No-Code / Low-Code Platform คืออะไร? แพลตฟอร์มแห่งอนาคตที่ทุกคนควรรู้จักไว้ ในปี 2021

No-Code / Low-Code Platform คืออะไร? แพลตฟอร์มแห่งอนาคตที่ทุกคนควรรู้จักไว้ ในปี 2021
Light
Dark
Cartoon Tanaporn
Cartoon Tanaporn

มนุษย์เป็ดเขียนคอนเทนต์ ชอบเขียนมากกว่าพูด เสพติดการมองพระจันทร์เป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลในช่วงเวลา Magic Hour ของทุกวัน

นักเขียน

อยากสร้างเว็บไซต์หรือแอปเป็นของตัวเอง แต่ติดที่เขียนโค้ดไม่เป็น ทำอย่างไรดี?

ตั้งแต่ช่วงที่ Covid-19 แพร่ระบาดในปี 2020 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ ทำให้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจมากขึ้น และยิ่งเป็นยุคของ Digital Transformation ธุรกิจเหล่านั้นต่างก็ปรับตัวย้ายเข้าสู่โลกออนไลน์กันอย่างเห็นได้ชัด เราจะเห็นได้ว่าใครที่เป็น Software Developer หรือใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีต่างก็เนื้อหอมเป็นที่ต้องการตัวขององค์กรต่าง ๆ อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม บางบริษัทก็ยังประสบปัญหาไม่รู้ว่าจะ Digitalize องค์กรอย่างไร บวกกับปัญหาในการขาดบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ทำให้การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแต่ละส่วนขององค์กรเป็นเรื่องที่ยากและมีความท้าทายอย่างมาก

ตอนนี้มีสิ่งที่เรียกว่า No-Code Development Platform เกิดขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมสามารถสร้างเว็บไซต์และซอฟต์แวร์ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเขียนโค้ดเลย รวมถึง Low-Code Development Platform ที่เข้ามาช่วยให้ Software Developer เขียนโค้ดน้อยลง ทำให้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

บทความนี้ The Growth Master อยากจะชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับ No-Code / Low-Code Development Platform แพลตฟอร์มแห่งอนาคตที่จะทำให้การทำธุรกิจต่าง ๆ เป็นเรื่องง่ายขึ้น และเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ นักการตลาด และทุกคนควรรู้จักไว้ในตอนนี้ จะมีเนื้อหาเป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลย

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

No-Code Development Platform คืออะไร? ทำไมเราถึงสร้างซอฟต์แวร์เองได้โดยไม่ต้องถึงมือ Developer

No-Code Development Platform คือ แพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เทคนิคด้านการเขียนโปรแกรม (Coding) ก็สามารถสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันด้วยตัวเองได้ ซึ่ง Movement ของ No-Code Development Platform เกิดขึ้นมาด้วยความคิดพื้นฐานที่ว่า เทคโนโลยีควรเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย และอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเข้าไปสร้างสรรค์ผลงานได้ ไม่ใช่เป็นอุปสรรคขวางกั้นความตั้งใจนั้น ๆ 

มีคนจำนวนมากที่ต้องการสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเพื่อทำธุรกิจของตัวเอง แต่ขาดทักษะความรู้ในการเขียนโค้ด นั่นทำให้ความคิดที่พวกเขาอยากจะสร้างสิ่งของเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องยากที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถเข้าถึงได้เลย แต่มีเพียง Developer หรือผู้ที่มีความรู้ทักษะด้านการเขียนโปรแกรมเท่านั้นที่เข้าถึงได้ จึงทำให้เกิดช่องว่างนี้ขึ้นมา

แต่ตอนนี้อุปสรรคนั้นได้ถูกลบไปแล้ว เพราะมี No-Code Platform ที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เปรียบเสมือนแสงสว่าง ทำให้ทุกคนสามารถจุดประกายความคิดที่จะพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของตัวเองให้เกิดขึ้นจริง

สำหรับการใช้งาน No-Code Development Platform แทนที่จะเป็นการพัฒนาโดยให้เราเขียนโค้ด ก็ให้เราหันมาใช้ Graphical User Interface (GUI) ที่เป็นการคลิก, เลื่อน หรือวาง ปุ่ม, เทมเพลต หรือคำสั่งต่าง ๆ ที่เครื่องมือได้ออกแบบมาให้แล้ว โดย No-Code Platform จะให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรกับคนที่ทำธุรกิจต่าง ๆ มากกว่าคนที่เป็น Developer (เพราะไม่มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม) แต่ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายเหมาะสมกับทุกคน รวมถึง Developer ก็สามารถใช้ทุ่นแรงได้อีกด้วย

Low-Code Development Platform คืออะไร? ทำไมถึงเป็นเครื่องมือทุ่นแรงชั้นดีสำหรับ Developer

Low-Code Development Platform คือ แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์หรือซอฟต์แวร์ออกมาได้รวดเร็วที่สุด ด้วยการเขียนโค้ดน้อยที่สุด ซึ่ง Low-Code Platform เหมาะสำหรับคนที่เป็น Developer มากกว่าคนทั่ว ๆ ไป เพราะผู้ใช้จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ปกติแล้วการเขียนโค้ดอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ถ้า Developer ใช้ Low-Code Development Platform เข้ามาช่วย ก็จะทำให้ลดเวลาลงเหลือเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ช่วยให้งานเสร็จเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

สถิติอ้างอิงจาก Gartner กล่าวว่า…

  • ภายในปี 2024 การพัฒนาแอปพลิเคชันโดยใช้ Low-Code Platform จะมีมากถึง 65% 
  • 75% ขององค์กรใหญ่ ๆ จะใช้เครื่องมือ Low-Code Platform อย่างน้อย 4 ตัว สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน และการเปิดให้คนในวงการอื่นนอกจาก IT สามารถพัฒนาโปรแกรมของตัวเองได้อย่างง่าย (Citizen Development) 
  • ตลาด Low-Code จะเติบโตขึ้นไปแตะ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 และเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 อีกด้วย

ดังนั้น เมื่อเราดูจากตัวเลขข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าเครื่องมือ Low-Code Platform เป็นสิ่งที่กำลังมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อทำธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการทำงานของ Developer มากขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต หากหน่วยงานไหนที่ยังไม่ได้ลองใช้แพลตฟอร์มนี้ เราก็อยากให้คุณหันมาลองใช้งานดู เพราะ Low-Code Platform ช่วยลดข้อผิดพลาด ประหยัดเวลาในการทำงานมากขึ้น และยังได้งานที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

ภาพจาก techgig

ส่ององค์กรที่ใช้ No-Code / Low-Code Development Platform

วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกรณีศึกษาง่าย ๆ ขององค์กรที่หันมาใช้ No-Code / Low-Code Development Platform เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจกัน ซึ่งก็มีทั้งธุรกิจระดับโลกและธุรกิจที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเราที่ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เข้ามาทำธุรกิจ

1. Schneider Electric

Schneider Electric คือ บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางไฟฟ้าสัญชาติยุโรป และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงานและระบบอัตโนมัติระดับโลก ได้บูรณาการจัดการรวบรวมพลังงานเข้ากับระบบอัตโนมัติและซอฟต์แวร์ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ และโซลูชันแบบครบวงจรที่มีประสิทธิภาพให้กับลูกค้าของเขาและเป็นการเพิ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่องไปในตัว

ภาพจาก factomart

Schneider Electric จึงต้องการความคล่องตัว (Agility), ประสิทธิภาพ (Efficiency) และความสามารถ (Capability) เพื่อมาปรับปรุงการดำเนินงานในกระบวนการทางธุรกิจ รวมถึงยังต้องการระบบแอปพลิเคชันที่ชาญฉลาดและทันสมัย ที่มีการพัฒนา, ติดตั้งใช้งาน, บริหารจัดการ และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ทำให้ธุรกิจสร้างผลตอบแทนได้ดียิ่งขึ้น 

นอกจากนั้น Schneider Electric ยังต้องการวางระบบแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมาทดแทนแบบเดิม ที่เป็นแบบ Monolithic ซึ่งมีความล้าสมัยไปแล้วและยังมีความยากต่อการขยายตัวในอนาคต ด้วยเหตุนี้ Schneider Electric ได้เปลี่ยนแปลงระบบ IT แบบเดิม ๆ ที่มีอยู่ ด้วยการสร้าง “Low-Code Digital Factory” หรือโรงงานผลิตโค้ดแบบ Low-Code ขึ้นมา โดยการใช้ OutSystems ซึ่งเป็น Low-Code Development Platform ในการสร้างแอปพลิเคชัน ทำให้บริษัทสามารถสร้าง 60 แอปพลิเคชันใหม่ ภายในเวลาเพียง 20 เดือนเท่านั้น (เฉลี่ย 1 เดือน ต่อ 3 แอปพลิเคชัน) โดยแพลตฟอร์มนี้ได้ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชันเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่า และลดเวลาที่ใช้ในการทำงานลงไปได้ถึง 650 วันภายในปีเดียว

“We saw a modern application platform as a catalyst to bridge the gap between business demands and the available IT resources.” – Amarpreet Kaur, Director, Schneider Digital

เราจะเห็นได้ว่าการใช้ Low-Code Development Platform เข้ามาช่วย ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชันมีความง่ายขึ้น ลดข้อผิดพลาด และ Developer พัฒนาแอปพลิเคชันด้วยความรวดเร็วมากขึ้น ใช้เวลาในการทำงานน้อยลงอีกด้วย


ภาพจาก techtalkthai

2. รัฐบาลท้องถิ่นของเมือง Zaanstad ประเทศเนเธอร์แลนด์

ถ้าพูดถึงการให้บริการงานต่าง ๆ จากทางภาครัฐแล้ว เราอาจคุ้นชินกับการเห็นขั้นตอนการทำงานแบบเดิม ๆ ซ้ำซากจำเจ และที่สำคัญให้บริการประชาชนล่าช้ามากในรัฐบาลบางแห่ง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ดูเผิน ๆ รัฐบาลเป็นหน่วยงานที่มีงบประมาณหมุนเวียนจำนวนมากในแต่ละภาคส่วน ที่สามารถนำเงินก้อนนั้นมาพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อนำมาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนหรือปรับปรุงระบบสาธารณะต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้อย่างมากมาย

แต่เรากลับได้เห็นภาพที่บางรัฐบาลพยายามพัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้ดีขึ้น แต่ก็ดันมาจบลงที่ “การที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย” แถมยังสูญเสียเงินจำนวนมากไปกับการพัฒนาเหล่านั้น แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย ซึ่งในวันนี้เราอยากให้ทุกคนลืมภาพเหล่านั้นไปก่อน และมาดูเคสจากรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่สามารถนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาปรับปรุงขั้นตอนการทำงานของรัฐบาลได้อย่างดีเยี่ยม และทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกขึ้น

เป็นเคสของ The City of Zaanstad ซึ่งเป็นเมืองแห่งหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ Amsterdam เทศบาลท้องถิ่นนี้มีการใช้ No-Code Development Platform เข้ามาช่วยบริหารจัดการการจัดซื้อและแจกจ่ายบริการด้านสุขภาพสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน (Youth Care Services) เพื่อดูแลเยาวชนในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ

ภาพจาก ipex-group

ทางรัฐบาลท้องถิ่นนี้ได้มองหาโซลูชันการดูแลระบบเพื่อจัดการข้อมูลของประชากรผู้อยู่อาศัย, เอกสารสัญญาต่าง ๆ และระบบการสมัครสมาชิก (Subscription) ผู้ให้บริการดูแลด้านสุขภาพของเยาวชนผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น ซึ่งระบบเก่า ๆ แบบเดิม (Legacy System) ที่ทางภาครัฐเคยใช้เมื่อก่อนนี้ ด้วยเวลานานกว่า 25 ปี เป็นการใช้ระบบการประมวลผลข้อมูล, การสื่อสาร หรือการออกบิลใบแจ้งหนี้ทั้งหมดด้วยระบบมือ (Manual) ซึ่งมันทำให้องค์กรไม่ก้าวไปข้างหน้า เพราะมันรองรับได้แต่กระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้น

เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในการปรับทุกอย่างให้เป็นระบบอัตโนมัติ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง (Manual) เหมือนเมื่อก่อน แต่ให้คอมพิวเตอร์จัดการแทนทั้งหมด เมืองรอบ ๆ Zaanstad จำนวน 13 เมืองในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องปฏิบัติตามรัฐบาลท้องถิ่นของเมือง Zaanstad ซึ่งเป็นผู้นำความคิดในการริเริ่มนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่อรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ในฐานข้อมูลเดียว (Single Database) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการจัดการบริการด้านสุขภาพสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน (Youth Care Services) ในภูมิภาคนี้

We had a vision on how youth services should be handled in the region but no available software could support this vision,” – Tom Uleman, Senior Information Manager of the City of Zaanstad 

รัฐบาลของ Zaanstad จึงได้หันมาใช้ Betty Blocks แพลตฟอร์ม No-Code Development Platform สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน นำมาสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถซิงค์ข้อมูลทั้งหมดไว้ใน Portal เดียว จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบอัตโนมัติครั้งนี้มันไม่ง่ายเลย เพราะการนำข้อมูลประชากรของทั้ง 14 เมืองท้องถิ่นเข้ามารวมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายเดียวกันเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่เมือง Zaanstad ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ และทำให้รัฐบาลรอบข้างทั้งหมดในภูมิภาคเห็นภาพการทำงานเป็นแผนเดียวกัน

ภาพจาก bettyblocks

แต่แล้วรัฐบาลท้องถิ่นของเมือง Zaanstad ก็ทำได้ หลังจากที่ได้สร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาทำให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 40% สามารถทำงานร่วมกับผู้ให้บริการดูแลเยาวชนดีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน มีการควบคุมฐานข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น และให้บริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นแก่ประชาชน 

ซึ่งเมือง Zaanstad ได้สร้างตัวต้นแบบ (Prototype) ของแอปพลิเคชันนี้ภายในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น และสามารถสัมผัสได้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของแอปพลิเคชันที่สร้างจาก No-Code Development Platform และการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้บริการแบบดิจิทัล แถมการใช้ No-Code Development Platform ยังสามารถประหยับงบประมาณต่อปีไปได้มากถึง 620,000 ยูโร (ประมาณ 23 ล้านบาท) จากที่เคยใช้ Developer มากถึง 10 คน ก็ใช้เพียง 4 คนเท่านั้น

ภาพจาก bettyblocks

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก็ได้มีคำสั่งให้เทศบาลท้องถิ่นทุกภาคส่วนเปลี่ยนมาใช้ระบบการให้บริการประชาชนเป็นแบบนวัตกรรมดิจิทัลมากขึ้น ทั้งด้านการศึกษา, โครงสร้างความปลอดภัย, ธุรกิจ, สังคม ภายในปี 2020 เช่นเดียวกันกับรัฐบาลทั่วโลกที่เน้นให้ทุก ๆ รัฐบาลท้องถิ่นมาเป็นรัฐบาลแบบ “ดิจิทัล” โดยให้ขจัดกระบวนการทำงานแบบเดิม ๆ (Legacy System) ที่ซ้ำซากจำเจ ทำด้วยมือ มาเป็นระบบดิจิทัลแทน

นี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการนำ No-Code Development Platform เข้ามาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานของการบริหารการดูแลเยาวชน (Youth Care Services) ในรัฐบาลท้องถิ่นของเมือง Zaanstad ในประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ดีขึ้น ประหยัดงบประมาณจำนวนมหาศาล และยังส่งผลให้เมือง Zaanstad กลายเป็นผู้นำในเขตเทศบาลต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย

3. The Growth Master

The Growth Master เป็นเว็บไซต์แหล่งเรียนรู้สำหรับคุณและธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth Hacking, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม รวมถึงยังเป็น Business Tech Stack Consultant สำหรับบริการให้คำปรึกษาด้านการใช้ซอฟต์แวร์ในบริษัทอีกด้วย (แหม่ เรื่องขายของนี่ขอให้บอก จัดเต็มไม่แพ้กับการมอบความรู้ให้ทุกคนเลยทีเดียว)

ที่เรายกตัวอย่างตัวเองก็เพราะว่า เว็บไซต์ของ The Growth Master สร้างโดยใช้เครื่องมือ No-Code Development เหมือนกัน ซึ่งเครื่องมือที่ว่าก็คือ Webflow 

ภาพจาก webflow 

ใครตามที่ได้ลองท่องเว็บไซต์ของเราดูแล้ว จะเห็นว่าการทำงานของเว็บไซต์เราไหลลื่นดีมากเลย หน้าตาก็ดูดี ทันสมัย ที่เรากล่าวแบบนั้นไม่ใช่เพราะว่าเราอวยตัวเองหรืออะไรนะคะ แต่เป็นเพราะเราอยากชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือ No-Code Development Platform ตัวนี้ มีข้อดีไม่แพ้การสร้างเว็บไซต์แบบเขียนโค้ดแบบ Native ที่เป็นการเขียนโค้ดแบบเพียว ๆ เลย (หรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ)

สามารถดู Software Review ได้ที่ สร้างเว็บไซต์ด้วย Webflow หรือ WordPress อันไหนเหมาะกับคุณ

หน้าตาเว็บไซต์ The Growth Master ที่สร้างด้วย Webflow

No-Code / Low-Code Platform ก็เป็นสิ่งที่ The Growth Master ชูเรื่องนี้มาตลอด เพราะอยากให้ทุกคนสามารถสร้างเว็บไซต์และแอปด้วยระบบที่ใช้การเขียนโค้ดให้น้อยที่สุด ลดเวลาการสร้าง เพิ่มเวลาการทดสอบการใช้งานจริงจากผู้ใช้ เพื่อสร้างของที่คนอยากใช้งานจริง ๆ และเป็นที่ต้องการของตลาด

สำหรับธุรกิจไหนที่อยากลองสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องง้อโปรแกรมเมอร์ Webflow ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนลองใช้งานด้วยตัวเอง เพราะสามารถใช้งานได้ฟรี ไม่ต้องเขียนโค้ดอีกด้วย หรือว่าติดต่อสอบถามไปที่ WEXPERIENCE ซึ่งเป็น Growth Agency เอเจนซี่การตลาดที่ใช้ศาสตร์ Growth Hacking และที่สำคัญยังเป็น Webflow Expert เจ้าเดียวในไทยอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ

Growth Agency คืออะไร? ทำไมถึงเป็นเอเจนซี่การตลาดรูปแบบใหม่ที่น่าจับตา 

ภาพจาก experts.webflow

ข้อดีของ No-Code / Low-Code Development Platform

No-Code / Low-Code Development Platforms are the future.

สำหรับ No-Code / Low-Code Development Platform ที่เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มแห่งอนาคต มีประโยชน์มากมายหลายอย่างที่เราไม่อยากให้คุณพลาดการใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้ไป ดังนั้น The Growth Master ก็ได้รวบรวมข้อดีเหล่านั้นมาให้คุณแล้ว

1. ความรวดเร็ว (Speed) เป็นที่หนึ่งในยุค Digital Transformation

Low-Code Development Platforms have the potential to make software development as much as 10 times faster than traditional methods. – Forrester

สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของ No-Code / Low-Code Development Platform  คือ “ความรวดเร็ว” (Speed) เพราะในยุค Digital Transformation แบบนี้ ถ้าองค์กรของเราได้ลองใช้เครื่องมือ No-Code / Low-Code Development Platform เข้ามาสร้างแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ เช่น Webflow หรือ AppSheet เราจะสัมผัสได้ว่าทีมสามารถประหยัดเวลาไปกับการพัฒนาซอฟต์แวร์, การเขียนโค้ดจำนวนมาก ๆ, การเลือกเส้นทางของระบบเครือข่าย (Traffic Routing), การขยายตัวโครงสร้าง (Scalability) หรือเรื่องอื่น ๆ ได้มากกว่าการพัฒนาแบบดั้งเดิมถึง 10 เท่า ที่เป็นแบบนั้นก็เป็นเพราะว่าแพลตฟอร์มนี้มีคุณสมบัติเหล่านี้ที่ทำให้ Developer สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือ

  • ฟังก์ชันลากและวาง (Drag and Drop) และ Graphical User Interface ที่ช่วยสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับผู้ใช้ไว้ล่วงหน้า, แบบจำลองกระบวนการทางธุรกิจ, ตรรกะ (Logic) และแบบจำลองข้อมูล ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน (Full-Stack) ข้ามแพลตฟอร์มไปมาได้อย่างรวดเร็ว
  • APIs และตัวเชื่อมต่อ (Connectors) ที่เปิดใช้งานง่าย สามารถบูรณาการเข้ากับ Third-Party Tools ที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้จนเคยชินอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเรียนรู้เพิ่มเติมใหม่ ๆ
  • การส่งมอบแอปพลิเคชันด้วยการคลิกเพียงครั้งเดียว จะช่วยให้คุณติดตามการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด อีกทั้งยังจัดการ Database Scripts และกระบวนการปรับใช้งานได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเสียเวลามากมายไปกับการติดตั้งและดำเนินการในแต่ละขั้นตอน

ถ้าเกิดว่าเราสามารถประหยัดเวลาที่ใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันไปได้ จะทำให้ทีมพัฒนาของเราเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขั้นต่อไปได้เร็วขึ้น ซึ่งมันทำให้ทีมมีโอกาสที่จะทดสอบหรือนำเวลาไปทำอย่างอื่นได้มากกว่าเดิม โดยการลดเวลาในการทำโปรเจ็กต์ลง จากที่ต้องใช้เวลาทำเป็นปี ๆ ก็เหลือไม่เพียงกี่เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

2. ความยืดหยุ่นคล่องตัว (Agility) ในการทำงานไม่เป็นสองรองใคร

No-Code / Low-Code Development Platform จะช่วยให้ธุรกิจสามารถทำงานแบบ Agile ด้วยความคล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอนความวุ่นวายลงจากเดิมที่ต้องเขียนโค้ดจำนวนมากเมื่อใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ทำให้เขียนโค้ดน้อยลง และทำให้สามารถปรับตัวและตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดจนเกิดเป็นโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อีก

นั่นเป็นเพราะความรวดเร็วในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ได้กล่าวไปในข้อที่ 1 ที่ผนวกเข้ากับการพัฒนาโซลูชันตามคอนเซปต์ของ No-Code / Low-Code จะช่วยลดความซับซ้อนในการสร้าง, ทดสอบ และปรับใช้ซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ พอความซับซ้อนของการสร้างซอฟต์แวร์ใหม่ลดลง ก็ทำให้พัฒนาได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ทีมสามารถดูเสียงตอบรับของตลาดว่าอยากให้พัฒนาอะไรเพิ่มขึ้นหรือปรับแก้ไขอะไรให้ดีกว่าเดิม ทำให้ทีมเข้าถึงนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ No-Code / Low-Code Development Platform ยังสามารถประสานการทำงานขององค์ประกอบทุกส่วนในซอฟต์แวร์หรือการทำงานทุกฝ่ายเข้าด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งยังสามารถลดความวุ่นวายของการส่งต่องานได้ เพราะถ้าเป็นการทำงานแบบดั้งเดิม หากซอฟต์แวร์มีปัญหา Error ติดบัคขึ้นมา ทำให้ทีมอื่นต้องส่งกลับไปให้ Developer แก้ไขให้ แต่พอเป็นการทำงานโดยใช้ No-Code / Low-Code เราก็สามารถแก้ไขได้เองคนเดียวเลย โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาส่งงานกลับไปกลับมา

และอีกหนึ่งประโยชน์ No-Code / Low-Code ช่วยให้สามารถปรับระบบธุรกิจที่มีอยู่ให้ทันสมัย โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ช่วยให้ธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น บริการ Microservice, Container, Serverless หรือการที่ธุรกิจไม่ต้องมี Server เอง แต่หันมาใช้ Infrastructure ของผู้ให้บริการ Cloud เป็นต้น

3. มีการใช้ทรัพยากรและความสามารถให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การเลือกใช้ No-Code Development Platform ทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานในการพัฒนาหรือเขียนโค้ดก็สามารถสร้างแอปพลิเคชันระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบได้ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่มาพร้อมกับเทมเพลตสำเร็จรูป, แบบฟอร์มสำเร็จรูป (Pre-built Forms) รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว ช่วยให้ทีมนักพัฒนาที่ไม่มีทักษะการเขียนโค้ดสามารถสร้างแอปเพื่อใช้งานได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ยุ่งยาก

แต่ถ้าอยากสร้างแอปพลิเคชันที่มีกระบวนการซับซ้อนมากกว่าเดิม หรือต้องการเขียนโค้ดเพิ่มหรือเข้าไปแก้ไขโค้ดเองได้ Low-Code Development Platform ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ตอบโจทย์สำหรับนักพัฒนา เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทีมนักพัฒนาแผนกต่าง ๆ เช่น Frontend หรือ Backend รวมถึง Full-Stack สามารถทำงานร่วมกันในการสร้างแอปพลิเคชันได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ รวมถึงสามารถใช้เครื่องมือ Third-Party ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเข้ามาใช้งานร่วมกันได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้เพิ่มเติมใหม่อีกครั้งนึง

ดังนั้น ถ้าองค์กรเลือกใช้ No-Code / Low-Code Development Platform ทั้ง 2 แพลตฟอร์มเข้ามาทำงานร่วมกัน เราก็จะมีการใช้ทรัพยากรแผนก IT ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะนอกจากคนที่มีทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจะสามารถมุ่งเน้นไปที่โปรเจ็กต์ที่สำคัญได้แล้ว คนที่เพิ่งหันมาลองพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นครั้งแรกก็จะสัมผัสได้ว่าแอปที่ตัวเองทำนั้น มีการใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการพัฒนาแบบเขียนโค้ดเพียว ๆ ได้ และที่สำคัญยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ต่ำลงกว่าเดิม แถมยังประหยัดเวลาอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าสูงสุดจริง ๆ

แนะนำเครื่องมือ No-Code / Low-Code Development Platform

สำหรับใครหลายคนที่ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าตาของเครื่องมือ No-Code / Low-Code Development Platform มาก่อน หรืออาจคิดว่ามันอยู่ไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วคุณอาจกำลังใช้แพลตฟอร์มนี้โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ว่ามันเป็น No-Code / Low-Code Development Platform เพราะมันมีมากมายกว่าที่เราคิดเสียอีก วันนี้ The Growth Master ก็จะมาแนะนำตัวเด่น ๆ ดัง ๆ ใช้งานง่ายให้คุณได้รู้จักกัน

ภาพจาก uxdesign

Chatbot

Chatbot คือ ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยในการตอบกลับการสนทนาแบบอัตโนมัติผ่าน Messaging Application ทั้งแบบตัวอักษรและเสียง เสมือนการโต้ตอบของคนจริง ๆ ซึ่งปัจจุบันหลายธุรกิจสร้าง Chatbot ขึ้นมาเพื่อโต้ตอบกับลูกค้าแบบเรียลไทม์

เครื่องมือที่แนะนำ: Landbot, Chatfuel, Mobilemonkey, Wotnot, Engati, Botsify

Email

Email คือ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่เราใช้กันเป็นประจำทุกวันนี้ เช่น บริการจาก Gmail, Outlook, Yahoo เป็นต้น แต่เครื่องมือที่เราแนะนำจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสร้าง Responsive Email ที่ทำให้ Email สวยงามและน่าดึงดูดต่อลูกค้า

เครื่องมือที่แนะนำ: Postcards, Bee, EDMdesigner, Stripo, Topol

อ่านบทความเพิ่มเติม: 

เพิ่ม Lead ให้ไว ด้วยกลยุทธ์ E-mail Marketing อีกหนึ่งความได้เปรียบทางการตลาด ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

Voice Apps

Voice Apps คือ ซอฟต์แวร์ที่เอาไว้โทรหรือสั่งการด้วยเสียง ซึ่งการโทรผ่าน Voice Apps ทำให้ประหยัดเงินค่าโทรศัพท์ไปได้ เพราะพูดคุยกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทน ส่วนการสั่งการด้วยเสียงก็คล้าย ๆ Google Assistant จาก Google, Alexa จาก Amazon หรือ Siri จาก Apple ที่เพียงเราพูดว่า ‘สวัสดีสิริ’ หรือ ‘Hey, Siri’ ก็จะมีเสียงตอบกลับจากคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ถ้าเราอยากให้ซอฟต์แวร์ทำอะไรแทนเราก็เพียงแค่บอกไป

เครื่องมือที่แนะนำ: Voiceflow, Vuix, Jovo, Govocal, Zesty 

Mobile Apps

Mobile Apps คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้ใช้งานแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ต่าง ๆ ได้โดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างแอปพลิเคชัน เช่น Facebook, Slack, Google Chrome, Shopee, WIRTUAL เป็นต้น 

เครื่องมือที่แนะนำ: Appery, Buildfire, Adalo, Appypie, Andromo (for Android only) 


Connectors

Connectors คือ ซอฟต์แวร์ที่รวบรวมการทำงานของแอปต่าง ๆ หรือดึงข้อมูล (Data) จากหลาย ๆ ที่มารวมกันไว้ในที่เดียว แล้วแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยอัตโนมัติออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานด้าน Marketing, E-Commerce หรือ Business ต่าง ๆ 

เครื่องมือที่แนะนำ: Zapier, Parabola, Actiondesk, Automate, Microsoft Flow

อ่านบทความเพิ่มเติม: เคล็ดไม่ลับสร้างงานได้มากขึ้นแต่ใช้เวลาน้อยลงด้วย Zapier

สำหรับสายสร้างเว็บไซต์

เมื่อก่อนการสร้างเว็บไซต์อาจเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมาก กว่าจะสร้างออกมาได้หนึ่งเว็บไซต์ก็เล่นเอาปาดเหงื่อไปหลายหยดเหมือนกัน แต่ปัจจุบันนี้มี เครื่องมือ No-Code / Low-Code Development Platform มากมายให้เลือกใช้กัน ทำให้การสร้างเว็บไซต์ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป

Frontend with E-Commerce

Frontend with E-Commerce คือ เครื่องมือสำหรับสร้างเว็บไซต์ E-Commerce แต่เน้นไปที่การพัฒนาหน้าบ้าน (Frontend) เป็นหลัก

เครื่องมือที่แนะนำ: Shopify, WooCommerce, Magento, Weebly, Webflow

อ่านบทความเพิ่มเติม: 

สร้างเว็บไซต์ด้วย Webflow หรือ WordPress อันไหนเหมาะกับคุณ

จัดหนักจัดเต็ม! 21 Tech Stack ที่ธุรกิจ E-Commerce ควรมีในปี 2021

Frontend from Cloud Spreadsheet

Frontend from Cloud Spreadsheet คือ การนำข้อมูลจาก Spreadsheet มาสร้างเป็นเว็บไซต์ จากที่มีหน้าตาเป็นแค่ตารางธรรมดาก็กลายเป็นเว็บไซต์ที่สวยงามน่าใช้

เครื่องมือที่แนะนำ: Sheet2Site, GlideApps, Sheety, SpreadSimple, Sheet.Best

Cloud Spreadsheet

Cloud Spreadsheet คือ Spreadsheet ที่เป็นตาราง ส่วนใหญ่นำมาใช้ในด้านจัดเรียงข้อมูลหรือคำนวณเป็นหลัก แต่เครื่องมือที่เรานำเสนอนั้นจะเป็นมากกว่า Spreadsheet ธรรมดาแบบเดิม ๆ เพราะเราสามารถใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ใส่ Action เพิ่มเติมได้ครบจบในซอฟต์แวร์เดียว 

เครื่องมือที่แนะนำ: Airtable, Ragic, Startinfinity, CloudCoach, Sheet.Best, SmartSheet

อ่านบทความเพิ่มเติม: สร้าง Super Excels ด้วย Airtable

Full-Stack Web Builders

Full-Stack Web Builders คือ เครื่องมือที่เราสามารถสร้างเว็บไซต์ที่พัฒนาได้ทั้งหน้าบ้าน (Frontend) และหลังบ้าน (Backend) > รวมกันเรียกว่า Full-Stack

เครื่องมือที่แนะนำ: Bubble, Anvil.works, Codepen, Codekitapp, SquareSpace

General Visual Site Builders

General Visual Site Builders คือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เราจัดวางตกแต่งหน้าเว็บไซต์ทั่วไปให้ดูสวยงามใช้งานง่าย

เครื่องมือที่แนะนำ: Supernova, Bootstrap Studio, Tilda Publishing, Mason, Readymag 

Wordpress

Wordpress คือ ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่ใช้สร้างและจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ประเภท Content Management System (CMS)

เครื่องมือที่แนะนำ: Beaverbuilder, Themify, Visual Composer, Elementor, Divi

Landing Pages

Landing Pages คือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการสร้างเว็บไซต์ โดยเน้นไปที่หน้า Landing Pages เป็นหลัก

เครื่องมือที่แนะนำ: Instapage, Carrd, Leadpages, Unbounce, Launchaco

Portfolios

Portfolios คือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เราสร้าง Portfolio แบบออนไลน์ได้ โดยมีรูปแบบเทมเพลตต่าง ๆ ให้เลือกใช้

เครื่องมือที่แนะนำ: Carbonmade, Allyou, Dunked, Pixpa, Krop, Canva

Forms

Forms คือ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสร้างแบบฟอร์ม ซึ่งให้มีหน้าต้าน่าใช้ ไม่น่าเบื่อ และสามารถส่งไปหาผู้อื่นได้

เครื่องมือที่แนะนำ: Typeform, SurveyMonkey, SurveyAnyplace, Arengu, Formstack

Business Apps

Business Apps คือ ซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วยให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งด้าน Project Management, Workflow Management, Collaboration (การทำงานร่วมกัน) เป็นต้น

เครื่องมือที่แนะนำ: AppSheet, Appian, KissFlow, Pipefy, Kintone 

Scrapers

Scrapers คือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยดึงข้อมูลจากเว็บเพจต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามที่เราต้องการ

เครื่องมือที่แนะนำ: ParseHub, Parsers, ScrapeStorm, Octoparse, Docparser

Testing

Testing คือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการประเมินเว็บไซต์ว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหนบ้าง เช่น User Interface, ความช้าความเร็วในการโหลด หรือมีการตอบรับ (Responsive) ที่ดีไหม เพื่อที่สามารถแก้ไขได้ตรงจุด

เครื่องมือที่แนะนำ: CrossBrowserTesting, Functionize, GhostingSpector, Testim, Scriptworks


สรุปทั้งหมด

การนำเครื่องมือ No-Code / Low-Code Development Platform เข้ามาช่วย จะทำให้การทำงานของเรามีความง่ายมากขึ้น ไม่ว่าเราจะเป็น Software Developer หรือไม่ก็ตาม เพราะมันช่วยให้การทำงานมีความง่ายขึ้น ลดข้อผิดพลาด ลดต้นทุน และ Developer ใช้เวลาในการทำงานน้อยลง อีกทั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย และตอนนี้ก็มีเครื่องมือที่น่าสนใจหลายอย่างให้เราเลือกใช้งาน

ในอนาคต เราเชื่อว่าเทรนด์ No-Code / Low-Code Platform จะมาแรงมาก ๆ อย่างแน่นอน เพราะ Digital Transformation จะไม่จางหายจากเราไปไหน แต่กลับจะเร่งความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนทุกอย่างกลายมาเป็นออนไลน์มากขึ้น หากคุณลงทุนลงแรงศึกษาเรื่องนี้ในตอนนี้ อีกไม่นานมันจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่องค์กรและธุรกิจของคุณอย่างแน่นอน


Source: webflow, csgpro, aimultiple, techtalkthai, bettyblocks


ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เราช่วยธุรกิจของคุณให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนโลกดิจิทัลด้วยการใช้ศาสตร์ Growth, เครื่องมือด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างทีม

ติดตามข้อมูลการตลาด
Growth Hacking ได้เลยทีนี่
มากกว่า 2,000 บริษัทติดตาม The Growth Master ตอนนี้
ไปที่หน้า Subscribe