ถือเป็นข่าวดีของเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งหลายเมื่อล่าสุดทาง Twitter ได้ทำการประกาศกฎการใช้งานของฟีเจอร์ใหม่อย่าง Super Follow ที่เป็นฟีเจอร์สำหรับการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์มแบบ Subscription Model ที่จะให้ครีเอเตอร์เรียกเก็บเงินจากผู้ติดตามที่ต้องการเข้าถึงเนื้อหาของคอนเทนต์แบบพิเศษ
สำหรับ Super Follow ทาง Twitter ได้ทำการพัฒนาไอเดียนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อหวังให้ฟีเจอร์นี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ของเหล่าครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม หรือครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่ต้องการลุยตลาดแพลตฟอร์ม Twitter
โดยกฎระเบียบที่ Twitter เริ่มออกร่างมาคร่าว ๆ สำหรับฟีเจอร์นี้ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นกฎการใช้งานพื้นฐานและกฎในการเปิดบัญชีสร้างรายได้ ซึ่งถือว่าเป็นการตอกย้ำว่า Twitter เอาจริงแน่นอนกับการพัฒนาฟีเจอร์นี้ให้เหล่าครีเอเตอร์ใช้งานได้จริงภายในปีนี้ และยังเป็นการแข่งขันกับแพลตฟอร์มออนไลน์แบบ Subscription Model ตัวอื่น ๆ ในตลาดอย่าง OnlyFans, Patreon
แต่รายละเอียดทั้งหมดของฟีเจอร์ใหม่จาก Twitter อย่าง Super Follow จะมีอะไรที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อเหล่าครีเอเตอร์บ้าง The Growth Master สรุปมาให้คุณแล้ว
Super Follow คืออะไร ? รู้จักกับฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดของ Twitter ให้มากขึ้น
Super Follow คือฟีเจอร์ใหม่ในรูปแบบ Subscription Model ของ Twitter ที่อนุญาตให้เจ้าของ Account สามารถเก็บเงินจากผู้ติดตามในการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก แลกกับการได้ดูเนื้อหาหรือคอนเทนต์พิเศษ ที่ผู้ใช้งาน Twitter ทั่วไปที่ไม่ได้จ่ายเงินสมัครสมาชิก จะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงคอนเทนต์ดังกล่าวเด็ดขาด
นอกจากสิทธิ์ในการเห็นคอนเทนต์พิเศษของครีเอเตอร์แต่ละคนแล้ว ทาง Twitter ยังให้สิทธิ์ครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมฟีเจอร์ Super Follow ในการสร้าง Community (กลุ่มสังคมผู้ใช้งานที่มีความสนใจในลักษณะเนื้อหาเดียวกัน) ของตนเองบนแพลตฟอร์มได้ด้วย โดย Twitter ตั้งเป้าหมายไว้ให้แพลตฟอร์มของตนเองเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสังคมออนไลน์
หนึ่งในแผนการนั้นของ Twitter ที่ดูเป็นรูปเป็นร่างที่สุดก็คือการพัฒนาฟีเจอร์ Spaces ที่เป็นฟีเจอร์สำหรับการสนทนาด้วยเสียงที่ถอดแบบมาจากแอปพลิเคชัน Clubhouse ซึ่งเริ่มให้ทดลองในระบบ Android ไปเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ (ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ทีมพัฒนาของ Twitter กำลังลงมือพัฒนาฟีเจอร์ Super Follow ด้วย) และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (4 มิถุนายน) Twitter ก็กำลังเริ่มทดลองการใช้งานฟีเจอร์ Spaces บน iOS แล้วเช่นกัน โดยมีการคาดการณ์กันว่าฟีเจอร์ Spaces นี้เองก็จะเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิพิเศษสำหรับ Account ที่ใช้งานฟีเจอร์ Super Follow ในการสร้างกิจกรรมสำหรับ Community นั้น ๆ
ส่วนราคาของผู้ที่จะสมัครเป็น Super Follow ของ Account ที่เราสนใจตอนนี้ทาง Twitter ยังไม่มีการประกาศราคาค่าสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการออกมา แต่สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่าน่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 4.99 ดอลลาร์/เดือน (เงินไทยประมาณ 150 บาท/เดือน) แถมสำหรับครีเอเตอร์คนไหนที่ต้องการหารายได้เพิ่มอีก ทาง Twitter ก็อนุญาตให้ครีเอเตอร์สร้าง Paywall หรือการเก็บเงินเพิ่มสำหรับคอนเทนต์พิเศษบางอย่างได้อีกด้วย เรียกได้ว่า Twitter ออกแบบรายละเอียดด้านการเงินของฟีเจอร์นี้ เอาใจเหล่าครีเอเตอร์สุด ๆ
ซึ่งในมุมของผู้ใช้งาน หลังจากที่คุณตัดสินใจสมัครสมาชิก Super Follow กับ Account ที่คุณสนใจแล้ว ทาง Twitter จะให้สิทธิ์การเข้าถึงพื้นฐานต่าง ๆ ดังนี้
- Exclusive Content : สิทธิ์การเข้าถึงเนื้อหาพิเศษของครีเอเตอร์คนนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ การ Retweet, การเผยแพร่ Fleet (Story บน Twitter)
- Subscriber Newsletters : สิทธิ์ในการเข้าถึงหรือได้รับแจ้งเมื่อครีเอเตอร์มีการแจ้งจดหมายข่าว
- Community Access : เป็นสิทธิ์ในการให้ครีเอเตอร์ที่มีบัญชี Super Follow สร้างกลุ่มเป็น Community ตามความสนใจเพื่อพูดคุยกับครีเอเตอร์และเพื่อนในกลุ่ม (คล้าย ๆ Facebook Group) โดยผู้ที่จะเข้าร่วมกลุ่มนั้นได้ ต้องชำระค่าบริการสมัครสมาชิกกับครีเอเตอร์คนนั้น ๆ
- Supporter Badge : สำหรับผู้ที่สมัครเป็น Super Follow ของครีเอเตอร์ที่คุณสนใจจะสามารถได้รับตราสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า พวกคุณเป็น Super Follow ของครีเอเตอร์คนใด
ทาง CEO ของ Twitter อย่าง Jack Dorsey ได้ออกมาเปิดเผยว่า การพัฒนาฟีเจอร์ Super Follow ถือเป็นแนวทางใหม่ขององค์กร ที่กำลังทดลองหาแนวทางการสร้างรายได้ ซึ่งหนึ่งในแผนนั้นคือการเก็บเงินค่าสมาชิกแบบ Subscription Model เพราะต้องยอมรับว่าจากวิกฤตโควิด-19 Twitter มีรายได้จากค่าโฆษณาลดลง
โดยการเข้ามาของฟีเจอร์ Super Follow จะทำให้ผู้ใช้งาน Twitter คนไหนที่ชื่นชอบบุคคลที่มีชื่อเสียง, ครีเอเตอร์ ไปจนถึงสื่อ สำนักข่าวต่าง ๆ ได้มีโอกาสในการสนับสนุนพวกเขาให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมา รวมถึงฟีเจอร์นี้ยังเป็นโอกาสดีที่จะทำให้คุณได้พบเจอกับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ที่มีความชอบ ความสนใจในเรื่องเดียวกับคุณ เรื่องนี้ต้องชมทาง Twitter ที่พวกเขาสามารถออกแบบให้การใช้พื้นที่สังคมในโลกออนไลน์เพื่อการนำไปสู่การได้พบเจอกับสังคมใหม่ ๆ ในชีวิตจริง
รู้ก่อน เป็นก่อน! กฎของฟีเจอร์ Super Follow มีอะไรที่คุณต้องทราบบ้าง ?
สำหรับเรื่องของกฎระเบียบการใช้งานของฟีเจอร์ Super Follow นั้นต้องบอกเลยว่าหากใครที่เคยใช้บริการ Subscription Model ของแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Netflix, Spotify, Youtube Premium หรือแพลตฟอร์มที่เป็น Subscription Model โดยเฉพาะอย่าง OnlyFans, Patreon มาบ้าง น่าจะพอเข้าใจหลักการทำงานของฟีเจอร์นี้ครับ คือคุณต้องเสียค่าบริการเป็นรายเดือนทุกเดือน (ยกเลิกเดือนไหนก็ได้) เพื่อสิทธิ์ในการเข้าถึงคอนเทนต์พิเศษของครีเอเตอร์คนนั้น ๆ
แต่ต้องเรียนให้ทราบว่าตัวฟีเจอร์ Super Follow ของ Twitter นั้น ณ ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเปิดให้ใช้บริการ เลยทำให้หลายคนอาจจะนึกหน้าตาของฟีเจอร์นี้ไม่ออก ว่ามันจะแตกต่างจาก Twitter แบบปกติอย่างไร ซึ่งล่าสุดทาง Jane Manchun Wong ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการ Social Media ก็ได้ทำการเผยแพร่รูปร่างหน้าตา UI ของฟีเจอร์ Super Follow พร้อมเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกการใช้งาน ที่ทาง Twitter หลุดออกมาดังนี้
สำหรับครีเอเตอร์ที่จะสามารถเริ่มการสร้างรายได้ผ่านฟีเจอร์ Super Follow ได้นั้น อย่างแรกคุณจะต้องมีผู้ติดตามใน Account ของคุณอย่างน้อย 10,000 คน และต้องมีการโพสต์บนคอนเทนต์ Twitter ไม่น้อยกว่า 25 ครั้งในช่วง 30 วัน (ยังไม่ชัดเจนว่ารวมการ Retweet ด้วยไหม หรือนับแค่การโพสต์คอนเทนต์, สเตตัส อย่างเดียว) และสุดท้ายคือครีเอเตอร์ต้องมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิ์ในการเปิดโหมดการสร้างรายได้บน Super Follow ได้
ซึ่งทางฝั่งของครีเอเตอร์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กล่าวไป เมื่อทำการเปิดใช้งาน Super Follow ทางระบบของ Twitter จะอนุญาตให้คุณเลือกนิยามของเนื้อหาคอนเทนต์ (Content Category) ตัวเอง เช่น แฟชั่น, กีฬา, พอดแคสต์, ตลก, ศิลปะและอื่น ๆ รวมไปถึงหมวดหมู่ที่สร้างความน่าสนใจให้ฟีเจอร์นี้ขึ้นมาทันทีอย่าง Adult Content หรือคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ ที่เรียกได้ว่าเป็นการสกัดดาวรุ่งของตลาดด้านนี้อย่าง OnlyFans แบบเต็มตัว แต่ต้องมาดูกันว่าถ้าฟีเจอร์นี้เปิดใช้งานจริงและคอนเทนต์ประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในบ้านเราจะถูกสั่งเก็บ (ปิดการมองเห็น) เหมือนกับกรณีของ PornHub หรือเปล่า
มีการคาดการณ์เพิ่มเติมสำหรับ Super Follow ว่ามีความเป็นไปได้ว่าถ้ามีเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานดี ทาง Twitter ก็พร้อมที่จะสร้างเป็นแอปพลิเคชัน Super Follow แยกออกมาต่างหากเลย ไม่ให้ปะปนกับแอปพลิเคชัน Twitter หลัก เพื่อป้องกันความสับสน โดยทาง Jane Manchun Wong ก็ได้แนบหน้าตา UI แบบคร่าว ๆ ทั้งหมดของฟีเจอร์ Super Follow มาให้ทุกคนได้ดูกันก่อนด้วย
โดยสำหรับกำหนดการในการเปิดตัวฟีเจอร์ Super Follow นั้นทาง Twitter ยังไม่ได้มีการเคาะวันที่แน่นอนออกมา แต่เชื่อว่าด้วยทรัพยากรที่ Twitter มีอยู่ ณ ตอนนี้ Twitter อาจสร้างเซอร์ไพรซ์ปล่อยฟีเจอร์ Super Follow มาได้เร็วกว่าที่คิด โดยเฉพาะขุมกำลังของ CEO อย่าง Jack Dorsey ที่มีธุรกิจของตัวเองอย่าง Square ธุรกิจที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ Financial Service Technology ที่น่าจะเข้ามาจัดการเรื่องของระบบการจ่าย ชำระเงิน ของฟีเจอร์นี้แน่นอน ทำให้ทาง Twitter ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการพัฒนาฟีเจอร์นี้มากนัก เป็นข่าวดีสำหรับครีเอเตอร์หลายคนที่เฝ้ารอคอยฟีเจอร์นี้อยู่
นอกจากนั้น Jack Dorsey ยังเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันสตรีมเพลงอย่าง Tidal อีกด้วย อ่านเรื่องราวนี้เต็ม ๆ ได้ที่บทความ >> สาเหตุอะไรที่ทำให้ Jack Dorsey ซีอีโอของ Twitter เข้าซื้อกิจการ Tidal แอปพลิเคชันสตรีมเพลงชื่อดัง
สรุปทั้งหมด
ถือว่าการสร้างฟีเจอร์ Super Follow ของ Twitter คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่พวกเขาจะเริ่มติดเครื่อง สร้างการเติบโตในปีนี้ เพราะจากการคำนวณที่ทาง Twitter ได้ลองคิดมาหากค่าบริการอยู่ที่เดือนละ 4.99 ดอลลาร์ การใช้กลยุทธ์นี้จะทำให้ในปี 2023 พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ประมาณค่าอยู่ที่ 7,500 ล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่มีรายได้ทั้งหมดเพียง 3,700 ล้านดอลลาร์)
และยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของ Twitter ที่ต้องการจะเข้ามาเป็นพื้นที่สำหรับครีเอเตอร์อย่างแท้จริง เพราะมีการสร้างช่องทางที่จะทำให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้ได้จริง ด้วยการทำคอนเทนต์พิเศษ รวมไปถึงฟีเจอร์ตัวอื่น ๆ ที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนาเช่น Tip Jars ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถส่ง Tips ให้แก่ผู้ใช้งานคนไหนก็ได้ ที่สร้างคอนเทนต์ได้ถูกใจอีกด้วย
คงต้องมารอดูกันยาว ๆ ว่าฟีเจอร์ Super Follow ของ Twitter จะสร้างความน่าสนใจให้แก่วงการโซเชียลมีเดียโลกได้แค่ไหน และ Twitter จะเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่แพลตฟอร์มเพื่อครีเอเตอร์ได้จริงหรือ ไม่เกินปีนี้คำตอบคงชัดเจนขึ้น