี่ยนไปอ่านหนังสือข้ามหมวดหมู่ดูไหม เช่น ข้ามไปหมวดท่องเที่ยว สุขภาพ จิตวิทยา เทคโนโลยี หรือนิยาย ดูบ้าง อาจจะทำให้คุณได้มุมมองใหม่ ๆ แล้วนำมาปรับใช้กับธุรกิจของคุณได้
4. ใช้ความคิดสร้างสรรค์ขยายกรอบเดิมที่มีอยู่
The secret of change is to focus all your energy not on fighting the old but on building the new.” – Socrates
การทำธุรกิจใหม่ ๆ มักจะมีกรอบบางอย่างอยู่ ผู้ประกอบการนี่แหละที่จะเป็นคนริเริ่มทำอะไรที่ใหม่กว่าคนอื่น โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์มาขยายกรอบนั้นออกไป เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ที่ดีและแปลกกว่าเดิม
หรือแม้กระทั่งนำประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว มาประยุกต์ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อหาวิธีการดำเนินการแบบใหม่ อัปเดตขั้นตอนการทำงานแบบใหม่ คิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ให้ต่างจากเดิม จากที่เคยมีแค่หน้าร้านค้าแบบธรรมดา ก็อาจจะนำเทคโนโลยีการตลาดดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อดึงดูดให้คนอื่นมาซื้อสินค้าหรือบริการของเรา
สมมติหลักการมีอยู่ว่า ถ้าเราอยู่ในห้อง ๆ หนึ่ง ซึ่งมีค้อน กรรไกร และตะปูอยู่ โดยมีโจทย์ว่าทำยังไงเพื่อให้ออกจากห้องนี้ไปให้ได้ การที่มีกรอบชัดเจนเป็นห้อง และมีเครื่องมือที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ ในการแก้โจทย์นี้ออกไปได้
ถ้านำมาปรับใช้กับธุรกิจ ขอยกตัวอย่างจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ธุรกิจร้านอาหารต้องปิดตัวลง แต่เราจะทำอย่างไรถึงจะขายของได้เหมือนเดิม ในเมื่อเรามีกรอบที่ชัดเจน คือ คนไม่สามารถเดินทางและมารับประทานอาหารที่ร้านได้เพราะมีโรคระบาด เราก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางออก จึงเกิดเป็นไอเดียอย่าง Cloud Kitchen ขึ้นมา
Cloud Kitchen คือแพลตฟอร์มเช่าห้องครัวที่มีอุปกรณ์เครื่องครัวครบครันอยู่ด้วย ซึ่งแนวคิดนี้จะให้บริการสำหรับร้านอาหารเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ โดยที่ร้านค้าไม่ต้องมีสาขาหรือพื้นที่ให้บริการ เพียงแค่ส่งพนักงานมาทำอาหารใน Cloud Kitchen นี้ จากนั้นก็นำอาหารไปส่งในพื้นที่โดยรอบได้เลย
เพียงเท่านี้ก็สามารถเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ ทำยอดขายได้เหมือนเดิมในระหว่างที่ผู้คนไม่สามารถออกไปเดินซื้อของหรือรับประทานอาหารนอกบ้านได้ ก็เหมือนเป็นการที่เราใช้กรอบที่มีอยู่ บวกกับเครื่องมือที่มีอยู่อย่างจำกัด มาทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมสิ่งใหม่ขึ้นมาได้นั่นเอง
5. ทำตัวเป็นตุ๊กตาล้มลุก แม้จะล้มกี่ครั้งก็ลุกก็ขึ้นมาได้ทุกครั้ง
“Every failure is a step to success.” – Malcolm Forbes
ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือว่าคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ล้วนมีโอกาสล้มเหลวได้ทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าเราจะมีวิธีคิดอย่างไรเพื่อที่จะลุกขึ้นมาให้เร็วที่สุด
หลายคนลุกขึ้นมาได้ไวและมาพร้อมกับแรงบันดาลใจและไอเดียใหม่ ๆ แต่บางคนพอล้มแล้วแทบลุกไม่ขึ้นเลย นั่นเป็นเพราะว่าต้นทุนชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน (ในทีนี้ไม่ได้หมายถึงต้นทุนด้านทรัพย์สินอย่างเดียว แต่รวมถึงต้นทุนด้านความคิดอีกด้วย)
คนดัง ๆ หลายคนมักบอกว่า กว่าที่จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ พวกเขาก็เรียนรู้มาจากความล้มเหลวนี่แหละ เมื่อเรารู้แล้วว่าวิธีนี้เราเคยทำแล้วไม่เวิร์ก ก็จะตระหนักได้ว่าไม่ควรกลับไปทำแบบเดิมอีก ควรที่จะลองเปลี่ยนเส้นทางและวิธีการแบบใหม่ดู
ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba เว็บไซต์ E-Commerce ชื่อดังระดับโลกจากจีน เขามีประสบการณ์ความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน
ตอนเด็กเขาเรียนซ้ำชั้นอนุบาลถึง 7 ปี เพราะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าคนอื่น จนมาถึงประถมเขาก็เกเรจนเกือบถูกไล่ออกจากโรงเรียน และไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์เพราะเรื่องไม่รู้เรื่อง แต่ยังมีความสนใจภาษาอังกฤษอยู่บ้าง จนมหาวิทยาลัยสอบเข้าไปเรียนภาษาอังกฤษในวิทยาลัยครูเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง และเป็นไกด์พาฝรั่งเที่ยวฟรีเพื่อเป็นการฝึกภาษาอังกฤษไปในตัว
ระหว่างนั้นเขาเคยไปสมัครเป็นพนักงาน KFC ที่มีจำนวนผู้สมัคร 24 คน แต่มี 23 คนได้รับเลือก ส่วนคนที่ไม่ได้รับเลือกก็คือเขานั่นเอง และหลังเรียนจบเขารับงานเป็นล่ามจึงต้องบินไปที่สหรัฐอเมริกา แต่หารู้ไหมว่าเขาถูกหลอกให้ทำฟรี ไม่ได้รับค่าจ้าง แต่เขาก็กลับได้จุดประกายความคิดให้กับตัวเองเมื่อเขาได้รู้จักกับคำว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ ครั้งแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่มากในสมัยนั้น
เขาได้ลองกดค้นหาคำว่า ‘China’ แต่ปรากฎว่าไม่มีเว็บไหนที่เกี่ยวกับประเทศของเขาขึ้นมาเลย เขาจึงกลับไปยังประเทศจีน และได้จ้างคนมาทำเว็บไซต์ China Pages ซึ่งคล้าย ๆ สมุดหน้าเหลืองของจีนเพื่อเอาไว้หารายชื่อต่าง ๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือล้มเหลว เพราะแทบจะไม่มีคนเข้าไปใช้เลย อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับชาวจีนตอนนั้น
และตอนที่เขาคิดจะเปิด Alibaba เขาชวนเพื่อน ๆ 17 คนมาลงทุนแต่ว่า 16 คน ไม่เห็นด้วยกับเขาเลย เพราะไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จ และอีกอย่างคือเขาไม่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เลยจะสร้างออกมาได้ยังไง แต่เขาก็ไม่ย่อท้อจนกระทั่งเขาได้ก่อตั้ง Alibaba ขึ้นมาและเป็นเว็บไซต์ E-Commerce ที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แค่เฉพาะในจีนเท่านั้น แต่ยังใช้กันทั่วโลกอีกด้วย
จากประสบการณ์ของ Jack Ma เห็นไหมว่า ถึงแม้ว่าจะสะดุดบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีวันไปถึงเส้นชัยตรงนั้นสักหน่อย รสชาติของความผิดหวังที่สะสมมาอาจทำให้เราได้พบกับความสำเร็จที่หอมหวานที่สุดก็ได้นะใครจะรู้ เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดมาจากความล้มเหลว
สรุปทั้งหมด
ไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าการมีแนวคิดแบบนี้ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเท่านั้นถึงจะมีได้ แต่ทุกคนสามารถนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้และต่อยอดกับงานที่ทำได้ ซึ่งงานที่คุณทำคุณจะไม่คิดว่านั่นคืองานที่ได้รับมอบหมาย แต่เป็นงานที่สร้างคุณค่าให้ตัวเราเองจริง ๆ
และแนวคิดนี้จะช่วยให้เราเอาชนะความท้าทาย มีความแน่วแน่ และยอมรับผลจากการกระทำที่เราทำออกมา เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เรียนรู้จากข้อผิดพลาด และทำสิ่งเราคิดออกมาให้เกิดเป็นผลงานจริง ๆ สุดท้ายสิ่งที่เราทำทั้งหมดจะนำไปสู่หัวใจของ Entrepreneurial Mindset นั่นเอง