อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าก็จะเข้าสู่หน้าปฏิทินใหม่ของปี 2021 กันแล้ว เชื่อว่านักการตลาดหลายคนอาศัยช่วงเวลานี้ในการเริ่มพัฒนาตัวเองสู่การเป็นนักการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อพร้อมรับมือสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคออนไลน์ที่คาดว่าจะเข้มข้นและท้าทายขึ้นเป็นอย่างมาก ในปี 2021 ที่จะถึงนี้
ในขณะเดียวกันตลอดทั้งปีที่ผ่านมา นักการตลาดหลายคนต่างก็มี “ความหวัง” ให้ธุรกิจหรือโปรเจกต์ที่พวกเขาดูแลอยู่เติบโตได้อย่างเร็ว บางคนอาจจะสมหวังและพร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปี 2021 อย่างแข็งแกร่ง
แต่นักการตลาดบางคน ก็อาจจะต้องพบเจอกับ “ความผิดหวัง” เมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามที่ต้องการและเริ่มถอดใจยอมแพ้ไป ถึงแม้ว่าธุรกิจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นก็ตามส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากเรื่องที่เป็น Technical Skills เช่น การวางกลยุทธ์การตลาดผิดพลาด หรือการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่พวกเขาอาจจะยังทำได้ไม่ดีพอ
แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถือเป็นบ่อกำเนิดของความผิดพลาดในครั้งนี้ ก็คือเรื่องของการขาดการพัฒนา “Growth Mindset” ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในยุคนี้ของผู้ประกอบการหรือนักการตลาดที่รักในการเติบโต
เพราะฉะนั้นในบทความนี้เพราะเราจะพาคุณไปเรียนรู้ 12 สูตรสำเร็จในการพัฒนา Mindset สำหรับนักการตลาดที่ต้องการเติบโต เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในปี 2021 ที่กำลังจะมาถึงนี้แต่จะมีแนวคิดอะไรบ้าง ไปติดตามต่อได้เลยครับ
12 สูตรสำเร็จพัฒนา (Growth) Mindset สำหรับนักการตลาดที่รักในการเติบโต ฉบับปี 2021
1 . หาความรู้ใส่ตัวตลอดเวลา เพราะโลกดิจิทัลไม่มีอะไรหยุดนิ่ง
พื้นฐานของนักการตลาดในยุคดิจิทัล คุณต้องรู้อยู่แล้วว่าในโลกออนไลน์ ไม่เคยมีสิ่งไหนเลยที่หยุดอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่คุณต้องทำ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ตั้งแต่ระดับ เจ้าของธุรกิจ ผู้จัดการ ไปจนถึงพนักงานก็คือการหมั่นหาความรู้ใส่ตัวตลอดเวลา
โดยในช่วงแรกให้คุณคิดซะว่านี่คือการท้าทายความสามารถของคุณ ไม่มีคนที่ประสบความสำเร็จคนไหน ที่อยู่กับที่ตลอดเวลา หมั่น Challenge ตัวเองอยู่เสมอ ลองเปิดรับไอเดีย , เทคนิคใหม่ ๆ จากหลากหลายที่มา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเรา ทำให้เราขวนขวายและอยากหาข้อมูล อยากเรียนรู้มากขึ้นจนเปลี่ยนนิสัยของคุณให้เป็นคนที่ชอบการเรียนรู้ตลอดเวลา
เคล็ดลับคือลองเริ่มจากการใช้เวลาว่างสัก 30 นาทีของแต่ละวัน เช่น ระหว่างเดินทางไปทำงาน, ก่อนนอน หาความรู้ใหม่ ๆ อัปเดตให้ตัวเองตามทันโลกอยู่เสมอ จะทำให้คุณได้เปรียบมากกว่าคนอื่น และเป็นจุดเริ่มต้น “ก้าวแรก” สู่การเติบโตในสายอาชีพครับ
สำหรับใครที่ต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถ ในด้าน Growth และ Technology สามารถกดติดตาม The Growth Master ได้ในช่องทางต่าง ๆ ไม่พลาดทุกคอนเทนต์คุณภาพส่งตรงถึงคุณ (คลิก ที่นี่ เพื่อติดตาม)
2 . คำว่า “ไม่รู้” “ไม่เคย” “ทำไม่ได้” คือคำที่คุณควรทิ้งไว้กับปีเก่า
ผมเชื่อว่า คนที่ไม่ได้พัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เพราะเขา “ไม่มีโอกาส” นะครับ กลับกันเขามีโอกาสเข้ามาอยู่ตลอด แต่พวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธโอกาสดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ด้วยประโยคสั้น ๆ แค่ “ฉันทำไม่ได้” “ฉันไม่รู้” หรือ “ฉันไม่เคยทำ” ที่คุณพูดออกมาเพราะแค่กลัวการเปลี่ยนแปลงและอยากอยู่ในพื้นที่ของตน
คำพูดเหล่านี้เป็นเหมือนการปิดประตูไม่ให้คุณออกไปเจอกับอะไรใหม่ ๆ และโอกาสในการเติบโต เพราะฉะนั้น จงพูดกับตัวเองเสมอว่า “ไม่มีอะไรเราทำไม่ได้” หรือต่อให้เราทำไม่ได้ , เกินความสามารถจริง ๆ อย่างน้อยที่สุดก็ควรลองศึกษาก่อน
แต่ถ้าหากคุณยังกลัวอยู่ วิธีแก้ง่าย ๆ (หักดิบ) ก็คือในปี 2021 ที่จะถึงนี้ ให้คุณตัดคำว่า ” ทำไม่ได้ ” ออกจากพจนานุกรมของคุณไปเลย และพยายามพูดกับตัวเองว่า เราทำได้ และเราคือคนเก่งที่สุด จะเป็นเชื้อเพลิง เติมไฟให้คุณกล้าเผชิญกับอะไรใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีหน้า
และเมื่อถึงช่วงสิ้นปี ลองมาดูกันว่าในช่วงเวลาเดียวกันในปีหน้า คุณได้พัฒนาตัวเองมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าคุณทิ้งคำพูดเหล่านั้นไว้ในปีนี้ มั่นใจเถอะครับว่าปีหน้า คุณจะได้รู้ว่าตัวคุณ ทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิดตอนนี้
3 . ต้องเรียนรู้ทุกอย่างจากประสบการณ์จริง
หากคุณยังจมอยู่กับการสร้าง Mindset ในแบบเก่า ๆ ปีหน้าสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจใหม่ก็คือ การเติบโต นั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญใด ๆ ทั้งนั้นแต่มันเกิดจากการทดลองของหลากหลายสมมติฐาน ที่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ของมันจะบอกคุณได้ว่าอะไรเวิร์ค/ไม่เวิร์ค หรืออะไรที่เหมาะสมกับการทำงานของคุณจริง ๆ
ยกตัวอย่างในมุมของการตลาด เช่น การทำ A/B Testing ที่เป็นกระบวนการในการทดสอบระหว่าง 2 ชิ้นงาน เพื่อหาว่าผู้ใช้ชอบชิ้นงาน , องค์ประกอบไหนมากที่สุดนั่นเอง โดยคุณสามารถนำมันไปทดสอบประสิทธิภาพได้กับหลายๆ สิ่งบน Digital Platform เช่น Facebook Ads , Landing Page , E-mail , ปุ่ม CTA (Call to action) หรือ Design บนเว็บไซต์ ก็สามารถทำได้
จุดสำคัญของข้อนี้คือการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากการทดลอง คุณอาจจะได้เจอสิ่งที่ใช่กับธุรกิจคุณมากกว่า ซึ่งถึงสุดท้ายแล้วแม้คุณอาจจะยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีจากการทดลอง แต่ข้อมูลจากการทดลองแต่ละครั้งนั้น จะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้คุณได้พบกับสิ่งที่จะทำให้คุณเติบโตต่อไปในอนาคตนั่นเอง
4 : 2021 = Data Driven! ลองใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนให้มากขึ้น
ข้อดีของการทำธุรกิจที่เป็น Digital Business สมัยนี้ก็คือ คุณสามารถวัดผลและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้จากข้อมูล โดยอย่างที่บอกไปในหัวข้อที่แล้วว่ามันเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าอะไรที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ
ดังนั้นทุกครั้งที่คุณมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจทำอะไร คุณไม่ควรจะคาดเดาจากสัญชาตญาณของเราเพียงอย่างเดียว (ถือเป็นเรื่องไม่ดีด้วย) ว่าลูกค้าจะชอบหรือไม่ชอบอะไร และไม่ควรเชื่อตำราหรือคำบอกเล่าจากใคร เพราะแต่ละธุรกิจนั้นมีความแตกต่าง ซับซ้อน ไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เกณฑ์ในการทำให้คุณตัดสินใจคุณก็ควรใช้ข้อมูลเป็นตัวตัดสินร่วมด้วย เช่นตัวอย่างวิธีแบบใน Diagram ของ Brian Balfour ด้านล่างนี้ (อ่านคำนิยามของ Diagram นี้แบบเต็ม คลิกที่นี่)
ในการวัดผลคุณก็สามารถใช้เครื่องมืออย่าง Google Analytics หรือ KISSmetrics ได้เลย นอกจากนี้คุณยังสามารถเรียนรู้ข้อมูลของลูกค้าให้ละเอียดมากขึ้นได้ด้วยวิธีการอื่น ๆเช่น การพูดคุย ทำแบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์กับลูกค้า ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้คุณได้รับข้อมูลที่สำคัญต่อการทำธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน
หรือถ้าคิดว่าองค์กรยังไม่เหมาะกับ Data Driven คุณสามารถใช้วิธีอย่าง Data Inform (เป็นวิธีที่ บริษัท Facebook ใช้อยู่) คือ การใช้ข้อมูลที่ได้มา เหมือน Data Driven มาประกอบการตัดสินใจหรือทำตามที่ Data บอก แต่อีกส่วนหนึ่งจะใช้การตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณแบบปกติ
วิธี Data Inform นี้จะทำให้คุณได้ผลลัพธ์ ที่ปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย และมีความ Personalized มากขึ้น เพราะมาจากความคิด/การคาดเดาของคนจริง ๆ
5. เรียนรู้จากความผิดพลาดหรือสิ่งบกพร่องที่เกิดขึ้น
“Failure is instructive. The person who really thinks learns quite as much from his failures as from his successes.” ― John Dewey
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นวิธีคิดของอาชีพอย่าง Growth Marketer , Growth Hacker นั่นก็คือพวกเขาจะเรียนรู้จากในทุกๆ ความผิดพลาดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนที่ใช้ในการพัฒนาการทำงานในอนาคตของพวกเขา
ซึ่งในมุมของอาชีพอย่าง Growth Marketer / Growth Hacker การทดลองอะไรแล้วผิดพลาด พวกเขาจะมองว่ามันไม่ใช่ข้อผิดพลาด แต่คือการเรียนรู้ใหม่ ๆ กลับกันสิ่งที่เป็นข้อผิดพลาดจริง ๆ คือการทดลอง/ลงมือทำ แล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยต่างหาก
เพราะฉะนั้นจงอย่ากลัวกับความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น อย่าอยู่แต่ในกรอบที่ตัวเองวาดไว้ ให้มองในแง่ดีว่าทุก ๆ ความผิดพลาดก็เป็นเหมือนกับกระจกที่สะท้อนตัวเราว่าต้องปรับปรุงตรงไหนบ้าง
โลกของการทำการตลาดไม่มีใครมาบอกคุณได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีใครกำหนดสูตรสำเร็จได้ว่า คุณต้องส่งอีเมลไปหากลุ่มเป้าหมายกี่ครั้งพวกเขาถึงจะมาซื้อสินค้าของคุณ หรือไม่มีใครสามารถบอกคุณได้ว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไร ในการยิง Ads ให้มีลูกค้าเข้ามาสร้าง Conversion ทุกอย่างต้องเกิดจากการลองผิด ลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาดของเรากันทั้งนั้น
ในปีหน้า (หรือปีนี้ได้ยิ่งดี) คุณควรต้องรีบหาข้อบกพร่องในกระบวนการที่คุณทำอยู่ ลองบันทึกมันลง แล้วเริ่มปรับปรุง มากกว่าการที่ไปทำตามคนอื่น เพราะการทำแบบนั้นโดยที่ไม่ได้ดูความแตกต่างของธุรกิจ คุณอาจจะได้ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิมหรือแย่กว่า
6 . จงอย่าหยุด เมื่อได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้ว
เพราะการเติบโตนั้นไม่มีวันหยุด ต่อให้คุณจะสามารถพัฒนา Conversion Rate ไปได้ถึง 95 % แล้ว แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณควรหยุดแค่ตรงนั้น เพราะจริง ๆ แล้วตัวเลขนี้มันก็อาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังจะเติบโตขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ
แต่ถ้าคุณหยุดหรือพักเพราะคิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะถือว่าพลาดโอกาสในการเติบโตในอนาคตไปนั่นเอง หรือถ้าคุณมีความคิดอยากจะหยุด ก็จงดูว่าตัวเลข/ความสำเร็จที่คุณได้มานั้น เป็น North Star Metric ที่แท้จริงขององค์กรคุณหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่ Vanity Metric ที่ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการเติบโต
เมื่อคุณรู้สึกว่าทุกอย่างถูกพัฒนาหรือ Optimized แล้ว ให้คุณลองไปคิดเพิ่มว่าอะไรคือ Growth Driven ที่ทำให้ตัวเลขเหล่านั้นสูงขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันมี Impact มากพอที่จะส่งไปถึงกลุ่มเป้าหมายคนอื่น ๆ เพื่อขยายการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
7. ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” มากกว่าเดิม
เชื่อว่าในปี 2021 เราจะต้องหันมาสนใจกับกระบวนการทำงาน (Process) กันมากขึ้นแน่นอน ถ้ายังจำกันได้ “การทดลอง” คือหนึ่งในกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ไม่เพียงแค่นั้น แต่มันยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการ ที่เรียกว่า Growth Process อีกด้วย ซึ่งถือเป็นกระบวนการในการทำงานที่สำคัญต่อการทำ Growth Hacking
โดยการทดลองนั้นจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการก่อนการที่จะปล่อยก่อนที่จะนำไอเดียไปทดสอบนั้นมาใช้จริง เพราะกระบวนการของมันทั้งหมดจะเป็นดังนี้ :
Analyze (วิเคราะห์ข้อมูล) : การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นขั้นตอนการทำความเข้าใจลูกค้าผ่านการสังเกตข้อมูลการตอบสนองที่ลูกค้ามีต่อผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนนี้จะทำให้คุณได้ไอเดียดีๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่าไอเดียที่เกิดจากการคาดเดา หรือคิดเอง
Ideate (ระดมไอเดีย) : ไอเดียที่ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลลัพธ์การเติบโตแบบก้าวกระโดด ถ้าคุณและทีมขาดการเสนอไอเดีย โอกาสที่จะเติบโตก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ตามจำนวนไอเดียที่ถูกทดลอง
Prioritize (จัดลำดับความสำคัญของไอเดีย) : ในการกำหนดหรือระบุว่าไอเดียไหนดีที่สุดใน Growth Meeting สิ่งสำคัญคือเสียงและความคิดเห็นจากแต่ละตัวบุคคลในที่ประชุม ในที่นี้เราจะใช้การให้คะแนนกับแต่ละไอเดีย
Test (ทดลอง) : ในขั้นตอนสุดท้ายคือการเริ่มทำไอเดียที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าต้องทำ มาทำให้มันเกิดขึ้นจริง ซึ่งก็คือการนำทุกไอเดียที่ผ่านขั้นตอนการ Prioritize มาทดสอบเพื่อดูผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
นอกจากกระบวนการ 4 ขั้นตอน Analyze – Ideate – Prioritize -Test แล้ว อย่างที่ได้เกริ่นไปตอนต้นว่าอีกหนึ่งอย่างที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ คน หรือหมายถึงบุคลากรในทีมนั่นเอง (แต่คน ที่จะเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจคุณได้ต้องเป็น “คนที่ใช่” กับองค์กรของคุณจริง ๆ เท่านั้น)
ทีมที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกแผนกหรือหน่วยงานที่มีส่วนในการเติบโตของธุรกิจนั้น ๆ ลดการทำงานแบบ Silo แล้วหันมาใช้การทำงานแบบ Agile เพื่อสร้างทัศนคติและเป้าหมายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นก็คือ “การเติบโต” และเมื่อกระบวนการและทีมนั้นสมบูรณ์แล้ว กลยุทธ์ Growth Hacking ก็จะสร้างการเติบโตที่รวดเร็วได้ในที่สุด (ถ้าอยากศึกษากลยุทธ์ Growth Hacking เพิ่มมากขึ้น อ่านทั้งหมดได้ที่นี่)
8. หาจุดที่ทำให้ธุรกิจสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนให้ได้
หลายคนอาจจะเข้าใจผิดและตื่นเต้นกับสิ่งที่ไม่ใช่การเติบโตที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีแอปพลิเคชัน แล้วจ้าง Influencer ชื่อดังมาโปรโมท จนทำให้ตัวเลข ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ของคุณพุ่งขึ้นในช่วงเดือนนั้น คุณอาจจะคิดว่ามันคือการ Growth Hacking ที่ทำให้เกิดการเติบโต แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่เพราะมันอาจแค่ได้ผลดีแค่ระยะสั้นๆ
แต่เมื่อผ่านเดือนนั้นไปแล้ว ยอดดาวน์โหลดของคุณกลับดิ่งลงและเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ตัวเลขผู้ใช้งานก็กลับมาอยู่ในช่วงจุดเริ่มต้นอีกครั้ง ซึ่งแบบนี้มันไม่ใช่การเติบโตที่แท้จริงหรอกครับ โดย Brain Balfour ได้นิยามการเติบโตที่แท้จริงใน Diagram ไว้แล้ว โดยต้องดูจาก 3 สิ่งนี้ :
มีคุณค่า (Meaningful) – การเติบโตที่แท้จริงจะต้องสร้าง “คุณค่า” ให้กับทั้งองค์กรและลูกค้า ทั้งสองฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ เช่น ฝั่งลูกค้าต้องพึงพอใจและกลับมาใช้งานเป็นประจำ ส่วนฝั่งองค์กรก็ต้องได้ประโยชน์จากการที่ลูกค้ามาใช้งานเราบ่อย ๆ เช่นกันและถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำการตลาดด้าน Growth อีกด้วย
ยั่งยืน (Sustainable) – การเติบโตจะต้องเป็นการเติบโตแบบยั่งยืน ไม่ใช่การเติบโตเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ที่เกิดจากกลยุทธ์ที่เป็น Short Term Strategy เช่น Paid Ads แต่ต้องยืนระยะได้ในเป็นระยะเวลานานเช่น Content Marketing , Website Marketing
ทำซ้ำได้ (Repeatable) – การเติบโตต้องเกิดจากปัจจัยที่เป็น Growth Driven ของเราจริง ๆ ไม่ใช่แค่เป็นเทรนด์ที่ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นเท่านั้น เช่น คุณนำสิ่งที่มีความเป็นเทรนด์หรือ Real Time เข้ามาร่วมกับธุรกิจของคุณ ผลลัพธ์ก็อาจจะออกมาดีแค่ตอนที่เทรนด์นั้นกำลังอยู่ในกระแสเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้อีก
โดยเคล็ดลับคือ ให้เริ่มทดลองแคมเปญกับกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ ก่อนคุณจะได้รู้ว่าในแคมเปญของคุณ ต้องใช้งบประมาณเท่าไร หากต้องการขยายตลาด และแคมเปญนั้นมี Feedback อย่างไรบ้าง
สรุปก็คือ กลยุทธ์การสร้างการเติบโตที่แท้จริงนั้นควรเป็นกลยุทธ์แบบระยะยาว (Long Term) เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรเอาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ มาตัดสินการเติบโตของธุรกิจนั่นเอง
9. เริ่มต้นด้วยสิ่งเล็ก ๆ ก่อนเสมอ
ถ้าคุณมีแพลนอยากเริ่มทดสอบเมื่อไหร่ คุณควรเริ่มต้นด้วยหลักการที่เรียกว่า MVT (Minimum Viable Tests) หรือพูดได้ง่าย ๆ ว่ามันคือการทดสอบสมมติฐานกับสิ่งเล็กๆ ที่สามารถทำได้ง่าย และรวดเร็ว (คุณสามารถศึกษา Framwork ของ MVT ได้ที่นี่)
เพราะคุณต้องเข้าใจว่ากระบวนการของมันต้องกลับมาทำซ้ำใหม่ได้ คุณจึงควรเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ปรับปรุงตามผลลัพธ์ที่ได้
ลองนึกดูว่าถ้าคุณรอให้ทดลองทุกอย่างเสร็จก่อน หรือว่าเริ่มทดลองจากสิ่งใหญ่ๆ เลยทันที ถ้าเป็นเว็บไซต์คุณก็คงจะต้องมา Re-design เว็บไซต์ทั้งหมดทีเดียว ซึ่งก็อาจจะเสียเวลามากๆ กว่าจะได้ Launch เว็บไซต์นั้น แต่ถ้าเราเริ่มทำจากสิ่งเล็ก (เช่นทำ Framwork , Design) ไปจนถึงสิ่งใหญ่ (ระบบหลังบ้าน) แล้วค่อย ๆ ทดสอบดูผลลัพธ์ไปทุกขั้นตอน เมื่อเกิดข้อผิดพลาด คุณก็จะสามารถแก้ไขได้ง่ายกว่า ก่อนที่ความต้องการของลูกค้าอาจจะเปลี่ยนไป แบบไม่ย้อนกลับมาแล้ว
10. Customer Centric Still Matter
อีกสิ่งหนึ่งที่จะมาควบคู่กับกระบวนการ Growth Process ก็คือเรื่องของ Customer Centric หรือการทำความเข้าใจลูกค้าและเอาข้อมูลที่ได้รับมาพัฒนาธุรกิจต่อ เพราะหากไม่สามารถทำได้ การเติบโตนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้เพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นเพราะคุณไม่สามารถหาคุณค่าที่ลูกค้าต้องการจากธุรกิจคุณได้
ถ้าเราคำนึงถึงตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างเดียว โดยไม่ได้มอบคุณค่าให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่าสุดท้ายพวกเขาก็จะค่อย ๆ หายไปซึ่งวิธีที่ง่าย ๆ ก็อย่างเช่น การคอยหมั่นสอบถามความพึงพอใจของพวกเขาระหว่างการใช้งานผลิตภัณฑ์
สุดท้ายหากพวกเขาได้รับคุณค่าที่เรามอบให้อย่างสม่ำเสมอ พวกเขาก็จะไม่มีทางไปจากคุณ (และมีแนวโน้มว่าเขาจะชวนคนรู้จักมาเป็นลูกค้าของคุณด้วย)
11. ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า
นักการตลาดหรือแบรนด์อาจจะมองข้ามจุดนี้ไป ซึ่งถือว่าค่อนข้างอันตรายเพราะว่ามันเป็นจุดที่สามารถส่งผลถึงแบรนด์ได้อย่างชัดเจน
ลองสมมติว่า คุณกำลังทำแอปพลิเคชัน (หรือแพลตฟอร์ม) ที่มีฟังก์ชันที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้ามาหางานประจำผ่านแพลตฟอร์มนี้ โดยคุณก็สร้างบัญชีปลอมขึ้นมาและให้บัญชีเหล่านี้ทำเป็นเหมือนทักลูกค้าคนนึงไปให้รู้สึกว่ามีบริษัทกำลังสนใจในตัวพวกเขาอยู่
เพื่อให้พวกเขายอมสมัครสมาชิกเพื่อที่จะได้เห็นว่า บริษัทไหนยื่นขอเสนอมา และสามารถเริ่มสนทนากับอีกฝ่ายได้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วอีกฝ่ายนั่นก็คือบัญชีปลอมที่คุณเป็นคนสร้างมันขึ้นมา
ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะสามารถเพิ่มผู้ใช้งานได้จริง แต่สุดท้ายเมื่อพวกเขาได้เริ่มใช้งานและมารู้ความจริงในภายหลัง พวกเขาก็อาจจะรู้สึกไม่ดีอย่างมากต่อแบรนด์ ซึ่งส่งผลเสียต่อการเติบโตระยะยาว (และอาจโดนดำเนินการทางกฎหมายได้ด้วย)
เพราะฉะนั้นจริงใจ ซื่อสัตย์กับลูกค้าก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ในระยะยาวครับ
12. Good Team = Growth Team
Growth Team คือพื้นฐานของการสร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง สำหรับองค์กรที่ต้องการเติบโตในปี 2021 โดยอาศัยความเชี่ยวชาญหลายด้านและความรู้พื้นฐานที่มีติดตัวกันทุกคน จะทำให้สมาชิกในทีมมีการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน (ทุกคนในทีมต้องเก่งจริง!)
ตั้งแต่จุดเริ่มต้น กระบวนการ และขั้นตอนต่าง ๆ และจากจุดแข็งนี้เองทำให้ Growth Team มีข้อดีที่แตกต่างวิธีการทำงานเป็นกลุ่มแบบอื่นอย่างเห็นได้ชัด
โดยการทำงานใน Growth Team จะใช้รูปแบบที่เรียกว่า Scrum หรือก็คือทุกคนในทีมจะเข้ามาช่วยรุมทำงานชิ้นนี้จนเสร็จ เน้นการสื่อสารกันของพนักงานในทีม การสร้างเป้าหมายให้ทุกคนในทีมเห็นภาพร่วมกัน ไม่มีกำแพงกั้นของแต่ละแผนกทุกคนในทีม Marketing จะได้ทำงานด้วยกันและทุกคนในทีมจะช่วย Support งานของแต่ละคนให้ออกมาดีที่สุด
และ Scrum เปรียบเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมแต่ละศาสตร์เอาไว้ด้วยกัน ช่วยลดระยะทางไม่ต้องผ่านไปผ่านมาหลาย ๆ ฝ่าย เป็นทางลัดที่จะช่วยย่นระยะเวลาตามสไตล์การทำงานแบบ Growth Hacking ที่พาธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
สรุปทั้งหมด
สุดท้ายผมหวังว่า 12 แนวคิดที่ได้นำเสนอไปนั้นจะสามารถช่วยพัฒนากระบวนการคิดและ Growth Mindset ของคุณให้ดีขึ้น เปลี่ยนทั้งตัวเอง/องค์กรให้ตามทันโลกดิจิทัลใบนี้ได้อยู่เสมอ และทำให้คุณสามารถเริ่มกระบวนการ Growth Process เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจหรือโปรเจ็กต์ของคุณในปี 2021 ที่จะถึงนี้นะครับ
และอย่าลืมกดติดตาม The Growth Master เพื่อเป็นตัวช่วยในการพัฒนาตัวเองในปี 2021 ของคุณจากคอนเทนต์ของเราอีกมายมายที่พร้อมส่งถึงคุณในปีหน้า ขอให้ปี 2021 เป็นปีที่ดีของผู้อ่านทุกคนนะครับ !