กลยุทธ์ Email Marketing คืออะไร? อีกหนึ่งความได้เปรียบทางการตลาด ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

กลยุทธ์ Email Marketing คืออะไร? อีกหนึ่งความได้เปรียบทางการตลาด ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม
Light
Dark
The Growth Master Team
The Growth Master Team

The Growth Master Team ผู้รักในการเรียนรู้ หลงใหลในเทคโนโลยี และแฮปปี้กับการเติบโต

นักเขียน

กลยุทธ์ Email Marketing อีกหนึ่งความได้เปรียบทางการตลาด ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

ในปัจจุบันโลกของการตลาดออนไลน์มีกลยุทธ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย และเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้กลายมาเป็นลูกค้าใหม่ ๆ รวมถึงดึงลูกค้าเดิมให้กลับมาซื้อสินค้าและบริการซ้ำเรื่อย ๆ อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์การทำ Content Marketing, Inbound Marketing, SEO หรือ SEM หรือแม้กระทั่งการใช้ Facebook Ads เองก็ตาม 

แต่จะมีอยู่วิธีหนึ่งที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือการทำ Email Marketing หรือการทำการตลาดผ่านอีเมล ซึ่งกลยุทธ์นี้ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สามารถสร้างยอดขายและทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าเดิมที่เคยเข้ามาซื้อสินค้าของเราไปแล้วครั้งหนึ่ง (นับว่าเป็นกลุ่มลูกค้าคนสำคัญด้วย) ซึ่ง Email ก็สามารถดึงให้พวกเขากลับมาซื้อซ้ำอีกครั้งได้ 

ซึ่งจริง ๆ แล้ว Email ยังเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ตามในปัจจุบันที่มีการใช้งานในโลกออนไลน์แทบจะทุกอย่าง ต่างก็ต้องมีติดตัวกันทั้งนั้น ทั้งการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-Commerce, การทำธุรกรรมทางการเงิน, การเปิดบัญชีการลงทุน, การใช้งานโซเชียลมีเดีย หรือการเล่นเกมออนไลน์ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่กับเรามานานมากทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุค MySpace, MSN และ Hi5 เป็นต้นมา (อย่า อย่ามาตีเนียนว่าไม่รู้จักนะ!) ทำให้การทำ Email Marketing เป็นช่องทางที่ทำให้เข้าถึงพวกเขาไม่ยากอีกต่อไป

ในบทความนี้ The Growth Master จะขอพาทุกคนไปรู้จักกลยุทธ์ Email Marketing ให้มากขึ้น และขั้นตอนการทำ พร้อมกับแนะนำเครื่องมือตัวช่วยที่ทำให้การทำ Email Marketing สามารถช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจของคุณกัน ไปติดตามกันต่อได้เลย

ภาพจาก osiaffiliate

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

Email Marketing คืออะไร?

Email Marketing คือ หนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในรูปแบบของอีเมล โดยเป้าหมายของการทำ Email Marketing ไม่ใช่มีไว้เพื่อทำการขายโดยตรง (Direct Sell) แต่จุดประสงค์ของมันคือเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์, การโฆษณาสินค้าและบริการใหม่ ๆ, การเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสาร หรือโปรโมชันต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถสร้างให้ลูกค้ามีความภักดีต่อธุรกิจเรา (Customer Loyalty) ได้อีกด้วย ผ่านการทำ Email Marketing

จากสถิติพบว่า 

  • ในปี 2021 มีผู้คนทั่วโลกใช้อีเมลกว่า 4.15 พันล้านคน และคาดว่าในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 พันล้านคน (Statista)
  • 80% ของชาวอเมริกาเช็กอีเมลอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน และเกือบ 1 ใน 4 มีการเช็กอีเมลหลายครั้งในหนึ่งวัน (Fluent Inbox Report)
  • 80% ของผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเชื่อว่า Email Marketing ช่วยเพิ่มอัตราการกลับมาซื้อ (Retention) ของลูกค้าเก่าได้จริง (Emarsys
  • 87% ของธุรกิจแบบ B2B มักจะใช้กลยุทธ์ Content Marketing ด้วยการใช้ Email เป็นสื่อกลาง ซึ่งเป็นรองแค่ช่องทางโซเชียลมีเดีย (89%) (Content Marketing Institute)
ภาพจาก Content Marketing Institute

อย่างไรก็ตาม การทำ Email Marketing เราจำเป็นต้องมีรายชื่อหรือ Email List ของลูกค้าอยู่ในมือก่อน จึงจะสามารถสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้กับลูกค้าในด้านต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่, แจกส่วนลด หรือแนะนำบริการด้านอื่น ๆ ของธุรกิจ 

Email Marketing ยังจัดว่าเป็นวิธีหนึ่งในการทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ โดยเฉพาะกับการทำธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) หากแบรนด์รู้จักออกแบบการใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง เพราะมันสามารถช่วยเพิ่มยอด ROI (Return on Investment), ยอด Conversion หรืออื่น ๆ อีกได้ รวมถึงยังสามารถส่งมอบคุณค่าของแบรนด์ให้กับลูกค้า และยังสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างลูกค้าและแบรนด์ได้โดยตรงผ่านช่องทางนี้

ภาพจาก lyfemarketing

ทำไม Email Marketing ถึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลาย ๆ คนมักมองข้ามล่ะ?

ถึงแม้เราจะบอกว่า Email Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ แต่นักการตลาดหลายคนก็ยังละเลยที่จะไม่ทำ Email Marketing อยู่ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากมักมีความรู้สึกในแง่ลบกับ Email เนื่องจากจำนวน Email ที่ได้รับในแต่ละวันมีไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นทั้งจาก Spam Mail หรือ Email จากธุรกิจต่าง ๆ ที่ส่งมาถี่เกินไป และเนื้อหาข้างในก็ไม่ตรงกับความต้องการของเราเลย จนอาจสร้างความรำคาญให้แก่ได้ในบางครั้ง นอกจากนั้น ธุรกิจก็มักคิดว่าส่งไปก็ไม่มีคนเปิดอ่านอยู่ดี เพราะบางคนก็ไม่เคยเข้ามาเช็กกล่อง Email เลย (เราเชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็กำลังเป็นแบบนี้อยู่เหมือนกัน) 

อย่างไรก็ตาม เราอยากให้คุณลบภาพเหล่านั้นออกไป แล้วลองเปลี่ยนความคิดนั้นดูสักครั้ง อยากให้หันมาเปิดใจให้กับการทำ Email Marketing สักนิดหน่อย ซึ่งมันไม่ยากอย่างที่คุณคิดเลย เราจะเป็นผู้ช่วยแนะนำทริคเจ๋ง ๆ ให้กับคุณเอง

ข้อดีของการทำ Email Marketing

เพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น

เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มักจะใช้ Email ไว้เพื่อแจ้งโปรโมชัน ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงส่วนลดพิเศษในแต่ละเดือน ซึ่งส่งผลให้สามารถเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการได้มากขึ้น (บางแบรนด์อาจส่งส่วนลดให้เฉพาะ Email List ของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้แจกให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งถ้าเกิดว่าลูกค้าคนไหนที่อยากได้ความพิเศษ Exclusive แบบนี้ก็ต้องยอมกรอกแบบฟอร์มมาเป็น Email List ของแบรนด์นั่นเอง) 

สะดวก / รวดเร็ว

Email เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราประหยัดเวลาในการทำงานได้อย่างมาก เพราะสามารถส่งถึงผู้รับหลาย ๆ คนได้ในคลิกเดียว และส่งถึงผู้รับทันทีในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถตั้งเวลาส่งได้ ถ้าหากว่าเราจำเป็นต้องส่ง Email ให้ลูกค้าในวันหยุด ทำให้สามารถประหยัดเวลาในการทำงาน และไม่รบกวนเวลาส่วนตัวได้อีกด้วย

ควบคุมค่าใช้จ่าย

จากสถิติข้อมูลที่ได้ทำการค้นคว้ามาได้พบว่า Email Marketing มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับการทำตลาดในรูปแบบอื่น ๆ หรือโฆษณาประเภทต่าง ๆ และสามารถกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างแน่นอน เช่น ถ้าเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่าลูกค้าคนไหนที่เคยซื้อสินค้าหรือบริการเราไปแล้ว เราก็สามารถสร้างแคมเปญที่เข้ามาช่วยชักชวนดึงดูดใจให้พวกเขากลับมาซื้ออีกครั้งได้ นั่นหมายความว่าธุรกิจเราก็จะสามารถได้เงินเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ต้องทำการจ่ายเงินเพื่อหาลูกค้าใหม่ ๆ อีก

แบ่งกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุด

จากข้อมูลที่ลูกค้าได้ทำการ Subscribe เพื่อยอมรับและติดตามข่าวสารของเราผ่าน Email ทำให้เราสามารถแยก Category ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ข้อมูลที่จะส่งไปหาผู้รับแต่ละคน หรือแต่ละ Group นั้น ตรงจุด (On-Point) มากยิ่งขึ้น

ติดตามผล / วัดผล

เครื่องมือตัวช่วยส่งอีเมลสมัยนี้มีข้อดีหลายอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “การติดตามและวัดผล” เพราะสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ว่า อีเมลที่ส่งไปนั้นถึงมือผู้รับเป็นจำนวนกี่ฉบับ มีผู้เปิดดูเป็นจำนวนเท่าไร และมียอดคลิกลิงก์ในแต่ละอีเมลนั้นเป็นจำนวนกี่ครั้ง ซึ่งถ้ามันมีผลตอบรับที่ไม่เฃค่อยดี เราก็สามารถทำการทดลอง ปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้อย่างง่ายดาย



ภาพจาก entrepreneur

Email Marketing ที่ดี ควรเป็นอย่างไร

การทำ Email Marketing ให้ได้ผลนั้น เป็นงานที่ต้องใช้ความใส่ใจและเข้าใจผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะว่าถ้าเราพลาดแม้แต่จุดเดียว สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดอาจจะไม่ได้ผลเลยทันที (บางทีอาจจะไปอยู่ใน Spam / Junk Mail เลยก็ได้)

ดังนั้นก่อนที่เราจะเริ่มกระบวนการทำ Email Marketing ของตัวเองให้ได้ผล เราควรที่จะเข้าใจก่อนว่าเราจะใช้กลยุทธ์นี้เพื่ออะไร เช่น เพื่อที่จะสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะเพิ่มยอดขายสินค้าหรือบริการ หรือเพื่อการโฆษณา เป็นต้น

ขั้นตอนในการทำ Email Marketing

1. วางแผน

ใช่แล้ว การทำ Email Marketing ก็เหมือนกลยุทธ์อื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งสิ่งแรกที่เราต้องทำเลยคือ ‘การวางแผน’ เพื่อกำหนดทิศทางในการส่ง Email โดยวิธีที่อยากแนะนำและง่ายที่สุดเลยคือ วางตารางการส่งอีเมลให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธุรกิจ และควรส่ง Email อย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลา เพื่อสร้างการจดจำให้กับกลุ่มลูกค้าที่ได้รับ Email Marketing ของเรา

2. สร้าง Mailing List

Mailing list คือ list รายชื่อของผู้ที่ต้องการรับ Email Marketing ของเรา ซึ่ง Mailing list ที่ดีนั้นควรได้จากรายชื่อ Email ของลูกค้าที่ได้ให้เราไว้ (ในที่นี้คือการ Subscribe) แล้วนำมาเก็บรวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ตามความต้องการของผู้รับให้เรียบร้อย

3. Call-To-Action

ในการส่ง Email ทุกฉบับ ควรจะมี Objective ในการส่ง Email นั้น ๆ ก่อน ว่าอยากให้ลูกค้ามีพฤติกรรมอย่างไรหลังจากที่ได้อ่าน Email ของเรา โดยตัวอย่างของ Call to Action นั้นอาจเป็นการให้ลูกค้ามาซื้อสินค้า หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ หรือเป็นการแชร์ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

4. วิเคราะห์

ขั้นตอนตรวจสอบ วัดประสิทธิภาพของ Email โดยในการส่ง Email แต่ละครั้งต้องสามารถนำมาวิเคราะห์ผลได้ว่า มีจำนวนการเปิดอ่านเท่าไร? มี Feedback หรือผลตอบรับจากลูกค้าอย่างไรบ้าง? และสุดท้าย Email Marketing ฉบับนั้นสามารถสร้างยอดขายให้กับธุรกิจของเราได้หรือเปล่านั่นเอง (ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์มากมาย ซึ่งเราได้แนะนำคุณไว้แล้วในหัวข้อถัด ๆ ไป)

5. ปรับปรุงรูปแบบกลยุทธ์

หลังจากที่เราได้วิเคราะห์ ตรวจสอบ ประเมิน Email Marketing แล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือ การปรับปรุงกลยุทธ์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นต่อไปในทุกครั้งที่ส่ง ถ้าเกิดว่าอีเมลของเราไม่ได้ผลที่ดีขึ้น แล้วเรายังคงส่งไปแบบเดิมซ้ำ ๆ มันก็ไม่ได้ส่งผลดีแก่ธุรกิจ ดังนั้นเราควรปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ทำให้ผลลัพธ์ของเราไม่มีประสิทธิภาพจะดีกว่า

ภาพจาก sfdcstatic.com

Email Marketing สามารถเพิ่มจำนวน Lead ได้อย่างไร?

ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับคำว่า Lead กันก่อนดีกว่า ในวงการ Marketing หรือ Business นั้น Lead คือ กลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นลูกค้าของเราในอนาคต เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สนใจในสินค้าหรือบริการของเรา ดังนั้นแล้วเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มจำนวน Lead ก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญอยู่ในลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว เพราะจากความสนใจที่พวกเขามีต่อสินค้าหรือบริการของเรา ธุรกิจก็จะมีโอกาสสูงที่จะปิดการขายได้จากคนกลุ่มนี้

หลังจากที่ธุรกิจได้ Lead มาแล้ว ควรทำอย่างไรต่อ?

หลังจากที่เราเปลี่ยน “คนแปลกหน้า” ให้กลายเป็น “คนรู้จัก” แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้ คือ การทำ Email Marketing เพื่อนำเสนอสินค้า/บริการ หรือโปรโมชันต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การปิดการขายได้นั่นเอง

ภาพจาก agilecrm


เพิ่ม Lead ให้ไว ด้วยการออกแบบ Email

อาจฟังดูไม่น่าเชื่อที่ Email จะสามารถเพิ่ม Lead ได้ แต่เป็นเรื่องจริง เพราะ Hubspot (บริษัทผู้ให้บริการ Marketing Platform) ได้เผยแพร่กลยุทธ์ที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

1. Heading of Email

แน่นอนว่าประตูด่านแรกที่จะให้เป้าหมายของเราเข้าไปอ่านในนั้นคือ หัวเรื่อง หรือ Subject ของ Email ซึ่งในส่วนนี้เราจึงควรจะใช้เวลาในการคิดชื่อหัวข้อที่สร้างสรรค์ และน่าดึงดูด เราขอแบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อย ดังนี้

1.1 Get to the Point เจาะจง และตรงจุด

การใช้หัวเรื่อง Email บอกตรง ๆ แบบนี้เป็นข้อดีอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ที่ได้รับอีเมลนั้นรับรู้ได้อย่างชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายว่าเราต้องการสื่อสารอะไร เนื้อหาเป็นไปแนวไหน และอยากให้ทำอะไรต่อไปตามเนื้อในที่ได้เขียนมาอีกด้วย

อย่างเช่นรูปภาพด้านล่างนี้ เป็นตัวอย่างอีเมลจากทีม The Growth Master ที่ส่งไปหา Email List ของเรา เพื่อบอกว่าเรามีบริการ ClickUp Consulting Service บริการให้คำปรึกษาด้านการใช้ ClickUp ในบริษัท อยากแนะนำให้รู้จัก เราก็ใส่หัวข้อไปตรง ๆ เลยว่า “บริการให้คำปรึกษาด้านการใช้ ClickUp ในบริษัท”

1.2 Personalized ดึงดูดความสนใจได้ดี 

กระบวนการใช้ Personalized ที่ดีคือ การรู้จักชื่อจริงหรือชื่อเรียกของคนที่นักการตลาดกำลังส่ง Email นั้น ๆ ไป ทำให้ผู้รับรู้ว่านี้คืออีเมลที่ส่งมาหาโดยเฉพาะ จากคนที่รู้จักจริง นอกจากจะใช้ชื่อแล้ว ยังสามารถเพิ่มการ Personalized ได้แบบต่าง ๆ เช่น ใส่ความชอบ, ชื่อเมืองที่อยู่ ด้วยการใส่ใจและปรับแต่งให้มีความสมบูรณ์ที่สุดนี้จะสามารถทำให้อีเมลถูกเปิดอ่านได้โดยง่าย เช่น สวัสดีคุณ A เรารู้ว่าคุณกำลังมีปัญหาที่ต้องการให้เราช่วยเหลือ หรืออีเมลที่ The Growth Master ส่งไปให้ Email List ของเรา ก็มีการปรับแต่งให้แสดงชื่อจริงของคนที่เราส่งไปหาเช่นกัน (ถ้าอยากรู้ว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ สามารถทำการ Subscribe ช่องทางของ The Growth Master ได้ ที่นี่)

ตัวอย่างการ Personalized อีเมลจาก The Growth Master

1.3 Start with Question

ด้วยการทำหัวข้อ Email ในรูปแบบการตั้งคำถามนี้จะช่วยในการสร้างการอยากรู้อย่างมาก การใช้คำถามในการตั้ง เป็นหลักการที่สำคัญในการทำงานเขียนที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ด้วยการใช้ 5W+1H นั้นคือ What, When, Where, Why, How เข้ามาในการตั้งคำถาม ด้วยวิธีการนี้จะทำให้สามารถจับความสนใจ และกระตุ้นความอยากรู้ของคนรับ Email จนรีบเปิดอ่านได้เลย


2. เนื้อหาต้อง ชัด สดใหม่ โดนใจ

ถ้าเราเขียนยาวยืดเยื้อ บางทีผู้รับก็อาจปิดไปก่อนที่จะเจอประเด็นสำคัญก็ได้ อย่าลืมไปว่า ในหนึ่งวันผู้ที่ได้รับ Email ไม่ได้รับแค่ของเราคนเดียว แต่อาจได้รับอีเมลเป็น 10 ฉบับเลยก็ว่าได้ ดังนั้นเราควรต้องพยายามพลิกสิ่งที่ผู้รับมองเห็นให้เป็นโอกาสเสมอ โดยสื่อสารให้ตรงจุด กระชับ และครบถ้วน

3. สื่อสารโดยใช้รูปภาพ

จากการวิจัยพฤติกรรมของคนจาก Hubspot พบว่าสมองของคนเราสามารถประมวลผลของรูปภาพได้เร็วกว่าข้อความถึง 6 หมื่นเท่า นั่นหมายความว่า การที่เราใส่รูปภาพเข้าไปแทนในบางส่วนของเนื้อหา จะทำให้กลุ่มเป้าหมายของเราเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

ตัวอย่างการใช้รูปภาพภายในอีเมล

4. นำ Social Media / Official Website ของเรามาช่วย

Email ก็เหมือนประตูที่จะพาเราไปสู่ห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน ดังนั้นการใส่ลิงก์ของช่องทางออนไลน์ของเราลงไปในส่วนหนึ่งของ Email นั้นก็จะสามารถทำให้เป้าหมายเข้าถึงธุรกิจได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ Official Website ที่เปรียบเสมือนหัวใจของบ้านนั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ภาพจาก benchmarkemail

แนะนำเครื่องมือที่ใช้ในการทำ Email Marketing

อย่างที่เราได้เกริ่นไปว่า ตอนนี้มีเครื่องมือตัวช่วยในการทำ Email Marketing มากมาย ซึ่งในวันนี้เราก็จะมาแนะนำเครื่องมือน่าใช้ให้คุณได้รู้จักกัน แต่ก่อนที่จะไปดูกันว่าซอฟต์แวร์ตัวไหนที่เหมาะสำหรับธุรกิจของคุณ เราอยากจะบอกหลักเกณฑ์พิจารณาซอฟต์แวร์ในการทำ Email Marketing ก่อนว่าควรประกอบไปด้วย

  • Workflows - เพื่อช่วยลดการทำงานซ้ำซ้อน โดยให้เราวางระบบการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
  • Email Templates - เครื่องมือที่มีเทมเพลตสำเร็จรูปมาให้จะช่วยทุ่นแรงในการทำงานของเรา ด้วยการคัดเลือกเทมเพลตที่เหมาะสมกับความต้องการส่งอีเมลในรูปแบบต่าง ๆ มาให้
  • A/B Testing - การทำ A/B Testing จะช่วยบอกได้ว่า Email แบบไหนที่เวิร์กหรือไม่เวิร์กสำหรับธุรกิจของเรา
  • Real-time Analytics - สามารถดูข้อมูลและวิเคราะห์ผลได้แบบ Real-time เช่น อัตราการเปิด, อัตราการคลิกในส่วนต่าง ๆ
The “best” email marketing software “depends on the type of company and tech stack,” Sujan Patel, co-founder of Mailshake

**หลักเกณฑ์พิจารณาข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรดูซอฟต์แวร์ที่ตรงความต้องการในการใช้งานของธุรกิจของเรา, งบประมาณที่ตั้งไว้ และซอฟต์แวร์ที่มีฟีเจอร์เหมาะสมกับการใช้งานของธุรกิจเราจึงจะดีที่สุด

Active Campaign

เรามาเริ่มที่ตัวแรกกันดีกว่า นั่นคือ Active Campaign เป็นซอฟต์แวร์ที่เหมาะสำหรับธุรกิจที่ให้บริการแบบ Service หรือ Agency Businesses (The Growth Master ก็ใช้งานตัวนี้อยู่เหมือนกัน)

ภาพจาก marketerhire

Active Campaign คือ ซอฟต์แวร์ที่ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือ Automation, ระบบลูกค้าสัมพันธ์ (Customer RelationShip Management: CRM) หรือทำแคมเปญทางการตลาดผ่านอีเมล (Email Service Provider: ESP) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ Active Campaign เป็นทุกอย่างที่กล่าวมาเลย และด้วยการที่เขามีพาร์ทเนอร์มากมายจึงสามารถ Integrate การทำงานเข้ากับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้มากกว่า 850 แพลตฟอร์มด้วย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Shopify, WordPress และอื่น ๆ 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Active Campaign ประกอบไปด้วย

  • Automation สามารถสร้าง Flow การส่งอีเมลได้ง่าย ๆ ซึ่งเจ้า Flow นี้จะช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ไม่ต้องคอยมานั่งส่งอีเมลเพื่อไปหาคนหลายคนซ้ำไปซ้ำมา
  • สร้าง Form และ Email Campaign ได้ ผ่านการปรับแต่งต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ ด้วยฟีเจอร์ Drag and Drop
  • Report สามารถดูได้ว่าแต่ละแคมเปญที่ส่งไปนั้น มียอดเปิดอ่าน มียอดคลิกข้างในเท่าไร เพื่อวัดผลว่าอีเมลแคมเปญไหนที่ได้ผลหรือไม่ได้ผล
  • Dynamic Content สามารถปรับแต่งคอนเทนต์ได้ตามเจ้าของอีเมลนั้น ๆ ด้วย Custom Field เช่น ถ้าเจ้าของอีเมลนั้นเป็นนักการตลาด จะเห็นอีเมลออกมาในรูปแบบของ A แต่ถ้าเจ้าของอีเมลนั้น ๆ เป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่นักการตลาดก็จะเห็นเป็นแบบ B (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทความนี้)
  • A/B Testing สามารถใช้ทำ A/B Testing ออกแบบได้ว่าจะให้อีเมลเป็นแบบไหน เพื่อให้คนกดคลิกมากกว่ากัน โดยสามารถเปลี่ยนได้หลายอย่าง เช่น Email Subject Line, เนื้อหาภายใน, ผู้ส่ง, รูปภาพ, ปุ่ม Call to Action (CTA)

ในส่วนของด้านราคา เริ่มต้นอยู่ที่ 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเท่านั้น (หรือประมาณ 280 บาท) ซึ่งก็สามารถใช้งานได้ดีสำหรับบุคคลที่ใช้สำหรับการประกาศ การแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ของแบรนด์ แต่ถ้าคุณทำ Email Marketing ที่ลึกซึ้งขึ้น แนะนำว่าเป็น Plus (49 ดอลลาร์สหรัฐ = 1,530 บาท) หรือ Professional (129 ดอลลาร์สหรัฐ = 4,025 บาท) ไปเลยดีกว่า เพราะจะมีลูกเล่นที่หลากหลายขึ้น

สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Active Campaign ได้ที่

Klaviyo

ด้วยหน้า UI ที่โดดเด่น และมีการแบ่ง Segmentation ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ดี Email Marketer มักนำ Klaviyo ไปใช้กับธุรกิจประเภท E-Commerce โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนแพลตฟอร์ม Shopify, WooCommerce, Magento เพราะ Klaviyo มีความเข้าใจที่แท้จริงว่าผู้ใช้งานต้องการอะไร ซึ่งไม่ได้ใช้ได้กับแค่การส่งอีเมลเท่านั้น แต่ยังสามารถส่ง SMS ได้อีกด้วย เรียกได้ว่าถ้าจะทำธุรกิจผ่านระบบ E-Commerce แล้วก็ครบ จบ ในที่เดียว

ภาพจาก marketerhire

ฟีเจอร์น่าใช้ของ Klaviyo ประกอบไปด้วย

  • Segmentation สามารถวิเคราะห์ข้อมูล​ โดยแบ่งตามข้อมูลการใช้งานพฤติกรรมของผู้บริโภค, ข้อมูล Transaction ต่าง ๆ รวมถึง Track ตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานกระทำบนเว็บไซต์ เพื่อนำมาปรับแต่งอีเมล
  • A/B Testing ส่งอีเมลในสิ่งที่แตกต่างกันให้กับลูกค้าแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หัวเรื่อง หรือระยะเวลาของอีเมลในชุดต่าง ๆ เพื่อทดสอบดูว่าลูกค้าคนนั้นชอบหรือไม่ชอบอีเมลแบบไหน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคล (Personalized Experience) ให้กับลูกค้าของเรา
  • Reporting สามารถเรียกดูข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการดูได้แบบ Real-time ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแคมเปญ การสมัครสมาชิกของผู้ใช้ อัตราการสั่งซื้อ อัตราการหยิบสินค้าใส่ตะกร้าของลูกค้า เป็นต้น ซึ่งมันสามารถทำให้เรานำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ผลได้ทันที
  • Integration สามารถไปผสานการทำงานกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ เช่น Shopify, WooCommerce, BigCommerce, Privy, ReCharge, Facebook

ในด้านของราคา Klaviyo จะเป็นแบบ Flexible Pricing ไม่มีการจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปี แต่จ่ายเท่าจำนวนที่เราต้องการใช้เท่านั้น เช่น ถ้ามี Email List ไม่เกิน 250 รายชื่อ (ส่งได้ไม่เกิน 500 ครั้ง) จะใช้งานได้ฟรี ไม่เสียเงิน แต่ถ้าไม่เกิน 500 รายชื่อ จะคิดค่าบริการ 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 625 บาท ถ้าไม่เกิน 1,000 รายชื่อ จะเสียค่าบริการ 30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 935 บาท สามารถคำนวณราคาการใช้งานเพิ่มเติมได้ที่ >> https://www.klaviyo.com/pricing  

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือตัวช่วยในการทำ E-Commerce ได้ที่

Hubspot

เครื่องมือตัวนี้หลายคนอาจจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะด้วยชื่อเสียงและความโดดเด่นในการเป็นเครื่องมือ CRM แบบ All in One ครบจบในที่เดียว และเหมาะสำหรับธุรกิจแบบ B2B

ภาพจาก marketerhire

HubSpot คือ ซอฟต์แวร์การทำการตลาดชั้นนำในรูปแบบของ Inbound Marketing ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายมาเป็นอีกหนึ่ง Lead ของเรา และเปลี่ยนพวกเขาให้มาเป็นลูกค้าในที่สุด แต่ว่าจริง ๆ แล้วใน HubSpot มีเครื่องมือเกี่ยวกับการทำการตลาดมากมายไม่ว่าจะเป็น HubSpot CRM, HubSpot Marketing Hub (การทำ Email Marketing อยู่ในส่วนนี้), HubSpot Sales Hub และ HubSpot Service Hub แต่ในบทความนี้เราขอเจาะเฉพาะถึงฟีเจอร์ของการทำ Email Marketing เท่านั้น 

ฟีเจอร์น่าใช้ของ Email Marketing ใน HubSpot ประกอบไปด้วย

  • Email Template เราสามารถทำให้อีเมลของเราดูเป็นมืออาชีพได้เลย และมีหน้าตาสวยงามน่าใช้ แถมยังปรับแต่งให้เหมาะสมกับทุกอุปกรณ์ของผู้รับได้อีกด้วย โดยใช้เทมเพลตที่ระบบมีมาให้ และยังสามารถปรับแต่งส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติมเองได้ เพื่อให้เหมาะกับรูปแบบคอนเทนต์หรือรูปแบบธุรกิจของเรา
  • Personalization สามารถปรับแต่งส่วนต่าง ๆ ของอีเมลได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นหัวข้ออีเมล, คอนเทนต์, ลิงก์, ไฟล์ที่แนบไปด้วย, Call to Action (CTA), เวลาในการรับแบ่งตาม Timezone ซึ่งการปรับแต่ง Personalization ลักษณะนี้สามารถช่วยเพิ่มอัตราการคลิกต่าง ๆ ให้กับธุรกิจเพิ่มขึ้นได้มากขึ้นอีกด้วย
  • A/B Testing ใช้การทำ A/B Testing เพื่อทดสอบดูว่าหัวข้อแบบไหนที่ช่วยให้คนเปิดดูมากที่สุด และคอนเทนต์หรือ CTA แบบไหนที่มีอัตราการมีส่วนร่วม (Engagement) และสร้างยอดขายได้ดีที่สุด
  • Analytics ด้วยฟีเจอร์นี้จะทำให้เราเห็นว่าใครมีส่วนร่วมกับอีเมลเราบ้าง ใช้อุปกรณ์ชนิดใด ลิงก์ไหนที่มีคนคลิกเข้ามาเยอะที่สุด เพื่อที่ว่าจะได้ไปปรับปรุงส่วนต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ถ้าผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

ด้านราคา (ราคานี้จะเป็นเฉพาะตัว HubSpot Marketing Hub เท่านั้น) โดยที่แบบ Starter เริ่มต้นที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 1,400 บาท) ส่วนแบบ Professional ราคา 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 25,000 บาท) และแบบ Entreprise ราคา 3,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 100,000 บาท) (ดูรายละเอียดราคาของ HubSpot เพิ่มเติมได้ ที่นี่)

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Inbound Marketing ได้ที่

ConvertKit

อีกหนึ่งตัวที่มีชื่อเสียงด้าน Email Markeitng นั่นคือ ConvertKit ที่มีการใช้งานที่น่าใช้ไม่แพ้ตัวอื่น ๆ เลยทีเดียว ซึ่งสามารถช่วยให้เรามี Email List เพิ่มขึ้น และยังสามารถเปลี่ยนให้คนแปลกหน้ากลายมาเป็นลูกค้าของเราได้อีกด้วย ผ่านเครื่องมือนี้

ภาพจาก marketerhire

ฟีเจอร์น่าใช้ของ ConvertKit ประกอบไปด้วย

  • Email Template ของ ConvertKit ก็คล้ายกับอันอื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นที่สามารถปรับแต่งทุกส่วนได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นปุ่ม, รูปภาพ, รูปแบบฟอร์ม, ฟอนต์ หรือส่วนอื่น ๆ ซึ่งมันช่วยให้ UI มีหน้าตาที่ดีและให้ผู้อ่านพบประสบการณ์ที่ดีขึ้นได้ ผ่านการจัดรูปแบบเทมเพลต
  • Sign Up Forms and Landing Pages ขั้นตอนก่อนที่จะส่งอีเมลได้ก็ต้องมี Email List ก่อน แต่การที่จะให้ผู้คนสมัครใจมาเป็น Email List ของเราก็ต้องมีวิธีการดึงดูดกันเกิดขึ้นสักหน่อย นั่นคือการปรับแต่งหน้า Sign Up Forms และหน้า Landing Pages ให้มีความสวยงามน่าใช้ขึ้น ซึ่ง Convertkit ก็ทำได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งเขาเคลมว่าทุกคนสามารถสร้างและปรับแต่งได้ภายในไม่กี่นาที และที่สำคัญมันสามารถแสดงผลได้ดีกับทุกอุปกรณ์อีกด้วย
  • Segmentation เราสามารถปรับแต่งและส่งอีเมลไปตามลักษณะพฤติกรรมของ Subscriber แต่ละคนได้อีกด้วย เพื่อสร้างความ Personalized มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในตอนเริ่มต้นคุณอาจมีตัวเลือกให้ Subscriber เลือกว่ามีความรู้ด้าน Marketing อยู่ในระดับไหน Beginner, Intermediate, Advanced แล้วคุณค่อยให้ระบบส่งบทความตามระดับนั้น ๆ ไปให้ เพื่อให้ตรงกับความพอดีของพวกเขา ซึ่งถ้าเกิดว่าไม่มีการแบ่ง Segmentation แล้วคุณส่งบทความในระดับ Advanced ไปแบบหว่าน ๆ เลย คนที่เป็น Beginner อาจจะรู้สึกว่าบทความนั้นมันยากเกินไปสำหรับตัวเขา ก็ทำให้เขาไม่อยากเปิดอ่านอีเมลของคุณอีกต่อไปแล้วก็ได้
  • Automated Email Funnels เราสามารถวาง Funnel ให้ส่งอีเมลไปยัง Subscriber ใน Stage ต่าง ๆ เช่น Welcome Email ให้เฉพาะกับ New Subscriber, ถ้าเป็นแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ส่งไปให้ทุกคน หรือถ้าอยากมอบส่วนตัวดึงคนให้กลับมาซื้อสินค้าและบริการอีกครั้ง ก็เลือกไปเฉพาะลูกค้าเก่า เป็นต้น
  • A/B Testing ใช้เพื่อทดสอบว่าการส่งอีเมลแบบไหนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • Data Analytics การเรียนรู้จากข้อมูลจะทำให้เข้าใจว่าจะทำอย่างไรถึงให้ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับอีเมลของคุณ จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในอนาคตว่าอะไรที่ควรทำต่อไป หรืออะไรที่ควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ของธุรกิจที่ดีขึ้น

ในด้านของราคา ConvertKit สามารถเริ่มต้นใช้งานได้ฟรี แต่มีเงื่อนไขว่า Email List ต้องไม่เกิน 1,000 รายชื่อ แต่การใช้งานฟรีก็จะมีฟีเจอร์น้อย ถ้าอยากใช้งานที่มีลูกเล่นเยอะขึ้นมาหน่อยก็จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 29 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 900 บาท) และ 59 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1,840 บาท) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

Business Tech Stack Consulting Service by The Growth Master

สำหรับใครที่อยากได้ผู้ช่วยหรือปรึกษาเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อวาง Flow ในการทำ Email Marketing หรือว่าจะเป็นในส่วนของการใช้เทคโนโลยีในองค์กรด้านต่าง ๆ The Growth Master ก็ได้มีบริการ Business Tech Stack Consulting Service ไว้ให้บริการคุณแล้ว ด้วยบริการของเราจะทำให้คุณ…

  • ไม่จำเป็น ต้องหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์เพิ่มเติม
  • ไม่จำเป็น ต้องจ้างระยะยาว สามารถจบได้ในแพ็กเกจเดียว
  • ไม่จำเป็น ต้องคิดและค้นหาซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาแก้ไข ที่จะทำให้คุณเสียเวลาและเสียเงินมากกว่าโดยไม่จำเป็นเข้าสู่เส้นทางของการเติบโตอย่างเต็มตัว (บริษัทที่เป็น Unicorn ต่างมี Tech Stack ที่ช่วยทำงานแบบ Agile)

หากใครที่สนใจอยากให้องค์กรของคุณมีการทำงานที่ราบรื่นขึ้น สามารถติดต่อเราหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ >> ที่นี่


สรุปทั้งหมด

ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้ Email เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Email Marketing นั้นเป็นการทำการตลาดที่มีคุณภาพในการเพิ่ม Lead แต่สำหรับกลยุทธ์ในการใช้ Email Marketing นั้น ก็เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือของการทำ Digital Marketing เท่านั้น แน่นอนว่าธุรกิจไม่สามารถมุ่งเน้นการทำ Marketing ช่องทางใดช่องทางหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละวิธีก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและวัตถุประสงค์ในการทำ รวมถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งเราเองก็ต้องทำความเข้าใจในรูปแบบธุรกิจของเรา และเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมด้วยถึงจะได้ผลดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Email Marketing อาจจะยังไม่ค่อยฮิตในประเทศไทยสักเท่าไร และถูกใช้ในธุรกิจ B2B เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจแบบ B2C จะใช้กลยุทธ์นี้ไม่ได้ เพียงแค่คุณรู้จักปรับให้มีความ Personalized มากขึ้นกับตัวลูกค้า ก็สามารถสร้างความประทับใจไม่น้อยให้แก่พวกเขาได้

นอกจากนั้น วิธีการใช้งานของ Email Marketing นั้นอาจจะต่างกับการใช้โซเชียลมีเดียหรือกลยุทธ์การทำการตลาดแบบอื่น ๆ อยู่ค่อนข้างมาก แต่หัวใจสำคัญก็ยังคงเหมือนกันกับกลยุทธ์อื่น ๆ นั่นก็คือการสร้างและส่งมอบคุณค่าให้กับกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

ซึ่งเราก็หวังว่าบทความนี้จะสามารถช่วยให้คุณได้รู้จักการทำ Email Marketing ให้กับธุรกิจของคุณมากขึ้น :-)


Source: theverge, techcrunch, marketerhire


ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เราช่วยธุรกิจของคุณให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม

ติดตามข้อมูลการตลาด
Growth Hacking ได้เลยทีนี่
มากกว่า 2,000 บริษัทติดตาม The Growth Master ตอนนี้
ไปที่หน้า Subscribe