5 เหตุผลว่าทำไมองค์กรของคุณควรปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital Transformation ในปี 2021

5 เหตุผลว่าทำไมองค์กรของคุณควรปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital Transformation ในปี 2021
Light
Dark
Cartoon Tanaporn
Cartoon Tanaporn

มนุษย์เป็ดเขียนคอนเทนต์ ชอบเขียนมากกว่าพูด เสพติดการมองพระจันทร์เป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลในช่วงเวลา Magic Hour ของทุกวัน

นักเขียน

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าก็ไม่มีอะไรทั้งนั้นที่สามารถเข้ามาขวางกั้นการเติบโตนั้นได้ และนี่ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายหลักสำหรับทุกองค์กรในปี 2021 นี้ด้วย

เพราะฉะนั้น แม้จะเห็นว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์โลกอย่างชัดเจน ถ้าธุรกิจต่าง ๆ ยังคงหยุดนิ่ง ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย ก็อาจจะสร้างผลเสียให้กับธุรกิจในอนาคตได้ จากการสำรวจของ Gartner กล่าวว่ามี 37% ขององค์กรที่ทำการสำรวจมายังไม่ได้คำนึงถึงและวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนองค์กรเลย (นับว่าอันตรายมาก)

สำหรับองค์กรที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี เราอยากจะบอกคุณว่า ไม่แน่นะ "คุณกำลังจะกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลังในไม่ช้านี้ และมีโอกาสสูงมาก ๆ ที่คุณจะถูกคู่แข่ง (ที่กำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ) เข้ามา Disrupt และถูกกลืนหายไปในที่สุดก็ได้"

ดังนั้น หากคุณยังต้องการที่จะแข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ ในตลาดเดียวกันนี้อยู่ คุณต้องรีบเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เข้ากับยุค Digital Transformation อย่างเร่งด่วนเลย

บทความนี้เราจะมาอธิบายให้ชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) มีความหมายต่อธุรกิจของคุณอย่างไร และทำไมคุณจึงควรใส่ใจมันก่อนที่จะสายเกินไป

ภาพจาก xtrategy


ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

Digital Transformation คืออะไร?

Digital Transformation คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจที่มีอยู่ (หรือสร้างกระบวนการใหม่ทั้งหมด) เพื่อปรับให้เข้ากับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราจะคิดทบทวนทุกสิ่งที่ทำ ตั้งแต่รากฐาน กระบวนการทำงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพภายในองค์กรของเราด้วย

ย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจส่วนใหญ่มักจะใช้การบันทึกข้อมูลทั้งหมดลงบนกระดาษ ต่อมา เมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราก็เปลี่ยนไปใช้ Spreadsheets กัน จนตอนนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีธุรกิจไหนเลยที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ SaaS* บนระบบ Cloud ในกระบวนการทางธุรกิจต่าง ๆ นี่ก็เป็นหนึ่งในผลพวงที่ตามมาของ Digital Transformation จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

*SaaS (Software-as-a-Service) คือ บริการด้านซอฟต์แวร์บนระบบ Cloud ที่ช่วยให้เราเข้าถึงโปรแกรมต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ เช่น Google Drive, Dropbox, Microsoft Office 365
ภาพจาก information-age


ตัวอย่างองค์กรที่ทำ Digital Transformation จนกลายเป็นธุรกิจชั้นนำของโลก

ในปี 2019 Harvard Business Review ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “The Top 20 Business Transformations of the Last Decade” โดยจัดอันดับ 20 บริษัทที่ทำ Digital Transformation ที่ดีที่สุดในโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีตัวชี้วัดที่ประกอบไปด้วย

New Growth : วัดจากการเติบโตใน “New Growth Area” ธุรกิจที่เกิดจากการพัฒนาสินค้าและบริการ ตลาดใหม่ รวมไปถึงโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย และวัดผลจากรายได้การเงินที่เติบโตขึ้นจาก New Growth Area นั้น ๆ นอกเหนือจากธุรกิจหลักดั้งเดิม ซึ่งกลายเป็นส่วนแบ่งที่สำคัญของธุรกิจโดยรวม

Repositioning the Core : วัดจากความสามารถในการปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ของบริษัท เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจเดิมที่มีอยู่ และสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นใหม่ในตลาดหรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ 

Financials : วัดจากผลดำเนินการของธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งด้านการเงินและตลาดหุ้น อีกทั้งความสามารถในการพลิกฟื้นธุรกิจจากเดิมที่เคยขาดทุนหรือมีการเติบโตต่ำให้สูงขึ้น หรือกลับมาเป็นผู้นำในตลาดนั้น ๆ ได้

ซึ่ง The Growth Master จะขอหยิบยกตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจชั้นนำที่เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักกันมาให้ทุกคนดูการเปลี่ยนแปลงนี้กัน ไปดูกันเลย

ภาพจาก fintechnews


Netflix จากร้านเช่าวิดีโอสู่บริการสตรีมมิ่งวิดีโอ

Netflix คือ บริการด้านสตรีมมิ่งวิดีโอคอนเทนต์ความบันเทิงครบรส ที่มีตั้งแต่ภาพยนตร์ ซีรีส์ ละคร สารคดี หรือแอนิเมชั่น ย้อนกลับไปเมื่อก่อน เขาเป็นเพียงแค่ธุรกิจร้านเช่าวิดีโอ ที่ให้ลูกค้าส่งคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ต และจัดส่ง DVD ทางไปรษณีย์เท่านั้น 

ภาพจาก lcdtvthailand

แต่ต่อมาเขาเกิดไอเดียทำระบบ Subscription ขึ้นมา ทำให้มีผู้คนสนใจจำนวนมาก และได้นำกิจการของตัวเองเข้าตลาดหุ้น จนสามารถโค่นธุรกิจ Blockbuster ร้านเช่าวิดีโอขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาให้ล้มลงอย่างไม่มีวันย้อนกลับมา

จากเหตุการณ์ของ Netflix เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ Netflix จะมีผู้ใช้งานแบบจ่ายเงิน (Paid Subscribers) 

กว่า 300,000 คน ในการเช่า DVD และนำตัวเองเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้นแล้ว เขาก็ยังพยายามปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้งระบบและคอนเทนต์อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ธุรกิจตัวเองดียิ่งขึ้นไปอีก 

จนอย่างที่รู้กันว่าในปัจจุบัน Netflix กลายเป็นผู้นำในบริการด้านสตรีมมิ่งวิดีโอ รวมไปถึงการผลิต Original Content ระดับโลก ที่มีผู้ใช้งานแบบจ่ายเงินทั่วโลกทะลุกว่า 195 ล้านคนและไม่มีคู่แข่งคนไหนมาล้มได้อีกด้วยในตอนนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาพจาก netflix


Adobe จากบริการด้านซอฟต์แวร์สู่การเป็น SaaS (Software-as-a-Service)

สำหรับธุรกิจหลักของ Adobe เดิมที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายระบบซอฟต์แวร์เอกสารและการสร้างสรรค์ ที่เราคุ้นเคยกันดีในสายงานกราฟิก รูปภาพ หรือวิดีโอ เช่น Adobe Photoshop, Adobe Illustrator, Adobe Lightroom, Adobe Premiere Pro และอื่น ๆ อีกมากมาย

โดยเมื่อก่อน Business Model ของ Adobe จะเป็น Adobe Creative Suite (CS) คือ จ่ายเงินครั้งเดียวสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้ตลอดเลย แต่ข้อเสีย คือ ต้องซื้อซอฟต์แวร์แยกตามความต้องการในการใช้งานของเรา ทำให้มีราคาสูงมาก ถ้าอ้างอิงจากตัว Adobe CS6 Master Collection มีราคาหลายหมื่นบาทเลยทีเดียว (ถ้าใครที่ไม่ใช่สายกราฟิก ซื้อมาใช้งานไม่กี่ครั้ง เรียกว่าไม่คุ้มเลย)

ภาพจาก marketingoops


แต่ภายหลัง Adobe ได้เปลี่ยนตัวเองมาสู่ Adobe Creative Cloud (CC) เป็นแบบ Subcription ซึ่งข้อดี คือ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้หลายซอฟต์แวร์ โดยจ่ายในราคาที่ถูกกว่าแบบ Adobe CS ด้วยราคาเริ่มต้นที่เดือนละ 350 บาท (ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจที่เราเลือกใช้ด้วย)

ภาพจาก filmeditingpro

นอกจากนั้น Adobe เองก็ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้นำในการให้บริการด้านต่าง ๆ ผ่านในรูปแบบ Cloud Computing อีกด้วย อย่างในด้านของ Digital Experiences, Marketing, แพลตฟอร์ม E-Commerce และ Analytics ด้วยโมเดล Subscription เช่น Adobe Marketing Cloud หรือ Magento เป็นต้น

เราจะเห็นได้ว่า เมื่อก่อนถึงแม้ว่าตัว Adobe จะเป็นผู้ให้บริการทางด้านเป็นซอฟต์แวร์อยู่แล้ว แต่องค์กรก็ปรับวิธีคิดว่าในอนาคตมันควรเข้าสู่ระบบ Cloud จนเกิดเป็นรูปแบบ SaaS อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ภาพจาก zdnet


Amazon จากร้านค้าออนไลน์สู่ IaaS (Insfrastructure-as-a-Service)

จากการเป็นร้านขายหนังสือออนไลน์ร้านแรก ๆ ของโลก สู่การเป็นแพลตฟอร์มร้านค้าช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของโลก 

ต่อมา Amazon ก็ได้ให้บริการ Amazon Web Services (AWS) ที่เป็นแพลตฟอร์มระบบ Cloud สาธารณะและบริการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อีกด้วย ซึ่งบริการนี้เกิดมาจากการที่ Amazon ได้พบปัญหาในการขยายขนาดระหว่างที่กำลังพัฒนาบริการแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่

ทำให้ Amazon ต้องวาง Database และรื้อโครงสร้างซอฟต์แวร์ใหม่ทั้งหมด (จากเดิมที่เป็นแบบ Monolithic มาเป็น Microservices) เมื่อ Amazon ปรับโครงสร้างของตัวเองสำเร็จ บริษัทก็เริ่มเปิดให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (Infrastructure) และระบบการจัดเก็บข้อมูลขององค์กร (Storage) เพื่อรองรับการใช้งานซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันให้กับกิจการเทคโนโลยีอื่น ๆ

จนปัจจุบัน AWS กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักของ Amazon หรือที่เราเรียกว่า IaaS นั่นเอง และสร้างกำไรจำนวนมหาศาล ซึ่ง Amazon เองก็ต่อยอดธุรกิจด้วยการสร้าง Ecosystem ของตัวเองที่ประกอบไปด้วยสินค้าและบริการต่าง ๆ อีกมากมายอีกด้วย

ภาพจาก dunhamconnect


5 เหตุผลว่าทำไมองค์กรของคุณควรปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital Transformation ในปี 2021

เราจะเห็นได้ว่าตัวอย่างบริษัทที่เรายกมาให้ดูข้างต้นนั้น พวกเขาต่างก็เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำธุรกิจในช่วงแรกอยู่แล้ว แต่ว่าองค์กรของเขาก็ยังคงนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดการทำงานให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้จำนวนมหาศาลแก่บริษัทมากขึ้นไปอีก 

แล้วใครก็ตามที่ยังไม่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในองค์กร เริ่มเห็นมุมมองและข้อดีของ Digital Transformation แล้วหรือยัง? ถ้ายัง เราจะมาบอก 5 เหตุผลว่าทำไมคุณจึงควรหันมาใส่ใจเทคโนโลยีกันมากขึ้น

1. เพื่อประสบการณ์ของลูกค้าที่ดีขึ้น (Customer Experience : CX)

ความคาดหวังของลูกค้าจะสูงขึ้นมาก เมื่อมันกลายมาเป็นประสบการณ์ที่พวกเขาจะได้รับเอง 

ในปัจจุบันลูกค้าแทบทุกคนมักจะมีตัวเลือกมากมายที่ธุรกิจต่าง ๆ แข่งกันมอบให้พวกเขา เช่น โปรโมชั่น, ของแถมล่อลวงใจ, ราคาสินค้าที่ถูก หรือการจัดส่งที่รวดเร็ว เป็นต้น นั่นเป็นเพราะว่าการทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดี คือ สมรภูมิรบแห่งใหม่ของการแข่งขันทางธุรกิจนั่นเอง

มากกว่า 2 ใน 3 ของธุรกิจต่าง ๆ บอกว่า พวกเขาแข่งขันกันที่ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ - Gartner

ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจลูกค้าได้มากกว่าเดิม ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากเครื่องมือต่าง ๆ เช่น GoogleAnalytics, AdobeAnlytics และอื่น ๆ โดยเราสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับใช้ เพื่อปรับปรุงการใช้งาน มอบข้อเสนอ หรือบริการให้เหมาะสมกับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายได้

ประสบการณ์ของลูกค้ากลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ถ้าคะแนน CX มีค่าเพิ่มขึ้นเพียงจุดเดียว ก็สามารถส่งผลให้ธุรกิจมีการเติบโตต่อปีได้หลายล้านดอลลาร์เลยทีเดียว -  Accenture



ภาพจาก cdsdigitalconsulting


2. ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น

แรงกดดันจากการแข่งขันทางการตลาดก็เป็นสาเหตุหลักของ Digital Transformation ของธุรกิจต่าง ๆ เหมือนกัน โดย 70% ขององค์กรที่ ITProPortal ทำการสำรวจมา พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของธุรกิจเหล่านั้นเชื่อว่า คู่แข่งของพวกเขาจะใช้โอกาสนี้ช่วงชิงลูกค้าจากพวกเขา หากพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการทำ Digital Transformation

ซึ่งคำกล่าวนั้นมันก็จริง เพราะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการธุรกิจของคุณ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้จำนวนมาก จนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและคว้าส่วนแบ่งทางการตลาดมาได้ในที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น การรวมศูนย์ Data ขององค์กรให้อยู่ที่เดียวกัน ทำให้ทีมทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ นอกจากนั้นยังสามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ เช่น การแชร์ข้อมูลระหว่างทีมขาย ทีมการตลาด หรือทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์

แล้วเราจะเห็นว่าแค่เรานำเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนเพียงเรื่องเดียวก็สามารถทำให้องค์กรขยับไปในทิศทางที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนการทำงานในจุดอื่น ๆ ที่ช่วยให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวมากกว่านี้อีกนะ รับรองว่าเราสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดอย่างแน่นอน

ภาพจาก awhitney


3. ช่องทางการหารายได้ใหม่

เหตุผลอีกข้อนึงเมื่อเรานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ นั่นคือ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้ใหม่และเพิ่มผลกำไร ซึ่งจากการรายงานของ SAP Center for Business Insights and Oxford Economics กล่าวว่า

  • 80% ขององค์กรที่ทำ Digital Transformation เสร็จแล้วมีกำไรเพิ่มขึ้น
  • 85% กล่าวว่าพวกเขาได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น
  • โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้นำขององค์กรคาดหวังว่ารายได้จะเติบโตสูงกว่าคู่แข่งถึง 23%

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพของ Digital Transformation ชัดขึ้นอีกนิด ขอยกตัวอย่างในช่วงที่ Covid-19 ระบาดในปี 2020 ที่ผ่านมา แม้ว่าเรารู้อยู่แล้วแหละว่า ในอนาคตธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อยู่ดี แต่ว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้โลกของเราเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วกว่าเดิม

จากร้านค้าทั่วไปที่ไม่เคยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานเลย พอเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการ Lockdown ทำให้ทุกคนไม่สามารถเดินทางออกไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน หรือแม้แต่ออกไปเดินเล่นตามห้างหรือร้านค้าต่าง ๆ ได้ ก็หันมาเปลี่ยนตัวเองเป็นร้านค้าออนไลน์และใช้ระบบเดลิเวอรี่แทน เพราะมันเป็นวิธีรอดหนทางเดียวที่ทำให้เราติดต่อกับลูกค้าและหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ 

และเมื่อถ้าวิกฤตโรคระบาดสงบลงแล้ว ธุรกิจของเราอาจจะเปลี่ยนเป็นแบบใหม่โดยไม่มีวันย้อนกลับมาเลยก็ได้ จากหน้าร้านมาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยทำงานแทนเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วันเลย และวัดผลได้อย่างชัดเจนในทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นทั้งงานหน้าบ้านหรือหลังบ้าน เรียกได้ว่าธุรกิจของเราเติบโตและทำรายได้เพิ่มขึ้นมาอย่างแน่นอน

ภาพจาก fixlastmile


4. เพิ่มความคล่องตัวในการทำงานขององค์กรมากขึ้น

เหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ก็กลายเป็นอีกหนึ่งแบบทดสอบชั้นดีในการทดสอบว่าองค์กรไหนบ้างที่มีความคล่องตัวในการทำงาน เชื่อว่าองค์กรด้านเทคโนโลยีเป็นธุรกิจที่ปรับตัวได้ดีและรวดเร็วกว่าธุรกิจไหน ๆ แน่นอน เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่แล้ว

จากการที่ต้อง Work From Home กัน ก็ทำให้แทบทุกองค์กรต่างสรรหาวิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเดินต่อไปได้ เช่น การใช้ Zoom หรือ Google Meet เข้ามา Video Conference กับทีมงานหรือลูกค้า เป็นต้น

ภาพจาก mip


การมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกันขององค์กร จะทำให้ขั้นตอนการทำงาน (Workflow) มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากการที่ทำงานด้วยมือ (Manual) มาใช้เทคโนโลยีแบบอัตโนมัติ (Automation) จะทำให้สามารถลดความผิดพลาดของมนุษย์ และลดเวลาในการทำงานที่ไม่จำเป็นลงไปได้

จากการวิจัยของ NuoDB พบว่า 68% ของบริษัทต่าง ๆ มองว่าความคล่องตัวทางธุรกิจเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของการทำ Digital Transformation

ภาพจาก liquidplanner

เราขอยกตัวอย่าง การนำระบบ Cloud เข้ามาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลขององค์กร (เช่น Google Drive, Dropbox) จะทำให้ทีมงานแต่ละคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ทุกเวลา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม และระบบนี้ก็มีความปลอดภัยสูงอีกด้วย ไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลจะรั่วไหลไปได้

หรือการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีด้าน Management ต่าง ๆ อย่าง Clickup เข้ามาช่วยจัดการให้ระบบการทำงานขององค์กรที่กระจัดกระจายไปทั่วให้เป็นระเบียบมากขึ้น, Slack ที่ช่วยให้คนในทีมสามารถสื่อสารกันได้อย่างลงตัว และมีฟีเจอร์มากมายพร้อมสำหรับการทำงาน เป็นต้น

ซึ่งถ้าองค์กรของคุณได้ลองนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้แล้ว รับรองว่าองค์กรของคุณมีความคล่องตัวขึ้นอย่างแน่นอน และจะลืมการทำงานแบบเก่าไปเลย

5. ลดต้นทุนการดำเนินงาน

นอกจากเทคโนโลยีจะทำให้องค์กรทำงานคล่องตัวแล้ว ก็ยังสามารถทำให้ลดต้นทุนการดำเนินการไปได้อีกด้วย เช่น ลดต้นทุนการเดินทาง, ความล้ำสมัยในการจัดเก็บข้อมูล (Data storage) ช่วยลดค่าบำรุงรักษาเซิร์ฟเวอร์ได้ อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างมนุษย์ เพราะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานแทนได้ อย่างการคำนวณหรือการผลิตสินค้า

ภาพจาก envato


อ้าว ในเมื่อเรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มันจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลยเหรอ?

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว Digital Transformation จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง แต่ในระยะยาวอาจจะมีรายการค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่องค์กรก็ควรเตรียมไว้ เช่น การจ้างทีมงานใหม่ขึ้นมาเพื่อดูแลโดยเฉพาะ, ค่าใช้จ่ายในการย้ายข้อมูลไปยังระบบ Cloud, ค่าพื้นที่เก็บข้อมูลบน Cloud และ Hosting หรือการสมัครสมาชิกผลิตภัณฑ์แบบ SaaS เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าองค์กรมีการวางแผนจากทีมที่ดีไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างทีมเองในองค์กร หรือจ้างแบบ Outsource ให้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาและดูแลด้านเทคโนโลยี แต่ราคาที่เราจ่ายไปในวันนี้ มันจะกลายเป็นผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวกลับมาอย่างแน่นอน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : 

สรุปทั้งหมด

แน่นอนว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป เราก็ยิ่งต้องเจอกับความท้าทายใหม่ ๆ อยู่เสมอ ลองมองย้อนไปเมื่อ 10-15 ปีก่อน ในวันที่เครื่องถ่ายเอกสารมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับองค์กร แต่ตอนนี้กลับถูกลดบทบาทลง เนื่องจากเอกสารต่าง ๆ เริ่มกลายเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และอยู่บน Cloud ถ้าองค์กรของเรายังมัวแต่ใช้เครื่องถ่ายเอกสารออกมาเป็นรูปแบบกระดาษอย่างเดียว อีกหน่อยเราอาจจะตามองค์กรอื่นไม่ทันแล้วก็ได้ 

อนาคตต่อจากนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่าธุรกิจไหนจะอยู่หรือไป สิ่งที่เราทำได้เพียงตอนนี้ คือ ควรเริ่มศึกษา ปรับตัว หาวิธีทางที่จะลองนำเทคโนโลยีเข้ามามาปรับใช้งานกับองค์กรมากขึ้น และ ‘พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง’ เพื่อประโยชน์ที่ดีแก่ธุรกิจและทีมงานของคุณเอง มิเช่นนั้น องค์กรของคุณอาจถูกกลืนหายไปกับ Digital Transformation ก็ได้ใครจะรู้

เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราก็อยากทิ้งคำถามไว้ให้คุณลองตอบกับตัวเองว่า

คุณเริ่มมองเห็นข้อดีของเทคโนโลยีแล้วหรือยัง?

และถ้าหากใครที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ E-Commerce คุณสามารถเข้าไปดูเครื่องมือดี ๆ ที่เราได้เคยแนะนำไว้แล้วในบทความ 21 Tech Stack ที่ธุรกิจ E-Commerce ควรมีในปี 2021 ได้นะคะ หรือถ้าใครอยากได้ที่ปรึกษาไว้สำหรับปรึกษาเรื่องซอฟต์แวร์ต่าง ๆ The Growth Master ก็มีบริการ Business Tech Stack Consulting Service ให้ สามารถเข้ามาพูดคุยสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในองค์กรได้ ที่นี่

มาปรับเปลี่ยนองค์กรของคุณให้เป็นองค์กรที่ดีขึ้นกันนะคะ :-)

Source : easternpeak, acquire, hbr, medium


ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe