ในช่วงนี้ก็เริ่มได้ยินข่าวคราวของบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกที่เริ่มทยอยให้พนักงานกลับเข้าสู่ออฟฟิศได้แล้ว และพร้อมใจกันปรับโมเดลการทำงานเป็นรูปแบบใหม่ที่ให้พนักงานทำงานแบบ Hybrid Working หรือรูปแบบที่ให้พนักงานเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ ผสมกับการทำงานแบบทำงานที่บ้านและ Remote Working
อย่างเช่น Google ที่ได้เรียกตัวให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศในวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับโมเดลทำงานที่ออฟฟิศ 3 วัน และทำงานแบบ Remote Working อีก 2 วันต่อสัปดาห์ แต่ด้วยความที่ Google เป็นเทคโนโลยีระดับโลกที่ยืดหยุ่น พร้อมรับต่อการปรับตัวอยู่แล้ว ทำให้เขาอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เพราะงานทุกอย่างรันอยู่บนเทคโนโลยีและระบบ Cloud เป็นส่วนใหญ่
แต่สำหรับบริษัทไหนที่ต้องการปรับมาทำงานแบบ Hybrid Working แต่ยังมีระบบหรืออะไรหลาย ๆ อย่างไม่พร้อม ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในบริษัท เราก็อยากบอกว่าคุณต้องเริ่มปรับตัวได้แล้ว ซึ่งในบทความนี้ก็จะพาคุณไปดูว่ามีอะไรที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือสำหรับเทรนด์การทำงานแบบ Hybrid Working บ้าง?
Hybrid Working คืออะไร? ทำไมถึงเป็นเทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่หลายบริษัทนิยมใช้
Hybrid Working คือ การทำงานแบบผสมโดยที่บริษัทจะให้พนักงานสามารถทำงานทั้งจากที่ออฟฟิศและจากที่บ้านได้ แทนการทำงานที่ออฟฟิศอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งการทำงานแบบนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่กระจายไปทั่วโลก
เพราะหลาย ๆ บริษัทได้นำการทำงานแบบ Hybrid Working มาใช้ก็เพื่อช่วยลดและป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในบริษัท ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าแผนกไหนในองค์กรหรือบริษัทไหนที่สามารถปรับตัวมาทำงานแบบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
นอกจากนี้ การทำงานแบบ Hybrid Working ก็ยังพิสูจน์ให้เราเห็นอีกว่าเป็นการทำงานที่เพิ่มทั้งความยืดหยุ่นและอิสระให้กับพนักงานได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยเพิ่ม Productivity ในการใช้ความคิดสร้างสรรค์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
โดยจะเห็นได้จากสถิติของเว็บไซต์ Zippia ที่บอกว่า:
- 74% ของบริษัททั่วสหรัฐอเมริกานิยมหันมาเลือกใช้การทำงานแบบ Hybrid Working มากขึ้น
- 44% ของพนักงานทั่วสหรัฐอเมริกาบอกว่าชื่นชอบการทำงานแบบนี้ มากกว่าการทำงานที่เข้าออฟฟิศเพียงอย่างเดียว
- 63% ของบริษัทแบบ High-Growth Companies เลือกใช้โมเดลแบบ “Productivty Anywhere” จากการทำงานแบบ Hybrid Working
- 55% ของพนักงานบอกว่าต้องการทำงานแบบ Remote Working อย่างน้อย 3 วัน และเข้าออฟฟิศอีก 2 วันต่อสัปดาห์
จากสถิติข้างต้นก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าเทรนด์การทำงานแบบ Hybrid Working เริ่มมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต และเราคาดการณ์ว่าคนรุ่นใหม่ก็จะยิ่งมองหาบริษัทที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากบริษัทไหนที่มีนโยบายแบบนี้เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถและมีความเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรแบบเดียวกันได้อย่างดีแน่นอน
การทำงานแบบ Hybrid Working อาจจะไม่ได้เหมาะกับลักษณะงานที่ต้องทำ On-site เช่น ในโรงงาน แต่เหมาะสำหรับธุรกิจที่รันอยู่บนออนไลน์หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานในองค์กรมากกว่า
วิธีการสร้างการทำงานแบบ Hybrid Working ในบริษัทให้มีประสิทธิภาพ
เลือกเทคโนโลยีที่ใช่สำหรับพนักงานทุกทีม
จุดเริ่มต้นของการทำงานแบบ Hybrid Working ที่ดีจะต้องเริ่มมาจากการที่บริษัทมีเครื่องมือเทคโนโลยีที่ใช่สำหรับทุกคนก่อน เพราะในเวลาที่ทีมจะต้อง Remote Working ไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาที่ออฟฟิศ เทคโนโลยีจะเป็นตัวกลางที่ทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ และเป็นสิ่งที่เข้ามาลดช่องว่างนั้นออกไป
สำหรับทีม The Growth Master ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการทำงานแบบ Work From Home 100% มามากกว่า 2 ปี แต่หลังจากนั้นก็ปรับเปลี่ยนมาทำงานแบบ Hybrid Working (ทำงานที่ออฟฟิศ 3 วัน และ Remote Working 2 วัน) โดยตัวอย่างเทคโนโลยีที่ใช่ที่ทีมเรานำมาใช้ในการทำงานร่วมกัน เช่น
- ClickUp – ด้วยความสามารถของ ClickUp ที่เป็นซอฟต์แวร์ด้าน Project Management ที่ครบเครื่อง โดยเราจะใช้ ClickUp เป็นเหมือนพื้นที่ในจัดระเบียบการทำงานส่วนใหญ่ของบริษัท เพื่อทำให้ทีมทุกคนได้ทราบว่า Task งานนี้อยู่ในโปรเจกต์ไหน, ใครรับผิดชอบ แล้วทีมของใครจะต้องรับผิดชอบ Task นี้ร่วมกับทีมไหนบ้าง, มีรายละเอียดการทำงานอย่างไร, เดดไลน์วันไหน และยังเป็นพื้นที่ในการใช้ส่งมอบงานกันในองค์กรด้วย
- Workplace – อธิบายง่าย ๆ มันคือ Facebook ฉบับบริษัทของคุณเอง โดยหลัก ๆ แล้วเราจะใช้ Workplace ในเรื่องของ Company Culture เป็นหลัก เช่น สร้างกลุ่ม Company Headquaters ใช้ในการแจ้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของพนักงาน (วันลา, เบิกค่าประกัน) เป็นต้น รวมถึงยังใช้ WorkChat (แอป Messenger แยกสำหรับแชท) เพื่อใช้ในการแชทเกี่ยวกับเรื่องงานโดยเฉพาะ ช่วยให้พนักงานทุกคนสามารถแยกเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวได้เป็นอย่างดี
- Coda.io – สำหรับโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้นมาและที่ต้องให้ทีมทุกคนเห็นภาพเป็นไตรมาส หรือเป็นแบบ Yearly Plan เราจะใช้ Coda ซอฟต์แวร์สำหรับการวาง Roadmap, Wiki และ Checklist ของโปรเจกต์นั้น ๆ ในมุมที่งานเป็นระยะยาว รวมถึงใช้เป็นซอฟต์แวร์สำหรับ Knowledge Management ที่ให้ทีมศึกษาคู่มือหรือเอกสารวิธีการใช้งานซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ ของบริษัท
- Endlessloop – ซอฟต์แวร์ที่เป็นเครื่องมือในการวางโครงสร้างแคมเปญ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และติดตามผลลัพธ์ทางการตลาดตามศาสตร์ Growth Marketing โดยจะใช้งาน Endlessloop ในการทำ Weekly Experiment เพื่อหา Solution ที่ดีที่สุดในการทำให้ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จ รวมถึงติดตามผลลัพธ์ของการทำงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่าง Real-time ภายในซอฟต์แวร์ตัวนี้ตัวเดียว
- Miro – ทีมเราจะใช้ Miro ในการทำ Growth Session เป็นหลัก โดยให้ทีมได้เสนอไอเดียที่ตัวเองคิดลงในกระดานไวท์บอร์ดออนไลน์ จากนั้นเราก็จะหยิบนำไอเดียในนั้นมาพัฒนาเป็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ ถ้าหากทำได้เลยในตอนนั้น แต่ถ้าหากยังทำไม่ได้ก็จะเก็บไว้ใน Backlog สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต นอกจากนั้น เรายังใช้ Miro ในการวางกลยุทธ์ธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการร่วมงานของทีมหลายคน รวมถึงใช้ในการ Workshop พนักงานใหม่และน้อง Intern อีกด้วย
ซึ่งซอฟต์แวร์ข้างต้นเป็นเพียงซอฟต์แวร์ส่วนหนึ่งที่บริษัทเราใช้เท่านั้น ยังมีซอฟต์แวร์อีกมากมายที่ช่วยให้การทำงานของเราในแบบ Hybrid Working เป็นไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เพียงแต่คุณจำเป็นต้องเลือกซอฟต์แวร์ที่เข้ากับการทำงานบริษัทของคุณให้เจอเสียก่อน ซึ่งเราพูดได้อย่างเต็มปากว่า ถ้าเจอเทคโนโลยีที่ใช่แล้ว การทำงานของบริษัทคุณจะดียิ่งกว่าที่เคยแน่นอน
(หากใครที่อยากรู้ว่าก่อนหน้านี้เรามีวิธีการทำงานแบบ Work From Home อย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเข้าไปอ่านรีวิวการทำงานของเราแบบละเอียดได้ที่ บทความนี้)
มีการวาง Roadmap และตั้งเป้าหมายของทีมอย่างชัดเจน
การตั้งเป้าหมายในการทำงานของทีมเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะต้องทำให้ทีมเห็นภาพใหญ่ หรือ Roadmap ที่บริษัทของเราจะมุ่งไปให้ตรงกันมากที่สุดก่อน เมื่อทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายของเราคืออะไร เราจะมุ่งไปที่ไหน และมีอะไรที่ต้องทำบ้างในแต่ละเดือนหรือสัปดาห์ ก็ให้ลองใช้วิธีแตกเป้าหมายออกมาเป็นภาพเล็ก ๆ เพื่อทำให้ทีมเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น Deliver งานออกมาอย่างง่ายดาย และไม่รู้สึกว่ามีงานมากระจุกมากเกินไป
โดยบริษัทอาจจะต้องหาซอฟต์แวร์มาเพื่อแชร์ Roadmap ในแต่ละสัปดาห์เอาไว้ เพื่อให้ทีมสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนั้นได้ตลอดเวลา เช่น การใช้ Coda.io (ที่กล่าวไปข้างต้น) ทีมจะได้เข้าไปเช็กว่าตัวเองมีงานเหลือมากน้อยขนาดไหนจะได้ไม่กระจุกเป็นคอขวดและรับภาระงานมากจนเกินไป
จัดลำดับความสำคัญของงานอยู่เสมอ
นอกจากการวาง Roadmap และเป้าหมายของทีมแล้ว การรู้จักลำดับความสำคัญที่ดีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำ โดยพนักงานควรจะต้องรู้ว่า งานนี้ควรเสร็จเมื่อไร แล้วควรส่งต่อให้ทีมไหนทำต่อ มีการพูดคุยอัปเดตงานกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากว่าทีมมีการจัดลำดับความสำคัญที่ไม่ดี ทีมแรกทำงานไม่เสร็จ ทีมต่อไปก็ไม่สามารถเริ่มงานต่อได้ (เพราะต้องรองานจากทีมก่อนหน้า) นั่นจึงทำให้กระทบไปยังทีมอื่น ๆ ด้วย
บริษัทอาจจะต้องใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาเป็นตัวช่วย เช่น ClickUp ซอฟต์แวร์ Project Management ที่ทำให้ทุกทีมเข้าถึง Task งาน ได้เหมือนกันหมด รู้ว่างานนี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เดดไลน์เมื่อไร เสร็จแล้วส่งต่อให้ใคร รวมถึงสามารถดู Workload ของตัวเองและคนในทีมได้ ถ้าหากมีทีมคนไหนที่มีงานมากองอยู่เยอะเกินไป แล้วทำงานที่มี Priority สูงสุดไม่ทัน ทีม Lead ก็สามารถช่วย Manage ได้ และแบ่งงานไปให้คนอื่นทำได้ เพื่อที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาคอขวดติดอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งนั่นเอง
ข้อดีและข้อเสียสำหรับการทำงานแบบ Hybrid Working
แน่นอนว่าทุกอย่างต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับการทำงานแบบ Hybrid Working ก็เช่นกัน เราไปดูกันว่า การทำงานในลักษณะนี้มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้างที่บริษัทควรจะต้องเตรียมรับมือให้พร้อม
ข้อดีของการทำงานแบบ Hybrid Working
พนักงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
พนักงานหลายคนน่าจะถูกใจการทำงานแบบ Hybrid Working กันไม่น้อย ด้วยเหตุผลที่ว่ามันสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานให้พวกเขามากกว่าการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว เพราะทำให้พวกเขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในวันที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานรู้จักวางแผนการทำงานด้วยตัวเอง โดยโฟกัสที่ผลสำเร็จของงานตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนั้น ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร รวมถึงไม่ต้องออกไปเผชิญกับโรคระบาด หรือปัญหารถติดในทุก ๆ เช้าและเย็นอีกด้วย
สามารถจ้างพนักงานได้ทั่วโลก (Globally + Locally)
ถ้าหากบริษัทไหนที่ต้องการพนักงานที่มีความสามารถ แต่ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องเป็นพนักงานในประเทศเท่านั้น การทำงานแบบ Hybrid Working ก็เปิดโอกาสให้บริษัทสามารถจ้างพนักงานที่มีความสามารถจากทั่วโลกได้ไปพร้อม ๆ กับรับพนักงานภายในประเทศ
เพราะข้อดีของการรับคนในประเทศหรือท้องถิ่นคือเราจะรู้จักกลุ่มผู้ใช้งานดีกว่า แต่การรับพนักงานจากทั่วโลกเข้ามาทำงานจะช่วยให้บริษัทได้มองเห็นมุมมองใหม่ ๆ และความเห็นที่แตกต่างจากคนที่อยู่ในท้องที่ได้มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ช่วยให้พัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในธุรกิจ
สำหรับตัวอย่างบริษัทที่มีการจ้างงานในลักษณะนี้ เช่น Shopee หรือ Agoda โดยทั้งสองบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ แต่บริษัทเหล่านี้ก็มีการตั้งสำนักงานและการจ้างงานภายในประเทศต่าง ๆ ด้วย อย่างในประเทศไทยเองก็เช่นกัน ซึ่งการจัดตั้งสำนักงานและจ้างงานคนในประเทศต่าง ๆ ก็เพราะว่าพวกเขามักจะรู้จักคนในประเทศดีกว่าคนนอกประเทศ รู้ความต้องการ รู้ว่าเทรนด์อะไรกำลังมาแรง เพื่อที่ว่าจะได้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวางกลยุทธ์แคมเปญทางการตลาดต่าง ๆ มากขึ้นนั่นเอง
ลดค่าใช้จ่ายของบริษัท
เนื่องจากการทำงานแบบ Hybrid Working แน่นอนว่าพนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัททุกวัน ผลที่ตามมาก็คือ พนักงานก็จะมีการใช้ส่วนกลางต่าง ๆ น้อยลง เช่น อาหาร, เครื่องดื่ม, ขนมขบเคี้ยว, เครื่องเล่นสันทนาการต่าง ๆ รวมไปถึงต้นทุนด้านค่าน้ำ-ค่าไฟที่บริษัทจะต้องรับผิดชอบทั้งหมดก็จะลดลงด้วย
ข้อเสียของการทำงานแบบ Hybrid Working
ต้นทุนทางด้านซอฟต์แวร์จะสูงขึ้น
ถึงแม้เราจะบอกไปในข้อดีว่าการทำงานแบบ Hybrid Working จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทในส่วนของ On-site ลงไปได้ แต่ถ้าหากบริษัทเลือกที่จะมีการทำงานแบบผสมนี้ แน่นอนว่าก็ต้องมีการนำซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ทำงานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทีม ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นไปด้วย
ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่มีราคาแพง หรือเลือกใช้แพ็กเกจที่มีราคาสูงที่สุดเสมอไป เพราะซอฟต์แวร์ที่มีราคาแพงไม่ได้หมายความว่าจะดีตรงกับที่ทีมต้องการ ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถตรงกับที่ทีมต้องการได้เป็นอย่างดี เพียงแค่คุณอาจจะต้องใช้เวลาในการเลือกและทดลองปรับ Workflow ให้ตรงกับการใช้งานของบริษัทคุณเองเสียก่อน
แต่เชื่อเราเถอะว่าถึงแม้ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาให้กับซอฟต์แวร์เหล่านี้ ผลที่ได้รับกลับมาจะคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสื่อสารที่ดีขึ้น, Task Management ที่เป็นระเบียบ, การระดมไอเดียที่ง่ายเหมือนอยู่ด้วยกัน หรือแม้กระทั่งการช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนให้น้อยลงได้อีก
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบริษัทไหนที่ไม่อยากใช้เวลาในการหาซอฟต์แวร์ที่เหมาะสำหรับทีมด้วยตัวเองมากเกินไป The Growth Master ก็มีบริการ Business Tech Stack Consulting Service ที่จะให้คำปรึกษาคุณในการนำซอฟต์แวร์มาใช้ในองค์กร พร้อมทั้งวาง Workflow เพื่อช่วยทำให้การทำงานของคุณและทีมเชื่อมต่อกันได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่)
การประสานงานระหว่างทีมเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น
ในวันที่เข้าออฟฟิศ การประสานงานทุกอย่างมักจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าตอนที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศ เพราะทุกทีมสามารถเดินไปพูดคุยกันต่อหน้าต่อหน้าได้เลย แต่ในเวลาที่ทีมต้องทำงานแบบ Remote Working (ไม่ได้เข้าออฟฟิศหรือทำงานที่บ้าน) การประสานงานจะกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น
เพราะฉะนั้นการสื่อสารระหว่างทีมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าหากเรามีการสื่อสารที่ไม่ดี ช้าเกินไป หรือไม่มีซอฟต์แวร์ที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสาร ก็เท่ากับว่าอาจทำให้การประสานงานระหว่างทีมมีความผิดพลาด ตกหล่นได้ ไม่สามารถทำการซัพพอร์ตลูกค้าอย่างทันท่วงที หรือแม้กระทั่งระดมไอเดียไม่ทันคู่แข่งในการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ
ดังนั้นบริษัทจึงต้องพยายามลดช่องว่างนี้ออกไปให้ได้มากที่สุด โดยการเตรียมซอฟต์แวร์ที่พร้อมสำหรับการทำงานมากที่สุด เช่น การใช้ ClickUp เพื่อจัดการเรื่อง Task Management รวมถึงแยกช่องทางการสื่อสารระหว่างงานและเรื่องส่วนตัวให้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่ปะปนกัน เช่น การใช้ Workplace ในการสื่อสารเรื่องงานโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันปัญหาการตกหล่นระหว่างทาง หรือการสื่อสารที่ไม่รวดเร็วมากพอ จนนำไปสู่การประสานงานที่ผิดพลาดหรือล่าช้าในท้ายที่สุด
Learning Curve ของพนักงานใหม่อาจจะไม่ดีเท่าที่ควร
แน่นอนว่าเมื่อมีพนักงานเข้ามาใหม่ ทีมจำเป็นที่จะต้องสอนงานพวกเขาอย่างใกล้ชิดในตอนแรก เพื่อให้พวกเขาทำความคุ้นเคยและทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่กำลังทำอยู่ให้ดีเสียก่อน แต่เมื่อทีมจำเป็นต้องทำงานแบบ Hybrid Working ที่จะต้อง Remote Working ไปพร้อม ๆ กัน นั่นจึงทำให้บางทีพนักงานใหม่อาจจะมี Learning Curve ไม่ดีเท่าที่ควร
เพราะถ้าหากบริษัทไม่มีการเตรียมซอฟต์แวร์ที่ดีมากพอในการเอื้อให้พวกเขาได้มีการติดต่อสื่อสารกับทีม หรือการทำ Knowledge Management ที่เป็นระบบและเป็นหลักแหล่ง การเรียนรู้ของพวกเขาอาจจะไม่เต็มประสิทธิภาพตรงตามที่บริษัทคาดหวังจากตัวเขาก็ได้ ดังนั้นบริษัทควรที่จะมีทั้งบุคลากรที่ให้คำแนะนำ รวมถึงเครื่องมือที่เป็นแหล่งข้อมูลเตรียมพร้อมสำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ
ถ้าหากบริษัทมีแหล่งการเรียนรู้ให้กับพนักงานได้อย่างชัดเจน นอกจากจะช่วยเรื่องการสร้างความเข้าใจให้พนักงานใหม่แล้ว ยังเป็นการประหยัดเวลาที่ทีมต้องลงมือสอนการงานนั้น ๆ ให้พนักงานใหม่ด้วยตัวเองอีกด้วย
Learning Curve คือ เส้นโค้งการเรียนรู้ หรือให้แปลง่าย ๆ คือความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความรู้’ และ ‘ประสบการณ์’ จากการทำงานที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ และเชี่ยวชาญกับเรื่องนั้น ๆ มากขึ้น
ทีมมีโอกาสพูดคุยกันน้อยลง
ส่วนหนึ่งของการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี คือ ‘ความสัมพันธ์ของคนในทีม’ ยิ่งทีมมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็เท่ากับว่าบริษัทจำเป็นต้องรับคนใหม่ ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ แต่บางครั้งการทำงานแบบ Hybrid Working อาจเป็นเหมือนกำแพงที่ทำให้พนักงานมีการพูดคุยทำความรู้จักกันน้อยลง ทำให้สิ่งที่ตามมาคือ การทำงานและการประสานก็จะมีคุณภาพลดน้อยลงไปด้วย
ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพนักงานที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ถ้าหากทีมส่วนมากไม่มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกัน ก็อาจทำให้เขารู้สึกว่าไม่เป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร พวกเขาก็จะแทรกซึมวัฒนธรรมแบบนี้ไปโดยอัตโนมัติ จนกลายเป็นความเคยชิน และทำให้ความรู้สึกในการทำงานเป็นทีมลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีบริษัทไหนอยากให้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นบริษัทอาจจะมีการจัด Session ที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้พูดคุยกัน เช่น การระดมไอเดียโดยใช้ซอฟต์แวร์ Miro เข้ามา จะช่วยให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี หรือจัดกิจกรรมให้ทุกคนมาพบปะกัน เช่น กินข้าว, เล่นเกม, ไปออกกำลังกาย, ไปเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
เราเชื่อว่าถ้าทุกคนในทีมสนิทกัน กล้าเล่น กล้าเปิดใจพูดคุยกันมากยิ่งขึ้น การทำงานก็จะเต็มไปด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน ซึ่งแต่ละคนก็จะช่วยกันเป็นแรงกายแรงใจให้ช่วยกันทำงานผ่านพ้นทุกอย่างไปได้ด้วยดีอีกด้วย
สรุปทั้งหมด
เราจะเห็นได้ว่าการทำงานแบบ Hybrid Working ในปัจจุบันก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ที่มองหาการทำงานที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม ไม่รัดกุมจนเกินไป ให้อิสระในการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ และพร้อมสร้าง Productivity ให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี
ในอนาคตถ้าหากบริษัทไหนที่สามารถปรับเปลี่ยนมาทำงานแบบ Hybrid Working ได้ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรทำ ซึ่งอาจจะสามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถให้มาทำงานร่วมกันได้ในที่สุดอีกด้วย แต่ที่สำคัญ คุณจะต้องเริ่มจากการที่มีเทคโนโลยีที่ดีในองค์กรเสียก่อน การทำงานแบบผสมนี้จึงจะสามารถดำเนินไปด้วยความราบรื่น และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ทุกคนในบริษัทได้เป็นอย่างดี
Source: bloomberg, cnbc, monday