Business

5 สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม! เมื่อทีมของคุณกําลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

5 สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม! เมื่อทีมของคุณกําลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
Light
Dark
Cartoon Tanaporn
Cartoon Tanaporn

มนุษย์เป็ดเขียนคอนเทนต์ ชอบเขียนมากกว่าพูด เสพติดการมองพระจันทร์เป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลในช่วงเวลา Magic Hour ของทุกวัน

นักเขียน

เมื่อธุรกิจหรือสตาร์ทอัปเดินทางมาถึงจุดที่ตัวเองมีผลิตภัณฑ์หรือโปรเจกต์ที่อยู่ในมือเพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญที่มักจะต้องเกิดขึ้นตามมา คือ ต้องมี “การขยายทีม” มีการรับคนที่มีความสามารถ มีคุณสมบัติครบถ้วน และสามารถเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรเราได้ดีเข้ามาเข้างานเพิ่มขึ้น ทำให้มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่องค์กรจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมและไม่ควรมองข้ามสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

เพราะธุรกิจจะโตเร็วหรือช้า นอกจากจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ดี มีกลยุทธ์สุดเจ๋งอยู่ในมือแล้ว ทีมก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่ง “ทีมที่แข็งแรง = องค์กรที่แข็งแกร่ง” ทีมจึงเป็นส่วนทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ส่งเสริมให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ตามมาอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้นสำหรับธุรกิจไหนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และกำลังจะมีแพลนที่จะขยายทีมให้ใหญ่ขึ้น ในบทความนี้เราจะพาคุณไปดู 5 สิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม เมื่อทีมของคุณกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จะมีอะไรกันบ้าง ไปติดตามกันได้เลย

*แนวคิดทุกอย่างจากบทความนี้อาจไม่เหมาะกับทุกบริษัท แต่เป็นสิ่งที่คุณสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางได้

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

“ธุรกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว” ประโยคนี้สื่อถึงอะไรได้บ้าง?

ในช่วงที่ธุรกิจกำลังขยายตัวมักจะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ประกอบการทุกคน เพราะเป็นช่วงที่สามารถแสดงให้คนอื่นเห็นว่า ธุรกิจของเรามีการเติบโตและประสบความสำเร็จขึ้นมาจากเดิมมากขนาดไหน และยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะใช้ดึงดูดนักลงทุนให้เห็นว่าธุรกิจของเรากำลังดำเนินการไปได้สวย อาจมีโอกาสได้ร่วมงานกันในอนาคตก็เป็นได้

ดังนั้นแล้ว ประโยคที่ว่า “ธุรกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว” นั้นก็แปลความหมายไปได้หลายทิศทาง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น

ในอีกทางหนึ่ง การที่ธุรกิจกำลังขยายตัวก็เปรียบเหมือนดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียมากมาย ที่ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจจะต้องเตรียมตัวรับมือและจัดการการเติบโตนั้นเป็นอย่างดี ด้วยกลยุทธ์และวิธีการที่เหมาะสม เพราะถ้าหากไม่มีการเตรียมตัวรับมือให้ดีก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ ตัวอย่างเช่น

  • ด้านการขยายทีม ในเมื่อธุรกิจขยายตัว ก็เท่ากับว่าจำนวนงานเยอะขึ้น ก็ต้องมาพร้อมกับจำนวนคนที่มากขึ้นด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้ถ้างานเยอะขึ้น แล้วจะใช้จำนวนคนเท่าเดิม ดังนั้นบริษัทก็ต้องมีการรับมือกับกระบวนการรับสมัครคนเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น
  • ด้านพาร์ทเนอร์ เมื่อบริษัทของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ บริษัทอาจจะอยากเข้ามาร่วมงานเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย ก็ต้องคอยรับมือในเรื่องการจัดการ Workflow ต่าง ๆ ให้ดูเป็นมืออาชีพที่สุด ไม่ขาดตกบกพร่อง หรือแม้กระทั่งรับมือทางด้านอารมณ์ของคู่ค้า ที่อาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระหว่างการเจรจาธุรกิจด้วย
  • ด้านการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะต้องเตรียมรับมือกับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น เช่น จากที่ปัจจุบันมีการใช้พื้นที่บริษัทเพียงแค่ 200 ตารางเมตร แต่พอขยายทีมเพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่มขนาดให้มีพื้นที่มากกว่า 200 ตารางเมตร (ในอนาคต), เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ด้านเครื่องมือเทคโนโลยี, Software ที่เหมาะสมกับการขยายทีม, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนั้น สำหรับปัจจัยที่คุณจะต้องเตรียมตัวรับมือไม่ใช่มีเพียงเฉพาะปัจจัยที่กล่าวไปเท่านั้น ยังมีปัจจัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะต้องเตรียมตัวอีกมากมาย ซึ่งเราจะขอมาอธิบายปัจจัยหลักที่สำคัญให้คุณฟังในพาร์ทต่อไป

ภาพจาก uhyhn

5 ปัจจัยที่คุณจะต้องเตรียมตัว เมื่อธุรกิจกำลังขยายตัว

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คุณจะต้องเตรียมตัว ในบทความนี้เรายกมา 5 ปัจจัยด้วยกัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยเรื่องของทีม, เครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ในการทำงาน, ทรัพยากรที่จำเป็นต่าง ๆ, เป้าหมายที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับคน ซึ่งแต่ละข้อจะมีรายละเอียด ดังนี้

1. การขยายทีมที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น

อย่างที่เราได้บอกว่าไป “ทีม” เป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และสร้างสรรค์ให้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาอีก ดังนั้นการขยายทีมที่มีความสามารถ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกคนที่ตรงกับความต้องการของบริษัทเป็นอันดับแรก

โดยในข้อนี้เราจะขอยกตัวอย่างเป็นมุมมองของบริษัทเราเอง (ซึ่งการรับคนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ทำให้มุมมองแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับทุกบริษัท)

สำหรับการคัดเลือกคน บริษัทของเราจะเลือกคนที่มี Growth Mindset เป็นอันดับแรก ๆ ส่วนต่อมาเราจะดูว่าคน ๆ นั้นมีวิธีการสื่อสาร, มีความสามารถ หรือคุณสมบัติตรงกับคนที่เราตามหาหรือไม่ และที่สำคัญคือ มี Teamwork Mindset ว่ามีการทำงานร่วมกับทีมเป็นอย่างไร

ถ้าเกิดคนที่สมัครเข้ามา เป็นคนที่มี Fixed Mindset ไม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็ยากที่ทีมจะทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เพราะในมุมบริษัทของเราเป็น “บริษัทที่อยู่ในยุคดิจิทัลที่มีเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทกับการทำงานมากขึ้น รวมถึงปริมาณของคู่แข่งทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ทีมของเราจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และพยายามศึกษาสิ่งที่ทำเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ภาพจาก shutterstock

ดังนั้น คนที่มี Growth Mindset ที่พร้อมจะเรียนรู้และปรับตัวได้กับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เปิดรับแนวคิดมุมมองใหม่ ๆ และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและเรียนรู้ตลอดเวลาจึงเป็นหนึ่งในคุณสมบัติแรก ๆ ที่เราใช้คัดเลือกคนเข้ามาร่วมทีมกับเรา

ถ้าหากคน ๆ นั้นเป็นคนที่ใช่ เป็นคนที่เรากำลังตามหา ก็จะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างการเติบโตไปพร้อม ๆ กับเรานั่นเอง (ระวัง มีโฆษณาคั่น! ตอนนี้ The Growth Master กำลังรับสมัครทีมเพิ่มอยู่นะ ถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดได้ที่ ลิงก์นี้ เลย)

2. การใช้ Tools ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตามขนาดธุรกิจ 

สำหรับข้อต่อมาเป็นข้อที่เกี่ยวกับการนำ Tools หรือเครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน เพื่อสร้างความสะดวกให้มากยิ่งขึ้นในขณะที่ธุรกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

โดยก่อนหน้านี้ ทีมของเรายังเป็นทีมขนาดเล็ก มีจำนวนโปรเจกต์ที่ทำน้อยอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในขณะนั้นมันเหมาะสมและตอบโจทย์ทีมของเราแล้ว แต่พอเมื่อทีมมีการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทมีโปรเจกต์ที่ต้องทำเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซอฟต์แวร์ที่เราเคยบอกว่าดี ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของเราแล้วก็ได้

ตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องมือ Project Management อย่าง Trello ในการทำงานตอนแรก ๆ ซึ่ง Trello ถือเป็นซอฟต์แวร์ที่สตาร์ทอัปมักเลือกใช้เป็นเครื่องมือแรก ๆ ด้วยความที่ใช้งานง่าย ไม่ต้องศึกษาเยอะ แต่ข้อเสียของ Trello คือ สามารถสร้างบอร์ดได้เพียงแค่ 10 บอร์ดเท่านั้น (ในเวอร์ชันฟรี) ซึ่งถ้าหากเป็นบริษัทที่มีโปรเจกต์ที่ต้องทำเยอะหรือมีรูปแบบการทำงานที่นอกเหนือจาก Board View อาจทำให้ Trello กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ตอบโจทย์ในด้านนี้

ภาพจาก trello 

เมื่อเทียบกับสตาร์ทอัปที่เปลี่ยนมาใช้งาน ClickUp เครื่องมือ Project Management ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับบริษัทที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นซอฟต์แวร์ที่มีฟีเจอร์ ลูกเล่นมากมาย และมีความสามารถทำได้หลายอย่าง แถมยังขยันอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย อย่างเช่น 

  • ระบบ Task Management ที่เป็นระเบียบ ทำให้เมื่อบริษัทมีโปรเจกต์ที่ต้องจัดการมากขึ้น ก็สามารถสร้างโฟลเดอร์สำหรับโปรเจกต์นั้น ๆ ได้อย่างง่ายดาย ปรับขนาดธุรกิจได้ทันที ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ตัวอื่น
  • Email ClickApp รับ-ส่งอีเมลได้ในที่เดียว ซึ่ง ClickUp สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอีเมลได้ ทำให้สามารถรับ-ส่งอีเมลได้โดยตรงผ่านแต่ละ Task เพียงแค่กดคอมเมนต์ ไม่ว่าจะพิมพ์ข้อความ, แนบเอกสาร หรือลิงก์ Task แล้วแท็กคนในทีมก็ทำได้ ซึ่งอีเมลต่าง ๆ ที่ส่งไปจะแสดงในรูปแบบ Threaded Comments ช่วยให้คนในทีมสามารถ Tracking การตอบอีเมลได้สะดวกยิ่งขึ้น (ใครที่ต้องติดต่อกับลูกค้าผ่านทางอีเมล ต้องชอบฟีเจอร์นี้อย่างแน่นอน)
ภาพจาก clickup
  • สามารถสร้าง Subtask ภายในการ์ดได้ ถ้าหากเทียบกับ Trello ที่ภายในการ์ดแต่ละการ์ด จะไม่สามารถสร้าง Subtask ได้ ทำได้เพียง Checklist ซึ่งตัว Checklist ก็ไม่สามารถมอบหมายไปเป็นรายบุคคล ทำให้การติดตามงานค่อนข้างยุ่งยาก แต่ ClickUp สามารถทำได้ทั้งสร้าง Subtask, Checklist และอื่น ๆ พร้อมทั้ง Assign งานให้ทีมคนอื่นได้ตามต้องการ ซึ่งสะดวกมาก ๆ
  • การปรับมุมมองได้หลายมุมมอง ไม่เพียงเฉพาะแต่ Kanban Board เหมือนบน Trello เท่านั้น แต่ยังมี List, Gantt, Calendar, Box และอื่น ๆ ซึ่งมุมมองเหล่านั้นสามารถปรับให้เข้ากับแต่ละทีมหรือความถนัดของแต่ละคนได้ ไม่ว่าจะเป็น Designer, Marketer, Product Manager, Developer หรือทีมอื่น ๆ ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามใจชอบ
ภาพจาก clickup

นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมธุรกิจจึงต้องมองหา Tools ใหม่ ๆ ในการทำงาน เพราะเครื่องมือที่ดีควรจะสามารถปรับเปลี่ยนและขยายตามขนาดธุรกิจได้แบบไร้รอยต่อ และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือโยกย้ายเครื่องมือบ่อย ๆ 

สำหรับสตาร์ทอัปไหนที่กำลังตามหาเครื่องมือด้านการจัดการ Project & Task Management สำหรับ ClickUp เองก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ และเหมาะสมอย่างยิ่งกับการปรับขนาดขององค์กร

3. การมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น

ยิ่งธุรกิจมีการขยายตัว มีโปรเจกต์ที่ต้องทำในมือเยอะขึ้น “เป้าหมายที่ชัดเจน” ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ อีกอย่างหนึ่ง เพราะถ้าหากผู้นำไม่สามารถทำให้ทีมเห็นภาพเป้าหมายตรงกันได้ ก็อาจจะสร้างผลกระทบวงกว้างให้กับธุรกิจ

ตัวอย่างเช่น ยิ่งถ้าคุณเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ก็ยิ่งต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว เพราะต้องคอยทำระบบให้มีความเสถียร สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือออกฟีเจอร์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานให้กลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ของเราซ้ำมากขึ้น

แต่เมื่อใดที่ทีมมองภาพเป้าหมายต่างไปในมุมมองของตัวเอง ไม่ได้มองเป้าหมายเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งองค์กร ก็อาจทำให้การสร้างผลิตภัณฑ์ดำเนินไปด้วยความล่าช้าขึ้นกว่าเดิม เพราะทีมแต่ละคนมัวแต่โฟกัสที่เป้าหมายและมุ่งทำงานของตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้มองเป้าหมายของธุรกิจ ซึ่งนั่นอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเดินตามหลังคู่แข่งก็เป็นได้

โดยทริคที่เราแนะนำที่จะทำให้ทีมมองภาพเป้าหมายเป็นภาพเดียวกันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น (เป็นทริคที่บริษัทของเราใช้อยู่ และไม่ใช่ว่าทุกบริษัทเหมาะกับการทำแบบนี้) คือ การหั่นเป้าหมายใหญ่ ๆ ออกมาเป็นภาพเล็ก ๆ เช่น อาจจะเล่าภาพรวมใหญ่ให้คนในทีมฟังก่อนว่าโปรเจกต์หรือแคมเปญที่เรากำลังทำอยู่มีรายละเอียดเป็นอย่างไร แล้วค่อยหั่นเป้าหมายรายเดือนออกมาเป็นรายสัปดาห์ 

การทำแบบนี้ก็จะทำให้ทีมแต่ละคนรู้ว่างานต้องทำในสัปดาห์นี้มีอะไรบ้าง เมื่อทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ว่าบริษัทมีจุดมุ่งหมายอะไร จากนั้นก็ให้นำภาพรายละเอียดนั้นมาแสดงในที่ที่ทุกคนสามารถมองเห็น ได้อย่างชัดเจน และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย

อย่างเช่น บริษัทของเราใช้ ClickUp ในการวางแผนภาพใหญ่ รวมถึงงานที่ต้องทำแยกย่อยในแต่ละสัปดาห์ ส่วนในการคุยกับทีมเป็นรายสัปดาห์ อาจนำเสนอโดยใช้ Coda ในการคุยกับทีมในทุก ๆ เช้าวันจันทร์ (ในช่วง Daily Standup) เป็นต้น

Checklist บน Coda ที่ทีมเราใช้คุยกันรายสัปดาห์

ซึ่งนี่นอกจากจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้บริษัทไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ยังทำให้ทีมเห็นเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และตรงตามความต้องการของบริษัทนั่นเอง

4. “เงิน” ทรัพยากรสำคัญในบริษัท

แน่นอนว่าเมื่อทีมมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกหนึ่งปัจจัยที่บริษัทจำเป็นต้องให้ความสนใจ ต้องคอยควบคุมและจัดการอย่างสม่ำเสมอ คือ เรื่องของ “เงิน” หรือ “งบประมาณ” สำหรับใช้จัดการทรัพยากรต่าง ๆ ภายในองค์กร 

เพราะจริง ๆ แล้วในแต่ละช่วงของธุรกิจ เราจะมีการแบ่งเงินไม่เท่ากันในแต่ละพาร์ทอยู่แล้ว เช่น ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ คุณอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการเช่าพื้นที่ออฟฟิศมากนัก เพราะทีมยังเล็กอยู่ แต่ไปให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์ที่ทำให้ทีมทำงานได้มากขึ้นแทน 

กลับกันเมื่อเริ่มธุรกิจมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ทีมมีการขยายใหญ่กว่าเดิม คุณก็อาจจะไปลงทุนกับการเช่าออฟฟิศมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสำหรับการแบ่งงบประมาณในแต่ละส่วน คุณต้องมีการจัดการให้ดี โดยคุณอาจจะลองแบ่งการใช้จ่ายออกมาเป็นพาร์ทต่าง ๆ ดังนี้

  • Short-term Strategy - การนำเงินมาทำการโฆษณา, จัดอีเว้นท์, จัดโปรโมชัน, Giveaway, โปรโมตด้วย KOL เพื่อทำให้ธุรกิจหรือแคมเปญเป็นที่รู้จัก ให้ลูกค้ามี Engagement และเพิ่ม Traffic ให้กับธุรกิจมากยิ่งขึ้นในช่วงแรก ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นธุรกิจให้มียอด Conversion บางอย่างเกิดขึ้นในระยะสั้น รวมถึงมี Cash Flow ที่ดี สามารถนำมาใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ได้ รวมถึงเป็นต้นทุนในการสร้างแผนระยะยาว (Long-term) ให้กับธุรกิจต่อไป
  • Long-term Strategy - การวาง Roadmap การเติบโตของบริษัทในอีก 5-10 ปี ไม่ว่าจะเป็น ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development), การลงทุนในนวัตกรรม, การลงทุนใน Ecosystem ของธุรกิจ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญมาก ๆ เพราะมีผลต่อความมั่นคงในระยะของบริษัท เช่น ถ้าหากเราลงทุนในส่วนนี้น้อยเกินไป บริษัทก็อาจเติบโตได้ไม่ยั่งยืน รวมถึงอาจเจอสงครามราคากับคู่แข่ง จนทำให้โดนกินส่วนแบ่งตลาดไปเลย แต่หากลงทุนในส่วนนี้เยอะเกินไป ก็จะไม่มีเงินไว้ใช้สำหรับแผนระยะสั้น (Short-term) เป็นต้น
ภาพจาก europa
  • Hiring - ในการจ้างพนักงานหนึ่งคนอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ถ้าหากว่าบริษัทหาคนเอง ก็อาจจะมีการยิง Ads เพื่อให้ไปตรงกับกลุ่ม Target คนที่เราต้องการ หรือในอีกกรณีหนึ่ง ถ้าหากว่าบริษัทมีการไปจ้าง Headhunter (บริษัทจัดหางานที่เป็น Outsource) ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย
  • Team Benefits - การให้เงินเดือนพนักงาน, การให้เวลาพวกเขาได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ, การลงทุนในตัวพวกเขา ทั้งด้านความรู้ อัปสกิลใหม่ ๆ, การจัดอีเว้นท์สร้างความสุขให้กับพวกเขา รวมถึงด้านอุปกรณ์ที่ช่วยให้ทีมทำงานสะดวกยิ่งขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์, Laptop หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ซึ่งถ้าหากบริษัทลงทุนในส่วนนี้น้อยเกินไป พนักงานก็จะคิดว่าบริษัทไม่เห็น Value ในตัวพวกเขา ผลที่ตามมาคือ เราไม่สามารถทำให้คนที่มีความสามารถอยู่กับเราได้ (Turnover Rate ก็จะสูง) และถ้าหากบริษัทขาดคนที่มีความสามารถเหล่านั้นไป อัตราการเติบโต (Growth Rate) ของบริษัทก็จะต่ำลงไปด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ก็มีบางครั้งที่ถึงแม้บริษัทจะลงทุนกับตัวพนักงานคนนั้น แต่ก็ไม่สามารถดึงเขาให้อยู่กับเราได้ เราก็ต้องมีการลงทุนกับคนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทำให้บริษัทก็ต้องมีงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มเข้ามาอีก
  • Others - การเช่าออฟฟิศ, ซอฟต์แวร์ หรือเงินที่ใช้ในยามฉุกเฉิน เราก็ควรต้องมีการแบ่งสรรปันส่วนในพาร์ทนี้ให้ดี เช่น ถ้าหากเราไม่มีการลงทุนในออฟฟิศ ก็อาจทำให้บริษัทขาดโอกาสทางธุรกิจ (ไม่มีที่นัดคุยนักลงทุนหรือลูกค้าเป็นหลักแหล่ง) แต่กลับกัน ถ้าเราลงทุนกับออฟฟิศมากเกินไป ก็อาจไปรบกวนเงินด้านอื่น ๆ เช่น ไม่มีเงินไปลงทุนซื้อซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ให้ทีมใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ หรือถ้าหากไม่มีเงินเก็บไว้ยามฉุกเฉิน เวลาที่บริษัทต้องการเงินในช่วง Scale ธุรกิจจริง ๆ ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

ดังนั้นเรื่องเงินจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บริษัทต้องคอยควบคุมในส่วนนี้ให้ดี เพราะถ้าควบคุมไม่ดีก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นมาระหว่างการทำงาน จนต้องทำให้ไปรบกวนงบประมาณอีกก้อนหนึ่งมาใช้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มันอาจจะทำให้แพลนการทำธุรกิจในส่วนอื่น ๆ ที่วางไว้คลาดเคลื่อนไปด้วยนั่นเอง เพราะฉะนั้นเงินก็เป็นทรัพยากรสำคัญภายในบริษัทที่จะต้องมีการวางแผนรับมือเป็นอย่างดี

5. ลงทุนและให้เวลากับ “คน”

หากคุณเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือดิจิทัลเป็นหลัก “คนในทีม” คือ สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องให้เวลาและทรัพยากรที่มากพอกับพวกเขา เพื่อส่งเสริมให้พวกเขามีการเรียนรู้ที่รวดเร็วและมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน ถ้าจะให้พูดกันตามตรงพนักงานใน Gen ใหม่นี้ มักจะคอยมองหา Work-Life Balance ไปพร้อม ๆ กับความรู้และโอกาสใหม่ ๆ มากกว่าคนรุ่นก่อน ดังนั้นในการสร้างทีมให้เขาอยู่กับเรานาน ๆ เราก็ต้องทำให้พวกเขาเห็นว่าเราเห็นใน Value ในตัวพวกเขาด้วยเหมือนกัน เราจึงจำเป็นต้องมีคนที่พร้อมช่วยเหลือและถ่ายทอดทักษะ สกิลใหม่ ๆ ให้พวกเขาอยู่เสมอ รวมถึงให้โอกาสในการเติบโตที่ชัดเจนกับพวกเขาด้วย (อ้างอิงจากข้อที่ 4)

ถ้าหากบริษัทรับคนที่เราคิดว่าเขาจะสามารถเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทางที่ดีขึ้นได้แล้ว เราก็ยิ่งต้อง ‘กล้า’ ลงทุนในทุก ๆ ส่วนที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งเก่งขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น การให้โอกาสพวกเขาได้พิสูจน์ฝีมือ สนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ได้ทดลองในสิ่งที่พวกเขาอยากทำอยู่เสมอ คุณจะสังเกตได้ว่าคน ๆ นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองได้รวดเร็วมาก ๆ (มากกว่าการที่เราจำกัดให้พวกเขาอยู่แต่ในกรอบ)

ภาพจาก elearningindustry

เพราะถ้าหากพวกเขาได้ลงมือทำจริง ได้ทดลองเลยว่าสิ่งที่คิดอยู่มันจะได้ผลตอบรับที่ดีจริงหรือไม่ (ไม่ใช่ให้เขามัวแต่วาดภาพผลลัพธ์ขึ้นมาเอง) พวกเขาก็จะได้เรียนรู้จากความสำเร็จหรือความผิดพลาดของตัวเอง เมื่อเขารู้ว่าสิ่งที่ทำออกมามันได้ผลตอบรับดี หรือสิ่งที่ทำออกไปแล้วมันผิดพลาดไม่เป็นเหมือนที่คิดไว้ เขาก็จะเรียนรู้จากผลลัพธ์เหล่านั้น แล้วนำไปต่อยอดหรือมุ่งมั่นแก้ไขทำผลลัพธ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมยิ่งไปอีก

นอกจากนั้น การให้ความเป็น Ownership ในงานนั้น ให้เขาเป็นคนดูแลงานนั้นเอง ก็จะยิ่งทำให้เขาจะรู้สึกว่าเขาต้องทำงานนั้นออกมาให้ดีที่สุด เขาก็จะตั้งใจทำงานนั้นมากยิ่งขึ้น เพราะเขาจะต้องรับผิดชอบงานนั้นทุกอย่างด้วยตัวเองทุกขั้นทุกตอน มีส่วนร่วมในทุก ๆ กระบวนการของโปรเจกต์นั้น ซึ่งสิ่งที่เขาทำออกมาจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาภูมิใจว่า “เราก็ทำได้เหมือนกันนี่นา”

ดังนั้นเชื่อเราเถอะว่า การที่บริษัท ‘กล้าลงทุนและให้เวลากับคน’ ไม่ว่าจะเป็นด้านเวลา สกิล และสนับสนุนให้พวกเขาได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องการอย่างเต็มที่ ก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับองค์กรก็เป็นได้ (สิ่งแปลกใหม่ที่พวกเขาได้ทดลองทำในวันนั้น อาจจะกลายเป็นนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงของบริษัทในอนาคตก็เป็นได้)

สรุปทั้งหมด

ในช่วงธุรกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจัยต่าง ๆ ที่เรากล่าวไปข้างต้นก็เป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับคนในทีม ตั้งแต่การคัดเลือกพวกเขาเข้ามา ไปพร้อมกับการสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำงาน หรือเครื่องมือเทคโนโลยีดี ๆ และมีประสิทธิภาพให้พวกเขาในการทำงาน

เพราะเราเชื่อว่าถ้าคุณขยายทีม มีคนที่ใช่ มีคนที่มีความสามารถเพียบพร้อมตามที่คุณต้องการแล้ว แต่ถ้าไม่สามารถซัพพอร์ตพวกเขาในด้านปัจจัยอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี ก็อาจทำให้การทำงานในทีมของคุณไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และไม่เป็นไปตามต้องการในช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นบริษัทจะเติบโตและแข็งแรงได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามเลย


Source: wjamesventures



ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เราช่วยธุรกิจของคุณให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม

ติดตามข้อมูลการตลาด
Growth Hacking ได้เลยทีนี่
มากกว่า 2,000 บริษัทติดตาม The Growth Master ตอนนี้
ไปที่หน้า Subscribe