ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้คนและเทคโนโลยีไม่ได้มีอิทธิพลกับแค่ธุรกิจเท่านั้น แต่กับการทำงานในองค์กรก็ได้รับอิทธิพลมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและพฤติกรรมของพนักงานทุกคนในองค์กรด้วยเช่นกัน
โดยเราจะสังเกตได้ว่าปัจจุบันเทรนด์การทำงานรูปแบบเดิมจะค่อย ๆ หายไป สังเกตได้จากที่ตอนนี้หลายบริษัทมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบ Hybrid Working มากขึ้น ซึ่งทำให้พนักงานเลือกได้เองว่าจะเข้าออฟฟิศหรือไม่เข้าก็ได้
แต่เทรนด์การทำงานก็ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะยังมีเทรนด์การทำงานแบบใหม่อีกมากมายที่เกิดขึ้นมา ในบทความนี้เราก็ได้รวบรวม 7 เทรนด์การทำงานแห่งอนาคตที่น่าสนใจในยุค New Normal มาให้กัน
Hybrid Working
ไม่พูดถึงไม่ได้เลยกับเทรนด์ที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 คือ การทำงานแบบ Hybrid Working ซึ่งพนักงานจะสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานจากทางไกล (Remote Working), ทำงานในออฟฟิศเต็มเวลา หรือจะทำงานแบบผสมผสานทั้งสองรูปแบบด้วยความยืดหยุ่นก็ได้
โดยมีผลการรายงานจาก CIPD ระบุว่า 40% ของนายจ้างกล่าวว่า เขาคาดหวังให้พนักงานมากกว่าครึ่งทำงานจากที่บ้านต่อไป เมื่อการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง จากสถิตินี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า Hybrid Working ก็จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงอย่างแน่นอนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบ Hybrid Working ก็ทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้น เนื่องจากนายจ้างก็ต้องให้ความสำคัญกับการรักษา Productivity ของพนักงาน, การปรับตัวและรักษาวัฒนธรรมของบริษัท รวมถึงการค้นหาวิธีการทำงานร่วมกันแบบใหม่ด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นความท้าทายที่องค์กรต้องรับมือให้ได้อีกหนึ่งข้อ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
Automation
อีกหนึ่งเทรนด์ที่เราเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นก็คือ การใช้ระบบ Automation ในธุรกิจ ซึ่งข้อมูลของ McKinsey ระบุว่า เกือบทุกอาชีพจะได้รับผลกระทบจากระบบ Automation และวิธีการดำเนินธุรกิจในเกือบทุกอุตสาหกรรมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
เพราะจากการที่เทคโนโลยี หุ่นยนต์ และ AI มีพัฒนาการและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ก็จะเข้ามาช่วยทำให้ขั้นตอนการทำงานและปริมาณภาระงานที่ซ้ำซากลดลง, เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงช่วยประหยัดต้นทุนในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น พนักงานก็จะมีเวลาในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น (ทักษะที่ระบบ Automation ไม่สามารถทำแทนได้) รวมถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
Blockchain
Blockchain ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เข้ามาเป็นเบื้องหลังของโลกการทำงานและเป็นความสำเร็จของหลาย ๆ ธุรกิจ ซึ่งในยุคนี้มีบริษัทมากมายที่นำ Blockchain เข้ามายกระดับธุรกิจตัวเองให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้วยจุดเด่นที่เป็นระบบกระจายอำนาจ (Decentralization) จึงทำให้มีความโปร่งใส, ตรวจสอบได้ง่าย, รวดเร็ว, ยืดหยุ่น และปลอดภัย ซึ่งธุรกิจใหญ่ ๆ ระดับโลกอย่าง Microsoft, Intel, IBM, Oracle ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการนำ Blockchain มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจกันมากขึ้น
และสถิติจาก Findstack มีการคาดการณ์ว่าการใช้ Blockchain ในธุรกิจจะโตขึ้นกว่า 85.9% ภายในปี 2030 อีกด้วย นี่ก็เป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า Blockchain จะเข้ามาเป็นคลื่นลูกใหม่ของอนาคตการทำงานอย่างแน่นอน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
Metaverse
ตอนนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Meta หรือ Apple เองต่างก็มุ่งมั่นในการพัฒนาทั้งเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ให้มีประสิทธิภาพและมีราคาถูกกว่าเดิม เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงกันได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็มีบทบาทสำคัญมาก ๆ ในการปูทางสู่ Metaverse ในอนาคต
แต่ไม่ว่าจะเป็นทั้งเทคโนโลยี VR / AR หรือ Hologram ต่างก็กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเรามากขึ้น อย่างเช่น การที่ทำให้พนักงานที่ทำงานจากทางไกล (Remote Working), พนักงานที่ทำงานที่ออฟฟิศ (Frontline) หรือพนักงานที่ทำงานแบบ Hybrid Working เข้าไปนั่งทำงานในสำนักงานบน Metaverse พร้อม ๆ กัน และได้รับประสบการณ์เหมือนนั่งทำงานอยู่ด้วยกันที่ออฟฟิศอีกด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- Mark Zuckerberg ชี้ Meta และ Apple กำลังแข่งขันกันเพื่อมุ่งสู่โลก Metaverse
- จะเกิดอะไรขึ้นกับ HR เมื่อ Metaverse เข้ามาเยือนโลกการทํางานมากขึ้น?!
ความยืดหยุ่นในการทำงาน
ในปัจจุบันพนักงานหลายคนมองว่า ‘ความยืดหยุ่น’ เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะทำงานนั้นต่อไปหรือจะลาออกจากบริษัทนั้น ๆ เพราะส่วนมากพนักงานยุคใหม่มักจะมองหาความยืดหยุ่นจากองค์กร ซึ่งถ้าหากองค์กรมีกระบวนการทุกอย่างที่รัดกุมเกินไป จนทำให้พนักงานต้องทำงานอยู่ในกรอบเสมอ นั่นก็อาจจะไม่ตอบโจทย์การทำงานและไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ได้
และแม้ว่าตอนนี้การทำงานแบบ Hybrid Working หรือ Remote Working จะกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับพนักงานในยุคนี้ แต่องค์กรก็สามารถเสนอการทำงานที่มีความยืดหยุ่นในรูปแบบอื่น ๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เวลาเริ่มทำงานและเลิกงานที่พนักงานสามารถกำหนดเองได้, การลาพักร้อนได้ไม่จำกัด หรือทางเลือกเพิ่มเติมในการลาพักร้อน เช่น Leave without Pay ขอพักร้อนในระยะยาวโดยที่ไม่รับเงินเดือน (แต่ยังคงสถานะการเป็นพนักงานอยู่) เป็นต้น
การให้ความสำคัญกับพนักงาน
ตั้งแต่เหตุการณ์ The Great Resignation เมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมาก็ทำให้เราเห็นว่าในโลกการทำงานไม่ใช่บริษัทเท่านั้นที่จะเป็นศูนย์กลางของพนักงานเสมอไป แต่ปัจจุบันองค์กรต่างก็มีการยึดนำพนักงานมาเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ซึ่งผลพลอยได้จากการที่บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานนี้ก็จะสะท้อนกลับมาเป็นความสำเร็จขององค์กรนั่นเอง
สำหรับการให้ความสำคัญกับพนักงานในยุคนี้ นอกจากจะมีเรื่องของประสบการณ์ในการทำงานแล้วก็จะมีทั้งเรื่องสวัสดิการและความเป็นอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น
- ด้านการเงิน – PWC ให้ข้อมูลว่า ความกังวลเกี่ยวกับการเงินเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้พนักงานเกิดความเครียด โดยพนักงานเกือบสองในสามกล่าวว่า พวกเขามีความเครียดทางการเงินมากขึ้นตั้งแต่ Covid-19 เริ่มแพร่ระบาด นอกจากนี้ พวกเขายังกล่าวอีกว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะทำงานกับนายจ้างที่ใส่ใจด้านสวัสดิการทางการเงินของพนักงานมากกว่าด้วย
- ความก้าวหน้าทางอาชีพ – บริษัทควรที่จะต้องมีการส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดอบรมหรือการเรียนคอร์สออนไลน์ เพื่อให้มีทักษะใหม่ ๆ ในการทำงาน นำไปสู่โอกาสด้านการเติบโตและความก้าวหน้าทางอาชีพของตัวเองที่ชัดเจนมากขึ้น
- ด้านสุขภาพกายและจิต – ทั้งสองอย่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน โดยบริษัทอาจจะคอยถามไถ่และสนับสนุนสวัสดิการด้านสุขภาพกายและจิตสำหรับพนักงานที่ทำงานแบบ Remote Working เช่น มีการจัดหาผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ, นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เป็นต้น
การติดตามและวิเคราะห์พนักงาน
อย่างที่บอกไปว่าการทำงานแบบ Hybrid Working เป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก ๆ ในปัจจุบัน ส่งผลทำให้เทรนด์การติดตามงานและวิเคราะห์ในหลาย ๆ บริษัทมีมากขึ้นไปด้วย ซึ่งบางบริษัทก็อาจจะมีระบบติดตามหรือระบบบันทึกงานที่รัดกุมมากขึ้นกว่าเดิม จนทำให้พนักงานอาจมองบริษัทในแง่ลบได้
อย่างไรก็ตาม ทั้งนายจ้าง, Team Lead หรือ HR จึงจำเป็นต้องมีการรับมือด้วยการรับฟังปัญหาจากพวกเขาไปพร้อม ๆ กับอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีการติดตามและวิเคราะห์แบบนี้ รวมถึงแสดงให้พวกเขาเห็นถึงประโยชน์ของการติดตามและรวบรวมข้อมูลเหล่านั้น เช่น การนำระบบนี้เข้ามาใช้จะทำให้การวางแผนงาน การบริหารจัดการ และการประเมินผลดีและเป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งการติดตามและวิเคราะห์นี้ยังสามารถนำมาตอบแทนความสำเร็จของพนักงานทุกคนได้อีกด้วย
สรุปทั้งหมด
ท้ายที่สุดแล้ว เราจะเห็นได้ว่าอนาคตของการทำงานล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการเพิ่ม Productivity ของพนักงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่หลายองค์กรนำมาใช้ขับเคลื่อนการเติบโตให้กับธุรกิจขึ้นในยุค New Normal
และสำหรับทั้ง 7 เทรนด์การทำงานแห่งอนาคตที่เรายกมาในวันนี้ เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ทุกคนได้เตรียมตัวพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงกันได้มากขึ้น รวมถึงสามารถก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในการทำงาน เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรโดยรวมได้อีกด้วย อนาคตรูปแบบใหม่ของการทำงานกำลังเกิดขึ้นแล้ว แล้วคุณล่ะ พร้อมที่จะก้าวสู่อนาคตนี้หรือยัง?