การพัฒนาบุคลากรให้ก้าวไปสู่ยุคโทคโนโลยี AI ได้อย่างราบรื่น หากขาดปัจจัยสำคัญที่เรียกว่าทักษะ ‘Soft Skills’ ไป ก็อาจทำให้บุคลากรไม่สามารถดึงศักยภาพในตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผลสำรวจจาก Linkedin (บริษัทจัดหางานระดับโลก) ชี้ให้เห็นชัดว่าองค์กรกว่า 92% ทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับทักษะ Soft Skills เช่นกัน
หากมองในแง่มุมของ ‘การสร้างธุรกิจในยุคปัจจุบัน’ เพื่อให้เติบโตเท่าทันยุคเทคโนโลยี AI ทางองค์กรเองก็ต้องพร้อมรับมืออยู่เสมอ โดยเฉพาะธุรกิจด้านออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูง หากเทียบจากปี 2021 ที่ผ่านมาสถิติ พบว่า ผู้ใช้งานในประเทศไทย หันมาใช้ Social Media จากปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านคน (เติบโตขึ้นถึง 5.8%) เรียกว่าโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี AI ใหม่ ๆ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุกคนไปแล้วทั้งชีวิตประจำวันและการใช้งาน
Soft Skills ทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคเทคโนโลยี AI
เมื่อเข้าสู่ยุคที่ COVID-19 ระบาดหนักขึ้น ระบบเศรษฐกิจโดยรวมถูกกระทบ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหลาย ๆ แห่งจำเป็นต้องปรับตัว ส่งผลให้รูปแบบการทำงานของบุคลากรปรับเปลี่ยนไป จากเดิมที่สามารถทำงานและใช้ชีวิตได้ปกติ ก็ต้องหันมาปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม)
ดังนั้นหากมองในมุมของการพัฒนาทักษะในตัวบุคลากร (ให้เป็นไปตามความต้องการขององค์กร) นอกจากความชำนาญเฉพาะทางอย่าง Hard Skills ที่สามารถประเมินได้เป็นรูปธรรมแล้ว หากมี Soft Skills ทักษะทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมเข้ามาเสริม ก็จะช่วยให้บุคลากรสามารถ 'สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์กร' ชัดเจนยิ่งขึ้น
และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ เทคโนโลยี AI เข้ามาเป็นกำลังเสริมสำหรับยุคนี้ ก็เพราะการจ้างงานในยุค COVID 19 ได้ ‘ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้าง’ ให้เป็นการทำงานรูปแบบ Remote Working โดยใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาเป็นตัวกลางรับ-ส่งเนื้องานขององค์กร มากถึง 85% (สถิติจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้าน IT ระดับโลก)
เรียกว่าความพิเศษของวิวัฒนาการ AI มีบทบาทเข้ามาช่วยให้ทุก ๆ องค์กรก้าวไปอย่างรวดเร็ว และคงเป็นเรื่องดีไม่น้อย หากธุรกิจจะสร้างคุณภาพการทำงาน ด้วยเครื่องมือจากเทคโนโลยี AI ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
AI เข้ามามีบทบาทสำหรับองค์กร ด้านไหนบ้าง?
ด้วยสถิติจาก Semrush (แหล่งวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึก) ได้บ่งชี้ว่าเมื่อปี 2021 ผู้นำ (CEO) จากองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่า 86% เลือกใช้เทคโนโลยี AI เป็นหลักในการทำงาน ซึ่งมีองค์กรเพียงส่วนน้อยประมาณ 7% เท่านั้นที่ยังไม่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยี
หากยังไม่เห็นภาพว่า AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทกับธุรกิจด้านไหนบ้าง เราจะขอยกตัวอย่าง เช่น
- การทำงานร่วมกันของกลยุทธ์ทางการตลาดและเทคโนโลยี อย่าง Marketing Automation (การนำซอฟต์แวร์ เข้าช่วยวัดผลและจัดการข้อมูลทางการตลาดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น)
- Data Analysis เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมแก้ปัญหาด้านคุณภาพของชุดข้อมูลขนาดใหญ่ด้วย Machine Learning
- Chatbots เทคโนโลยีที่ทดแทนการโต้ตอบสื่อสารของฝ่าย ‘บริการ’ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งการอัปเดตเฟิร์มแวร์ในยุคปัจจุบัน ทำให้ Chatbots มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ (ผลสำรวจจาก Businesswire พบว่าผู้บริโภคนิยมใช้โปรแกรม Chat ในการสอบถาม-สั่งซื้อสินค้ามากถึง 65%)
คำถามคือ ตอนนี้คุณทราบหรือไม่ว่าระดับทักษะ Soft Skills ของแต่ละบุคคลในองค์กรนั้นอยู่ระดับไหน? และทักษะเหล่านี้จะเข้ามาส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่าง บุคลากรและเทคโนโลยี AI ได้อย่างไร เราจะมาเฉลยให้ได้ทราบมุมมองที่น่าสนใจผ่านเทรนด์เทคโนโลยี ปี 2022 นี้กัน
5 ทักษะ Soft Skills ปรับตัวรับเทรนด์เทคโนโลยี AI ปี 2022
1. Self-Management ทักษะที่จะช่วยสร้างระเบียบช่วง Work from Home
ด้วยการทำงานในรูปแบบที่ต้องเว้นระยะห่าง ทำให้ ‘เทรนด์ Work from Home’ เป็นวิธีการที่ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในองค์กร แต่ปัญหาคืออาจจะยังมีบางแห่งที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันที (ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละองค์กร) นั่นทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรไม่เต็ม 100% เท่าเดิม
ซึ่งหนึ่งในทักษะ Soft Skills ที่มีความจำเป็นต่อสถานการณ์ Work from Home ก็คือ Self-Management เพราะการทำงานแบบ Social Distancing อาจส่งผลให้แยกชีวิตระหว่างที่ทำงานกับชีวิตส่วนตัวออกจากกันไม่ได้ (เกิดความรู้สึกเหมือนทำงาน 24 ชั่วโมง)
Self-Management คือ ทักษะการบริหารตนเองด้วยหลักการ ‘พัฒนาและตระหนักรู้’ แก้ไขข้อบกพร่อง รวมถึงควบคุมชีวิตของตนเองให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ โดยเทคนิคที่ทำให้การจัดการตนเองง่ายขึ้น นั้นก็คือ
- ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความเป็นอยู่ เช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์, หลับเพียงพอ รวมถึงมีสุขภาพจิตที่ดี (สมาธิช่วยให้พร้อมใช้ความคิดใหม่ ๆ ในการทำงานทุกวัน)
- ตระหนักรู้จุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อรู้ว่าลักษณะการทำงานแบบไหนที่ ‘เหมาะกับตนเอง’
- โฟกัสไปที่การเลือกทำ ‘ทีละอย่าง’ จะช่วยจัดระเบียบการทำงาน ให้เป็นไปตามลำดับยิ่งขึ้น
และเพื่อช่วยให้การใช้ทักษะดังกล่าวมีคุณภาพ เครื่องมือเทคโนโลยีอย่าง Tech Stack ก็ได้เข้ามาช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีระบบมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้การจัดระเบียบตาราง อย่าง ClickUp ที่ใช้งานง่าย ฟังก์ชันครบ ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นตัวช่วยในการ Work from Home
หรือหากทำงานเป็นทีม ซอฟต์แวร์อย่าง Coda.io ก็เหมาะสำหรับการวางแผน Roadmap ของแต่ละทีมในองค์กร (หากอยากทราบรีวิว และ Process การทำงานในรูปแบบ Work from Home ของทีม The Growth Master สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทความนี้)
และหากมองจากมุมขององค์กรที่ ‘ปรับตัวได้ดี’ เราจะขอยกตัวอย่าง Netflix หนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกไปเต็ม ๆ เพราะในช่วงที่ Covid-19 มีการระบาดช่วงปี 2020 แต่พวกเขากลับมีการเติบโตมากถึง 24% (ในปี 2019) ซึ่งช่วงเวลานั้นเอง Netflix ก็เป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ให้พนักงานสามารถ Work from Home ได้
ซึ่งนี่ก็พิสูจน์แล้วว่า ถ้าหากบุคลากรของพวกเขาไม่มี Soft Skills อย่าง Self-Management ก็อาจจะไม่สามารถทำให้องค์กรขับเคลื่อนในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2. Analytical Thinking ทักษะสำคัญที่ช่วยก้าวทันเทรนด์ Coding Literacy
เป็นที่แน่ชัดว่ายุคปัจจุบัน เทรนด์การเรียนรู้ Coding Literacy ไม่ควรอยู่แค่ในภาควิชาคอมพิวเตอร์ เรียกว่าเป็นทักษะจำเป็นที่บุคลากร ‘ทุกคน’ ควรมีติดตัวไว้ เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยี AI ในแบบที่ไม่ว่าจะเริ่มศึกษาตอนอายุเท่าไร ก็เป็นประโยชน์สำหรับการใช้ชีวิตและทำงาน
และหากพูดถึงการทำงานในสาย Coding (ที่เป็นทักษะแบบ Hard Skills) ก็ต้องบอกว่าทักษะ Soft Skills อย่าง Analytical Thinking นั้นมีความจำเป็นอันดับต้น ๆ เพราะทักษะนี้จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจกระบวนการในโลกธุรกิจและสามารถ ‘แยกองค์ประกอบของข้อมูล’ ได้อย่างละเอียดมากขึ้น
ซึ่ง Analytical Thinking คือ ทักษะในเชิง ‘คิดวิเคราะห์’ และหาจุดเชื่อมโยงจากองค์ประกอบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้ธุรกิจ ซึ่งเทคนิคที่ทำให้มีทักษะคิดวิเคราะห์ได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จะมีขั้นตอนคร่าว ๆ ดังนี้
- รวบรวมข้อมูล และ ตั้งคำถามอย่างลึกซึ้งในประเด็นสำคัญ ๆ
- ฝึกนำข้อมูลและแนวทางการแก้ปัญหาของธุรกิจไป ‘ทดสอบอย่างบ่อยครั้ง’ (Test possible solutions) ทั้งนี้ก็เพื่อชี้วัดให้เห็นโอกาสดี ๆ หรือปัญหาที่อาจมองข้ามในธุรกิจ (การทดสอบซ้ำ ๆ ก็เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับการทำ Growth Hacking )
- ระบุปัญหาให้ชัดเจนขึ้น เพื่อสานต่อไปยังการทำงานให้เป็นระบบ Work smart (ระบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์) เพื่อวิเคราะห์ต่อยอดแผนการทำงานต่อไป
และพื่อให้การสื่อสารระหว่าง 'มนุษย์กับคอมพิวเตอร์' เป็นไปอย่างราบรื่น ทักษะคิดเชิงวิเคราะห์ก็เหมาะกับการนำมาใช้ร่วมกับเครื่องมือเทคโนโลยี Coding อย่างมาก เพราะการ ‘เขียนชุดโปรแกรม หรือ ระบุคำสั่งในรูปแบบโค้ด’ ต้องใช้ความเข้าใจในภาษา AI อยู่พอสมควร
คงต้องบอกว่า Coding เป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ ‘ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด’ เพราะจะช่วยเปิดโอกาสให้ตัดสินใจ และขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูล (Data) ได้อย่างแม่นยำ เข้าใจวิธีคิด และจัดการกับเทคโนโลยีที่มีการอัปเดตระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกปีได้นั่นเอง
3. Active listening ทักษะที่ช่วยให้การเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เทรนด์การทำงานที่มีจุดประสงค์ให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมกัน ระหว่าง ‘มนุษย์ กับ มนุษย์’ อย่าง Collaborative Learning ถือว่าสำคัญ เพราะเทรนด์นี้จะช่วยปรับสมดุลให้เกิดแนวคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ หลายมิติขึ้น
ซึ่ง Soft Skills ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเทรนด์ Collaborative Learning นั้นก็คือทักษะ Active Listening เพราะหากต้องการพัฒนาผ่านการ ‘เรียนรู้ร่วมกัน’ ก็จำเป็นจะต้องมีทักษะการ ‘รับฟังมุมมองของผู้อื่น’ อย่างละเอียดลึกซึ้ง (ยิ่งถ้ามาจากหลาย ๆ อาชีพ ก็ยิ่งทำให้มุมมองการแก้ไขปัญหาแตกต่างวิธีกันออกไป)
เพราะฉะนั้นทักษะ Active Listening ที่ช่วยให้การรับฟังคนในทีมเป็นไปในแบบ ‘จับความรู้สึกคนอื่นได้’ ก็จะทำให้จัดการสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างรอบคอบ รวมถึงอาจจะเป็น ‘ที่ปรึกษา’ ให้กับเพื่อนร่วมทีม ซึ่งโดยรวมเทคนิคที่จะช่วยฝึกฝนทักษะการรับฟังของเราให้เป็นนิสัยได้นั้น ก็คือ
- ให้ความสนใจและรับฟังผู้ที่พูดอยู่ต่อหน้า ‘แบบไม่ตัดสิน’ สิ่งนี้จะช่วยให้สามารถสะท้อนสิ่งที่ฝั่งตรงข้ามกำลังอธิบายได้ชัดเจน
- มีทัศนคติที่เปิดกว้าง มีความยืนหยุ่นและมี Growth Mindset เป็นพื้นฐานที่ดีในการรับฟัง
- มีการทวนคำถามในเรื่องที่รับฟังอย่างเข้าใจ พร้อมร่วมเป็นที่ปรึกษาที่ดีในเวลาที่เหมาะสม
หากเป็นการทำงานแบบ Group Project หรือ Discussion Group แล้ว การที่มีเทคโนโลยีอย่าง Remote Work tools เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก, จัดสรรการทำงาน และสร้างแผนการเรียนรู้ต่าง ๆ ก็ยิ่งมีความจำเป็น (หากยังไม่มั่นใจว่าจะใช้ซอฟต์แวร์ตัวไหน เราขอแนะนำ Miro หนึ่งในซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้ทีมของคุณสามารถ Brainstorm เรียบเรียงไอเดียจากประเด็นต่าง ๆ สามารถอ่านได้ที่ บทความนี้)
ดังนั้นการมีเพื่อนที่ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ก็จะยิ่งทำให้เกิดความพยายามที่จะ “บรรลุเป้าหมาย” ถ้าสำเร็จ ก็จะแถมมาด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีม ส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้นตามลำดับ และหากมีทักษะ Soft Skills ที่กล่าวมาข้างต้น ไปพร้อมกับเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ก็จะยิ่งช่วยสรุปภาพการทำงานร่วมกันให้ชัดเจนขึ้นถึงสองเท่า
4. Communication อยากพัฒนาต้องสื่อสารในรูปแบบ Cross-Functional Team ให้เป็น
ปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรก็ได้เริ่มนำการทำงานรูปแบบ Cross-Functional Team เข้ามาใช้ เรียกว่าเป็นเทรนด์การทำงานที่รวมคนจากหลาย ๆ ทีม มาดำเนินการร่วมกันในโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่ง
เราขอยกตัวอย่าง บริษัทซอฟต์แวร์ เช่น Asana (ผู้ผลิตแพลตฟอร์มจัดการการทำงานรูปแบบออนไลน์) ที่ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ พร้อมกับนำการทำงานในรูปแบบ Cross-Functional มาใช้ เพราะ Asana เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่ต้องมีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานให้เร็วที่สุด
จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บุคลากรของพวกเขาหรือแม้กระทั่ง Software Engineer เอง ก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจใน ‘การสื่อสารร่วมกัน’ เพื่อให้การทำงานในรูปแบบ Cross-Functional เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ดังนั้นการส่งเสริมให้บุคลากรในแต่ละทีม สามารถสื่อสารด้วยทักษะ Soft Skills อย่าง Communication ได้อย่างชำนาญ ก็จะทำให้เกิดวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน ซึ่งหากคนในทีมที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ถนัดด้านสื่อสาร และต้องการจะฝึกฝนเพิ่มเติม ก็สามารถเริ่มต้นได้จากปัจจัยเหล่านี้
- ฝึกการวางพื้นฐาน Storytelling สามารถเชื่อมโยงเรื่องต่าง ๆ ให้ออกมาน่าฟัง และทำให้ผู้ฟังเข้าใจประเด็นสำคัญง่ายขึ้น
- ฝึกนำเสนอผ่านบทสนทนา ถาม-ตอบ (ใช้เอกสารประกอบความเข้าใจได้)
- ทำความเข้าใจ ‘ผู้ฟัง’ สร้างความไว้วางใจก่อนที่จะสื่อสารออกไป เพื่อลดโอกาสเกิดความเข้าใจผิดระหว่างทีม
- Body Language ภาษากายที่แสดงออกพร้อมกับสบตาผู้ฟังในขณะที่สื่อสารออกไป จะช่วยแสดงถึงความใส่ใจในบทสนทนาจริง ๆ
- ฝึกเจรจาต่อรองในบางสถานการณ์ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นไปด้วยความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
คงต้องบอกว่าการไม่ละเลยความสำคัญของ ‘การสื่อสารให้มีคุณภาพ’ ไม่ว่าจะเป็นตัวต่อตัว, ระหว่างทีม หรือการทำงานผ่านเครื่องมือซอฟต์แวร์เทคโนโลยีต่าง ๆ ทักษะ Communication Skills ก็ถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่ทำให้การทำงานระหว่างทีมเห็นภาพตรงกันที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจนั่นเอง
5. Time Management ทักษะการจัดการเวลา รวดเร็ว แม่นยำ ด้วยระบบ HyperAutomation
เทรนด์ HyperAutomation คือเทคโนโลยีอัตโนมัติ ที่เข้ามาช่วย ‘ซัพพอร์ตขั้นตอนการทำงาน’ ในรูปแบบ Multitasking ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ผ่านมา เทรนด์ HyperAutomation ได้เริ่มนำมาปรับใช้เรื่อย ๆ ในหลายองค์กร (จากรายงานของ Gartner ก็แสดงให้เห็นถึงการเติบโต)
ดังนั้นบุคลากรที่มีทักษะ Soft Skills อย่าง Time Management เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ก็จะทำให้การวางแผน, กำหนดระยะเวลา จัดการหรือทำงานร่วมกับเครื่องมือ AI เป็นไปอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นมืออาชีพ
ซึ่งปัจจัยที่จะสร้างความสมดุลให้กับทักษะ Time Management ก็คือ
- การจัดการเวลาที่เหมาะสม มักเริ่มต้นจาก ‘การพักผ่อนและนอนอย่างมีคุณภาพ’ (ซึ่งสิ่งที่คุณไม่เคยนึกถึงอย่างการลดเวลาใช้ Social Media ก็จะช่วยทำให้สมองได้หยุดพักผ่อนเช่นกัน)
- การจัดตารางงาน Schedule, บันทึกโปรเจกต์ต่าง ๆ ช่วยทำให้มองเห็นภาพกว้างขึ้น และลำดับความสำคัญได้อย่างถูกต้อง
- พิจารณางานที่แทรกเข้ามาอย่างกะทันหัน ด้วยการเลือกทำงานที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดก่อน
- ประเมินและปรับปรุงผลงานอยู่เสมอ จะช่วยให้โปรเจกต์ถัดไปยิ่งมีประสิทธิภาพ
เพราะหากบุคลากรเรียนรู้ที่จะจัดการเวลาให้เป็นไปตามระบบพร้อม ๆ กับใช้เครื่องมือจากเทคโนโลยี HyperAutomation ก็จะยิ่งทำให้ขั้นตอนการทำงาน ไม่มีความผิดพลาด รวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดไปโดยอัตโนมัติ
สรุปทั้งหมด
ปัจจุบันการทำงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์สูงสุดสำหรับ ‘ยุคเทคโนโลยี AI’ นั้น หลายธุรกิจจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับทักษะ Soft Skills ไม่แพ้ความชำนาญเฉพาะทางอย่าง Hard Skills และยังปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี AI มีการพัฒนา ก้าวล้ำ และจดจำการทำงานของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา ทำให้เงื่อนไขสำหรับการจ้างบุคลากร หรือ แม้กระทั่งฝ่ายผู้บริหารระดับสูง ๆ เอง ก็ยังต้องมีทักษะ Soft Skills ในระดับที่มั่นคง เพื่อที่องค์กรจะสามารถปรับตัวและรับมือได้เท่าทันยุคที่ทุกอย่างเป็น ‘ดิจิทัล’
ดังนั้นทักษะ Soft Skills จะกลายเป็นคุณค่าสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตได้ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะ The Growth Master มีความเชื่อว่า “การเรียนรู้นั้นไม่มีสิ้นสุด” ทุกคนสามารถเริ่มต้นใหม่ ต่อยอดสิ่งเก่าที่เคยรู้ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโลกของ AI ได้ด้วย Growth Mindset ที่ดีนั่นเอง :-)