Eung Rachkorn
ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ การตลาด และเทคโนโลยี / ClickUp Expert คนแรกของประเทศไทย / เป็นนักการตลาดที่ชอบเขียน และเป็นนักเรียนของทุกเรื่องใหม่ (นักทดลองผิด) 🪐
นักเขียน
สำหรับใครที่มีความสนใจด้านการตลาดและ SEO เป็นสิ่งที่คุณกำลังมองหาอยู่ แต่คุณยังไม่เข้าใจว่า SEO คืออะไร ทำอย่างไร เราขอแนะนำให้คุณอ่านบทความนี้ก่อน
SEO คืออะไร ? เปิดคัมภีร์ SEO ฉบับอัปเดตปี 2021 อธิบายแบบเข้าใจง่าย จบในบทความเดียว
Meta Tags Guide : เรียนรู้การใช้งาน Meta Tags ให้การทำ SEO ของคุณมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
Topic Cluster คืออะไร ? ทำไมถึงสำคัญต่อการทำ SEO บนเว็บไซต์คุณ
ส่วนในบทความนี้เราจะพูดถึงว่า SEO คืออะไรแบบสั้น ๆ ก่อนที่เราจะไปดูกันว่าเครื่องมือเหล่านี้ มีตัวไหนที่ตรงกับความคาดหวังของคุณไหม และคุณจะใช้ตัวไหนดี
บทความนี้มีขนาดยาว หากคุณรู้จักและเข้าใจความสำคัญของการทำ SEO แล้ว สามารถข้ามไปส่วนของเครื่องมือได้เลย
Search Engine Optimization SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้เว็บไซต์ของเราถูกเสิร์ชเจอบนหน้าแรกของการค้นหาบน Search Engine อย่าง Google ได้ง่ายขึ้น โดยการปรับแต่งเว็บไซต์นั้นมี 2 แบบคือ On-page SEO และ Off-page SEO
ในการทำ On-page SEO เช่น การทำ Original Content, ออกแบบ UX/UI ให้สวยงามและใช้งานได้ง่าย (ต่อผู้ใช้), การทำ Inbound/Outbound Link ส่วนการทำ Off-page SEO เช่น การเพิ่ม Backlink ซึ่งเป็นลิงก์ที่เว็บไซต์อื่นติดไว้บนเว็บไซต์ของเขาให้กลับมาที่หน้าเว็บไซต์ของเรา เป็นต้น
เมื่อเราปรับแต่งทั้งหมดนี้ Google จะทำการประเมินว่าเว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์ที่น่าเชื่อและให้คำตอบที่ดีที่สุดกับผู้ใช้ได้หรือไม่ ก่อนจะนำไปสู่การจัดอันดับบนหน้าค้นหา เมื่อค้นหาด้วยคำต่าง ๆ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
SEO Hacks for Startups: 8 เทคนิค SEO ทำน้อยได้มาก ไม่เปลืองงบ สำหรับสตาร์ทอัพ
On-site SEO HACK : ปรับเว็บไซต์ให้ฮิตติดหน้าแรก
จุดบอดของการทำ Content Marketing ที่ต้องระวังหากต้องการให้ธุรกิจเติบโต (ฉบับปี2020)
แล้ว SEO สำคัญอย่างไร? อย่างที่ได้บอกไปว่าการทำ SEO จะทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับหน้าค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดที่ถูกต้อง หาเจอง่ายเป็นเรื่องที่ดี แต่ SEO มีความสำคัญที่ลึกซึ้งกว่านั้นในเชิงธุรกิจและการตลาด
ภาพจาก searchenginejournal
จากการสำรวจของ Search Engine Journal พบว่า มากกว่า 28% ของคนที่เสิร์ช Google คลิกที่ผลการค้นหาอันดับแรก และมากกว่าอันดับที่ 2 เกือบ 2 เท่าตัว
อันดับยิ่งสูงก็ยิ่งเจอง่าย การคลิกผลค้นหานำผู้ใช้สู่เว็บไซต์ นำไปสู่ Traffic ที่เพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มยอดขายหรือ Conversion ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงแบรนด์ที่ติดอันดับในหน้าค้นหานั้น ส่วนมาก (เกือบทั้งหมด) จะถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่ความน่าเชื่อถือ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และธุรกิจของคุณในระยะยาวโดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำหรืออาจไม่เสียเลยก็ได้
เมื่อเทียบกับ การทำ SEM การซื้อคีย์เวิร์ดให้ติดหน้าค้นหา หรือที่เรียกอีกอย่างว่า การยิงโฆษณานั่นแหละ การทำ SEO นอกจากจะประหยัดกว่าแล้วยังให้ความน่าเชื่อถือมากกว่าด้วย เพราะเมื่อเราซื้อคีย์เวิร์ดนั้น บนผลการค้นหาจะขึ้นทันทีว่าเว็บไซต์นี้เป็นโฆษณา
SEO จึงเป็นวิธีที่เราอยากแนะนำให้กับธุรกิจในขั้นเริ่มต้นที่ยังไม่พร้อมจะลงทุนกับการโฆษณาในคราวเดียวและธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่ต้องการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: เริ่มทำ SEM แบบ Paid Search อย่างไรให้ธุรกิจได้ลูกค้าใหม่อย่างมีคุณภาพ
UberSuggest
เราจะค่อย ๆ ไต่ระดับราคากันโดยเริ่มจากตัวที่ปล่อยให้ใช้ได้ฟรีก่อน (แบบเสียเงินก็มีนะ)
UberSuggest เป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Neil Patel เขาคนนี้คือคนที่ Forbes ยกให้เป็น 1 ใน Top 10 Marketer และเป็น Influencer ด้านการตลาด มีความเชี่ยวชาญและเทคนิคแพรวพราวในการทำ SEO มาก ๆ เขามี Channel เป็นของตัวเองที่มีผู้ติดตามมากถึง 7.72 แสนคน เนื้อหาในช่องจะเกี่ยวกับเทคนิค กลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ ลองคลิกเข้าไปดูกันได้ที่นี่
ภาพจาก hvmasocialmedia ความเป็นมาของ Ubersuggest เกิดขึ้นมาจากตอนที่ Google มีการปรับเปลี่ยนเมทริกซ์การจัดอันดับ SEO แล้วตัวของ Patel เองก็ได้ผลกระทบไปไม่น้อยเลย เขาก็เลยนั่งคิดว่าจะทำยังไง ทำเว็บไซต์แบบไหน ที่จะเพิ่ม Traffic ได้โดยไม่เสียเงิน ไม่ต้องทำคอนเทนต์มากมาย ผลมาออกที่ “เว็บไซต์ที่มีสินค้าหรือบริการที่คนต้องการ” และคนจะเข้ามาเอง เขาเลยสร้าง Ubersuggest ขึ้นมา เป็นเครื่องสำหรับทำ SEO ที่เด่นในเรื่อง Keyword research ด้วยความที่ Patel เปิดให้ใช้ UberSuggest ฟรี (ไม่ครบทุกฟีเจอร์) ยิ่งทำให้คนเข้ามาใช้งานเยอะ จนมี Organic Keyword ของตัวเอง คือ UberSuggest แบบตรงตัวเลย และ Patel เอง ไม่ได้เสียเงินในการโฆษณาเว็บไซต์ของเขาแม้แต่น้อย
ด้วยความที่เขาอยู่ในแวดวงของ SEO มานาน มีทั้งชื่อเสียง มีทั้งความน่าเชื่อถือ Ubersuggest จึงเป็นอีก Tool หนึ่งที่คนทำ SEO โดยเฉพาะ Beginner เลือกใช้กันจำนวนมาก
นอกจากจะใช้ในการหาคีย์เวิร์ดและไอเดียทำคอนเทนต์แล้วยังวิเคราะห์ Backlink และใช้ดูในส่วนสุขภาพเว็บไซต์ ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงให้ SEO ดีขึ้น
ที่สำคัญรองรับภาษาไทยด้วย
ตัวฟรีของเขาจะจำกัดการจำนวนครั้งในการดูคีย์เวิร์ด จำกัดจำนวนคีย์เวิร์ดที่โชว์ให้ รวมไปถึงฟิลเตอร์สำหรับกรองเวลาดู Content idea พวกนี้ ถ้า Subscribe แล้วก็จะสามารถใช้ได้ไม่จำกัด Keyword suggestion ที่โชว์ให้ก็เริ่มต้นที่ 20,000 คำในแพลนแรก ราคาถูกมาก ๆ เดือนละ 12$ หรือประมาณ 373 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจแบบ Life time ที่เริ่มต้น 120$ หรือประมาณ 3730 บาท จ่ายครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต
ถ้าอยากลองใช้แบบครบฟีเจอร์ก็มีให้ทดลองใช้ได้ 7 วัน แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจไป เรายังมีอีกสองตัวมาให้คุณทำความรู้จักอยู่
เริ่มใช้งาน UberSuggest ได้ที่นี่
KWFinder KWFinder หรือ Keyword Finder ตัวนี้เป็นตัวที่ราคาเริ่มไม่ได้แรงมากค่ะ อยู่ที่ 29.90$ หรือประมาณ 930 บาท สามารถทดลองใช้ได้ ฟรี 10 วัน
ในกลุ่มคนที่เสียเงิน Subscribe SEO Tool ตัวนี้เป็นอีกตัวหนึ่งที่ขึ้นแท่นนิยมใช้กันมาก ๆ ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2014 ภายใต้แบรนด์ Mangools เริ่มต้นก็จาก KWFinder ก่อนจะค่อย ๆ สร้าง Tool อื่นตามมา ทั้ง SERPChecker, SERPWatcher, LinkMiner, SERPProfiler
ยกตัวอย่างบริษัทที่ใช้ เช่น airbnb, Alexa, Skyscanner, Adidas, RetailMeNot
ตัวระบบของเขามีการอัปเดตคำค้นหาที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอค่ะ มีคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง 2,500 ล้านคำโดยการเติบโตขึ้นเฉลี่ย 20 ล้านคำต่อเดือน, 100 ล้านคำค้นหาเกี่ยวกับคีย์เวิร์ดของคู่แข่ง
จุดเด่น คือ การทำ Long tail keyword ที่จะเป็นคีย์เวิร์ดยาว ๆ โดยทั่วไปจะมี Search Volume ที่น้อยกว่าคีย์เวิร์ดแบบสั้น ๆ แต่จะมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า เหมาะสำหรับคนที่เข้ามาแข่งบนหน้าค้นหาใหม่ ๆ เพราะการจะไปแข่งกับเว็บเดิมที่ทำมาดีแล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การค้นหาแบบนี้จะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ค้นหาได้ชัดเจนกว่า
Short tail keyword ตัวอย่าง ขายสุนัข
Long tail keywotd ตัวอย่าง ขายสุนัข บีเกิล ราคาถูก กทม
อีกจุดเด่นคือการค้นหาที่ลงเฉพาะพื้นที่ได้ ซัพพอร์ต 52,000 โลเคชันให้คุณเข้าถึงพื้นที่ได้กว้างขึ้น เช่น เราเลือกให้แคบกว่าทั้งประเทศไทยเป็น Bangkok ก็จะหาเฉพาะการเสิร์ชในกรุงเทพ เลือก Chiang Mai ก็จะหาเฉพาะการเสิร์ชในเชียงใหม่ เป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับการขายเฉพาะในท้องถิ่นนั้น เราได้รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายใกล้เรานี่ เขาเสิร์ชหาอะไรกัน
ด้วยความที่โลเคชันมันต่างกัน คุณอาจจะค้นคำแล้ว Search Volume ที่หนึ่งสูงถึง 10,000 อีกที่หนึ่งลดลงมาเหลือแค่ 5,000 ก็ได้
และแน่นอนว่าลงพื้นที่มาขนาดนี้ ตัวนี้ก็เป็นอีกตัวที่รองรับภาษาไทยเหมือนกัน
เริ่มต้นใช้งาน KWFinder ที่นี่
Moz
Moz เป็นเครื่องมือที่ชื่อเสียงเรียงนาม ในสาย SEO คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเมทริกซ์การวัดค่าของเขาถูกเอาไปใช้ในหลาย ๆ ซอฟต์แวร์เลย อย่าง KWFinder เองก็ใช้เมทริกซ์บางตัวจาก Moz เหมือนกัน
Zillow, Trivago, Alaska, 99Designs, razorfish และอีก 500,000 ธุรกิจ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปใหญ่ยักษ์ใช้ Moz ช่วยเรื่อง SEO ของเขา
ถ้าเทียบกับสองตัวก่อนหน้าต้องบอกเลยว่า Moz เป็น tool ที่อยู่มานานกว่าใคร ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2004 โดย Rand Fishkin ตอนแรกชื่อ SEOmoz ก่อนจะปรับมาเป็น Moz ในปัจจุบัน เขาเริ่มต้นจากการทำ Blog ทำ Online Community แหล่งรวม SEO Expert ทั้งหลายมาถกเถียงและแบ่งปันความรู้กันที่นี่ และ Moz ได้ให้ไกด์เกี่ยวกับการทำ SEO การทำ Ranking ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและสร้าง SEO Tool ของตัวเองขึ้นมา
ภาพจาก instapage บริษัทที่เป็นแนว Consult หรือ Agency ที่สามารถสร้าง Tool ของตัวเองขึ้นมาได้ พวกเขาต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่เขาทำอยู่มาก ๆ ไม่ใช่แค่คนที่ใช้ได้แต่เป็นถึงคนที่สร้างขึ้นมาได้เลย Moz จึงเป็น SEO Tool ตัวเป้งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
นอกจากเมทริกซ์การวัดที่ได้รับการยอมรับ Moz ยังมี Option ไส้ในให้ลองกันอีกมาก ตัว Discover&lost ที่ช่วยดูว่าลิงก์ไหนหลุดออกไปหรือเพิ่มเข้ามาในโดเมนของเราบ้าง Spam Score ที่ช่วยดูว่า Backlink ที่ติดเป็นสแปมต่อเว็บเราไหม ช่วยเช็กสุขภาพ SEO ของเว็บไซต์ก็ได้เหมือนกัน พร้อมบอกด้วยว่าเราต้องแก้ไขยังไงให้มันดีขึ้น
ความเจ๋งของเขานี่มีราคาที่ค่อนข้างจะแรงกว่าสองตัวแรกพอสมควร เริ่มต้นอยู่ที่ 79$ หรือประมาณ 2,455 บาทเลย แต่ก่อนจะจ่ายเงินให้เขาจริง ๆ ในเรื่อง Free trial เขาก็ใจปล้ำกว่าคนอื่น ให้ทดลองกันไปเลยหนึ่งเดือนเต็ม ๆ ลองดูก่อน ใช้แล้วถูกใจไหม ค่อยมาว่ากันอีกที
เริ่มต้นใช้งาน Moz ได้ที่นี่
เปรียบเทียบทั้ง 3 เครื่องมือ หัวข้อที่เราจะพูดถึง:
การรองรับภาษาไทยและการทำ Keyword Research ในภาษาไทย Site Crawl/Site Audit - ตรวจสอบสุขภาพ SEO และ เว็บไซต์ การออกแบบ Interface การวิเคราะห์ Backlink ราคาและความคุ้มค่า การรองรับภาษาไทยและการทำ Keyword Research ในภาษาไทย KWFinder > UberSuggest > Moz
สำหรับผู้ใช้งานในประเทศไทย การหาคีย์เวิร์ดกันด้วยภาษาไทยเป็นสิ่งสำคัญ ต้องขอยกเรื่องนี้มาพูดถึงเป็นเรื่องแรก ในสามตัวนี้มีชื่อเสียงเรียงนามไม่แพ้กันแน่นอน แต่เรื่องการรองรับภาษาไทยกลับรู้สึกว่า KWFinder คือตัวที่ทำได้ดีที่สุด ทั้ง Keyword Suggest, Related Keyword, Autocomplete, Question ใน 3 ตัวนี้ KWFinder ทำได้สมบูรณ์มากที่สุด
รองลงมากคือ UberSuggest ทำได้ดีในระดับหนึ่งค่ะ Keyword Suggest ของ UberSuggest ออกแนวเป็นเหมือน Autocomplete - Autocomplete คือส่วนที่ Google จะเติมให้ เช่น เราพิมพ์คำว่า ร้านอาหาร Google ก็จะหาคำมาให้ เป็น ร้านอาหารใกล้ฉัน ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารริมแม่น้ำ เป็นต้น ซึ่งคำที่ได้จะไม่แปลกใหม่เท่าไร รวมถึงในรูปแบบ Question ที่แทบไม่ขึ้นเลย เลยตกเป็นที่สองไป
Moz ค่อนข้างแปลกใจค่ะ คือ Moz มีให้เลือกเลยว่าเป็นภาษาไทย แต่พอเสิร์ชกลับเป็นว่าภาษาไทยมี Keyword Suggest ไม่มากเท่าไร เลื่อนลงมาก็เจอภาษาแบบผสมคาราโอเกะอยู่ด้วย
Moz เก็บข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ทั้ง Clickstream ทั้ง Google Ads และอื่น ๆ เจ้าตัว Volume จะเป็นค่าเฉลี่ยว่า จะมีการค้นหาน้อยที่สุดเท่าไร มากที่สุดเท่าไร แต่ Data Volume
ไม่ค่อยขึ้นเมื่อเสิร์ชเป็นภาษาไทย
ถ้าเสิร์ชเป็นภาษาอังกฤษ Moz ทำได้ดี มีตัวเลือกให้แตกคีย์เวิร์ดได้เยอะ แต่ก็น่าเสียดายมากจริง ๆ ถ้าทำภาษาไทยได้คงเป็นอีกตัวหนึ่งที่ฮิตมากในไทยเหมือนกัน
ใครที่ต้องทำ Keyword ที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่บ่อย ๆ ทด Moz ไว้ในใจได้อีกหนึ่งตัวค่ะ
อย่างเช่น เราจะใช้คำค้นหาคำเดียวกันใน 3 ซอฟต์แวร์นะคะ เช่น กล้อง Mirrorless
เริ่มจาก KWFinder ก่อน เราจะเห็นได้ว่า...
มีทั้งที่เป็นกล้อง Mirrorless ตรง ๆ มีรุ่นของกล้อง Mirrorless ด้วย เมื่อคลิกดูแบบ Autocomplete หรือ Question ในรูปแบบนั้นขึ้นมา ทีนี้จาก Search Volume นอกจากคีย์เวิร์ดตรง ๆ แล้ว ถ้าไม่ได้เจาะเฉพาะรุ่นตรง ๆ 2019 มีการค้นหาที่ค่อนข้างเยอะอยู่แต่เฉลี่ย Search Volume มาไม่สูงมาก น่าจะเพราะปีที่เก่าไปแล้ว ดังนั้นเราลองเพิ่มหางให้เขาดูเขียนปี 2020 เข้าไป หรือ เป็นคำอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
จากนั้นลองใช้ส่วนนี้การชิงอันดับได้เลย อย่าลืมดูที่ SERP overview ด้วย ว่าเว็บไซต์ไหนที่ติดหน้าค้นหาจากคำนี้ แล้วเราสามารถชิงอันดับเค้ามาได้ไหม ลองดูประกอบ ถ้าเว็บเขามี LPS หรือ Link Profile Strength ที่มาจากการคำนวณรวม ๆ ความน่าเชื่อถือทั้งหมดบนเว็บไซต์ ถ้ามีค่าสูงการขโมยอันดับอาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มอีกหน่อย ค่อย ๆ ไต่ขึ้นไป พอคนเข้าหน้าเว็บไซต์เยอะขึ้น มี Traffic มาก ความน่าเชื่อถือเราก็เพิ่มเหมือนกัน
Ubersuggest ก็ให้ค่าที่ใกล้เคียงกัน จะเห็นได้ว่า…
Suggestion ส่วนใหญ่เป็น Autocomplete และขึ้นคำค้นหาอื่น ๆ ในส่วนของ Related keyword เท่านั้น ไม่ขึ้น Question เลย ทั้งที่ใน Related ก็มีที่เป็นคำถามอยู่ แต่เขาแลกมาด้วยจำนวนของ Keyword ที่มากกว่า KWfinder มาก ๆ อันนี้อาจจะต้องใช้ตัว Filter ช่วยกรองหน่อย เช่น เอา SEO Difficulty ไม่เกินเท่าไร Search Volume อยู่ในช่วงไหน แต่ส่วนที่ Ubersuggest ทำต่อได้น่าสนใจคือ Content idea นอกจากดู keyword idea ได้แล้ว Content idea จะแสดงพวกหน้าเพจที่มีการแชร์สูง ๆ อันนี้ก็เอามาคิดต่อได้เหมือนกันว่าคอนเทนต์ไหนลองทำไปแล้วปัง น่าทำ หรือคอนเทนต์นี้ทำไปแล้ว เราจะทำแบบไหนให้ต่าง
Moz เมื่อตั้งค่าเป็นภาษาไทย จะเห็นได้ว่า Search Volume มันไม่ขึ้นทีนี้จะลำบากแล้ว ถ้าไปนั่งหาจากแหล่งอื่น Google Trends หลัก ๆ คีย์เวิร์ดที่ให้มาจะเป็น Autocomplete และมีรูปแบบคีย์เวิร์ดให้เลือกเยอะเลย แต่ปัญหา คือ มันเก็บเรื่องภาษาได้ไม่มากพอ เลยไม่ขึ้นเท่าไรเหมือนที่บอกไปตอนแรกเลย ถ้าลองเป็นภาษาอังกฤษ….
เราจะเห็นได้ว่ามัน Effective กว่ากันแยะเลย mirrorless vs. dslr, mirrorless rumors, best mirrorless for 4k ดังนั้นถ้าใครจะทำ SEO ในภาษาอังกฤษ Moz เป็นตัวเลือกที่ไม่ควรตัดไปจากใจจริง ๆ
เริ่มใช้งาน UberSuggest ได้ที่นี่
เริ่มต้นใช้งาน KWFinder ที่นี่
เริ่มต้นใช้งาน Moz ได้ที่นี่
Site Crawl/Site Audit - ตรวจสอบสุขภาพ SEO และ เว็บไซต์ Moz > UberSuggest > KWFinder
การทำ Keyword เป็นเรื่องสำคัญใน SEO ทุกคนทราบ แต่เมทริกซ์ของ Search Engine อย่าง Google มันมีอะไรมากกว่านั้น
Moz และ UberSuggest จะมีส่วนที่เอาไว้ Check สุขภาพของ SEO โดยเฉพาะเลย ส่วน KWFinder รวมไปถึง Tools อื่น ๆ ใน Mangools จะไม่ได้มีในส่วนนี้ ซึ่งคิดว่าเขาก็น่าจะพัฒนาเพิ่มอยู่ เห็นจากการแตกซอฟต์แวร์พวก SERPChecker, LinkMiner เข้ามา
ในส่วนนี้ Moz ทำได้ละเอียดมากกว่า UberSuggest พอสมควร
อย่างในที่นี้ Moz จะแสดงเป็นภาพรวมออกมา จับได้ issue ทั้งหมด 442 issues แยกเป็นหัวข้อชัดเจนว่าอยู่ในหัวข้อไหน Critical, Warning, Redirect, Metadata, Content เวลามี issue ใหม่ก็จะขึ้นโชว์ รวมถึงจะส่งอีเมลมาหาเราด้วยเพื่อให้เราแก้ไขส่วนนี้ไวที่สุด
โดยปัญหาแต่ละตัว Moz จะบอกด้วยว่าจะต้องมีการแก้ปัญหานั้นอย่างไร
ส่วน UberSuggest เข้ามาก็จะเจอหน้า overview เหมือนกัน บอกว่า On-page SEO เป็นอย่างไร Organic Traffic จากคีย์เวิร์ดเป็นยังไง ในที่นี้ The Growth Master ก็ทำได้ดีพอสมควร ได้ Great และจะมีบอก Health Check เหมือนกับ Moz แต่จะเห็นได้ชัดเลยว่าตรวจได้น้อยกว่ามาก หัวข้อใหญ่จะมีแค่ Critical กับ Warning จะไม่ได้แยกชัดเท่า Moz
ในที่นี้ต้องบอกก่อน การจับเมทริกซ์ เราไม่รู้ว่า Google ใช้เมทริกซ์แบบไหนอย่างชัด ๆ Google ไม่ได้บอกไว้ issue ที่เราเห็นเป็นการคาดการณ์จากซอฟต์แวร์นี่คือสิ่งที่มีผลต่ออันดับ SEO
พอคลิกเข้ามาเขาจะแบ่งเป็นจุดที่เป็น issue โดยที่มีปุ่มแนะนำว่าต้องแก้ไขยังไงแล้วก็คลิกเข้าไปดูได้ว่าเพจไหนบ้างเช่นเดียวกัน
การออกแบบ Interface KWFinder = Moz > UberSuggest (เล็กน้อย)
ทั้งสามตัวออกแบบมาได้ใช้งานง่ายมาก โดยรวมการออกแบบของ KWFinder กับ UberSuggest จะคล้ายกัน แต่เราก็มีเหตุผลมาให้พิจารณาว่าทำไม เราถึงประเมินแบบนี้
Moz และ KWFinder จะมีการออกแบบที่ “ดีคนละแบบ”
ด้วยความที่ Mangools แบรนด์ต้นสังกัด KWFinder แตกเครื่องมือออกมาเป็น Product หลายตัว ทำให้ในหน้า Keyword Research ใช้เฉพาะ Research เลย ทุกอย่างในหน้านี้จึงสะอาดตามาก ๆ เรียกได้ว่าเป็น User-friendly interface ทางด้านซ้ายเป็น Keyword Research ด้านขวาเป็น SERP overview เมื่อเสิร์ชเจอคำน่าสนใจก็สามารถชี้ที่คำและกดดู Related keyword ของคำนั้นได้ทันที
SERP overview ก็จะถูกเปลี่ยนไปตามคีย์เวิร์ดที่เรากดใหม่ด้วย ทำให้เราสามารถดู keyword และ SERP ได้อย่างลื่นไหล การใช้งานเริ่มต้นทำได้ง่ายโดยที่(แทบจะ)ไม่ต้องเรียนรู้
การใช้งานในเครื่องมืออื่นก็ออกแบบมาให้สะอาดตาเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น LinkMiner ที่ใช้สำหรับวิเคราะห์ Backlinks
สำหรับ Moz ที่ทำให้เรามองว่าเขามีการออกแบบที่ดี คือ Moz มีการวิเคราะห์ Overview ที่ต่างจากอีกสองตัว โดยประเมิน Difficulty จะแข่ง SEO คีย์เวิร์ดนี้ทำยากไหม, ประเมิน Organic CTR คนคลิกเข้ามากี่เปอร์เซ็นต์และประเมิน Priority ที่วิเคราะห์ Metrics ของ Moz มาให้อีกทีหนึ่ง โดยที่เราไม่ต้องลายตา จะมองช่องไหนดี อย่าง บน SERP overview ของ KWFinder จะมีเมทริกซ์ที่วัดให้ดูเยอะไปหมด Domain authority, Page authority, Trust flow, Backlink, LPS มันเยอะมาก ๆ สำหรับผู้เริ่มต้นและไม่รู้ว่าค่าหนึ่งสูงค่าหนึ่งต่ำจะตัดสินใจอย่างไรดี Moz ทำให้มันง่ายขึ้นแล้ว
เพียงแต่ส่วนที่ทำให้ Moz ไม่เหนือกว่า KWFinder ไปเสียทีเดียว คือ เมนูที่ด้านซ้าย
เมนูเหล่านี้คือเครื่องมือสำหรับการทำ SEO ของ Moz ทั้งหมด จากการใช้งาน 1 อาทิตย์ บางทียังต้องเปิดแต่ละแถบเพื่อหาเครื่องมือที่ต้องการอยู่หลายครั้ง วุ่นวายต่อผู้ใช้งานช่วงเริ่มแรกพอสมควรเลย
แต่ในจุดที่เรามองว่าไม่เหนือไปกว่ากันนี้ บางคนอาจจะมองว่าเมื่อเครื่องมืออยู่รวมกันทำให้กดง่ายขึ้นก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่แล้วแต่ความชอบ ความถนัดของคนจริง ๆ
Ubersuggest เป็นอีกตัวที่มีดีไซน์ User-friendly เหมือนกัน มีการให้ข้อมูล Keyword overview ที่น่าสนใจ
โดยจะบอกว่าคนคลิกคีย์เวิร์ดนี้จาก SEO, จากโฆษณาและมีคนที่ไม่คลิกเท่าไร พร้อมบอกช่วงอายุของผู้ใช้ที่คลิกด้วย
แต่ข้อเสียคือ UberSuggest มีการรวมเมนูทั้งหมดเป็นก้อนไว้เลย และการดูเป็น Icon ไม่ได้ตอบโจทย์ขนาดที่มองพริบตาเดียวแล้วรู้เลย หลังจากใช้งานมาสักพักแล้วยังเผลอกด Keyword research สลับกับ Traffic Analyzer อยู่เลย
นี่คือ Practice: ให้คุณลองปิดภาพฝั่งซ้ายแล้วบอกว่า Icon เหล่านี้แทนเมนูอะไร
นอกจากนั้น เมื่อคลิกที่ปุ่มลูกศรหลัง Keyword คำหนึ่ง ↪ SERP จะเปลี่ยนเพื่อแสดงอันดับของคีย์เวิร์ดนั้นให้เหมือนกัน แต่จะไม่ได้เปลี่ยนคีย์เวิร์ดที่ช่องค้นหาด้านบน นั่นหมายความการที่คุณคลิกอันนี้ คุณจะไม่เห็น Related Keyword ที่เกี่ยวกับคำใหม่เหมือน KWfinder นั่น ทำให้การค้นหาติดขัดกว่าเล็กน้อย เรียกว่าเฉือนกันไปนิดเดียวเท่านั้น แต่โดยภาพรวม UberSuggest ออกแบบมาได้ใช้งานง่ายมาก
เริ่มใช้งาน UberSuggest ได้ที่นี่
เริ่มต้นใช้งาน KWFinder ที่นี่
เริ่มต้นใช้งาน Moz ได้ที่นี่
การวิเคราะห์ Backlink Moz > KWFinder > UberSuggest
จะขอเล่าแบบไล่จาก UberSuggest ขึ้นไปเพื่อให้เห็นส่วนที่เพิ่มเข้ามา
UberSuggest จะบอกว่า Backlinks มีเท่าไร เป็น Do follow หรือ No follow เท่าไร
Follow link คือ backlinks ที่ยิงกลับไปเว็บต้นทาง โดยที่ส่งผลกับ SEO ของต้นเว็บ
ส่วน No follow คือ จะไม่ยิงกลับไปให้ส่งผล SEO ของต้นเว็บ
โดยทั่วไปคนมักคิดว่าการมี Follow link เยอะ ๆ นั้นดี การมี No follow คือไม่ดี แต่จริง ๆ แล้ว No follow ก็จำเป็นเหมือนกัน อย่างเช่น ถ้า link นั้นเชื่อมต่อกับพวกคอมเมนต์ที่เป็นสแปมถูกส่งกลับไป ก็จะทำให้ค่า SEO ลดลงด้วย ดังนั้นเราควรทำให้มันมีในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ให้เยอะไปหรือน้อยไปตามความเหมาะสมของลิงก์นั้น
มาต่อในส่วนของ KWFinder(LinkMiner) เขาจะมีความ Advance ขึ้นมานิดหนึ่ง นอกจาก Do/No Follow ยังดูในส่วนของ Active หรือ Deleted link ได้ด้วย ซึ่งจะช่วยบอกว่า Links นั้นคือ links ไหน แล้วยัง Active อยู่ไหม ยังเชื่อมต่อเข้าไปดูได้อยู่ไหม หรือถูกลบไปแล้วจากโดเมนต้นทาง
ส่วน Moz แน่นอนว่ามีแบบทั้งสองตัวอยู่แล้ว แต่ส่วนที่โดดเด่นจริง ๆ คือ Spam Score มีหลาย ๆ ซอฟต์แวร์ที่นำเมทริกซ์ตัวนี้เข้ามาใช้เหมือนกัน แต่ Spam Score นี่ถูกคิดขึ้นมาโดย Moz ตั้งแต่ปี 2015 โดย Spam Score จะเป็นตัวประมวลผลว่า Backlinks ที่ติดมา มี Spam กี่ % แน่นอนว่ามันส่งผลกับคะแนน SEO ของเรา
สิ่งที่ต้องรู้คือ เมทริกซ์นี้ Google ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่ก็ทราบกันว่าถ้า Backlink มาจากเว็บไซต์คุณภาพ มันก็จะให้ค่า SEO ที่ดีเช่นกัน
ราคาและความคุ้มค่า KWFinder = UberSuggest > Moz
UberSuggest ถ้าใช้ฟรี ก็ใช้ได้น้อยครั้งมาก ๆ ต่อ 24 ชั่วโมง สำหรับการดู Keyword จะใช้ได้แค่ 3 ครั้งเท่านั้น เหมาะสำหรับคนอยากเริ่มทำแต่ยังไม่ต้องการเสียเงิน ใช้เสิร์ชหาในเบื้องต้น แต่ถ้าใช้ให้ได้ต่อเนื่องหน่อย ก็ต้องเสียเงินรายเดือนให้เขาเหมือนกัน
เมื่อเทียบกันด้วย Subscription ทั้ง UberSuggest และ KWFinder จะมีความคุ้มค่าที่ต่างแง่มุมกัน
ข้อเสียหลัก ๆ ของ KWFinder คือ Keyword Cap น้อยมาก ต่อให้เทียบกับ SEO Tool อื่น ๆ ในแพ็กเกจเริ่มต้นที่ราคา 30 เหรียญ KWFinder จะแสดงผลค้นหาได้สูงสุดที่ 200 คำ
ในขณะที่ Ubersuggest สิ่งที่เขาให้กับสมาชิกที่เสียเงินรายเดือน (Subscription) จะแสดงผลค้นได้สูงสุดที่ 20,000 หลังจากที่ได้ลองใช้งาน ผลเสิร์ชจะอยู่ในช่วงประมาณ 4,000-7,000 คำ แต่นั่นมากกว่า KWFinder 200 เท่าเลย
แม้กระทั่งใน Free Trial - KWFinder ใน 24 ชั่วโมงจะใช้โปรดักต์ของ Mangools ดู Keyword และ SERP ได้เพียง 5 ครั้งเท่านั้น โดยจะโชว์แค่ 25 คำ คำที่เหลือจะเบลอไว้ ในขณะที่ Ubersuggest ฟรีจริง ๆ แบบไม่ใช่ Trial แสดงผลได้มากสุดที่ 100 คำ (แต่ถ้าเป็น Trial จะได้ 10,000 คำ)
ว่าง่าย ๆ คือ UberSuggest ได้เปรียบมาก ๆ ในเชิงจำนวน
เสริมนิดหนึ่ง Free กับ Free Trial ของ Ubersuggest จะต่างกัน Free Trial คือลองใช้งานตัวเสียเงินได้ฟรี เปิดให้ใช้ครบทุกฟีเจอร์ ได้ปริมาณมากกว่าทั้งการเสิร์ชและคำที่แสดง โดยการสมัครขอใช้ Free Trial จะต้องกรอกเลขบัตรเครดิตเข้าไปด้วย เมื่อครบกำหนดเวลา 7 แล้ว ไม่ได้ยกเลิก จะตัดเงินในบัตรเครดิตและถือเป็นการจ่ายเงินเพื่อใช้งานซอฟต์แวร์เดือนแรกทันที
แต่ถ้ามองในคุณภาพของ Keyword ที่หาได้ KWFinder ให้คำที่หลากหลายมากกว่า มีความเชื่อมโยงมากกว่า อย่างเคย เสิร์ชแมว UberSuggest มีคีย์เวิร์ดที่ไม่เกี่ยวขึ้นมา เช่น แมว จิรศักดิ์ ตลาดลูกหนังแมวเพชร KWFinder ก็มีหลุดมาบ้าง เป็นอาหารสุนัข กระต่าย แต่โดยรวมยังอยู่ใน Category สัตว์เลี้ยง อาจเรียกได้ว่าเอาจำนวนมาชดเชยกันตรงนี้
ส่วน Moz เหมือนพี่ใหญ่ ลูกชายคนโต ถึงแม้ว่า Moz จะเป็นตัวที่ Full weapon มากที่สุด แต่ด้วยราคาของเขาที่สมัครสมาชิกรายเดือนของ UberSuggest ได้ เกือบ 7 เดือนหรือ KWFinder ได้เกือบ 3 เดือน แล้วไม่ซัพพอร์ตการค้นด้วยคำไทยมากที่สุดในสามตัว ถ้าเอามาใช้ส่วนอื่นอย่าง ข้าม Keyword Research ไปเลย Moz อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าไร
รวมไปถึงจำนวนที่เสิร์ชได้ด้วย ราคา 79$ ไม่ได้จบแค่ตัวนี้ คุณจะเสิร์ชหาได้แค่ 150 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น ในแต่ละครั้งจะได้ keyword สูงสุดที่ 10,000 คำ ถ้าเพิ่มเป็น 119$ จะได้เพิ่มเป็น 5,000 ครั้ง แต่ละครั้งสูงสุด 30,000 คำ มาในแพ็กเกจนี้จะเต็มที่มากกว่า
เริ่มใช้งาน UberSuggest ได้ที่นี่
เริ่มต้นใช้งาน KWFinder ที่นี่
เริ่มต้นใช้งาน Moz ได้ที่นี่
สรุป SEO ถูกพูดถึงอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1997 เริ่มเป็นที่รู้จัก พูดถึง จนกระทั่งมีเครื่องไม้เครื่องมือในด้านนี้เฉพาะ Search Engine หลาย ๆ เจ้าก็มีการคัดเลือกเว็บไซต์ที่ดีที่สุดมาบนหน้าค้นหาของเขาด้วยวิธีที่ต่างกันไปและเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามความเหมาะสม ทำให้เครื่องมือช่วยทำ SEO ทุกตัวมีพัฒนาการ มีการคิดค้นเมทริกซ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้นอยู่เสมอ และที่สำคัญ ความคุ้มค่าของแต่ละคนไม่เท่ากัน
The Growth Master อยากให้บทความนี้เป็นตัวช่วยในการเลือกและพิจารณาเครื่องมือการทำ SEO ของคุณ
ถ้าคุณเป็นมือใหม่จริง ๆ และ Google Keyword Planner ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป อาจจะเริ่มต้นจาก UberSuggest แบบฟรีไปก่อน ถ้าชอบในฟีเจอร์ของเขา ลองพิจารณาระหว่างสมัครเป็นสมาชิกหรือใช้ KWFinder ที่ให้คุณภาพคำที่สูงกว่า มี Rank Tracking เมื่อชำนาญมากพอแล้ว อยากใช้ Tools อื่น ๆ ในการทำ SEO เช่น Moz ก็เป็นอีกตัวที่เครื่องมือแสดงผลได้ลึกกว่าทั้งสองตัวนี้ หรือจะลองสำรวจตลาด ยังมี SEO Tool อีกมากมายให้คุณได้ลองเลือกใช้ตามความชอบ ตามความต้องการของตัวคุณ และตามความต้องการของบริษัท
ช่องทางอัปเดตซอฟต์แวร์กับ The Growth Master ติดตาม Youtube Channel ‘The Growth Master’ และ We Need TOOL Talk ได้ก่อนใคร ไม่พลาดทุกการแชร์ซอฟต์แวร์น่าใช้ที่จะทำให้การทำงานของคุณง่ายขึ้น
และช่องทางอัปเดตข่าวสารการตลาดที่สดใหม่
Facebook : The Growth Master
Facebook Group : TechTribe Thailand
Blockdit : The Growth Master
Line@ : @thegrowthmaster
===================================
สามารถให้กำลังใจพวกเราได้ผ่านการกดไลก์ กดแชร์ และกดติดตาม รวมไปถึงการสมัครใช้งานผ่านลิงก์ด้านบน โดย The Growth Master จะได้รับค่าแนะนำจากซอฟต์แวร์บางตัวเท่านั้นเมื่อมีการกดสมัครใช้งานซอฟต์แวร์นั้น ๆ
Source : searchenginejournal , SEO: The Movie , seoblacksheep , moz , hooktalk