Marketing Career Path เส้นทางการเติบโตนักการตลาดอัปเดตฉบับปี 2021

Marketing Career Path เส้นทางการเติบโตนักการตลาดอัปเดตฉบับปี 2021
Light
Dark
WJAMES
WJAMES

นักเขียน

การเป็นนักการตลาดในยุคดิจิทัลนี้ยากกว่าการเป็นนักการตลาดยุคอุตสาหกรรมมาก (ยุค 3.0) เพราะต้องเรียนรู้แทบจะตลอดเวลา รวมถึงต้องสามารถสร้างผลลัพธ์จากสิ่งที่เพิ่งเรียนมาให้เกิดขึ้นกับธุรกิจให้ได้ทันทีด้วย มากกว่านั้นสิ่งที่เรียนมาก็อาจหมดอายุการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ต้องพัฒนาตัวเองไปสู่จุดต่อไป

ใครช้าจะหายไปจากตลาด เพราะเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญของการเป็นนักการตลาดที่ดีในยุคนี้จะต้องเป็นคนที่รักการเรียนรู้ ชอบลองผิดลองถูก และพัฒนาออกมาเป็นสกิลที่เชี่ยวชาญได้ในเวลาที่รวดเร็ว

วันนี้ผมจึงขอสรุปเส้นทางการเติบโตของนักการตลาดที่ใช้ในบริษัทของเรามาให้ดูเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้กับเส้นทางของคุณหรือการพัฒนาทีมในบริษัท

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

วิธีเตรียมตัวสู่การเป็นนักการตลาดที่มีประสิทธิภาพในปี 2021 มีอะไรบ้าง?

แต่ก่อนจะไปรู้จักกับเส้นทางการเติบโตที่ว่า สิ่งสำคัญหากคุณต้องการเริ่มเข้าสู่สายงานการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพก็คือ “ความรู้” ครับ ในปัจจุบันต้องบอกว่าถ้าคุณต้องการเริ่มต้นเดินทางในสายงานการตลาด การที่คุณมีความรู้ ความเข้าใจในตำแหน่งงานนั้น ๆ ติดตัวไว้บ้าง จะทำให้คุณได้เปรียบกว่าผู้สมัครคนอื่น ที่ไม่ได้มีความรู้ติดตัวมาเหมือนคุณ สิ่งนี้จะแสดงผลตั้งแต่วันที่คุณสัมภาษณ์งาน มันจะเป็นตัวช่วยให้คุณมีความน่าสนใจโดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ หรือเมื่อคุณเข้าทำงานจริงความรู้ที่คุณมีก็จะทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลารบกวนให้ใครสอน และมันจะเป็นเหมือนตัวช่วยที่ทำให้คุณ “เติบโตในสายงานได้เร็วกว่าใคร”

โดยในปัจจุบันคุณสามารถศึกษาทักษะความรู้ด้านการตลาด ได้ง่าย ๆ ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์จากสถาบันชั้นนำในไทยอย่าง FutureSkill ที่มีหลักสูตรคอร์สเรียนออนไลน์ด้านการตลาด ครบครันทุกตำแหน่งในสายงานนี้ ตั้งแต่ Content Marketing , SEO-SEM , Digital Marketing , Strategic Planning และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานของนักการตลาดอีกเพียบ

ดูคอร์สเรียนด้านการตลาดที่เราอยากแนะนำให้คุณศึกษา หากต้องการเป็นนักการตลาดที่มีประสิทธิภาพในปี 2021 ได้ ที่นี่ 

พิเศษ!! หากคุณกดสมัครเรียนคอร์สด้านการตลาดจากบทความนี้ รับไปเลยส่วนลด 50% เหลือเพียง 3,954 (จากปกติ 7,908) โปรบุฟเฟต์ จ่ายครั้งเดียวเรียนได้ทั้งปี ได้ใบรับรอง Certificate ทุกคอร์ส เรียนได้ไม่อั้น มากกว่า 80+ คอร์สเรียนทั้งเรื่องการตลาด เทคโนโลยี และทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในอนาคต หากคุณสนใจกดที่รูปด้านล่างได้เลย

เรียนการตลาดออนไลน์


เส้นทางการเติบโตของสายงานการตลาด มีกี่ขั้น ?

มีทั้งหมด 7 ขั้นด้วยกัน จะแบ่งออกตามลักษณะของเนื้องานและการต่อยอด โดยสามารถลัดขั้นได้ แต่ไม่แนะนำ เพราะฐานจะไม่แน่น ยังไงก็ต้องกลับมาเก็บในขั้นที่ลัดข้ามมาอยู่ดีเพราะเนื้องานมีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้การทำตามขั้นตอนจะช่วยให้คุณเติบโตในเส้นทางอาชีพได้เร็วกว่า

ขั้นที่ 1

Content Marketer

นักการตลาดสายคอนเทนต์ เริ่มต้นจากงานคอนเทนต์จะทำให้คุณมีความสามารถในการหาข้อมูล เรียบเรียง และอธิบายในแบบฉบับบความเข้าใจของตัวเองให้คนอื่นได้เข้าใจในแนวทางเดียวกันแบบง่ายๆได้ รวมไปถึงยังทำความเข้าใจการใช้งานคอนเทนต์ที่อยู่ในช่องทางต่างๆได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Google, Website หรืออื่นๆ

การเข้าใจรูปแบบคอนเทนต์ที่เหมาะกับช่องทางต่างๆจะช่วยให้คุณมองภาพรวมออก เช่น การจะทำคอนเทนต์หนึ่งชิ้นบน Facebook ที่จะต้องใช้ยิงโฆษณาควรจะเขียนอย่างไร หรือถ้าจะทำคอนเทนต์บน Instagram ที่ต้องเน้นภาพ การสื่ออารมณ์ ควรจะนำเสนอภาพและการเขียนอย่างไรให้เหมาะสม

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Content Marketer

  • วางปฏิทินการเขียนคอนเทนต์ในช่องทางต่างๆได้
  • การพัฒนาการเขียนเพื่อการขายในรูปแบบ Short Form เช่น แคปชั่นบน Facebook, เนื้อหาบนเว็บไซต์ หรืออีเมล
  • การเขียนบทความในรูปแบบ Long Form ที่มีจำนวนคำมากกว่า 2,000 คำต่อ 1 บทความ โดยต้องเขียนอย่างมีโครงสร้าง เช่น รูปแบบ H1,H2,H3 หรือ คำนำ เนื้อหา สรุป เน้นที่การอธิบายให้เข้าใจง่ายจนผู้อ่านอยากอ่านจนจบ
  • ทำความเข้าใจภาพรวมการทำงานของคอนเทนต์ เพื่อต่อยอดสู่การวางกลยุทธ์คอนเทนต์ให้ได้เองในอนาคต

สิ่งสำคัญของ Content Marketer

ในขั้นนี้ สิ่งที่ควรฝึกคือความสามารถในการหาข้อมูลและทำความเข้าใจอย่างรวดเร็ว เพราะมันจะเป็นความสามารถที่ต่อยอดเส้นทางนักการตลาดในอนาคตได้เร็ว การเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสร้างผลลัพธ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใครสอน (Google มีข้อมูลทุกอย่าง) คือทักษะสำคัญ

ความคาดหวังในขั้นนี้คือการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าให้กับผู้อ่านและสร้างยอดให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นยอดขายหรือยอดผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ความสามารถจะถูกวัดจากจำนวนเวลาที่ใช้ในการผลิตคอนเทนต์และผลลัพธ์ของคอนเทนต์นั้นๆในมุมผู้อ่านและธุรกิจ

สิ่งที่ต้องระวัง 

นักการตลาดสายคอนเทนต์ในตอนต้นจะรู้สึกว่ายังเขียนออกมาไม่ได้ดีจนเริ่มท้อแท้ หรือรู้สึกว่าเขียนได้ช้าเกินไป สองสิ่งนี้สามารถแก้ได้ด้วยการเพิ่มข้อมูล (Input) ทำการบ้านให้เยอะ อ่านให้มากพอจะช่วยได้ 

ตอนกลาง จะรู้สึกเบื่อหน่ายกับกระบวนการทำงานเดิม ๆ ที่ต้องหาข้อมูล ทำความเข้าใจ เขียนและเกลาการเขียน วนลูปไปอย่างต่อเนื่อง ในขั้นนี้ถ้าคิดในแง่ลบ บางคนอาจลาออกจากงาน บางคนจะรู้สึกไม่อยากมาทำงาน แต่เมื่อไรที่เราแยกอารมณ์ออกจากการทำงานได้ และพลิกวิธีคิดให้มองหาสิ่งใหม่ๆในการทำงานชิ้นเดิมให้สนุกขึ้นดีขึ้นได้ในแบบฉบับตัวเอง จะทำให้เราข้ามหุบเขาแห่งความเศร้านี้ไปได้ (เจอทุกคน ผมเองก็เจอโมเมนต์นี้)

ตอนปลาย เราเริ่มได้รับผลลัพธ์จากการสร้างงานคอนเทนต์ที่มากพอ ผู้อ่านทักมาขอบคุณที่เขียนสิ่งดีๆ ธุรกิจมียอดการเติบโตจากงานคอนเทนต์ และเราได้ข้ามผ่านการแยกอารมณ์ออกจากการทำงานได้แล้ว (ผู้เชี่ยวชาญต้องทำงานแบบซ้ำๆเดิมๆได้มากกว่า 10,000 ชั่วโมง ถ้าพวกเขาไม่สามารถแยกอารมณ์ออกจากการทำงานได้ ก็จะเป็นผู้แพ้ที่ล้มเลิกสิ่งต่างๆไปง่ายๆ) ขั้นนี้จะมีโอกาสเข้ามาหาเราเยอะมากขึ้น เราจะต้องเลือกเส้นทางที่ไปให้ชัดเจน และเลือกว่าเราจะไม่ทำอะไร (Not-to-do list)

ซึ่งในการเติบโตขั้นต่อไป คุณต้องเตรียมใจไว้ก่อนเลยครับว่าหน้าที่งานขงอเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแน่นอน เพราะจาก Content Marketer ที่หน้าที่หลัก ๆ จะอยู่แค่การคิด (Creative) และการเขียน (Writing) เป็นสำคัญแต่พอมาในขั้นต่อ ๆ ไปหน้าที่ประเภทการวางแผน การจัดการ การใช้เทคโนโลยีจะเพิ่มเข้ามาอย่างแน่นอน

ขั้นที่ 2

2.1 Search Engine Marketer

นักการตลาดสายเสิร์ช ต่อยอดจากการสร้างคอนเทนต์ด้วยการเรียนรู้การทำ SEO โดยจะเน้นเพิ่มเติมจากในส่วนของคอนเทนต์ที่มีคุณค่าในมุมของผู้ใช้ให้มากขึ้นด้วยการทำให้ Search Engine อย่าง Google ชอบด้วย

ในเชิงโครงสร้างของ On-page และ Off-page ที่จะต้องเข้าใจทั้งหมดและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และรู้ว่ามีอะไรบ้างที่ Google ให้ความสำคัญ การปรับเปลี่ยนอัลกอริทึ่ม(Google ปรับอยู่ตลอด) การทำ Keyword Research และการสรุปวัดผลลัพธ์พร้อมกลยุทธ์แนะนำในการต่อยอด

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Search Engine Marketer

  • กลยุทธ์ของธุรกิจในการทำการตลาด Search Engine
  • การทำ Keyword Research ทั้งในมุมของการแข่งขัน การสร้างยอด และการหาโอกาสใหม่ๆ
  • การใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับ SEO ได้อย่างเชี่ยวชาญ
  • ทำงานได้ทั้ง On-page และ Off-page รวมถึงสร้างผลลัพธ์ได้ตามที่ตั้งไว้
  • การสรุปผลและการวางโครงสร้างของธุรกิจในเชิง Search Engine ต่อกับส่วนอื่นๆของบริษัท

สิ่งสำคัญของ Search Engine Marketer

ในบริษัทถ้ามีตำแหน่งนี้ไม่ว่าจะคนเดียวหรือเป็นทีม สิ่งสำคัญคือการอัปเดตเทรนด์แบบตามติดทุกความเคลื่อนไหวของการทำ SEO รวมไปถึงการเรียนรู้เพิ่มเติมในเทคนิคใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อแย่งชิงตำแหน่งกับคู่แข่ง 

ความคาดหวัง คือ ทำให้เว็บไซต์ของธุรกิจอยู่ในตำแหน่งที่ 0 หรือ 1 ของ Search Engine อย่าง Google ในคีย์เวิร์ดที่ส่งผลต่อธุรกิจ มีคนเสิร์ชเพื่อมาหาข้อมูล ซื้อสินค้า หรือเปรียบเทียบ ถ้าเสิร์ชมาแล้วต้องทำให้คนกดคลิกเข้ามาและกลายเป็นลูกค้าให้ได้ เพราะอันดับที่ดีจะไม่มีผล ถ้าธุรกิจไม่เติบโต (ไม่มีผู้ซื้อหรือผู้ใช้)

สิ่งที่ต้องระวัง 

การทำงานในด้าน Search Engine นั้นกว่าจะเห็นผลลัพธ์ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าวิธีอื่น แต่เมื่อเห็นผลแล้วจะทำให้ได้ยอดเข้ามาจำนวนมาก โดยไม่ได้ใช้งบด้านการตลาดเลย ในมุมของนักการตลาดไม่ควรทำทิ้งไว้ และรอให้เกิดผลลัพธ์(ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน)

ควรมีแผนในเชิงรุกอยู่เสมอ ในการทำ Keyword Research สร้างคอนเทนต์และทดลองเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ หมั่นตรวจเช็คในสิ่งที่ทำไปแล้ว และเมื่อเจอตัวที่ติดอยู่ในหน้า 1 ให้นำคอนเทนต์เหล่านั้นกลับมาเขียนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มคุณภาพรวมถึงการทำลิงก์เพื่อให้ผู้อ่านเข้าไปต่อในหน้าอื่นๆบนเว็บไซต์ของบริษัทให้มากขึ้น

ศึกษาบทความเรื่อง SEO ฉบับอัปเดตปี 2021 ได้ที่ >> บทความนี้

2.2 Media Buyer

นักการตลาดสายยิงโฆษณา ยิงได้ยิงเป็น ยิงในภาพรวม ในขั้นนี้ควรยิงเป็นในอย่างน้อย 2 ช่องทาง คือ Facebook และ Google เข้าใจหลักการทำงานพื้นฐานของแพลตฟอร์ม การนำคอนเทนต์มาใช้ยิงโฆษณาในแต่ละรูปแบบที่เหมาะสม

นำเป้าหมายของทีมการตลาดมาเป็นแคมเปญการยิงโฆษณาต่างๆ รวมถึงรับงานจากส่วนอื่นๆไม่ว่าจะเป็นด้านดีไซน์ งานเขียน และโจทย์ของธุรกิจ ทำงานร่วมกันได้ดี มากกว่านั้นคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เช่น โฆษณาโดนแบนต้องทำอย่างไร รูปภาพปกบทความไม่ขึ้นต้องทำอย่างไร

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Media Buyer

  • กลยุทธ์การยิงโฆษณาในช่องทางที่เหมาะสมกับเป้าหมายที่ได้รับมา
  • วิธีการเลือกกลุ่มเป้าหมายและการทำการทดสอบกลุ่มเป้าหมาย
  • การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การโดนแบน หรือเนื้อหาโฆษณาที่ไม่ดีพอ
  • การทำงานร่วมกับ Pixel และ Analytics เบื้องต้น
  • การสรุปผลและการทำรายงานด้านการโฆษณา
  • องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความรู้ในอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือความรู้ในผลิตภัณฑ์

สิ่งสำคัญของ Media Buyer

หน้าที่นี้เปรียบเหมือนกองหน้าของบริษัทที่จะคอยเจาะเข้าไปหาโอกาสต่างๆมาให้ และเป็นการนำงานของคนในทีมไปเสนอให้อยู่ถูกที่ถูกเวลา ถ้าทำได้ดีจะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตได้รวดเร็ว แต่ต้องแลกมากับการหาเทคนิคใหม่ๆอยู่เสมอ และคอยสอดส่องคู่แข่งว่ากำลังทำอะไรอยู่ด้วย

เป้าหมายของหน้าที่นี้จะเน้นในเชิงผลลัพธ์เป็นส่วนใหญ่ ในตัวเนื้องานจริงๆ เมื่อคุณมีความรู้ที่มากพอจะไม่ได้ทำงานหนักมาก แต่ต้องอาศัยความฉลาดและการปรับตัวที่รวดเร็ว รู้ว่าต้องทำอะไรในเวลาไหน การคิดนำหน้าก่อนอย่างน้อย 1 ก้าวให้กับทีมและบริษัท คือส่วนหนึ่งในหน้าที่

เพราะถ้าเรารอให้เกิดอะไรขึ้นมาก่อนและค่อยปรับตัว คุณในฐานะ Media Buyer จะเป็นคนที่ถูกมองก่อนเป็นอับดับแรก ด่านแรกที่ทุกคนจะเข้าหาเมื่อผลลัพธ์ของบริษัทไม่ได้อย่างที่ต้องการ

สิ่งที่ต้องระวัง 

การทำงานแบบ Set & Forget (ตั้งค่าไว้และปล่อยรันยาวๆ) คือสิ่งที่ไม่ควรทำ จริงอยู่ว่าถ้าแอดตัวไหนรันได้ดีควรปล่อยมันรันไป แต่คุณควรหาโอกาสใหม่ๆเสมอ ด้วยการ Duplicate แอดที่ดีไปทำซ้ำในตลาดที่ใหญ่ขึ้นหรือตลาดใหม่ 

จำนวนงานของคุณจะขึ้นอยู่กับ Budget ที่มี ถ้าคุณทำได้ไม่ดีพอ จะทำงานอยู่ในขอบเขตวงเงินที่น้อยอยู่เสมอ คุณจะสังเกตได้ว่า ตัวงานของคุณมีการขยับ Budget ขึ้นไหม มีโปรเจ็คใหญ่มามอบหมายให้หรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ไม่มี สิ่งที่ต้องทำคือรีบพัฒนาความสามารถอย่างเร่งด่วน

2.3 Email Marketer

นักการตลาดสายอีเมล คุณอาจมองว่าอีเมลเป็นช่องทางการตลาดที่ใช้ได้ผลน้อยในประเทศไทย เพราะทำทีไรก็ไม่ค่อยเห็นผล สิ่งแรกในการเป็นนักการตลาดสายนี้ คือ ต้องดูกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจนั้นๆก่อนเสมอว่าเป็นเป้าหมายที่ใช้อีเมลในชีวิตประจำวันหรือไม่

การตลาดด้วยอีเมลยังคงมีอิทธิพลและเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้ในการเติบโตของหลายบริษัท เพียงแต่เราต้องใช้ให้เป็นและใช้ให้ถูก กลุ่มลูกค้าที่ชอบเปิดอีเมล คือ กลุ่มคนทำงาน (และมีกำลังซื้อ) 

การทำงานของนักการตลาดสายอีเมลจะทำงานร่วมกับ Software ซะเป็นส่วนใหญ่ ในการใช้จัดการแคมเปญ การจัดเก็บลิสอีเมล การทำ Automation Flow ต่างๆ รวมไปถึงการดูแลคอนเทนต์ที่จะส่งเข้าไปในอีเมลของกลุ่มเป้าหมาย

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Email Marketer

  • วางโครงสร้างการทำงานอีเมลของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ในเชิงของเป้าหมาย, เลือกซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานให้เหมาะสม, รูปแบบการจัดเก็บลิสรายชื่อลูกค้า, ตารางการส่งคอนเทนต์ และวิธีการคัดรายชื่อลูกค้าที่ไม่เหมาะสมออกจากลิส
  • กลยุทธ์ในการใช้การตลาดด้วยอีเมลให้กับบริษัท
  • ใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการตลาดด้านอีเมล การตั้งค่า และคำนวนการใช้ให้อยู่ในงบประมาณ
  • การแบ่งลิสรายชื่อลูกค้าออกเป็นประเภทตามความสนใจของลูกค้า
  • การเชื่อมต่อระบบอีเมลกับเว็บไซต์หรือส่วนต่างๆที่ต้องเชื่อมต่อ
  • การสรุปผลและการทำรายงานด้านอีเมล

สิ่งสำคัญของ Email Marketer

กลยุทธ์ที่สำคัญของนักการตลาดสายอีเมล คือ การสร้างลิสรายชื่อลูกค้าที่มีคุณภาพ และรู้ให้ได้มากที่สุดว่าลูกค้าแต่ละคนมีความชอบอะไร สามารถจัดแบ่งเป็นลิสย่อยๆได้ เพื่อส่งอีเมลที่ตรงกับความต้องการให้กับลูกค้าในกลุ่มนั้นๆ

สุดท้ายต้องเกิดยอดที่สำคัญให้กับธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากลับมาซ้ำซ้ำ การ Upsell หรือ Cross sell หรือการปิดการขายที่สำคัญ มากกว่าเพียงแค่ตัวเลข จำนวนคนเปิดอีเมล หรือ คลิก

สิ่งที่ต้องระวัง 

ในหลายองค์กรยังมีความเชื่อจากระดับบริหารหรือการจัดการอยู่มากว่า การตลาดด้วยอีเมลนั้นไม่เห็นผล เมื่อคุณมาทำในสายงานนี้จะโดนแรงต้านค่อนข้างเยอะ และต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ 

อีเมลคือส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจได้ยอดที่ต้องการในงบการตลาดที่ค่อนข้างต่ำ มันคืออีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะใช้แซงคู่แข่งได้ คุณต้องสร้างรายงานการแสดงผลวิเคราะห์ที่สรุปให้เห็นได้ชัดว่าก่อนทำกับหลังทำ มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นมากแค่ไหน (ถ้าในตอนแรกยังไม่ดีมากพอ ขอให้คุณมุ่งมั่นต่อไป)

ศึกษาเทคนิคการใช้งานกลยุทธ์ E-Mail Marketing ได้ที่บทความนี้

ขั้นที่ 3

3.1 Inbound Marketer

นักการตลาดสายสร้างคุณค่า ดึงดูดลูกค้าด้วยเงิน 0 บาท โดยจะใช้ความสามารถทางด้านคอนเทนต์, SEO, อีเมล และองค์ความรู้ด้านการทำการตลาดด้วยเว็บไซต์ นักการตลาดในสายนี้จะเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าไม่ว่าจะเป็นบทความหรือ e-book

เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงคุณค่านั้นและติดต่อเข้ามายังบริษัทเอง โดยจะต้องอาศัยระยะเวลาหนึ่ง (ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป) ถึงจะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจน เพราะการสร้างคุณค่าให้ได้นั้นใช้เวลา รวมถึงการไม่ใช่งบประมาณในการยิงโฆษณาจึงจำเป็นต้องนำเวลามาแลก

การเป็นนักการตลาดในสาย Inbound นี้ จะไม่สามารถทำได้ในทุกอุตสาหกรรม เหมาะกับเฉพาะบริษัทประเภท B2B หรือสินค้าที่มีราคาสูง ต้องแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่า และมีกระบวนการซื้อที่ใช้เวลาในระดับหนึ่ง

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Inbound Marketer

  • กลยุทธ์การทำ Inbound Marketing สำหรับธุรกิจในแต่ละประเภท
  • การสร้างคอนเทนต์เพื่อให้คุณค่ากับผู้อ่าน
  • การวางตารางการลงคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง
  • การวางโครงสร้างการเก็บลิสรายชื่อ การดูแลลิส การให้คะแนนรายชื่อ และการปิดการขาย
  • การเลือกใช้ซอฟต์แวร์ให้บริษัท และการนำไปใช้จริง
  • การวัดผลการทำการตลาด Inbound สรุปและแนะนำต่อยอด

สิ่งสำคัญของ Inbound Marketer

การเป็นนักการตลาดสาย Inbound Marketer สิ่งที่ต้องอาศัยคือความถึกและการมองที่เป้าหมายเป็นหลัก เพราะกว่าจะเห็นผลอย่างจริงจังนั้นอาจจะต้องใช้เวลาถึงหลักปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างนานในโลกออนไลน์ 

แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมานั้น เรียกได้ว่า คุ้มค่า เพราะคุณภาพของลูกค้าที่ติดต่อมานั้นดีกว่าและในมุมของงบการตลาดบริษัทจะต่ำกว่าการใช้กลยุทธ์แบบอื่นๆ สิ่งที่นักการตลาดในสายนี้ต้องให้ความสำคัญ คือ การสร้างคุณค่า หรืออีกมุมหนึ่งคือการแก้ปัญหาที่ดีกว่าให้กับลูกค้า

สิ่งที่ต้องระวัง

ถ้าบริษัทคุณมีหัวหน้าหรือระดับ C-Level ที่เข้าใจหลักการทำงานของ Inbound Marketing จะทำให้การทำงานคุณง่าย แต่ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจ จะมองว่าการทำงานนี้นั้นใช้เวลานานเกินไป และอาจจะหาวิธีการอื่นมาทำแทน

ดังนั้นคุณจำเป็นต้องทำ Low Hanging Fruit หรือกลยุทธ์ที่ทำให้เห็นผลเร็วที่สุด ในมุมใดมุมหนึ่งมาทำให้พวกเขาเห็นแนวโน้มก่อนว่า มันจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้บริษัทได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้คุณสามารถสร้างงานที่สร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้ แม้ว่าจะใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลลัพธ์

ศึกษาเนื้อหาของ Inbound Marketing เพิ่มเติมได้ที่บทความนี้

3.2 Channel Specialist (Facebook, Google)

นักการตลาดสายครองช่องทางการขาย เป็นผู้เชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริงในการทำการตลาดสำหรับช่องทางนั้นๆ แบบ 360 องศา โดยถ้าเป็นนักการตลาดที่เชี่ยวชาญใน Facebook จะสามารถทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การเขียนงานโฆษณา คอนเทนต์ การยิงโฆษณา การติด Pixel การทำ Event บนเว็บไซต์เชื่อมข้อมูลกับ Facebook และการวางกลยุทธ์ทั้งหมด

ถ้าเป็นนักการตลาด Google จะทำได้ทั้ง SEO และ Google Ads โดยจะเริ่มต้นจากกลยุทธ์ การวางโครงสร้างคอนเทนต์และเว็บไซต์ให้เหมาะสม การปรับแต่งเชิงเทคนิค การติด Analytics ที่วัดผลการทำงานอย่างละเอียดบน Google Analytics การทำการทดสอบเว็บไซต์บน Google Optimize การติดตั้ง Tag ต่างๆบน Google Tag Manager การเซ็ทอัพธุรกิจบน Google My Business และการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจผ่านยอดขายหรือยอดผู้ใช้งาน

โดยนักการตลาดในขั้นนี้สามารถเลือกได้ว่า จะไปในสายไหน สายขาวหรือสายดำ การทำงานของทั้งสองสายจะแตกต่างกันชัดเจน โดยการทำงานของสายขาวจะเน้นความถูกต้อง โฟกัสที่การสร้างเครดิตให้แอคเคาท์ เน้นความสบายใจในระยะยาว ส่วนการทำงานของสายดำ จะเน้นไปที่ยอดที่ต้องการ โดยไม่สนว่าแพลตฟอร์มนั้นๆจะแบนหรือไม่ เน้นระยะสั้น ไม่ต้องยั่งยืน แต่เห็นผลเร็ว และถ้าโดนแบนก็ค่อยทำแอคเคาท์ใหม่ (ส่วนใหญ่ฟาร์มแอคเคาท์รอไว้เยอะๆอยู่แล้ว)

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Channel Specialist

  • ระบบการทำงานของแพลตฟอร์มต่างๆอย่างลงลึก (เช่น การทำงานของอัลกอริทึ่ม, วิสัยทัศน์ของแพลตฟอร์ม, การอัปเดตเชิงโครงสร้าง, รอยรั่วของระบบ และอื่นๆ)
  • กลยุทธ์การวางโครงสร้างทางการตลาดทั้งหมดในช่องทางนั้นๆ เชื่อมต่อกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับช่องทาง
  • การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อการปรับแต่งให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดสำหรับช่องทางนั้นๆ
  • การสอนและอัปเดตให้ทีมเกี่ยวกับช่องทางการขายนั้นๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง (เพราะช่องทางออนไลน์มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด)
  • การทำงานบนช่องทางนั้นๆได้อย่างครบวงจร 
  • การสรุปและรายงานผลลัพธ์ และอธิบายได้อย่างลงลึกในรายละเอียดแต่ละจุด รวมถึงการนำเสนอการต่อยอดต่างๆ

สิ่งสำคัญของ Channel Specialist

เมื่อคุณเลือกจะเป็น Channel Specialist เปรียบเหมือนคุณจะต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นตลอดเวลา และคอยรายงานการเคลื่อนไหวต่างๆให้กับทีม เพราะทีมของคุณจะไว้ใจว่าคุณจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด เมื่อพูดถึงช่องทางนั้นๆ ตัวอย่างเช่น Facebook หรือ Google

การทำงานทั้งหมดต้องอาศัย Passion และความเชื่อในระดับหนึ่งของตัวแพลตฟอร์มที่คุณจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เชื่อว่านี่คือหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดในการทำการตลาด เชื่อว่าช่องทางนี้จะช่วยสร้างการเติบโตให้บริษัทได้ เพราะถ้าขาดซึ่งความเชื่อและความอินแล้ว คุณจะเบื่อหรือไม่อยากทำต่ออย่างรวดเร็ว หรือที่แย่ที่สุด เวลานำสิ่งต่างๆไปสอนทีม คุณจะไม่แสดงถึงพลังหรือความเชื่อมั่นที่มี ซึ่งนั่นทำให้ทีมคุณหมดความหวังไปด้วย

สิ่งที่ต้องระวัง

การทำงานเป็น Channel Specialist เมื่อยึดอยู่กับแพลตฟอร์มเดียว การทำงานจะค่อนข้างซำ้และจำเจ คุณจำเป็นต้องมีการเตรียมวิธีคิดและบิดการมองของคุณให้มีความสร้างสรรค์อยู่เสมอ ใช้สิ่งเดิมๆ แต่ปรับการมองและการนำไปใช้ให้แตกต่าง

เมื่อคุณหมั่นฝึกวิธีนี้แล้ว คุณจะเห็นความเป็นไปได้มากมายที่เกิดขึ้น เพราะมีวิธีคิดพลิกแพลงหลากหลายรูปแบบที่สามารถทำได้ หรือเรียนรู้การใช้งานในมุมอื่นๆจากธุรกิจที่แตกต่าง จะทำให้เปิดมุมมองใหม่ๆ ลดความซ้ำซากจำเจ เพิ่มผลลัพธ์และการต่อยอดได้ง่ายขึ้น

ขั้นที่ 4

ในขั้นนี้นักการตลาดจะเข้าใจในเชิงโครงสร้างการทำงานด้านการตลาดขององค์กร จึงจะเน้นที่การทำงานเชิงโครงสร้างให้กับทีมเป็นหลัก

4.1 List Builder

นักการตลาดสร้างลิสรายชื่อลูกค้า เริ่มต้นจากการวางโครงสร้างในการเก็บลิสรายชื่อลูกค้า ผ่านการออกแบบว่า ควรจะต้องเก็บลิสเข้าที่ไหน? อีเมล, ไลน์ หรือว่าช่องทางอื่นๆ โดยจะดูจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก เมื่อลูกค้าเข้ามายังลิสแล้วจะทำการส่งคอนเทนต์ที่มีคุณค่าเพื่อสร้าง Relationship และปิดการขายในท้ายที่สุด (รวมถึงการ Up-selling และ Cross-selling)

ความน่าสนใจของนักการตลาดสายนี้ คือ การทำงานด้านการดูแลลิสรายชื่อลูกค้า ทำให้ลิสนี้มีแต่รายชื่อที่มีคุณภาพ และปิดยอดที่บริษัทต้องการให้ได้มากที่สุดผ่านการทำงานบนลิสที่มีต้นทุนในการตลาดที่ต่ำกว่ายิงโฆษณาหาใหม่

นักการตลาดระดับโลก ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นสาย List Builder กันจริงจัง

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น List Builder

  • การเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ธุรกิจประเภทไหนต้องเก็บลิสด้วยวิธีอะไร ใช้เครื่องมือรูปแบบไหน และช่องทางการขายที่ใดถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
  • กลยุทธ์การเก็บรายชื่อเข้าลิส การทำแคมเปญ การวางโครงสร้างการบอกต่อ
  • การแบ่ง Segment ของลูกค้าในลิส และการส่งคอนเทนต์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย
  • การวางโครงสร้างการส่งคอนเทนต์และการปิดการขายโดยการใช้ซอฟต์แวร์
  • การทำงานร่วมกับช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์, โซเชียลมีเดีย, อีเมล, ซอฟต์แวร์ต่างๆ รวมไปถึงระบบข้อมูลหลังบ้าน
  • การวัดผลทั้งหมดของการทำ List วิเคราะ์และการต่อยอด

สิ่งสำคัญของ List Builder

ความเข้าใจถึงโครงสร้างการตลาดทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ List Builder เป็นส่วนที่เก็บรายชื่อลูกค้า บ่มเพาะด้วยคอนเทนต์ที่ให้คุณค่า ไปจนถึงการปิดการขาย การซื้อซ้ำ และการบอกต่อ เป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก ถ้ามีคนเก่งสาย List Builder อยู่ในทีม การทำงานของคุณจะเป็นรูปแบบอัตโนมัติมาก

เพียงแค่หารายชื่อใหม่ๆเข้ามาในระบบ การทำงานทั้งหมดจะเกิดขึ้นอัตโนมัติได้ทันที ไปจนถึงการปิดการขาย บอกต่อ ซื้อซ้ำ เรียกได้ว่าต่อยอดธุรกิจได้อย่างยั่งยืน (ต้นทุนต่ำมาก)

สิ่งที่ต้องระวัง

การทำงานสาย List Builder ต้องอาศัยการเรียนรู้ที่สูง เพราะใช้เครื่องมือที่เป็นซอฟต์แวร์ค่อนข้างเยอะ ต้องรู้ว่าตัวไหนใช้ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ หรือทำงานเชื่อมกับระบบอื่นได้อย่างไรบ้าง มากกว่านั้นยังต้องใช้เวลาจำนวนหนึ่งกว่าจะเห็นผล (เวลาในการทำให้ลูกค้ามาทิ้งรายชื่อในระบบ หรือการกรอกฟอร์มบนหน้าเว็บ)

ต้องทำงานในส่วนของหน้าบ้าน คือ แคมเปญที่ทำให้คนกรอกฟอร์มเข้ามา การยิงโฆษณาต่างๆ ไปที่ส่วนกลางบ้าน คือ การเชื่อมต่อระหว่างแพลตฟอร์มอย่างเว็บไปที่ระบบหลังบ้าน หรือช่องทางอื่นๆที่ใช้เก็บลิสอย่าง อีเมล ไลน์ หรือ FB messenger และการทำระบบหลังบ้านว่าจะมีการส่งคอนเทนต์ให้คนที่เข้ามาในลิสแล้วได้รับอย่างไรบ้าง การปิดการขาย การวัดผลทั้งหมด

4.2 Web/App Marketer

นักการตลาดที่สามารถทำงานร่วมกับนักพัฒนาได้เป็นอย่างดี เข้าใจการเขียนโค้ด การดีไซน์ การใช้เครื่องมือการตลาดทำงานร่วมกับเว็บไซต์และแอป ในขั้นนี้ถ้าสามารถใช้แพลตฟอร์ม No Code หรือ Low Code ในการสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองได้เลย จะถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ

การทำงานในสายนี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ การทำงานเป็นทีมร่วมกับนักพัฒนาและดีไซน์เนอร์ หรือการทำงานคนเดียวที่สามารถเริ่มต้นเองและจบเองได้ในคนเดียว

โดยความเชี่ยวชาญจะแตกต่างกัน เพราะการทำงานบนเว็บและแอป มีหลักการในการคิดที่แตกต่างกันพอสมควร ถ้าสามารถทำได้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ได้จำเป็น เพราะในการสร้างของชิ้นหนึ่งที่ต้องการเติบโต เราต้องมีทีมที่โฟกัสแยกกันอยู่แล้ว เช่น ทีมโฟกัสบนเว็บไซต์ อีกทีมโฟกัสที่แอปพลิเคชัน

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Web/App Marketer

  • กลยุทธ์การตลาดบนเว็บหรือแอปอย่างลงลึก รวมไปถึงการนำแคมเปญการตลาดไปใส่ใน User Journey ได้อย่างไร้รอยต่อ
  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับทีมพัฒนา (หรือสามารถพัฒนาเองได้) ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถทำการตลาดในตัวได้ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มแคมเปญทำให้คนกดแชร์ในผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการตลาดบอกต่อในช่องทางอื่นๆ
  • การวัดผลบนผลิตภัณฑ์อย่างเว็บหรือแอป เพื่อนำไปวิเคราะห์และต่อยอดการทำงาน
  • การทำ A/B Testing ในจุดต่างๆของผลิตภัณฑ์
  • การเขียนคอนเทนต์บนผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ เข้าใจง่าย และทำให้ผู้ใช้รู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป

สิ่งสำคัญของ Web/App Marketer

ความยากที่เพิ่มขึ้นมาของสายงานนี้ คือ การเข้าใจพื้นฐานการสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ว่าส่วนไหนทำได้หรือไม่ได้ การจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนา อันไหนควรทำก่อน (สำคัญมาก) อันไหนควรทำหลัง (สำคัญน้อย)

รวมไปถึงการเป็นตัวกลางในการสื่อสารฝั่งการตลาดกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำเทคโนโลยีให้เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานเข้าใจง่ายและส่งผลต่อการเพิ่มยอดขายให้บริษัท 

การเรียนรู้ในการใช้งานแพลตฟอร์ม No Code หรือ Low Code จะช่วยได้มาก เช่น Webflow หรือ Bubble จะทำให้คุณกลายเป็นนักการตลาดที่สร้างแพลตฟอร์มได้ด้วยตัวเองได้เลย

สิ่งที่ต้องระวัง

ด้วยความที่ออกจากพื้นที่ของนักการตลาดไปค่อนข้างไกล อาจทำให้คุณรู้สึกว่ามันยากและท้อแท้ได้ง่าย ดังนั้นสิ่งที่คุณควรรักษาคือไฟในการทำงาน ทำสิ่งเล็กๆง่ายๆให้สำเร็จไปทีละขั้น อันไหนที่รู้สึกยากไปก็ทำซ้ำๆจนกว่าจะเข้าใจ

ห้ามล้มเลิก เพราะถ้าเลิก สิ่งที่พยายามมาทั้งหมดจะหายไป ความรู้นี้เมื่อเข้าใจแล้วจะเข้าใจไปเลย แต่อายุมันจะสั้น คุณต้องเติมความรู้ใหม่ๆเข้าไปตลอด รวมถึงนำไปสร้างจริงให้ได้ด้วยจะเข้าใจได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก

4.3 Ads Optimize Specialist 

นักการตลาดสายสเกลโฆษณา เน้นการทดสอบ วัดผล และขยายผลจากสิ่งที่ทำแล้วดี นักการตลาดในสายนี้ส่วนใหญ่จะมีงบการตลาดที่ต้องดูแลในจำนวนที่มากกว่า 7 หลักต่อเดือน เข้าใจในกลยุทธ์ภาพรวมและในเชิงลึก 

การทำงานเน้นเรื่องของการลองผิดลองถูก รักในการทดลอง เพราะเชื่อว่าไม่มีสิ่งไหนที่ดีที่สุด เราสามารถทำได้มากขึ้นอีก นักการตลาดสายนี้จะมีรูปแบบการทดลองในหัวมากมาย เพียงแค่เห็นผลิตภัณฑ์(ที่ดีมากพอ)กับอาร์ตเวิร์คที่ต้องนำไปยิง ก็สามารถวางโครงสร้างการทดสอบโฆษณาได้หลากหลายรูปแบบ

พร้อมให้คำแนะนำหลังจากการทดสอบจำนวนมากว่าควรพัฒนางานดีไซน์และงานเขียนแบบไหน ถึงจะสร้างยอดออกมาได้มากที่สุด และกลยุทธ์การเก็บข้อมูลที่ทำงานร่วมกับ List Builder และ Web/App Marketer

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Ads Optimize Specialist

  • การบริหารการยิงโฆษณาให้ได้ตามเป้า (ทำ Manual Bidding) 
  • การปรับแต่งโฆษณาในเชิงลึก การทำการทดสอบในทุกๆจุดที่สามารถทดสอบได้
  • การทำงานร่วมกับทีมต่างๆ เพื่อนำงานมาใช้ในการปรับโฆษณาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
  • การเข้าใจสถานการณ์ การแก้ไขโฆษณาที่โดนแบน และการเตรียมความพร้อมเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น
  • การสร้างระบบวัดผล สำหรับการสเกล เข้าใจในหลักการและสถานการณ์ เมื่อไรควรสเกล เมื่อไรควรหยุด และการควบคุมงบประมาณ

สิ่งสำคัญของ Ads Optimize Specialist

หนึ่งในสายงานด้านการตลาดที่มีความท้าทายมากๆ เพราะเป็นหน้าที่ที่ถ้าทำผิดพลาด จำนวนเงินมหาศาลของบริษัทจะหายไปได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน ถ้าทำได้ดีก็หมายถึง เงินจำนวนมากที่เข้ามาหาบริษัท สิ่งที่ต้องคอยดูว่า งบประมาณการยิงโฆษณาต้องอยู่ในกรอบที่บริษัทสามารถรับได้ และหน้าที่นี้ต้องคอยระแวดระวังดูอยู่อย่างตลอด

เพราะโฆษณาไม่ได้รันได้ดีเหมือนกันทุกวัน วันไหนอยากจะพังก็พัง วันไหนจะดีก็ดี ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ปรับอะไรเลยก็ตาม ดังนั้นจึงต้องหมั่นสอดส่อง ปรับแต่ง และสร้างใหม่อยู่ทุกๆวัน เพราะจำนวนเงินที่ดูแลในที่นี้นั้นมีค่อนข้างเยอะมาก 

สิ่งที่ต้องระวัง

นักการตลาดสายนี้ต้องตามเทรนด์และรูปแบบใหม่ๆอยู่เสมอ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก และเป็นคนแบกความหวังของทีมเอาไว้ ดังนั้นจะต้องทำตัวนำหน้าและคอยเจาะทะลวงโอกาสใหม่ๆ เพราะด้วยตัวหน้าที่ที่ถืองบประมาณโฆษณาไว้เยอะมากพอในการจะทำสิ่งต่างๆให้เกิดผลลัพธ์อย่างรวดเร็วได้

สิ่งที่ต้องระวังมากๆคือ ด้วยงบประมาณจำนวนมาก ถ้าเราไม่เก่งมากพอ จะได้ต้นทุนที่สูงมากไป ทำให้สุดท้ายไม่สามารถใช้งบที่บริษัทให้มาได้จนหมด (เพราะแพงไป ไม่ควรใช้) ดังนั้นต้องมั่นใจก่อนว่าสามารถทำได้ หรือเคยทำมาแล้วร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่อาจจะเป็นอาจารย์สอนให้มาก่อน

ขั้นที่ 5

5.1 CRO Specialist

นักการตลาดที่เน้นการปรับแต่งกระบวนการขายทั้งหมดให้มียอดที่ดีขึ้น สามารถเข้าไปปรับในเว็บไซต์หรือแอปได้ ไม่ว่าจะเป็นปรับดีไซน์ โครงสร้าง หรือเพิ่ม/ลดฟีเจอร์ง่ายๆได้ด้วยตัวเอง เน้นที่การทดสอบว่า ถ้าเราปรับในส่วนนั้นๆแล้วยอดที่เราต้องการจะเพิ่มขึ้นไหม

การปรับแต่งอย่างต่อเนื่อง คือ หัวใจของนักการตลาดในขั้นนี้ โดยจะต้องเริ่มต้นจากการพูดคุยกับลูกค้าจำนวนมาก ดูเว็บไซต์หรือแอปในตลาด เข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่า พวกเขาต้องการอะไร และนำไปปรับแต่งบนเว็บไซต์หรือแอป

ตัวอย่างเช่น การปรับแต่งขั้นตอนการจ่ายเงินให้สั้นลง พิมพ์น้อยลง กดไม่กี่ครั้งก็ซื้อได้แล้ว หรือ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้อ่านง่ายขึ้น เน้นที่การรีวิวจากผู้ใช้จริง

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น CRO Specialist

  • สร้างสมมติฐานในการปรับแต่ง การเขียนการทดลอง รูปแบบการวัดผล กำหนดค่าที่ควรวัดผลในการทดลอง ทำการทดลอง และสรุปผลได้
  • การปรับแต่งเว็บไซต์หรือแอป ร่วมกับการวัดผลผ่านซอฟต์แวร์ด้าน Analytics ต่างๆ
  • การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อทำการทดสอบ
  • การนำเสนอให้ทีมในการนำสิ่งที่ปรับแต่งทั้งได้ผลและไม่ได้ผล ไปใช้กับทีมอื่นๆต่อได้

สิ่งสำคัญของ CRO Specialist

ในสายงานนี้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าใจการทำงานในตัวเว็บหรือแอป การลงลึกในพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เข้าใจในมุมผู้ใช้มากๆว่า ถ้าลองปรับตรงนี้จะช่วยทำให้ประสบการณ์ผู้ใช้ดีขึ้นได้อีกไหม รวมถึงยอดทางธุรกิจเพิ่มขึ้นไหม

สรุปได้ว่านักกาตลาดในสายนี้จะต้องมีองค์ความรู้ในหลายสายที่ลงลึกในระดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็น การตลาด การสร้างเว็บหรือแอป การเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ และการดีไซน์

การเข้าใจในหลายสายขนาดนี้ ต้องอาศัยระยะเวลาในการทำงาน โดยปกติแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี กว่าจะเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง

สิ่งที่ต้องระวัง

การทำงานในจุดนี้ มันแทบไม่มีสิ่งที่เรียกว่าผิดหรือถูก บางอย่างถูกทางทฤษฎี แต่พอมาทำจริงกลับล้มไม่เป็นท่า หรือบางอย่างทางทฤษฎีชี้ว่าไม่ควรทำ แต่พอลองทำ ผลลัพธ์ที่ได้กลับปังมาก

คนที่ทำในสายงานนี้จึงต้องไม่เป็นคนที่เชื่อในอะไรง่ายๆ ทุกอย่างต้องผ่านการทดลอง การทำผ่านกระบวนการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้หรือลูกค้าเป็นคนตัดสินว่าอะไรดี หรืออะไรไม่ดี แล้วนำผลที่ได้มาอธิบายให้ทีมฟัง เพื่อแสดงจากข้อมูลจริง

ศึกษาทุกอย่างที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับอาชีพ CRO Specialist ได้ที่บทความเหล่านี้

5.2 Full Stack Marketer

นักการตลาดสาย Full Stack ทำได้ทุกอย่างในทุกขั้นที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ความสำคัญของการเป็นนักการตลาดในสายนี้ คือ การสร้างให้ได้ตามที่บริษัทต้องการ อย่างเช่น ถ้าต้องการคนทำระบบอีเมลอัตโนมัติก็สามารถเข้าไปทำได้ หรือยิงโฆษณาบน Facebook ก็ทำได้

ความยากของนักการตลาดในขั้นนี้ไม่ใช่เรื่องของการทำเป็นทุกอย่าง แต่คือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากทุกส่วน จะต้องแก้อย่างไร? เพราะการทำเป็นได้ทุกอย่าง ผ่านงานมาแล้วมากมาย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก รวมถึงการสร้างขึ้นใหม่ก็ง่ายย่ิงกว่า

โดยสรุปในสาย Full Stack นี้จะสามารถทำเองได้ แก้ปัญหาให้ได้ รวมถึงการทำงานประสานร่วมกับคนอื่นๆได้ดี มีส่วนช่วยทีมในการพัฒนาทำให้งานเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Full Stack Marketer

  • ทำได้ทุกอย่างเกี่ยวกับการตลาดแบบครอบจักรวาล
  • กลยุทธ์การตลาดครบทุกช่องทาง
  • การวิเคราะห์และวัดผล เสนอแนะเพื่อการต่อยอดได้ครอบคลุม
  • การเป็นที่ปรึกษาและโค้ชของทีมการตลาด

สิ่งสำคัญของ Full Stack Marketer

เมื่อสามารถทำได้ทุกอย่าง ความสามารถหลักที่วัดว่าเก่งไม่เก่ง คือ การเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ และสร้างผลลัพธ์ให้ออกมาได้ การทำงานจึงต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะค่าตัวคุณในจุดนี้สำหรับบริษัทจะเริ่มแพงแล้ว

ทุกการกระทำจะมีผลมาก ต้องเทียบกับค่าเสียโอกาสเสมอ ถ้าเราทำ A จะไม่ได้ทำ B,C,D ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจเข้ามาช่วยมาก

สิ่งที่ต้องระวัง

การเป็นทุกอย่างให้ทุกคน เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำในสายงานนี้ เพราะจะทำให้ภาพรวมของทั้งทีมไม่ไปไหน สิ่งสำคัญอย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือ การจัดลำดับความสำคัญเพื่อสร้างผลลัพธ์สูงสุดให้กับทีม

การทำงานกว่าจะเป็นนักการตลาดสายนี้ได้ อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญคือเรื่องของเซ้นส์ด้านการตลาด รู้ว่าสถานการณ์แบบไหน ต้องทำอย่างไร อาศัยความเก๋าในการทำงาน ขยับก่อนบริษัทอื่น ชิงพื้นที่การแข่งขัน และยึดครองตลาดให้ได้

แนะนำคอร์สเรียนที่ The Growth Master แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเตรียมความพร้อมสู่การเป็น Full Stack Marketer อย่างมีประสิทธิภาพ > https://bit.ly/2R9VZhh 

ขั้นที่ 6 

Growth Marketer

นักการตลาดที่ข้ามพ้นมาจากการเป็น Full Stack สู่การทำงานในทีม Growth หรือทีมที่โฟกัสเฉพาะเรื่องการเติบโตของบริษัท การทำงานในจุดนี้คือการทำงานร่วมกับ Cross-functional team หรือคึอการทำงานร่วมกับคนในสายงานอื่นๆมารวมกัน ดังนั้นนักการตลาดในทีมจะมีไม่เกิน 2 คน

คุณจะต้องสามารถสร้างงานด้านการตลาดให้กับทีมที่ทำงานอย่างรวดเร็วได้ ทำงานร่วมกับคนในสายงานอย่าง Developer, Designer, Data, UX หรือ CEO แปลว่าต้องมีความรู้ที่รอบด้านมากกว่าเดิมมาก

ในการเป็นนักการตลาดด้าน Growth จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้ง 2 ทางไปพร้อมกันคือ Distribution Channel ช่องทางการขาย ควบคู่กับ Product Development การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ส่วนใหญ่เป็นซอฟต์แวร์) 

*เมื่อเปรียบเทียบกับขั้นที่ 5 ลงไปจะเน้นที่ Distribution Channel อย่างเดียว

และเป้าหมายของนักการตลาดในขั้นนี้ ไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มยอดขาย แต่เป็นการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า และทำการตลาดโดยให้ลูกค้ามาเจอกับคุณค่านั้นเร็วที่สุด (โดยบางบริษัทใช้วิธีที่เน้นการเผาเงิน)

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Growth Marketer

  • ออกแบบกระบวนการวัดคุณค่าร่วมกับทีม เพื่อให้รู้ว่าจุดไหนที่ลูกค้าได้รับคุณค่าจากผลิตภัณฑ์
  • ทำการตลาด สร้างแคมเปญเพื่อให้ลูกค้ามาเจอกับจุดที่มอบคุณค่าให้เร็วที่สุด โดยบางครั้งไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไรหรือรายรับ
  • สร้างสมมติฐานในการปรับแต่ง การเขียนการทดลอง รูปแบบการวัดผล กำหนดค่าที่ควรวัดผลในการทดลอง ทำการทดลอง และสรุปผลได้
  • การสื่อสารกับหัวหน้าและ C-Level ที่ต้องได้รับการอนุมัติแคมเปญต่างๆอย่างรวดเร็ว ในการช่วงชิงตลาด
  • การนำข้อมูลการตลาดเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบฟีเจอร์ที่เพิ่มหรือลดของผลิตภัณฑ์ในบริษัท
  • การวิเคราห์สถานการณ์ การต่อยอด และการจดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้

สิ่งสำคัญของ Growth Marketer

การทำงานในด้านนี้จะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ชอบลองผิดลองถูก ชอบงานท้าทาย มีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับทีม และทำงานอย่างรวดเร็ว เพราะทุกอย่างต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา อันไหนเวิร์คขยายผล เวลาขยายผล ทีมจะรองรับกันไม่ไหวแต่ก็ต้องพยายามทำต่อไป เช่น เมื่อขยายผล ลูกค้าทักมาในส่วน Customer Support เยอะมาก ขยายทีมแอดมินไม่ทัน ก็ต้องรันต่อไป โดยหาทรัพยากรอื่นๆมาแบกแทนไปก่อน

หรืออันไหนไม่เวิร์คก็ต้องรีบปิดทิ้ง อย่าไปดื้อทำต่อในระยะยาว เพราะจะส่งผลเสีย เนื่องจากทรัพยากรเรามีจำกัด ถ้าเสียทรัพยากรไปใช้ทำต่อเพราะเสียดาย จะส่งผลกระทบในการทำงานที่เสียเปล่า

สิ่งที่ต้องระวัง

การทำงานที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เหมือนกับรถที่ขับด้วยความเร็ว 300 กิโลโมตรต่อชั่วโมง คุณจะรู้สึกเหมือนว่าไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ด้วยความเร็วระดับนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่จะรู้สึกว่าควบคุมอะไรไม่ได้ ดังนั้นอย่าไปพยายามควบคุมอะไร แต่ให้พยายามรักษาความเร็วให้ต่อเนื่อง และประคองสิ่งต่างๆให้เป็นไปในระดับที่จัดการได้

ความท้าทายในการทำงานต่อมาคือ การคิดและจัดการที่รวดเร็วพอ ถ้าเราทำช้ากว่าทีมอาจจะกลายเป็นคอขวดให้กับทีมอยู่เสมอได้ ดังนั้นนอกจากงานที่เร็วแล้วการพัฒนาตัวเองต้องเร็วด้วย อย่างเช่น ถ้าเราข้ามสายงานมาเป็น Growth Marketer เลย และทีมต้องการคนทำอีเมล เพราะลูกค้าทักมาทางอีเมลเยอะมาก เราก็จำเป็นต้องเซ็ทระบบอีเมลให้กับทีม และต้องเรียนรู้ ทำ สร้างผลลัพธ์ได้เดียวนั้นเลย (นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมควรไต่ลำดับตามขั้นนี้)

ศึกษาทุกอย่างที่คุณต้องรู้ของอาชีพ Growth Marketer ได้ที่ >> บทความนี้

ขั้นที่ 7

Growth Master

สุดเส้นทางของการเป็นสุดยอดนักการตลาด คือ การเป็น Growth Master ขุนพลสำคัญขององค์กรที่ช่วยสร้างการเติบโต ด้วยการสร้างทีมด้าน Growth, การจัดการทีมและตัดสินใจอย่างรวดเร็วส่งตรงให้ C-Level ของบริษัท Approve ได้ทันที และกลยุทธ์การเติบโตทั้งหมดขององค์กร

สิ่งสำคัญของระดับนี้คือการรู้อย่างแม่นยำว่าต้องทำอะไร เมื่อไร มีความคมในด้านกลยุทธ์และการจัดการทรัพยากร รวมถึงรู้ลึกในเนื้องานของคนในทีม ดูได้ว่าอันไหนทำดีแล้ว หรือต้องแก้ในจุดไหนบ้าง และมีการจัดการทีมที่ดีเยี่ยม 

การทำงานในจุดนี้คือต้องมองในภาพใหญ่ได้ว่าบริษัทจะโตด้วยอะไร หลังจากนั้นสามารถซูมไปในภาพที่เล็กในแต่ละจุดว่าต้องทำอย่างไรให้เกิดภาพใหญ่นั้นได้ เรียกได้ว่าเป็นคนที่รู้ลึกและรู้รอบ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง

โดยสิ่งที่คุณควรจะทำในการเป็น Growth Master

  • ตั้งค่า North Star Metric และนำไปเผยแพร่ให้กับทีมหรือทั้งบริษัทได้รู้สิ่งที่ควรโฟกัส
  • ควบคุมความเร็วของทีมในการทดลอง จัดการทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และเวลา
  • ทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเติบโต ถูกอนุมัติได้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะจาก C-Level หรือส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขจัดคอขวดออกไป
  • กำหนดสิ่งที่จะทำการทดลอง สิ่งไหนควรทำก่อน สิ่งไหนควรทำหลัง
  • การวิเคราะห์สถานการณ์ นำการประชุม และสรุปผลการทดลองจากครั้งก่อนหน้า
  • การคัดคนเข้าทีม การประเมิน และการคัดคนออกจากทีม
  • การสรุปการทำงานให้คนทั้งบริษัทเห็นความสำคัญของแผนก Growth

สิ่งสำคัญของ Growth Master

การทำงานในขั้นนี้ ความยากคือการตัดสินใจที่บางครั้งไม่สามารถนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจได้ และถ้าไม่ตัดสินใจตอนนี้ อาจทำให้ชะลอการเติบโตของทั้งบริษัทไป ดังนั้นจึงต้องมีประสบการณ์ที่มากพอและกล้าที่จะตัดสินใจสิ่งที่สำคัญเพื่อองค์กรได้ (พร้อมรับผิดชอบ)

การต่อยอดจากสายงานนี้ในลำดับถัดไป จะเข้าสู่ C-Level ได้เลย ถ้าทำผลงานที่ยอดเยี่ยมให้องค์กรได้ เพราะการทำงานจริงๆของขั้นนี้ เป็นเหมือนคนขับพวงมาลัยรถที่เร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ คุณเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสิน

สิ่งที่ต้องระวัง

การยอมรับของทีมคือส่วนสำคัญ เพราะต้องทำงานร่วมกับตัวเทพในแต่ละสายงาน (Cross-functional team) สิ่งที่ต้องมีในการนำทีมคือเรื่องของ Empathy คิดในมุมของคนอื่นก่อน และค่อยนำมารวบออกมาให้เป็นกลยุทธ์ที่จับต้องได้จริง

อีกทั้งการเลือกทำไอเดียไหนก่อน ไอเดียไหนหลัง จะเป็นส่วนที่ชี้เลยว่า บริษัทจะนำของที่ดีออกมาในเวลาที่ใช่ได้หรือไม่ เพราะหลายๆครั้งบริษัทมีของที่ดีมากๆ แต่นำออกมาผิดเวลา ก็แป็กไปไหนไม่ได้เหมือนกัน

สรุปทั้งหมด

สายงานตลาดในไทยตอนนี้ยังไม่ได้มีการแบ่งรายละเอียดที่ชัดเจนเหมือนในบทความนี้ ดังนั้นคุณจะเห็นได้ว่าภาพการทำงานของนักการตลาดในแต่ละที่ค่อนข้างกำกวม เราจึงเขียนบทความนี้เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่าต้องเป็นสิ่งนี้เท่านั้น 

*บทความนี้เป็นแค่แนวทางของบริษัทเราในการพัฒนาทีมการตลาด*

ถ้าคุณกำลังเริ่มต้นในสายงานด้านการตลาด สิ่งที่อยากแนะนำคือให้ต่อสู้กับการสร้างงานคอนเทนต์ด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด และคุณจะรู้สึกขอบคุณตัวเองที่ได้สร้างสกิลในการหาความรู้ สรุป และอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายนี้ขึ้นมา เพราะมันสามารถนำไปใช้ต่อยอดองค์ความรู้อื่นๆได้อย่างรวดเร็ว

ทิ้งท้ายของการเป็นนักการตลาดที่ดีต้องตั้งอยู่บนศีลธรรม ไม่หลงในเส้นทางสีดำหรือเทา เพราะนั่นอาจทำให้เส้นทางอาชีพคุณไปได้ไม่ไกล ไม่ควรเอาอนาคตมาแลกกับเงิน(จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับอนาคตคุณ)

นักการตลาดที่ดีที่เก่ง ไปไหนใครก็ต้องการ และสามารถอยู่ได้ในทุกอุตสาหกรรม ถ้าคุณเลือกเส้นทางนี้แล้ว มุ่งมั่นทำมันให้ได้ และสู้ต่อไปโดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะเด่น เก่ง หรือนำหน้า เพราะคนที่คุณควรสู้ให้ชนะในแต่ละวัน คือ ตัวคุณในเมื่อวาน แค่ชนะคนเดียวในทุกวัน คุณจะเป็นมืออาชีพได้ไม่ยากแล้วครับ

แล้วคุณล่ะ พร้อมหรือยังที่จะพัฒนาตัวเองสู่การเป็นนักการตลาดที่มีประสิทธิภาพในปี 2021 ?

ตอนนี้ FutureSkill มีโปรโมชันพิเศษ หากคุณกดสมัครเรียนคอร์สออนไลน์ด้านการตลาด เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักการตลาดในปี 2021 รวมถึงคอร์สอื่น ๆ มากกว่า 80+ คอร์สของ FutureSkill ได้ไม่จำกัดทุกคอร์สเรียน เรียนได้ไม่อั้น 1 ปีเต็ม ได้ใบรับรอง Certificate คอร์สเรียนอัปเดตใหม่ทุกเดือน 

ด้วยส่วนลดพิเศษ 50% สำหรับแฟนเพจ The Growth Master เท่านั้น

จากราคา 7,908 บาท เหลือเพียง 3,954 บาท เพียงใส่รหัสคูปอง > FSXGMT50

ขั้นตอนการสมัคร

1. ลงทะเบียนกับทางระบบ FutureSkill ที่ลิงก์นี้ > http://bit.ly/3bXzdj4 

2. เลือกแพ็คเกจที่ต้องการสมัคร ( 1 Year Plan )

3. เลือกวิธีการชำระเงิน

- ชำระผ่านบัตรเครดิต

- ผ่อน 0% 4 เดือน

- ชำระผ่านทางธนาคาร iBanking (สแกน QR code)

หากต้องการความช่วยเหลือหรือมีข้อสงสัยใดสามารถสอบถามทางเจ้าหน้าที่โดยตรงได้ที่ > m.me/futureskill.co

สมัครเรียนตอนนี้ กดที่รูปด้านล่างได้เลย (โปรโมชันพิเศษมีระยะเวลาจำกัด)

เรียนการตลาดออนไลน์



ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เราช่วยธุรกิจของคุณให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม

ติดตามข้อมูลการตลาด
Growth Hacking ได้เลยทีนี่
มากกว่า 2,000 บริษัทติดตาม The Growth Master ตอนนี้
ไปที่หน้า Subscribe