ในการทำการตลาดไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหน การเข้าถึง “พฤติกรรมผู้บริโภค” ยังถือเป็นอะไรที่คลาสสิคตลอดกาลและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำการตลาดของธุรกิจเราประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในปี 2021 ที่ธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม
ดังนั้นฝั่งของตัวธุรกิจเองหรือนักการตลาด ก็มีความจำเป็นต้องที่จะต้องทำการปรับตัวและเริ่มศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของแต่ละ Generations ชนิดที่ต้องอัปเดตกันแบบปีต่อปีโดยเฉพาะ “กลุ่มผู้บริโภค Gen Y” ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในตลาดปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศ
บทความนี้ The Growth Master เลยขอพาทุกคนมาเรียนรู้พฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค Gen Y กันให้มากขึ้นผ่าน 6 รูปแบบการดําเนินชีวิตที่แตกต่างกันของ Gen Y พร้อมเรียนรู้วิธีการเจาะตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค Gen Y ทั้ง 6 รูปแบบอย่างละเอียด เพื่อการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้มากที่สุด
โดยข้อมูลทั้งหมดเราได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ ดร.ปภาภรณ์ ไชยหาญชาญชัย คณาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้แบ่งปันข้อมูลประกอบบทความในครั้งนี้ แต่ 6 รูปแบบการดําเนินชีวิตพร้อมวิธีเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y ปี 2021 จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลย
Gen Y คือใคร อายุเท่าไร ? มาทำความรู้จักกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้มากขึ้นกัน
Gen Y คือกลุ่มผู้บริโภคที่เกิดในช่วงปี 1981-1996 หากเทียบกับปัจจุบันตอนนี้ก็อายุ 24-39 ปี กลุ่มผู้บริโภค Gen Y คือกลุ่มคนที่เติบโตมากับการใช้เทคโนโลยีเป็นกลุ่มแรก ๆ (Digital Native) ทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่คุ้นเคยและเข้าใจหลักการใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง จัดว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในตลาด มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงเป็นกลุ่มผู้บริโภคฝั่งธุรกิจหรือนักการตลาดควรให้ความสำคัญ
โดยลักษณะพฤติกรรมของกลุ่มคน Gen Y มักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีการตัดสินใจที่เฉียบขาด พวกเขากล้าที่จะใช้จ่ายกับสินค้าและการบริการที่คิดว่าตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง (เพราะ Gen Y ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ) แต่พวกเขาก็จะคิดถึงอนาคตเสมอ มีการคำนึงถึงค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ ชอบการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เช่นชอบใช้ Social Media ในการติดต่อสื่อสารประจำวัน, ชอบชอปปิ้งผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน และอื่น ๆ ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขา “ง่ายขึ้น”
ถึงอย่างไรก็ตามจริงอยู่ที่กลุ่มผู้บริโภค Gen Y ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมหลัก ๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่ในความเหมือนกันนั้นกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็ซ่อนความแตกต่างกันของลักษณะนิสัยที่ไม่เหมือนกันอยู่ เพราะแน่นอนว่าแม้พวกเขาจะอยู่ในช่วงอายุเดียวกัน คือ Gen Y แต่รสนิยม ความชอบ ความสนใจ และไลฟ์สไตล์มันเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เป็นธรรมดาที่แต่ละคนจะต้องมีความแตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว
ซึ่งประเด็นความแตกต่างนี้เองเป็นเหตุผลให้ อาจารย์ ดร.ปภาภรณ์ ไชยหาญชาญชัย เริ่มทำการค้นคว้าวิจัยในเรื่อง “รูปแบบการดำเนินชีวิต การบริโภคสินค้าออนไลน์ การบริโภคสื่อดิจิทัล และการรับรู้ความเสี่ยงออนไลน์ของผู้บริโภคเจเนอเรชันวายบนโลกออนไลน์” โดยได้รับการสนับสนุนทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยการวิจัยในครั้งนี้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง Gen Y 1,265 คน ในช่วงปี พ.ศ. 2562 (แบ่งเป็นเพศหญิง 62.7% ชาย 37.3%) อายุระหว่าง 25 - 42 ปี มีสถานภาพโสด (มากกว่า 60%) เก็บข้อมูลจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย กำหนดไว้ภูมิภาคละ 200 คน และจากกรุงเทพ 465 คน ส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี เป็นพนักงานบริษัทเอกชน, ทำธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขาย และมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 10,001 – 30,000 บาท กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน
ในการสำรวจครั้งนั้นพบประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิต Lifestyle) ของกลุ่ม Gen Y ทั้งหมด 5 ข้อดังนี้
1. กิจกรรมออนไลน์ที่ทำมากที่สุดคือ การส่งข้อความหรือรูปภาพผ่านไลน์
2. Gen Yสนใจเรื่องของ การมุ่งประสบความสำเร็จ มากที่สุด
3. เรื่องที่ผู้บริโภค Gen Y เห็นด้วยมากที่สุด คือ เทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
4. จัดกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค Gen Y ด้วยลักษณะทางจิตวิทยาซึ่งก็คือ รูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyle) โดยจัดตาม AIOs หรือจัดตาม กิจกรรม (Activities) ความสนใจ (Interest) ความคิดเห็น (Opinion)
5. จากผลการวิเคราะห์ สามารถจัดกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค Gen Y ได้ 6 กลุ่ม คือ Gen Y สายกระต่ายน้อยแสนสุข (The Happy Bunnies) Gen Y สายนักเดินหน้าหาอนาคต (The Future Forwarders) Gen Y สายชาวดาร์วิน (The Darwinians) Gen Y สายชาวไซเบอร์ (The Cybernauts) Gen Y สายสาวกศาสนา (The Religious Acolytes) และGen Y สายชาววอลสตรีท (The Wall Streeteers)
กลุ่มผู้บริโภค Gen Y ที่ถูกแบ่งออกตามรูปแบบการดำเนินชีวิตทั้ง 6 กลุ่ม มีอะไรบ้าง แต่ละกลุ่มมีวิธีการเจาะตลาดอย่างไร ?
กลุ่มที่ 1: รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบ Gen Y สายกระต่ายน้อยแสนสุข (The Happy Bunnies)
เป็นกลุ่มเจเนอเรชันวายที่แสวงหาความสุขจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำเพื่อสนองอารมณ์และความต้องการของตัวเอง กิจกรรมออนไลน์ที่ทำส่วนใหญ่จึงเป็นกิจกรรมที่เน้นความบันเทิง เพราะเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุข สร้างอารมณ์ในเชิงบวกได้ เช่น เขียนบล็อก ทำคลิป ซื้อบัตรชมละครเวทีหรือคอนเสิร์ต ดูภาพยนตร์หรือซีรีย์จาก Netflix อ่านนิตยสารออนไลน์ รวมถึงเช็กดวง ขายสินค้าออนไลน์ ดาวน์โหลดหนังสือ หนัง และวิดีโอหรือคลิปต่าง ๆ
นอกจากนี้ กลุ่มกระต่ายน้อยแสนสุขยังให้ความสำคัญกับความสุขที่อยู่ตรงหน้า โดยรักการปาร์ตี้สังสรรค์เป็นที่สุด และเสพความสุขจากการใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองชอบ นั่นก็คือชื่นชอบชีวิตความเป็นเมือง โดยที่มักจะใช้เวลาในวันหยุดไปกับการซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ชอบซื้อเสื้อผ้าตามแฟชั่น ชอบทานอาหารนอกบ้าน ชอบซื้อสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิต และชอบของดี ราคาแพง
เพราะกลุ่มกระต่ายน้อยแสนสุขจะมีความเป็นไฮโซ มีรสนิยมหรูหราอยู่ในตัว แต่ถึงอย่างไรก็ตามชาวกระต่ายน้อยแสนสุข จะมองเรื่องต่าง ๆ บนพื้นฐานของเหตุผล ไม่คิดลบ คิดบวก คิดร้าย
วิธีการสื่อสารการตลาดและปรับองค์กรให้เหมาะกับกลุ่ม Gen Y สายกระต่ายน้อยแสนสุข (The Happy Bunnies)
- เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าฟุ่มเฟือย ร้านอาหาร สินค้าแฟชั่น และสินค้าที่เน้นคุณภาพ (แม้ราคาสูง)
- สื่อสารด้วยข้อความที่เน้นประโยชน์ในเชิงอารมณ์ และความเป็นที่สุด (The Best) เช่น ดีที่สุด สะดวกสบายที่สุด
- ในฝั่งขององค์กรควรจัดมุมพักผ่อน ให้ความสำคัญกับ Work-life Balance กับกลุ่ม Gen Y กลุ่มนี้
กลุ่มที่ 2: รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบ Gen Y สายนักเดินหน้าหาอนาคต (The Future Forwarders)
เป็นกลุ่มเจเนอเรชันวายที่ให้ความสำคัญและทุ่มเทไปกับการสร้างอนาคต มุ่งมั่นที่จะสร้างครอบครัว และมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะมองว่าความมั่นคงของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ชาวนักเดินหน้าหาอนาคตจึงมักจะคิดเกี่ยวกับเรื่องของการวางแผนชีวิตเพื่ออนาคต เช่น การออมเงิน การสร้างรายได้เพิ่มจากอาชีพเสริมหรือจากการลงทุน การทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ และการเป็นเจ้าของธุรกิจที่พวกเขามองว่าน่าจะมั่นคงกว่าการเป็นพนักงานประจำ
ชาวนักเดินหน้าหาอนาคตยังถือได้ว่า เป็นพวกติดบ้านเพราะมีความสุขไปกับการได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัวในวันหยุด ที่สำคัญชาวนักเดินหน้าหาอนาคตรักการทำบุญเข้าวัด และชอบทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคม โดยชอบช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส และชอบทำกิจกรรมอาสาต่าง ๆ
อีกทั้งยังชอบใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชอบเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วยระบบบริการขนส่งมวลชนหรือบริการสาธารณะอีกด้วย
วิธีการสื่อสารการตลาดและปรับองค์กรให้เหมาะกับกลุ่ม Gen Y สายนักเดินหน้าหาอนาคต (The Future Forwarders)
- เป็นกลุ่มเป้าหมายของประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัย ธนาคารที่มีโครงการเพื่อการลงทุน และสถาบันอบรม/พัฒนาทักษะต่าง ๆ รวมถึงสินค้าสีเขียว (Green Product)*
- สื่อสารด้วยข้อความที่เน้นความมั่นคงของชีวิต
- ฝั่งขององค์กรควรมี Career Path ที่ชัดเจนให้พวกเขาและมีการจัดหลักสูตรสำหรับพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ Gen Y กลุ่มนี้จะชอบมาก
*Green Product คือผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติเป็นหลัก ไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม สามารถกำจัดซากหรือย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติโดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศและไม่มีสารเคมีอะไรที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ
กลุ่มที่ 3: รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบ Gen Y สายชาวดาร์วิน (The Darwinians)
เป็นกลุ่มเจเนอเรชันวายที่มองเรื่องราวหรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น บนพื้นฐานของความเป็นจริง ด้วยความเข้าใจ เพราะมองว่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเรื่องปกติ แต่แค่ต้องรู้จักปรับตัวและลองลงมือทำ เช่น การมองว่าการครองตนเป็นโสด การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน การศัลยกรรมเสริมความงาม การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
หรือถ้าเรื่องบางเรื่อง สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ก็ควรลงเร่งลงมือทำ เช่น ภาวะโลกร้อน การแยะขยะอย่างจริงจัง ระบบการศึกษาไทย ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย และการใช้ถ้อยคำรุนแรงบนโลกออนไลน์ควรได้รับการดูแล
ในขณะเดียวกัน เมื่อนักชาวดาร์วินมองเห็นปัญหา ก็พร้อมที่ยอมรับความจริง ซึ่งถึงแม้จะหมดหวังหรือถอดใจไปบ้าง แต่ก็พร้อมทำใจและดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป เช่น มองว่าคนไทยไม่สามัคคีกันเหมือนเมื่อก่อน หรือคนในสังคมเห็นแก่ตัวมากขึ้น สื่อสังคมออนไลน์เร่งให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น และวัยรุ่นในปัจจุบันมีความอดทนน้อยลง
วิธีการสื่อสารการตลาดและปรับองค์กรให้เหมาะกับกลุ่ม Gen Y สายชาวดาร์วิน (The Darwinians)
- เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าที่อุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต
- สื่อสารด้วยข้อความที่เน้นประโยชน์ในเชิงหน้าที่ และเน้นการสื่อสารด้วยความจริงใจ เช่น ใช้ข้อความที่แสดงให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย
- ฝั่งขององค์กรควรมีลักษณะการทำงานที่เปิดกว้างทางความคิด มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน และมีการสื่อสารแบบล่างขึ้นบน* และการสื่อสารแบบแนวราบ**
*การสื่อสารแบบล่างขึ้นบน คือ ลักษณะการสื่อสารในองค์กรที่เป็นการสื่อสารจากผู้ใต้บังคับบัญชาไปยังผู้บังคับบัญชา (ลูกน้อง>หัวหน้า) ในการให้พวกเขาได้มีโอกาสออกความเห็น, ข้อเสนอแนะ, แนวทางต่าง ๆ ไปสู่ผู้บังคับบัญชา
**การสื่อสารแบบแนวราบ คือ ลักษณะการสื่อสารในองค์กรที่เป็นการสื่อสารจากคนในทีม/แผนกงานเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน เพื่อเป็นการประสานการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเสริมสร้างความสามัคคีในองค์กร
กลุ่มที่ 4: รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบ Gen Y สายชาวไซเบอร์ (The Cybernauts)
เป็นกลุ่มเจเนอเรชันวายที่เราอาจจะพบเจอได้เยอะคือเป็นกลุ่มคนที่ชอบสื่อสาร และชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบนช่องทางออนไลน์เป็นอย่างมาก ทั้งส่งข้อความและรูปภาพผ่านไลน์ คุยกับเพื่อนผ่านไลน์และไลน์คอล อัปโหลดรูป แชร์เรื่องราว แชร์ภาพ และแชร์ลิงก์บนโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังสนุกสนานไปกับการติดตามเพจดังต่าง ๆ ทั้งเพจทำอาหาร ดูคลิปฮาวทู เพจทานอาหาร เพจท่องเที่ยว เพจคนดังหรือดารา เพจสัตว์เลี้ยง และยังชอบซื้อของตามเพจต่าง ๆ อีกด้วย
ที่สำคัญด้วยการมีความเป็นนักรู้ดูโลกกว้างอยู่ในตัว จึงชอบเปิดโลกทัศน์ตัวเองด้วยการติดตามข่าวสารต่าง ๆ และเป็นพวกชีพจรลงเท้า คือชอบการเดินทางท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ โดยมักจะจองตั๋วเครื่องบิน จองโรมแรมหรือที่พักผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงหาข้อมูลท่องเที่ยวอยู่เป็นประจำ
วิธีการสื่อสารการตลาดและปรับองค์กรให้เหมาะกับกลุ่ม Gen Y สายชาวไซเบอร์ (The Cybernauts)
- เป็นกลุ่มเป้าหมายของตลาด E-Commerce
- เน้นการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Line และ Instagram ควบคู่ไปกับการทำการตลาดเชิงเนื้อหา (Content Marketing) และควรใช้กลยุทธ์การตลาดผู้มีอิทธิพล (Influencer Marketing)
- ฝั่งองค์กรควรมี Wi-Fi และระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เน้นการทำงานผ่านซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน จะถูกใจกลุ่ม Gen Y กลุ่มนี้มาก
กลุ่มที่ 5: รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบ Gen Y สายสาวกศาสนา (The Religious Acolytes)
เป็นกลุ่มเจเนอเรชันวายที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมความเป็นไทย โดยมองว่า วัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคม ธรรมะเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ อีกทั้งยังเชื่อถือเรื่องของดวงชะตา โชคลางอีกด้วย
นอกจากเรื่องของสุขภาพใจแล้ว สายสาวกศาสนาก็ยังเน้นเรื่องของสุขภาพกายด้วยเช่นกัน โดยชอบที่จะอ่านเพจธรรมะ และติดตามเพจสุขภาพ เรียกได้ว่าเน้นไปที่เรื่องของร่างกายและจิตวิญญาณ (Body & Soul)
วิธีการสื่อสารการตลาดและปรับองค์กรให้เหมาะกับกลุ่ม Gen Y สาวกศาสนา (The Religious Acolytes)
- เป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์สินค้าไทย สินค้า OTOP การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
- สื่อสารด้วยข้อความที่เน้นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมไทยเป็นสำคัญ
- ฝั่งองค์กรควรมีกรอบการทำงานและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีวัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยม
กลุ่มที่ 6: รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบ Gen Y สายชาววอลสตรีท (The Wall Streeteers)
เป็นกลุ่มเจเนอเรชันวายที่จะเน้นเรื่องของเงินทองและความร่ำรวยเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว โดยมองว่าเงินคือคำตอบของชีวิต เพราะเงินเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเสมอ และความสำเร็จในชีวิตคือความร่ำรวยที่มีเงินทองมากมาย กลุ่ม Gen Y กลุ่มนี้จะชื่นชอบเรื่องของการหาเงิน การลงทุน โฟกัสที่ผลกำไรหรือสิ่งที่พวกเขาจะได้รับเหนือสิ่งอื่นใด
วิธีการสื่อสารการตลาดและปรับองค์กรให้เหมาะกับกลุ่ม Gen Y สายชาววอลสตรีท (The Wall Streeteers)
- เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าที่มีรายการส่งเสริมการขาย พวกโปรโมชันต่าง ๆ
- สื่อสารด้วยข้อความที่เน้นย้ำในเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก
- ฝั่งองค์กรควรเน้นไปที่ค่าตอบแทนหรือสิ่งกระตุ้น (Incentives) เช่นมอบเงินเดือนที่สูงกว่าตลาดหรือสวัสดิการชั้นเลิศเพื่อให้กลุ่ม Gen Y กลุ่มนี้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน
สรุปวัตถุประสงค์ที่กลุ่มผู้บริโภค Gen Y ทั้ง 6 แบบเลือกใช้งานสื่อออนไลน์ในแต่ละวันคืออะไร ?
1. Gen Y สายกระต่ายน้อยแสนสุขใช้สื่อออนไลน์เพื่อสังคม คือ ความต้องการที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคนในสังคม เช่น ครอบครัว เพื่อน คนสนิท เป็นต้น
2. Gen Y สายนักเดินหน้าหาอนาคต และ Gen Y สายสาวกศาสนา ด้านส่วนตัว คือ ความต้องการที่จะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ หรือความมั่นใจของตนเอง
3. Gen Y สายชาวดาร์วิน และ Gen Y สายชาวไซเบอร์ ด้านการปลดปล่อยความเครียด คือ ความต้องการที่จะหลีกหนีจากความเครียด จากความเป็นจริง หรือจากความเบื่อหน่าย
4. Gen Y สายชาววอลสตรีท ด้านความคิด คือ ต้องการที่จะได้ความรู้ ข้อมูล และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ
สรุปทั้งหมด
ดังนั้นคุณน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่าในกลุ่มผู้บริโภค Gen Y ซึ่งถือเป็นช่วงอายุที่มีอิทธิพลมากที่สุดในตลาดบ้านเรา ก็ยังสามารถแบ่งออกมาได้ถึง 6 กลุ่มพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง
คราวนี้ก็ถึงตาของนักการตลาดหรือผู้ประกอบการอย่างคุณแล้ว ที่จะต้องงัดกลยุทธ์ วิธีการสื่อสารการตลาดในการเสนอสินค้าและบริการของธุรกิจคุณให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภค Gen Y ในแต่ละกลุ่มมากที่สุด
The Growth Master ขอขอบคุณอาจารย์ ดร. ปภาภรณ์ ไชยหาญชาญชัย คณาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้แบ่งปันข้อมูลในการประกอบบทความครั้งนี้ หากใครที่มีข้อสงสัยหรือต้องการทราบเนื้อหาของงานวิจัยชิ้นนี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ ดร.ปภาภรณ์ ไชยหาญชาญชัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย >> papaporn.c@chula.ac.th