หลังจากที่ Twitter ได้ทำการประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ Spaces ฟีเจอร์ใหม่เพื่อแข่งขันกับ Clubhouse ในรูปแบบของฟีเจอร์สำหรับการสนทนาด้วยเสียง (Live Audio) ไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Twitter ก็ได้เพิ่มลูกเล่นให้ฟีเจอร์ Spaces มีความน่าสนใจมากขึ้น
ด้วยการเปิดตัวอีกหนึ่งฟีเจอร์ย่อยอย่าง ‘Ticketed Spaces’ ซึ่งเป็นฟีเจอร์จำหน่ายตั๋วในการเข้าห้อง Spaces สำหรับการเข้าไปรับฟังคอนเทนต์แบบ Exclusive ที่ครีเอเตอร์มีความประสงค์ที่จะเก็บค่าเข้าห้อง Spaces ที่สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้
โดยฟีเจอร์ Ticketed Spaces นี้ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการเพิ่มจำนวนตัวเลขผู้ใช้งานของ Twitter ที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และยังเป็นการดึงดูดให้เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งหลาย หันมาใช้พื้นที่แพลตฟอร์มของ Twitter ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์กันมากขึ้นด้วย
แต่รายละเอียดทั้งหมดของฟีเจอร์ Ticketed Spaces ของ Twitter และเบื้องหลังที่มาของฟีเจอร์ จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปติดตามต่อได้เลย
Ticketed Spaces คืออะไร ?
Ticketed Spaces คือฟีเจอร์ที่อนุญาตให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์บน Twitter รับหน้าที่เป็นโฮสต์ ขายตั๋วเพื่อให้ผู้ใช้งานได้สิทธิ์เข้าห้อง Spaces แบบเอ็กซ์คลูซีฟ เป็นโมเดลในการสร้างรายได้ให้แก่คอนเทนต์ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์มของ Twitter
ซึ่งห้อง Spaces ที่ว่านี้ก็คือฟีเจอร์ของ Twitter โดยลักษณะการใช้งานจะเป็นการสนทนาด้วยเสียงแต่เพียงอย่างเดียว (Live Audio) เป็นฟีเจอร์ที่ Twitter สร้างขึ้นมาเพื่อใช้แข่งขันกับ Clubhouse ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา อีกทั้งลักษณะการใช้งานก็เหมือนกับ Clubhouse เกือบทุกประการ
โดยทาง Twitter ก็ได้มีการทดลองใช้งานฟีเจอร์ Ticketed Spaces กับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อทดสอบการใช้งานจริงขอฟีเจอร์นี้ไปบ้างบางส่วนแล้ว ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ในช่วงเดือนกันยายนที่กำลังจะถึงนี้ Twitter จะเริ่มทำการขยายกลุ่มตัวอย่างทดลองใช้ ไปยังกลุ่มผู้ใช้งาน Twitter บนระบบ iOS นำร่องก่อนเป็นขั้นตอนต่อไป (Android ยังต้องรอต่อไป)
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุก Account จะสามารถหารายได้จากฟีเจอร์ Ticketed Spaces ได้ เพราะทาง Twitter ได้กำหนดกฎไว้ชัดเจนว่า การที่ครีเอเตอร์จะใช้งานฟีเจอร์ Ticketed Spaces เพื่อสร้างรายได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ต้องเป็น Account ที่ผู้ติดตาม (Followers) เกิน 1,000 คน
- ครีเอเตอร์ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- ต้องเป็นครีเอเตอร์ที่ใช้งานฟีเจอร์ Spaces (สร้างห้องสนทนา) มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งใน 1 เดือน
ถ้าครีเอเตอร์คนใดที่มีคุณสมบัติครบตามนี้ ก็สามารถใช้งานฟีเจอร์ Ticketed Spaces สร้างรายได้เข้ากระเป๋าตัวเองได้ทันที
ส่วนเรื่องราคาของตั๋ว Ticketed Spaces นั้นทาง Twitter ก็มอบสิทธิ์ให้ครีเอเตอร์เป็นผู้กำหนดราคาตั๋วได้ตั้งแต่ 1-999 ดอลลาร์สหรัฐ (เงินไทยราว 32 - 32,400 บาท) โดย Twitter จะขอส่วนแบ่ง 3% จากราคาตั๋วที่มีผู้ใช้งานกดซื้อแต่ละครั้ง หรือเท่ากับครีเอเตอร์จะได้รายได้ไป 97% จากราคาตั๋วที่กำหนด แต่ถ้าครีเอเตอร์คนใด ที่สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่าย Tickted Spaces ได้เกิน 50,000 ดอลลาร์ในเดือนเดียว จะหักค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 3% เป็น 20%
และในช่วงแรกซึ่งเป็นเวอร์ชันทดลองของ iOS อาจจะต้องเสียธรรมเนียมเพิ่มอีก 30% เนื่องจากนโยบายร้านค้าของ Apple แต่ก็ถือว่าครีเอเตอร์ก็ยังสามารถสร้างรายได้ สร้างกำไรจากการใช้งาน Ticketed Spaces จากผู้ใช้งาน Twitter ทั่วโลกได้ โดย Twitter เคลมไว้เลยว่าอย่างน้อยครีเอเตอร์ได้เงินเข้ากระเป๋า 67% จากค่าตั๋ว Ticketed Spaces แต่ละใบแน่นอน
รวมถึงครีเอเตอร์ยังสามารถกำหนดได้ด้วยว่าจะจำหน่ายตั๋ว Ticketed Spaces ทั้งหมดจำนวนกี่ใบ หรือพูดง่าย ๆ ว่าสามารถกำหนดจำนวนผู้เข้าฟังในห้อง Spaces ที่คุณต้องการได้
และถ้าครีเอเตอร์คนไหนที่จะกำลังจะใช้งานฟีเจอร์ Ticketed Spaces ก็สามารถ Schedule กำหนดเวลาเปิดห้อง Spaces ล่วงหน้าได้ แล้วนำลิงก์นั้นไปโปรโมตลงในช่องทางส่วนตัวของตนเองก่อน เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานให้รู้ว่าเรากำลังจะมีการสนทนาในห้อง Spaces แบบ Exclusive วันและเวลาไหน, Topic เรื่องอะไร ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์มากขึ้น
ซึ่งฟีเจอร์ Ticketed Spaces ถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่กว่าคู่แข่งในบริการเดียวกันอย่าง Clubhouse ที่มีฟีเจอร์ในการให้ Tips แก่ครีเอเตอร์ (Clubhouse Payment) เพราะในฝั่งของ Ticketed Spaces นั้นไม่ใช่แค่ทิป แต่เป็น “รายได้จริง ๆ” ที่มาจากการเข้าห้อง Spaces ของผู้ติดตามของเรา
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สร้างกระแสให้ Twitter เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเหล่าครีเอเตอร์ที่แท้จริง ด้วยการให้ความสำคัญด้านการสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์มากขึ้น แต่เบื้องหลังของฟีเจอร์ Ticketed Spaces ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะนี่คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Twitter สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง …
Ticketed Spaces หนึ่งในกลยุทธ์ที่ Twitter กำลังจะใช้ในการสร้างการเติบโต
แม้ดูผ่าน ๆ Ticketed Spaces เหมือนเป็นเพียงแค่โมเดลในการสร้างรายได้ให้แก่ครีเอเตอร์ ซึ่งก็เหมือนกับ Subscription Model แพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น OnlyFans และถ้ายังจำกันได้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Twitter ก็เพิ่งจะประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ Super Follow อนุญาตให้เจ้าของ Account สามารถเก็บเงินจากผู้ติดตามในการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก แลกกับการได้ดูเนื้อหาหรือคอนเทนต์พิเศษ
โดยทั้ง Super Follow และ Ticketed Spaces ก็เป็นฟีเจอร์ที่สร้างรายได้ให้แก่ครีเอเตอร์ที่ Twitter ออกแบบขึ้นมาในปีนี้เหมือนกันทั้งคู่ แต่ความเป็นจริงแล้ว 2 ฟีเจอร์นี้คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่ Twitter เตรียมจะใช้สร้างการเติบโตในปีนี้
ซึ่งตัวเลขที่ Twitter ต้องการคือ เพิ่มเวลาการใช้งานของ Users บนแพลตฟอร์มและดึงดูดผู้ใช้งานให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (2021) นักวิเคราะห์หลายสำนักได้ออกมาคาดการณ์ร่วมกับ Twitter ถึงการเติบโตของแพลตฟอร์ม โดย Twitter เองตั้งเป้าไว้ว่าภายในระยะเวลา 3 ปีพวกเขาจะต้องเพิ่ม Monetizable Daily Active Users (mDAU) ให้แตะหลัก 315 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งจากตัวเลขในเดือนสิงหาคมนี้ Twitter มียอด mDAU 199 ล้านคน เท่ากับ Twitter ต้องเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอีก 116 ล้านคนภายใน 3 ปี ถึงจะแตะเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้
* Monetizable Daily Active Users (mDAU) คือ หลักจำนวนตัวเลขผู้ใช้งานของ Twitter ที่จะนับเฉพาะบัญชีที่มีการ Active อยู่ในแพลตฟอร์ม ไม่นับบัญชีปลอม แอคหลุม บัญชีขยะที่ไม่มีการ Active ซึ่งจะทำให้ Twitter ได้ตัวเลขผู้ใช้งานที่ใช้งานแพลตฟอร์มจริง ๆ จะทำให้บริษัทมองเห็นภาพการเติบโตได้ชัดเจนกว่า
แต่การเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานได้ถึงหลัก 100 ล้านได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เพราะย้อนกลับไป 4 ปีหลังสุด (2017-2020) Twitter เพิ่มผู้ใช้งาน (mDAU) ได้เพียง 83 ล้านคนจากทั่วโลกเท่านั้น ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็มีปรากฏการณ์ที่ช่วยให้ Twitter เพิ่มผู้ใช้งานได้แบบโชคช่วยตลอด เช่น Donald Trump อดีตประธานาธิบดีสหรัฐที่จะใช้ Twitter ในการประกาศนโยบายต่าง ๆ หรือสื่อสารกับประชาชน, Elon Musk ซีอีโอของ Tesla ที่ชอบใช้ Twitter ในการ Tweet ข้อความต่าง ๆ จนกลายเป็นไวรัลทั่วโลก
ดังนั้นในปัจจุบัน Twitter เลยต้องการหาจุดยืนที่จะสามารถเพิ่มผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มได้ด้วยตัวเอง ซึ่งกลยุทธ์ที่ Twitter เล็งเห็นก็คือการดึงดูดเอาเหล่า Influencer หรือ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่มีผู้ติดตาม ให้มาอยู่ในแพลตฟอร์มของตน
แล้วกระตุ้นให้ Influencer และครีเอเตอร์ เหล่านั้นเริ่มมาสร้างคอนเทนต์แบบ Exclusive ในแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยแลกกับ “รายได้” จากค่าตั๋ว Ticketed Spaces หรือค่า Subscription Super Follow เพื่อดึงให้ผู้ติดตามของครีเอเตอร์ เริ่มมาใช้งาน Twitter เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้แพลตฟอร์มได้ตัวเลขผู้ใช้งาน (mDAU) เพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง
สรุปทั้งหมด
สำหรับฟีเจอร์ Ticketed Spaces ก็คงเหมือนกับฟีเจอร์อื่น ๆ ของ Twitter ที่จะเริ่มทดลองระบบกับกลุ่มประเทศตัวอย่างก่อน แล้วจึงเปิดตัวในประเทศไทย แต่คาดการณ์ว่าไม่เกินช่วงปลายปีนี้ ครีเอเตอร์ในไทยน่าจะสามารถใช้งาน Ticketed Spaces ได้ (Spaces เปิดให้บริการแล้ว)
เรียกได้ว่าการออกฟีเจอร์ Ticketed Spaces ขึ้นมาในครั้งนี้ เมื่อรวมกับการเปิดตัว Super Follow แข่งกับ OnlyFans เมื่อเดือนก่อน รวมทั้งเปิดตัว Spaces เพื่อแข่งขันกับ Clubhouse เมื่อต้นปี คงเป็นสัญญาณสุดร้อนแรงจาก Twitter ในการสร้างการเติบโต เพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้แตะหลัก 315 ล้านคน ตามเป้าหมายของบริษัท ด้วยการให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์มากขึ้น
แล้ว Twitter จะปล่อยฟีเจอร์เด็ด ๆ อะไรออกมาเพื่อสร้างการเติบโตอีกนั้น นี่คือสิ่งที่ผู้รักในเทคโนโลยีและการเติบโตอย่างเรา ต้องติดตามแบบห้ามกะพริบตา