ปัจจุบันร้านค้าหลายแห่งไม่สามารถขายแบบออฟไลน์ได้โดยตรง จึงทำให้พวกเขาต่างพากันเปลี่ยนเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น นั่นจึงยิ่งทำให้การแข่งขันแย่งชิงลูกค้าระหว่างแบรนด์นับเป็นศึกหนักที่หลายธุรกิจต้องเจอ
มีหลายธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสและสร้างธุรกิจให้เติบโตได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางธุรกิจที่ล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในเหตุผลนั้นก็มาจากธุรกิจไม่สามารถสื่อสารให้ลูกค้าเห็นถึง Value Proposition (คุณค่าที่แบรนด์จะส่งมอบให้กับลูกค้า) ได้อย่างชัดเจน
ถึงแม้ว่าธุรกิจของเราจะมีคุณค่าที่ลูกค้ากำลังตามหาอยู่ แต่กลับไม่สามารถสื่อสารหรือนำเสนอคุณค่าที่แท้จริงให้กับลูกค้าได้เข้าใจ นั่นก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของการทำธุรกิจ ดังนั้นแบรนด์จำเป็นต้องนำเสนอให้ลูกค้าเห็นว่าธุรกิจของเรามี “คุณค่า” ที่ลูกค้ากำลังตามหาอยู่ แสดงให้เห็นว่าสินค้าหรือบริการของเราสามารถแก้ปัญหาให้พวกเขาได้อย่างแท้จริง เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นไปได้
ในบทความนี้ The Growth Master จะไปพาทุกคนไปหาคำตอบว่าทำอย่างไรจึงจะให้ลูกค้าเข้าใจและค้นพบ Value Proposition ที่ธุรกิจตั้งใจจะมอบให้กับลูกค้าได้อย่างชัดเจน ไปติดตามกันต่อได้เลย
Value Proposition คืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไร? Value Proposition คือ คุณค่าที่บริษัทสัญญาว่าจะส่งมอบไปยังลูกค้า หากพวกเขาซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาด (Marketing Strategy) โดยรวมของบริษัทอีกด้วย
นอกจากนั้น Value Proposition ยังเป็นการแสดงเจตนา หรือข้อความแนะนำแบรนด์แก่ผู้บริโภค โดยมีเนื้อหาบอกว่าบริษัทมีจุดยืนอย่างไร จะดำเนินการอย่างไรถึงจะให้ลูกค้าได้รับคุณค่าสูงสุด และเพราะอะไรลูกค้าถึงคู่ควรและลองมาใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจ
แต่ถ้าธุรกิจของเรามีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความคล้ายคลึงกับคู่แข่ง หรือแทบจะไม่แตกต่างกันเลย เราก็ยิ่งจะต้องแสดงให้ลูกค้าเห็นถึง Value Proposition ที่แท้จริง ธุรกิจเราจะมอบคุณค่าอะไรที่ตรงกับใจให้กับลูกค้าได้บ้าง อย่างเช่น ประสบการณ์หรือความรู้สึกที่แตกต่าง เมื่อได้ลองใช้งานตั้งแต่ครั้งแรก, ประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่พวกเขาจะได้รับ เป็นต้น
ภาพจาก shortrecap ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น คงไม่มีใครไม่รู้จักร้านกาแฟ Starbucks ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก สิ่งที่ทำให้ Starbucks ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่มาจากแค่กาแฟเท่านั้น เพราะในประเทศไทย ถึงแม้ว่ากาแฟของ Starbucks จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีลูกค้าจำนวนมากที่เลือกเดินเข้าไปซื้อกาแฟของ Starbucks อยู่ดี
เพราะคุณค่าที่ลูกค้าได้รับจาก Starbucks ไม่ได้มาจากรสชาติของกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นคุณค่าด้านอื่น ๆ เช่น การบริการจากพนักงานที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรและใส่ใจ, สถานที่ที่สามารถนั่งคุยงานหรือเข้าไปทำงานได้ไม่จำกัดเวลา หรือบรรยากาศของร้านที่รู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลาย รวมไปถึงอัปเกรดภาพลักษณ์ของลูกค้าเอง เวลาที่ถือแก้วกาแฟที่มีโลโก้ของแบรนด์อยู่ หรือเวลาที่ได้นั่งอยู่ในร้านด้วย
ภาพจาก incimages ทำอย่างไรจึงให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึง Value Proposition ที่แท้จริงในยุคออนไลน์? วิธีที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ถึง Value Proposition อย่างแท้จริงในยุคออนไลน์ ก็คือ “คำโฆษณา” หรือคอนเทนต์ที่เราตั้งใจส่งมอบไปยังลูกค้า
แต่ก่อนที่เราจะลงมือเขียนข้อความหรือคำโฆษณา (Copywriting) เพื่อนำไปใช้โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย, เขียนแทรกในคอนเทนต์ต่าง ๆ หรือแม้แต่บนหน้า Landing Page เอง เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าเราจะโฟกัสอะไรในคำโฆษณาเหล่านั้นบ้าง เพราะมันเป็นสิ่งที่จะบ่งบอกให้ลูกค้ารู้และเข้าใจถึง Value Propositon ของธุรกิจ
ถ้าเกิดว่าเราคิดไอเดียเพื่อมาเขียนคำโฆษณาไม่ได้ ให้เราลองย้อนกลับไปมองก่อนว่าจริง ๆ แล้ว ธุรกิจของเราตั้งใจจะส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับลูกค้ากันแน่ ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราสามารถช่วยแก้ปัญหาหรือช่วยให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างไร?
แต่ถ้าเกิดว่ามีคำตอบเหล่านั้นในใจอยู่แล้ว ไปดูกันว่าเราจะสามารถนำมาเขียนและปรับแต่งเป็นคำโฆษณา เพื่อแสดง Value Proposition นั้นอย่างไรได้บ้าง?
สเต็ปที่ 1: ลิสต์ Pain Point ของลูกค้า ให้เราแบ่ง Value Proposition ของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ออกเป็น 3 คอลัมน์ (สามารถใช้ Google Sheets เพื่อช่วยในการทำได้) ซึ่งจะประกอบไปด้วย
คอลัมน์ที่ 1: Pain Point ลิสต์ปัญหาหรือ Pain Point ของลูกค้าทั้งหมดออกมา ในตอนที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักหรือยังไม่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ
ตัวอย่างเช่น ในตอนที่ยังไม่มีบริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ อย่าง Grab, Robinhood, LineMan, FoodPanda, Gojek ลูกค้าก็ต้องออกไปซื้ออาหารเอง, ฝากคนอื่นให้ซื้อมาให้ หรือไปดีลกับรถจักรยานยนต์รับจ้างแถวบ้านให้ไปซื้ออาหารแล้วจ่ายค่าตอบแทนพวกเขา
คอลัมน์ที่ 2: Value Proposition จาก Pain Point เหล่านั้น ให้คุณเขียน Value Proposition ที่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา มันสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ดีกว่าสิ่งที่พวกเขาเคยทำ และมันทำให้พวกเขาได้รับความสะดวกขึ้นจริง ๆ
ตัวอย่างเช่น บริการเดลิเวอรี่ทำให้ลูกค้าไม่ต้องออกจากบ้านฝ่ารถติดท่ามกลางแดดร้อน ๆ เพื่อไปซื้ออาหารเอง ไม่ต้องไปถึงร้านแล้วต่อคิวยาว ๆ เพียงแค่กดสั่ง แล้วรอรับอยู่ที่บ้านได้เลย
คอลัมน์ที่ 3: Persona ให้กำหนด Persona ของกลุ่มเป้าหมายของเรา ระบุตัวตนของพวกเขาออกมาให้เห็นภาพชัดที่สุดว่าพวกเขาเป็นอย่างไร พร้อมกับระบุเหตุผลสัก 2-3 ข้อ ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความสนใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราแน่นอน
ตัวอย่างเช่น เป็นกลุ่มคนที่ทำงาน Work From Home ไม่สามารถออกไปซื้ออาหารเองได้ระหว่างวัน เพราะงานยุ่งมาก จึงอยากสั่งอาหารให้คนมาส่งถึงที่บ้านเลย
สำหรับในสเต็ปแรก อยากให้คุณลองสวมหมวกเป็นลูกค้าและดึงไอเดียลิสต์ Pain Point ออกมาให้เยอะที่สุด เพราะสุดท้ายเราจะต้องเลือกไอเดียที่น่าสนใจที่สุดออกมา (เช่น ประมาณ 5 ไอเดีย) เพื่อที่จะนำมาเขียนคำโฆษณาแสดงให้กลุ่มเป้าหมายเห็นและเข้าใจถึง Value Proposition ของธุรกิจ และเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าในที่สุด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง สเต็ปที่ 2: เปลี่ยน Value Proposition เป็นข้อความโฆษณา หลังจากที่ระบุ Value Proposition ได้แล้ว ถึงเวลาที่จะต้องมาปรับแต่งรูปแบบข้อความ เพื่อใช้เป็นรากฐานของคำโฆษณากันแล้ว
สามารถดาวน์โหลดตัวอย่าง Spreadsheet ของการเขียนโฆษณา Value Proposition ได้ >> ที่นี่
ภาพจาก gitbook
ก่อนอื่นเรามาลองดูกันว่าการปรับแต่งข้อความ Value Proposition มีอะไรบ้างที่เราควรจะต้องรู้
รูปแบบภาษาที่ใช้ สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดในการเขียนปรับแต่งให้ Value Proposition ออกมาเป็นคำโฆษณา คือ “รูปแบบภาษาที่ใช้” เราจำเป็นต้องรู้ว่าจะใช้ภาษารูปแบบใด เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาสนใจ มาซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราให้ได้มากที่สุด
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าควรใช้ภาษารูปแบบใด? คำตอบ คือ ให้ย้อนกลับไปดู Persona ที่ระบุไว้ตั้งแต่สเต็ปแรก ถ้า Persona ของเราอยู่ในกลุ่มลูกค้าประเภท B2B เราอาจจะเลือกใช้ภาษาที่มีความทางการขึ้นมาหน่อย ใช้คำศัพท์เฉพาะทางบ้าง เพื่อให้ดูว่าเราเป็นมืออาชีพ หรือเลือกใช้คำที่ให้ดูเหมือนว่าองค์กรมักใช้คุยกับองค์กรด้วยกันเอง
ภาพจาก facebook แต่ถ้ากลุ่ม Persona ของเราเป็นประเภท B2C (บุคคลธรรมดาทั่วไป) เราก็อาจจะเลือกใช้ภาษาที่เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง ที่ไม่ต้องผ่านการตีความหรือใส่ความหมายแฝงให้ยุ่งยาก เพราะถ้าเกิดภาษาที่ใช้มันซับซ้อนเกินไป ก็อาจทำให้พวกเขาไม่เข้าใจข้อความที่เราต้องการจะสื่อ
ภาพจาก facebook ไม่ควรใช้คำศัพท์เฉพาะทางเกินไป ส่วนข้อต่อมา คือ “ไม่ควรใช้คำศัพท์เฉพาะทาง” (ยกเว้นว่าผลิตภัณฑ์และบริการของคุณ อยู่ใน Super-Niche Market หรือกลุ่มตลาดเฉพาะจริง ๆ) เพราะถ้าเกิดว่าคุณใช้คำศัพท์เฉพาะทางจนเกินไป กลุ่มเป้าหมายน้อยคนที่จะเข้าใจความหมายของมัน แต่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่คุณกำลังจะสื่อออกไปเลย นั่นจึงทำให้พวกเขาไม่สามารถสัมผัสได้ถึง Value Proposition ที่แท้จริงของธุรกิจก็ได้ (แม้ว่าคุณจะมีคุณค่าที่พวกเขากำลังตามหาก็ตาม)
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเกิดว่าคู่แข่งของคุณที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความใกล้เคียงกับธุรกิจของคุณ (หรือสามารถใช้ทดแทนกันได้) แล้วเขาสามารถสื่อออกมาให้ลูกค้าเข้าใจและเห็นถึง Value Proposition ของธุรกิจ การที่พวกเขาเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปเป็นลูกค้าของคู่แข่งคุณก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินตัวเลย
หลังจากที่รู้แล้วว่าการปรับแต่งข้อความ Value Proposition เราต้องดูรูปแบบภาษาที่ใช้ และไม่ใช้คำศํพท์เฉพาะทางในการเขียน แล้ว เราลองมาเขียนวิเคราะห์หัวข้อถัดไปกันเลย
ปัญหา (Problem) เขียนเจาะจงถึงปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายของคุณพบเจอ ในที่นี้ปัญหาจะจำแนกออกมาได้ 2 แบบ คือ ปัญหาแบบ “วิตามิน” กับ “ยาแก้ปวด”
ปัญหาแบบวิตามิน คือ ปัญหาที่ลูกค้าจะแก้ก็ได้ ไม่แก้ก็ได้ เหมือนเรากินวิตามินเสริมเข้าไป ถ้ากินวิตามิน เราก็จะมีสุขภาพดีขึ้น แต่ถ้าไม่กินก็ไม่เป็นไร พวกเขาก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิมปัญหาแบบยาแก้ปวด คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวลูกค้าแล้วพวกเขายอมเสียเงิน เพื่อแก้ไขปัญหานั้นทันที เหมือนเวลาที่เราเจ็บปวด เราก็ต้องยอมซื้อยาแก้ปวดมากิน เพื่อให้อาการเจ็บปวดเหล่านั้นทุเลาลงถ้าหากคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แบบ B2B บ่อยครั้งธุรกิจมักจะเจอปัญหาเกี่ยวกับด้านการเสียเวลาหรือเสียเงินเป็นจำนวนมากในการทำธุรกิจ คุณก็อาจเขียนปัญหาของลูกค้าออกมา เช่น
ธุรกิจเติบโตไม่เต็มที่ พนักงานคนสำคัญเพิ่งจะลาออกไป ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและบริษัทของคุณกำลังย่ำแย่ แต่ถ้าหากคุณเป็นธุรกิจแบบ B2C ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณอาจจะเป็น “วิตามิน” แทนที่จะเป็น “ยาแก้ปวด” ก็ได้ ซึ่งหมายความว่าถ้าปัญหานั้น ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็ไม่เป็นไร มันก็ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม แต่ถ้าพวกเขาซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา ก็จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นหรือสะดวกขึ้นกว่าเดิม (เช่นเดียวกับการกินวิตามิน)
ซึ่งมันก็เหมือนกับตัวอย่าง บริการเดลิเวอรี่ที่เรายกตัวอย่างไปข้างต้น เพราะถ้าไม่มีธุรกิจอย่าง Grab, Robinhood, LineMan, FoodPanda, Gojek มาซื้ออาหารแทนลูกค้า พวกเขาก็จะต้องออกไปซื้ออาหารมากินเองจากร้านอาหาร และต้องยืนต่อคิวด้วยตัวเอง หากร้านนั้นเป็นร้านดังคนเยอะ
ความหมาย (Implications) ความหมาย (Implications) คือ การเขียนเจาะลึกลงไปถึงปัญหาร้ายแรงที่กำลังจะตามมา ถ้าหากลูกค้าของคุณพบเจอกับปัญหานั้น เช่น
บริษัทจะเป็นอย่างไร หากธุรกิจเติบโตไม่เต็มที่? จะเกิดอะไรขึ้น หลังจากที่พนักงานคนสำคัญที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีลาออกไป? อะไรที่คุณไม่สามารถทำได้ เพราะมันต้องเสียเวลาจำนวนมาก? เมื่อคุณพบต้นตอของปัญหาแล้ว ให้เจาะลึกลงไปในความเจ็บปวด (Pain Point) นั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และในขณะที่คุณกำลังเขียนความหมายของปัญหา ให้ค้นหาบุคคลที่กำลังมีชีวิตอยู่บนเส้นด้ายเดียวกับคุณ (ถ้าหากเส้นด้ายนั้นขาด ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาอีก) ให้เขียนเจาะจงลงลึกไปแบบสุด ๆ ไปจนถึงตำแหน่งงาน พวกเขาจะสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล เวลา หรือชื่อเสียง ตัวอย่างเช่น
หากธุรกิจเติบโตไม่เต็มที่ นั่นหมายความว่าธุรกิจของคุณกำลังเสี่ยงต่อการที่ถูกคู่แข่งแย่งลูกค้าไป และอาจต้องปิดตัวลงในที่สุด ถ้าพนักงานคนสำคัญที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพิ่งลาออกไป นั่นหมายความว่าบริษัทก็ต้องเสียเวลาในการตามหาคนที่มีความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสมมาแทน รวมถึงอาจต้องจ่ายเงินเพื่อเทรนพวกเขาเหล่านั้นใหม่ด้วย หากบริษัทของคุณกำลังเสียเวลา 8 ชั่วโมง/สัปดาห์ ไปกับงานที่ไม่มีความหมาย คุณก็จะไม่สามารถส่งงานให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าบริษัทของคุณก็จะไม่อยู่ในสายตาของนักลงทุนและคุณก็จะสูญเสียเงินทุนก้อนนั้นไปเฉย ๆ วิธีแก้ปัญหา (Solution) วิธีแก้ปัญหา (Solution) คือ ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราจะสามารถแก้ปัญหานั้นให้กับลูกค้าได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับบริการให้คำปรึกษาด้านการใช้ซอฟต์แวร์ในบริษัท คุณอาจจะเสนอวิธีแก้ปัญหา ดังนี้
ธุรกิจเติบโตไม่เต็มที่อยู่หรือเปล่า? มองหา Solution เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ไปกับ The Growth Master ได้แล้ววันนี้ กำลังเสียเวลา 8 ชั่วโมง/สัปดาห์ ไปโดยเปล่าประโยชน์หรือเปล่า? ลองมาจัดระเบียบการทำงานด้วย ClickUp ซอฟต์แวร์ Project Management ประโยชน์/ข้อดี (Benefits) พูดถึงประโยชน์หรือข้อดีที่ลูกค้าจะได้รับ หลังจากที่แก้ปัญหานั้นได้แล้ว ตัวอย่างเช่น
ธุรกิจกำลังเติบโตไม่เต็มที่ใช่หรือไม่? มองหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ไปกับ The Growth Master ได้แล้ววันนี้ เพราะเราจะช่วยคุณหาทางออกสำหรับปัญหาธุรกิจ ด้วยคำแนะนำที่เริ่มตั้งแต่การส่งมอบคอนเทนต์ที่ช่วยแก้ปัญหาได้, แนะนำเอเจนซี่, เครื่องมือด้านการตลาด ตลอดไปจนถึง Framework ที่คุณควรใช้ ทั้งหมดนี้ให้คุณได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย พนักงานคนสำคัญที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพิ่งลาออกไปใช่ไหม? หมดห่วงได้เลย เพียงคุณจ้าง Business Tech Stack Consulting อย่างเรา ไม่ต้องเสียเวลาในการรับสมัคร หรือเทรนพนักงานใหม่ สามารถจบได้ในแพ็กเกจเดียว ไม่จำเป็นต้องจ้างระยะยาว และยังช่วยให้คุณประหยัดเงินและเวลาได้มากกว่าที่คิด กำลังเสียเวลา 8 ชั่วโมง/สัปดาห์ ไปโดยเปล่าประโยชน์หรือเปล่า? ลองมาจัดระเบียบการทำงานด้วย ClickUp ซอฟต์แวร์ Project Management ที่จะช่วยให้คุณมีเวลาเพิ่มขึ้น 20% เพื่อนำไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้สะดวก ไม่มีสะดุด อีกทั้งยังสามารถต่อ API เชื่อมข้อมูลกับซอฟต์แวร์อื่น ๆ ได้ หมดปัญหาเสียเวลาสลับเครื่องมือไปมา ทำงานจบได้ในที่เดียว สิ่งที่ไม่ควรทำ / ข้อผิดพลาดทั่วไปที่มักเจอ สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ที่อาจพบเจอได้ คือ เขียนผลกระทบที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาลงไป ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดว่าปัญหาของลูกค้า คือ “ไปขายงานให้ลูกค้าคนสำคัญไม่ทัน” เพราะลูกค้าโบกแท็กซี่แล้วโดนปฏิเสธ ไม่มีแท็กซี่คันไหนเลยที่จอดรับ นี่แหละคือปัญหาโดยตรงที่ลูกค้าของคุณกำลังประสบพบเจอ และธุรกิจของคุณสามารถมอบคุณค่าให้กับพวกเขาได้
แต่ถ้าคุณเขียนปัญหาของลูกค้าคือ “พวกเขาเพิ่งพลาดแท็กซี่ไป” หรือ “มีคนตัดหน้าขึ้นแท็กซี่ไปเฉย ๆ” ซึ่งในความจริงแล้วมันอาจเป็นปัญหาของลูกค้า แต่มันอาจไม่ใช่ Value Proposition ที่แท้จริงของธุรกิจ ดังนั้นคุณควรจะนึกถึงสิ่งที่เป็นคุณค่าจริง ๆ ของธุรกิจที่คุณสามารถให้กับลูกค้าของคุณได้
สรุปทั้งหมด การนำเสนอ Value Proposition ให้ตรงใจลูกค้า และเหนือกว่าคู่แข่งของคุณ สิ่งแรกคือการที่คุณรู้ว่า คุณค่าของธุรจกิจคืออะไร ธุรกิจของคุณสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างไร ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณทำธุรกิจออกมาเพื่ออะไร หรือสามารถเป็นตัวที่เลือกที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร มันก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกค้ามาเข้าใจธุรกิจของคุณ
ดังนั้นแล้ว ถ้าอยากให้แบรนด์ของคุณเติบโตอย่างยั่งยืน “Value Proposition” คือสิ่งที่คุณควรให้ความใส่ใจอย่างยิ่ง และนำเสนอออกมาด้วยความจริงใจ ใช้ภาษาที่ง่าย ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพียงเท่านี้การมัดใจลูกค้าก็เป็นเรื่องง่ายแล้ว