Technology

จัดหนักจัดเต็ม! 21 Tech Stack ที่ธุรกิจ E-Commerce ควรมีในปี 2021

จัดหนักจัดเต็ม! 21 Tech Stack ที่ธุรกิจ E-Commerce ควรมีในปี 2021
Light
Dark
Cartoon Tanaporn
Cartoon Tanaporn

มนุษย์เป็ดเขียนคอนเทนต์ ชอบเขียนมากกว่าพูด เสพติดการมองพระจันทร์เป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลในช่วงเวลา Magic Hour ของทุกวัน

นักเขียน

การแข่งขันธุรกิจ E-Commerce มีความดุเดือดขึ้นตลอดทุกปี ไม่เว้นแม้แต่ปีนี้ที่ทุกคนต่างงัดไม้เด็ดของตัวเองออกมาต่อสู้กับคู่แข่ง ซึ่งนักการตลาดอย่างคุณเองก็เช่นกันที่จำเป็นต้องปรับปรุงและอัปเกรดการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจ E-Commerce ของคุณเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น

ซึ่งในแง่ของ Digital Marketing สำหรับธุรกิจ E-Commerce ก็มักมาพร้อมกับความท้าทายใหม่ ๆ มากมายเสมอ นอกจากนั้นต่างก็ต้องเผชิญกับงานที่ซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการดำเนินการมากขึ้น อีกทั้งต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้แคมเปญต่าง ๆ เสมอ เพื่อที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของตน

วันนี้ The Growth Master จึงอยากขอพานักการตลาดไปรู้จักกับ 21 เครื่องมือในการทำการตลาดในธุรกิจ E-Commerce ในปี 2021 กัน ซึ่งมีตั้งแต่เริ่มสร้างแพลตฟอร์มจนส่งของถึงมือลูกค้ากันเลยทีเดียว

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

21 Tech Stack ที่ธุรกิจ E-Commerce ควรรู้จักและมีติดตัวไว้ในปี 2021

เราไปดูกันว่าซอฟต์แวร์แต่ละตัวจะมีประโยชน์ยังไงกันบ้าง แล้วจะช่วยให้ธุรกิจ E-Commerce ของเราดีขึ้นได้อย่างไรกัน ไปติดตามกันเลย

1. Shopify, WooCommerce, Magento

มาถึงขั้นแรกของการสร้างร้านค้าออนไลน์กันเลย เราขอแนะนำ 3 เว็บไซต์ในหมวด Website Builder ให้เลือกใช้ นั่นคือ…

Shopify

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ถ้าใครที่ต้องการขายสินค้าไปทั่วโลกแล้ว ตัวนี้ตอบโจทย์สุด เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถใช้สร้างร้านค้าออนไลน์ที่เป็นของคุณจบได้ในที่เดียว อีกทั้งมีเทมเพลตสำเร็จรูปมากมายให้เลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะแบรนด์ของเราเองได้ ดังนั้นใครที่ไม่ถนัดเขียนโปรแกรมหรือเขียนไม่เป็นเลย ก็สามารถเลือกใช้ Shopify ได้

และมีแบรนด์ชั้นนำของโลกที่เลือกใช้ Shopify ด้วย เช่น Lindt, VictoriaBeckham, Heinz, Ladygaga

นอกจากนั้น มีลูกเล่นการใช้งานพื้นฐานไปจนถึงการเชื่อมต่อกับระบบขนส่ง DHL สามารถขนส่งสินค้าไปทั่วโลกได้อีกด้วย แถมยังมีระบบ Support พ่อค้าแม่ค้าตลอด 24 ชั่วโมง และมีแพ็กเกจให้เลือกใช้ตามความต้องการของเรา ราคาก็มีตั้งแต่ $29, $79 และ $299 (ประมาณ 875, 2,300, 9,000 บาท) ต่อเดือน แต่ว่ายิ่งแพ็กเกจไหนที่ราคาถูก ก็จะยิ่งเสียเปอร์เซ็นการขายต่อออเดอร์เยอะ ส่วนแพ็กเกจไหนที่ราคาแพงอย่าง $299 ก็จะเสียน้อยหน่อย และมาพร้อมกับ Payment Gateway ในตัว


WooCommerce

เป็นแพลตฟอร์มการสร้างหน้าร้านออนไลน์ที่มี Plug-in ให้ใช้งานเยอะที่สุด ซึ่งนั่นจะทำให้เว็บไซต์ของเรามีลูกเล่นที่หลากหลายน่าใช้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีคนใช้ WooCommerce มากกว่า Shopify และ Magento เสียอีก

ส่วนใครที่ใช้งาน WordPress อยู่แล้ว WooCommerce ก็สามารถเสกให้หน้าเว็บธรรมดา ๆ ของคุณกลายมาเป็นหน้าแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ได้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ระบบสินค้า การขาย สต็อกสินค้า โปรโมชั่น และการจ่ายเงิน เป็นต้น โดยสามารถดาวน์โหลดฟังก์ชั่นพื้นฐานจาก WooCommerce มาใช้ได้เลย ที่สำคัญ ฟรีไม่เสียเงินอีกด้วย 

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้งานฟรีนั้นทางร้านค้าจะต้องมาต่อกับระบบ Payment Gateway เอง ซึ่งมี Plug-in ให้ต่อแบบอัตโนมัติได้

ภาพจาก wordpress


Magento

เป็น Website Bulider จากค่าย Adobe ที่ถูกออกแบบมาเพื่อธุรกิจ E-Commerce โดยเฉพาะ เพราะครอบคลุมทั้งฝั่งหน้าบ้านและหลังบ้านของระบบ ไม่ว่าจะซับซ้อนขนาดไหน Magento ก็สามารถปรับแต่งและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี 

โดยระบบสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ Magento Open Souce สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรี จึงเหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง ซึ่งธุรกิจที่จะใช้ Magento แบบนี้ควรที่จะมีคนดูแลและมีความรู้ในเรื่องของการเขียนโปรแกรมด้วย เพราะอาจมี Bug เข้ามากวนใจบ้างนิดหน่อย

ส่วนอีกแบบ คือ Magento Enterprise ซึ่งต้องจ่ายเงินในราคาขั้นต่ำ $22,000 ต่อปี (ประมาณ 664,000 บาท) จึงเหมาะสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสินค้าเยอะ ๆ แต่ในราคาสูงขนาดนั้น Magento ก็มีบริการ Support ให้ตลอดเวลา

ภาพจาก marketplace


2. Beeketing

เปลี่ยนให้ผู้เยี่ยมชมธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นคนที่ทำรายได้ให้กับเรากันดีกว่า

Beeketing เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ร้านค้ามียอด Conversion เพิ่มขึ้น ด้วยการที่ใช้การส่งอีเมลอัตโนมัติดึงพวกเขากลับมา เช่น ถ้าลูกค้าของคุณกดสินค้าลงตะกร้าไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระเงินหรือหายไปนานนับเดือน

Beeketing จะทำหน้าที่ส่งอีเมลพร้อมแนบลิงก์สินค้าชิ้นนั้นไปให้ เมื่อลูกค้าคลิกลิงก์นั้นไปแล้ว ก็สามารถทำรายได้ต่อได้ทันที อีกทั้งส่งอีเมลแนะนำสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมร้อนแรงอยู่ในขณะนั้นไปให้ลูกค้า เพื่อกระตุ้นความสนใจพวกเขาให้มาซื้ออีกด้วย

นอกจากนั้น Beeketing ยังสามารถปรับแต่ง (Optimize) ในหน้าการสั่งซื้อต่าง ๆ ได้ อย่างการมี Plug-in ที่เป็น Pop-up ข้อความขึ้นมามุมซ้ายล่างของร้านค้า เช่น บอกว่ามีลูกค้ากี่คนกำลังดูสินค้าชิ้นนี้อยู่ มีคนซื้อสินค้าชิ้นนี้ไปแล้วกี่คน เหลือสินค้าอีกจำนวนเท่าไร ซึ่งข้อความเหล่านี้จะช่วยให้เว็บไซต์ของเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าต้องรีบซื้อสินค้าชิ้นนี้แล้ว ถ้าช้าหมดอดไม่รู้ด้วยนะ ซึ่งใน Beeketing ยังมีฟีเจอร์อีกเยอะแยะเต็มไปหมดเลย สามารถดูเพิ่มเติมได้บนเว็บไซต์

สามารถใช้ Beeketing ได้บนแพลตฟอร์ม WooCommerce, BigCommerce และ Weebly

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : CRO Guide : รวมเทคนิคการทำ CRO ให้ธุรกิจออนไลน์ของคุณได้ลูกค้ามากขึ้น (แบบที่คุณทำได้ทันที)

ภาพจาก getapp


3. Wheelio

จะทำยังไงถึงให้คนยอมมา Subscribe อยู่ใน Email / Messenger list ของเราได้มากขึ้นนะ?

นี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งคำถามที่ธุรกิจ E-Commerce ต้องตอบกับตัวเองและหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะให้คนมาติดตาม รับข่าวสารหรือโปรโมชั่นของเราผ่านอีเมลมากขึ้น หรือที่เราเรียกว่า Lead Generation

และมันมีหลายวิธีมาก ๆ ที่จะทำให้คนภายนอกมาเป็น Subscriber ของเรา ซึ่งหนึ่งในวิธีนั้นก็คงจะเป็น Pop-up ต่าง ๆ ที่เด้งขึ้นมาบนหน้าเว็บไซต์ แต่ Pop-up แบบหน้าต่างสี่เหลี่ยมธรรมดาก็ดูน่าเบื่อไปแล้ว

Wheelio เป็นแพลตฟอร์มที่ทำ Pop-up เกมวงล้อ ที่พอหมุนไปแล้วจะมีโค้ดคูปองหรือโค้ดส่งฟรีให้ ซึ่งจากสถิติของ Wheelio บอกว่าจากการใช้ Pop-up แบบนี้ สามารถเปลี่ยนให้ 10-15% ของ Traffic เรา และ 20-30% ของผู้ชมจากอีเมลกลายมาเป็น Subscribers ของเรา และทำให้มียอด Conversion เพิ่มขึ้นถึง 9% เลยทีเดียว

สามารถใช้ Wheelio ได้บนแพลตฟอร์ม Shopify, WooCommerce, Magento, Opencart และอื่น ๆ อีกมากมาย (สามารถดูได้บนเว็บไซต์ Wheelio)

ภาพจาก shopify


4. Privy

อีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับเครื่องมือที่จะมาช่วยเก็บ Lead เข้าสู่ Email / Messenger List ของเรานั่นคือ Privy

Privy สามารถใช้กับธุรกิจ E-Commerce ขนาดเล็กและใหญ่เลย เพื่อทำยอด Conversion ของเว็บไซต์ให้ดีขึ้น ซึ่งจะมี 3 บริการด้วยกัน

  • Privy Convert : จะเป็นการสร้าง Pop-up ที่มีหน้าตาสวยงาม (แอบบอกว่าเมื่อกดไปแล้วมันจะมีริบบิ้นพุ่งออกมาด้วยนะ ว้าวมากจริง) เพื่อเก็บ Lead เข้าสู่ Email List สำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าครั้งแรก
  • Privy Email : จะเป็นการส่งอีเมลอัตโนมัติไปยังลูกค้า ซึ่งเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร โปรโมชั่นต่าง ๆ หรือลูกค้าที่ทำ Abandoned Cart
  • Privy Text : เหมือนกับอีเมลแต่เป็นการส่งโปรโมชั่น คูปอง ข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงดึงลูกค้ากลับมาจาก Abandoned Cart ด้วย ผ่าน SMS ไปบนมือถือของลูกค้า

นอกจากนั้น Privy ยังสามารถใช้งานร่วมกับ WooCommerce, Shopify และ Shopify Plus ได้อีกด้วย ถ้าเรามีบัญชีของ Shopify อยู่แล้ว เราจะสามารถตั้งค่าบัญชีได้ภายในไม่กี่วินาที และตั้งแคมเปญที่สามารถใช้งานได้เลย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : Lead Generation Hacks: 5 ตัวอย่างกลยุทธ์การเพิ่มรายชื่อว่าที่ลูกค้าอย่างรวดเร็ว

ภาพจาก bigcommerce


5. Recart

78% ของสินค้าที่ถูกกด Add to Cart ไปแล้วจะไม่ถูกซื้อ

โอ้โห ตัวเลขนี้ก็เป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวสำหรับคนที่ทำธุรกิจ E-Commerce เหมือนกันนะเนี่ย

แต่หมดห่วงได้เลย เพราะ ReCart จะเข้ามาช่วยดึงลูกค้าเหล่านั้นกลับมาให้คุณเอง ด้วยการทำ Messenger Marketing ผ่านแพลตฟอร์มที่พวกเขาใช้งานอยู่อย่าง Facebook Messenger

โดยเจ้า ReCart มีหลักการทำงานที่ว่า เมื่อลูกค้ากดสินค้าใส่ตะกร้าแล้ว และจะมี Sticky Discount Box ขึ้นมาว่า ถ้าลูกค้าคนไหนอยากได้ส่วนลดนี้ ต้องกดยินยอม Privacy เพื่อให้ ReCart สามารถเข้าถึงข้อมูลบน Facebook ก่อน จากนั้น ReCart จะส่งข้อความไปถามว่า ‘อีเมลของลูกค้าคืออะไร’ บน Facebook Messenger จากนั้นส่วนลดจะ Unlock เพื่อให้ลูกค้าเอาไปใช้ได้ (จากการแจกส่วนลดก็เพื่อจูงใจให้ลูกค้ายอมกดยินยอมนี่แหละ)

เมื่อลูกค้าคนใดที่กดสินค้าใส่ตะกร้าไปแล้ว และไม่จ่ายเงิน ReCart จะส่งข้อความไปแจ้งเตือนว่า ‘คุณยังทิ้งสินค้าไว้ในตะกร้าอยู่เลย’ (แปลง่าย ๆ ก็คือ อย่าลืมมาจ่ายเงินด้วยนะ) เพื่อเป็นการลด Abandoned Cart ของลูกค้านั่นเอง

นอกจากนั้น คุณก็สามารถส่งแจ้งเตือน โปรโมชั่นต่าง ๆ หรือแนะนำสินค้าผ่านช่องทางนี้ได้ เท่านั้นยังไม่พอ ลูกค้าก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ได้โดยตรงกับร้านค้าเลยผ่าน Facebook Messenger อันนี้ สะดวกมาก!

สามารถใช้ ReCart ได้บนแพลตฟอร์ม Shopify และ WooCommerce

ภาพจาก optimonk


6. Rejoiner

Rejoiner เป็นแพลตฟอร์มในการทำ Email Marketing ที่ช่วยให้เจ้าของร้านค้าสามารถปรับแต่งการทำ Email Marketing ได้ เพื่อช่วยลดจำนวนตะกร้าสินค้าที่ถูกละทิ้ง (Abandoned Cart)

Rejoiner จะจับตาดูพฤติกรรมของลูกค้าทันทีที่มีการกรอกอีเมลลงในแบบฟอร์ม ถ้าลูกค้าหยิบสินค้าลงใส่ตะกร้าแล้ว และยังไม่ได้ชำระเงิน เราสามารถส่งอีเมลไปยังลูกค้าเพื่อกระตุ้นให้พวกเขากลับมาทำรายการให้สำเร็จ 

โดยคลิกที่ลิงก์ที่ส่งไปให้ในอีเมล ซึ่งลูกค้าสามารถทำได้บนอุปกรณ์อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่เดียวกันกับที่หยิบสินค้าลงตะกร้าเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นเราสามารถรับ Insight เกี่ยวกับจำนวนตะกร้าสินค้าที่ถูกละทิ้ง เพื่อดูว่าเป็นเพราะอะไรและมาปรับปรุงตรงนั้นเพื่อที่จะทำให้มียอดขายมากขึ้นอีกด้วย

สามารถใช้ Rejoiner ได้บนแพลตฟอร์ม Shopify, WooCommerce และ WordPress 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : 7 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าต้องการให้ธุรกิจ E-Commerce ของคุณประสบความสำเร็จในปี 2021

ภาพจาก rejoiner


7. ReferralCandy

ReferralCandy จะช่วยให้เราสามารถทำการตลาดแบบบอกต่อ (Referral) ได้ เพราะการตลาดแบบบอกต่อเป็นวิธีการทำการตลาดที่ได้ผลมากที่สุด ที่จะทำให้คนมาซื้อสินค้าของเรา เนื่องจากลูกค้ามักจะเชื่อคำบอกต่อจากคนใกล้ตัวมากกว่าคำโฆษณาของแบรนด์

ซึ่งมี 83% ของลูกค้ายินดีที่จะทำ Referral ให้เรา แต่มีเพียง 29% เท่านั้นที่ลงมือทำจริง

ReferralCandy จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าของเราเหล่านั้นทำการบอกต่อร้านค้าของเรากับผู้อื่น โดยการแชร์ไปยัง Facebook, Twitter ของพวกเขา หรือส่งอีเมลไปหาเพื่อนโดยตรง ซึ่งเราก็จะมีระบบในการดูเบื้องหลัง คอยวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับแคมเปญ

และที่สำคัญยังมีระบบป้องกันการฉ้อโกง, ดูวิเคราะห์ผล ROI แบบ Real-Time และยังสามารถไปผสานกับอีก 18 แพลตฟอร์มอื่นได้อย่างไร้รอยต่ออีกด้วย เช่น Shopify, WooCommerce, BigCommerce, Magento, Amazon เป็นต้น

ReferralCandy ใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopify, WooCommerce และ BigCommerce

ภาพจาก bigcommerce


8. Viral-loops

92% ของผู้บริโภคเชื่อคำแนะนำ สินค้าบอกต่อจากเพื่อน ญาติ คนรู้จักมากกว่าคำโฆษณา - Nielsen

เห็นสถิติแบบนี้แล้วธุรกิจไหน ๆ ก็อยากให้มีคนไปบอกต่อธุรกิจของเรากับคนอื่นเยอะ ๆ อยู่แล้วใช่ไหม งั้นเราก็ให้ Viral-loops เป็นตัวช่วยในการทำตลาดตรงนี้เลยสิ

เพราะว่า Viral loops มีจุดเด่น คือ การที่มี Template Base ของการทำ Referral แต่ละรูปแบบมาให้อยู่แล้ว โดยที่เราไม่ต้องตั้งค่าเองเลย ถ้าเราอยากสร้าง Referral แบบไหนก็สามารถเลือกใช้ได้เลย เช่น Milestone Referral เป็นการบอกต่อที่คล้าย ๆ กับเช็กพอยท์ที่เราต้องชวนเพื่อนไปถึงเช็กพอยท์ที่กำหนดไว้ จึงจะได้รับของมา อย่างถ้าเราชวน 5 คน จะได้รับส่วนลด 5% ถ้าชวนถึง 15 คน จะได้รับส่วนลด 10% เป็นต้น (สามารถดู Template ทั้งหมดได้บนเว็บไซต์)

Viral-loops ใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopify, WooCommerce หรือ WordPress

หรือสามารถดู Software Review ได้ที่ >> https://bit.ly/38phujN

บทความที่เก่ียวข้อง : สร้างแบรนด์ให้ดังด้วยพลังของการบอกต่อ

ภาพจาก itdhunt


9. Usertesting

User Experience เป็นสิ่งที่สำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ ของร้านค้าออนไลน์เลยก็ว่าได้ เพราะถ้าลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากร้านค้าของเรา เช่น ไม่สามารถดูรายละเอียดสินค้าแบบชัด ๆ, หาหน้าจ่ายเงินไม่เจอ หรือกดจ่ายตังไปแล้วเว็บล่ม แล้วใครล่ะ อยากจะมาซื้อสินค้าจากร้านค้าของเรา? 

แล้วทำยังไงล่ะ เราถึงจะรู้ Feedback ของลูกค้าเหล่านั้นได้?

Usertesting ทำให้เราสามารถรู้ Insights และ Feedback ของลูกค้าได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง (ถือว่าเป็นการย่นระยะเวลาในการเก็บข้อมูลไปในตัว) ซึ่งบริษัทดัง ๆ อย่าง Facebook, Domino’s, Coursera, Whirlpool, Airbnb ก็ใช้ Usertesting เพื่อทำให้เข้าใจบริษัทตัวเองจากมุมมองของลูกค้าเช่นกัน

โดยวิธีการทำงานมีอยู่ว่า ขั้นตอนแรกเราอยากจะทดสอบอะไร เช่น เว็บไซต์, แอปพลิเคชัน, คอนเทนต์, Customer Journey หรือแม้แต่เว็บไซต์ของคู่แข่งเอง

Usertesting จะทดสอบโดยการให้เรากำหนด Target ของเราลงไป แล้วเขาก็จะส่งหัวข้อที่เราอยากรู้ ไปให้ Persona ที่เรากำหนดไป จากนั้นพวกเขาก็จะให้ Feedback กลับมาในช่องทางต่าง ๆ เช่น Interview, Conversation เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น

เราไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากรับฟัง Feedback จากผลการทดสอบนั้น แล้วนำมาปรับปรุง แก้ไข และทำตามความต้องการของลูกค้า

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ประสบการณ์ของลูกค้าที่ดีจริงๆแล้ว เป็นอย่างไร ? สรุปรายงานด้าน Customer Experience จาก Adobe

ภาพจาก usertesting


10. Metorik

สเต็ปแรกในการปรับปรุงร้านค้าออนไลน์ของเราให้ดีขึ้น คือ การทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ เพื่อหาจุดบกพร่องนั้น ๆ แต่ตัวช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลไม่ได้มีแค่ Google Analytics ตัวเดียว แต่ยังมี Metorik ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ใช้กัน

หัวใจสำคัญของ Metorik นั่นคือ Dashboard ที่สวยงามและมีทุกเมตริกที่เป็นประโยชน์ต่อร้านค้าของเรา ซึ่งสามารถเลือกใช้จากเทมเพลตที่มีมาให้ หรือจะปรับแต่ง Dashboard ได้ตามใจชอบเลย อีกทั้งดูผลแบบ Real-time สะดวก รวดเร็ว ได้เช่นกัน

การตั้งค่าต่างๆ Metorik ช่วยให้เราเห็นข้อมูลร้านค้าของเรา เช่น รายได้, ผลิตภัณฑ์, ลูกค้า, แหล่งที่มาของลูกค้า (เว็บไซต์, Ads, Social Media, ...), อุปกรณ์ที่ลูกค้าใช้ (โทรศัพท์, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์, ...), คำสั่งซื้อหรือการสมัครสมาชิกของลูกค้าล่าสุด และข้อมูลอื่น ๆ อีกทั้งยังรายงานผล KPI อีกด้วย

Metorik ใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopify และ WooCommerce

ภาพจาก metorik


11. Klaviyo

การสื่อสารให้ถูกคน ถูกช่องทาง ถูกเวลา นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าเกิดเราส่งข้อความไปหาคนที่ไม่สนใจ จะทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แรงเงินมากเท่าไร เขาก็ไม่มีใจให้เราอยู่ดี (เรื่องมันเศร้าจัง T^T)

Klaviyo จึงรับหน้าที่เป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ระหว่างตัวธุรกิจ E-Commerce เองและลูกค้า ทำหน้าที่ส่ง Email Automation ในแบบ A/B testing คือส่งในสิ่งที่แตกต่างกันให้กับลูกค้าแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หัวเรื่อง หรือระยะเวลาของอีเมลในชุดต่าง ๆ เพื่อทดสอบดูว่าลูกค้าคนนั้นชอบหรือไม่ชอบอีเมลแบบไหน

Klaviyo จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคล (Personalized Experience) ให้กับลูกค้าของเรา หมายความว่าถ้าเรารู้เส้นทางแล้วว่าลูกค้าแต่ละคนชอบแบบไหน จะได้ทำการตลาดมุ่งเป้าหมายไปยังลูกค้าเหล่านั้นอย่างถูกต้องเลย และจำนวนคลิกโฆษณา, จำนวน Traffic ที่เข้าไปสู่เว็บไซต์ของเรา และยอดขายของเราเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

Klaviyo ใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopify, BigCommerce, Commerce Cloud, Magento และ WooCommerce

ภาพจาก klaviyo


12. Omnisend

ปกติแล้ว Email Marketing เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ถือว่าช่วยเพิ่มยอดขายให้ E-Commerce ได้เยอะเลยทีเดียว แต่ว่ายิ่งทำ ๆ ไป Email ROI ก็ลดลงเรื่อย ๆ นั่นก็เพราะว่าปัจจุบันลูกค้ามีช่องทางซื้อของที่หลากหลายกว่าเดิม (Omni Channel) 

และพวกเขาต่างก็ต้องการที่จะเห็นอะไรที่ Personalized เกี่ยวข้องกับพวกเขา จึงน่าเสียดายที่ Email ไม่สามารถตอบโจทย์ความ Personalization ตรงนั้นได้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น Omnisend จึงเกิดมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาตรงนั้น และช่วยเหล่า E-Commerce ทำให้ข้อความที่จะส่งไปหาลูกค้าเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง ด้วยการส่งข้อความแบบถูกคน ถูกเวลา และถูกช่องทาง

ด้วยการใช้ทั้งอีเมล, SMS หรือการแจ้งเตือนอื่น ๆ รวมอยู่ในขั้นตอนการทำงานอัตโนมัติเดียวกัน แถม Omnisend ยังมีเทมเพลตให้เลือกใช้ ตั้งแต่ดึงดูดให้ผู้คนมาสมัครรับข่าวสาร, ช่วยไม่ให้มี Abondoned Cart หรือเทมเพลตการสั่งสินค้าที่มาพร้อมกับการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมการซื้อ 

จากที่กล่าวมา Omnisend ทำได้ทุกอย่างทั้ง Advanced Automation, Smart Segmentation, Precise Targeting จัดเป็นอีกตัวนึงที่น่าใช้มาก ๆ สำหรับชาว E-Commerce ที่ต้องการทำ E-mail Marketing

ส่วนใครที่ใช้งาน Shopify, WooCommerce, Magento ก็สามารถใช้ร่วมกับ Omnisend ได้เหมือนกัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : เพิ่ม Lead ให้ไว ด้วยกลยุทธ์ E-mail Marketing อีกหนึ่งความได้เปรียบทางการตลาด ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

ภาพจาก shopify


13. TapCart

จากสถิติบอกว่า 71% ของคนไทยซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวเลขนี้ก็ถือว่าไม่ค่อยน่าตกใจสักเท่าไร เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่าในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเราเลยก็ว่าได้ ทั้งซื้อของและจ่ายเงิน เราสามารถทำธุรกรรมเหล่านั้นได้จบบนโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว

การทำธุรกิจ E-Commerce ของเรานั้นจึงจำเป็นต้องมีหลายแพลตฟอร์ม เพื่อที่ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ไม่ต้องคอยซื้อของจากแค่เพียงหน้าเว็บไซต์ร้านค้าของเราเท่านั้น

TapCart เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสานฝันให้คนที่มีร้านค้าออนไลน์ให้มีแอปพลิเคชัน สามารถทำได้เลยโดยที่ไม่จำเป็นต้องง้อโปรแกรมเมอร์ และตกแต่งร้านค้าได้ตามใจชอบจากเทมเพลตที่มีให้

ที่สำคัญยังสามารถส่งการแจ้งเตือนเพื่อเรียกให้ลูกค้ากลับมาซื้อของได้ และยังสามารถสร้างคอนเทนต์ สร้างฟีเจอร์ Sales สินค้าเหมือนกับแอปพิลเคชันทั่วไปได้เลย ย้ำอีกครั้ง ! ทุกอย่างสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ลืมนักพัฒนาไปได้เลย

เพราะฉะนั้นใครที่ใช้งาน Shopify อยู่แล้ว TapCart ก็จะเปลี่ยนเว็บไซต์ของคุณให้กลายเป็น Mobile Application ได้เลย

ภาพจาก shopify


14. Funnelytics

Customer Journey ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำการตลาด ถ้าลูกค้าเลือกเดินเข้ามาในร้านค้าของเราแล้ว อยู่ ๆ ก็เดินออกไปโดยที่ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือกลับไปเลย แสดงว่าร้านค้าของเราต้องมีช่องโหว่แล้วแน่ ๆ 

เพราะฉะนั้น Funnelytics จะมาทำหน้าที่ช่วยร้านค้าของเราอุดช่องโหว่ตรงนั้นเอง

Funnelytics ช่วยให้เราวางแผน วิเคราะห์ และดูเส้นทางการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) ตั้งแต่ลูกค้าเข้าชมร้านค้าของเราในช่องทางต่าง ๆ เช่น หน้าเว็บหรือบนโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งสิ้นสุดการซื้อ ให้ออกมาในรูปแบบ Visual ด้วยเทมเพลต Funnel Maps และไอคอนช่องทางต่าง ๆ อย่าง Facebook, Email, Website เพื่อให้ทีมของเราเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น 

อีกทั้งยังสามารถช่วยกัน แบ่งปัน เสนอแนวคิด และวางแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับช่องทางต่าง ๆ ว่าเมื่อลูกค้าเข้ามาแล้ว ควรจะพาไปช่องทางไหนต่อ ควรทำให้ลูกค้าเกิด Action กับร้านค้าตรงจุดไหน นอกจากนั้นยังแสดงตัวเลขในแต่ละช่องทางด้วยว่าจะทำกำไรได้ยังไง การโฆษณาตรงนั้นมีค่าใช้จ่ายเท่าไร กำหนดเป้าหมาย และจำลองผลลัพธ์ก่อนที่เราจะลงมือทำจริง

Funnelytics ใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopify, WooCommerce, WordPress

ภาพจาก perfect-review


15. Omise

การเลือก Payment Gateway หรือ ช่องทางการชำระเงินก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกันที่จะทำให้ลูกค้าของคุณ ตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าต่อไปหรือไม่ เพราะถ้ามีระบบที่ไม่เสถียร ใช้งานยาก ซับซ้อน ลูกค้าที่กำลังจะซื้อของของเรา ก็สามารถบอกลาเราไปได้ในชั่วพริบตาเดียวเหมือนกัน...

Omise คือ Payment Gateway เต็มรูปแบบสำหรับการจัดการการชำระเงินออนไลน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้ระบบจ่ายเงินบนร้านค้าออนไลน์ของเราง่ายขึ้น โดยไม่ต้องชำระผ่านธนาคาร ซึ่งถ้าเราใช้ระบบนี้ ลูกค้าของเราจะสามารถชำระเงินผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต พร้อมเพย์ ทรูมันนี่วอลเล็ท และอาลีเพย์ (เพราะเขาได้เข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับ Alibaba เรียบร้อยแล้ว) เป็นต้น

นอกจากนั้น Omise ยังมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยการชำระเงินจะเริ่มต้นและสิ้นสุดบนเว็บไซต์ของลูกค้าเลย จะไม่มี Pop-up หรือโยกย้ายไปอีกเพจที่ทำให้ลูกค้าเสียสมาธิ หรือถ้าเกิดในระหว่างโหลดหน้าชำระเงินเกิดความล่าช้า จะทำให้ลูกค้าปิดหน้านั้นลงไปในที่สุด และไม่อยากเสียเงินให้กับร้านค้าของเรา

นอกจากนั้น Omise ก็มีเทมเพลตแบบฟอร์มการชำระเงินมาให้เลือกใช้ โดยที่เราไม่ต้องสร้างขึ้นมาเอง และที่เจ๋งสุด ๆ ถ้าเรามีลูกค้าจากทั่วโลก ลูกค้าก็สามารถจ่ายเงินได้ด้วยสกุลเงินที่พวกเขารู้จักดีที่สุดได้

Omise ใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopify, WooCommerce

ภาพจาก omise


16. Stripe

อีกหนึ่ง Payment Gateway ที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ E-Commerce นั่นคือ Stripe 

Stripe ได้รวบรวมทุกสิ่งที่จำเป็นในการสร้างเว็บไซต์ แอปชำระเงิน และการจ่ายเงินไปทั่วโลกไว้ในแพลตฟอร์มเดียว โดยรับชำระเงินและโอนเงินไปทั่วโลกด้วย API และซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพที่ออกแบบมา เพื่อช่วยให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น

ซึ่ง Stripe ใช้ได้สำหรับธุรกิจออนไลน์, การธุรกรรมการเงินแบบบุคคล, ธุรกิจการสมัครสมาชิก (Subscription), แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์, Marketplaces หรือกระบวนการการเงินทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนั้น ยังสามารถป้องกันระบบการชำระเงินของร้านค้าเราจากการฉ้อโกงต่าง ๆ เพิ่มการรักษาความปลอดภัยด้วยการเพิ่มกระบวนการอนุมัติการชำระเงินทุกครั้งโดยใช้ Machine Learning และข้อมูลจากธุรกิจหลายล้านแห่ง อีกทั้งยังช่วยออกใบแจ้งหนี้ทั้งแบบ Virtual และ Physical ได้อีกด้วย

องค์กรใหญ่ ๆ ของโลก เช่น Amazon, Unicef, Booking.com, Google, Petolon, etc. ก็ใช้ Stripe เหมือนกัน

ภาพจาก mobiletransaction


17. Loox

ข้อเสียอย่างหนึ่งของการซื้อของบนร้านค้าออนไลน์ นั่นคือ ลูกค้าจะไม่เห็นสินค้าจริง ดังนั้นสิ่งที่ลูกค้าทำได้นั่นก็มีเพียงแค่การดูรูปภาพหรือวิดีโอจากร้านค้าของเรา แต่ไม่ว่าสินค้าเราจะเจ๋งแค่ไหน จะถ่ายรูปสวยแค่ไหน ก็ไม่อาจทำให้ลูกค้ามาไว้ใจเราได้นัก แล้วเราจะทำยังไงเพื่อให้ลูกค้าของเรามาไว้ใจเรามากขึ้น นั่นก็เหลือเพียงวิธีเดียวที่คนส่วนใหญ่มักทำกัน นั่นก็คือ ‘การดูรีวิว’

Loox เป็นแอปพลิเคชันรีวิวอันดับ 1 บน Shopify ที่รวบรวมรีวิวภาพถ่ายจากลูกค้าที่แฮปปี้หรือพึงพอใจกับสินค้าของเรา

เราสามารถติดตั้ง Loox ได้อย่างง่ายดายเพื่อใช้ในการส่งอีเมลอัตโนมัติไปยังลูกค้า ให้พวกเขารีวิวสินค้ากลับมา ถ้าเกิดว่าลูกค้าคนไหนรีวิวพร้อมแนบรูปกลับมาด้วย ก็จะได้รับส่วนลดกลับไปใช้ซื้อของในครั้งต่อไปอีกด้วย

จากการรีวิวของลูกค้ากลุ่มนั้น เมื่อลูกค้าคนอื่น ๆ มาเห็นก็จะเกิดความไว้ใจว่าสินค้าของเราดีจริงนะ ร้านค้าของเรามีตัวตนอยู่จริง พวกเขาก็จะไม่ลังเลที่จะซื้อของในร้านค้าของเรา เป็นการเสริมสร้างแบรนด์ และเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าไปในตัวอีกด้วย

Loox ใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopify

ภาพจาก shopify


18. MyCloudFulfillment

เคยไหมที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเยอะเกินไปจนทำให้ส่งสินค้าไม่ทัน? ปัญหาเหล่านั้นจะหมดไปด้วย Mycloudfulfillment

MyCloudFulfillment เป็นคลังสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ที่ขายในหลายช่องทาง เช่น Marketplace, Website, Social Commerce และอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยผ่อนแรงธุรกิจของเราด้วยการจัดเก็บ-แพ็ค-ส่งสินค้า ส่งตรงถึงมือลูกค้าของคุณให้ง่ายขึ้น

ด้วยโปรแกรมจัดการออเดอร์ที่เชื่อมต่อผ่าน API และบริการที่ยืดหยุ่นปรับแต่งได้ตามใจชอบ ซึ่ง Mycloudfulfillment เป็นบริษัทของประเทศไทย และได้รับความไว้วางใจจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทข้ามชาติมากมายอีกด้วย

บริษัทดัง ๆ ที่ใช้บริการ เช่น ดอยคำ, PTT Blue Card, SMtrue, EveandBoy, Dr.Jill, Revlon, Nivea และอื่น ๆ อีกมากมาย

MyCloudFulfillment ใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopify, WooCommerce, Shopee, Lazada

ภาพจาก sunnysideupstudio


19. Shipyours

อีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับบริการด้าน Warehouse จัดการสต็อกสินค้าของไทย นั่นคือ Shipyours

Shipyours ช่วยบริหารจัดการสินค้าในสต็อกของร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยจะเชื่อมต่อ และทำการดึงออเดอร์อย่างอัตโนมัติจาก MarketPlace อย่าง Lazada, Shopee และ JD นอกจากนี้ ยังมี Open API สำหรับ Plug In Shopping Cart ภายในเว็บไซต์ของเราเข้ากับระบบของ Shipyours เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน

นอกจากนั้น ยังช่วยแจ้งเตือนเมื่อสินค้าใกล้หมด ช่วยบอกว่าสินค้าตัวไหนขายดี และยังบอกด้วยว่าคนจังหวัดไหนสั่งซื้อสินค้าของเรามากที่สุดอีกด้วย

Shipyoursใช้งานได้บนแพลตฟอร์ม Shopee, Lazada, JD.co.th

ภาพจาก shipyours


20. Shippop

อีกหนึ่งปัญหาที่พบสำหรับร้านค้าออนไลน์ คือ การไปส่งของนี่แหละ ถ้าเกิดว่าไม่อยากไปเสียเวลาต่อแถวที่บริษัทขนส่งต่าง ๆ จะทำยังไงกันนะ?

Shippop ให้บริการเกี่ยวกับ E-Logistic หรือแพลตฟอร์มการขนส่งบนโลกออนไลน์ในประเทศไทย ด้วยการรวบรวมบริการขนส่งพัสดุในประเทศไทยให้เข้ามาอยู่ในระบบ Shippop และเชื่อมต่อระบบด้วย API กับร้านค้าและบริษัทขนส่งต่าง ๆ

โดยจะให้บริการขนส่งสินค้าสำหรับร้านค้าออนไลน์ที่มียอดส่งพัสดุมากกว่า 20 ชิ้น / วัน ด้วยราคาที่ถูกกว่าใช้งานปกติ เนื่องจากได้ซื้อเหมาจำนวนการขนส่งล่วงหน้า เพื่อนำมาให้บริการสำหรับร้านค้าทั่วไป

ซึ่ง Shippop ร่วมกับบริษัทขนส่งในไทยกว่า 10 ราย ทั้งแบบส่งวันเดียวหรือวันถัดไปถึงมือลูกค้า เช่น ไปรษณีย์ไทย, SCG Express, Lalamove, Kerry, Flash, CJ GLS หรือ DHL เป็นต้น

ภาพจาก pantip

21. Fastship

ถ้าธุรกิจ E-Commerce ของเรามีลูกค้ากระจายอยู่ทั่วโลกเลยล่ะ จะทำยังไงถึงจะส่งสินค้าไปหาพวกเขาได้อย่างรวดเร็วกันนะ?

Fastship ช่วยเป็นตัวกลางให้ร้านค้าออนไลน์เข้าถึงบริการส่งสินค้าไปต่างประเทศกับบริษัท Logistic ชั้นนำได้ง่ายขึ้น เช่น DHL, FedEx, Aramex, ThaiPost, SF Express

ยิ่งถ้าเราเป็นร้านค้าออนไลน์ สินค้าจะถึงมือลูกค้าปลายทางได้รวดเร็ว และ Fastship ยังมีระบบที่สามารถเชื่อมต่อกับ Marketplace ชั้นนำด้วย เช่น Ebay, Amazon, Etsy, Alibaba

ภาพจาก linkedin

สรุปทั้งหมด

นอกจากที่เราจะต้องเข้าใจหลักการทำงานของธุรกิจ E-Commerce แล้ว เราก็ควรเข้าใจด้วยว่าสิ่งไหนควรทำหรือสิ่งไหนควรหลีกเลี่ยงในการทำธุรกิจ E-Commerce เพื่อที่จะได้งัดท่าไม้ตายออกมาฟาดฟันกับคู่แข่งของเราได้ ในยุคที่การแข่งขันในวงการนี้มีความดุเดือดสุด ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น คุณจะสังเกตได้ว่าตอนนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ E-Commerce เลย ตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์ม การทำการตลาด การวิเคราะห์ข้อมูล ระบบสต็อกสินค้า หรือแม้แต่ระบบขนส่งสินค้าเองก็ตาม ทุกอย่างล้วนสามารถเชื่อมโยงกันทั้งหมดได้ด้วยเทคโนโลยี

เพราะฉะนั้นแล้ว คุณควรที่จะรู้จัก Tech Stack เหล่านี้ไว้ เพื่อความสะดวกสบายในการทำงานของคุณเอง และทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบพุ่งทะยานในอนาคต เทคโนโลยีนี่แหละถือว่าเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญเลยสำหรับธุรกิจ E-Commerce ในปี 2021 นี้

มาเติบโตไปด้วยกันนะคะ :)





ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เราช่วยธุรกิจของคุณให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม

ติดตามข้อมูลการตลาด
Growth Hacking ได้เลยทีนี่
มากกว่า 2,000 บริษัทติดตาม The Growth Master ตอนนี้
ไปที่หน้า Subscribe