SEO คืออะไร ? เปิดคัมภีร์ SEO ฉบับอัปเดตปี 2023 อธิบายแบบเข้าใจง่าย จบในบทความเดียว

SEO คืออะไร ? เปิดคัมภีร์ SEO ฉบับอัปเดตปี 2023 อธิบายแบบเข้าใจง่าย จบในบทความเดียว
Light
Dark
The Growth Master Team
The Growth Master Team

The Growth Master Team ผู้รักในการเรียนรู้ หลงใหลในเทคโนโลยี และแฮปปี้กับการเติบโต

นักเขียน
จะดีกว่าไหม ถ้าเราไม่เสียงบประมาณในการโฆษณา แต่มีลูกค้าเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง คุณคิดว่าการทำการตลาดแบบนั้นคืออะไร?

คำตอบ คือ “การทำ SEO”

เพราะสิ่งที่นักการตลาดทุกคนควรรู้ว่า หนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นที่รู้จักกับคนทั่วไป คือ “การทำ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับค้นหาบน Search Engine”

แต่เมื่อไรก็ตามที่เว็บไซต์ของเราติดอันดับการค้นหาหน้าแรกบน Search Engine แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ต้องทำ SEO อีกต่อไป เพราะอันดับของเว็บไซต์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากเรานิ่งนอนใจและไม่ได้กลับมาสนใจการทำ SEO เว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง คุณก็อาจจะต้องบอกลาบัลลังก์นั้นไปก็ได้

หรือในอีกกรณีหนึ่ง สำหรับบางคนที่ยังไม่เคยติดอันดับเลย แต่คิดว่าเราก็ทำหน้าเว็บไซต์ออกมาได้สวยงาม ดูดี รายละเอียดเป๊ะ ข้อมูลครบ ใช่เลย โดนใจลูกค้าแน่เลย! แต่ตัดภาพมาในความเป็นจริงปรากฏว่า แทบจะไม่มีใครเข้ามาดูเว็บไซต์ของเราเลย… ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นล่ะ!?

ดังนั้นวันนี้ The Growth Master จะพาคุณไปรู้จักกับ SEO ฉบับอัปเดตปี 2023 แบบหมดเปลือกว่าคืออะไร, ทำไมต้องทำ SEO, มันมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนกับเว็บไซต์ของเรา และจะทำให้ติดหน้าหนึ่งบน Google ต้องทำอย่างไรบ้าง? พร้อมทั้งดูเทรนด์ใหม่มาแรงสำหรับการทำ SEO พาเว็บไซต์พุ่งทะยานหลังยุคโควิด 2023 นี้กัน

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

SEO คืออะไร?

SEO คือ กระบวนการปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อเพิ่มการแสดงผลสำหรับการค้นหา Keyword ที่เกี่ยวข้องและมีเป้าหมายเพื่อติดอยู่บนหน้าแรกของ Search Engine ซึ่งการปรับแต่งเว็บไซต์นั้นมีทั้งแบบ On-page SEO และ Off-page SEO ยิ่งถ้าอันดับการค้นหาหน้าเว็บไซต์ของคุณดีขึ้นมากเท่าไร ธุรกิจของคุณก็ยิ่งมีโอกาสดึงดูดและได้รับความสนใจจากกลุ่ม “ลูกค้าปัจจุบัน” หรือ “ว่าที่ลูกค้า” ของเราในอนาคตให้หลั่งไหลมายังเว็บไซต์ธุรกิจของคุณมากขึ้น

เราลองนึกภาพตามว่า เวลาจะค้นหาอะไรบน Google พอกดปุ่มค้นหาไปแล้ว คุณเจอเว็บไซต์ไหนขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ คุณก็มักจะชอบกดเว็บไซต์นั้น ๆ ใช่ไหมคะ 

อย่างเช่น คุณค้นหาคีย์เวิร์ดคำว่า “Growth Hacking คือ” ลงไป คุณจะเห็นว่าเว็บไซต์ของ The Growth Master ขึ้นมาเป็นอันดับแรกนั่นเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อเห็นแบบนี้ พวกเขาก็แทบจะไม่คิดอะไรมากและกดเข้ามาอ่านเลย

seo ตัวอย่าง


ซึ่งการทำ SEO ที่ว่า คุณจะไม่เสียเงินค่าโฆษณาสักบาทเดียวให้กับ Search Engine เลย แต่ก็ต้องแลกมากับการที่ต้องหมั่นคอยปรับปรุงเว็บไซต์และการทำคอนเทนต์ของคุณให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการใช้คีย์เวิร์ด (Keyword) บนหน้าเว็บไซต์ของคุณ (รวมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเราจะบอกให้คุณได้รู้ต่อไป)

แต่บางครั้งที่คุณค้นหาคีย์เวิร์ดสักคำหนึ่ง เมื่อคุณกดเข้ามายังหน้า SERP (Search Engine Result Page) หรือหน้าผลลัพธ์ค้นหา Google แล้วเจอบางเว็บไซต์ที่อยู่ข้างบนสุด แต่มันก็ไม่ได้มาจากการทำ SEO ก็มี แบบนั้นเราจะเรียกว่าการทำ SEM หรือ Search Engine Marketing คือ การทำการตลาดโดยใช้ Search Engine หรือเรียกง่าย ๆ ว่าซื้อโฆษณาคีย์เวิร์ดนั่นเอง

seo sem แตกต่างอย่างไร

จากภาพ จะเห็นได้ว่าผลการค้นหาในกรอบสีแดง เป็นเว็บไซต์ที่มาจากการทำ SEM โดยจะสังเกตจากคำว่า “โฆษณา” ที่มีเขียนเอาไว้หน้า URL และต่อด้วยเว็บไซต์ในกรอบสีน้ำเงินที่มาจากการทำ SEO ที่ไม่มีอะไรเขียนไว้หน้า URL นั่นเอง

อ่านบทความเพิ่มเติม: 

ทำไมธุรกิจออนไลน์ต้องทำ SEO ในปี 2023?

เพราะการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) กลายเป็นรูปแบบการตลาดที่ถือว่าทรงพลังที่สุดในยุคปัจจุบัน ด้วยตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 4.95 พันล้านคน ตามรายงานของเดือนเมษายนปี 2023 จาก Datareportal และนักการตลาดถึง 49% บอกว่า Organic Search จากการทำ SEO เป็นช่องทางที่ดีที่สุดทีช่วยให้ธุรกิจมี ROI สูงที่สุด

ซึ่งพอดูจากตัวเลขที่น่าทึ่งนี้แล้ว จึงทำให้มีการแข่งขันอย่างดุเดือดของเว็บไซต์ธุรกิจต่าง ๆ เพื่อที่จะก้าวขึ้นไปสู่อันดับ (Rank) ต้น ๆ บนหน้าแรกของ Search Engine เพราะว่ายิ่งติดอันดับสูงเท่าไร Traffic ที่จะเข้ามาในเว็บไซต์ของเราก็ยิ่งมีเยอะ และนำไปสู่การเพิ่มยอดขาย หรือ Conversion ได้โดยในที่สุด อีกทั้งการอยู่อันดับสูง ๆ ก็ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในระยะยาวดูน่าเชื่อมากขึ้นไปอีกด้วย

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมนักการตลาดทุกคนควรใช้ประโยชน์จากการทำ SEO ให้กับเว็บไซต์ เพราะมันเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับแบรนด์ในระยะยาว และจุดเริ่มต้นของการท่องโลกอินเทอร์เน็ตของผู้คนส่วนใหญ่ก็มักเกิดจากการใช้ Search Engine เป็นหลัก 

ภาพจาก thehackernews

เราลองมาดูสถิติจากสำนักต่าง ๆ กัน...

จากรายงานของ Internetlivestats บอกว่า ปัจจุบันมีการค้นหาบน Google มากกว่า 99,000 ครั้งต่อวินาที, 8.5 พันล้านครั้งต่อวัน และทั่วโลกรวมกว่า 1.2 ล้านล้านครั้งต่อปี

นอกจากนั้น รายงานล่าสุดของ Backlinko พบว่า ผลการค้นหาเว็บไซต์ที่ติดอันดับหนึ่งในหน้า SERP  ของ Google (หรือหน้าค้นหาของ Google) พบว่ามีอัตราการคลิก (Click-Through-Rate: CTR) อยู่ที่ 31.7% ของคลิกทั้งหมด จากการใช้ข้อมูลการคลิกประมาณ 5 ล้านครั้ง ยังคงพบว่าเว็บไซต์ที่อยู่อันดับ 1 ก็ยังคงมี CTR ทิ้งห่างอันดับอื่น ๆ อย่างชัดเจน

ภาพจาก backlinko

โดยเฉลี่ยแล้วการขยับขึ้น 1 อันดับในผลการค้นหา จะทำให้ CTR เพิ่มขึ้น 30.8% เลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะย้ายจากอันดับใดไปอันดับใดด้วย เช่น ถ้าย้ายจากอันดับ 3 ไป 2 มักจะส่งผลให้ CTR เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่กลับกัน ถ้าจากอันดับ 10 ขึ้นมา 9 ก็ยังไม่สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญมากทางสถิติ (ยกเว้นถ้าจากหน้า 2 ขึ้นมาหน้า 1 ก็จะส่งผลอย่างมากเช่นกัน)

เรามาดูให้เห็นภาพกราฟกันแบบชัด ๆ เลยดีกว่า เราจะเห็นได้ว่าเว็บไซต์ที่ครองตำแหน่งอันดับที่ 1 มีอัตราการคลิกแบบ Organic (CTR Organic Ranking) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34.2% ซึ่งนำเว็บไซต์อันดับ 2 (17.1%) อยู่ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว และค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ ตามลำดับที่ต่ำลงไป และเห็นได้ว่าอันดับที่ 9 (2.9%) ก็มี CTR ที่ไม่ได้ต่างจากอันดับที่ 10 (2.6%) สักเท่าไร

ภาพจาก smartinsights


Keyword Research คืออะไร? สำคัญแค่ไหนกับการทำ SEO

หัวใจสำคัญของการทำ SEO ก็คือ คีย์เวิร์ด (Keyword)

ก่อนที่เราจะเจาะลึกลงไปถึง Keyword Research และขั้นตอนวิธีการค้นหาคีย์เวิร์ดที่ใช่ที่สุดสำหรับการทำธุรกิจของคุณ เรามาพูดถึงเรื่องพื้นฐานก่อนดีกว่า

Keyword คืออะไร?

คีย์เวิร์ด (Keyword) คือ คำและวลีที่ผู้คนพิมพ์ลงใน Search Engine เรียกอีกอย่างว่า “คำค้นหา” หรือ “SEO keyword”

ภาพจาก ahrefs

Keyword Research คืออะไร?

Keyword Research คือ กระบวนการในการค้นหาคีย์เวิร์ดยอดนิยมของเหล่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มักจะค้นหากันใน Search Engine เช่น Google, Bing หรือ Yahoo และดูว่าแต่ละคำมีปริมาณการค้นหามากเท่าไร และเราจะสามารถขึ้นไปต่อสู้ในการทำอันดับยากหรือง่าย

แล้วมันสำคัญกับการทำ SEO ยังไง?

การทำ Keyword Research คือ พื้นฐานของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำ SEO ให้ดีขึ้น เนื่องจาก

  • การรู้ว่าคีย์เวิร์ดของเราคืออะไร จะช่วยให้เราเข้าใจแบรนด์หรือธุรกิจของเรามากขึ้นว่าเรากำลังขายอะไรอยู่? มีบริการอะไรบ้าง? ถ้าเราอยากเริ่มต้นทำธุรกิจแต่ไม่รู้ว่าควรทำอะไรดี คีย์เวิร์ดจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้พบคำตอบตรงนั้นได้
  • การทำ Keyword Research สามารถบอกข้อมูลสำคัญ ๆ ได้ เช่น ธุรกิจของคุณกำลังอยู่อันดับที่เท่าไร คีย์เวิร์ดคำไหนที่ง่ายต่อการแข่งขัน รวมไปถึงบอกว่าคีย์เวิร์ดของคู่แข่งกำลังอยู่ที่อันดับที่เท่าไรด้วย
  • การทำ Keyword Research สามารถบอกคุณได้ว่าผู้คนกำลังค้นหาอะไรอยู่ ซึ่งมันอาจเป็นสิ่งที่คุณคิดไม่ถึงด้วยซ้ำ แต่ถ้าเรารู้ทันก็จะได้นำมาปรับปรุงการทำธุรกิจให้ดีขึ้นก้าวนำหน้าคู่แข่งได้
  • Search Engine สามารถจัดเว็บไซต์ให้เราได้ ก็ต่อเมื่อมันรู้ว่าธุรกิจของเราคืออะไร การเขียนคีย์เวิร์ดคำนั้น ๆ บนหน้าเพจต่าง ๆ ของเว็บไซต์จะช่วยให้ Google สามารถจัดอันดับได้จากคีย์เวิร์ดที่เราใช้ รวมไปถึงสามารถเพิ่ม Traffic ให้เว็บไซต์ได้อีกด้วย

โดยการตามเทรนด์หรือก้าวให้ทันคีย์เวิร์ดที่อาจมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้หน้าเว็บไซต์ของคุณติดอันดับการค้นหาบนหน้า Search Engine ได้ดีขึ้นอยู่เสมอ เพื่อดูว่าคนในยุคนี้ต้องการอะไร เทรนด์ไหน หรือคีย์เวิร์ดไหนที่ไม่ได้รับความนิยมไปแล้ว จะได้นำไปอัปเดตและปรับปรุงคอนเทนต์และเว็บไซต์ธุรกิจของเราให้ดีกว่าเดิม และตรงกับคำตอบที่ลูกค้ากำลังตามหามากที่สุด

ภาพจาก whitehatranker

แล้วถ้าอยากทำ Keyword Research จะมีกระบวนการอย่างไรบ้างนะ?

ก่อนอื่นเลย โดยปกติแล้วในการหา Topic มาทำคอนเทนต์สักเรื่องนึง ควรเริ่มจากการทำ Keyword Research ก่อน ซึ่งเราควรลิสต์คีย์เวิร์ดในใจออกมาว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นก็มาดูอัตราการแข่งขันจากเครื่องมือที่เราจะแนะนำต่อไปนี้ ยิ่งถ้าเรารู้ว่ามีการแข่งขันสูงมากไปในคีย์เวิร์ดนั้น ๆ เราอาจจะลองหาคีย์เวิร์ดอื่นที่ไม่ได้มีอัตราการแข่งขันที่สูงขนาดนั้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาโอกาสพาเว็บไซต์ของเราไปอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น

รู้จักลักษณะของคีย์เวิร์ดที่ดี ก่อนทำ Keyword Research

“I’m not exaggerating when I say that without the right keywords, there’s no such thing as SEO.” - Brian Dean, Backlinko

คีย์เวิร์ดที่ดี คือ ด่านแรกของการทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จ และเมื่อเราเลือกคีย์เวิร์ดสักคำนึงมาทำ SEO มันคือ โอกาสที่ทำให้เกิดจำนวน Traffic แบบ Organic (ผู้ที่ไม่ได้มาจากคลิกลิงก์โฆษณา) เข้ามาในเว็บไซต์ของเรามากขึ้น ยิ่งพวกเขาเข้ามามากเท่าไร โอกาสที่พวกเขาจะกลายมาเป็นลูกค้า และทำยอด Conversion ให้เราก็มีมากขึ้นเหมือนกัน 

เพราะฉะนั้นนี่คือลักษณะของคีย์เวิร์ดที่ดี ที่จะมาตอกย้ำการทำ SEO ของคุณให้ประสบความสำเร็จ

1. มีปริมาณในการค้นหาพอสมควร 

ซึ่งปริมาณก็ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรมด้วย ถ้าหากคีย์เวิร์ดนั้นมีปริมาณการค้นหาน้อย ก็ไม่สามารถนำพา Traffic ให้หลั่งไหลเข้ามาในเว็บไซต์ของเราได้ และที่สำคัญก็อาจไม่เกิด Conversion ใด ๆ ขึ้นด้วย

2. สามารถแข่งขันได้ 

เช่น ดูที่อัตรา Cost-Per-Click (CPC) ถ้าคำไหนที่มีค่า Bid เยอะ ก็เท่ากับว่ามีการแข่งขันสูง ที่สำคัญถ้าเกิดว่าเราเป็นเว็บไซต์ที่เพิ่งทำขึ้นมาใหม่ ไม่เคยติดอันดับเลย ก็อาจจะสู้เว็บไซต์ที่มาก่อนและมีอันดับสูงได้ยาก ดังนั้นเราควรเริ่มจากการใช้คีย์เวิร์ดที่มีการแข่งขันน้อยก่อน แล้วค่อยไต่อันดับขึ้นไปดีกว่า

3. นำพากลุ่มเป้าหมายเข้าสู่เว็บไซต์ของเราได้ 

ถ้าเว็บไซต์ของเราปรับแต่งดีพร้อมจนสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีสำหรับการท่องเว็บไซต์ให้ผู้คนไว้ดีมาก แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าหากเว็บไซต์ของเราไม่มีคีย์เวิร์ดที่ตรงกับใจผู้ค้นหา แต่กลับกันถ้าเป็นคีย์เวิร์ดที่นำพากลุ่มเป้าหมายมายังเว็บไซต์ของเราได้ ก็มีโอกาสที่ทำให้พวกเขาติดตามเรา และกลายเป็นลูกค้าในอนาคตได้

4. เป็น High Commercial Intent Keyword 

High Commercial Intent Keyword คือ คีย์เวิร์ดที่คนตั้งใจค้นหาเพื่อนำไปสู่การซื้อสินค้า (Conversion) จากเว็บไซต์อยู่แล้ว โดย High Commercial Intent Keyword จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • Buy Now Keyword คือ คำที่ถูกค้นหาโดยคนที่มีความต้องการซื้อสินค้าแบบทันที เมื่อคลิกเข้าไปแล้วนำไปสู่หน้าที่ทำให้เกิด Conversion ได้ทันที (หน้า Buy Now) เช่น จองที่พักชายหาดหัวหิน, ร้านปิ้งย่าง ABC จองโต๊ะ, เช่าคอนโดย่านพระราม 9 รายเดือน
  • Product Keyword คือ คำที่ระบุรายละเอียด ยี่ห้อ รุ่น หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์ เพื่อเน้นในการค้นหาข้อมูลก่อนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ (มีแนวโน้มที่จะซื้อสูงรองจาก Buy Now แต่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน) เช่น เครื่องฟอกอากาศ ยี่ห้อ, ร้านอาหารอีสานอร่อย สยาม, รีวิวลิปสติก XYZ

ทำความรู้จักกับประเภทของคีย์เวิร์ด

ในการทำ Keyword Research อย่างน้อยเราควรรู้จักและเลือกใช้คีย์เวิร์ดให้เป็นสำหรับการทำ SEO เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากให้พวกเขาค้นหาเราเจอ คีย์เวิร์ดของเราจึงจะสามารถเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง และเพิ่มโอกาสที่จะก้าวไปสู่หน้าแรกบน Google อีกด้วย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท มีดังนี้

1. Seed Keyword

Seed Keyword  คือ คำที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ กลุ่มเป้าหมาย หรือบทความบนเว็บไซต์ของเรา แต่พูดถึงภาพรวมกว้าง ๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงลึกลงไป 

และ Seed Keyword มักจะเป็นคำที่สามารถต่อยอดแตกใบไปสู่คีย์เวิร์ดประเภทอื่น ๆ ได้ เราถึงเรียกคำประเภทนี้ว่า “Seed” นั่นเอง มักจะถูกพบอยู่บนหน้า Home page เช่น คำว่า “ครัวซองต์”

2. Niche Keyword 

Niche Keyword คือ คำที่มีคำมาขยาย Seed Keyword เพิ่มเติม แต่ก็ยังสามารถมองเป็นกลุ่มคำที่แสดงถึงภาพรวมได้อยู่ดี มักจะอยู่บนหน้า Category หรือ Catalog เช่น คำว่า “ครัวซองต์อัลมอนด์”, “ครัวซองต์เนยสด”

3. Niche Long-tailed Keyword 

Niche Long-tailed Keyword คือ คำที่เฉพาะเจาะจงลึกลงไปถึงรายละเอียดของสินค้า เช่น รุ่น, สี, ที่ตั้ง หรือแม้แต่การถามวิธีทำ เป็นต้น เพื่อจำกัดการค้นหาให้แคบลง และเจอสิ่งที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้น มักอยู่ที่หน้า Product Page เช่น คำว่า “ครัวซองต์เนยสด ฝรั่งเศส”, “วิธีทำครัวซองต์เนยสด”, “ครัวซองต์อัลมอนด์ เชียงใหม่”, “ครัวซองต์อัลมอนด์ร้าน ABC”

แผนภาพตัวอย่างวิธีการแตก Seed Keyword “ครัวซองต์” ออกมาเป็นลำดับขั้น

จากแผนภาพด้านบน เราจะพบว่า ไม่ว่าคีย์เวิร์ดจะอยู่ในประเภท Niche Keyword หรือ Niche Long-tailed Keyword แต่ก็ยังมี Seed Keyword อยู่ด้วย ซึ่ง Seed Keyword นี่แหละที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้แตกเป็นคำประเภทอื่นออกมาได้

ขั้นตอนการทำ Keyword Research

Keyword Research เริ่มต้นจากการที่คิดว่า “คนที่มีโอกาสจะมาลูกค้าจะค้นหาธุรกิจหรือเว็บไซต์ของคุณอย่างไร” จากนั้นคุณสามารถใช้ Keyword Research Tools เพื่อขยายแนวคิดเหล่านั้นและช่วยค้นหาคีย์เวิร์ดได้มากขึ้น

Keyword Research เป็นกระบวนการง่าย ๆ แต่ต้องรู้ 2 สิ่งนี้ก่อน จึงจะทำได้จริงและทำออกมาได้ดี

  • คุณต้องมีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมของคุณก่อน
  • คุณต้องเข้าใจว่า Keyword Research Tools ทำงานอย่างไร และจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร (ซึ่งเราจะพูดถึงในบทความนี้)

เราจะมาอธิบายถึงขั้นตอนในการทำ Keyword Research เพื่อช่วยให้คุณรู้คำตอบ 2 ข้อด้านบน และทำการค้นหาคีย์เวิร์ดกัน มีอะไรบ้างไปติดตามกันต่อเลยค่ะ

1. ทำการระดมไอเดีย “Seed Keyword”

Seed Keyword เป็นรากฐานของกระบวนการทำ Keyword Research มันสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (Niche Market) ได้ และช่วยดูได้ว่าคู่แข่งของเราคือใคร ซึ่ง Keyword Research Tools จะมีการถามเสมอว่า Seed Keyword ของคุณคือคำไหน เพื่อที่สามารถรวบรวมไอเดียคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องจำนวนมากมาให้คุณได้

หรือถ้าหากคุณมีสินค้าหรือธุรกิจที่ต้องการโปรโมตทางออนไลน์อยู่แล้ว การหา Seed Keyword ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าเดิม ให้คุณลองนึกว่า คุณรับบทเป็นลูกค้าที่กำลังจะค้นหาสินค้าของคุณอยู่ แล้วพวกเขาจะพิมพ์อะไรลงไปใน Search Engine เช่น ถ้าคุณขายเครื่องชงกาแฟและอุปกรณ์อื่น ๆ Seed Keyword อาจจะเป็นคำว่า 

  • กาแฟ
  • เอสเปรสโซ่
  • คาปูชิโน่
  • อเมริกาโน่
  • ลาเต้

*Seed Keyword ไม่จำเป็นต้องเป็นคำว่า “เครื่องชงกาแฟ” โดยตรงเลยก็ได้ เพราะนี่เป็นเพียง Seed Keyword ที่จะนำไปใช้สำหรับขั้นตอนต่อไป ดังนั้นไม่ต้องซีเรียสเกินไปสำหรับขั้นตอนนี้ ควรจะเป็นภาพกว้าง ๆ ที่คิดว่ามันเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของคุณไว้ก่อน

2. ดูว่าคีย์เวิร์ดของคู่แข่งของคุณอยู่อันดับที่เท่าไร

การดูว่าคีย์เวิร์ดไหนที่มักส่ง Traffic ไปสู่คู่แข่งของคุณเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มทำ Keyword Research แต่ก่อนอื่นคุณต้องระบุคีย์เวิร์ดของคู่แข่งเหล่านั้นก่อน ตรงนี้แหละคือจุดที่เราใช้ประโยชน์จากระดมไอเดีย Seed Keyword ในข้อแรกมาใช้ ให้เราพิมพ์ Seed Keyword ลงไปใน Google และดูว่ามีใครติดอันดับบ้าง


หากไม่มีใครเลยที่ติดอันดับต้น ๆ เพราะเว็บไซต์แรก ๆ อาจะเป็นพวกเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการขายของเลย ให้ลองใช้การค้นหาแบบ “Autosuggest” ดูแทน

แต่ถ้าไม่มีคีย์เวิร์ดที่คุณต้องการเลย คุณอาจจะลองพิมพ์คีย์เวิร์ดของคุณลงไปแทนเลยก็ได้ เช่น ถ้าคุณขายอุปกรณ์ชงกาแฟ ก็อาจพิมพ์คำว่า “เครื่องชงคาปูชิโน่” แทนคำว่า “คาปูชิโน่” นั่นเป็นเพราะร้านค้า E-Commerce ส่วนใหญ่จะถูกให้มีการจัดอันดับก่อน และตามด้วยเว็บบล็อกต่าง ๆ ลงมานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็อาจจะมีเว็บไซต์ของแบรนด์ใหญ่ ๆ เช่น Amazon หรือ Starbucks ขึ้นมาก่อนด้วย ซึ่งเราไม่ต้องมองพวกเขาว่าเป็นคู่แข่ง ให้คุณมองเฉพาะร้านค้าที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับคุณก็เพียงพอแล้ว

3. ใช้ Keyword Research Tools

เว็บไซต์ของคู่แข่งนี่แหละที่เรียกได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีในการส่องดูคีย์เวิร์ดเลย แต่ยังมีคีย์เวิร์ดอีกมากมายที่คู่แข่งของเราไม่ได้ใช้ ไม่จับตามอง หรือพวกเขาอาจนึกไม่ถึงนั่นเอง ซึ่งถ้าคุณรู้ว่าคีย์เวิร์ดคำนั้นคืออะไรก่อนพวกเขา ก็จะทำให้คุณสามารถก้าวนำคู่แข่งไปได้อีกก้าวนึง

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ? ก็ใช้ Keyword Research Tools นี่แหละ

Keyword Research Tools ทั้งหมดมักจะทำงานในลักษณะเดียวกัน คือ เมื่อคุณป้อน Seed Keyword เข้าไป มันก็จะช่วยดึงไอเดียคีย์เวิร์ดใหม่ ๆ เพิ่มเติมมาให้เราจาก Database ที่เครื่องมือนั้น ๆ มี นอกจากนั้น Keyword Research Tools ก็เข้ามาช่วยทำการวิเคราะห์ทางด้านต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ก่อนอื่นเราควรรู้จักค่า Metrics พื้นฐาน เพื่อช่วยให้การใช้งาน Keyword Research Tools สะดวกขึ้น ซึ่งมีดังนี้

  • Search Volume คือ จำนวนครั้งที่คีย์เวิร์ดคำนั้นถูกค้นหาเฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งปริมาณการค้นหาเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญแรก ๆ ของ SEO เป็นการวัดว่ามีการค้นหาจำนวนเท่าใดสำหรับคีย์เวิร์ดหนึ่ง ๆ ถ้าเกิดคุณรู้ว่าคีย์เวิร์ดหรือคำค้นหานั้นมีปริมาณต่ำ มันอาจเป็นเบาะแสที่ชี้ให้เห็นว่าตลาดยังไม่มีความต้องการขนาดนั้น หรือคุณกำลังใช้คำผิดอยู่ก็ได้
  • Cost-Per-Click (CPC) คือ ราคาที่ต้องจ่ายต่อหนึ่งคลิก ถ้าคุณตัดสินใจว่าจะทำ SEM หรือโฆษณาคีย์เวิร์ด ค่า CPC เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
  • Keyword Difficulty (KD) คือ ความยากง่ายในการแข่งขันคีย์เวิร์ดคำนี้ ยิ่งมีค่าสูงมาก ก็ยิ่งแข่งขันยาก
  • Paid Difficulty (PD) คือ ความยากง่ายในการสร้างแคมเปญโฆษณาคีย์เวิร์ดบน Search Engine ถึงแม้ว่าคุณเลือกที่จะหนีไปโฆษณาแล้ว คุณก็ต้องไปแข่งขันกับเจ้าอื่นอยู่ดี
  • SEO Difficulty (SD) คือ ความยากง่ายในการทำอันดับของคีย์เวิร์ดคำนั้น ยิ่งมีค่ามาก ก็ยิ่งต้องทำการแข่งขันที่สูง ถ้าเกิดเป็นช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ๆ เราอาจอย่าเพิ่งไปใช้คีย์เวิร์ดที่มีการแข่งขันสูง เพราะว่าธุรกิจนั้น ๆ มีการทำการตลาดมาค่อนข้างแข็งแรงแล้ว และมีลูกค้ามาติด ถ้าเราเป็นมือใหม่ลูกค้าก็อาจจะยังไม่ค่อยไว้ใจ แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าคุณทำได้ ก็ลุยเต็มที่ได้เลย
  • Trends คือ ชุดข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์ต่าง ๆ เช่น ความสนใจตามช่วงระยะเวลา, ความสนใจตามภูมิภาค, คำค้นหาที่เกี่ยวข้อง (Related queries) ซึ่งข้อมูลพวกนี้มักจะพบได้บน Google Trends

เครื่องมือที่แนะนำในการทำ Keyword Research

สำหรับเครื่องมือที่เราจะมาแนะนำให้คุณได้รู้จักกันในบทความนี้ บางคนก็อาจจะคุ้นเคยกันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับมือใหม่สาย SEO ที่ยังไม่รู้จักเครื่องมือในการทำ Keyword Research เราจะพาคุณไปทำความรู้จักพร้อม ๆ กันเลย

Google Trends

หนึ่งในเครื่องมือดี ๆ จาก Google บริษัท Search Engine ยักษ์ใหญ่ที่ครองแชมป์คนใช้มากที่สุดในโลก ที่สามารถช่วยวิเคราะห์แนวโน้มการค้นหาคีย์เวิร์ดจากเทรนด์ที่กำลังยอดนิยมต่าง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งผ่าน Google Search มาให้เราได้ดูกัน อีกทั้งยังมีความน่าเชื่อถือและสามารถดูข้อมูลเจาะลึกได้ตามประเทศหรือภูมิภาค รวมถึงลงลึกไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ค้นหาคีย์เวิร์ดนั้น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ เรายังสามารถนำคีย์เวิร์ดมาเปรียบเทียบกัน เพื่อดูว่าคำไหนมียอดค้นหามากกว่ากัน เช่น ถ้าเราอยากขายขนม แต่เราไม่รู้ว่าขนมประเภทไหนมีความต้องการมากกว่ากัน ระหว่าง “บราวนี่” หรือ “คุกกี้” เราก็สามารถใช้ Google Trends เปรียบเทียบดูได้ว่า คนมีแนวโน้มในการค้นหาอะไรมากกว่ากัน เพื่อที่จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเพื่อขายสินค้าได้

จากผลลัพธ์ที่ออกมา เราก็จะรู้ว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จำนวนการค้นหาทั้ง 2 อย่าง มีคนค้นหาสูสีกันมากในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 แต่โดยรวมแล้วมีจำนวนคนค้นหาคำว่า “คุกกี้” มากกว่า “บราวนี่” เสียอีก (อย่าลืมเปลี่ยนประเทศที่ต้องการดูแบบเจาะจงในช่องสีเขียวด้วยนะคะ) ซึ่งเราก็จะรู้คำตอบแล้วว่า คนที่ค้นหาคุกกี้มีจำนวนมากกว่านั่นเอง

ทดลองใช้งาน Google Trends ได้เลย

Ubersuggest

Ubersuggest เป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดย Neil Patel ผู้เชี่ยวชาญการทำ SEO ระดับโลก ซึ่งช่วยให้เราวิเคราะห์คีย์เวิร์ด, คอนเทนต์ หรือเว็บไซต์ของคู่แข่ง เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ มาวางกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อช่วยทำให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับและทำ SEO ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

โดยข้อมูลที่ Ubersuggest จะแสดงให้เรารู้ก็จะมีทั้ง Search Volume, Cost Per Click (CPC), Paid Difficulty (PD) และ SEO Difficulty (SD) เป็นต้น และที่สำคัญยังรองรับภาษาไทยอีกด้วย

ทดลองใช้งาน Ubersuggest ได้เลย

ดูรีวิวการใช้งาน Ubersuggest และเครื่องมือ SEO อื่น ๆ ได้ที่


SEMRush

อีกหนึ่งเครื่องมือที่มีคนเคลมว่าเป็นเครื่องมือในการทำ Keyword Research ดีที่สุดในตลาด เพราะให้ข้อมูลละเอียด เข้าใจง่าย ทั้งค่า Search Volume, Cost Per Click, Trend, หน้า SERP และหา Long- Tailed Keyword ได้ และมี Sensor ตรวจดู Google Ranking ว่ามีความผันผวนไหม เพื่อที่ว่าเมื่อมี Google Update มาเราจะได้รับมือทัน

ทดลองใช้งาน SEMRush ได้เลย


อยากทำ SEO ให้เว็บไซต์ติดอันดับ Google ต้องทำอย่างไร?

การที่เว็บไซต์ของเราจะติดอันดับหน้าแรกของ Google ได้ เราจะต้องทำการปรับแต่งให้ดี เพื่อให้ Google ถูกใจจนต้องเอาขึ้นไปติดบนหน้า SERP ซึ่งจะทำได้ทั้งแบบ On-page SEO และ Off-page SEO

On-page SEO

On-page SEO (หรือ On-site SEO) คือ ปัจจัยภายในที่อยู่บนเว็บไซต์ของเรา ที่สามารถสร้างความเป็นมิตรและความเข้าใจต่อทั้ง Search Engine และผู้ที่เข้ามาค้นหาคำตอบ ซึ่งการทำ On-page SEO นั้นถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมันช่วยให้ Search Engine เข้าใจว่าเว็บไซต์หรือคอนเทนต์ของเราว่ากำลังพูดถึงอะไรอยู่ และเชื่อมโยงกับคีย์เวิร์ดที่ผู้คนกำลังหาหรือไม่ รวมไปถึงส่งผลให้เกิดการทำ Off-page SEO ต่อไปอีกด้วย

หลักเกณฑ์ของ Google ที่ใช้วัดในการทำให้เว็บไซต์ของคุณติดหน้าหนึ่งได้เร็วขึ้น คือ Google มัก Concern เกี่ยวกับคุณภาพของคอนเทนต์ (Quality) เป็นหลัก เพื่อดูว่าเนื้อหาของเราตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการมากที่สุดหรือไม่ ดังนั้นนี่คือ 3 สิ่งที่คุณควรโฟกัสมากที่สุด

1. คุณภาพของคอนเทนต์

การสร้างคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ สร้างคุณค่า และให้ประสบการณ์ที่ดีกับผู้อ่าน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับการทำเว็บไซต์ขึ้นมาสักเว็บนึง เมื่อผู้คนเข้ามายังเว็บไซต์และอ่านคอนเทนต์ของเราแล้ว สิ่งนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้จริง ก็จะทำให้เกิดความพึงพอใจขึ้น จนพวกเขาไว้วางใจเราและกลายมาเป็นลูกค้าของเราได้

นอกจากนั้น คอนเทนต์ควรมีความยาวที่ยาวมากพอ เพื่อให้คนที่เข้ามาอ่านอยู่บนเว็บไซต์ของเรานานขึ้น เพราะยิ่งถ้าพวกเขาอยู่บนเว็บไซต์นานขึ้น ก็สามารถคลิกไปยังส่วนอื่นต่อไปเรื่อย ๆ และในที่สุดเกิดเป็น Conversion ขึ้นมา Google ก็จะมองว่าเว็บไซต์ของเราเป็นเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ (แต่คุณก็ควรติดการ Tracking Conversion บน Google Analytics เอาไว้ด้วย เพื่อให้ Google รู้ว่ามีการเกิด Conversion ในจำนวนที่เราต้องการมากพอบนเว็บไซต์)

2. การเคลื่อนไหวบนเว็บไซต์

การทำเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา ไม่ใช่เพียงแค่สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาครั้งแรกจบแล้วพอแค่นั้น แต่คุณควรต้องทำเว็บไซต์ของคุณมีการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เช่น การพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับผู้ใช้งาน หรืออัปเดตจำนวนคอนเทนต์ที่สร้างคุณค่าให้ผู้ที่เข้ามาเป็นประจำ เป็นต้น

เพราะเมื่อไรที่คุณปล่อยให้เว็บไซต์ของคุณร้าง ไม่มีการอัปเดตคอนเทนต์หรือข้อมูลข่าวสารให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ผู้ใช้งานเห็นว่ามีจำนวนคอนเทนต์เท่าเดิม รู้สึกว่าข้อมูลมันเก่าไปแล้ว หรือไม่สามารถช่วยให้พบคำตอบที่ต้องการได้ นั่นจะส่งผลให้คะแนน SEO ของเว็บไซต์ต่ำลงอีกด้วย

3. จำนวน Traffic บนเว็บไซต์

ถ้าคุณทำตาม 2 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ทั้งสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและอัปเดตคอนเทนต์สม่ำเสมอ แต่เว็บไซต์ของคุณก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะติดอันดับบน Google ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ?

นั่นเป็นเพราะว่า จำนวน Traffic ที่เข้ามาบนเว็บไซต์ของคุณไม่เพียงพอที่จะทำให้ Google เห็นว่าควรค่าแก่การติดอันดับ คุณลองนึกภาพตามดูว่า เราสร้างเว็บไซต์และเขียนคอนเทนต์ขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ให้ผู้ใช้งานหาเราเจอ อุตส่าห์ลงทุนลงแรงทำขึ้นมา แต่ไม่มีคนเข้ามาดู ก็ย่อมไม่มีความหมายอะไร

แต่ถ้ามีจำนวน Traffic ไหลเวียนบนเว็บไซต์ตลอด Google ก็จะมองว่าเว็บไซต์ของเราเป็นที่รู้จักและดูน่าเชื่อถือ จนพาเว็บไซต์ของเราขึ้นไปติดอันดับได้นั่นเอง

เทคนิคในการทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับ SEO

สำหรับเทคนิคการทำให้เว็บไซต์สามารถเอาชนะกฎเกณฑ์ของ Google ไปได้ วันนี้ The Growth Master ก็มีเทคนิคเพิ่มเติมสำหรับการปรับปรุงเว็บไซต์ เพื่อทำให้มีคนค้นหาเจอได้ง่ายขึ้น และติดอันดับบนหน้า Google มาฝาก ซึ่งจะประกอบไปด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

การใช้คีย์เวิร์ด

คอนเทนต์ของเราควรจะมีคีย์เวิร์ดของสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไปด้วย เพราะถ้าเราเขียนไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีคีย์เวิร์ดเลย Search Engine ก็จะไม่รู้ว่าเรากำลังจะพูดถึงอะไร ซึ่งเราควรกล่าวถึงอย่างน้อย 1 ครั้ง ใน Title tags, Meta-Description, เนื้อหา หรือ URL ของเรา 

นอกจากนั้น การใช้คีย์เวิร์ดใน 100 คำแรกของบทความก็มีส่วนช่วยทำให้บทความของเราสามารถติดหน้าแรกบน Google ได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ในบทความ Growth Hacking คืออะไร ? ทำความรู้จักกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นบทความที่กล่าวถึง “Growth Hacking” เพราะฉะนั้นจึงมีการใส่คีย์เวิร์ดคำนั้นลงไปใน 100 คำแรกของบทความด้วย 

การปรับแต่ง Title tags

Title tag คือ ชื่อเว็บเพจที่เรากำลังตามหา และเป็นสิ่งแรกที่ดึงดูดให้คนมักคลิกเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งมันจะแสดงอยู่บนหน้า SERP ของ Search Engine ถ้าพวกเขาเจอคีย์เวิร์ดที่กำลังตามหาบนชื่อเว็บไซต์คุณ แน่นอนว่าคุณจะได้รับ Traffic เหล่านั้นอย่างแน่นอน

Meta-Description ผู้ช่วยคนสำคัญ

Meta-Description คือ ส่วนที่อยู่ถัดมาจาก Title tag นั่นเอง ถ้าเกิดว่าในส่วนของ Title tag ไม่มีคีย์เวิร์ดที่คนกำลังตามหา แต่ใน Meta-description มี ก็มีส่วนช่วยทำให้เว็บไซต์ของเราติดหน้าแรกได้เหมือนกัน

การสร้าง URL ของเราเอง

บ่อยครั้งที่หาง URL ที่ซอฟต์แวร์จะ Generate ออกมาให้เรา จะมีลักษณะตัวอักษรมั่ว ๆ อ่านไม่ออก หรือภาษามนุษย์ต่างดาว เช่น /blog/vmL%mkurl-1 เป็นต้น 

ดังนั้นเราควรที่จะตั้งหาง URL โดยใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับบทความของเรา (ไม่แนะนำให้ใช้ภาษาไทยนะคะ ควรใช้เป็นภาษาอังกฤษจะดีกว่า) แม้ว่าการทำแบบนี้จะดูเหมือนว่าไม่ได้สำคัญอะไร แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เห็นถึงความใส่ใจและเป็นเว็บไซต์ที่ดูน่าเชื่อถืออีกด้วย

การทำ Original Content

Original Content คือ คอนเทนต์ที่ไม่ซ้ำหรือคัดลอกเนื้อหาของเว็บไซต์อื่นมาใส่ในเว็บไซต์ตัวเอง แต่เราสามารถอ้างอิงเนื้อหาของเว็บไซต์อื่นมา (กรณีการอ้างอิง จะเกี่ยวข้องกับการทำ Backlink ซึ่งทำให้ SEO ของเราดีขึ้นด้วย) แล้วสร้างเนื้อหาขึ้นมาและเขียนด้วยภาษาของเราเอง เพราะถ้า Search Engine อย่าง Google จับได้ว่าคอนเทนต์ของเราไปเหมือนกับคอนเทนต์ของเว็บไซต์อื่น ก็อาจทำให้ค่า SEO ของเราต่ำลงได้

ใช้ Internal Links ในหน้าเพจ

Internal Link คือ ลิงก์ภายในเว็บไซต์ของเราเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการลิงก์ไปยังหน้าเพจต่าง ๆ จนเกิดเป็น Traffic วนเวียนอยู่ในเว็บไซต์และพวกเขาก็ใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์ของเราได้นานขึ้น ทำให้เว็บไซต์ของเรามีคุณภาพและส่งผลต่ออันดับด้วยเช่นกัน

เพิ่ม ALT Text Tags

หากบนเว็บไซต์ของเรามีรูปภาพประกอบเนื้อหา ALT Text Tags คือ คีย์เวิร์ดที่อธิบายเกี่ยวกับรูปภาพเหล่านั้น เมื่อมีคนมาพิมพ์หาคีย์เวิร์ดเหล่านั้น ก็มีโอกาสทำให้พวกเขามาเจอเว็บไซต์ของเรามากขึ้นผ่านรูปภาพที่เราใส่ ALT Text Tags ไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ในมุมของ On-page SEO สิ่งที่อยู่ในเชิงของ Technical อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่ถ้าคุณเข้าใจในหัวใจหลักของ Google แล้ว คุณจะมองเห็นแบบทะลุปรุโปร่งเลยว่า สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ การที่ลูกค้า Search หาคำตอบแล้วมันใช่ มันตรงกับสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด 

ทั้งหมดนี่แหละคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอยู่บนหน้าแรกของ Google อย่างยั่งยืน และนำไปสู่การทำ Off-page SEO ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเว็บไซต์ของเรา

Off-page SEO

Off-page SEO (หรือ Off-site SEO) คือ การใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาทำให้เว็บไซต์ของคุณเป็นที่รู้จักและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่น การใช้ Backlink (หรืออาจเรียกว่า Link Building) เป็นลิงก์ที่เว็บไซต์อื่นแปะไว้บนหน้าเว็บไซต์ของเขาเพื่อให้ย้อนกลับมาที่เว็บไซต์ของเรา เป็นต้น

ตัวอย่างการทำ Backlink จากเว็บไซต์ The Growth Master ไปยังเว็บไซต์ Endlessloop

อย่างไรก็ตาม Backlink ที่ลิงก์มายังเว็บไซต์ของเรา ไม่ใช่ทุกลิงก์ที่สามารถส่งผลให้อันดับ SEO ของเราดีขึ้นได้ ซึ่ง Backilnk ที่ว่านั้นจะถูกจำแนกออกเป็น 2 แบบ คือ

DoFollow Link

DoFollow Link คือ ลิงก์ที่ช่วยให้อันดับ SEO เว็บไซต์บนหน้า SERP ดีขึ้น ซึ่งเป็นลิงก์ที่ Google มองเห็น ให้คุณค่า และมอบความรักให้แบบเต็ม ๆ ไปเลย ส่วนมากจะเป็นลิงก์ที่มาจากเว็บไซต์ที่มี Authority สูงและแนบ Backlink ของเราไป ซึ่งมองในมุมโค้ด HTML จะมีลักษณะดังนี้

NoFollow Link

NoFollow Link คือ ลิงก์ที่ไม่ได้ช่วยให้อันดับ SEO เว็บไซต์บนหน้า SERP ดีขึ้น เป็นลิงก์ที่ไม่ได้รับความรักและไม่มีค่า ไม่ได้อยู่ในสายตาของ Google เลย (เป็นลิงก์ที่น่าเศร้ามาก) ซึ่งถ้าเรามองด้วยตาเปล่าแล้ว มันอาจเป็นลิงก์ปกติ แต่ถ้าเรามองในเชิงเทคนิคในแท็ก HTML ลิงก์ของ NoFollow จะมีลักษณะดังนี้ 

เราจะเห็นได้ว่ามีคำว่า "nofollow" อยู่ ซึ่งเจ้า Attribute นี้จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้ Google อย่าเชื่อถือลิงก์นี้และอย่าช่วยให้เว็บไซต์นี้มีอันดับที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งลิงก์ประเภทนี้มักมาจากลิงก์ที่แปะไว้ตาม Comment บนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือลิงก์บนกระทู้ในเว็บบอร์ด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นธรรมชาติของทุกเว็บไซต์ที่จะมีทั้งแบบ DoFollow Link และ NoFollow Link ยิ่งถ้า Google Penguin ที่เป็น Algorithm ของ Google ตรวจจับว่าเว็บไซต์ไหนมีการปรับแต่ง SEO แบบผิด ๆ เช่น สร้าง Backlink แบบ DoFollow Link (ที่มาจากแหล่งเดียวกัน) มากไป หรือกล่าวถึงคีย์เวิร์ดคำเดิมซ้ำ ๆ เยอะเกินไป ก็จะยิ่งส่งผลต่ออันดับ (PageRank) ด้วยเช่นกัน

ภาพจาก mediaidentity

และถึงแม้ว่า NoFollow Link จะไม่ได้ส่งผลต่อการจัดอันดับให้ดีขึ้น แต่มันก็ยังมีข้อดี นั่นคือ สามารถสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ (Brand Awareness) หรือช่วยเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์ของเรา เมื่อเว็บไซต์ของเราเริ่มเป็นที่รู้จักและสามารถสร้างคุณค่ามากมายให้กับผู้อ่านแล้ว ก็เป็นการเพิ่มโอกาสสู่การเป็น DoFollow Link ในอนาคตได้อีกด้วย

5 เทคนิคในการสร้าง Backlink เพิ่มการติดอันดับให้เว็บไซต์ของคุณ

Backlink (Link Building) คือ ลิงก์ที่นำทางจากเว็บไซต์หนึ่งไปยังอีกเว็บไซต์หนึ่ง หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นลิงก์ที่เว็บไซต์อื่นแปะไว้บนหน้าเว็บไซต์ของเขาเพื่อให้ย้อนกลับมาที่เว็บไซต์ของเรา ซึ่ง Backlink ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ Search Engine เห็นว่าเว็บไซต์ของเรามีมีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ เพราะสามารถนำไปใช้อ้างอิงบนเว็บอื่น ๆ ได้ รวมถึงจัดเว็บไซต์ของเราอยู่ในอันดับ SEO ที่ดีขึ้นอีกด้วย

ภาพจาก spdload

แล้วทำอย่างไรถึงจะให้เว็บไซต์อื่น ๆ ติด Backlink กลับมาที่เว็บไซต์ของเราได้ล่ะ วันนี้เราก็ได้นำ 5 เทคนิคดี ๆ มาฝากทุกคนกัน

1. ทำคอนเทนต์ให้มีคุณค่าและทำ On-page SEO ให้มีคุณภาพ

ก่อนที่จะให้เว็บไซต์อื่นติด Backlink กลับมาที่เว็บไซต์ของเรา คอนเทนต์เราควรต้องสร้างคุณค่าให้กับทั้งกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า ถ้าเกิดว่าคอนเทนต์สามารถแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ และให้คำตอบที่พวกเขากำลังตามหาได้ เขาก็จะเห็นว่ามันมีคุณค่า และไม่แน่บางทีพวกเขาอาจจะแชร์คอนเทนต์ที่เราทำให้กับผู้อื่นด้วยก็ได้นะ ถือว่าเป็นกำไรไปในตัว

นอกจากคุณค่าแล้ว สิ่งที่ควรมีคือการทำ On-page SEO ให้มีคุณภาพ เพราะมันช่วยให้ Search Engine เข้าใจว่าเว็บไซต์หรือคอนเทนต์กำลังพูดถึงอะไรอยู่ และเชื่อมโยงกับคีย์เวิร์ดที่ผู้คนกำลังหาหรือไม่ รวมไปถึงส่งผลให้เกิดการทำ Off-page SEO ต่อไปอีกด้วย เนื่องจากพอเราเขียนคอนเทนต์ของเราดี เว็บไซต์อื่นจะได้อ้างอิง Backlink กลับมา

2. เป็น Guest เขียนบทความให้กับเว็บไซต์อื่น

การไปเป็น Guest ในเว็บบล็อกต่าง ๆ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่สามารถแปะ Backlink กลับมาที่เว็บไซต์ของเราได้ แต่เราควรต้องทำการ Research ข้อมูลและเขียนบทความที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว น่าดึงดูด ไม่เหมือนใคร และสะดุดตาคนอ่าน เพื่อที่จะดึงให้พวกเขามาที่เว็บไซต์ของเราได้มากขึ้น 

และที่สำคัญการที่เราไปเป็น Guest เขียนบทความก็ควรไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ที่ดังและมีความน่าเชื่อถือ เพราะปัจจัยข้อนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์ของเราเพิ่มขึ้นไปอีกด้วย (เหมือนได้รับการันตีมาแล้วนะว่าดีจากเว็บไซต์นั้น จึงไปเชิญเรามาเขียน) ซึ่ง Google มักจะชอบแสดงเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือบนหน้าค้นหาเท่านั้น วิธีนี้อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย แต่ผลตอบรับที่ได้กลับมาคุ้มค่าแน่นอน

3. การซื้อสื่อ PR กับสำนักข่าว

วิธีนี้เราอาจจะต้องล้วงกระเป๋าลงทุนกันสักหน่อย แต่ขึ้นชื่อว่าสำนักข่าวแล้วมักจะมีคนติดตามเยอะ ก็ยิ่งทำให้ผ่านสายตาของผู้คนจำนวนมาก หรือเกิด Awareness กับเว็บไซต์ของเรา และถ้าเกิดเราติด Backlink ไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงานข่าวนั้นแล้ว และคอนเทนต์ของเรามีความสะดุดตา สร้างคุณค่าให้พวกเขา ยังไงพวกเขาก็กดเข้ามาอ่านคอนเทนต์ของเราเข้ามาอย่างแน่นอน

แอปพลิเคชัน WIRTUAL ไปทำ PR กับ Forbes Thailand / ภาพจาก forbesthailand

4. การเป็น Testimonial ให้คำรับรอง

การเป็น Testimonial คือ การให้คำรับรองหรือคำชมเชยแก่ธุรกิจต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณไปจ้าง Outsource มาทำงานให้กับองค์กรของคุณ แล้วเขาเสนอให้คุณมาเป็น Testimonial ให้กับบริษัทของเขา นั่นก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่คุณสามารถติด Backlink ของธุรกิจของคุณบนเว็บไซต์ของ Outsource นั้น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม การเป็น Testimonial ก็ไม่ได้มีข้อดีเฉพาะการทำ Off-page SEO เท่านั้น แต่รวมถึง On-page SEO ด้วย เนื่องจากถ้าเกิดคุณนำมาปรับใช้กับธุรกิจของคุณ โดยให้ผู้อื่นมารีวิว มาเป็น Testimonial ให้กับแบรนด์ของคุณแล้ว Testimonial จะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำให้ลูกค้ามีความไว้วางใจกับธุรกิจของคุณมากขึ้น ยิ่งถ้าเกิดว่า Testimonial คนนั้นเอาไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นด้วย ก็จะเป็นการเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์ของคุณไปในตัว 

บริษัทต่าง ๆ จะได้การรับรองจากคุณ เพื่อไปติดบนเว็บไซต์ของเขา แต่คุณก็ได้การติด Backlink กลับมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ Win-Win กันทั้งคู่ ทั้งคุณและเขา

5. เข้าร่วม Community

Community เป็นช่องทางที่รวบรวมคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันให้มาอยู่รวมกัน ซึ่งเป็นแหล่งของโอกาสใหม่ ๆ ในการทำความรู้จักกับคนอื่น ๆ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาด้วย เราอาจจะเข้าร่วม Community ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เราทำ เช่น บล็อก, ฟอรัม หรือกลุ่มบน Facebook 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติว่าเราชื่นชอบการทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ และในขณะเดียวกันเราก็ทำเว็บไซต์เกี่ยวกับธุรกิจอยู่แล้วด้วย ก็อาจจะเข้ากลุ่ม TechTribe Thailand บน Facebook ก็ได้

โดยขั้นตอนแรกเราอาจจะหาโพสต์ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา จากนั้นก็ไปร่วมแสดงความคิดเห็น พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสายธุรกิจ หรืออาจจะแนบ Backlink ของเราที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่มาอ่าน พวกเขาก็จะกดเข้าตามไปอ่านเอง

ถึงแม้ว่าค่า Backlink ที่ได้จาก Facebook จะเป็นแบบ NoFollow Link ก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีข้อดีต่อ SEO ของเราเลย เพราะจากข้อมูลของ Pacymedia บอกว่า “Google ก็มีการประเมินคุณภาพของลิงก์นั้น จากการที่ผู้คนมี Interaction กลับมา เช่น ถ้าโพสต์ที่มีลิงก์นั้นมียอด Share สูง Google ก็จะประเมินว่ามีคุณภาพ เว็บไซต์ก็จะได้ประโยชน์จาก SEO เหมือนกัน” และยังได้ Traffic พ่วงกลับมายังเว็บไซต์อีกด้วย

นอกจากนั้น ข้อดีของการเข้าร่วม Commnunity ต่าง ๆ ไม่เพียงแต่เราสามารถเข้าถึงกลุ่ม Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) ได้อย่างเดียว แต่ยังสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของเราล่าสุดได้ตลอดเวลา อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อกับคนที่แบ่งปันความสนใจกับเราได้อีกด้วย

ข้อควรระวังสำหรับการทำ Backlink

การที่เราได้จำนวน Traffic แบบ Organic จาก Backlink กลับมาถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่จัดว่าดีเลยทีเดียว แต่ก็ยังมีข้อควรระวังด้วยนั่นคือ ระวังมีคนคัดลอกบทความของเราทั้งหมดหรือบางส่วนไปลงที่เว็บไซต์ของตัวเขาเอง ดังนั้นเราต้องหมั่นคอยตรวจสอบดูว่ามีใครคัดลอกบทความของเราไปไหม ถ้าเกิดว่าเราตรวจพบแล้วเจอ ก็สามารถแจ้ง Google ได้เลย ที่นี่

อีกหนึ่งข้อควรระวัง คือ ไม่ควรไปซื้อ Backlink จากเว็บไซต์สายเทา (Grey Hat) ต่าง ๆ หลายคนที่หลงไปทำอาจเป็นเพราะว่า คุณทำการปรับปรุงเว็บไซต์ก็แล้ว ทำคอนเทนต์ที่มีคุณค่าก็แล้ว ทำ On-page SEO ทำทุกอย่างก็แล้ว แต่เว็บไซต์ก็ยังไม่ติดอันดับสักที จึงไปเลือกทำ Backlink จากเว็บสายเทาแทน

ภาพจาก searchenginejournal

ถ้าพูดถึงการทำ SEO สำหรับเว็บไซต์ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มสร้างจากศูนย์ ถึงแม้ว่าคุณจะทำตามทุกขั้นตอนครบแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องระยะเวลากว่าจะติดหน้าหนึ่งบน Google ได้ก็อย่างน้อย 6 เดือน ที่คุณจะสามารถคาดหวังผลลัพธ์ได้

ซึ่งจริง ๆ แล้วการซื้อ Backlink จากเว็บไซต์สายเทา เราไม่เถียงว่ามันสามารถช่วยเรื่องอันดับของคุณได้จริง แต่มันทำได้เพียงในระยะสั้นเท่านั้น หากต้องการให้เว็บไซต์ติดอันดับในระยะยาวไม่เป็นผลดีแน่นอน เพราะถ้า Algorithm ของ Google ตรวจเจอเมื่อไร เว็บไซต์ของเราก็จะมีคะแนน SEO ติดลบลงไป จากที่เคยใกล้จะติดแล้ว อันดับก็ตกฮวบไปเลย ซึ่งนั่นก็เรียกว่าไม่เป็นผลดีต่อเว็บไซต์ที่ต้องการทำธุรกิจในระยะยาวแน่นอน 

ดังนั้น คุณควรอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อดใจรอสักนิดนึง อย่าใจร้อนจนเกินไปจนเลือกทางที่ไม่เป็นผลดีแก่คุณเองในระยะยาว ถ้าเว็บไซต์ของคุณมีการอัปเดตคอนเทนต์เป็นประจำ มีการเคลื่อนไหวสม่ำเสมออยู่แล้ว และมีคีย์เวิร์ดที่ติดหน้าหนึ่งแล้ว การเขียนคีย์เวิร์ดคำอื่นให้ติดหน้าหนึ่งด้วย ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากอีกต่อไป และอาจทำได้ในระยะเวลาที่สั้นลงกว่าเดิมมาก เราเชื่อว่าคุณสามารถทำได้อย่างแน่นอน :)

7 เทรนด์สำหรับการทำ SEO พาเว็บไซต์พุ่งทะยานฉบับอัปเดตปี 2023

หลังจากที่เราได้รู้ความหมายและองค์ประกอบทั้งหมดของการทำ SEO ไปแล้ว เราลองมาดูเทรนด์หรือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้หากต้องการทำ SEO พาเว็บไซต์พุ่งทะยานในปี 2023 นี้กัน ในบทความนี้เราได้นำมาฝากทุกคนกันถึง 7 เทรนด์ด้วยกัน ไปติดตามกันได้เลย

1. เมื่อ Core Web Vitals จะมีผลต่อเรื่อง Page Experience บนเว็บไซต์มากขึ้น

“จากการสำรวจของ Think with Google พบว่า Users กว่า 1 ใน 3 จะเลือกตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บไซต์ที่ออกแบบประสบการณ์การใช้งานที่ดี เช่น มีหน้าตาเว็บไซต์ที่สวยงาม ไม่รก และใช้งานง่าย”

การออกแบบเว็บไซต์ที่สามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับ Users บนโลกออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่จะมีความสำคัญต่อการทำ SEO ในปี 2023 นี้ทันทีด้วยการปรับเปลี่ยนระบบเกณฑ์การให้คะแนนเว็บไซต์เป็นระบบ Core Web Vitals และจะใช้เกณฑ์นี้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021

Core Web Vitals คือ Metric ที่ Google ได้คิดค้นเพื่อใช้ในการจัดอันดับหน้าการค้นหาของเว็บไซต์ทั้งหมด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Page Expereince ล้วน ๆ เช่น ความเร็วในการโหลดเว็บไซต์ ความเร็วต่อการตอบสนองคำสั่ง และความเสถียรของการจัดวาง Layout บนเว็บไซต์ (สามารถศึกษาเรื่อง Core Web Vitals แบบเต็ม ๆ ได้ที่ > บทความนี้)

ซึ่งเว็บไซต์ที่มีคะแนน Core Web Vitals ทั้ง 3 อยู่ในเกณฑ์ดีก็มีสิทธิ์ที่คะแนน SEO ของเว็บไซต์คุณจะพุ่งขึ้นไปติดอันดับต้น ๆ บนหน้า SERP ด้วยนั่นเอง และจากความสำคัญนี้ทำให้หลายเว็บไซต์อาจจะต้องหันมาสนใจในด้าน Page Experience กันเพิ่มมากขึ้น เราเลยมีทริคสั้น ๆ ในการเริ่มต้นปรับ Page Experience ของเว็บไซต์คุณมาฝากกัน

เริ่มปรับความเร็วในการโหลดของหน้าเว็บไซต์ (Page Speed Optimization)

การลองปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้โหลดได้เร็วขึ้น มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มคะแนน SEO ในปีนี้ โดยคุณสามารถเข้าไปเช็คค่าความเร็วของเว็บไซต์ก่อนได้ที่ Google Page Speed Insight 

ในกรณีที่เว็บไซต์ของคุณมีค่า Page Speed อยู่ในเกณฑ์แย่ ก็คงต้องถึงเวลาในการปรับปรุง เริ่มต้นที่การเช็คไฟล์รูปภาพว่ามีรูปไหนที่ไม่ได้ทำการ Image Optimization หรือเปล่า, ตรวจสอบ PlugIn ที่ใช้งานว่ามีเยอะเกินไปไหม (กรณีเป็น WordPress) หรือถ้าเว็บไซต์เก่า ไม่ได้ทำอะไรมานาน ก็คงถึงเวลาต้องลอง Redesign เว็บไซต์และลองเปลี่ยนระบบหลังบ้าน สร้างประสบการณ์ใหม่ ก็อาจเป็นทางออกที่ดีเช่นกัน

ออกแบบเว็บไซต์ให้ง่ายต่อการใช้งาน

เมื่อเว็บไซต์ของคุณใช้งานยาก วางองค์ประกอบอะไรไม่รู้เต็มไปหมด ดีไซน์ไม่เข้าตา ก็ไม่แปลกที่คะแนน SEO จะน้อย เพราะ Users เข้ามาแล้วเจอประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดี พวกเขาก็จะไม่สร้างกิจกรรมใด ๆ จนกดออกจากเว็บไซต์ไปในที่สุด  สิ่งนี้จะทำให้ Bounce Rate ของเว็บไซต์สูงขึ้น และส่งผลให้คะแนน SEO ต่ำลงด้วยนั่นเอง (อ่านเทคนิคดีไซน์เว็บไซต์ที่ช่วยลด Bounce Rate ได้ที่ > บทความนี้)

Mobile Friendly Website

เมื่อพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไปอยู่บนโทรศัพท์กันมากขึ้น การออกแบบเว็บไซต์ให้มีความ Mobile Freindly ก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีและส่งผลต่อภาพรวม SEO ได้เช่นกัน

ภาพจาก DMAT

2. EAT เทคนิคในการสร้าง “Page Quality Rating” ที่ Google ชอบ

อีกหนึ่งเทรนด์ในการทำ SEO ของปี 2023 ที่สำคัญไม่แพ้เรื่องของ Page Experience นั่นก็คือเรื่องการเขียนคอนเทนต์ให้มีลักษณะ EAT ให้มากที่สุด

EAT คือหนึ่งในปัจจัยที่ Google ให้ความสำคัญในการจัดลำดับเว็บไซต์สำหรับการทำ SEO สายคอนเทนต์โดย EAT ย่อมาจาก 

  • E - Expertise คือ ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญ ของเนื้อหาคอนเทนต์นั้น
  • A - Authority คือ ความเป็นเจ้าของผลงานคอนเทนต์ หรือ บทความนั้น ๆ (การให้ความสำคัญกับนักเขียน)
  • T - Trust คือ ความน่าเชื่อถือของบทความ, คอนเทนต์ ต้องมีแหล่งอ้างอิง มีช่องทางการติดต่อนักเขียนหรือบริษัทที่ชัดเจน ดูไว้ใจได้ไม่ใช่เว็บไซต์แนว Clickbait (เว็บไซต์ที่พาดหัวข่าวเกินความจริงเพื่อหลอกให้คนกดเข้าไปอ่าน)
ภาพจาก localbusinessmarketingsolution

เพราะเมื่อบทความหรือคอนเทนต์ของคุณ มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ประการแล้วก็จะส่งผลให้คอนเทนต์ของคุณกลายเป็นคอนเทนต์คุณภาพ ที่สามารถดึงดูด User จนเพิ่ม Traffic เว็บไซต์ได้ และแน่นอนว่าเมื่อ Traffic เพิ่มขึ้นรัว ๆ ก็จะส่งผลให้การจัดอันดับ SEO ของเว็บไซต์คุณได้อันดับที่ดีขึ้นด้วยนั่นเอง

ในส่วนนี้ผู้ที่ทำคอนเทนต์ลงเว็บไซต์ทุกคน หากต้องการสร้างคอนเทนต์ให้ถูกหลัก EAT Factor อันดับแรกก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของเนื้อหาที่เราต้องการสื่อสารไปยัง Audience เป็นสำคัญ เพราะว่าการที่เราเขียนคอนเทนต์โดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มา ขาดการเล่าเรื่องที่เป็นขั้นตอน หรือขาดเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ จะทำให้บทความขาดความน่าเชื่อถือจากผู้อ่าน

โดยหากคุณต้องการสร้างคอนเทนต์ให้เป็นคอนเทนต์คุณภาพตามหลัก EAT Factor เพื่อการไต่อันดับ SEO หัวข้อนี้ The Growth Master ก็มีทริคดี ๆ มาฝากกันอีกแล้ว

เขียนคอนเทนต์อย่างไรให้ผ่านหลักเกณฑ์ E - Expertise (ความเชี่ยวชาญ)

  • การเขียนคอนเทนต์ต้องมีการเล่าเรื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เขียนให้ผู้อ่านอ่านรู้เรื่องมากที่สุด ห้ามข้ามไปข้ามมา เพราะเมื่อเราเล่าเรื่องได้ดี ผู้อ่านก็จะคล้อยตามและอ่านคอนเทต์บนเว็บไซต์ของคุณต่อจนจบ
  • ความยาวของคอนเทนต์ ถ้าจะให้ดีต้องมี 1,000 คำขึ้นไป
  • ควรทำ On-Page SEO เพื่อเชื่อมลิงก์คอนเทต์อื่น ๆ ในเว็บไซต์ของเราเสริมเข้าไปด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาที่มีประโยชน์ในเรื่องเดียวกัน (แต่ต้องเป็นเว็บไซต์ของคุณเท่านั้น)

เขียนคอนเทนต์อย่างไรให้ผ่านหลักเกณฑ์ A - Authority (อำนาจความเป็นเจ้าของ)

  • ควรเขียน Original Content โดยใช้ Topic ใหม่ ๆ ที่คุณคิดขึ้นมาเอง หรือไม่เหมือนใคร
  • หลีกเลี่ยงการเอาเนื้อหาจากเว็บไซต์อื่นมาใส่ในเว็บไซต์เรา ถ้ามีความจำเป็นต้องดัดแปลงเนื้อหาให้ดีกว่าหรือไม่ให้เหมือน 100%
  • ควรทำคอนเทนต์ในลักษณะ Pillar Page หรือ Topic Cluster บ่อย ๆ เพื่อช่วยเพิ่มคะแนน SEO อีกทาง
  • สร้าง Type of Content สำหรับเว็บไซต์ให้ชัดเจน ไม่เล่าเรื่องมั่ว ควรเจาะจงในหัวข้อที่เป็นของธุรกิจคุณเป็นหลัก (เช่น The Growth Master เน้นเรื่องเทคโนโลยีและการสร้างธุรกิจดิจิทัล, WIRTUAL เน้นเรื่องออกกำลังกายและได้คริปโทฯ)
  • ให้ความสำคัญกับ Content Writer ด้วยสร้าง Link รวมผลงาน, ประวัติของผู้เขียนคอนเทนต์นั้น ๆ 

เขียนคอนเทนต์อย่างไรให้ผ่านหลักเกณฑ์ T - Trust (ความน่าเชื่อถือ)

  • เริ่มเขียนเนื้อหาของคอนเทนต์ให้ตรงตาม Keyword เสมอ (เพื่อจะได้ติดหน้าหนึ่งบน Google) เพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้น
  • มีการอ้างอิง จากเว็บไซต์อื่นเสมอในกรณีที่เนื้อหาของคอนเทนต์ไม่ได้เป็น Original Content เพื่อทำให้บทความดูมีความน่าเชื่อถือ และยังเป็นการทำ Backlink ให้บทความอีกด้วย
  • สร้างหน้า Privacy Policy เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและยังเป็นการแสดงให้ผู้อ่านเห็นด้วยว่า เว็บไซต์ของเราปลอดภัย
  • เพิ่มเติมช่องทางการติดต่อลงในหน้าคอนเทนต์ด้วย

คงสรุปได้ว่าในปี 2023 หัวใจสำคัญสำหรับการสร้างคอนเทนต์ต้องยึดตามหลักเกณฑ์ EAT Factor เสมอจะสามารถช่วยให้เนื้อหาคอนเทนต์บนเว็บไซต์ของคุณมีความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ต้องการของ User จะส่งผลให้การจัดอันดับ SEO ของเว็บไซต์คุณดีขึ้นได้ค่ะ

3. Voice Search จะยิ่งสำคัญมากขึ้นกว่าปีก่อน

71% ของผู้บริโภคชอบใช้ Voice Search ในการค้นหามากกว่าการพิมพ์ – thrivemyway

ปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการค้นหาด้วยเสียง เริ่มมีอิทธิพลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตของเรามากขึ้น การใช้เครื่องมืออย่าง Google Assistant, Siri กลายเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมเพราะทำให้การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ สะดวกสบายมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่หลายเว็บไซต์ละเลยที่จะให้ความสำคัญในส่วนนี้ไป

ภาพจาก wearesocial

แต่จากสถิติภาพรวมตลอดปี 2021 ของทาง Hootsuite ที่ทำการสำรวจมาพบว่าประเทศไทย มีอัตราการใช้ Voice Search 20.1% สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก (แม้ในปีก่อนหน้านี้จะอยู่อันดับที่ 6) แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากสำหรับการค้นหาด้วยเสียงที่มีค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 24.1% นั่นจึงทำให้เทรนด์ในการทำ SEO ของปี 2023 เรื่องของ Voice Search กลายเป็นเรื่องที่สำคัญขึ้นมาทันที

โดยเรื่องของ Voice Search นี้เองจะสัมพันธ์กับการทำ SEO ในส่วนของคำค้นหา (Search Queries) ที่จะมีความแตกต่างจากปกติ อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นเวลาเราค้นหาด้วยเสียง ส่วนใหญ่เราก็จะมักค้นหาด้วย ภาษาพูด หรือ ประโยคที่ใช้พูด

ซึ่งมันก็จะมีความแตกต่างจากภาษาที่เราพิมพ์ด้วยการค้นหาแบบปกติ ยกตัวอย่างเช่น ในการค้นหาด้วยการพิมพ์ปกติเราอาจจะมีแนวโน้มที่จะเสิร์ชว่า “ร้านอาหาร สีลม” เพราะทาง Google ก็มักจะแนะนำคำค้นหามาให้เราอยู่แล้ว เมื่อเวลาเราพิมพ์

แต่การค้นหาด้วยเสียง Google จะไม่สามารถแนะนำคำค้นหาอะไรให้เราได้ เลยทำให้ผู้ใช้งานอาจมีแนวโน้มที่จะค้นหาว่า “ร้านอาหารอร่อย แถวสีลม ราคาถูก” ที่มีความเป็นประโยคพูดมากขึ้น 

โดยส่วนนี้เอง หากใครที่ต้องการทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับ SEO ชนิดที่เรียกว่าเก็บทุกเม็ด การเข้าไป Optimize Keyword ในเว็บไซต์ให้มีความเป็นภาษาพูดด้วยก็เป็นสิ่งที่คุณควรต้องทำ 

ภาพจาก searchenginejournals

เพราะคำค้นหาแบบธรรมดา (พิมพ์) บางคีย์เวิร์ดนั้นอาจเป็นคำที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้วเช่นตัวอย่างคำว่า “ร้านอาหาร สีลม” ซึ่งก็มีอยู่หลายร้านมากมาย เป็นพื้นที่ที่แข่งขันกันสูง แต่กลับกันที่คำค้นหาด้วยเสียง จะเป็น Long-Tail Keyword ที่จะเป็นเป็นคำที่เจาะจงมากกว่า อย่างคำว่า “ร้านอาหารอร่อย แถวสีลม ราคาถูก”

ถึงแม้ว่าจะใช้คำค้นหาที่เป็นภาษาพูดหรือคำค้นหาที่เป็น Long Tail Keyword ก็ตาม แน่นอนว่าใน Keyword นั้นอาจมีจำนวนการค้นหาที่ไม่เยอะ สู้แบบแรกไม่ได้ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่ามันก็มีการแข่งขันที่น้อยกว่าด้วยเช่นกัน ในกรณีที่มีคนค้นหาด้วย Keyword คำนั้นก็มีโอกาสสูงมากที่คุณจะสามารถให้พวกเขาเป็นลูกค้าของร้านคุณได้ เพราะผู้ใช้งานได้มีการบอกความต้องการของตัวเองไว้ชัดเจนในคำค้นหาแล้ว (แถมอาจติดอันดับ 1 ใน Keyword นั้นด้วยซ้ำ)

4. Google AI กับการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะมาอยู่ใน Search Engine

จริง ๆ แล้วหากใครที่ตามข่าวในด้านการทำ SEO อยู่เป็นประจำน่าจะพอทราบว่า Google เองก็มักจะใช้เทคโนโลยี AI ในการพัฒนา Search Engine อยู่เป็นประจำเพื่อให้ระบบมีความอัจฉริยะขึ้นเสมอ 

ตัวอย่างที่โด่งดังเช่นในเรื่อง การที่ Google ประกาศเปิดตัวอัลกอริทึม 'BERT' ทั่วโลก เมื่อปลายปี 2019 ซึ่งมันคือ Google (AI) Algorithm ที่ในเวอร์ชั่นล่าสุดนี้มันได้พัฒนาบนพื้นฐานของเทคโนโลยี AI Neural Network เพื่อให้ระบบอัลกอริทึมเข้าใจภาษามนุษย์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น (จะมีความเกี่ยวข้องกับข้อที่แล้ว Voice Search พอสมควร)

เป็นเหตุให้การนำเสนอข้อมูลในหน้า SERP ก็จะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นตามไปด้วย เพราะด้วยระบบของ BERT Algorithm ตัวนี้เองจะค่อนข้างชอบกับการที่เว็บไซต์มี Long Tail Keyword จนแทบจะเรียกได้ว่าในปี 2023 นี้ถ้าอยากทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จ คงต้องลืม Short Keyword ไปได้เลย

มาดูตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นกันค่ะจริง ๆ แล้ว BERT Algorithm จะให้ความสำคัญกับบริบทของคำค้นหามากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในรูปภาพด้านล่างที่ประโยคที่ใช้ค้นหาคือคำว่า “Math practice books for adults” จากแบบเดิม Algorithm จะให้ความสำคัญกับคีย์คำว่า ‘Math practice book’ ก่อนเป็นอันดับแรก เลยทำให้ผลการค้นหาแสดงผลแค่ หนังสือแบบฝึกหัดเลขแบบกว้าง ๆ 

แต่ถ้าเป็น BERT Algorithm ระบบ AI ของ Google ก็จะให้ความสำคัญกับคำว่า ‘for adults’ ที่เป็นคีย์เวิร์ดที่แสดงถึงบริบทของการค้นหาด้วย ทำให้ผลลัพธ์การค้นหาก็จะออกมาแม่นยำขึ้นดังในรูป (ระบบจะแสดงผลหนังสือแบบฝึกหัดเลข สำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ)

ภาพจาก searchengineland

ซึ่งหลังจากที่ BERT ได้ปล่อยออกมาเป็นหนึ่งในระบบ Algorithm ของ Google ต้องยอมรับว่าพลิกโฉมการทำ SEO จากรูปแบบก่อน ๆ ไปเยอะพอสมควรและในปี 2023 นี้ BERT Algorithm ก็ยังคงมีความสำคัญต่อการทำ SEO มากขึ้นด้วย 

ดังนั้นเรื่องของ AI Neural Network หรือเทคโนโลยี AI สำหรับการค้นหาบน Google ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนทำ SEO ต้องหมั่นอัปเดตข้อมูลหรือข่าวสารอยู่ตลอดเวลาและเป็นเทรนด์ที่ขาดไม่ได้ของ SEO ปี 2023

5. Zero Position ได้รับความนิยมมากขึ้นและสร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจได้จริง

หากใครที่มีประสบการณ์อยู่ในแวดวง SEO หรือสายงานคอนเทนต์คุณน่าจะรู้ถึงความหมายของ Zero Click หรือ Zero Position กันเป็นอย่างดี (และน่าจะรู้ด้วยว่าสร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจอย่างไร) ใช่แล้วค่ะ เทรนด์ในเรื่องนี้เราจะพูดกันถึง Featured Snippet 

Featured Snippets คือ รูปแบบหนึ่งของผลการค้นหาที่จะแสดงผลในหน้า SERP ในลักษณะของกล่องคำตอบที่จะปรากฏคำตอบของคำค้นหาที่เราเสิร์จ รวมไปถึงรูปภาพที่เกี่ยวข้องโดยที่ไม่ต้องเข้าไปที่เว็บไซต์

โดย Featured Snippet จะมีชื่อเล่นที่นักการตลาดจะเรียกตำแหน่งนี้ว่า Position Zero หรือ Zero Clicks Position เพราะว่าถือเป็นตำแหน่งการค้นหาอันดับ 0 (มากกว่าอันดับ 1) อยู่บนสุดของหน้า SERP แบบเด่น ๆ ไม่จำเป็นต้องคลิกเข้าเว็บไซต์ ก็หาคำตอบของเราเจอ แต่ก็ต้องแย่งกันหน่อย เพราะตำแหน่งนี้อนุญาตให้มีเจ้าของได้เพียงเว็บไซต์เดียว (แต่เปลี่ยนกันได้ทุกเมื่อ)

ซึ่งแน่นอนว่าการที่เว็บไซต์ของคุณได้อยู่ในตำแหน่ง Zero Click Positions ก็จะทำให้คุณสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจมากมายในอนาคต เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้งาน Google ส่วนใหญ่เวลาค้นหา ก็จะเลือกอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์ที่ได้ Featured Snippet กว่า 50% ซึ่งมากกว่าทั้งแบบ Organic หรือ Paid Ads (SEM) ด้วยซ้ำ

ภาพจาก sparktoro

และตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้นไปอีกกับผลการสำรวจของ SisTrix ที่พบว่าเว็บไซต์ที่ได้ Featured Snippet จะได้รับค่า CTR (Click throught Rate) มากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ บนหน้า SERP ถึง 23.3% หรือถ้าจะบอกว่านี่เป็นทำเลทองบนหน้า SERP ก็คงไม่ผิดอะไร (โดยเฉพาะเว็บไซต์ด้านการเผยแพร่คอนเทนต์)

ภาพจาก smartinsight

แต่ถ้าถามว่าแล้วเรื่อง Zero Click Positions หรือ Featured Snippet มันสำคัญอย่างไรกับการทำ SEO คำตอบก็ง่าย ๆ คือ “ถ้าคุณอยากเว็บไซต์ขึ้นไปติด Featured Snippet ก็ต้องอาศัยการทำ SEO ล้วนๆ” แต่ถึงอย่างไรก็ตาม Algorithm ของ Google จะเป็นคนคัดเลือกเว็บไซต์เอง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

โดยข้อนี้ The Growth Master เลยขอมาแชร์เทคนิคง่าย ๆ ในการพาเว็บไซต์ติด Featured Snippet ฉบับปี 2023 กันค่ะ

  • อยากมี Featured Snippet ต้องติดหน้าแรกก่อน! – กฏข้อแรกของการจะอยู่ใน Zero Click Position ถ้าหน้าแรกยังไม่ติด Featured Snippet คงต้องหมดลุ้นไปเลย และมันก็จะย้อนกลับมาถึงการทำ SEO ทั้งหมดที่เรากล่าวมาในบทความนี้ เพราะฉะนั้นหากเว็บไซต์คุณยังไม่ได้มีการทำ SEO ที่มีประสิทธิภาพมากพอ ก็เป็นเรื่องยากที่จะติด Featured Snippet ในปีนี้
  • เริ่มการปรับปรุง Keyword ให้เป็น Long Tail Keyword – จากการสำรวจของ SEMRush พบว่าการมี Long Tail Keyword ที่ละเอียด ๆ จะยิ่งช่วยให้เว็บไซต์ของคุณมีสิทธิ์ไปอยู่ในตำแหน่ง Zero Click Position มากขึ้น เช่นถ้าเราพิมว่า “ไอโฟน13” Google ก็จะแสดงผลเว็บไซต์มาเยอะแยะไปหมด ซึ่งก็จะเป็นเรื่องกว้าง ๆ (ไม่มี Featured Snippet ด้วย) แต่ถ้าเราลองพิมว่า “ไอโฟน13 ราคาเปิดตัว” ก็จะมี Featured Snippet ขึ้นมาทันที ดังนั้นลอง Research Keyword เยอะ ๆ และหา Long Tail Keyword ที่เว็บไซต์เราพอแข่งขันได้ ก็เป็นเทคนิคที่ดีวิธีหนึ่ง
  • ตั้งชื่อ Tag Heading ให้เป็นประโยคคำถาม – กว่า 77% ของเว็บไซต์ที่แสดงผลบน Zero Click Position ส่วนใหญ่มักแสดงผลเมื่อมีการค้นหาด้วยประโยคคำถาม ดังนั้นหน้าที่ของคุณก็คือการใส่ Tag Heading บนหน้าเว็บให้ตรงกับบริบทคำถามด้วยคำว่า คืออะไร? ทำไม? วิธีทำ ขั้นตอน จะเป็นผลดีต่อการทำ SEO ของคุณมากกว่าค่ะ
  • คุณภาพของคอนเทนต์ก็สำคัญ - เมื่อ Zero Click Position เป็นตำแหน่งที่จะ Preview ส่วนหนึ่งของเนื้อหาในเว็บไซต์ของคุณ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้พวกเขากดเข้ามาอ่านต่อ ก็คือการใส่ใจกับการเขียนบทความให้มากขึ้น เนื้อหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ต้องเขียนอธิบายให้ชัด เคลียร์ แต่ไม่ยืดเยื้อและไม่สั้นจนเกินไป เพราะถ้าคอนเทนต์ในเว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพ “ดีจริง” และทำ SEO อย่างมีประสิทธิภาพ Featured Snippet ก็สมควรเป็นตำแหน่งของเว็บไซต์คุณแน่นอน

6. อยากทำ SEO ให้มีประสิทธิภาพ Video Content ก็สำคัญ

ในปี 2021 ทาง Google ก็ได้ทำการประกาศไว้เมื่อเดือนตุลาคมแล้วว่าพวกเขาจะเริ่มให้ความสำคัญกับ Video Content มากขึ้น (ส่วนหนึ่งคือการสนับสนุน Youtube หนึ่งในบริษัทลูกของ Google มากขึ้น) โดยจะให้พื้นที่ในการแสดงผลบนหน้า SERP ด้วย

ดังนั้นเรื่องของการทำ SEO นอกจากฝั่งเว็บไซต์แล้วเหล่า Content Creator หรือธุรกิจที่มี Video Content เป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำคอนเทนต์ ก็ต้องให้ความสำคัญเหมือนกัน โดยในช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ทาง Google ก็ได้มีการปรับระบบ AI ใหม่สำหรับการแสดงผล Video Content โดยเฉพาะ

นั่นคือเริ่มมีการแสดง Timestamp ของ Youtube Video Content บนหน้า SERP เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ให้สามารถพอรู้เนื้อหาคร่าว ๆ ของ Video Content นั้นได้บนหน้า SERP เลยและถ้าเกิดสนใจอยากเข้าไปรับชมก็กดเลือกหัวข้อ Timestamp ที่สนใจได้เลย (Google จะเรียกฟีเจอร์นี้ว่า Key Moments)

ภาพจาก searchenginejournal

ดังนั้นสำหรับธุรกิจไหนที่มี Video Content (Youtube) เป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์แล้วอยากให้คอนเทนต์ของตน ไปปรากฏอยู่บนหน้าแรกของ Google ในคำค้นหาที่คาดหวังนั้น วิธีการทำ SEO สำหรับ Youtube ก็จะไม่มีอะไรที่แตกต่างจากการทำ SEO ในเว็บไซต์มากนัก 

นั่นก็คือคุณก็ต้องพยายามใส่ Keyword ลงไปในชื่อคอนเทนต์, คำอธิบาย (Description), Tag Keyword (ช่องใส่ Keyword ที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์) รวมถึงการใส่ Keyword ลงไปใน Timestamp ก็จะเป็นตัวช่วยให้การทำ SEO สำหรับ Youtube Video Content ของธุรกิจคุณเห็นผลได้รวดเร็วมากขึ้นค่ะ (อ่านวิธีทำ Timestamp ให้ Youtube Video Content ได้ > ที่นี่)

ภาพจาก VideoLane

TIPS : ในกรณีที่คุณต้องการตรวจสอบว่า Video Content ของคู่แข่ง พวกเขาใช้ Keyword อะไรกันในการทำให้คอนเทนต์ถูกค้นหาเจอได้ง่ายขึ้น คุณสามารถใช้ตัวช่วยอย่าง "Tag Snag” Chrome Extension ที่จะช่วยให้คุณรู้ Keyword ของ Video Content ทุกตัวใน Youtube เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยของคุณได้เช่นกัน 

7. หมั่นวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาปรับปรุงการทำ SEO อยู่เสมอ

เพราะในปีนี้ หรือปีไหนก็ตามอย่างที่เราทราบกันดีว่าเรื่องของการทำ SEO เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะสังเกตได้ง่าย ๆ อย่างอันดับของเว็บไซต์ในการแสดงผลหน้า SERP ก็ยังเปลี่ยนแปลงอันดับกันได้ทุกเมื่อ ซึ่งก็เหมือนกับที่เราบอกไปในข้อก่อนหน้าว่าอันดับเว็บไซต์บนหน้า SERP จะส่งผลต่อธุรกิจมากขึ้นในปีนี้

เพราะฉะนั้นหนึ่งในเทรนด์การทำ SEO ที่สำคัญอย่างสุดท้าย ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูล หรือการวางแผนให้การทำ SEO ในสัปดาห์, เดือน ต่อไปดีขึ้นนั่นเอง

ในส่วนนี้คุณสามารถลองใช้หรือติดตั้งเครื่องมือในการวิเคราะห์อย่าง Google Analytics หรือ Google Search Console กับเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณรู้ว่าตอนนี้เว็บไซต์หรือหน้าต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของคุณ มี Clicks, Traffic, Engagement, Impressions, Position, Bounce Rate หรือค่าอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง

คุณสามารถเข้าไปอ่านทำความรู้จัก Google Analytics เบื้องต้นได้เลยที่บทความนี้

โดยคุณสามารถนำสถิติต่าง ๆ ของเว็บไซต์ในช่วงเวลาต่าง ๆ มาทำการวิเคราะห์และวัดผลว่าการทำ SEO ของคุณตอนนี้มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไรบ้าง เช่น คุณอาจจะพบว่ามีช่วงนี้เว็บไซต์มีค่า Bounce Rate สูงขึ้น และ Positions ในหน้า SERP ก็ลดลง เมื่อรู้เช่นนี้นั่นหมายความว่าถึงเวลาที่คุณต้องจริงจังกับการทำ SEO (On Page) หรือการเขียนคอนเทนต์ให้ดึงดูดมากขึ้นหรือเปล่า

ภาพจาก neilpatel

ดังนั้นอย่างมัวแต่ก้มหน้าก้มตาเคร่งเครียดกับการทำ SEO หรืออันดับเว็บไซต์แต่เพียงอย่างเดียว ควรหาเวลามา Follow Up ผลการทำ SEO ของคุณ สังเกตว่าคอนเทนต์ไหนได้รับความนิยม (มี Traffic ดี) แล้วลองปรับปรุงคอนเทนต์นั้นไปเรื่อย ทำ Off-Page , On-Page ให้มีประสิทธิภาพ แล้วนำมาขายผล ปรับปรุงในอนาคตต่อไปก็ถือเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่จะเข้ามาทำให้การทำ SEO ในปี 2023 ของคุณประสบความสำเร็จมากขึ้น

สรุปทั้งหมด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2023 นี้การทำ SEO ก็ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างธุรกิจให้เติบโตผ่านเว็บไซต์ และถือเป็นเรื่องที่นักการตลาดทุกคนต้องตามเทรนด์ให้ทันอยู่ตลอดเวลา

แต่อย่างไรก็ตามจะสังเกตได้ว่า 7 เทรนด์ที่ได้นำเสนอไปนั้นบางอย่างก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ของปีนี้เลย แต่เป็นแค่เรื่องเก่า ที่ Google ให้ความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นไม่แน่ว่าในปีหน้า หรือปีต่อ ๆ ไปเราอาจได้พบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการทำ SEO อีกครั้งก็เป็นได้ 

สุดท้าย Key Message ของการทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จ ถ้าจะให้สรุปง่ายแบบเข้าใจได้ในพารากราฟเดียว ก็คงหนีไม่พ้นการสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า จนพวกเขาชอบเว็บไซต์ของคุณ หลังจากนั้นแค่ยืนเฉย ๆ Google ก็จะรักเว็บไซต์ของคุณเอง :)

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe