ทุกคนรู้ว่าการมีเป้าหมายทางการตลาดสำคัญกับการทำธุรกิจมาก คนที่มีเป้าหมายจะรู้ว่าธุรกิจของคุณจะทำการตลาดไปเพื่ออะไร เหมือนกับบางสตาร์ทอัปที่ใช้กลยุทธ์ Growth Hacking โดยมีเป้าหมายว่าจะสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าติดกับผลิตภัณฑ์ก่อน แล้วค่อยมาคิดโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และการเติบโตในภายหลัง (และกลายเป็นยูนิคอร์นในที่สุด)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงนี้มีหลายธุรกิจที่ย้ายจากแพลตฟอร์มออฟไลน์มาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น ทั้ง SME หรือร้านค้าทั่วไป ซึ่งหลายคนอาจจะกำลังอยู่ในช่วงมือใหม่หัดเริ่มการทำการตลาด แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มทำการตลาดอย่างไรดี เป้าหมายทางการตลาดมีอะไรบ้าง หรือหลายธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์แบบเดิมมานานแล้วอยากจะเปลี่ยนเป็นเป้าหมายใหม่ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนเป็นอะไรดี
ในวันนี้เราจึงอยากจะมาแนะนำให้ทุกธุรกิจรู้จักกับ 8 เป้าหมายทางการตลาด (Marketing Goals) ที่จะพาธุรกิจที่กำลังหลงทางให้หาทางออกของตัวเองเจอ และพาให้ธุรกิจของคุณเติบโตยิ่งขึ้นเตรียมพร้อมต้อนรับปี 2023 จะมีอะไรกันบ้าง ไปติดตามกันต่อได้เลย
เป้าหมายทางการตลาดคืออะไร?
เป้าหมายทางการตลาด (Marketing goals) คือ วัตถุประสงค์เฉพาะที่กำหนดไว้ในแผนการตลาด ในที่นี้หลายธุรกิจมักจะร่างออกมาเป็นแบบแผนที่ชัดเจน เพื่อให้ทีมรู้ว่าธุรกิจของเรามีเป้าหมายเป็นแบบนี้ และจะได้ช่วยกันระดมความคิดหากลยุทธ์ต่าง ๆ ที่สามารถพาให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้
แต่ก่อนที่คุณจะตั้งเป้าหมายทางการตลาด คุณควรมองสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจว่ามีความต้องการหรือมีปัญหาอะไรที่อยากปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เช่น
- ต้องการเพิ่มยอดขายหรือรายได้ให้กับธุรกิจ
- ต้องการขยายการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) ให้มากขึ้น
- ต้องการเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์
- ต้องการสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ (Brand Identity)
- ต้องการลองเปลี่ยนมาใช้ Social Media Marketing เพื่อออกแคมเปญใหม่ ๆ
ถ้าคุณรู้แล้วว่าสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจคุณเป็นอย่างไร สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอาจกลายเป็นเป้าหมายทางการตลาดของธุรกิจคุณไปโดยปริยายเลยก็ได้ แต่ถ้าเกิดว่าคุณยังตอบคำถามตัวเองไม่ได้ว่า คุณต้องการอะไร เราหวังว่าเมื่อคุณอ่านบทความนี้จบแล้ว คุณจะได้พบคำตอบที่คุณกำลังตามหาอยู่
ทำไมการตั้งเป้าหมายทางการตลาดจึงสำคัญกับธุรกิจ?
เป้าหมายทางการตลาดก็เป็นเหมือนแว่นตาที่ช่วยมองเห็นความเป็นไปได้ทั้งหมดในการทำธุรกิจ
เราอยากให้คุณลองนึกภาพว่า ตอนนี้ธุรกิจของคุณเป็นคนที่กำลังมีปัญหาทางด้านสายตา (สายตาสั้น, ยาว, เอียง) มองภาพอะไรก็พร่ามัวไปหมด ซึ่งสิ่งเดียวที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ให้กับคุณได้คือ เป้าหมายทางการตลาดที่จะทำให้คุณเห็นภาพทั้งหมดได้ชัดเจนมากขึ้น
เพราะการวางเป้าหมายทางการตลาดจะทำให้เรามองเห็นภาพสิ่งที่เราต้องทำตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงจุดหมายปลายทางนั้น ๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไป ทำไปเพื่ออะไร เช่น ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่า 6 เดือนแรกของปี ธุรกิจของเราจะต้องมีผู้ใช้งาน 1 แสนคน ทุกสิ่งที่เราทำระหว่างทางตลอดปีนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นด้วย
แล้วทำไมเราควรต้องตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปลายปี 2022 ด้วยล่ะ?
จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนของปี เราก็สามารถเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา แต่สำหรับใครหลาย ๆ คนก็มักจะใช้เวลาปีใหม่เป็นโอกาสในการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ดังนั้นถ้าคุณคิดที่จะเริ่มลงมือทำในช่วงปีใหม่ การเริ่มวางแผนตั้งแต่ปลายปี 2022 ก็เป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมสร้างฐานการทำตลาดล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือทำจริง เมื่อถึงเวลาที่เราจะทำจริง ๆ เราก็จะมีแผนกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแรงนั่นเอง
8 เป้าหมายทางการตลาดที่จะพาธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เตรียมพร้อมรับปี 2023
วันนี้เราก็ได้รวบรวม 8 เป้าหมายทางการตลาดมาให้คุณได้ลองนำไปใช้ สำหรับใครที่เป็นมือใหม่และยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเป้าหมายทางการตลาดมีอะไรบ้าง หรือใครที่ใช้เป้าหมายเดิม แล้วต้องการเพิ่มปรับเปลี่ยนใหม่ ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันได้เลย
1. สร้าง Brand Awareness ให้ไปปรากฏต่อสายตาคนจำนวนมาก
ทุกจุดเริ่มต้นของแบรนด์แน่นอนว่าจะต้องเกิดจากการสร้าง Brand Awareness เพราะถ้าหากไม่มีใครรู้จักแบรนด์ของเรา เป้าหมายอื่น ๆ อย่างการเพิ่มยอดขายก็คงอาจตามมาได้ยาก ซึ่งเป้าหมายนี้ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการทำให้แบรนด์ของเราไปปรากฏยังสายตาคนให้เยอะที่สุด
เพราะอะไรถึงจะต้องทำแบบนั้น?
คำตอบก็เพราะหากวันใดที่กลุ่มคนที่อาจจะกลายมาเป็นลูกค้าของเรา (Potential Customer) กำลังตามหาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับเขาได้ ถ้าเขาคุ้นเคยกับแบรนด์ของเรา เคยผ่านสายตามาบ้าง แบรนด์ของเราก็จะกลายเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่พวกเขาสนใจ จนเกิดการซื้อขึ้นในที่สุดก็ได้
กลยุทธ์ง่าย ๆ ที่ใช้ในการสร้าง Brand Awareness คือ ให้คุณสำรวจก่อนว่าส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายของคุณอยู่บนแพลตฟอร์มไหนมากที่สุด โดยอาจจะใช้เครื่องมือของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการ Tracking หากลุ่มเป้าหมายของคุณให้เจอ รับฟังว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณอยู่ตรงไหน (Social Listening) เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักใช้โซเชียลมีเดียกันเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว พวกเขาก็อยู่ใกล้ ๆ ตัวคุณนี่แหละ
โดยเครื่องมือที่แนะนำในการทำ Social Listening เช่น mandala, brand 24, zanroo, socialenable หรือช่องทางอื่น ๆ จากนั้นคุณก็สามารถไปทำการตลาดบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ เพื่อให้แบรนด์ของเราไปปรากฏสู่สายตาพวกเขาบ่อย ๆ จนพวกเขาเริ่มจำได้ (น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน เช่นเดียวกัน เราไปให้เขาเห็นหน้าทุก ๆ วัน เขาก็ต้องจำได้สักวันนึงแหละนะ)
เราอาจจะสร้างคอนเทนต์ที่เป็นมิตร และมีความเกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง เช่น มุ่งเป้าแนะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ Pain Point ของพวกเขา ให้พวกเขารู้สึกว่าสินค้าของแบรนด์เราสามารถช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้จริง (ของมันต้องมีแล้วแหละ) เพียงเท่านั้นพวกเขาก็อาจจะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณได้ในที่สุด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
2. เพิ่ม Brand Engagement มีส่วนร่วมกับลูกค้าอยู่เสมอ
เมื่อคนเริ่มรู้จักแบรนด์และเริ่มเข้ามาบนแพลตฟอร์มของคุณแล้ว จากการสร้าง Brand Awareness คุณต้องมีส่วนร่วมโต้ตอบกับพวกเขา และพยายามทำให้พวกเขามีส่วนร่วมกับแบรนด์อยู่เสมอด้วย เช่น
- ความถี่ในการโพสต์คอนเทนต์ – ควรโพสต์ให้พอดี ให้เหมาะสมด้วย เพราะถ้าหากโพสต์ถี่เกินไป เช่น 1 ชั่วโมง โพสต์ 1 คอนเทนต์ อาจทำให้คนมาเห็นบ่อยขึ้นก็จริง แต่ก็อาจสร้างความรำคาญให้กับพวกเขาได้ ดังนั้นควรปรับให้พอดี เช่น วันละ 1-2 โพสต์ (ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจด้วย)
- การตอบคอมเมนต์ หรือ Inbox – ถ้าหากมีลูกค้าคอมเมนต์หรือ Inbox ถามคำถามเข้ามา เราก็ควรที่จะสื่อสารตอบโต้กับเขาด้วยถ้อยคำที่สุภาพและเป็นมิตร ซึ่งมันจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์ดูมีความน่าเชื่อถือ ใส่ใจลูกค้า และสามารถคลายข้อสงสัยของพวกเขาได้ด้วย
- การถามคำถาม-สร้าง Poll – ปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดียเอื้อให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ง่ายขึ้น อย่าง IG Stories ที่มีฟีเจอร์สร้าง Poll หรือถามคำถาม เช่น ถ้าเราอยากออกกระเป๋ารุ่นใหม่ เราอาจจะตั้ง Poll ถามลูกค้าได้ว่าชอบลายไหนมากกว่ากัน, สีอะไรดี ให้ลูกค้าเป็นคนตัดสิน ซึ่งมันก็เป็นการทำ Market Research สำรวจความสนใจของลูกค้าไปในตัว ถึงแม้ว่าฟีเจอร์พวกนี้ มันจะดูเป็นฟีเจอร์เล็ก ๆ แต่ถ้ารู้จักใช้ให้เป็น ก็จะช่วยสร้างข้อดีมหาศาลให้กับธุรกิจของเราได้เป็นอย่างดี
- มีกิจกรรมให้ร่วมเล่น – แบรนด์อาจจะจัดแคมเปญ Giveaway แจกของให้กับลูกค้า โดยตั้งเงื่อนไขว่าให้ร่วมคอมเมนต์ แชร์โพสต์อีกออกไป หรือแท็กเพื่อนมาอีก 2 คน (เป็นการสร้าง Brand Awareness และการสร้างบอกต่อไปในตัวด้วย) ซึ่งเราเชื่อว่ากิจกรรมแบบนี้จะทำให้คนที่ไม่เคยมาเป็นลูกค้าของเราเข้ามาร่วมสนุก และอาจจะกลายเป็นลูกค้าด้วยในอนาคต
- อัปเดตข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ – ลองนึกภาพถ้าเกิดว่าคุณจะเข้าไปซื้อสินค้าของแบรนด์ ๆ หนึ่ง แต่เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มของพวกเขาไม่มีการอัปเดตอะไรเลย คุณก็อาจกำลังสับสนว่าสรุปแบรนด์นี้ยังดำเนินธุรกิจอยู่ไหม จนต้องกดออกจากเว็บไซต์นั้นไปในที่สุด ซึ่งมันจะส่งผลให้ Bounce Rate หรืออัตราตีกลับของเว็บไซต์สูงขึ้น (การที่คนเข้ามาดูบนเว็บไซต์แล้วกดออกทันที มีผลต่อการทำ SEO ในข้อถัดไป)
การที่คุณสร้าง Brand Engagement อยู่เสมอ ก็จะส่งผลให้ลูกค้ารู้สึกไว้วางใจในแบรนด์ของคุณ จนบางทีพวกเขาอาจไปบอกต่อให้กับเพื่อนหรือคนรู้จักอีกด้วยว่า แบรนด์เราใส่ใจลูกค้าซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนอยากมาซื้อสินค้าจากแบรนด์ของเราอีกด้วย (นอกจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์)
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
3. เพิ่มอันดับการค้นหาให้สูงขึ้นบน Search Engine
ไม่ว่าใคร ๆ ก็อยากให้เว็บไซต์ของเราติดหน้าแรกบน Google ทั้งนั้น (ยิ่งอันดับ 1-2-3 เลย ก็ยิ่งดี) เพราะมันจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ, เพิ่มโอกาสให้เราได้ Traffic บนเว็บไซต์สูงขึ้น, เพิ่ม Brand Awareness, เพิ่ม Lead, เพิ่มโอกาสให้เกิดการซื้อ และสร้างรายได้สูงขึ้นอีกด้วย
แล้วจะทำอย่างไรถึงจะให้เว็บไซต์ของเราติดหน้าแรกล่ะ?
คำตอบง่าย ๆ เลยคือ การทำ SEO (Search Engine Optimization) โดยในช่วงแรกสำหรับมือใหม่หัดทำ เราอยากแนะนำให้คุณทำ Long-tail Keyword (คีย์เวิร์ดที่มีความยาวเฉพาะเจาะจง) เพราะอัตราการแข่งขันจะต่ำกว่าคีย์เวิร์ดสั้น ๆ และเจาะจงถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณมากกว่า ทำให้ผู้ที่ค้นหาเจอเว็บไซต์ธุรกิจของเราได้ง่าย
แต่ถ้าหากใครที่มีเว็บไซต์อยู่แล้ว คุณอาจจะต้องกลับมาปรับปรุงเว็บไซต์ของคุณเพิ่มเติม เช่น การทำ Keyword Research (ใช้เครื่องมือ SEO เข้ามาช่วย), การเพิ่มคีย์เวิร์ด, ความสอดคล้องของเนื้อหา, การทำให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้น, การทำ On-page SEO เป็นต้น
โดยทั่วไป ข้อดีของการทำ SEO คือ จะทำให้เว็บไซต์ของเรามีความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ข้อเสีย คือ ต้องใช้ความอดทนสูง เพราะไม่ใช่ทำวันนี้แล้วอีก 3 วันถัดมา เว็บไซต์จะติดหน้าแรกเลย ยิ่งถ้าหากเป็นสินค้าหรือบริการที่มีการแข่งขันสูง อาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่า 6 เดือนถึงหลักปีเลยทีเดียวในการไต่ขึ้นไปสู่อันดับแรก ๆ
แต่ถ้าใครรอไม่ไหวแล้วอยากแก้ปัญหาด้วยเงิน การทำ SEM (Search Engine Marketing) ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยคุณได้ แต่เช่นเดียวกันกับการทำ SEO ถ้าหากว่าธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ราคาที่ต้องจ่ายก็จะสูงเพิ่มขึ้นไปตาม ๆ กันด้วยนั่นเอง เพื่อขึ้นไปสู่อันดับแรก
อย่างไรก็ตาม การทำ SEM เราไม่แนะนำสำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นแล้วมีเงินทุนไม่มากพอ เพราะวิธีนี้ต้องใช้เงินทุนเข้ามาอัดฉีดเยอะ เราอยากแนะนำให้คุณนำเงินไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นสุด ๆ ก่อนจะดีกว่า (ควบคู่ไปกับการทำ SEO)
เพราะถ้าผลิตภัณฑ์คุณไม่ดีพอ จะทำการตลาดดีเพียงใด ธุรกิจก็อาจจะพังและเติบโตอย่างไม่ยั่งยืนอยู่ดี เนื่องจากคนจะเข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์แค่ช่วงแรก และไม่กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง เช่นเดียวกันพวกเขาอาจจะไปบอกต่อคนอื่นอีกว่าผลิตภัณฑ์ของเราไม่ดี ไม่แนะนำให้มาใช้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
4. เพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์ เพิ่มโอกาสในการขาย
ถ้าเราถามคุณว่า ในการทำธุรกิจคุณต้องการอะไรมากที่สุด? เชื่อว่าหนึ่งในคำตอบนั้นต้องมี 'อยากให้มีลูกค้าเยอะ ๆ' แน่นอน แล้วทำยังไงถึงจะได้ลูกค้าเยอะ ๆ ล่ะ? คำตอบในข้อนี้ก็คือ 'ทำให้ Traffic เข้ามาสู่เว็บไซต์เยอะ ๆ' นั่นเอง
เพราะถ้าหากสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาที่เว็บไซต์ได้มากขึ้น เราจะสามารถมีส่วนร่วมกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น มิหนำซ้ำคอนเทนต์ที่เราเสิร์ฟออกไปก็อาจจะสามารถป้ายยาให้พวกเขามาซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์ได้สำเร็จอีกด้วย
ซึ่งเราก็ได้รู้จากข้อที่ผ่านมาแล้วว่า ถ้าอันดับการค้นหาบนเว็บไซต์อยู่ในอันดับสูง ๆ ก็เป็นส่วนช่วยให้เว็บไซต์ของเราถูกหาเจอง่ายขึ้น และทำให้มี Traffic เพิ่มขึ้นมานั่นเอง แต่อย่าลืมว่าถ้าพวกเขาเข้ามาแล้ว ก็อย่าทำให้พวกเขารู้สึกว่าอยากรีบออกไปจากเว็บไซต์ของคุณทันทีด้วยนะ
แต่ก่อนที่จะทำให้ Traffic เข้ามาบนเว็บไซต์เยอะ ๆ คุณต้องแน่ใจก่อนว่า คุณมี…
- ข้อมูลที่ตอบคำถามลูกค้าครบถ้วน – เมื่อลูกค้าเลือกที่จะเข้ามาเว็บไซต์ของคุณแล้ว เขาก็อาจจะกำลังตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าของเราไหมอยู่ก็ได้ และถ้าหากว่าเราสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ, ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ได้อย่างครบถ้วน ข้อมูลเหล่านั้นก็อาจจะกระตุ้นให้เขากดซื้อทันทีเลยก็ได้
- การออกแบบเว็บไซต์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ (UX/UI Design) – เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน เพราะถึงแม้ว่าเว็บไซต์ของเราจะให้ข้อมูลครบถ้วนเพียงใด แต่หากว่าเว็บไซต์ให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีกับผู้ใช้ เช่น ตัวหนังสือเล็ก, วางติดกัน, อ่านไม่สบายตา พวกเขาก็จะไม่อยากอยู่บนเว็บไซต์ของคุณ (หรือลองนึกถึงเวลาที่เข้าไปเว็บไซต์แล้วมีโฆษณาเยอะ ๆ มาบดบังคอนเทนต์ดูสิ แค่นี้คุณก็เลือกที่จะกดออกไปหาคอนเทนต์ที่เว็บอื่นอ่านแล้วใช่ไหมล่ะ?)
- การใส่ Internal links – คือ ลิงก์ที่อยู่ภายในเว็บไซต์ของเราที่คอยนำทางให้คนที่เข้ามายังเว็บไซต์แล้วกดดูหน้าเพจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้พวกเขาอยู่บนเว็บไซต์ของคุณให้นานที่สุด เป็นการสร้าง Traffic บนเว็บไซต์ไปในตัว เช่น การใส่ลิงก์บทความที่เกี่ยวข้อง, ดูสินค้าที่ใช้ด้วยกัน ถ้ามีคนอยู่บนเว็บไซต์ของเรานาน ๆ ก็จะทำให้ Google มองว่าเราเป็นเว็บไซต์ที่มีคุณภาพและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ ซึ่งจะมีผลดีต่อการทำ SEO ด้วย
- การใส่ CTA (Call-to-Action) – ใส่เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาเกิดการกระทำอะไรบางอย่าง เช่น สมัครสมาชิก, กดซื้อ, ทิ้งข้อมูลสำหรับการเป็น Lead ไว้ให้เรา, กดคลิกไปยังหน้าเพจอื่น ๆ เป็นต้น การติดปุ่ม CTA ควรติดกระจายไว้บนเว็บไซต์ หรือช่วงที่เราคิดว่าลูกค้าจะเกิด Conversion มากที่สุด (แนะนำให้ใช้เครื่องมือช่วยดูพฤติกรรมของลูกค้า เช่น Hotjar)
สมมติคุณติดปุ่ม CTA ไว้เพียงแค่ด้านบนสุดและด้านล่างสุดของเว็บไซต์ แต่ช่วงกึ่งกลางของเว็บไซต์กลับไม่มี CTA เลยสักปุ่ม อยากให้คุณลองนึกภาพตามว่า ถ้าเกิดคนที่สนใจธุรกิจของคุณอ่านรายละเอียดมาถึงช่วงตรงกลางเว็บไซต์แล้ว เขาตัดสินใจที่จะซื้อแล้ว ถ้าคุณวาง CTA ไว้ตรงนั้น ก็จะทำให้พวกเขาเกิด Conversion ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น แต่กลับกัน ถ้าคุณไม่มีปุ่มให้พวกเขากดสักปุ่มเลย นั่นทำให้พวกเขาต้องเลื่อนไปหาปุ่ม CTA นั้นเอง ซึ่งนอกจากมันจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้กับพวกเขาแล้ว ยังอาจทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจไม่อยากสร้าง Conversion ระหว่างทางนั้นก็ได้
- ข้อมูลการติดต่อที่ชัดเจน – ถ้าเกิดว่าคุณเป็นธุรกิจแบบ B2B ที่ต้องมีการติดต่อพูดคุยกับลูกค้าก่อนที่จะปิดการขายได้ ข้อมูลการติดต่อกลับต้องเป็นสิ่งที่ระบุไว้อย่างชัดเจนมาก เพราะนอกจากจะช่วยสร้างโอกาสให้คุณมี Lead เพิ่มขึ้น (และอาจเปลี่ยนเป็นลูกค้าได้ในภายหลัง) แล้วยังเป็นส่วนที่ช่วยเพื่อความน่าเชื่อถือให้กับคุณด้วย เช่น ที่อยู่, เบอร์โทร, อีเมล (ที่เป็นโดเมนเฉพาะของบริษัท) หรือถ้าเป็นธุรกิจแบบ B2C ก็อาจช่วยให้ลูกค้าหาคุณเจอได้ง่ายขึ้น หากคุณมีหน้าร้านหรือต้องการสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกิจของคุณ
จากตัวอย่างที่เรายกมาข้างต้น ไม่เพียงแต่จะเป็นข้อดีให้กับแบรนด์เท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อ Traffic ของคุณอีกด้วย แนะนำให้พวกเขาให้ได้รับข้อมูลครบถ้วน และกระตุ้นให้ก้าวไปสู่ขั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณได้รับข้อมูลติดต่อจาก Lead มาแล้ว ให้นำพวกเขาไปพบเจอกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ และทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ดีจากแบรนด์ของคุณด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
5. สร้าง Qualified Lead เปลี่ยนคนที่สนใจให้กลายเป็นลูกค้า
ตอนนี้เราก็ได้ย้ายกลุ่มเป้าหมายจากขั้น Awareness ให้เข้าสู่ขั้น Consideration กันแล้ว (ต้องตัดสินใจแล้วว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ) ดังนั้นเป้าหมายทางการตลาดต่อไปของคุณ คือ การสร้างลูกค้าเป้าหมายที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (Qualified Lead)
Qualified Lead คือ คนที่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าของเรา เพราะบางครั้งเขาจะเต็มใจทิ้งข้อมูลไว้ให้เราติดต่อกลับไป เพื่อสอบถามพูดคุยกันก่อนว่า ธุรกิจของเราสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้หรือไม่ หรือสามารถแก้ปัญหาให้ได้หรือเปล่า (ส่วนใหญ่ธุรกิจที่ใช้การติดต่อกลับไปหา Lead จะเป็นธุรกิจแบบ B2B)
แล้วทำอย่างไรถึงจะเพิ่มโอกาสในการได้ Qualified Lead มา?
- กำหนดคีย์เวิร์ดให้ชัดเจน – การกำหนดคีย์เวิร์ดให้ตรงกับคำที่กลุ่มเป้าหมายชอบค้นหามากที่สุด จะช่วยให้ธุรกิจของเราถูกหาเจอได้ง่ายยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าใช้ Long-tailed Keyword ได้ถูกคำ ก็จะยิ่งสร้าง Traffic จำนวนมากเข้ามาสู่เว็บไซต์ของเรา (และเปลี่ยนเป็น Lead) เพราะมีการแข่งขันน้อยกว่าคีย์เวิร์ดแบบทั่วไป อยากให้คุณลองนึกภาพว่า ถ้าคุณรับบทเป็นลูกค้าของธุรกิจตัวเอง คุณจะค้นหาว่าอะไร หรือไม่ก็ลองทำ Keyword Research ดูว่าคนส่วนมากมักจะค้นหาอะไรกันบ้าง (ตัวอย่างเครื่องมือที่ช่วยในการทำ Keyword Research)
- การทำ A/B Testing – สำหรับธุรกิจใดที่ต้องการให้มี Conversion เพิ่มมากขึ้น การลองทำ A/B Testing ก็เป็นเหมือนการทดลองที่ทำให้ธุรกิจหา Lead เจอได้ง่ายขึ้น ลองปรับแต่งหน้า Landing Page ปรับเพิ่ม-ลดข้อมูลรายละเอียดบนเว็บไซต์, รูปภาพ, สี, ตำแหน่งการใส่ CTA เพื่อหาว่า Landing Page แบบไหนที่ทำให้มี Lead เพิ่มมากขึ้น ธุรกิจก็จะได้เปลี่ยนไปใช้แบบนั้นแทน แต่แนะนำว่าให้ทดลองทำทีละอย่างเพื่อเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุด (เครื่องมือที่แนะนำในการทำ A/B Testing > Google Optimize)
- ใช้ Content Marketing เป็นตัวช่วย – ในที่นี้ควรจะเป็นคอนเทนต์คุณภาพที่สามารถแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ รวมถึงสามารถอธิบายให้พวกเขาเข้าใจธุรกิจของเรามากขึ้น และเป็นสิ่งที่คอย Lead ชักจูงไปหาผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงเรียนสอนทำเบเกอรี่ คุณอาจจะทำคอนเทนต์แนะนำเกี่ยวกับส่วนผสมที่ใช้ในการทำเค้ก, คุ้กกี้, ขนมปังอื่น ๆ หรือแนะนำเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการทำว่าแต่ละอย่างมีหน้าที่อะไร เพื่อให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้น ที่สำคัญคุณต้องไม่ลืมใส่ CTA เพื่อ Lead กระตุ้นให้พวกเขาเกิดการกระทำอะไรบางอย่างเกิดขึ้น
- ไป Collaboration กับ Influencer ที่ตรงสายกับธุรกิจของเรา – เพราะ Influencer เป็นเหมือนคนที่เข้ามาการันตีว่าธุรกิจของเราจะสามารถช่วยคนที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ได้จริง ถ้าหาก Lead คนไหนที่ติดตาม Influencer เหล่านั้นอยู่ การ Collaboration ระหว่างแบรนด์กับ Influencer ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่สร้างความเชื่อมั่นใจกับธุรกิจมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ Influencer Marketing)
หลังจากที่ได้พวกเขามาเป็น Lead และติดต่อกลับไปเพื่อพูดคุยกันแล้ว และคิดว่ามีโอกาสสูงมาก ๆ ที่ Lead คนนี้จะกลายมาเป็นลูกค้าของเรา คุณก็สามารถมุ่งเป้าไปที่ตัวเขาได้เลย Pitch เขาให้อยู่หมัด เพื่อไปสู่ขั้นตอนการสร้างรายได้ต่อไป
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
6. เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ ปลายทางที่ทุกคนรอคอย
แน่นอนว่าการสร้างรายได้มักเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของทุกธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าจะเราจะปูเป้าหมายทางการตลาดใด ๆ มาก่อนหน้านี้ ทั้งการสร้าง Brand Awareness, เพิ่ม Traffic หรือเพิ่ม Lead สุดท้ายแล้วปลายทางเหล่านั้นก็ล้วนชี้มาที่เป้าหมายการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจทั้งสิ้น
แต่สำหรับในทางศาสตร์ Growth ถ้าเกิดว่าธุรกิจของคุณยังไม่ถึงจุด Product/Market Fit หรือจุดที่ธุรกิจยังมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีพอที่จะไปต่อสู้กับคนอื่น ๆ ในตลาดได้ ก็อย่าเพิ่งมุ่งเป้าหมายมาที่การเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ แต่เราอยากให้คุณเร่งเครื่องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาให้ดีที่สุดก่อน
เพราะถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณเป็นนวัตกรรมใหม่จริงที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนจำนวนมากได้ แต่ถ้าหากผลิตภัณฑ์ของคุณยังไม่ดี คุณอาจจะสร้างรายได้แค่ในช่วงแรกเท่านั้น แต่ลูกค้าจะไม่มาซื้อผลิตภัณฑ์ของคุณซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 ดีไม่ดีอาจโดนเจ้าใหญ่ในตลาดเก็บไอเดียของคุณไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า และคนแห่ไปซื้อ (เพราะชื่อเสียงและฐานลูกค้าของเขา) กลับกลายเป็นว่าคุณอาจจะล้มได้เลย
แต่ถ้าเกิดคุณคิดว่าทุกส่วนของธุรกิจลงตัวแล้ว ก็สามารถเร่งเครื่องเพื่อมุ่งไปที่เป้าหมายนี้ได้กันเลย ตัวอย่างเช่น
- แสดงความเอาใจใส่กับ Lead ของคุณ – เช่น การติดต่อกลับทางโทรศัพท์, อีเมล, แชท หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพราะคนที่เลือกติดต่อเข้ามาหาคุณแล้ว แน่นอนว่าก็ต้องรู้สึกสนใจผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณไม่น้อยเลย เพียงแต่อาจจะอยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสักนิดจากคุณเพิ่มอีกหน่อย และมีผลการศึกษาจาก Ziff Davis บอกมาว่า ถ้าธุรกิจตอบกลับ Lead เหล่านั้นทันทีภายใน 5 นาที โอกาสที่พวกเขาจะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้ามีมากถึง 9 เท่าเลยทีเดียว
- เสนอโปรโมชัน โฆษณา และส่วนลด – เช่น การส่งโปรโมชันพิเศษหรือคูปองส่วนลดให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิกของแบรนด์ในเดือนเกิด การทำแบบนี้นอกจากจะทำให้ลูกค้าเห็นว่าแบรนด์ใส่ใจพวกเขา ด้วยการทำให้ลูกค้ากลายเป็นคนพิเศษในเดือนนั้น ๆ แล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับแบรนด์เองด้วยในการสร้าง Customer Loyalty ให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์/บริการของเราซ้ำไปเรื่อย ๆ
- เสิร์ฟคอนเทนต์ตาม Customer Journey – การที่เราค่อย ๆ เสิร์ฟคอนเทนต์ไปตาม Customer Journey ของลูกค้า จะทำให้เราเห็นว่า เมื่อลูกค้าเห็นคอนเทนต์แบบนี้ พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร หรือมีพฤติกรรมคล้อยตามแบรนด์มากน้อยขนาดไหน เราต้องค่อย ๆ ต้อนจากที่แบรนด์เคยเป็นคนแปลกหน้าสำหรับพวกเขา ทำให้พวกเขาค่อย ๆ รู้จักและกลายเป็นลูกค้าของแบรนด์เราในที่สุด (รวมถึงกลับมาใช้ซ้ำและบอกต่อผลิตภัณฑ์ของเราให้ด้วย)
สำหรับใครที่ทำ Marketing Campaign Planning เราก็มีเครื่องมือนึงที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก นั่นคือ Endlessloop เพราะเป็นเครื่องมือที่เราสามารถวางแผนคอนเทนต์ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่แบรนด์ยังเป็นเหมือนคนแปลกหน้าสำหรับพวกเขา จนกระทั่งเปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นลูกค้าของเราโดยสมบูรณ์ ยังไม่หมดเท่านั้น คุณยังสามารถวัดผลได้ด้วยว่าคอนเทนต์ที่ปล่อยออกไปในแต่ละแคมเปญ มันเวิร์กหรือได้ผลดีหรือไม่ เป็นการวัดผลการทดลอง ถ้าเกิดว่าไม่ดี เราก็สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในการทดลองต่อไป
หากคุณลองใช้วิธีข้างต้น คุณก็จะสามารถเปลี่ยน Lead ให้กลายเป็นลูกค้า และสามารถสร้างรายได้ให้กับคุณได้ตลอด แต่จริง ๆ ก็ยังมีกลยุทธ์อีกมากมายที่สามารถสร้างรายได้ให้กับแบรนด์ของคุณ แต่คุณก็อย่าลืมนึกถึงลูกค้าเก่า ๆ ด้วย เพราะลูกค้าเก่านี่แหละที่เป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้แบรนด์ของคุณมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกจากการกลับมาใช้ซ้ำและการบอกต่อ ซึ่งเราจะพูดถึงในหัวข้อถัดไป
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
7. เพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า รักษาพวกเขาให้อยู่กับเรานาน ๆ
ถ้าคุณกำลังอ่านมาถึงข้อนี้แสดงว่าธุรกิจของคุณเดินทางมาพบกับลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ไปคุณต้องคิดวางแผนในระยะยาว ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเป็นนักการตลาด เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะมุ่งเป้าหาแค่เพียงลูกค้าใหม่ ๆ เท่านั้น โดยที่ไม่สนใจลูกค้าเก่า ๆ เลย
การรักษาลูกค้าเก่าไว้มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการหาลูกค้าใหม่ถึง 5 เท่า – Invesp
ส่วนใหญ่รายได้ของแบรนด์มากกว่า 50% ต่อปีมาจากลูกค้าเก่าที่กลับมาซื้อซ้ำ และลูกค้าเก่ามีการใช้จ่ายให้กับแบรนด์มากกว่าลูกค้าใหม่ถึง 67% – BIA/Kelsey
จากสถิติข้างต้นทำให้เราเห็นแล้วว่า ลูกค้าเก่าเป็นบุคคลสำคัญที่แบรนด์ควรต้องรักษาพวกเขาไว้อย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะกลับมาซื้อสินค้าของคุณซ้ำเท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นคนที่คอยบอกต่อให้คนอื่น ๆ มาซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์เราด้วย (ป้ายยา ๆ นี่แหน่ะ ๆ) ดังนั้นเราต้องคอยมอบคุณค่าให้กับพวกเขาเสมอ
ตัวอย่างวิธีที่ใช้เพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าเก่า เช่น
- ใช้ Retargeting Campaign – หลายแบรนด์มักจะใช้โฆษณา Retargeting อยู่เป็นประจำ ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนคงโดนยิงโฆษณาประเภทนี้อยู่ทุกวัน เช่น ยิงโฆษณาให้พวกเขากลับมาซื้อสินค้าอีกครั้ง โดยที่ลูกเค้าเก่าที่เคยซื้อสินค้าของแบรนด์ไปแล้วอาจจะมอบส่วนลดพิเศษ 25% ซึ่งถ้าใครจิตไม่แข็งพอ อดทนกับการโดนตามหลอกหลอน หรือส่วนลดนั้นนั้นไม่ไหว ท้ายที่สุดก็ต้องยอมกลับไปซื้อสินค้าชิ้นนั้นอยู่ดี (โฆษณาที่ตามหลอกหลอนย่อมระงับด้วยการซื้อ!)
- สร้างแคมเปญสิทธิพิเศษเฉพาะลูกค้าเก่า – เช่น แคมเปญ Referral เป็นแคมเปญที่ให้ลูกค้าเก่าเชิญชวนเพื่อนมาใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการจากแบรนด์เรา และแจกของรางวัลให้กับพวกเขาไป เช่น Referral Program ของ Dropbox ในช่วงแรกเปิดตัว ถ้าเราชวนเพื่อนมาใช้งาน ก็จะได้รับพื้นที่การใช้งานฟรี 500 MB ทันที ซึ่งแคมเปญนี้นอกจากจะเป็นการสร้าง Engagement ระหว่างแบรนด์ร่วมกับลูกค้าเก่าแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่ม Brand Awareness ให้กับลูกค้าใหม่ ๆ และยอดขายเพิ่มขึ้นให้กับแบรนด์ได้อีกด้วย ได้ประโยชน์หลายต่อเลย (เครื่องมือที่แนะนำในการทำ Referral Marketing > Viral Loops)
- ระบบ Customer Service ที่มีคุณภาพ – หลายครั้งหลายหนที่แบรนด์ต้องเสียลูกค้าเก่าให้กับแบรนด์คู่แข่ง เหตุผลก็เพราะว่ามีระบบบริการลูกค้าที่ไม่ดีพอ ให้คุณลองนึกภาพว่า ถ้าเกิดคุณซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งมาและมีราคาค่อนข้างแพง แต่การบริการหลังการขายกลับไม่มีคุณภาพเลย ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก, กระบวนการล่าช้า หรือพนักงานพูดจาไม่ดี ไม่สุภาพ ครั้งถัดไปก็ไม่มีลูกค้าคนใดที่อยากกลับมาซื้อสินค้าแบรนด์ของคุณ (พวกเขาอาจจะบอกต่อคนอื่นให้อย่ามาซื้อด้วยซ้ำไป) ดังนั้นระบบ Customer Service เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณควรใส่ใจมากที่สุด เพื่อทำให้ลูกค้าอยู่กับคุณนาน ๆ ไม่เปลี่ยนใจไปรักคู่แข่งนั่นเอง
89% of companies say that excellent customer service plays a huge role in customer retention. – Semrush
เพราะฉะนั้นแล้วการให้คุณค่ากับลูกค้าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แบรนด์ควรให้ความใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง อย่ามัวแต่มุ่งเป้าเพื่อหาลูกค้าใหม่อย่างเดียว โดยที่ลืมลูกค้าเก่าของคุณไปเลย การหาลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเก่าควรจะเป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันไปดีกว่า เพราะกว่าที่จะทำให้คนแปลกหน้าเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ดังนั้นพอเขาเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าของเราแล้ว ก็อย่าลืมรักษาให้เขาอยู่กับคุณไปนาน ๆ นะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
8. สร้าง Brand Authority เรียกความไว้วางใจจากลูกค้า
Brand Authority คือ ความไว้วางใจที่แบรนด์ของคุณได้รับจากลูกค้า และระดับที่พวกเขามองว่าแบรนด์ของคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ซึ่งการสร้าง Brand Awareness ไปควบคู่กับการสร้าง Brand Authority จะช่วยเพิ่ม Conversion ให้แบรนด์ของเราได้
เนื่องจากปัจจัยทั้งสองอย่างนี้เป็นเหมือนแรงดึงดูดที่ทำให้ผู้ที่มีโอกาสในการเป็นลูกค้าของเราเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าได้อย่างเต็มตัว ยิ่งลูกค้าเรียนรู้ที่จะไว้วางใจธุรกิจของคุณมากเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสที่พวกเขาจะให้การสนับสนุนแบรนด์ของเรามากขึ้น
ลองมาดูตัวอย่าง สมมติคุณเป็นแบรนด์ที่ขายรองเท้า Sneaker แต่ก็ไม่มีแบรนด์ไหนที่อยากให้ลูกค้าเข้ามารู้จักแบรนด์ มาซื้อรองเท้า แล้วก็จบอยู่แค่นั้นหรอกใช่ไหมล่ะ? เราอยากให้คุณสร้างแบรนด์ที่ไม่ว่าใครจะทำอะไรกับรองเท้าก็มานึกถึงแบรนด์ของคุณทั้งสิ้น เช่น การซื้อรองเท้า, เลือกซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมในการดูแลรักษา หรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับรองเท้า ถ้าเกิดว่าใคร ๆ ต่างก็เข้ามาหาแบรนด์ของคุณ แสดงว่าคุณมี Brand Authority แล้วแหละ
แล้วเราจะสร้าง Brand Authority ขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง?
- สร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการอยู่เสมอ – ลูกค้าหลายคนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปแล้ว อาจจะยังใช้ไม่เป็น แต่ถ้าเขามาเจอคอนเทนต์ที่แบรนด์ให้ความรู้หรือตอบคำถามพวกเขาได้ เช่น วิธีการใช้งานที่ถูกต้อง, วิธีการเก็บรักษาหลังใช้งาน, วิธีใช้เพื่อให้ประสิทธิภาพสูงสุด พวกเขาก็อาจจะเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น, มองว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญสินค้านั้น ๆ ซึ่งแบรนด์ก็สามารถแนะนำคอนเทนต์ที่ให้ความรู้ด้านอื่น ๆ รวมถึงแนะนำผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาอื่น ๆ ให้พวกเขาได้อีกด้วย ถ้าเขาสนใจก็อาจทำให้เขามาซื้ออีกได้
- การ PR ตัวเอง – เช่น การที่บริษัทออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ, อัปเดตผลิตภัณฑ์, การได้รับรางวัลต่าง ๆ รวมถึงข่าวสารด้านการระดมทุน เพราะตัวอย่างที่เรากล่าวมา มันเป็นการที่ทำให้บริษัทดูมีข่าวคราวความเคลื่อนไหว มีภาพลักษณ์ที่ดี บ่งบอกถึงการพัฒนาและการเติบโตที่ไม่หยุดยั้งสามารถช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทได้ในอีกทางหนึ่ง
- ใช้ Testimonial พิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ดีจริง – ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทำให้การรีวิวหรือคำรับรองของคนที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการมาแล้ว เป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้จำนวนมหาศาล เพื่อพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของเรามีคนใช้แล้วช่วยแก้ปัญหานั้น ๆ ได้จริง ไม่หลอกลวง และมีคุณภาพจริง (ยิ่งถ้าเป็นรีวิวจากคนทั่วไปที่ไม่ใช่ Influencer จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อได้กว่าการใช้ Influencer เพราะ Influencer ส่วนใหญ่จะรับค่าจ้างจากแบรนด์มารีวิว ทำให้รีวิวถึงข้อดีหรือภาพลักษณ์ที่สวยหรูของแบรนด์เป็นหลัก)
- ไม่ใช้สำนวนการขายที่ดูเกินจริง – หลายครั้งที่แบรนด์อาจใช้สำนวนการตลาดที่ดูเกินจริง เช่น เห็นผลทันทีที่ใช้ตั้งแต่ครั้งแรก, เห็นผลได้ใน 7 วัน มันอาจทำให้ลูกค้าไม่มั่นใจว่าสินค้าของคุณนั้นดีจริงหรือเปล่า ซึ่งจริงอยู่สำนวนเหล่านั้นอาจสามารถใช้กระตุ้นอารมณ์ให้หลายคนอยากซื้อสินค้าของเราได้จริง แต่เราอยากให้คุณแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาแทนดีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าแบรนด์ของคุณคือใคร และมีความจริงใจกับพวกเขามากแค่ไหน ส่งผลให้ภาพลักษณ์เป็นธรรมชาติ ไม่ดูฝืนมุ่งเป้าว่าอยากขายจนเกินไป เพราะในปัจจุบันถ้าเราขายออกหน้าออกตาเกินไป ผู้บริโภคเขาดูออก เขามีวิจารณญาณมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ทำให้เห็นความเป็นจริงมากขึ้น ไม่ได้เชื่อคำโฆษณาเท่ากับเมื่อก่อนแล้ว
- หยิบนำการทำ SEO มาต่อยอด – การทำ SEO ยังคงขึ้นแท่นเป็นวิธีที่ทำให้คอนเทนต์ของคุณมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่เพียงแต่คุณต้องปรับปรุงแค่ส่วนเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีที่ใช้ในการปรับแต่งเว็บไซต์ส่วนต่าง ๆ ให้ดีขึ้นอีกด้วย แต่การทำ SEO ให้มีประสิทธิภาพนั้น คุณควรต้องหมั่นวัดผลอยู่เสมอ เพื่อนำผลลัพธ์มาพัฒนา ต่อยอด ปรับปรุงให้ทุกอย่างได้ผลที่ดีขึ้นอยู่ตลอด เพราะถ้าเกิดว่าเว็บไซต์ของคุณสามารถครองอันดับสูง ๆ บน Google ได้ ก็ทำให้ลูกค้าเห็นว่าเว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ สามารถเรียกความไว้วางใจจากพวกเขาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ดังนั้นแล้ว การสร้าง Brand Authority ทำให้ลูกค้าไว้วางใจแบรนด์ของเรา พร้อมเปิดใจที่ยอมรับ และกลายเป็นลูกค้าประจำของคุณ จะสร้างพลังให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี และส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
สรุปทั้งหมด
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะได้ไอเดียตั้งต้น เพื่อเป็นแนวทางในการเริ่มต้นวางเป้าหมายการตลาดใหม่ ๆ เตรียมพร้อมรับปี 2023 ที่การทำการตลาดจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม (จากออฟไลน์เข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น)
การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ นอกจากจะช่วยให้เราเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนแล้ว ยังอาจช่วยให้ธุรกิจค้นพบช่องทางที่แปลกใหม่จากเดิมในการทำธุรกิจอีกด้วย ซึ่งอาจจะช่วยสร้าง Conversion ที่คุณต้องการหรือสร้างยอดขายให้กับธุรกิจได้เติบโตอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตามจริง ๆ แล้ว วิธีที่เรายกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีวิธีอีกมากมายในการสร้างเป้าหมายการตลาดน้ัน ๆ ให้เกิดขึ้นจริง หากใครมีไอเดียที่แปลกใหม่แล้วอยากจะมาแชร์กับ The Growth Master ก็สามารถทำได้ ผ่านช่องทางการติดต่อของเราทุกช่องทางเลยนะคะ :)
Facebook Page, Facebook Group, LineOA, Blockdit, Linkedin