วัฒนธรรมองค์กร เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างทีมในแต่ละองค์กรให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันหลายคนก็มักจะตัดสินใจเลือกทำงานกับองค์กรที่มีวัฒนธรรมในแบบที่ตัวเองต้องการ และเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์การทำงานของตัวเองมากที่สุด
ดังนั้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในบริษัทให้แข็งแกร่งตั้งแต่วันแรกจึงถือเป็นอีกสิ่งสำคัญที่หลายธุรกิจต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในแต่ละองค์กรก็จะมีการวางแผนและวางกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในระยะยาวของบริษัท
ในวันนี้เราก็จะมาอธิบายให้ฟังว่า 7 รูปแบบวัฒนธรรมองค์กรนั้นมีอะไรบ้าง แล้วบริษัทของคุณกำลังเป็นแบบไหน หรือบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่คุณอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด?
1. Adhocracy Culture ชอบความเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย
- Adhocracy Culture คือ วัฒนธรรมองค์กรที่ชอบความเสี่ยงและกล้าได้กล้าเสีย เพราะองค์กรแบบนี้มักจะเป็นองค์กรที่เน้นไอเดีย ความสร้างสรรค์ แปลกใหม่ เพื่อที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาด
- วัฒนธรรมองค์กรแบบ Adhocracy Culture นี้มักจะพบในบริษัทสตาร์ทอัปและบริษัทเทคโนโลยี เช่น Google, Microsoft, Apple เป็นต้น
- ข้อดี – พนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรจะเป็นคนที่มี Energy สูง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไอเดียที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอยู่เสมอ และทางฝั่งองค์กรก็จะมีความโดดเด่นในตลาดนั้น ๆ เพราะมักจะเป็นผู้ริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ก่อนเจ้าอื่น ทำให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และบ่อยครั้งมักจะเป็นเจ้าตลาดได้
- ข้อเสีย – บางครั้งก็ทำให้องค์กรไม่สามารถโฟกัสไปที่การพัฒนาโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องคอยเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กันอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นที่หนึ่งในตลาด ทำให้การทำงานทุกอย่างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จนพนักงานบางคนก็ไม่สามารถรับมือกับการทำงานแบบนี้ได้
2. Clan Culture อยู่ด้วยกันแบบครอบครัว
- Clan Culture คือ วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่มีลำดับชั้น (Hierarchy) บ่อยครั้งจะรู้จักกันในชื่อ วัฒนธรรมองค์กรแบบ ‘ครอบครัว’ โดยพนักงานส่วนใหญ่จะเปิดกว้าง มีความเท่าเทียมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการพูดคุยสื่อสารกันแบบเป็นกันเองมากกว่าการมียศมีตำแหน่ง นั่นจึงทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความสบาย ๆ ไม่กดดันเท่าที่ควร
- วัฒนธรรมองค์กรแบบ Clan Culture มักจะพบในบริษัทขนาดเล็ก สตาร์ทอัป หรือธุรกิจที่ทำกันในครอบครัวด้วยกันเอง ตัวอย่างเช่น Tom’s of Maine (แบรนด์ย่อยของ Colgate), Redmond (Real Salt) และ Chobani (แบรนด์โยเกิร์ต)
- ข้อดี – มีความยืดหยุ่นสูง สามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน พนักงานตำแหน่งเล็ก ๆ ก็สามารถเข้าถึงพนักงานระดับสูงได้โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง พนักงานส่วนใหญ่จะเปิดกว้าง ทำงานด้วยความสนุก ทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ง่าย และมักจะมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในหมู่เพื่อนร่วมงาน
- ข้อเสีย – บางครั้งวัฒนธรรมแบบนี้ก็ทำให้บรรยากาศการทำงานสบายเกินไป จนอาจทำให้พนักงานรู้สึก Relax มากกว่าการทำธุรกิจ รวมถึงเมื่อพนักงานสนิทกันมาก ๆ อาจทำให้มีความเกรงใจจนไม่กล้าฟีดแบคกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำธุรกิจในระยะยาวได้
3. Customer-Focused Culture ลูกค้าต้องมาก่อน
- Customer-Focused Culture คือ วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นทำงานเพื่อประสบการณ์ของลูกค้าเป็นหลัก หรือ Customer Centric ลูกค้าต้องมาก่อนเป็นที่หนึ่ง ทำให้พนักงานที่มาทำงานในองค์กรลักษณะนี้จะต้องมีความเต็มใจในการบริการและสร้างความสุขให้ลูกค้าอยู่เสมอ
- วัฒนธรรมองค์กรแบบ Customer-Focused Culture มักจะพบในธุรกิจที่ทำงานด้านบริการเป็นส่วนใหญ่ เช่น Starbucks หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ
- ข้อดี – ในการทำงานแบบนี้ทำให้พนักงานมีทักษะการตัดสินใจ และมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี หรือทำในสิ่งที่จำเป็นที่ทำให้ลูกค้ามีความสุขไปพร้อม ๆ กับการสร้าง Customer Loyalty ปัจจัยสำคัญเพื่อทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ
- ข้อเสีย – เนื่องจากลูกค้ามักจะมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ทำให้พนักงานอาจถูกเพิกเฉยและลดความสำคัญไปในสภาพแวดล้อมการทำงานนั้น ๆ ได้
4. Hierarchy Culture มีลำดับชั้นชัดเจน
- Hierarchy Culture คือ วัฒนธรรมองค์กรที่มีโครงสร้างบริษัทแบบลำดับชั้น ทุกคนจะให้ความสำคัญกับเรื่องยศ ตำแหน่งในองค์กรแบบชัดเจน ซึ่งบริษัทแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่มักจะมีการใช้วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้
- วัฒนธรรมองค์กรแบบ Hierarchy Culture มักจะพบในองค์กรใหญ่ หรือองค์กรที่จะต้องรับมือกับความเสี่ยงตลอดเวลา เช่น องค์กรในอุตสาหกรรมน้ำมัน, แก๊ส, การเงิน, สุขภาพ และหน่วยงานราชการทั้งหมด เพราะต้องใช้การตัดสินใจจากผู้ที่มีอำนาจ และต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูงก่อนที่จะลงมือทำบางอย่าง ตัวอย่างองค์กร เช่น Wells Fargo, Goldman Sachs, Blue Cross Blue Shield, Chevron และ Shell
- ข้อดี – มีการแบ่งตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ ออกเป็นแผนกต่าง ๆ อย่างชัดเจน ทำให้พนักงานแต่ละคนก็โฟกัสการทำงานในหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี (ทำงานอยู่ในแผนกตัวเองเป็นหลัก) นอกจากนี้ ยังมีความชัดเจนในเรื่องของ Career Path ว่าตำแหน่งนี้อนาคตจะสามารถเติบโตไปเป็นตำแหน่งไหนในองค์กร ซึ่งเป็นวิธีการจัดการองค์กรที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งในองค์กรใหญ่ เพราะสามารถติดตามงานได้อย่างชัดเจน
- ข้อเสีย – เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นน้อย มีความซับซ้อนและล่าช้าในการทำงาน เช่น ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพราะการสื่อสารหรือการสั่งงานจะต้องผ่านลำดับขั้นมากมาย (สั่งจากบนลงล่าง) ถ้าสั่งงานแบบข้ามหัวกัน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น ความรู้สึกไม่ให้เกียรติหรือทำเกินหน้าที่ของตัวเอง ทำให้กลายเป็นการทำงานแบบ Silo Working ต่างคนต่างทำงาน นำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรแบบ Zombie Culture ที่พนักงานมี Fixed Mindset สูง พนักงานไม่ค่อยมีการสื่อสารกัน และไม่ค่อยทำงานอื่นนอกจากงานของตัวเอง
5. Market-Driven Culture มุ่งไปสู่ตลาดเท่านั้น
- Market-Driven Culture คือ วัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งสู่การเติบโตในตลาดโดยเฉพาะ โดยจะมีการตั้งเป้าหมายเพื่อเน้นให้ทุกคนสร้างผลลัพธ์และกำไรเป็นหลัก ทำให้องค์กรมีความคาดหวังต่อพนักงานสูง มีการวัด Performance ของพนักงานอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้พนักงานต้องมีความขยันและ Active อยู่ตลอดเวลา และบ่อยครั้งก็มีการแข่งขันในการทำงานสูง
- วัฒนธรรมองค์กรแบบ Market-Driven Culture มักจะพบในธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ (Industry Leader) เช่น Tesla, Amazon, General Electric รวมถึง Apple (ในสมัยของ Steve Jobs) เป็นต้น
- ข้อดี – บริษัทมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อที่จะเติบโตในตลาด ทำให้พนักงานทุกคนมีเป้าหมายมุ่งไปทางเดียวกัน และบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ในขณะเดียวกัน บริษัทก็สามารถปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว แถมวัฒนธรรมแบบนี้ยังโฟกัสเรื่องภายนอกองค์กร ทำให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและเทรนด์ในตลาดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
- ข้อเสีย – เมื่อองค์กรมีการวัดผลและวัด Performance ของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้พนักงานบางคนรู้สึกกดดันตัวเอง เหนื่อย เครียดสะสม และเกิดอาการ Burnout ได้ ซึ่งในองค์กรแบบนี้สามารถมีการให้รางวัลหรือผลตอบแทนเป็นการจูงใจหรือกระตุ้นพนักงานให้อยากทำงานมากขึ้นได้อีกด้วย
6. Innovative Culture เน้นไอเดียใหม่เพื่อการเติบโต
- Innovative Culture คือ วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นไปที่การคิดค้นไอเดียใหม่ล่าสุด เพื่อมาสร้างของใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน หรือในแบบที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน
- วัฒนธรรมองค์กรแบบ Innovative Culture มักจะพบในบริษัทที่ชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น Disney Imagineering, Pixar, P&G, Dell และอื่น ๆ
- ข้อดี – วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้มักจะมีการส่งเสริมให้พนักงานมีอิสระในการลองผิดลองถูก เพื่อหา Solution ที่ดีที่สุดอยู่เสมอ และค้นหาแนวทางแก้ไขที่ผู้อื่นอาจมองว่ามันยังคลุมเครือ ยังไม่ชัดเจน หรือยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรอยู่
- ข้อเสีย – เนื่องจากเป็นองค์กรที่ต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งวิธีคิด ทีม โครงสร้าง ผลิตภัณฑ์หรือบริการ พนักงานทุกคนจึงต้องมีความตื่นตัวและเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อตามให้ทัน รวมถึงการที่ต้องใช้ไอเดียหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมาอาจทำให้พนักงานจะต้องรับมือกับความเหนื่อยล้า ที่นำไปสู่อาการ Burnout ได้
- นอกจากนี้ ถ้าหากคนที่เข้ามาร่วมงานมี Fixed Mindset หรือมี Mindset ที่ไม่พร้อมต่อการตื่นตัวตลอดเวลา จะทำงานในองค์กรแบบนี้ได้ยาก บริษัทก็อาจจะเจอกับ Turnover Rate ที่สูง และอาจจะต้องโฟกัสกับการ Recruit คนมากเป็นพิเศษ รวมถึงการที่ต้องใช้ไอเดียหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมาอาจทำให้พนักงานจะต้องรับมือกับความเหนื่อยล้า ที่นำไปสู่อาการ Burnout ได้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
7. Creative Culture เน้นความแปลกใหม่เพื่อเปลี่ยนโลก
- Creative Culture คือ วัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์, บริการ หรือเรื่องราวที่แปลกใหม่ออกมา เพื่อเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงให้โลกได้รู้สึกถึงแนวคิดและประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม
- วัฒนธรรมองค์กรแบบ Creative Culture มักจะพบในองค์กรที่เกี่ยวกับความบันเทิง, รายการโชว์, ภาพยนตร์, โฆษณา เพื่อสร้างแรงจูงใจหรือกระตุ้นอะไรบางอย่างให้กับคนทั่วไป เช่น Disney Film, Paramount, Netflix, Warner Bros., และ HBO
- ข้อดี – พนักงานมักจะทำงานร่วมกันเป็นทีม และส่งเสริมไอเดียความคิดสร้างสรรค์ของกันและกันในทุก ๆ ขั้นตอน ทำให้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต่อกันยิ่งขึ้น รวมถึงผู้นำมักจะมีการปลูกฝังวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ยาวไกล พร้อมกับกระตุ้นให้พนักงานกล้าลองผิดลองถูก กล้าเสี่ยง เพื่อหาไอเดียที่ดีที่สุด
- ข้อเสีย – ยิ่งเป็นงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์หรือความแปลกใหม่มากเพียงใด ก็มักจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับพนักงานมากเท่านั้น และอาจทำให้เขาตกอยู่ในห้วงของความกังวลในระยะสั้นและยาวได้
สรุปทั้งหมด
แม้ว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีคือส่วนที่ยากที่สุดของการสร้างธุรกิจ แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย หากต้องการเป็นบริษัทที่ใหญ่และเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่งในหนึ่งองค์กรอาจไม่จำเป็นต้องมีวัฒนธรรมองค์กรเพียงแบบเดียวเท่านั้น แต่อาจนำวัฒนธรรมองค์กรในหลายรูปแบบมาผสานกันอย่างลงตัวก็ได้ เช่น บางที่อาจจะมีวัฒนธรรมองค์กรแบบ Adhoracy Culture ผสมกับ Clan Culture ซึ่งก็ช่วยเป็นรากฐานให้องค์กรเติบโตเป็นอย่างดีนั่นเอง
แล้วคุณล่ะ จะเลือกสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบไหน?