เรียกได้ว่าเป็นการฉลองวันเกิดครบรอบ 6 ปีได้อย่างน่าสนใจ สำหรับ Discord แพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสาร ที่เดิมทีออกแบบมาเพื่อให้เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายสามารถใช้งานในขณะเล่นเกม เพราะช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ใครที่เข้าใช้งาน Discord เป็นประจำน่าจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลโก้รูปแบบใหม่ของแพลตฟอร์มนี้
รวมไปถึงโทนสีประจำแพลตฟอร์มของ Discord ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแต่เดิมที่ใช้สี Blurple (น้ำเงินอมม่วง) ก็มีการปรับความสว่างของเฉดสี ให้มีความเป็นสีน้ำเงินสดใสมากขึ้น ทำเอาเหล่าผู้ใช้งานถึงกับงงในการเปลี่ยนแปลงของ Discord ในครั้งนี้
ซึ่งเบื้องหลังของการรีแบรนด์ภาพลักษณ์ของ Discord นอกจากเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 6 ปีของแพลตฟอร์มแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อขยายฐานผู้ใช้ที่นอกเหนือจากเหล่าเกมเมอร์สู่ผู้ใช้งานทั่วไปได้สัมผัสประสบการณ์การสื่อสารบน Discord มากขึ้น
ในบทความนี้ The Growth Master จะขอพาทุกคนไปศึกษาเกี่ยวกับเบื้องหลังของการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของ Discord ในครั้งนี้ ว่าพวกเขาได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างไร รวมถึงทิศทางในอนาคตของแพลตฟอร์มนี้ หลังจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวลือว่ากำลังจะโดน Microsoft ซื้อกิจการด้วยเงินมหาศาล แต่จะจริงเท็จแค่ไหน ไปติดตามกันได้เลย
สู่ยุคใหม่! เบื้องหลังของ Discord กับการรีแบรนด์ภาพลักษณ์ให้มีความทันสมัยขึ้น
เรื่องของการเปลี่ยนแปลงโลโก้และโทนสีของแพลตฟอร์ม เชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งาน Discord เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงได้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยเจ้าโลโก้ใหม่ของ Discord (มีชื่อว่า Clyde) ถูกปล่อยออกสู่สายตาสาธารณะในช่วงวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากโลโก้ Clyde แบบเดิมไปพอสมควร

ซึ่งโลโก้ Clyde แบบใหม่ที่เห็นชัด ๆ เลยคือการถอด “กล่องแชท” ที่หุ้มเจ้า Clyde ไว้อยู่ (Discord ให้กล่องแชทที่ว่าเป็นเหมือนบ้านของ Clyde) รวมถึงมีการปรับหน้าตา ลายเส้น ของเจ้า Clyde ให้มีความเรียบง่าย ต่างจากของเก่า มีการถอดเสาอากาศส่วนหัวออก ทำให้เจ้า Clyde ดูมีความเป็นมิตรมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ผู้ที่นำโลโก้ของ Discord ไปใช้สามารถออกแบบได้ง่ายมากขึ้นนั่นเอง รวมถึงมีการปรับปรุง Font ให้น่าสนใจเพิ่มขึ้นด้วยการหันมาใช้ตัวพิมพ์เล็ก ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน (ฟอนต์ใหม่ของ Discord ชื่อฟอนต์ว่า Ginto)

นอกจากโลโก้และฟอนต์ที่เปลี่ยนไปแล้ว รีแบรนด์ทั้งทีก็ต้องเอาให้สุดเพราะ Discord ก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเฉดสีของแพลตฟอร์มด้วย จากแต่เดิม Discord จะใช้สีโทน Blurple (น้ำเงินอมม่วง) เป็นเฉดสีหลัก และมีเฉดสีรองที่เน้นสีดำ ขาว เทา ประกอบซึ่งเป็นโทนของสีที่เราคุ้นตากันมาโดยตลอดแต่ Discord โฉมใหม่พวกเขาจัดการเพิ่มความสว่างของเฉดสีหลัก Blurple ให้ออกไปทางสีน้ำเงินเข้มมากขึ้น และเพิ่มเติมเฉดสีอื่น ๆ เข้ามาด้วยเช่น เขียน เหลือง แดง ชมพู ถือเป็นการเติมความสดใสบนแพลตฟอร์มชนิดที่ Discord ไม่เคยมีมาก่อน

ซึ่งสาเหตุที่ Discord ยอมยกเครื่องรีแบรนด์แพลตฟอร์มตัวเองใหม่ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นกลยุทธ์ในการหวังเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ๆ เพราะจากตอนแรก Discord ถือเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างเหล่าเกมเมอร์ ระหว่างเล่นเกม ด้วยข้อดีที่เริ่มต้นใช้งานฟรีบวกกับรูปแบบการใช้งานที่ง่าย เอื้อต่อเหล่าเกมเมอร์เวลาสื่อสาร (ปีที่แล้ว Discord ก็มียอดดาวน์โหลดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์บริษัทหลังจากการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารในเกมสุดฮิตอย่าง Among Us) ทำให้ Discord สร้างการเติบโตได้ดีมาตลอด จนมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ มีการสนทนาต่อวัน 4 พันล้านนาที จาก 6.7 ล้านเซิฟเวอร์ที่เปิดใช้งานอยู่ทั่วโลก (ข้อมูลปี 2020)
*อ่านเรื่องราวกลยุทธ์การเติบโตของ Discord แบบเต็ม ๆ ได้ที่ >> บทความนี้
แต่ปัจจุบันการเข้ามาของโควิด-19 ส่งผลให้แพลตฟอร์มการสื่อสารแบบออนไลน์ กลายเป็นอะไรที่จำเป็นในการทำงานขององค์กรทั่วโลก บางแพลตฟอร์มก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในข้ามปีอย่าง Zoom, Microsoft Teams ดังนั้น Discord ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มด้านการสื่อสารออนไลน์ ก็อยากร่วมวงแบ่งชิ้นเค้กในตลาดนี้ด้วย
ซึ่งจริง ๆ แล้วทาง Discord เองก็ได้มีการเผยแพร่ถึงวิสัยทัศน์ของพวกเขาที่ต้องการเปลี่ยน Discord ให้กลายเป็น Place หรือ “พื้นที่” ในการติดต่อสื่อสารออนไลน์ ที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทุกกลุ่มมาตั้งแต่ในช่วงกลางปีที่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังสลัดภาพจำของ Discord ที่เป็น “เกมเมอร์แพลตฟอร์ม” ไปไม่ได้ อาจเพราะเหตุผลด้านความคุ้นชินหลายอย่าง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Discord ต้องตัดสินใจสลัดภาพจำนั้น ด้วยการรีแบรนด์ตัวเองใหม่ทั้งหมดและลดการกล่าวอ้างอิงถึงเกมต่าง ๆ เพื่อเป็นการเริ่มสร้างความทรงจำใหม่ สู่การเป็นพื้นที่สื่อสารรูปแบบออนไลน์ ที่ไม่ใช่เกมเมอร์ก็ใช้บริการได้

แต่จะไหวไหม? เมื่อผู้ใช้บริการ Discord ส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” กับการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มในครั้งนี้
แม้เหตุผลในการรีแบรนด์ของ Discord ครั้งนี้จะดูสวยหรูเพียงใด แต่ก็ใช้ว่าผู้ใช้บริการทุกคนจะชื่นชอบ เพราะเพียงไม่ถึงสัปดาห์หลังการเปลี่ยนแปลง Discord ก็โดนรถบัสชาวเน็ตจัดทัวร์มาลงทันที ด้วยเหตุที่ว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่ ไม่ชอบกับโลโก้และภาพรวมของแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไป บ้างก็ว่าโลโก้ใหม่ของ Discord มันดูอ่อนแอเหมือนของเด็กเล่น หรือผู้ใช้งานบางส่วนก็บอกว่าของเดิมสวยกว่า หนักสุดคือผู้ใช้งานบางคนเรียกร้องให้ Discord แบบเก่ากลับมา จนกลายเป็นมีม (Meme) ออกมาทางอินเทอร์เน็ตให้เราได้ขำขันกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

จนมีชาวเน็ตได้ทำการสำรวจถึงกระแสตอบรับของการรีแบรนด์ของ Discord ในครั้งนี้จากฝั่งผู้ใช้งานด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีแต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบถึงการเปลี่ยนแปลง แต่กลับกันผู้ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คราวนี้ก็ต้องมาดูกันแล้วครับว่า Discord จะมีการออกมาน้อมรับคำวิจารณ์และปรับปรุงจากข้อเสนอแนะที่ผู้ใช้งานของพวกเขาแนะนำมาหรือไม่

เผยทิศทางในอนาคตของ Discord หลังจากมีข่าวลือว่า Microsoft กำลังจ้องจะซื้อกิจการด้วยจำนวนเงินมหาศาล
ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาชื่อของ Discord กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากมีข่าวลือว่าพวกเขาเป็นแพลตฟอร์มเนื้อหอม ที่มีธุรกิจผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกอย่าง Microsoft จ้องที่จะซื้อกิจการด้วยจำนวนเงินมหาศาลกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ (เงินไทยราว 3 แสนล้านบาท) หลังจาก Microsoft เพิ่งจะซื้อ Nuance ที่เป็นซอฟต์แวร์ผู้พัฒนา Siri ไปหมาด ๆ ด้วยเหตุผลที่ทาง Microsoft ต้องการนำเอาฐานผู้ใช้งานของ Discord ที่มีจำนวนมากถึง 140 ล้านคน/เดือน เพื่อการสร้างชุมชนของตัวเองบน Microsoft Azure และจะนำเอา Discord มารวมในบริการของเครื่องเล่นเกม XBOX เพื่อสร้างจุดเด่นด้านระบบการสื่อสารให้กับผลิตภัณฑ์ของธุรกิจตัวเอง
อย่างไรก็ตามเรื่องราวนี้ก็เริ่มมากระจ่างขึ้นในช่วงเดือนที่แล้ว เพราะทาง Discord ได้ออกมาเปิดเผยว่าตอนนี้พวกเขาขอยุติการขายกิจการให้กับ Microsoft และธุรกิจเจ้าอื่น ๆ ที่สนใจ (ลือว่ามี Amazon มาแจมด้วย) โดยที่พวกเขาไม่ได้ออกมาให้เหตุผลว่าทำไมถึงยุติการเจรจาลงแต่เพียงเท่านี้ เพียงแค่ทิ้งท้ายว่ายังมีโอกาสสำหรับอนาคต ตอนนี้พวกเขาขอกลับจริงจังในการทำตามเป้าหมายเดิมคือการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นอเมริกาให้ได้
ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะเป็นการสับขาหลอกของ Discord หรือไม่เพราะย้อนกลับไปช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ก่อนที่พวกเขาจะทำการรีแบรนด์ตัวเองเพียง 1 สัปดาห์ Discord เพิ่งจะประกาศการเป็น Partner กับ Playstation ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Sony Interactive Entertainment (SIE) โดยทาง Sony ก็ได้เข้ามาช่วยลงทุนในรอบการลงทุนซีรีส์ H ของ Discord ที่เกิดขึ้นไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมแล้วด้วย (ไม่ได้มีการเปิดเผยมูลค่าแต่อย่างใด)

แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ ในโลกธุรกิจเพราะสิ่งที่ Sony ต้องการจาก Discord ก็คือการให้ Discord เข้ามาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารบน Playstaion Network (PSN) หรือเครือข่ายเกมออนไลน์ของเครือ Playsation โดยจะทำให้ผู้ใช้งานเครือข่าย PSN ทั้งหมดสามารถใช้ Discord เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารได้ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือเครื่องมืออื่น ๆ ในปี 2022

ส่วนเรื่องของฟีเจอร์การใช้งานแม้ Discord จะมีการรีแบรนด์ชนิดทิ้งลุคเดิม แต่พวกเขาก็ได้ออกมาแถลงว่าส่วนเรื่องของฟีเจอร์การใช้งานทุกอย่าง “ยังเหมือนเดิม” โดยฟีเจอร์หลักล่าสุดที่เพิ่มเข้ามาเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ก็คือฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Stage ที่จะทำให้ผู้ที่เป็น Host ในการประชุมของเซิฟเวอร์นั้น ๆ จัดคิว จัดลำดับในการพูดคุยของสมาชิกในการประชุมแต่ละครั้งได้ ส่วนผู้ร่วมสนทนาก็สามารถ กดยกมือ หากต้องการพูดคุยในการประชุม (เหมือน Clubhouse เป๊ะ) และคาดการณ์ว่าไม่กี่เดือนต่อจากนี้ เราน่าจะได้เห็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Discord ปล่อยออกมาต้อนรับโลโก้ใหม่ของแพลตฟอร์มกันอีกแน่นอน
สรุปทั้งหมด
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจจริง ๆ สำหรับการรีแบรนด์ฉลองครบรอบ 6 ปีของ Discord ในครั้งนี้เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินหน้าที่หลักของ Discord คือการเป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มสำหรับสื่อสารของคนที่เล่นเกม ดังนั้นการที่พวกเขาเลือกที่จะหันมาเข้าสู่การเป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารของทุกกลุ่มผู้ใช้งานก็ถือว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของ Discord ในอนาคต
ไม่แน่ว่าการรีแบรนด์ตัวเองสู่ “ยุคใหม่” ของ Discord อาจจะทำให้พวกเขาสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการเติบโตของธุรกิจก็เป็นได้ ซึ่งทาง The Growth Master เองก็เป็นอีกองค์กรที่ใช้งาน Discord เป็นซอฟต์แวร์ในการประชุมทีมกันในช่วง Work From Home ที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับจริง ๆ ครับว่าด้วยฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆ ที่ Discord มีอยู่นั้นค่อนข้างตอบโจทย์การทำงานแบบ Remote Working ได้ดีเลยครับ เพราะฉะนั้นคงไม่แปลกเลยถ้าในอนาคต Discord อาจกลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกอันดับต้น ๆ ของซอฟต์แวร์ Online Communication แต่จะใช้เวลาเท่าไรนั้น เราคงต้องติดตามกันต่อยาว ๆ